รายงาน: NCER, ECER จากมาเลย์ แผนพัฒนากระทบชิ่งภาคใต้ของไทย

ภาคใต้ของไทยถูกกำหนดความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ติดกับภาตใต้ของไทย ใน 2 กรอบ คือ IMT-GT (Indonesia – Malaysia – Thai Growth Triangle) หรือ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย และ JDS (Joint Development Strategy for Border Areas) หรือกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย

โดย IMT-GT ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดของอินโดนีเซีย 8 รัฐของมาเลเซีย และ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย มีความร่วมมือใน 6 สาขา ได้แก่ สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล

ขณะที่ JDS ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (สงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส) และ 4 รัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย (ปะลิส เกดะห์ กลันตัน และเประ เฉพาะอำเภอเปิงกาลันฮูลู) มีกรอบความร่วมมือในด้านต่างๆ 9 สาขา มีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานงานฝ่ายไทย และ Economic Planning Unit (EPU) เป็นผู้ประสานงานฝ่ายมาเลเซีย

ในส่วนของภาคใต้ของไทย นอกจากแผนพัฒนาภาคใต้และแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

แผนทั้งหมด มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้พื้นที่ด้านต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอาเซียน โดยมีกรอบใหญ่ที่สุดคือ ประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน(ASEAN) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งแต่ละแผนมีความก้าวหน้าไปเป็นลำดับ

ขณะที่การพัฒนาภาคใต้ของไทยที่รัฐบาลยังไม่ฟันธง เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์นซีบอร์ด ที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก กับสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล หรือ แลนด์บริจด์ สงขลา – สตูล ที่จะมีท่อส่งน้ำมัน ท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น กลับปรากฏว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ก้าวหน้าไปไกลกว่าแล้ว โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการพัฒนาภาคใต้ไปด้วย

กล่าวสำหรับการพัฒนาพื้นที่ของมาเลเซียดังกล่าว ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณแนวพื้นที่ภาคเหนือ (Northern Corridor Economic Region : NCER) และการพัฒนาในบริเวณแนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก (East Coast Economic Region : ECER) โดยทั้งสองพื้นที่เชื่อมโยงกับไทยภายใต้แผนงาน IMT-GT และแผนงาน JDS โดยยังมีอีกแผนคือการพัฒนาในบริเวณแนวพื้นที่อิสกันดา (Iskandar Development Region) ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของประเทศบริเวณรัฐยะโฮร์ภาคใต้และสัมพันธ์กับแผนงาน (Indonesia – Malaysia – Singapore Growth Triangle : IMS – GT ) ทั้งหมดเริ่มดำเนินการในปี 2550 แล้วเสร็จในปี  2568

ในเอกสารที่เรียบเรียงโดย ว่าที่ร้อยตรีกิตติพล โชติพิมาย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปรายละเอียดทั้ง 2 พื้นที่ไว้ ดังนี้

1. NCER เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2550 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่และยกระดับรายได้ของประชาชน ประกอบด้วยพื้นที่รัฐปีนัง ปะลิส เกดะห์ และภาคเหนือของรัฐเประ ซึ่งติดต่อกับจังหวัดสตูล สงขลา และยะลาของไทย โดยเป็นพื้นที่ที่สร้าง GDP ให้แก่มาเลเซียร้อยละ 20.1 มีวิสัยทัศน์เพื่อการพัฒนาไปสู่การเป็นภูมิภาคเศรษฐกิจระดับโลก ในด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ (E&E) ด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และด้านเทคโนโลยีชีวภาพ

ผู้ดำเนินการ ได้แก่ Sime Darby Berhad ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่อันดับหนึ่งของมาเลเซียและอินโดนีเซียตะวันออกเฉียงใต้ งบประมาณดำเนินการ 177 พันล้านริงกิต (51.2 พันล้านดอลลาร์สรัฐ) ในช่วงระยะเวลา 18 ปี โดยรัฐบาลเตรียมงบประมาณราว 1/3 ในขณะที่เป็นการลงทุนของภาคเอกชนประมาณ 2/3 เป้าหมาย เพื่อเพิ่ม GDP ของภูมิภาคจาก 52.7 พันล้านริงกิต ในปี 2548 เป็น 214.1 พันล้านริงกิต ในปี 2568 สร้างงาน 500,000 ตำแหน่งภายในปี 2555 และอีก 1,000,000 ตำแหน่งภายใน ปี 2561

การจัดแนวพื้นที่การพัฒนาย่อยภายใน NCER ประกอบด้วย แนวพื้นที่เกาะ ได้แก่ เกาะลังกาวีและปีนัง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำและศูนย์กลางกระจายสินค้าของโลกทางด้านอากาศและทางทะเล ส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางทางแพทย์ คงความเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและการผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ พร้อมทั้งยกระดับด้านโลจิสติกส์โดยพัฒนาท่าเรือ ถนน และสะพานปีนังแห่งสองเพิ่มเติม

แนวพื้นที่ชายฝั่ง
ได้แก่ การพัฒนาแนวพื้นที่ด้านเหนือเชื่อมโยงปาดังเบซาร์สู่ประเทศไทย โดยพัฒนาเมืองคะง่า เมืองหลวงของรัฐปะลิสเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาเชื่อมโยงกับเมืองอาโรและสินธก โดยให้เมืองกัวลาเกดะส์และเมืองกัวลามูดา เป็นศูนย์กลางด้านการประมง แปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวชายฝั่ง และการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง ส่วนเมืองยาน พัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านปิโตรเลียมเคมี อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คลังน้ำมัน

แนวพื้นที่ตอนกลาง ได้แก่พื้นที่ข้าง North-South Expressway จากเมืองอิโปห์ รัฐเประ ไปยังเมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ติดชายแดนไทยที่อำเภอสะเดา ให้เป็นฐานอุตสาหกรรมแปรรูป โดยมีศูนย์กลางที่เมืองบัตเตอร์เวอร์ธ คูลิม และกูรุน โดยเน้นธุรกิจ SME ที่ผลิตวัตถุดิบให้กับโรงงานเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ โดยมีแผนการพัฒนารถไฟรางคู่และการขนส่งระบบรางไปยังท่าเรือและท่าอากาศยาน

แนวพื้นที่ตอนใน ได้แก่ พื้นที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองโกตาปุตรา และเมืองโกตากังซาร์ เน้นกิจการด้านการเกษตรเพื่อการพาณิชย์ เช่น ยางพาราและปาล์ม และการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำรองรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นพื้นที่ประตูเชื่อมโยงกับไทยแห่งที่สองเมืองเปิงกาลันฮูลู รัฐเประ กับอำเภอเบตง จังหวัดยะลา

แนวพื้นที่ บัตเตอร์เวอร์ธ – คูลิม - บาลิง – เปิงกาลันฮูลู เพื่อเชื่อมโยงระหว่างศูนย์โลจิสติกส์ที่เมืองบัตเตอร์เวอร์ธ รัฐปีนัง กับเมืองคูลิม รัฐเประ โดยจะพัฒนายกระดับถนนเชื่อมโยงระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก

มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการปีนังโมโนเรล สร้างสะพานปีนังแห่งที่สอง โครงการ Kedah Hydrocarbon Hub หรือ การพัฒนาโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และการสร้างท่อส่งน้ำมันในรัฐเกดะห์ (เมือง Yan) ผ่านไปรัฐกลันตัน (เมือง Bachok) ปัจจุบันโครงการต่างๆ อยู่ระหว่างการทบทวน เนื่องจากผละกระทบวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและราคาน้ำมัน

องค์กรบริหาร ได้แก่ Northern Corridor Implementation Authority: NCIA โดยมีผู้แทนจากรัฐต่างๆ ในพื้นที่และรัฐบาลมาเลเซียร่วมดำเนินการ

สำหรับความเชื่อมโยงกับไทยด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน NCER ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่ดูเรียนบุหรง รัฐเกดะห์ ตรงข้ามกับด่านศุลกากรบ้านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ซึ่งฝ่ายมาเลเซียมีความก้าวหน้ากว่าฝ่ายไทยมาก การพัฒนาด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ตรงข้ามด่านบูกิตกายูฮิตัม ฝ่ายไทยยังอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดิน ขณะที่ฝ่ายมาเลเซียพัฒนาตามโครงการ Kota Perdana ไปตามแผนแล้ว

2. ECER เปิดโครงการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ในพื้นที่ 3 รัฐ ได้แก่ กลันตัน ตรังกานู ปาหัง และอำเภอเมอร์ซิง รัฐยะโฮร์ โดยเชื่อมโยงกับไทยในบริเวณจังหวัดนราธิวาสกับรัฐกาลันตัน มีวัตถุประสงค์ใช้การพัฒนาด้านปิโตรเลียมภายใต้ Petronas Nasional Bhd. เป็นตัวกระตุ้นการพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาด้านท่องเที่ยวและเป็นศูนย์โลจิสติกส์ทางภาคตะวันออก

พื้นที่ ECER เดิมค่อนข้างยากจน โดยมีสัดส่วน GDP ของประเทศเพียงร้อยละ 12 เป็นระดับต่ำสุด แต่มีทรัพยากรน้ำมันนอกชายฝั่งทะเลรัฐกลันตันจำนวนมาก สามารถพัฒนาเป็นฐานการผลิตปิโตรเคมี เช่นเดียวกับฐานการผลิตปิโตรเลียมเคมีขนาดใหญ่ที่เมืองเกอเตร์ในรัฐตรังกานู

ผู้ดำเนินการ คือ Sime Darby Bhd. และ Southern Corridor Bhd.งบประมาณ 22.3 พันล้านริงกิต โดยรัฐบาลจัดสรรให้ และลงทุนโดย Petronas Nasional Bhd. ในด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประมาณ 40 พันล้านริงกิต โดยมีระยะเวลาดำเนินการถึงปี 2563

มีแผนพัฒนาที่สำคัญๆ คือ ความเป็นศูนย์กลางด้านท่องเที่ยว ได้แก่ แนวพื้นที่ชายฝั่ง เช่น เมืองตุมปัต (ตรงข้ามอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส) กัวลาปาหัง ศูนย์กลางการท่องเที่ยวชายแดน เช่น เมืองเปิงกาลันกุโบร์ (ตรงข้ามท่าเรือเฟอร์รี่ตาบา) เมืองรันตาปันยัง (ตรงข้ามอำเภอสุไหงโกลก) เมืองบูกิตบุหงา (ตรงข้ามบ้านเก๊ะตา ปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จ) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บริเวณเมืองเกอร์เต และเมืองเกบังสนับสนุนด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทางด่วนพิเศษและทางด่วนชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ขยายท่าเรือกวนตัน เคมามัน และเกอร์เต

การพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูปหลัก ได้แก่ แนวพื้นที่ Eastern Region Primary Manufacturing Corridor เชื่อมโยงระหว่างเมืองเกอร์เต – ท่าเรือกวนตัน – กวนตัน – แกมบัง – เปกัน โดยพัฒนาเขตการค้าเสรีที่ท่าเรือกวนตัน และท่าเรือเคมามัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่เมืองท่าเรือกวนตัน ศูนย์การค้าและการกระจายสินค้าประเภทยานยนต์ ณ เมืองท่าเรือกวนตัน อู่ต่อเรือซ่อมเรือที่เมืองชูไค อุตสาหกรรมหลักที่เมืองเตลุก คาลอง และชูไค สวนอุตสากรรมยานยนต์ที่เมืองเปรามู และสวนอุตสาหกรรมฮาลาลที่เมืองแกมบัง

การพัฒนาศูนย์อุตสาหกรรมแปรรูประดับรอง ได้แก่ แนวพื้นที่ Secondary Manufacturing Zone (ตาเมอร์ลอห์ – เมนตากับ – เบนตา – กัวลาตรังกานู – โกตาบารู) ประกอบด้วยสวนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางที่เมืองที่เมืองตาเมอร์ลอห์ สวนอุตสาหกรรมผสมผสานที่เมืองเบนตอง หมู่บ้านหัตกรรมที่เมืองกัวลาตรังกานู เขตเสรีที่ท่าอากาศยานกัวลาตรังนากู และเมืองเปิงกาลันกุโบร์ สวนอุตสาหกรรมฮาลาลที่เมืองปาเสมัส

การแปรรูปอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปจากน้ำยางข้นที่เมืองมาจัง การทำสวนไม้ยางในทุกรัฐของ ECER การแปรรูปอาหารระดับ SME ที่เมืองตอกบาลิ บาจอก เชนเดอริง ชูไค กวนตัน และสวนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง ที่เมืองกัวลาลัมไกร บันดา อัล – มุกตาฟิ บิลลา – ชาห์

ความเชื่อมโยงกับไทย ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกที่บ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กับบ้านบูกิตบุหงา รัฐกลันตัน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550 การศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลกแห่งที่สอง บริเวณเมืองรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน และอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนริวาส และสะพานข้ามแม่นำโกลก ที่ท่าตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส กับเมืองเปิงกาลันกุโบร์ อำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน

NCER และ ECER จะเป็นตัวกระตุกรัฐไทยให้รีบตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตภาคใต้อย่างไร ก็ต้องติดตาม แต่ไทยเองก็มักตามหลังเพื่อนเสมอ แม้เป็นเรื่องที่คิดขึ้นก่อนก็ตาม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท