Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เราๆ ท่านๆ อาจจะคุ้นเคยกับทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลเก่าๆ อย่างฟุตบอลพระราชทานคิงส์คัพฯ ควีนส์คัพฯ ฟุตบอลพระราชทานถ้วย ก. ข. ค. ง. ดูเผินๆแล้วการแข่งขันฟุตบอลเป็นการพัฒนาศักยภาพทางด้านกีฬา เป็นยาวิเศษ ที่จะสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย ตลอดจนสานความสามัคคีในหมู่คณะ แต่ดังที่เราทราบกันดีว่า ไม่มีสิ่งเหล่านั้นอย่างบริสุทธิ์ล้วนๆอยู่จริงในโลก เพราะในที่สุดแล้วสนามฟุตบอลก็คือ มีส่วนผสมของการปะทะสังสรรค์ของบริบทต่างๆ เป็นดั่งสนามประลองกำลังทางการเมืองอันทรงพลังแห่งหนึ่ง

 
รายการฟุตบอลที่ได้รับการสนับสนุนมาอย่างสม่ำเสมอและยาวนานที่สุดก็คือ ฟุตบอลพระราชทานถ้วย ก. ที่มีสถิติว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2449 [1] ทีมต่างๆที่เข้าร่วมแข่งขันในยุคสมัยนั้นก็มีสังกัดเป็นสถาบันการศึกษา และหน่วยราชการโดยส่วนใหญ่และได้รับการสนับสนุนโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดมา[2] ด้วยสถานะของความเป็น “ถ้วยพระราชทาน” การแข่งขันรายการนี้จึงถูกคณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติสยาม 2475 ได้ให้งดการแข่งขันตั้งแต่ปี 2475-2490 จนในปี 2491 ถึงกลับมาเตะกันอีกครั้งทั้งถ้วย ก. และถ้วย ข.[3]
 
งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ การรวมกลุ่มของพวกหัวอนุรักษ์ ในระบอบใหม่
 
อาจกล่าวได้ว่างานฟุตบอลรายการนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้งกันระหว่างศิษย์เก่าของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระหว่างฝ่ายของนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายนักศึกษา มหาวิทยาลัยวิชชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องมาจากฝ่ายแรกที่จบการศึกษาระดับมัธยม 8 ดูถูกและแบ่งแยกพวกที่เรียนธรรมศาสตร์ว่าเป็นพวกที่เรียนไม่จบ การเยียวยาสมานฉันท์ดังกล่าวจึงได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลขึ้นมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 สถาบันโดยได้รับการอนุญาตจากนายปรีดี พนมยงค์[4] การแข่งขันครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 2477 ณ ท้องสนามหลวง รายได้จากการเก็บค่าผ่านประตู มักจะมีการนำไปบริจาคเพื่อการสาธารณกุศลอยู่ทุกปี จนถึงปี 2521 จึงได้นำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย[5]
 
การกลับมาของฝ่ายเจ้า และฟุตบอลถ้วยพระราชทาน
 
หลังจากที่ฝ่ายทหารจับมือกับฝ่ายเจ้าได้ริบอำนาจจากฝ่ายคณะราษฎรในปี 2490 แล้ว รัฐบาลร่างทรงทหารอย่างควง อภัยวงศ์จึงได้เริ่มฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายเจ้าและสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาอย่างมาก และลดความสำคัญของอุดมการณ์คณะราษฎรลง ในทำนองเดียวกันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ก็กลับมาดำเนินการแข่งขันอีกครั้งหนึ่งทั้งถ้วย ก. และถ้วย ข.
 
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปีนั้นจึงเป็นปีแรกที่ได้เกิดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน ยังมีการบันทึกไว้ว่า เสียงเพลงพระราชทาน “มหาจุฬาลงกรณ์” และ “ยูงทอง”จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ดังก้องขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ จนกระทั่งปี 2495 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานและพระราชทานถ้วยรางวัลด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด แม้ในปัจจุบันที่ทรงมิได้เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์เองแล้ว ก็โปรดให้ผู้แทนพระองค์เสด็จแทนพระองค์มาเป็นองค์ประธานมิเคยขาด[6]
 
ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ฟุตบอลของอภิสิทธิ์ชนหลัง 2500
 
ทศวรรษ 2500 เป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งขับเคลื่อนโดยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ฝ่ายรัฐก็พยายามเหนี่ยวรั้ง ไม่ยอมให้ความคิดอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงไปตามที่มันควรจะเป็น ไม่เพียงเท่านั้นรัฐบาลยังได้ส่งเสริมสถานภาพของพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่นเป็นอย่างมาก สอดคล้องกับงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ในปี 2507 ที่มีการเล่าว่าเริ่มมีการอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นครั้งแรก[7]
 
ในปีเดียวกันนี้ได้มีการริเริ่มจัดฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี โดยการริเริ่มของอาจารย์จากโรงเรียนสวนกุหลาบ(อีกแล้ว) อันจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา[8] นับได้ว่าทั้ง 4 โรงเรียนนี้ นับเป็นโรงเรียนชั้นนำของประเทศในระดับมัธยมศึกษาในขณะนั้น โดยเฉพาะโรงเรียนสวนกุหลาบที่เป็นแหล่งผลิตบุคลากรให้กับชนชั้นสูงอย่างสม่ำเสมอ และยังมีบทบาทในการก่อตั้งฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์อีกด้วย
 
ฟุตบอลแบบราชประชา(สมาสัย) ต่อเนื่องสู่ทศวรรษ 2510
 
ในขณะเดียวกันฟุตบอลพระราชทาน ถ้วย ค. และ ง. ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2505 ในด้านหนึ่งมันแสดงให้เห็นความแพร่หลายของทีมฟุตบอลที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันทีมเหล่านั้นก็ได้ผูกพันอยู่กับพระบารมีไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ทีมใหม่ๆ ที่พึ่งก่อตั้งขึ้นก็ได้แก่ ตำรวจ (2503) การท่าเรือ (2510) ราชประชานุเคราะห์ดับเพลิง (2511) ราชวิถี (2511) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (2513)[9] ฯลฯ ขณะที่ฟุตบอลฟุตบอลถ้วยใหม่ๆ ได้แก่ ถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ (2511) ควีนส์คัพ (2513) และเอฟเอคัพ (2513) อาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันฟุตบอลเริ่มมีความเป็นกิจจะลักษณะ มีการทำทีมที่เป็นระบบมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นทีมฟุตบอลที่เตะกันเองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ก็มิใช่ว่าจะไม่มีทีมจากต่างจังหวัดมาเข้าร่วม เห็นได้จากแชมป์ ถ้วย ค. ไลออนส์ชลบุรี (2516) วิทยาลัยครูมหาสารคาม (2518) เนื่องจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคคือ การเดินทางในการทำการแข่งขันข้ามจังหวัด และค่าใช้จ่าย ทัวร์นาเมนท์ที่เป็นการแข่งขันระดับฟุตบอลระดับชาติมิได้เกิดขึ้นจริง จะมีก็แต่ทัวร์นาเมนท์ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติอย่างเช่น กีฬาเขตแห่งประเทศไทยที่เริ่มต้นในปี 2510 ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับฟุตบอลโดยตรง (แฟนบอลร่วมสมัยกล่าวไว้ว่า ฟุตบอลในกีฬาเขตฯ ก็เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก ขณะที่ฟุตบอลไทยแลนด์คัพที่จะกล่าวต่อไปเทียบได้กับการแข่งขันฟุตบอลโลก)
 
ฟุตบอลไทยแลนด์คัพ เมื่อชาตินิยมกับจังหวัดนิยมมาบรรจบกัน ทศวรรษ 2520
 
รายการที่บุกเบิกสร้างความคึกคักให้กับวงการฟุตบอล และแฟนบอลชาวไทย จนเป็นที่จดจำกันมาถึงทุกวันนี้ก็คือ ทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลไทยแลนด์คัพ กล่าวกันว่าสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐร่วมกันจัดขึ้น การแข่งขันเปิดโอกาสให้แต่ละจังหวัดได้มีโอกาสสร้างทีมของตน และร่วมเชียร์ ร่วมสนับสนุนทีมของตน รายการดังกล่าวเริ่มต้นในทศวรรษ 2520 การแข่งขันดังกล่าวได้ทำให้แต่ละจังหวัดที่ส่งทีมฟุตบอลประจำจังหวัดเริ่มมีตัวตนและที่ยืนในระดับประเทศขึ้นมา การสนับสนุนจากสปอนเซอร์หลักนั้นได้มีการลงทุนถึงขนาดว่า มีการถ่ายทอดนัดชิงชนะเลิศของแต่ละภาคมีการถ่ายทอดสดโดยช่อง 7 ดังที่ทราบกันว่าเครื่องมือสื่อสารอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เป็นเชื้ออย่างดีที่ทำให้กระแสไฟแห่งความกระตือรือร้นต่อกีฬาฟุตบอลได้ลุกโชนไปทั่วประเทศ ในระยะนี้ึงเกิดทีมเก่งๆ และนักเตะใหม่ๆขึ้นประดับวงการฟุตบอลไทย เช่น วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ แห่งทีมจังหวัดนครสวรรค์ อนัน พันแสน แห่งทีมจังหวัดอุดรธานี ฯลฯ [10]
 
การแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่ระดับชาติร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงไปถึงพื้นที่ระดับภูมิภาคอีกด้วย กล่าวคือ การแข่งขันนี้ในระดับภูมิภาคเป็นการคัดเลือกเอาตัวแทน ก็คือ แชมป์ และรองแชมป์จาก 5 ภาค มาชิงชัยกันที่กรุงเทพมหานคร อันได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออก[11] ในตัวของมันเองก็นับได้ว่าช่วยสร้างกระแสจังหวัดนิยมขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ พร้อมๆไปกับวงการวิชาการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติชนศึกษา ก็มีการขยายตัวมากขึ้นอันเนื่องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ การเปลี่ยนขนานใหญ่นี้เกิดขึ้นระหว่างที่ปัญหาคอมมิวนิสต์ และภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐเริ่มคลี่คลายลง
 
อย่างไรก็ตามความเป็นจังหวัดนิยมนั้นมักจะเติบโตด้วยฐานรากของชาตินิยมไทยอันกล้าแข็ง จังหวัดต่างๆ ไม่สามารถจะก้าวพ้นโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์ที่ขึ้นตรงต่อศูนย์กลางได้เลย ในแง่มุมนี้จึงมิได้ส่งผลต่อความเข้มแข็งในท้องถิ่นอย่างที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับโครงสร้างทางการเมืองระดับบนที่ถูกครอบงำโดยระบอบอำมาตยาธิปไตยมาตลอดทศวรรษ 2520
 
ภายหลังช่อง 7 และไทยรัฐถอนตัวออกจากการเป็นสปอนเซอร์ บริษัทเอกชนอย่างยามาฮ่าก็รับช่วงเป็นผู้สนับสนุนหลักแทน ฟุตบอลรายการนี้จึงได้ชื่อว่า ยามาฮ่าไทยแลนด์คัพ ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการแข่งขันใหม่โดยเพิ่มตัวแทนจากภาคต่างๆ เป็น 4 ทีม ทำให้มีการแข่งขันที่ยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันก็มีรายการอื่นๆเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น โค้กคัพ โตโยต้าคัพ มวก. คัพ[12] ความเฟ้อของรายการแข่งขัน นอกจากจะทำให้นักเตะล้าแล้ว ยังทำให้เกิดพื้นที่แยกย่อยมากมาย ไม่สามารถจะรวบรวมพลังที่เป็นกลุ่มก้อนได้ รายการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนท์นี้จึงแผ่วปลายลงในที่สุด
 
คำถามถึงระบบฟุตบอลอาชีพ และพื้นที่ของท้องถิ่น
 
แม้วงการฟุตบอลไทยจะสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนในท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆได้มีพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมมวลชน แต่มิอาจกล่าวได้ว่าวงการฟุตบอลได้สร้างระบบที่แข็งแกร่งไว้ ต่อมาจึงเข้าสู่ยุคที่คนดูฟุตบอลไทยหดตัวลง เงียบเหงา อาจเข้าขั้นที่ว่าเตะกันเองดูกันเองเสียด้วยซ้ำ
 
ทั้งๆที่ในทศวรรษ 2530 ทีมสโมสรอย่างธนาคารกสิกรไทย (ก่อตั้งปี 2530) จะมีผลงานอันยอดเยี่ยม ได้แก่ แชมป์เอเชี่ยนคัพ ปี 2537, 2538 แอโฟร-เอเชียนคลับแชมเปียนชิพ (2537)[13] ก็ตาม แต่ทีมนี้ก็มิได้มีศักยภาพพอที่กลายเป็นทีมขวัญใจของคนไทยทั้งประเทศ หรือเป็นทีมที่จะเรียกคนดูให้เต็มสนามได้ดังเดิมอีกต่อไปแล้ว เรียกได้ว่าฝีเท้าของนักเตะ และสโมสรของไทยนั้นล้ำหน้าเกินไปกว่าระบบการสร้างวัฒนธรรมการดูฟุตบอลไปหลายช่วงตัว สิ่งที่ขาดหายไปนั้นก็คือระบบฟุตบอลอาชีพ และการขยายฐานผู้สนับสนุน และแฟนคลับนั่นเอง
 
การผลักดันให้เกิดฟุตบอลอาชีพนั้นมีมาหลายยุคหลายสมัย แต่ที่ได้รับการบันทึกยืนยันก็คือ การริเริ่มในปีพ.ศ.2539 โดยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งร่วมสมัยกันกับช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ อาจกล่าวได้ว่าในทศวรรษ 2540 นี้วงการฟุตบอลอาชีพต่างก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แม้จะได้มีการริเริ่มนำเอาทีมจังหวัดเข้ามาผนวกเข้าไปอยู่กับระบบฟุตบอลอาชีพด้วย[14] แต่ก็ดูเหมือนว่าก็ยังเป็นความพยายามที่ไร้ผล แม้การจัดการแข่งขันนี้จะผ่านมือรัฐบาลที่มีลูกเล่นและประสิทธิภาพการจัดการที่แพรวพราวภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตรก็ตาม
 
ไทยพรีเมียร์ลีกกับกระแสท้องถิ่นนิยมใหม่
 
การเติบโตของวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะมวลชนนั้นของคนไทยนั้นถือได้ว่ามีจุดกำเนิดอย่างแหลมคม และมีพัฒนาการที่น่าสนใจ ก็คือ การเมืองบนท้องถนนของชนชั้นกลาง การระดมคนจำนวนหลักพัน หลักหมื่น หรือหลักแสน(แล้วแต่จะกล่าวอ้าง)ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างประสบการณ์สาธารณะในกลุ่มคนต่างๆขึ้นมาในเวลาที่ต่อเนื่องและยาวนาน โดยเฉพาะในกรณีการยึดทำเนียบรัฐบาล การระดมคนบุกรัฐสภา การเดินขบวนในเหตุการณ์ต่างๆ (ไม่นับการบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) วัฒนธรรมมวลชนที่ปลุกระดมอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันกับคลื่นมหาชนอันมหาศาลนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ขาดหายไปโดยสิ้นเชิงกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับเมือง ระดับประเทศของไทย (นอกเหนือจากฟุตบอลนัดพิเศษ) เช่นเดียวกันกับคนเสื้อแดงที่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมานิยามพื้นที่สาธารณะใหม่ๆบนท้องถนนเช่นกัน ความรู้ในการจัดการบริหารมวลชน การติดต่อประสานงาน และความเคลื่อนไหวของข้อมูลข่าวสารล้วนถูกนำมาปรับใช้ด้วยกลวิธีต่างๆนานา เหล่านี้เป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นปลายทศวรรษ 2540 ต่อต้นทศวรรษ 2550 สอดคล้องกับการเติบโตของฟุตบอลอาชีพ ไทยพรีเมียร์ลีกที่เริ่มมีแฟนบอลเริ่มก่อตัวในลักษณะมวลชนขึ้น
 
อีกด้านหนึ่งก็คือ การปรับตัวให้เข้ากับการจัดการในเชิงธุรกิจมากขึ้น ทีมสโมสรได้กลายเป็นบริษัทที่จะต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ทีมแบบเดิมที่ไม่มีระบบ คอยแต่แบมือขอเงินสปอนเซอร์ หรือต้องควักเนื้อตัวเองเหมือนในอดีตอีกต่อไป การนำสโมสรฟุตบอลเข้าสู่ตลาดทุนนั้นในอุดมคติก็คือ การทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาตัวเองขึ้นมา ระบบใหม่นี้ทำให้สโมสรหลีกเลี่ยงมิได้ที่จะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ผู้สนับสนุน เนื่องจากรายได้ที่จะหมุนเวียนและหล่อเลี้ยงก็มาจากลูกค้าเหล่านี้ทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการการออกแบบภาพลักษณ์ สัญลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของแต่ละทีม
 
ในขณะที่ในคนไทยรุ่นใหม่เพศชายเป็นส่วนใหญ่จะเติบโตมากับวัฒนธรรมฟุตบอลอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการเชียร์ทีมฟุตบอลยุโรป การซื้อหนังสือพิมพ์กีฬา การเล่นเกมส์ฟุตบอล หรือการเล่นเกมที่จำลองตนเป็นเสมือนผู้จัดการสโมสรฟุตบอลต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างกลุ่มเป้าหมายของการแข่งขันฟุตบอลลีกในจำนวนไม่น้อย รสนิยมทางวัฒนธรรมใหม่ๆ นี้ในอีกด้านก็ได้เบียดขับสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ออกไปอย่างไม่ตั้งใจ ดังเช่นกรณีของทีมสโมสรนครราชสีมาที่เดิมมีสัญลักษณ์เป็นย่าโม ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นแมวสีสวาท หรือทีมราชนาวีระยอง ก็เลือกใช้ม้านิลมังกร แทนธงราชนาวีที่เคร่งขรึม แต่อย่างไรก็ตามบางทีมก็ยังคงสัญลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้ แต่พยายามปรับการออกแบบให้ดูทันสมัยและเตะตาคนได้แก่ ทีมสโมสรสมุทรปราการ FC ทีมสโมสรนครปฐม
 
อาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกนี้ ได้สร้างชุมชนฟุตบอลไทยในจินตนาการขึ้นมา และได้ทำให้มิติของความเป็นท้องถิ่นนิยมปรากฏชัดขึ้น พื้นที่ของฟุตบอลมิได้ถูกผูกขาดด้วยสโมสรระดับชาติอีกต่อไป ทีมสโมสรชื่อดังในอดีตอย่าง ธนาคารกรุงเทพ หรือธนาคารกสิกรไทยนั้นตายจากวงการฟุตบอลไทยไปแล้ว ขณะที่ทีมอย่างทหารอากาศ ทหารบก ตำรวจ ก็ไม่มีที่ยืนบนไทยพรีเมียร์ลีกอีกต่อไป ทีมที่สร้างกระแสท้องถิ่นอย่างชลบุรี FC หรือทีมเอกชนอย่างบางกอกกล๊าสกลับแจ้งเกิด และกลายเป็นสีสันของวงการฟุตบอลไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
 
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของทีมท้องถิ่นในแง่มุมหนึ่งอาจจะเป็นนิมิตหมายอันดี แต่หากมองไปในภายภาคหน้าแล้ว ความเคลื่อนไหวดังกล่าวควรจะถูกตั้งคำถามว่า จะก้าวไปสู่การเสริมกำลังสำนึกท้องถิ่นที่กล้าแข็งได้หรือไม่ เราก็คงได้แต่หวังว่าระบบที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นแบบอย่างของการหลุดพ้นไปจากกรอบการครอบงำของความคิดชาตินิยมอันคับแคบ และโลกทัศน์แบบอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่ยังหลงเหลือซากอันผุพังในสังคมนี้อยู่
 
ในความเชื่อส่วนตัวของข้าพเจ้า การรวมกันเป็นชาติใหม่ในวันชาติเก่านี้[15] ประเทศไทยอาจมิได้ต้องการความสามัคคีที่จับต้องมิได้ สมานฉันท์ที่สักแต่ว่าพูด แต่ต้องการความสามารถในการจัดการตัวเอง และบริหารตัวเองในหน่วยท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับระดับชาติต่างหาก ความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน มักถูกโยนไปข้างหน้าอย่างเป็นนามธรรมอยู่เสมอ ในขณะที่ลิดรอนอำนาจการตัดสินใจและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
 
ภารกิจของการสร้างความเข้มแข็งของประเทศชาติ (หากมีอยู่จริงนั้น) อาจมิได้มีหัวหอกเป็นนักปฏิวัติ หรือนักวิชาการหรือนักการเมืองที่เป็นคนดีอีกต่อไป แต่เป็นการเมืองในหน่วยพื้นที่ที่จะนำพาท้องถิ่นให้เกิดความแข็งแกร่งๆในหน่วยเล็กๆที่จะนำไปสู่การปะทะ ต่อรองกันในระดับชาติต่อไป อันควรจะสนับสนุนให้มีในหลายระดับชั้นดังเช่นการเมืองเรื่องฟุตบอลไทยที่กำลังบุกเบิกถางทางอยู่ขณะนี้.
 
 
 
เชิงอรรถ
 
* บทความนี้อุทิศให้คณะราษฎร, การปฏิวัติสยาม 2475 และวันชาติ 24 มิถุนายน
[1] อันที่จริงแล้วหากเรียกว่า ฟุตบอลรายการดังกล่าวเริ่มต้นอย่างจริงจังในทศวรรษ 2460 จะมีน้ำหนักมากกว่า เพราะหลังจากการจัดการแข่งขันในปี พ.ศ.2449 แล้ว ในการจัดครั้งที่ 2 ได้ทำการแข่งขันในปีพ.ศ.2460 ขณะที่ฟุตบอลพระราชทานถ้วย ข. ก็เริ่มในปีพ.ศ.2459
[2] ยกตัวอย่างทีมที่ชนะเลิศเช่น ทีมกรมมหรสพ (2449) ทีมมหาดเล็กหลวง (2462) ทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2463) ทีมโรงเรียนนายร้อยทหารบก (2464-2465) ทีมโรงเรียนนายเรือ (2466-2467) ทีมกองเดินรถ (2469-2470) ทีมสวนกุหลาบวิทยาลัย (2471-2472) ทีมอัสสัมชัญ (2473) ทีมการไปรษณีย์แห่งประเทศ (2474)
[3] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน. [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน (17 พฤษภาคม 2552)
[4] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์. [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ (28 พฤษภาคม 2552)
[5] เรื่องเดียวกัน
[6] เรื่องเดียวกัน
[7] หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. การอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี
 [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง http://www.memocent.chula.ac.th/knowledge/kn06_02.html (24 มิถุนายน 2552)
[8] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. จตุรมิตรสามัคคี [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/จตุรมิตรสามัคคี (29 พฤษภาคม 2552)
[9] ค้นรายละเอียดได้ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.หมวดหมู่:สโมสรฟุตบอลไทย [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง  http://th.wikipedia.org/wiki/หมวดหมู่:สโมสรฟุตบอลไทย (21 มีนาคม 2552)
[10] Re : ช่วยเล่าเกี่ยวกับฟุตบอล ยามาฮ่าไทยแลนด์คัพ ให้ฟังหน่อยได้ไหมครับ[ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง  http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=5463.0 (25 มิถุนายน 2550)
[11] เรื่องเดียวกัน
[12] เรื่องเดียวกัน
[13] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง  http://th.wikipedia.org/wiki/สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย
 (8 มิถุนายน 2552)
[14] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. [ระบบออนไลน์]. แหล่งอ้างอิง http://th.wikipedia.org/wiki/โปรลีก
 (31 พฤษภาคม 2552)
[15] บทความนี้เขียนเสร็จในวันที่ 24 มิถุนายน 2552
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net