Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 

ชื่อบทความเดิม: มึงก็คน กูก็คน ประชาชนไม่ใช่ฝูงแกะ
 
 
 
พวกเราได้มารวมตัวกันอีกครั้งในวันนี้ (21 มิถุนายน) ในวาระครบ 5 ปีการตายของ เจริญ วัดอักษร ต่อหน้าอนุสาวรีย์อันเป็นสัญลักษณ์ถึงชาวบ้านสามัญชนอย่างเราทุกหัวระแหงที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่น 
 
การมารวมตัวกันในวันนี้ จะไม่ใช่เป็นแค่งานประจำปีที่ย่ำอยู่กับที่ในทุกห้าปีสิบปีของการครบรอบ แต่คือการมาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งกำลังร่วมชะตากรรมที่ซ้ำรอยกันกับชะตากรรมที่พี่น้องบ่อนอกและบ้านกรูดเคยฟันฝ่าร่วมกับ เจริญ วัดอักษร มาแล้ว
 
ชะตากรรมที่ว่านี้คืออะไร มันคือชะตากรรมของคนส่วนใหญ่อย่างพวกเราที่ถูกเบียดขับให้กลายเป็นคนส่วนน้อย ถูกบังคับให้ต้องเสียสละด้วยข้ออ้างว่า เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ถูกบีบให้ต้องเสียสละเพื่อชาติ ที่ก็ไม่รู้ว่าเป็นชาติของใคร ทั้งที่หากวัดสัดส่วนกันจริงๆ แล้ว เราต่างหากคือคนส่วนใหญ่ที่ถูกกระทำและชี้ชะตาโดยคนส่วนน้อยที่กระจุกตัวกันอยู่บนส่วนยอดของโครงสร้างสังคมในประเทศนี้ ซึ่งล้วนเป็นเครือข่ายของผู้มั่งมี ทั้งอำนาจในทางการเมืองและทรัพย์สินเงินทองทั้งสิ้น
 
สิ่งที่ เจริญ วัดอักษร และขบวนชาวบ้านประจวบฯ รวมถึงขบวนชาวบ้านอีกหลายแห่งในประเทศนี้ได้ต่อสู้บุกเบิกไว้ คือการลุกขึ้นสู้อย่างตรงมาตรงไปกับโครงการพัฒนาแต่ละโครงการที่นำหายนะมาสู่ชุมชน มันเป็นการต่อสู้กับคำพูดสวยหรูที่ฟังดูใหญ่โตอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ด้วยการใช้พลังของผลิตภาพมวลรวมประชาชน เป็นการไม่ยอมจำนนต่อคาถาที่ว่าการพัฒนาต้องมีได้และมีเสีย เพราะปัญหามันอยู่ที่ว่าด้านได้และด้านเสียที่ว่านั้นเป็นของใคร
 
ไม่มีใครเถียงหรอกว่าการพัฒนาเปรียบเหมือนเหรียญสองด้าน แต่มันยุติธรรมแล้วหรือที่ด้านของคนรวยก็รวยฉิบหาย ที่จนก็จนรากเลือดปางตาย อย่างชนิดที่ภาษาชาวบ้านอย่างเราต้องบอกว่า ด้านได้ก็มีแต่พวกมึงได้ ด้านเสียอยู่กับกูเต็มๆ
 
เราไม่ได้คิดแบบรัฐที่ถนัดจะกล่าวอ้างว่า ต้องคิดเป็นภาพรวมหรือคิดเป็นภาพใหญ่ ทั้งที่ความจริงก็ไม่ใช่อะไรนอกจากการคิดมักง่ายแบบเหมารวมเข่ง ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราอยู่กันอย่างรู้จักเคารพความแตกต่าง และเชื่อมั่นในพลังของจิตสำนึกรักท้องถิ่นของแต่ละชุมชนที่จะรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยตัวเอง ในปัญหาของตัวเอง เพื่อปากท้องและศักดิ์ศรีของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชาติพันธุ์ ป่าไม้ ที่ดินในภาคเหนือ ปัญหาเขื่อน เหมืองแร่ที่ระบาดทั่วชุมชนอีสานเหนืออีสานใต้ หรือในวันนี้ที่คนบางสะพานลุกขึ้นมาคัดค้านโรงเหล็กสหวิริยา คนทับสะแกลุกขึ้นคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน คนชุมพรค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พี่น้องจะนะยังคงยืนหยัดคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะตามมากับท่อก๊าซ คนนครฯ ลุกขึ้นค้านนิคมอุตสาหกรรม หรืออีกหลายพื้นที่ที่คัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกตลอดแนวชายฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน และอีกสารพัดสารพันในนามของโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้โครงการเหมาเข่งที่เรียกว่าเซาเทิร์นซีบอร์ด
 
ชาวบ้านที่บ่อนอก เกิดมาก็เห็นแต่ทะเลปากคลองเกลียว ทะเลบ่อนอก ไม่มีปัญญาเช่าเครื่องบินให้พาเราขึ้นไปมุมสูง เพื่อมองลงมาให้เห็นภาพรวมทั้งทะเลหรอก แต่สิ่งที่จะสามารถยึดโยงพวกเราซึ่งเผชิญชะตากรรมเดียวกันอยู่ต่างสารทิศได้ ต่อให้เราไม่มีที่ดินทำกินอยู่ในชุมชนอื่นของเพื่อนร่วมชะตากรรมทั้งหลายแม้ซักกะแบะมือ ก็คือคำที่รัฐเองก็ชอบใช้เวลาจะอ้างความดีความชอบในฐานะผู้เขียนกฎหมาย และเป็นคำที่เราเห็นมันอยู่ทั่วไปตามถุงผ้าที่แจกในงานสัมมนาที่ชอบเกณฑ์ชาวบ้านไปอบรม นั่นคือคำว่า “สิทธิชุมชน” และ “สิทธิมนุษยชน”
 
เราไม่แน่ใจว่ารัฐจะนึกออกไหมว่าชุมชนที่เข้มแข็งและตระหนักในสิทธิของตนเองนั้น ทำอะไรได้มากกว่าแค่การรวมกลุ่ม อสม. หรือทำสหกรณ์ออมทรัพย์และกลุ่มแม่บ้าน ยกตัวอย่าง เช่น สหกรณ์ปั๊มน้ำมันชุมชนของบ่อนอกนั้น ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางในการคว่ำบาตรฆาตกรอันธพาลลูกจ้างโรงไฟฟ้า และเป็นแหล่งระดมทุนส่วนหนึ่งของพวกเราเวลาจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเข้าไปประท้วงที่กรุงเทพฯ อีกด้วย เพราะในขณะที่รัฐพร่ำเพ้อถึงชุมชนเด็กดีที่รู้จักสิทธิของตนตามที่รัฐขีดเส้นให้ สำหรับเรา “สิทธิชุมชน” แปลได้ง่ายๆ ว่า = “บ้านกู” และคำว่า “สิทธิมนุษยชน” แปลออกมาชัดๆ ได้ว่า = “มึงก็คน กูก็คน”
 
ความเข้าใจง่ายๆ ตรงไปตรงมาของเราต่อคำสองคำนี้นี่เองที่ทำให้เรามองเห็นว่ารัฐกำลังมีปัญหาที่ดูท่าว่าเราจะต้องเข้าไปดัดแปลงแก้ไข เช่นเวลาที่รัฐบอกว่าทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน แต่เราก็เห็นรูปธรรมหลายอย่างที่สะท้อนว่าไม่ใช่ ตัวอย่างเช่น ทำไมกลุ่มทุนจึงสามารถถมทะเลที่ระยองได้โดยถูกกฎหมาย จนชาวประมงที่นั่นหมดสิ้นแหล่งทำกินและยังต้องกล้ำกลืนกับมลพิที่ป่านนี้รัฐยังลังเลที่จะประกาศให้เป็นเขตควบคุม แต่ขณะเดียวกันที่ปราณบุรี ชาวประมงแค่ไปอาศัยชายหาดปลูกเพิงพักกองอวน ไม่ได้กระทั่งจะออกเอกสารสิทธิ์ปลูกบ้านแต่อย่างใด กลับถูกดำเนินคดีบุกรุก สั่งจำคุกกันได้โดยไม่ลำบากใจ สิทธิของชุมชนอยู่ที่ไหน เข้าใจหัวอกของเราบ้างไหมเวลาที่เราบอกว่า “บ้านกู”
 
เช่นกันกับการตายของเจริญ วัดอักษร น้ำตาที่เคยไหลเมื่อเพื่อนของเราถูกฆ่าตาย มันแห้งเหือดหายไปในระหว่าง 5 ปีของการติดตามทวงถามความเป็นธรรมจนหมดสิ้นแล้ว สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่คือความทรงจำและบทเรียนที่ทำให้เราตาสว่าง ว่าอย่าได้หวังความเป็นธรรมใดจากระบบกฎหมายและระบบยุติธรรมของบ้านนี้เมืองนี้ การเรียนรู้ของเราจบสิ้นลงพร้อมๆ กับการจบเห่ของหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายวาดฝันไว้ให้เราเชื่อ ถึงที่สุดเราก็ได้รู้ว่า การปล่อยให้เราถูกกระทำโดยจงใจ คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่รัฐใช้เพื่อจัดการพวกเราด้วยซ้ำ เราต้องทนฟังกระทั่งทัศนะพล่อยๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ว่า “ตายซะได้ก็ดี กวนบ้านกวนเมือง” หรือคนระดับอัยการ ที่ว่า “ไอ้เจริญมันก็น่าตาย ที่ผ่านมาไม่เห็นทำมาหากินอะไรก็มีกิจการได้” หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษาบางคนที่ว่า “ประเทศนี้ต้องพัฒนา” มันไม่ใช่ปัญหาของความไร้ประสิทธิภาพ แต่มันเป็นความจงใจ ด้วยทัศนคติที่ติดลบกับเรา และลดทอนสิทธิความเป็นคนกันอย่างย่ามใจ มองขบวนประชาชนเป็นฝูงแกะ คิดเอาเองว่าเมื่อจัดการคนเลี้ยงได้ แกะทั้งฝูงก็จะแตกไปเอง 
 
แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เราได้พิสูจน์แล้วว่า พวกเรายังยืนหยัดกันอยู่ประจำทุกพื้นที่ และอุดมการณ์ของความรักท้องถิ่นก็ได้สืบสานและแพร่หลายไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นตามแผนพัฒนามักง่ายในนามของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย 
 
ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากเกือบ 10 ปีของการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้า และอีก 5 ปีของการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของเจริญ เรายังคงต้องมาพูดเรื่องเดิมๆ เช่นกันกับที่ขบวนชาวบ้านในที่อื่นๆ ก็ยังคงพบเจอแต่เรื่องเดิมๆ ดังนั้น จะให้เราพูดอะไรที่ฉลาดและถูกต้องกว่าที่เห็นและเจอมาแบบเดิมๆ ก็คงจะไม่ได้ 
 
แต่ทว่านับจากนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสารระหว่างเรากับรัฐต่อไป ขอให้เข้าใจว่าคำว่า “บ้านกู” คือความหมายของ “สิทธิชุมชน” ที่ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย และพวกเรามารวมตัวกันในที่นี้ เพื่อยืนยันว่าเราไม่ใช่ฝูงแกะที่ไม่รู้ซ้ายรู้ขวาอะไร แต่เราคือประชาชน ที่ต่างคนต่างชุมชน ต่างพร้อมจะลุกขึ้นมา เพื่อบอกว่าเรานี่แหละคือคนส่วนใหญ่ ที่จะไม่ยอมให้ใครมาชี้ชะตากันง่ายๆ อีกต่อไป เพราะ...จงฟังไว้ 
 
“มึงก็คน กูก็คน” 
 
 
กรณ์อุมา พงษ์น้อย
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี
วาระ 5 ปีการจากไปของเจริญ วัดอักษร
21 มิถุนายน 2552
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net