ไทยโพสต์แทบลอยด์ สัมภาษณ์ ทายาท ‘24 มิถุนา’ ตอน 2

บทสัมภาษณ์ “จีรวัสส์ ปันยารชุน” บุตรสาวจอมพล ป.พิบูลสงคราม, “ชุมพล พรหมยงค์” บุตรชายคนโตของแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี หนึ่งในสี่คณะราษฎรที่เป็นชาวมุสลิม, “พ.อ.สมพงศ์-นงลักษณ์ พิศาลสรกิจ” บุตรสาวและบุตรเขยของพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือในการปฏิวัติ 2475

 
  
จีรวัสส์ ปันยารชุน
 
"คุณพ่อพี่ร้องไห้นะ คุณแม่เขียนบันทึกว่าถามคุณพ่อทำไมเธอร้องไห้ คุณพ่อบอก 2475 ฉันหมดแล้ว พอ 2490 2475 ฉันหมดแล้ว ไม่มีใครรู้นะ"
 
 
77 ปีปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ท่ามกลางความเงียบสงัด ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน หรือ "วัดประชาธิปไตย" ดังที่ อ.ศุขปรีดา พนมยงค์ ย้อนอดีตให้ฟัง ลูกหลานของคณะราษฎรได้ร่วมกันทำบุญรำลึกถึงบรรพบุรุษ ผู้กล้าหาญเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชน แม้จะยังไม่บรรลุผลสมบูรณ์จนวันนี้
 
วันเดียวกันมีเรื่องเศร้า เมื่อทุกคนได้ทราบข่าวว่าคุณกระจ่าง ตุลารักษ์ คณะราษฎรคนสุดท้าย จากไปอย่างสงบด้วยวัย 97 ปี
 
แต่บรรยากาศในภาพรวม ก็เป็นที่น่าทึ่งว่าลูกหลานคณะราษฎร ที่เกือบทั้งหมดบรรจุอัฐิไว้ที่วัดแห่งนี้ มีความกลมเกลียวกันเหมือนบรรพบุรุษเมื่อ 77 ปีก่อน แม้หลังจากนั้นจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนเดินกันคนละทาง โดยในงานครั้งนี้ เมื่อสิ้นท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แล้ว ผู้มีอาวุโสสูงสุดก็กลายเป็นคุณป้าจีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรสาวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม
 
 
ไม่ใช่เรื่องโบราณ
 
เรานัดสนทนากับ "ป้าจี" อีกครั้งที่บ้านในซอยสุขุมวิท 18 ซึ่งเล่าให้ฟังว่าสามี คุณรักษ์ ปันยารชุน พี่ชายคนโตของอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน (น้องเล็กคนที่ 12) ซื้อจากตระกูลนานาตั้งแต่ราคาตารางวาละ 6 บาท ตั้งแต่ก่อนแต่งงานในปี 2488
 
"ซื้อตั้งแต่แถวนี้ยังไม่มีใครอยู่เลย จากนี่มองไปยังเห็นคลองเตย ที่ตรงนี้ตารางวาละ 6 บาท ข้างหน้าตารางวาละ 15 บาท ไม่มีเงินซื้อ เขาให้ผ่อนส่งเอา"
 
ตอนนี้ก็กลายเป็นบ้านสวนเนื้อที่ 5 ไร่อยู่ในดงตึกสูง แต่บรรยากาศข้างในเหมือนอยู่นอกเมืองเพราะต้นไม้นานาพันธ์ปกคลุมไปทั่ว
 
อายุ 88 แต่ป้าจีเคยชินกับการใช้คำว่าพี่ ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉงไม่น่าเชื่อ
 
"พี่อารัมภบทก่อนว่า มีคนชอบพูดเวลาเราเอ่ยชื่อจอมพลป.หรือ 24 มิถุนา เขาจะบอกเรื่องมันนานมาแล้ว ไม่ควรจะเอ่ยถึง คนลืมหมด วันนี้พี่ไปเล่นบริดจ์ ก็บอกเพื่อนว่าจะต้องกลับบ้านเพราะมีคนมาสัมภาษณ์ เขาถามว่าสัมภาษณ์เรื่องอะไร พี่บอกจะเรื่องอะไร ก็ต้องเรื่องจอมพลป. เขาบอกแหมมันเรื่องโบราณคนลืมไปหมดแล้ว เมื่อ 2 วันที่แล้วดูข่าวทีวีคุณไพศาล(พืชมงคล) ให้สัมภาษณ์ว่าเห็นว่าเสื้อแดงเขาจะเอา 24 มิ.ย.เป็นวันชาติ เขาบอกโอ๊ยเอาเรื่องอะไรที่คนลืมไปหมดแล้ว ไปถามสิไม่มีใครรู้จักหรอก แต่พี่ว่าจากอดีตเราจึงมีปัจจุบัน ถูกไหม แล้วก็พวก 24 มิถุนา ไม่เคยที่จะกล่าวว่าพวกเจ้านายเลยนะ มีแต่ว่าท่านทำเอาไว้เราทำเสริมต่อ ถ้ารัฐบาลทำต่อจากรัฐบาลเก่าทำ พี่ว่าป่านนี้บ้านเราไปถึงไหนแล้ว คุณพจน์ สารสิน เคยพูด ปฏิวัติทีเราถอยหลังอีก 10 ก้าว เมืองไทยเราไม่ไปข้างหน้าสักที นี่ก็เหมือนกัน ปฏิวัติทักษิณเราถอยอีกกี่ก้าว ขอฝากถึงรุ่นหลังถ้าเราสานต่องานของรัฐบาลเก่า ที่ไม่ดีอย่าไปทำ ที่ดีก็ทำต่อไป"
 
ป้าจีเกิดก่อน 24 มิถุนา
 
"ตอน 2475 พี่อายุ 11 อยู่สตรีวิทยา เรียน ม.1 ก็ไม่เคยรู้สึกว่าจะมีเหตุการณ์อะไร วันที่ 24 ก็ยังไม่รู้ว่ามีปฏิวัติก็ไปโรงเรียน แต่เห็นคนมารับ เจ้านายมารับลูกหลานกลับบ้าน แต่เรายังวิ่งเล่นอยู่เลย ไม่รู้เรื่อง กลับบ้านไปตอนเย็น"
 
บอกว่าตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องอะไรหรอก
 
"ยังเด็ก แต่ทราบว่าตอนนั้นคุณหลวงอดุลย์(เดชจรัส)มาที่บ้านเราบ่อยมากเลย ตอนหลังพี่ไปเจอหนังสือที่หลวงอดุลย์ท่านเป็นพยานตอนคุณพ่อเป็นอาชญากรสงคราม พี่ไม่เข้าใจเลย คำให้การของหลวงอดุลย์ แหมด่าคุณพ่อจังเลย ให้การอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นคุณหลวงอดุลย์ เป็นเพื่อนกันมา รักกัน ต่างคนต่างไอ้ กู มึง สนิทสนมกัน"
 
"ระหว่างที่เป็นรัฐบาลตอนญี่ปุ่นอยู่ คุณหลวงอดุลย์ก็เป็นอธิบดีตำรวจ พ่อพี่ตอนนั้นไปลพบุรีเสมอ ตั้งรับญี่ปุ่น" ป้าจีบอกว่าตอนนั้น จอมพล ป.ให้ถือว่าลพบุรีเป็นเขตพุทธมณฑล เพื่อป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นรุกล้ำขึ้นไป
 
"เสรีไทยนี่เรารู้ตลอดเวลา หลวงอดุลย์ขึ้นไปรายงานคุณพ่อที่ลพบุรีเกือบทุกวัน เรื่องเสรีไทย เพราะเสรีไทยมาถึงรัฐบาลต้องรีบจับไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นจับไป"
 
ตอนเกิดสงครามโลกแล้วญี่ปุ่นบุกไทย ป้าจีอยู่ที่อเมริกา
 
"ตอนนั้นพี่เป็นนักเรียนอเมริกา เสรีไทยมีแล้ว พี่จะอยู่เป็นเสรีไทยนะไม่ได้อยากกลับบ้าน แต่พี่ชาย (พลเรือตรี) อนันต์ พิบูลสงคราม บอกว่ารัฐบาลสั่งมาให้นักเรียนไทยกลับบ้าน ทางสถานทูตหม่อมเสนีย์ไม่กลับ ตั้งตัวเป็นเสรีไทย พอพี่ชายบอกให้กลับบ้านก็เลยกลับมา 18 คน ท่านจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ก็กลับด้วยกัน ฉะนั้นเสรีไทย สมพงษ์, การะเวก พวกนี้พี่รู้จัก นักเรียนอเมริการุ่นเดียวกัน"
 
"ตอนนั้นญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย รัฐบาลเลยต้องให้นักเรียนไทยกลับ พี่อยู่ฝรั่งเศสก่อน ฝรั่งเศสแพ้สงครามพี่ต้องจับเรือมาที่อเมริกาแล้วถึงจะมาเมืองไทยได้ อ.จินตนา ยศสุนทร ก็รุ่นเดียวกัน พอมาถึงอเมริการัฐบาลบอกให้เราเรียนต่อ พี่ก็เรียนต่อที่อเมริกา จินตนาไปเรียนแคนาดา พอสงครามเกิดขึ้นพวกนักเรียนไทยก็มารวมกันที่อเมริกา พวกที่กลับบ้านก็กลับ พวกที่อยู่ก็อยู่ ในที่สุดก็ตั้งเสรีไทย"
 
เราข้ามประวัติศาสตร์บางส่วน มาถามถึงตอนที่จอมพล ป.ถูกปฏิวัติ (หรืออันที่จริงเป็นการรัฐประหาร)
 
"เขาปฏิวัติคุณพ่อ ปี 2500 คุณพ่ออายุ 60 พอดี เราก็ทำบุญวันเกิดที่บ้านชิดลม 14 ก.ค. วันนั้นพวกนายทหารเต็มมาที่บ้าน จอมพลสฤษดิ์ ใครต่อใครมาอวยพร พอ 16 ก.ย.ปฏิวัติ"
 
"ตอนนั้นพี่อยู่สวิสเซอร์แลนด์ อยู่กับคุณแม่ ประชุมสมาคมสหประชาชาติ คุณแม่เป็นประธาน อยู่ที่สวิสกับหลวงวิจิตรนี่แหละ ก็รู้ว่าจะมีปฏิวัตินะ เพราะพี่อนันต์รายงานตลอดเวลาว่านายทหารมา demand คุณพ่ออย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าพูดถึงอันตรายพี่ว่าคุณพ่อไม่รู้หรอก แต่รู้ว่าจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ ปฏิวัติตอนนั้นคงจะเกลียดคุณเผ่ามากกว่า คือคุณเผ่ากับจอมพลสฤษดิ์ต้องถือว่าเป็นลูกคุณพ่อทั้งคู่ คนหนึ่งเป็นมือซ้ายคนหนึ่งข้างขวา แล้วคุณหญิงวิจิตราเรียนชั้นเดียวกับพี่นะ ที่สตรีวิทย์ สมัยนั้นเรารักกัน สมัยนั้นทหารสามัคคีกันจะตาย คุณพ่อออกไปเท่าที่ท่านเล่าให้ฟังเพราะไม่ต้องการให้รบกัน ตำรวจเขาก็มีอาวุธ จนกลายเป็นกองทัพตำรวจ ก็ C SUPPLY ของพวกอเมริกันที่เขาสนับสนุนตำรวจ ถ้าต่อสู้กันก็ยุ่งแน่"
 
"พี่เพิ่งเขียนหนังสืองานศพคุณเฉลิมชัย (พล.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์) เล่าเรื่องคืนวันที่ 16 ก.ย. พี่อนันต์เป็นเพื่อนรักกับคุณเฉลิมชัย ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทจอมพลสฤษดิ์ คืนวันที่ 16 ก.ย. พี่อนันต์ไปที่กองทัพ ที่เขากำลังวางกองกำลังจะปฏิวัติ ไปบอกเขาว่าให้กลับไปเสียเพราะการปฏิวัติผิดกฎหมาย ตอนนั้นเป็น พ.อ. เกือบ 2 ยามแล้วนะ คุณเฉลิมชัยเขารายงานขึ้นไปถึงจอมพลสฤษดิ์ จอมพลสฤษดิ์ก็ให้คุณเฉลิมชัยออกมาบอกว่าให้พี่อนันต์ให้กลับไปเสีย ไม่งั้นก็ให้จับตัวไปกักไว้ เพราะเวลานั้นเขาเตรียมพร้อมแล้ว ทหารอยู่เต็มที่แล้ว ทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้ว พี่อนันต์ก็เลยกลับ"
 
พล.อ.เฉลิมชัยเพิ่งถึงแก่อนิจกรรม "ลูกสาวเขาก็คุณชฎาทิพย์ จูตระกูล ที่ทำสยามพารากอนไง"
 
อย่างนี้แปลว่าจอมพล ป.ก็รู้อยู่แล้วว่าจอมพลสฤษดิ์จะปฏิวัติ
 
"ในที่สุดก็รู้ว่าเขาจะปฏิวัติ แต่ทำอย่างไรได้ จอมพลฟื้น (ฤทธาคณี) ซึ่งเป็นผบ.ทหารอากาศ ก็ถูกจับไป 3 วัน ท่านชอบเล่นบิลเลียด เขาก็เอาตัวไปเล่นบิลเลียด 3 วันไม่ให้กลับบ้าน คุณพ่อให้โทรไปถามหาจอมพลฟื้นก็ไม่เจอ คุณหลวงยุทธศาสตร์ ผบ.ทร.ก็ติดต่อไม่ได้ ใครๆ ก็ไม่ได้ คุณเผ่าก็ตามตัวไม่ได้"
 
จริงไหมที่มีคนสันนิษฐานว่ามาจากนโยบายด้านต่างประเทศ อเมริกาอยากเปลี่ยนผู้นำ
 
"อันนี้ไม่จริงเลย เพราะขณะปฏิวัติทูตชื่อบิชอฟกับเรานี่ดีมากเลย ตอนนั้นสามีพี่เป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราติดต่อกันดีมาก บิชอฟมาเป็นทูตหลังจากพิวริฟอยด์ พิวริฟอยด์เป็นทูตที่แข็งมาก เขาพูดกับพี่เลย กินข้าวที่สถานทูตอเมริกา ดินเนอร์ เขาบอก tell your father that I'm here again to make your father stay"
 
มองกันว่าตอนท้ายจอมพลป.เปิดความสัมพันธ์กับจีน อเมริกาเลยไม่ค่อยชอบ
 
"แต่เวลานี้เราก็เปิดสัมพันธไมตรีกับจีน ถ้าเผื่อเป็นความจริง เราควรจะยกย่องจอมพล ป.ไหมว่าเป็นคนเปิดประตูเพื่อที่เจรจากับเมืองจีน แต่เราไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์นี่ เราไม่เป็นคอมมิวนิสต์แน่"
 
"เรื่องสีแดงนี่มีเกร็ดนะ สามีพี่เอาโคคาโคลาเข้ามาประเทศไทย ป้ายโคคาโคลาสีแดงนะ สมัยนั้นเราเอาป้ายสีแดงโฆษณาผูกตามรถราง คุณพ่อบอกให้เปลี่ยนเป็นสีเขียว เราก็ต้องเปลี่ยน" ป้าจีเล่าพร้อมกับหัวเราะ ตรงนี้เป็นเกร็ดความรู้ว่าคุณรักษ์เป็นผู้นำโคคาโคลาเข้ามา ต่อมาทำไม่ไหวจึงขายให้ตระกูลสารสิน
 
"ต้องไปอ่านหนังสืองานศพที่คุณประดับ ภรรยาจอมพลฟื้นเขียน มีรายละเอียดเรื่องที่เขาไปบอมบ์เรือตอนกบฏแมนฮัตตัน จอมพลฟื้นเป็นคนไปบอมบ์ คุณพ่ออยู่ในเรือรบศรีอยุธยา จอมพลฟื้นบอกว่าขอให้ท่านเสียสละ ตอนนั้นคุณพ่อถูกจับไปใส่เรือรบศรีอยุธยา จอมพลฟื้นทิ้งระเบิด เคราะห์ดีระเบิดตกไปในปล่อง แต่เรือก็จม คุณพ่อต้องว่ายน้ำ ต้องเลือกว่าว่ายน้ำมากรุงเทพฯไม่ได้เพราะเขายิง ก็ว่ายไปทางฝั่งทหารเรือ ทหารเรือเขาเลยส่งตัวมา"
 
กบฎแมนฮัตตันนองเลือดรุนแรง ป้าจีบอกว่าที่สวนลุมก็รบกัน
 
"สวนลุมพินีเมื่อก่อนเป็นของกองวิทยุทหารเรือ พอหมดแมนฮัตตันในที่สุดก็ถูกยึดไป กบฏแมนฮัตตัน
คุณพ่อยังบอกนึกว่าจะตายเพราะถูกจับไป เลยบอกชาตินี้คงไม่ได้เจอลูกเจอเมียแล้ว เพราะฉะนั้นขอฝากลูกเมียไว้กับพระพุทธเจ้า ในหนังสือที่คุณประดับเขียนบอกว่าจอมพลฟื้นคงไม่ได้นึกว่าจะฆ่าจอมพล ป. จอมพลฟื้นบอกว่าเคยพูดกันไว้แล้วว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่เสียสละเพื่อชาติเราต้องทำ บอกว่าจอมพล ป. กับจอมพลฟื้นเคยพูดกัน แต่พี่ไม่เชื่อ เพราะจอมพลฟื้นนี่คล้ายๆ กับลูกศิษย์คุณพ่อ แต่ตอนหลังคุณหญิงสะอาดจิตซึ่งเป็นภรรยาคนแรกของจอมพลฟื้นพูดกับพี่ว่า หลังจากนั้นหม่อมคึกฤทธิ์ไปหาจอมพลฟื้น ไปบอกว่าท่านเป็นฮีโร่ ผมเอารูปท่านมาตั้ง และผมดื่มเหล้ากับท่านทุกเย็น จะแปลว่าอะไร"
 
หม่อมคึกฤทธิ์ชอบใจ?
"เบื้องหลังการเมืองมันลึกซึ้ง"
 
หลังจากนั้นจอมพลป.กับจอมพลฟื้นยังดีกันไหม
"จอมพลฟื้นเหมือนกับเป็นลูกหลาน หลวงยุทธศาสตร์ จอมพลสฤษดิ์ คุณเผ่า พวกนี้เด็กๆ ทั้งนั้นแหละ อยู่ด้วยกันมาเป็นลูกหลาน"
 
เชื่อกันว่าที่จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติมีผู้อยู่เบื้องหลัง ป้าจีไม่ตอบตรงๆ บอกว่าเคยเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปหาจอมพล ป. เล่ารายละเอียดหมด
 
"พี่เขียนจดหมายฉบับนี้ไปให้คุณพ่อ เล่าให้ฟัง พี่ก็โง่ เขียนซะละเอียดเลย และจำไม่ได้ว่าฝากใครไปให้คุณพ่อที่ญี่ปุ่น พี่ไปถามคุณพ่อท่านไม่ได้รับ และพี่ก็จำไม่ได้ว่าพี่ให้ใคร"
 
เขียนว่าใครอยู่เบื้องหลังสฤษดิ์-อย่างนั้นหรือ
"ไม่ใช่อยู่ข้างหลัง อยู่ด้วยกัน"
 
สมัยจอมพล ป. ดูหนังจบนี่มีภาพจอมพล ป.ใช่ไหม
"แต่พอคุณโตมา เรื่องจอมพล ป.เหมือนกับเป็นนิยายไปแล้ว เวลานี้ไปถามเด็กรุ่นนี้จะรู้จักแค่จอมพลสฤษดิ์ ถ้าถามถึงเรื่องจอมพลป.เขาบอกว่ามันเหมือนกับนิยาย จอมพล ป.ในขบวนผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดนะ เป็นคนถูกจ้องทำลายมากที่สุด คุณพ่อถูกวางยา กินข้าวด้วยกันนายพลเยอะแยะ รวมทั้งจอมพลฟื้นด้วย ที่นั่งกินข้าวด้วยกัน คุณพ่อยังถูกวางยา และคุณพ่อถูกยิงอีก 2 หน ที่สนามหลวงเกือบตาย ระยะเผาขนเลย มาอยู่ตรงประตูรถ พอดีก้มลงหยิบกระบี่ ตอนเผาคุณพ่อยังเห็น ข้างหลังกระโหลกยังเป็นรอยกระสุนถากไป อีกหนหนึ่งก็ไอ้ลี (บุญตา) คนสวน ไล่ยิงระยะติดๆ คุณพ่อกำลังแต่งตัวไปกินข้าวที่สถานทูตอังกฤษ มันเข้าไปยิง คุณพ่อก็วิ่งออกมาห้องพี่ แล้วออกมาอีกห้องหนึ่ง พอดีคุณเผ่าเขาอยู่ข้างล่าง ขึ้นมาล็อคไอ้ลีถึงบันได ดีที่มันยิงไม่ถูกคุณแม่ คุณแม่มาแต่งตัวห้องพี่ โต๊ะเครื่องแป้งยังเป็นรูกระสุนเลย ตอนนั้นลูกๆ ไม่อยู่บ้าน พี่อยู่โรงเรียนวัฒนา"
 
ป้าจีก็รู้จักนายลีเพราะเป็นคนในบ้าน
"มันเป็นคนสวนในบ้าน เป็นคนอุบลฯ วันนั้นนายลีไปรับน้องสาวที่อยู่โรงเรียนประจำด้วยกัน ไปรับยายเล็กกลับบ้าน เคราะห์ดีมันไม่ฆ่า ตกกลางคืนมาไล่ยิงคุณพ่อ"
 
นายลีโดนยิงเป้า "เขาว่าเวลามันจะตาย มันตะโกนบอกไหนว่าจะช่วยผมไงๆ"
 
แล้วคิดว่าใครสั่ง
"ต้องไปค้นคำสั่งศาล"
 
เป็นการแย่งอำนาจกันหรือ
"พี่ว่าไม่ใช่การแย่งอำนาจ เป็นการตัดคนที่มีอำนาจ"
 
 
ผู้นำที่ถูกลืม
 
หลังจอมพล ป.ถูกยึดอำนาจ ป้าจีก็ตามไปอยู่ด้วยเกือบตลอด
 
"ตอนนั้นคุณพ่อหนีไปที่ตราด และไปเกาะกง ขึ้นไปกับคุณชุมพลที่เกาะกง ไปขึ้นที่กรมทหาร แต่ก่อนจะไปก็เกือบจะตาย เพราะเดือน ก.ย.เป็นเดือนมรสุม คุณพ่อไปเรือหาปลา แล้วทะเลกว้างใหญ่ คุณชุมพลเขายังบอกเลย คลื่นลม เรือเหมือนกาบมะพร้าวลอย คุณชุมพลเล่าว่าถ้าเป็นอะไรแกก็จะยิงตัวตาย แต่เคราะห์ดีไปถึงเกาะกงได้ ทหารมารับ เขาโทรเลขไปถึงพระเจ้าแผ่นดินเขมร ท่านก็สั่งลงมาบอกให้รับจอมพลเหมือนรับพ่อมึง เท่านั้นแหละกรมทหารล้างสถานที่ให้คุณพ่อพัก แล้วท่านก็เอาเรือรบมารับคุณพ่อไปที่เขมร พี่อยู่ที่สวิสฯ ตอนนั้นพวกนักข่าวเอพี ยูพี มากินเลี้ยง เขาก็ส่งข่าวเสมอว่าคุณพ่อไปไหนๆ พี่กับคุณแม่ก็จับเครื่องบินมาที่เวียดนาม ผ่านกรุงเทพฯแต่ไม่ได้ลงกรุงเทพฯ ไปเวียดนาม ท่านโงห์ดินเดียมรับรองเรา ให้อยู่บ้านรับรอง ท่านให้สตางค์มาปึกหนึ่ง ให้เราใช้จ่าย พี่เอาไปซื้อแป้งกระป๋องเดียว ก็ฝากตำรวจที่ติดตามไปคืนท่าน แต่มาคิดตอนนี้เขาคงไม่ได้คืนหรอก (หัวเราะ)"
 
ป้าจีกับท่านผู้หญิงละเอียดเดินทางต่อมาที่เขมร
 
"ท่านทูตไทยที่เขมรไปรับเราที่สนามบิน คุณเจริญ เป็นคุณพ่อคุณสุมณี คุณะเกษม ดูแลเราอย่างดี ทางรัฐบาลเวียดนามให้รถมาส่งเราที่ชายแดนเขมร เพราะความสัมพันธ์เขาไม่ค่อยดีต่อกัน ตอนนั้นคุณพ่ออยู่ที่วังท่านสีหนุ คุณพ่อไม่มีพาสปอร์ต คุณพจน์ (สารสิน) เป็นนายกรัฐมนตรีตอนนั้น ก็เลยทำพาสปอร์ตส่งไปให้ เวลาอยู่เขมรมีคุณทนุ เวลานั้นเขาเป็นออกญาที่เขมร ดูแลเราอย่างดี ตอนหลังคุณพ่อขอไปญี่ปุ่น ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็รับเราดี เจ้าของมารูเซ่นออยล์ให้บ้านเราอยู่ 7 ปี ไม่เสียสตางค์เลย บ้านก็หรูหราในโตเกียว จนเราเกรงใจเขาเลยซื้อบ้านหลังเล็กๆ อยู่ใกล้ๆ แคมป์ซามา แคมป์ของทหารอเมริกัน"
 
"คุณพ่อตายที่บ้านหลังนี้ เป็นบ้านหลังเล็กๆ เดิมเป็นของทหารอเมริกันมีเมียญี่ปุ่น ไปสร้างบ้านไว้ เราก็ไปซื้อถูกๆ แต่สบายเป็นบ้านเราเอง เราก็หายใจออก พี่ไปอยู่ที่นั่นหลายเดือน วันเกิดคุณพ่อ ก.ค. และวันเกิดคุณแม่เดือน ต.ค. ไปๆ กลับๆ ตอนปี 2503 คุณพ่อไปบวชที่อินเดีย ท่านเนรูห์ก็ดีกับเรา เพราะคุณพ่อไปสร้างวัดไทยแห่งแรกไว้ที่พุทธคยา ท่านเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ์ไปเป็นเจ้าอาวาสที่นั่น"
 
ตอนอยู่ญี่ปุ่นความรู้สึกท่านเป็นยังไง
"ก็ปกติ แต่พี่ว่านักการเมืองก็คงจะ.. คุณพ่อถึงได้เป็นโรคหัวใจ คุณพ่อเสียอายุ 67 หมอดูเคยทายว่าคุณพ่อต้องอายุ 90 เพราะหูท่านยาว ถูกลูกระเบิดก็ไม่ตาย ถูกยิง 2 หนก็ไม่ตาย"
 
แล้วครอบครัวที่เมืองไทยเป็นอย่างไร ปกติดีไหม
"พี่ชาย 2 คน ตลอดสิบปีไม่ได้เลื่อนยศเลย พี่สงค์กับพี่นันต์ ตอนหลังถึงได้ติดนายพล" (พลเรือโทประสงค์ บุตรชายคนที่สอง)
 
"พี่สงค์ตอนแรกจะต้องไปเป็นทูตทหารเรือที่ฝรั่งเศส ก็ไม่ได้เป็น เพราะเกิดปฏิวัติก่อน วปอ.นี่ก็มีอนุสาวรีย์คุณพ่อนะ สร้างสมัยคุณปฐมพงศ์ (เกษรศุกร์) เป็นคนเสนอ ผบ.สส. ยุคคุณบุญสร้าง แต่ตอนปฏิวัติใหม่ๆ พี่สงค์เขาเป็นอาจารย์สอนที่ วปอ. ตอนนั้นในหลวงท่านเสด็จไป วปอ. ผู้อำนวยการ วปอ.รายงานในหลวง ชื่อพี่สงค์ยัง skip เลย"
 
ในยุคจอมพลป.คนจะมองว่า... (เราถามยังไม่จบคำ)
"เป็น dictator เผด็จการ ชอบว่าคุณพ่อเป็นเผด็จการ พี่พูดในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่แล้วนะ จะว่าคุณพ่อเป็นเผด็จการได้ยังไง คุณพ่อให้มีเลือกตั้งแล้วก็เป็นคนเดียวที่ไม่เคยยุบสภา นายกฯตั้งหลายคนยุบสภากันมาทั้งนั้น แล้วคุณพ่อเป็นคนที่รักชาติ พี่เป็นลูกนี่พี่พูดได้เลย คุณพ่อนี่ชาติอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าจะว่าชาตินิยมเลวยังไง พี่ว่าคุณพ่อนี่ชาตินิยม รักชาติที่สุดเลย อะไรๆ ก็นึกถึงชาติ พี่ว่าที่เราเปลี่ยนจากสยามเป็นไทยแลนด์ ขณะนี้มีคนพูดว่าก็ไม่เป็นไรคุณอยากเปลี่ยนเป็นสยามก็เปลี่ยนไปสิ แต่พี่ว่าสมัยเป็นสยามไม่ค่อยดีใช่ไหม อะไรๆ ก็ขึ้นกับต่างชาติ เปลี่ยนเป็นไทยแลนด์ คือรู้สึกมันเป็น independent ดี สยามต้องขึ้นอยู่กับญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่คุณพ่อคนเดียวนะ พระองค์วรรณ (ไวทยากร) คณะรัฐมนตรีก็เห็นด้วย แต่ว่าอยากจะเป็นสยามอีกก็ไม่เห็นเป็นไร ส่วนที่ว่าภาษาไทยเป็นภาษาวิบัติ ที่ตัด ค.คน ออก ก็เพราะญี่ปุ่นจะบังคับให้เราเรียนภาษาญี่ปุ่น บอกว่าทางมาเลเซีย มลายู เขาเรียนภาษาญี่ปุ่นกันหมดแล้ว ทำไมเมืองไทยไม่เรียน เราบอกไม่ได้หรอก เพราะเรากำลังเรียนภาษาใหม่ของเรา สมัยนั้นเราต้องแก้เกมญี่ปุ่น"
 
"คุณพ่อทำชาตินิยม ไม่ให้คนกินหมาก ไม่ให้นุ่งผ้าโจงกระเบน เพื่ออะไรรู้ไหม ให้ญี่ปุ่นเขารู้ว่าเรานิยมฝรั่ง แต่อันนี้มันพูดไม่ได้ระหว่างสงคราม อยากให้เข้าใจเหตุผลที่เราทำอย่างนี้เป็นเพราะอะไร ญี่ปุ่นมันทันเราตลอดเวลา คุณพ่อป่วยมันก็รู้นะ ปรอทขึ้นเท่าไหร่มันยังรู้เลย แม่ทัพนากามูระยังพูดตอนที่ไปเป็นพยานคดีอาชญากรสงคราม ยังบอกว่าพูดได้คำเดียวว่าจอมพล ป.รักชาติ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาปล่อย คุณพ่อนึกถึงชาติตลอดเวลา"
 
"คุณรู้ไหมพวกคนไทยเขายังพูด คนที่เข้าข้างญี่ปุนมากที่สุดไม่ใช่จอมพลป. เป็นใครรู้ไหม-คุณควง เขาพูดถึงขนาดนั้น คุณควงกินข้าวกับนากามูระทุกวัน คุณพ่อซะอีกเวลาให้ไปกินข้าวคุณพ่อไม่ไป ส่งลูกไปเท่านั้น ให้ไปญี่ปุ่นคุณพ่อไปเมื่อไหร่ ให้พระองค์วรรณไป เครื่องบินเกือบตก ให้ไปประชุมอินโดนีเซียคุณพ่อก็ไม่ไป เมื่อตอนโตโจมามอบดินแดน 4 จังหวัดปักษ์ใต้ เขาบอกว่าจอมพลป.ไม่ได้แสดงกริยาดีอกดีใจแม้แต่น้อย และตอนที่เราต้องคืน 4 จังหวัด คุณควงให้พี่สงค์ไปกับคณะ" (ตอนนั้น พล.ร.ท.ประสงค์เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ)
 
"กับท่านปรีดีก็ไม่มีอะไร ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกัน แต่ช่วยไม่ได้พวกลูกน้องอาจจะไม่ค่อยชอบกัน ต่างคนต่างมีเจ้านาย แต่ในที่สุดแล้วรุ่นหลังก็มีความรู้สึกว่าทั้ง 2 คน จอมพลป. ท่านปรีดี ก็ทำเพื่อชาติทั้งนั้น ถ้าคุณพ่อไม่ปล่อยให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านบ้านเมืองเราก็เละ ท่านปรีดีท่านเป็นเสรีไทยท่านก็ช่วยให้เมืองไทยอยู่รอด"
 
"คุณพ่อยังพูดในงานเลี้ยงว่าเสรีไทยถ้าเผื่อจะสู้ มาสู้ในเมืองไทยสิ มาช่วยกันสู้ รู้ไหมยุวชนใช้หลังรองปืนกลที่ปักษ์ใต้ตั้งเท่าไหร่ ทหารญี่ปุ่นมาถึงใช้ดาบฟันพวกเราตั้งกี่คน พวกเรารู้บ้างไหมว่าสู้กันมาตั้งเท่าไหร่ แล้วจะมาบอกว่าจอมพล ป.เข้ากับญี่ปุ่นได้ยังไง ญี่ปุ่นตอนนั้นเหมือนเป็นน้ำแรงมา เขาต้องผ่านพื่อที่จะไปสิงคโปร์ในวันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราต่อสู้เขา เขาต้องบอมบ์ทิ้งหมด เขาบอกแล้วว่าต้องเอาผ้าขาวไปปูที่สนามม้านางเลิ้ง ว่ายอมให้เขาผ่านไปหรือเปล่า ทางรัฐบาลไทยต้องประชุมกันและต้องยอมให้ผ่าน คนญี่ปุ่นที่มีหน้าที่เอาผ้าขาวไปปูที่สนามม้า เครื่องบินลำแรกมาแล้วเขาก็ไม่เห็นผ้าขาวเพราะเรายังไม่ได้ตัดสินใจ ญี่ปุ่นคนนี้บอกเขาใจหายใจคว่ำ เขาจะต้อมบอมบ์กรุงเทพฯเพราะกองทัพเขาจะต้องไปสิงคโปร์ และกำลังกองทัพเขาสด ไปดูสิสิงคโปร์ราบเรียบเท่าไหร่ จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ถ้าคุณไปยุโรปจะเห็นตึกที่เป็นรูกระสุน แต่เมืองไทยเราไม่มีนะ วัดพระแก้วเรายังอยู่ ทุกอย่างเรายังอยู่"
 
แต่ดั้งเดิมมา จอมพล ป.เกลียดคนกินหมากไหม ป้าจีบอกว่าเปล่าเลย
 
"คุณย่าคุณยายก็กิน แต่เมื่อเป็นนโยบายของลูกชายไม่ให้กินหมาก ท่านก็ไม่กิน"
 
"ไม่ใช่ว่าท่านไม่ชอบ แต่เป็นนโยบายที่เราจะต้องทำให้เห็นว่าเราเป็นตัวของเรา ที่ให้แต่งตัวแบบฝรั่งโดยลึกซึ้งคือให้แกรู้ว่าฉันไม่ได้เข้าข้างแก ฉันเข้าข้างฝรั่ง บางทีมันลึกซึ้งละเอียดอ่อน ตอนนั้นมันพูดไม่ได้"
 
ป้าจีบอกว่าตอนเล็กๆ ก็ไม่ได้ใส่หมวก
 
"ไม่มี เป็นไปตามสมัย เมื่อเด็กๆ เคยนุ่งผ้าซิ่นยังไงเราก็นุ่งผ้าซิ่นอย่างนั้น คุณย่าคุณยายก็นุ่งโจงกระเบน ต่อมาก็ตอนเช้ากินไข่ แทนที่จะเป็นข้าวต้มข้าวสวย กินไข่ง่ายดี ได้กำลังด้วย คุณพ่อเป็นคนบอกให้กินไข่ สนับสนุนคุณหลวงสุวรรณฯ รณรงค์ให้กินไข่ กระทรวงเกษตรคุณพ่อเป็นคนตั้ง แต่ไม่ได้พูดถึงคุณพ่อเลย สมัยนั้น กะ อุ พา กรรม ให้รวมกัน กระทรวงเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ มาสมัยนี้แหมคนไทยต้องใช้ของไทยกินของไทยเที่ยวเมืองไทย สมัยท่านจอมพลทำมาจนคนจะแตกอยู่แล้ว แล้วใครให้เครดิตท่านบ้างไหม ไม่มีเลย ไม่สงสารท่านจอมพลป.บ้างเลย"
 
เราถามถึงตอนที่จอมพล ป.ทำรัฐประหารล้มอาจารย์ปรีดีตอน 2490 แต่แล้วก็ตกใจ เมื่อป้าจีพูดขึ้นมาแล้วน้ำตาไหลพราก
 
"คือไม่อยากจะพูดเลย คุณพ่อพี่ร้องไห้นะ คุณพ่อบอกท่านหมดแล้ว พอมี 2490 แต่ว่าต้องทำ เพราะลูกน้องเยอะแยะ คุณแม่เขียนบันทึกว่าถามคุณพ่อทำไมเธอร้องไห้ คุณพ่อบอก 2475 ฉันหมดแล้ว พอ 2490-2475 ฉันหมดแล้ว ไม่มีใครรู้นะ"
 
ป้าจีหยุดเช็ดน้ำตา ก่อนจะเล่าต่อ
 
"ท่านจอมพลไม่ได้เป็นคนคิดรัฐประหาร แต่ว่าเมื่อลูกน้องทำถ้าท่านไม่เข้าด้วยลูกน้องอาจจะเป็นอะไรไปก็ได้ จอมพลสฤษดิ์ คุณเผ่า นี่ก็ลูกน้อง ตอนนั้นจอมพลผินมาหาคุณพ่อแล้วเอาคุณพ่อไปเป็น"
 
รายละเอียดตอนนี้ป้าจีบอกว่าไม่ได้อยู่ด้วยเพราะแต่งงานแยกบ้านมาแล้ว แต่เชื่อว่าน่าจะทำเสร็จแล้วมาเชิญจอมพล ป.
 
เธอเห็นด้วยว่าหลัง 2490 คือการสิ้นสุดคณะราษฎร
 
"มันเป็นอีกคณะแล้ว"
 
เหมือนจอมพล ป.เป็นหัวเฉยๆ อย่างนั้นหรือ
"ก็แล้วแต่คนจะมอง แต่คุณพ่อไม่ได้เป็นคิดปฏิวัติ"
 
เธอบอกว่ากับลูกหลานอาจารย์ปรีดีปัจจุบันก็ดีต่อกัน
 
แล้วทำไมสายนายควงไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน
"คุณควงนี่เข้าใจว่าจะโกรธคุณพ่อ เขาว่ามีครั้งหนึ่งประชุมคณะรัฐมนตรี คุณควงมาสาย คุณพ่อก็บอกเฮ้ยทำไมมาสาย แกก็ลุกขึ้นบอกว่าผมขอลาออก คงจะโกรธเรื่องอะไรกัน คุณควงก็เลยไปตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ประชาธิปัตย์เลยมีเจ้านายท่านสนับสนุน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อน พระยา เจ้าพระยาก็ไปเข้าทางประชาธิปัตย์"
 
พวกเจ้านายที่เคยถูกคณะราษฎรโค่นล้มเลยไปเชียร์ประชาธิปัตย์อย่างนั้นหรือ
"ใช่ จนถึงตอนนี้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เวลานี้พี่เองก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นพวกเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง แต่เราก็ยังมีความเคารพนับถือเจ้านาย ท่านก็ทำคุณประโยชน์สร้างประเทศชาติมาอย่างมหาศาล ซึ่งเราก็ควรที่จะต้องสามัคคีกัน และ 2475 ก็ไม่ควรจะลืมเขาเพราะเขาก็ได้ทำมา หน้าที่ใครก็ควรจะเป็นหน้าที่ของคนนั้น เวลานี้พี่รู้สึกว่าหน้าที่ใครมันไม่ใช่หน้าที่ใคร"
 
คนรุ่นปัจจุบันจะพูดทำนองว่า 2475 ชิงสุกก่อนห่าม
"ก็มีเสียงพูดเหมือนกันว่าถ้าเผื่อไม่ชอบใจก็ถวายพระราชอำนาจคืนท่านไปสิ"
 
ป้าจียกคำพูดพระยาพหล ที่เคยบอกว่าเป็นคนสร้างบ้านให้ประชาชนอยู่ ก็เหมือนรัฐธรรมนูญ เมื่อ
สร้างเสร็จ อะไรไม่ดีก็เปลี่ยน
 
"พวกเรามีความรู้สึกอย่างนั้น สร้างบ้านไว้แล้ว ตอนที่เราสร้างบ้านเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ประตูอยู่ตรงไหน หน้าต่างตรงไหน เป็นบ้านในบรรยากาศตอนนั้น มาตอนนี้คุณบอกอันนี้ไม่ถูก คุณเปลี่ยนแปลงบ้านนี้จนเลอะไปหมด เพราะคนที่มาไม่ใช่คนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ใช่เป็นคนเสียสละ เป็นคนที่รู้แต่วิชาการว่าประชาธิปไตยต้องอย่างนั้นๆ แต่ไม่ได้นึกถึงว่าคนที่เขาได้สร้างบ้านก่อนเขาเสียสละอย่างไร คุณรู้ไหมถ้าเขาทำไม่สำเร็จเขาจะต้องถูกตัดคอ ถูกประจานที่สนามหลวงอีก 9 วัน เรามีหลักฐานว่าถ้าทำไม่สำเร็จพวกเราจะเป็นอย่างไร จากนั้นก็มีการใส่ร้ายกันเรื่อยมา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้บ้านนี้ยังไม่สำเร็จที่ทุกคนอยู่ได้อย่างสบาย ขอให้บ้านหลังนี้สำเร็จ ถ้าพวกคุณช่วยกันเสริมสร้าง สร้างประตู หน้าต่าง สมัยนี้บ้านมีแอร์ก็ใส่แอร์ สมัยนั้นไม่มีแอร์ คุณก็ต้องพยายามสร้างบ้านหลังนี้ให้ทุกคนอยู่สบาย ก็ฝากไว้อย่างนี้"
 
 

 

(ล้อมกรอบ)
จอมพลผู้ไร้สมบัติ
 
จอมพล ป.เคยเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย แต่ข้อหนึ่งที่ต่างกับจอมพลรุ่นหลังผู้ถูกยึดทรัพย์ คือจอมพล ป.แทบไม่ได้สะสมสมบัติพัสถานอันใดไว้เลย
 
"คุณพ่อไม่ได้นึกถึงเรื่องทรัพย์สินเรื่องอะไร นึกถึงว่างานที่จะทำจะทำอย่างไรให้ชาติเจริญ"
 
ป้าจีบอกว่าหลังถูกยึดอำนาจ ทรัพย์สมบัติที่เหลือก็มีแต่ที่ดินที่หลักสี่ ส่วนบ้านที่ชิดลมนั้นขายไปนานแล้ว ขายเปลี่ยนไปหลายมือ เพราะตอนนั้นไม่มีเงิน
 
ที่ดินที่หลักสี่ 38 ไร่ ฟังตอนนี้อาจจะร้องโอ้โห คงราคาเป็นพันล้าน แต่เธอบอกว่าจอมพล ป.ซื้อตั้งแต่ยังไม่มีถนน ตอนนี้ลูกหลานอยากขายเหมือนกันแต่ขายไม่ออก
 
"เมื่อตอนคุณพ่อซื้อยังไม่มีถนน จ้างคนแถวๆ นั้นขุดคลอง ปลูกบ้านเล็กๆ อยู่ จ้างคนงานวันละ 8 สตางค์ ให้คุณประยูร ภมรมนตรีเป็นคนจ่ายสตางค์ เพราะดูเป็นฝรั่งหน่อย พวกนั้นมันกลัว"
 
ลูกหลานจอมพล ป. ส่วนใหญ่รับราชการ คือพลเรือตรีอนันต์ พลเรือโทประสงค์ (เสียชีวิตแล้วทั้งคู่) ป้าจี รัชนีบูล ปราณีประชาชน (สมรสกับพล.ต.ท.ชูลิต ปราณีประชาชน) พัชรบูล พิบูลสงคราม (เสียชีวิตแล้ว) และนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตปลัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
 
 
 
ทายาทคณะราษฎรในวันทำบุญ มีทั้งศุขปรีดา พนมยงค์ กับจีรวัสส์ พิบูลสงคราม,นิตย์ พิบูลสงคราม อัฐิของคณะราษฎรส่วนใหญ่เก็บไว้ที่วัดพระศรีมหาธาตุ แต่ไม่ทราบเพราะเหตุใด อัฐินายควง อภัยวงศ์ ไม่ได้เก็บไว้ที่นี่

 

 
 
 
ชุมพล พรหมยงค์
 
บุตรชายคนโตของแช่ม พรหมยงค์ อดีตจุฬาราชมนตรี หนึ่งใน 4 คณะราษฎรที่เป็นชาวมุสลิม เขามีพี่น้อง 10 คน คนเล็กคือไพศาล พรหมยงค์ ที่แทบลอยด์ไทยโพสต์เคยสัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อนในเรื่องปัญหาภาคใต้
 
"พ่อผมตายปี 2532 อายุน่าจะ 89 อ่อนกว่าอาจารย์ปรีดี 1 ปี พ่อผมเป็นก้นกุฏิ เป็นคนที่ อ.ปรีดีรักที่สุดเป็นส่วนตัว ไม่ใช่ในด้านหน้าที่การงานนะ เป็นความสนิทสนมส่วนตัว เป็นคนที่ร่วมทุกข์ร่วมยากมาด้วยกันมากที่สุด คุณคิดดูแล้วกันพ่อผมตาม อ.ปรีดีลี้ภัยอาศัยเรือน้ำมันเชลส์วิ่งไปสิงคโปร์ ถูกขังอยู่ที่สิงคโปร์และหาเรือเข้าเมืองจีน เรื่องอย่างนี้สิน่าเล่า เพราะถ้าคุณไปหาประวัติศาสตร์อ่านไม่มีหรอก ประวัติศาสตร์ดีๆ เมืองไทยเขาไม่เล่ากัน"
 
ไปด้วยกันครั้งนั้น 4 คน "หนึ่ง อ.ปรีดี สอง ร.อ.วัชรชัย (ชิยสิทธิเวช) คนที่ถูกหาว่ายิงร.8 เป็นนายทหารติดตามอ.ปรีดี สาม จ่านายสิบตำรวจสิงห์โต เป็นนายตำรวจหน้าห้อง พ่อผมไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย ไม่ได้มีความสามารถพิเศษแต่ท่านคงรัก ก็อาจจะพูดง่ายๆว่าคุณแช่มไปด้วย บังเอิญพ่อผมนิสัยไม่ดีเหมือนผม ท่านรักใครแล้วรักจริง เกลียดก็เกลียดยันลูกยันหลาน ตอนท่านรักอ.ปรีดีตอนแรกผมก็ไม่เข้าใจ มาเข้าใจตอนศึกษาหลังๆ เพราะฉะนั้นก็ไปกันแค่นี้"
 
แช่ม พรหมยงค์ รักอาจารย์ปรีดีจนถึงขนาดเปลี่ยนนามสกุลจากมุสตาฟา มาเป็นพรหมยงค์
 
"พ่อผมไปอยู่เซี่ยงไฮ้กับปักกิ่งคงไม่ถึงปี ลูก อ.ปรีดีคนเล็กอายุรุ่นผมยังเล่าว่านั่งตักอาแช่มตอนอยู่เมืองจีน จากจีนพ่อผมมาอยู่มาเลย์ เป็นนักโทษการเมืองที่มาเลย์ ประมาณ 7-8 ปี"
 
ตอนนั้นแม่ก็ตามไปอยู่ด้วย
 
“ผมไปเที่ยวหนเดียว ตอนผมอายุ 12 แม่พาไปดู หลังจากพ่อผมไปได้ไม่ถึงปี ผมเรียนที่นี่ได้ปีกว่าๆ แม่ก็พาไปดู ตอนนั้นผมมีน้อง 3 คน แม่เอาน้องไปหมดเลย และก็ไปคลอดที่โน่นอีก 3 คน พ่อกลับมาผมเรียนจะจบ ม.ปลายอยู่แล้ว อยู่ที่นี่คนเดียวตลอด จนเข้าธรรมศาสตร์ปี 2502"
 
ขากลับบอกว่ารัฐบาลลงทุนส่งค่าเครื่องบินไปรับทั้งครอบครัว
 
“คือนักการเมืองเวลาใครหนีไปเมืองนอกคนข้างในจะกลัว เพราะเขานึกว่าคนข้างนอกเป็นเสือเป็นสาง ทั้งที่พ่อผมอยู่สงบเสงี่ยมมาก แม่ทำขนมขาย ชาวบ้านเขาปลูกเพิงไม้ขัดแตะให้อยู่ในป่า ที่กลันตัน"
 
เล่าว่ากลับมาแล้ว คุณพ่อก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอะไรอีก แต่ยังโดนจนได้เพราะไปอียิปต์
 
"เที่ยวหลังต้องไปอยู่อียิปต์ 3 ปี คือตอนนั้นเขามีประชุมประเทศโลกที่สาม ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เขาเชิญรัฐบาลไทยไปเป็นผู้สังเกตการณ์รัฐบาลไทยไม่ไป เขาเลยเชิญเป็นตัวบุคคล ในฐานะที่พ่อผมเป็นนักเรียนเก่ามหาวิทยาลัย AZHAR พ่อผมไปก็กลับประเทศไม่ได้ ก็ต้องอยู่แถวอาหรับ จนประมาณปี 2512 คราวนี้รัฐบาลเอาเรือไปรับถึงเกาะสีชัง ให้อาศัยเรือพวกแสวงบุญกลับ พอทอดสมอสีชัง ตำรวจไปรับ นายทหารชั้นร้อยเอกคนหนึ่งรู้จักกัน ผมก็ไปรับ ตอนนั้นผมทำงานท่าเรือคลองเตยผมก็รับพ่อที่ท่าเรือคลองเตยนี่แหละ แต่ตำรวจเอาไว้สันติบาล บอกว่าให้อยู่เพื่อสอบสวน แล้วให้เบี้ยเลี้ยงเป็นรายวัน พ่อผมอยู่คราวนั้นหลายเดือน"
 
อยู่สันติบาลตอนนั้นก็พร้อมๆ กับเปาะสู ซึ่งรู้จักกันดีกับแช่ม พรหมยงค์ เพราะเคยไปแก้ปัญหาภาคใต้
 
"ปักษ์ใต้มีปัญหามานาน อ.ปรีดีเลยตั้งคณะกรรมการดูแลภาคใต้ มีคุณอุดม บุณยประสพ (สามีคุณหญิงแร่ม พรหโมบล) เป็นข้าหลวงภาค เป็นประธาน พ่อผม กับใครอีกคนจำไม่ได้ สามคน เป็นกรรมการดูแลภาคใต้ ฉะนั้นพ่อผมโยงใยไปสนิทกับนายกมาเลย์คนแรก นายกมาเลย์คนแรกนี่คนไทยนะ เพราะตอนแกเกิด กลันตันยังเป็นดินแดนไทย และแกก็จบมัธยมเทพศิรินทร์ แกเคยมาเยือนตรวจแถวนักเรียนเทพศิรินทร์พูดภาษาไทยจ้อยเลย"
 
นั่นคือตนกูอับดุลเราะห์มาน ต่อมานายแช่มจึงไปลี้ภัยอยู่ในมาเลเซีย
 
แช่ม พรหมยงค์ เป็น 1 ใน 4 มุสลิมที่เข้าร่วมคณะราษฎร อีก 3 คนคือพี่น้องตระกูลศรีจรูญ แห่งร้านปืนศรีจรูญ
 
"คุณบรรจง ศรีจรูญ คนกลางสนิทกับพ่อผม คุณบรรจงเอาชื่อพ่อผมมาเข้าคณะราษฎร พ่อผมจน ตระกูลเป็นครูสอนศาสนา คุณบรรจงไปเรียนที่อียิปต์ด้วยกัน ขากลับบ้านเขาแวะต่อเครื่องบินที่ฝรั่งเศส ก็ไปพบคณะราษฎร 7 คนแรกที่อยู่ฝรั่งเศส พอทักทายกันดีก็ขอยืมเงิน เดี๋ยวกลับไม่ถึงเมืองไทย คนจะทำปฏิวัติเจอเจ้าของร้านปืน ก็ได้รู้จักกันทั้งหมด คุณบรรจงก็เอาสิเอาชื่อพี่ผมด้วยได้ไหม เพื่อนผมอีกคนได้ไหม ทางโน้นเขาอยากได้อยู่แล้ว ขอให้เป็นคนหนุ่มไฟแรง"
 
วันที่ 24 มิถุนายน 4 หนุ่มมุสลิมนี่แหละที่เอาปืนออกจากร้านไปร่วมกับทหารคณะราษฎรที่ลานพระบรมรูปทรงม้า แล้วก็มีหน้าที่ควบคุมพวกเจ้านายที่ถูกนำมากักตัวไว้ เพราะหน้าตาดูน่าเกรงขาม จนตอนหลังมีการร้องขอให้เปลี่ยนหน้าที่เอาทหารมาคุมแทน
 
หลังปฏิวัติ อ.ปรีดีก็ให้นายแช่มมาทำงานกระทรวงเศรษฐการ
 
"พ่อผมทำงานตำแหน่งแรก พนักงานตรวจตลาด กระทรวงเศรษฐการ ชั้นตรี ทำได้ปีสองปีมั้ง ก็ขยับมาอยู่กรมประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นเป็นกองโฆษณาการ เป็นลูกน้องคุณดิเรก ชัยนาม เป็นเจ้าหน้าที่ของกองนี้ที่จอมพลแปลกเกลียดที่สุด พ่อผมก็เกลียดแกจนวันตายเลย ด่าได้ด่าเลย"
 
บอกว่าพ่อเกลียดนายกฯอยู่ 2 คน คือจอมพล ป.กับนายควง แต่ตัวเขาเกลียดอยู่ 2 คนคือทักษิณกับสมัคร แม้จะบอกว่าไม่ชอบอำนาจอื่นที่มาแทรกแซง
 
แต่กับลูกๆ จอมพล ป.ไม่ได้มีปัญหากัน
 
"กับลูกๆ แกผมก็ทักดี คุณนิตย์นิสัยดีน่านับถือมาก"
 
ชุมพลบอกด้วยว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีของพ่อ มีคนเดียวที่ไม่เหมือนใคร
 
"ตำแหน่งนี้มีคนเดียวในประเทศไทย พ่อผมเป็นคนเดียวแล้วเลิกเลย เพราะจุฬาราชมนตรีตอนนี้ไม่เหมือนตอนนั้น ตอนนั้นจุฬาราชมนตรีเป็นตำแหน่งชั้นเอก สังกัดสำนักราชเลขา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ พอพ่อผมลี้ภัยไปก็โดนเต็มๆ ละทิ้งหน้าที่ กบฏ ตำแหน่งนี้ว่างเขาก็เอาตำแหน่งนี้โอนไปอยู่กรมการศาสนา ท่านปรีดีเอามาจากไหนรู้หรือเปล่าตำแหน่งนี้สมัยอยุธยา 13 คน คนสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเลิกไป ถึงบอกว่าอ.ปรีดีฉลาด ปัญหาปักษ์ใต้นี่ต้องแขกเนื้อๆ ถึงจะรู้เรื่อง อย่ามาคุยเลยว่าจะร่มเย็นเป็นสุข รับความจริงกันซะมั่ง วิธีแก้ปัญหาสมัยก่อนไม่ต้องไปรบหรอก ที่จริงแล้วมันเรื่องเดียวกันจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ตัวแปรต่างๆ ตัวที่เอาน้ำมันไปหยอดให้สีสันมันเปลี่ยน แต่เรื่องน่ะเรื่องเดียวกัน คุณไปถามชาวบ้าน 7 ชั่วโคตรก็เรื่องเดียวกัน"
 
สมัยนั้นนายแช่มลงไปแก้ปัญหาภาคใต้ ก็รู้จักคนไปทั่ว
 
"เขาเดินเข้าถึง คนวางนโยบายคือข้าหลวงอุดม พ่อผมจะรู้จักคนระดับหัวหน้าหมู่บ้าน แกหนุ่มใหญ่ อายุ 40 กว่า คนเราก็ต้องมีบุคลิกในตัว รู้จักใช้เหตุใช้ผล นั่นแหละเป็นกรรมการชุดแรกของภาคใต้ เดี๋ยวนี้ตั้งกรรมการทางใต้ตั้งโดยสีสันของพรรคการเมือง"
 
รู้สึกอย่างไรที่ตอนนี้คนพูดว่าคณะราษฎรไม่จำเป็นต้องปฏิวัติเพราะจะให้มีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
"ให้เพราะขอ ไม่ขอไม่ให้ คนพูดทีหลังพูดได้ทั้งนั้น อย่าเอากาลเวลามาเป็นตัวแปร"
 
 
 
พ.อ.สมพงศ์-นงลักษณ์ พิศาลสรกิจ
 
บุตรสาวและบุตรเขยของพระประศาสน์พิทยายุทธ 1 ใน 4 ทหารเสือในการปฏิวัติ 2475 ซึ่งได้แก่ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเณย์
 
พ.อ.(พิเศษ) สมพงศ์อายุ 92 แล้ว แต่ยังความจำดี เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือ "เปิดบันทึกชีวิตพระประศาสน์พิทยายุทธ" ร่วมกับพี่น้องของภรรยา ตีพิมพ์เมื่อปี 2545
 
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหารเสนาธิการ เป็นผู้ที่ร่วมกับพระยาพหล พระยาทรง ไปนำกรมทหารม้ารักษาพระองค์ ออกมาร่วมปฏิวัติ ซึ่งใช้ทั้งจิตวิทยาและความรู้จักนายทหารที่เป็นลูกศิษย์ ทำให้การปฏิวัติ 2475 สำเร็จลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ หลังจากนั้นยังเป็นผู้นำนักเรียนนายร้อย ร่วมกับหลวงพิบูลสงคราม ไปจับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ พระยาสีหราชเดโชชัย และพระยาเสนาสงคราม ซึ่งพระประศาสน์เขียนไว้ว่า กรมพระนครสวรรค์ คือ "เจ้านายที่เคารพอย่างยิ่ง" แต่ก็สามารถเจรจาได้โดยไม่เสียเลือดเนื้ออีกเช่นกัน
 
แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี คณะราษฎรก็เกิดความขัดแย้งกันเองในฝ่ายทหาร พระยาฤทธิ์อัคเณย์ ต้องเดินทางไปพำนักที่สิงคโปร์และปีนัง พระยาทรงสุรเดช ถูกออกจากราชการเมื่อปี 2481 ต้องไปอยู่เวียดนามและกัมพูชาจนเสียชีวิต
 
พระประศาสน์พิทยายุทธ โชคดีกว่าอีก 2 ท่านตรงที่ถูกส่งไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบอร์ลิน โดยนายปรีดีที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนั้น
 
"หลวงประดิษฐ์มนูธรรมท่านเห็นท่าจะไม่ดี คล้ายๆ ฆ่ากันเองท่านเลยไปหาจอมพล ป. ไปบอกว่าช่วยลงนามแต่งตั้งให้พระประศาสน์ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่เบอร์ลิน คือไล่มันออกไปซะ ท่านก็พยักหน้า ลงชื่อ แทนที่จะต้องหลบออกไปลงเรือ ก็กลายเป็นเปิดเผย มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องไปส่งที่ท่าเรือ ก็เพราะคนดีคนหนึ่งคือหลวงประดิษฐ์" พ.อ.สมพงศ์เล่า
 
ไม่อย่างนั้นจะเป็นแบบพระยาทรงฯใช่ไหม
"อะไรสักอย่าง แต่ไปก็ลำบาก ไปอยู่ในที่ที่เขารบ ทิ้งระเบิดทุกวัน วันละหลายหน"
 
"ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นทูตประจำกรุงเบอร์ลิน ท่านก็เอาครอบครัวไปอยู่ที่นั่น ผมสอบได้ที่ 1 ยุวชนทหาร ส่งให้ไปเรียนที่เยอรมนี แล้วเปลี่ยนมาที่อิตาลีแทน เพราะเยอรมนีไม่รับคนต่างชาติเพราะเตรียมเข้าสงคราม ผมเลยไปเรียนที่อิตาลี พอผมเรียนเสร็จก็ได้รับแต่งตั้งทางโทรเลขไปสถานทูตให้เป็นร้อยตรี ผมก็ควรจะต้องเดินทางกลับเมืองไทย แต่เดินทางไม่ได้เกิดสงคราม ทางราชการก็เลยแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงเบอร์ลิน"
 
พ.อ.สมพงศ์เล่าว่าอยู่เบอร์ลินท่ามกลางสงคราม สิ่งสำคัญคือต้องเอาชีวิตให้รอด
 
"เดี๋ยวก็หวอขึ้น อังกฤษ อเมริกันไปทิ้งระเบิดเบอร์ลิน"
 
บุตรสาวคนโตของพระประศาสน์ก็ไปเสียชีวิตที่นั่น
 
"โดนลูกระเบิด ข้างห้องที่แกนอน ทางเยอรมันทำที่หลบภัยไว้อย่างดีทุกสถานทูต เราก็แบ่งกันใครอยู่ตรงไหนๆ เวลาหวอมา แต่พี่สาวคนโตไม่ได้ลงไปเพราะไม่สบาย"
 
เมื่อสงครามสงบ พระประศาสน์ส่งครอบครัวไปอีกทาง ตัวเองอยู่เฝ้าสถานทูตจนถูกรัสเซียจับ ต้องถูกคุมตัวไว้ในค่ายกักกัน จนกลับมาเมืองไทยภายหลัง
 
ส่วนครอบครัวเผชิญชะตากรรมอีกแบบ คือถูกส่งมาอเมริกา พ.อ.สมพงศ์กับป้านงลักษณ์เล่าว่า ระหว่างเดินขึ้นเรือซึ่งถูกนำตัวมาพร้อมกับเชลยญี่ปุ่น ก็โดนพวกทหารอเมริกันนับหมื่นๆคน ที่ไม่ได้แยกแยะว่าญี่ปุ่นไทย ถ่มน้ำลายใส่จนเปรอะเปื้อนไปหมดทั้งหัว
 
"ทางจะขึ้นเรือสองข้างเต็มไปด้วยทหารอเมริกันเป็นหมื่นๆ คน ส่วนมากเป็นญี่ปุ่น เขามีสำนักงานที่ใหญ่มาก ข้าราชการเป็นร้อยๆ ของเราแค่ 10 คน เราก็เดินตามหลังญี่ปุ่น ผ่านมาทหารอเมริกันก็ถ่มน้ำลายใส่ จนกระทั่งขึ้นเรือ"
 
พระประศาสน์กลับมา ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ตั้งให้เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข จนจบชีวิตด้วยโรคตับในวันที่ 4 ธันวาคม 2492 เพราะในช่วงหลังกลายเป็นคนดื่มเหล้ามาก กระทั่งบุตรธิดาเล่าว่าทดลองทำเหล้าลิเคียวร์จากผลไม้ไทย ใส่ขวดถ่วงน้ำไว้ในสระข้างบ้าน
 
พ.อ.สมพงศ์กับป้านงลักษณ์ แต่งงานกันเมื่อปี 2490 ที่บ้านหลวงอดุลย์เดชจรัส ซึ่งเป็นญาติข้างแม่ป้านงลักษณ์ โดยหลังจากนั้น พ.อ.สมพงศ์ก็รับราชการในกรมข่าวทหารบก เป็นผู้ช่วยทูตทหารหลายประเทศ โดยครั้งที่ภาคภูมิใจที่สุดคือเป็นผู้ช่วยทูตทหารที่ออสเตรเลีย และได้ถวายการรับใช้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ระหว่างเสด็จฯไปเข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่นั่น เป็นเวลา 3 ปี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท