เสวนาวันชาติ 24 มิ.ย. ที่เชียงใหม่ (2): ความท้าทายของปีที่ 77 และอำมาตยาธิปไตยใหม่

เมื่อ 24 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดงานรำลึก "วันชาติ" และสืบทอดประวัติศาสตร์เพื่อประชาธิปไตยวันการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้น
 
ทั้งนี้ในงานมีการเสวนาเรื่อง "วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตประชาธิปไตย:อนาคตสังคมไทย" โดยมีวิทยากรซึ่งประกอบด้วย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล นักวิชาการประจำสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ ม.พายัพ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มีนายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย ม.เที่ยงคืน เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
โดยตอนที่ 1 ประชาไทได้นำเสนอในส่วนที่เป็นการอภิปรายของ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูลแล้ว
 
0 0 0
 
 
ธเนศวร์ เจริญเมือง:
ความท้าทายของปีที่ 77
 
 
2475 ต้องศึกษาทั้งการอวสานและเกิดใหม่
เคยมีการศึกษาเรื่องกำเนิดและอวสานของพลังอนุรักษ์นิยมในประเทศไทย ผมจำได้ว่า ท่านอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล เคยทำไว้ อาจารย์กุลลดา เกษบุญชู อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และนักวิชาการตะวันตกบางคนก็เคยเขียนไว้ แต่ผมคิดไปคิดมา เราจะพบว่า ถ้าไม่ผิดยังไม่มีใครเขียนเรื่องอวสาน และการเกิดใหม่ของเขาเลย ที่ผ่านมาเราละเลยเรื่องนี้ และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าศึกษามาก คือตอนที่ได้อำนาจมาแล้วในปี 2475 ได้อำนาจมาแล้วรักษาไว้ ไม่ให้โดนเขาเอาไป และอาจารย์ไชยันต์ พูดไว้เมื่อกี้ คือ มันมีคนที่คิดว่า 2475 มันเกิดเร็วไป และก็อย่างที่ท่านอาจารย์พูดก็คือ อุดมการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพของพี่น้อง ประชาชน และปรารถนาอยู่อย่างมีเสรีภาพ ยุติธรรมและสันติสุขเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก และตอนนั้นจังหวะก็เปิดโอกาสให้คณะราษฎรประสบความสำเร็จ
 
ถ้าจำไม่ผิดผมอ่านบางเล่มว่า เขามีแม่ทัพมีคุณภาพมาก ก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นทหารมือดี และทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญด้วย เขาเลยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง แต่ก็อย่างที่ว่าแหละพอเข้าไปอยู่
แล้ว ทำไมถึงทำให้อำนาจหลุดไป โดยการศึกษาเรื่องนี้ ก็คงต้องศึกษาด้วยว่า คนที่เขามีวิริยะ อุตสาหะ ยืนหยัดต่อสู้จนเอากลับคืนไปได้ แม้ว่าอุดมการณ์ของเขาจะอนุรักษ์ แต่ความวิริยะ อุตสาหะของเขา เราต้องศึกษาว่า เขาอดทน สะสมจังหวะ รอคอยโอกาส เขาลุย เขาหนักแน่น เขากินยา ไปหาหมอ เขาทำทุกอย่างเพื่อที่จะอยู่ชั่วกาลปาวสานได้ แล้วว่าเขาทำอย่างไร
 
 
เงื่อนไข 4 ข้อ ของอำนาจประชาธิปไตย
เรื่องที่ผมจะพูดถึงประเทศของเรา ซึ่งมีเงื่อนไข 4 ข้อ เรื่องที่หนึ่ง เมื่อเราอยู่ในอำนาจ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแล้ว โดยงานวิชาการของเรา ทางด้านรัฐศาสตร์ก็ค่อนข้างอ่อน คือ เราไม่ได้ศึกษาเลยว่า พอเราเป็นประชาธิปไตย จะรักษา สืบทอดให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งอยู่ได้อย่างไร ทั้งที่เราศึกษารัฐประหาร ค้นคว้ากัน เราไม่ยอมรับรัฐประหาร แต่เราก็ไม่ได้พูดถึงการโค่นล้มอย่างเป็นเรื่องราว เรื่องที่ 1 เมื่อเรามีอำนาจอยู่และเรารู้สึกภาคภูมิใจ ก็อาจคิดว่าคงไม่มีใครทำอะไรได้ ใครจะมาทำลายประชาธิปไตยเล่า แต่เราอาจไม่คิดว่าจะรักษาประชาธิปไตยอย่างไร
 
เรื่องที่ 2 ขณะที่ประเทศของเราอยู่ตรงกลางพอดี ระหว่างจักรวรรดินิยมอเมริกา กับอินโดจีน และจีน ที่กำลังต่อสู้เพื่อสังคมนิยมและเอกราช อเมริกามองประเทศของเราว่า น่าจะยึดประเทศไทยเป็นฐานต่อสู้สังคมนิยมจีนกับอินโดจีน และเขาก็เลยระดมกองทัพ นำเงินทอง ความช่วยเหลือทั้งหลายตั้งแต่ยุคจอมพล ป. ทำให้ประเทศเราแข็งแกร่งทางการทหาร สถาปนาระบอบเผด็จการทหาร มีระบบทุนนิยมแห่งรัฐ ทุนนิยมที่เติบโตกลายเป็นทุนที่สนับสนุนรัฐ การพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ปี 2504 ทำให้เราเศรษฐกิจโตมากแต่เป็นการเติบโตแบบรับใช้ภายนอก
 
เรื่องที่ 3 คณะราษฎรนำโมเดลของฝรั่งเศสมาใช้ในการบริหารประเทศ แต่ท้องถิ่นของเขาเข้มแข็งมากโดยเฉพาะระบบคอมมูน แต่ว่าท้องถิ่นของเราอ่อนแอมากเพราะอยู่ภายใต้รัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปตั้งแต่สมัย ร.6 ดังนั้น พอเราสถาปนาระบบบริหาร 3 ส่วนคือ ส่วนกลาง ภูมิภาคกับท้องถิ่น ท้องถิ่นจึงถูกครอบงำทั้งโดยส่วนกลางและภูมิภาค มีการให้กระจายอำนาจที่จำกัดมาก เป็นเพียงรูปแบบ ดังนั้น ระบบราชการรวมศูนย์จึงสกัดกั้นการเติบโตของพลังประชาธิปไตยของเรา
 
เรื่องที่ 4 เหตุการณ์ 19 กันยา จนถึงเดือนธันวาคม 2551 สะท้อนให้การถล่มแบบ 24 มิถุนา คือเหมือนเป็นการเอาคืน เช่นนั้น และ ประเด็นที่2 ไม่เพียงการยึดกลับมาเท่านั้น เขายังมากด้วยประสบการณ์ ซึ่งพอยึดอำนาจ แล้วมาแพ้ 23 ธันวา 2550 เขารู้ว่าใช้วิธีการรัฐประหารอีกไม่ได้เพราะโลกตะวันตกไม่ยอมรับ เขาจึงใช้วิธีการอื่นๆ เช่น ใช้กลุ่มพลเรือนที่อ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ถอดถอนนายกฯ ยุบพรรคการเมือง ลงโทษห้ามคนลงการเมืองอีก วิชาการรัฐศาสตร์ต้องบันทึกไว้ว่า ไม่ได้ใช้แค่ฝีมือกลุ่มอนุรักษ์ แต่เป็นการทำงานที่ใช้เครือข่ายกว้างขวางมาก ใช้ทั้งศาล ระบบราชการ ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน และกลุ่มวิชาการ องค์กรภาคประชาชนเข้าไปผสมโรง
 
 
77 ปีที่ผ่านมา กับความท้าทายในปัจจุบัน
ทั้งหมดดังกล่าวมานั้น จึงมาสู่ข้อสรุป 77 ปีมานี้ จนถึงยุคนี้ เป็นการท้าทายเผชิญหน้า และท้าทายทางสติปัญญาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมันท้าทายการลงมือปฏิบัติของคนไทยว่าจะทำอย่างไร
 
สำหรับคนไทย การเกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งต้องบอกว่า ในชีวิตของคนไทย ก็คงไม่มีช่วงไหนที่จะภาคภูมิใจเท่านี้ เพราะสังคมไทยสลับซับซ้อนเหลือเกิน เป็นภารกิจที่ยากและท้าทายคนไทยมาก แต่ก็ได้ยินว่ามีแต่คนหูตาสว่าง ว่ากันอย่างนั้น เราอยู่ในยุคสมัยที่เราต้องภูมิใจแล้วว่ามีข้อมูลหลากหลายให้เราดูมาก เราควรมีเวทีเปิดให้เราได้จินตนาการ และเปิดทางสู่งานวิชาการใหม่ๆ
 
อย่างที่อาจารย์ไชยันต์จุดประเด็นไว้ดีมาก เราอยู่ในยุคสมัยที่ทางภาวะวิสัยต้องการการเปลี่ยนแปลงใหญ่ และในเมื่อ บัดนี้ อำนาจหลุดลอยไปจากมือของประชาชน คนที่ปล้นประชาชนไปคงภูมิใจ มั่นใจว่าเขาจะรักษาไว้ให้นานที่สุด ถ้าเราอ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ ดูทีวีทุกๆวัน ผมคิดว่า พวกเขาทำงานหนัก ทำงานทุกอย่างเพื่อครองอำนาจไว้ แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็ได้เห็นการฉ้อฉลอำนาจ ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น สังคมของเราเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และพวกเขาก็ดูมีความสุขมากที่ได้ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลประเทศไหนมาเห็นเข้าคงได้แต่ส่ายหน้า ไม่น่าเชื่อว่าเมืองไทยจะล้าหลังขนาดนี้
 
ในทางวิชาการ เราก็อ่านและได้ผ่านประสบการณ์ของประวัติศาสตร์มา 77ปี คงต้องกลับไปนั่งคิดใหม่ ให้มีการศึกษากำเนิด อวสาน การฟื้นคืนของเหล่าปีศาจ และในทางปฏิบัติคือ จะทำอย่างไรให้เราไปไกลกว่านี้ ช่วยกันสรรหาเอกสารดีๆออกมาให้ได้อ่านกันมาก เรามาเป็นนักเรียนที่ดีกัน
 
0 0 0
 
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ศาลในฐานะอำมาตยาธิปไตยใหม่
และพลังสนับสนุนระบอบรัฐสภาจากชนบทใหม่
 
 
2575 และข้อถกเถียงเรื่องสถาบันองคมนตรี
ผมมีสองเรื่องใหญ่ร่วมชวนคุย และผมเห็นด้วยกับข้อสังเกตที่อาจารย์ธเนศวร์พูดถึงว่า 24 มิถุนาปีนี้ ดูเหมือนจัดงานกันหลายแห่งกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะสะท้อนอย่างน่าสนใจ 24 มิถุนา เป็นเรื่องสัญลักษณ์ของการต่อสู้ช่วงชิงความหมายทางการเมือง
 
ซึ่งในช่วง 2-3 ปี เราเห็นการพูดถึงอุดมการณ์ 24 มิถุนา บ่อยครั้งขึ้น และเวลาพูดถึงการถกเถียงกันเรื่องประชาธิปไตยในปัจจุบัน และตั้งแต่ปี 2475 มันมีหลายอย่างสลับซับซ้อนขึ้นมา อาทิเช่น เวลาเราพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย คือ วันนี้เรื่องสำนึกเรื่องประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย และการพูดถึงประชาธิปไตยถูกดึงมาใช้กันเยอะ อย่าลืมว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อเผด็จการ และแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ คือ ทุกกลุ่มประชาธิปไตยหมดเลย แล้วถ้าสมมติคณะราษฎร เกิดกลับชาติมาเกิด แล้วเกิดบอกว่าอยากมาสนับสนุนความเคลื่อนไหวครั้งนี้ คง “งง” เพราะว่า จะเข้าร่วมกับใครดี ทุกกลุ่มเป็นประชาธิปไตยกันหมด จนกระทั่งการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในสังคมปัจจุบัน มันคงต้องใส่ใจมากขึ้น ที่จะถกเถียง และหลายๆเรื่อง หลังปี 2475 เป็นต้นมา ในข้อถกเถียงเรื่องแง่ประชาธิปไตย มีการใช้คำถูกใช้มาก ถ้าเราอ่านนัยยะแตกต่าง และยกตัวอย่าง เช่น องคมนตรี
 
เรื่ององคมนตรีเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีนักศึกษาคนหนึ่งทำเรื่องนี้กับผม และเราพบข้อถกเถียงที่น่าสนใจว่าองคมนตรีเมื่อปี 2475 ถูกยกเลิกไปแล้วกลับมาในปี 2490 แล้วข้อถกเถียงใหญ่กันว่า มันควรมีไหม สถาบันนี้ ถ้ามีแล้วจะสอดคล้องกับประชาธิปไตยหรือเปล่า เพราะตามหลักการหลังปี 2475 อธิบายว่า ที่ปรึกษาของกษัตริย์ควรเป็นคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ถ้าสมมติมีสถาบันอะไรที่ไม่ใช่คณะรัฐมนตรีจะเป็นซุปเปอร์รัฐบาล หมายความว่า รับผิดชอบกับใครไม่รู้ และข้อถกเถียงกันมากว่าไม่ควรเกิด ไม่ควรมี เช่น พันโทพโยม จุลานนท์ ซึ่งเป็นบิดาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เป็นคนหนึ่งที่คัดค้านอย่างเข้มแข็ง และต่อมา ลูกชายก็เป็นองคมนตรี แถมเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเราพบมันเป็นข้อถกเถียง หลังจากที่เรื่ององคมนตรีนั้น มันหายไป
 
เมื่อปัจจุบันเรื่ององคมนตรี ผลสุดท้ายที่เถียงกัน หลายระนาบเรื่ององคมนตรี มีเรื่องใหญ่ๆ ที่เถียงกันในสังคมไทย เช่น องคมนตรีควรได้รับการคุ้มครองในสถานะเดียวกับพระมหากษัตริย์หรือไม่ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยเสนอพระราชบัญญัติกฎหมายว่าองคมนตรีควรได้รับการคุ้มครอง เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ได้รับความคุ้มครอง จะเห็นได้ว่ามีการถกเถียงกันไป แล้วทาง สนช. ก็ถอนร่างกฎหมายไปเอง
 
สิ่งที่เราเห็นในอดีตเรื่ององคมนตรีว่า ควรมีหรือไม่มี กลับมาสู่ในปัจจุบัน ไม่เถียงกันแล้ว แต่เถียงกันว่า ควรได้รับการคุ้มครองขนาดไหน เท่ากับสถาบันกษัตริย์ได้รับการคุ้มครองหรือไม่ เมื่อพลเอกเปรม ถูกวิจารณ์โดยคุณสมัคร ว่า ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และมีผู้นำอดีตนักศึกษาว่าคุณสมัครไม่ควรจาบจ้วง
 
 
รัฐธรรมนูญ 3 รูปแบบในการเมืองไทย
คือ ผมคิดว่าน่าสนใจว่าสถาบันองคมนตรีนี้ก่อนหน้าปี 2490 ไม่มีแล้ว ต่อมาสถาบันองคมนตรีกลับมามีในปัจจุบันกลายเป็นจาบจ้วง แล้วต่อไปจะมี หรือไม่มีก็ตาม แต่การเกิดขึ้นคงอยู่ของบารมีสถาบัน มันเปลี่ยนไปจริงๆ ในแง่นี้สะท้อนอะไรให้เกิดขึ้น ในทัศนะของผม ถ้าเกิดสมมติเรามองการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญจากปี 2475-2550 เรามีรัฐธรรมนูญอยู่ในการเมืองอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน
 
แบบแรก ก็คือ นับตั้งแต่ปี 2475 และการเมืองแบบแรกโดยรัฐธรรมนูญปี 2475-2550 โดยทั้งหมด จัดความสัมพันธ์ของ 3 สถาบันไว้แต่ละอย่างแตกต่างกัน รูปแบบของสถาบันขุนนาง สถาบันอำมาตย์ และสถาบันกษัตริย์ โดยรูปแบบการเมืองในรัฐธรรมนูญ คือ พยายามสถาปนาให้ระบบรัฐสภาเป็นอำนาจสูงสุด ทำให้ตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นองค์กรอำนาจสูงสุด และรัฐธรรมนูญปี 2475 เป็นตัวแทนในด้านนี้ได้ชัดเจนนักการเมืองมีอำนาจสูงสุด ส่วนสถาบันกษัตริย์ อยู่เหนือการเมือง ในแง่ Out of Politic นัยยะนี้ ขณะที่ขุนนางอำมาตย์เป็นเครื่องมือ หรือกลไกของการบริหารประเทศ และสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองเป็นแบบแรก
 
ส่วนการเมืองในรัฐธรรมนูญ แบบที่สอง การเมืองเป็นแบบระบบเผด็จการทหาร ขุนนาง อำมาตย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และนักการเมือง Out of Politic ซึ่งการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ ทำให้นักการเมืองออกไปอยู่ข้างนอก โดยดูได้จากรัฐธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร เพราะว่าหลังรัฐประหาร เมื่อไหร่มีการร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองก็ถูกไล่ออกไป ในขณะที่ขุนนาง และอำมาตย์นั้น เขามีอำนาจสูงสุด โดยสถาบันกษัตริย์ ได้รับการจัดวางอำนาจให้เข้มแข็งภายใต้เผด็จการทหารที่เห็นชัดที่สุด ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 เป็นต้นแบบดึงอำนาจสถาบันกษัตริย์กลับมาอย่างชัดเจน
 
แบบที่สาม รัฐธรรมนูญแบบกึ่งรัฐสภา กึ่งอำมาตยาธิปไตย หมายความว่า ยอมรับอำนาจนักการเมือง แต่ในแง่หนึ่งก็ปล่อยให้มีนักการเมือง เลือกตั้ง มีบทบาทนักการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยเสรี มีอำนาจของอำมาตย์เข้ามากำกับ เช่น การตั้ง ส.ว. ในอดีต ซึ่งในช่วงปี 2520 แล้ว ส.ว. ก็ยกมือค้ำให้รัฐบาลอยู่ได้ และถ้าในปัจจุบัน ก็จะเป็นรูปแบบต้องมีระบบเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีไม่ได้ เพราะว่า นานาประเทศเป็นอย่างนั้น ไทยก็ต้องมีการเลือกตั้ง จะเสนอว่าประเทศไทย ไม่มีระบบเลือกตั้งไม่ได้ มันดูป่าเถื่อนเกินไป ซึ่งขนาดพันธมิตรยังเสนอ 70:30 ของการเมืองใหม่ ในอดีตเราเห็นทหารคนเล่นบทบาทกำกับนั้น และเราก็เห็นว่าหลากหลายมากขึ้นแต่ปัจจุบัน เราเห็นศาล ในทัศนะของผม ก็คือ ศาลเป็นอำมาตยาธิปไตยใหม่ขึ้น
 
แทนที่จะปล่อยให้ทหารอย่างเดียว ก็ให้ศาลเข้ามากำกับด้วย ดูตัวอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ที่มีการชวนให้เกิดความสงสัย ปัจจุบันภายใต้การเมืองกึ่งรัฐสภา กึ่งอำมาตยาธิปไตย สิ่งที่ผมคิดว่า เราพบว่า สถาบันการเมือง สถาบันจารีต สถาบันต่างๆ กำลังถูกสั่นคลอน ถูกตั้งคำถามอย่างมากโดยเฉพาะสถาบันจารีต
 
 
คำถามถึงฝ่ายอนุรักษ์ และพลังชนบทใหม่ที่ระบบรัฐสภาตัวแทน
ศาลก็ถูกตั้งคำถาม และสถาบันจารีต ก็ถูกตั้งคำถามกับสังคมไทย สิ่งนี้เป็นปมปัญหาหลักของสังคมไทย ซึ่งการสร้างสถาบันให้เกิดขึ้นเป็นที่ยอมรับเกมนี้หรือกติกาเข้าสู้นั้นแล้ว ผมคิดว่า สังคมไทยจะเป็นปัญหาอยู่แน่ เพราะเราเห็นว่า ในแง่หนึ่งพลังอำมาตยาธิปไตยอยู่ได้ การสนับสนุนจากชนชั้นนำ ชนชั้นกลาง ภาคประชาชน สื่อมวลชนจำนวนมาก
 
แต่ขณะเดียวกัน ระบบสภาผ่านตัวแทน เราเห็นชนบทใหม่ หรือ ชนชั้นล่างก็ตามสนับสนุนนี้ ซึ่งระบบสภาผ่านตัวแทนกำลังเป็นพื้นที่ ในแง่หนึ่งเป็นทางออก การแสดงความคิดเห็นของคนรากหญ้า ชนชั้นล่าง อะไรขณะนี้ แต่ก็โดนกำกับโดยอำมาตยาธิปไตย ซึ่งผมคิดว่า มันเป็นปมประเด็นที่ต้องถูกขบคิดกันมาก และสิ่งที่เราต้องคิดว่า เราจะสร้างสถาบันนี้ขึ้นได้อย่างไร
 
ซึ่งอย่างที่อาจารย์วรวิทย์ พูดมาแล้วเรื่องความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ซึ่งการกระจายรายได้ของสังคมไทย ถูกจัดอยู่อันดับสุดท้าย ในท่ามกลางความเลวร้าย ก็คงไม่เลวร้ายกว่านี้ แล้วถ้ามันเลวร้ายที่สุดในโลก เช่น เม็กซิโก มันจะต้องรบกันแล้ว บัดนี้ เรามาถึงจุดที่ต่ำสุดของระดับกระจายรายได้แล้ว คือข่าวดีหรือข่าวร้าย มันคือหน้าต่างแห่งโอกาสได้เปิดขึ้นแล้ว มันมีปัจจัยหลายอย่างมาผนวกกันถึงความเสื่อมถอยและในช่วง 5 ปีข้างหน้า เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงแน่ และจะทำอย่างไรให้สังคมไทย สร้างให้ทั้งหมดกระโดดเข้ามาเล่นในเกมนี้ได้ ผมคิดว่าเรื่องที่เราต้องคิดกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท