Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากพิจารณาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารที่ดำเนินมานับตั้งแต่ต้นปี 2551 เราจะพบว่ามีการคลี่คลายในการให้เหตุผล-จุดยืนของฝ่ายชาตินิยมไทย (ทั้งโดยนักการเมือง นักวิชาการ และสื่อมวลชน) ที่ยืนยันว่าไทยต้องคัดค้านการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา

กล่าวคือ แม้ว่าคนจำนวนไม่น้อยยังหวังลมๆ แล้งๆ ว่าวันหนึ่งปราสาทพระวิหารจะกลับมาเป็นของไทย แต่น่าจะกล่าวได้ว่าบางส่วนของพวกเขาเริ่มทำ (ความเข้า) ใจได้มากขึ้นว่า โอกาสที่ไทยจะได้ปราสาทพระวิหารคืนมาเป็นของไทยนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะอายุความที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2515 หรือสิบปีหลังจากศาลโลกมีคำพิพากษายกดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารให้แก่กัมพูชา  แต่ปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านี้

ประโยคที่เรามักได้ยินต่อจากเรื่องตัวปราสาทพระวิหารคือ “ศาลโลกตัดสินยกให้เฉพาะพื้นที่ตั้งตัวปราสาทเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับดินแดนรอบตัวปราสาท” “พื้นที่ 4.6 ตร.กม. ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นของไทย” นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า อย่าไปเรียกว่าพื้นที่ทับซ้อนเพราะเท่ากับไทยไปยอมรับสิทธิ์ของกัมพูชา

พวกเขาพูดราวกับว่าเพียงแค่การเรียกชื่อดินแดนตามความต้องการของไทย ก็จะส่งผลให้การอ้างสิทธิ์ของฝ่ายกัมพูชาเป็นหมันไปในทันที พวกเขาน่าจะรู้อยู่แก่ใจดีว่า ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าอย่างไร แต่ทันทีที่ดินแดนนั้นมีผู้อ้างอำนาจอธิปไตยมากกว่าหนึ่งราย มันก็เกิดการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยในทันที และชาวโลกเขาเรียกดินแดนประเภทนี้ว่า “พื้นที่ทับซ้อน”

ฉะนั้น ประเด็นใจกลางของการเผชิญหน้าระหว่างไทยและกัมพูชาในขณะนี้ จึงขยับมาอยู่ที่พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.นี้เอง แต่ปัญหานี้ดูจะแก้ไขยากกว่าเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาทฯ และมีโอกาสที่จะทำให้เกิดสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชาสูงมาก

สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาพื้นที่ 4.6 กม.ทำได้ยากมากมี 2 ประการ

1.    ไทยและกัมพูชายืนยันใช้หลักฐานคนละชุด ซึ่งหาจุดประนีประนอมไม่ได้
2.    กระแสสังคมที่ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงว่า พื้นที่รอบตัวปราสาทฯคือ พื้นที่ทับซ้อน ส่งผลในทางจิตวิทยาให้การเจรจาเพื่อยุติข้อพิพาทอย่างสันติยากยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลไทยต้องพยายามแสดงให้สังคมเห็นว่า ตนไม่ได้อ่อนข้อให้กับฝ่าย
3.     ขาดความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ 4.6 ตร.กม.นี้ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถ้าสังคมไทยตระหนักถึงปัญหาข้อกฎหมายที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลโลก จะทำให้เราพิจารณาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น และนี่คือประเด็นสำคัญของบทความนี้
 

 

อะไรคือ “เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา” ในคำพิพากษาศาลโลก
เมื่อครั้งที่กัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลโลก นอกเหนือจากการขอให้ศาลโลกชี้ขาดว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนของ กัมพูชาหรือไม่แล้ว ยังมีประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ ขอให้ศาลโลกชี้ขาดว่า  เส้นเขตแดนระหว่างกัมพูชากับไทยในเขตพิพาทกันในบริเวณปราสาทพระวิหารเป็น เส้นเขตแดนที่ลากไว้บนแผนที่ของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับ สยาม (หรือที่เรียกว่า แผนที่ภาคผนวก 1) หรือไม่

ซึ่งหมายความว่า หากศาลชี้ขาดให้เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ดังกล่าวเป็นเส้นเขตแดนระหว่าง ไทยกับกัมพูชา พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.ย่อมตกเป็นของกัมพูชาในทันที

เดชะบุญของฝ่ายไทย ศาลโลกไม่ได้ชี้ขาดให้ตามคำร้องแก่กัมพูชา

แต่ปัญหาก็ไม่ได้จบแค่นี้ เพราะศาลก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เช่นกัน แต่ศาลโลกกลับกล่าวไว้ว่า “จะรับฟัง (คำร้องข้อนี้)ได้ก็แต่เพียงในฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช่เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา” หมายความว่าจะพิจารณาคำร้องในข้อนี้ เพื่อใช้เป็นเหตุผลสำหรับการตัดสินคำร้องข้ออื่นเท่านั้น
 
กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือ  ศาลจะตัดสินได้ว่าดินแดนอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ในอำนาจอธิปไตยของ กัมพูชาหรือไม่นั้น ศาลจักต้องพิจารณาประกอบด้วยว่าเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาอยู่ตรงไหน ใช่เส้นที่ปรากฏในแผนที่ภาคผนวก 1 หรือไม่
เมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลโลกอย่างละเอียด จะพบว่าศาลโลกได้กล่าวถึงสถานะของแผนที่และเส้นเขตแดนในภาคผนวก 1 ไว้หลายจุด ดังต่อไปนี้

“ศาลจะสามารถวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือบริเวณพระวิหารได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบแล้วว่าเส้นเขตแดนนั้นคือเส้นใด”

“ศาลมีความเห็นว่าประเทศไทยใน ค.ศ. 1908-09 ได้ยอมรับแผนที่ในภาคผนวก 1 ว่าเป็นผลงานของการปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับรองเส้นบนแผนที่ว่าเป็นเส้นเขตแดน อันเป็นผลให้พระวิหารตกอยู่ในดินแดนกัมพูชา ศาลมีความเห็นต่อไปว่า เมื่อพิจารณาโดยทั่วๆ ไป การกระทำต่อๆ มาของไทยมีแต่ยืนยัน และชี้ให้เห็นชัดถึงการยอมรับแต่แรกนั้น และว่าการกระทำของไทยในเขตท้องที่ก็ไม่พอเพียงที่จะลบล้างข้อนี้ได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยการประพฤติปฏิบัติของตนเองได้รับรองเส้นแผนที่นี้ และดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการตกลงให้ถือว่าเส้นนี้เป็นเส้นเขตแดน”

“ศาลมีความเห็นว่าการยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 โดยคู่กรณี เป็นผลให้แผนที่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับความตกลงโดยสนธิสัญญาและกลายเป็น ส่วนหนึ่งของความตกลงนั้น”

“ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องได้เป็นที่ยุติกันไป ฉะนั้น อาศัยหลักในการตีความสนธิสัญญา ศาลจึงจำต้องลงความเห็นให้ถือเส้นเขตแดนตามแผนที่ของบริเวณพิพาท”

จากข้อความข้างต้นจึงเห็นได้ว่าศาลโลกได้ยอมรับเส้นเขตแดนตามที่ปรากฏใน แผนที่ภาคผนวก 1 อย่างชัดเจน (แต่ศาลหลีกเลี่ยงที่จะไม่ระบุไว้ในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา นี่เป็นประเด็นน่าสนใจว่า ทำไม?)   

ข้อมูลนี้จึงน่าจะเป็นคำตอบให้กับนักชาตินิยมไทยได้ตระหนักว่า ทำไมกัมพูชาจึงพยายามผลักเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสหประชาชาติ แต่ฝ่ายไทยกลับไม่ต้องการ เป็นไปได้ไหมว่าฝ่ายกัมพูชาเห็นว่าข้อความในคำพิพากษาได้สร้างข้อได้เปรียบ ทางกฎหมายแก่ตน จึงต้องการใช้สิทธิตามมาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ให้ศาลโลกตีความให้ชัดเจนไปเลยว่า อะไรคือเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาในบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร   

นักชาตินิยมไทยควรตระหนักด้วยว่า มาตรา 60 นี้ ไม่มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องยื่นภายในกี่ปี และการยื่นนี้ไม่ต้องจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายไทย กัมพูชาสามารถดำเนินการโดยลำพังได้ แต่การตีความจะมีผลบังคับต่อการปฏิบัติของไทยเหนือดินแดนพิพาทอย่างแน่นอน  คำถามคือ เราพร้อมที่จะรับมือกับการต่อสู้ทางกฎหมายในเรื่องนี้แค่ไหน อย่างไร

การพัฒนาร่วมกันไม่ใช่การเสียหน้าและอธิปไตย
หากฝ่ายไทยไม่แน่ใจว่าเราจะได้รับชัยชนะทางด้านกฎหมาย  ไม่ต้องการใช้เวทีสหประชาชาติเพื่อไกลเกลี่ยข้อพิพาท แต่การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าใด ๆ แต่กลับทวีกระแสสงครามให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เพราะตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะใช้หลักฐานที่แตกต่างกัน ยืนยันว่าจะต้องตัดสินให้ได้ว่าพื้นที่นี้เป็นของตนแต่ฝ่ายเดียว ก็ไม่มีทางจะหาข้อยุติได้ จึงถึงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจักต้องคิดถึงแนวทางใหม่ นั่นคือ ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่พิพาทอย่างจริงจังเสียที  

ทั้งไทยและกัมพูชาต้องไม่มองว่าการประนีประนอมในปัญหาที่แก้ไม่ได้ เท่ากับเป็นการเสียหน้า และต้องไม่เห็นว่ามีแต่ “สงคราม” เท่านั้น คือวิธีการพิทักษ์ศักดิ์ศรีของชาติ เพราะการแสวงหาข้อพิพาทด้วยสันติวิธี สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ผู้คนของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น ที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นวิธีการของอารยะชน

อันที่จริง ก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทย ได้ทำข้อตกลงที่จะจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกันแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิ์หรืออธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่โดยรอบ เพราะไทย (และกัมพูชา)ยังสามารถยืนยันการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่พิพาทของตนต่อ ไปได้

เช่น  ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไป โดยจะมีโครงการนำร่อง เช่น ตกลงให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการบูรณะฟื้นฟูโบราณสถานแก่นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญกัมพูชาในประเทศไทย นอกจากนี้ ไทยยังตกลงตามคำเชิญของกัมพูชาที่จะเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประสานงาน ระหว่างประเทศ (International Coordinating Committee; ICC-Preah Vihear) ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาปราสาทพระวิหารอย่างยั่งยืน  ในแง่นี้หมายความว่า แม้ว่าในทางกฎหมายเราได้สูญเสียปราสาทพระวิหารไปแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติไทยยังสามารถมีบทบาทในการบริหารจัดการเหนือปราสาทพระวิหาร ได้อยู่ รวมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม กระแสสังคมจะต้องเอื้ออำนวยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาและปัก ปันเขตแดนสามารถทำงานของตนได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตราหน้าว่าเป็น “คนขายชาติ” แต่น่าเสียใจว่า สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ของไทยในขณะนี้ ทั้งทีวี และหนังสือพิมพ์ต่างช่วยกันโหมกระพือไฟชาตินิยมกันอย่างเต็มที่ พวกเขายึดถือข้อมูลและทัศนคติของนักวิชาการชาตินิยมเป็นหลัก ปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงทัดทานที่ให้ใช้สติและศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน

ในส่วนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ยังคงทำงานเพื่อเก็บคะแนนเสียงไปวัน ๆ เห็นได้ชัดในกรณีตั้งใจบิดเบือนข้อมูลที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ บินไปสเปนเพื่อขอให้คณะกรรมการมรดกโลกทบทวนการจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร (อ่าน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี “ปราสาทพระวิหาร: บิดเบือน ทำไมจึงต้องบิดเบือน” http://www.prachatai.com/journal/2009/07/24931)

การหลับหูหลับตาต่อปัญหาที่เป็นจริง ปล่อยให้กระแสชาตินิยมเป็นตัวกำหนดท่าทีและนโยบายต่อปัญหาปราสาทพระวิหาร ในที่สุดแล้ว จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่สงครามกับกัมพูชาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชีวิตทหารและผู้คนตามชายแดนที่ไม่รู้อิโหน่อิโหน่อีกจำนวนมากคงต้องสังเวย ให้กับความมืดบอดจากมายาคติของพวกเขาต่อไป

อย่างไรก็ตาม บรรดานักชาตินิยมที่มีชีวิตสุขสบายอยู่ในเมืองดูจะไม่สนใจความเดือดร้อนของ ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนสักเท่าไร  (ฉะนั้น การเตือนพวกเขาด้วยประเด็นนี้จึงไม่ได้ประโยชน์นัก) สิ่งที่พวกเขาห่วงใยมากกว่าก็คือเป็นพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ที่”ชาติไทยต้องพร้อมหลั่งเลือดเพื่อปกป้องไว้ให้ได้ทุกตารางนิ้ว” แต่ผู้เขียนอยากเตือนพวกเขาว่าลัทธิชาตินิยมของพวกเขาเองนั่นแหละที่กำลังจะ ทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.ไปยังเด็ดขาด และเมื่อถึงตอนนั้น ไฟแห่งความโกรธแค้นกัมพูชาก็จะยิ่งโหมกระพือมากขึ้น แต่อย่าหวังเลยว่าพวกเขาจะประณามการกระทำของตนเอง เพราะการหา “แพะรับบาป” ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net