Skip to main content
sharethis
24 มิ.ย. 52 - ที่โรงแรมสยามซิตี้ มีการสัมนาหัวข้อ ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านจัดโดยศูนย์ความมั่นคงศึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), สถาบันการข่าวกรองและสำนักงานเลขานุการคณะที่ปรึกษาการข่าว, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และโครงการความมั่นคงศึกษา (สกว.) ซึ่งจัดเป็นเกียรติแด่ นายปิยะวัฒน์ บุญ-หลง ในโอกาสครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
นายปกศักดิ์ นิลอุบล อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำพม่าและสวีเดน กล่าวว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบทุกรัฐบาล ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงรัฐบาลชุดที่แล้ว ยกเว้นรัฐบาลชวน 1-2 แทบทุกชุดที่มาจากการเลือกตั้งมักให้ความสำคัญเรื่องปฏิสัมพันธ์ต่อประเทศเพื่อนบ้านเพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงมิติการเมือง สังคม วัฒนธรรม
เช่นในกรณีความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศให้ความสำคัญกับความเป็นชนชาติมลายูมากกว่าปัจจัยเรื่องศาสนาอิสลาม โดยมาเลเซียเป็นหัวหอกของมุสลิมสายกลางอย่างไรก็ตาม มาเลเซียเห็นว่าปัจจัยชาตินิยมสามารถสร้างความสมานฉันท์ในประเทศเขาได้ ขณะเดียวกันเรื่องประวัติศาสตร์และค่านิยมของมาเลเซียย่อมรู้สึกได้ถึงความเป็นเสมือนพื้นที่ส่วนต่อเขตอิทธิพลสังคมวัฒธรรมแม้ไม่ได้มีนโยบายแบ่งแยกดินแดน
"มาเลเซียย้ำกับไทยมาตลอดว่าไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดนในไทยแต่ที่ไม่ปรากฏอย่างเป็นทางการ คือเขาเห็นมาตลอดว่าพื้นที่ภาคใต้ของไทยอยู่ในอิทธิพล สังคมวัฒนธรรมของมลายู"นายปกศักดิ์กล่าว
อดีตเอกอัครราชทูตฯ กล่าวด้วยว่า สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยเฉพาะปี 2547-กลางปี 2549 เหตุความไม่สงบในภาคใต้ได้ทวีความรุนแรงนับแต่มีเหตุการณ์ปล้นปืน เหตุการณ์ที่กรือเซะ ตากใบทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย เย็นชาลงนับแต่นั้น ต่อมาเมื่อพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเซีย โดยไปเยือนถึง 4 ครั้ง
ต่อมาในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์มีนโยบายเรื่องภาคใต้ที่ไม่ชัดเจน ไม่สานต่ออย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซียควรจะเป็นไปในลักษณะขอความร่วมมือ โดยไม่ควรขอให้มาเลเซียแสดงบทบาทเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาภาคใต้เพราะหากเราพึ่งพาเขาอย่างเต็มที่จะทำให้เราไม่มีอำนาจต่อรอง
นายปกศักดิ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ว่าเนื่องจากการเมืองภายในที่สลับซับซ้อนของทั้ง 2 ประเทศทำให้ความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น ทั้งนี้ตนเห็นว่าน่าจะมีการพบปะหารือกันอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ เพราะจะเป็นตัวช่วยอย่างมาก เช่น สมเด็จฮุนเซน ชอบตีกอล์ฟเราก็ควรมีผู้ใหญ่ที่สันทัดด้านนี้มาดูแล หรือนายกฯอภิสิทธิ์ชอบร้องเพลงก็ควรมีการดูแลกันด้วย เป็นการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างน่าจะมีการพบกันอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องพยายามสร้างกลไกส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจสร้างความใกล้ชิดของประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายให้มีสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชาหากเกิดขึ้นได้ก็จะช่วยส่งเสริมกัน ไม่มากก็น้อย
นายปกศักดิ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศพม่า ว่ารัฐบาลทุกชุดยกเว้นชุดปัจจุบัน เน้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ลงทุนอันดับ 3 แต่เสียดุลเพราะนำเข้าแก๊สจากพม่ามาแล้วกว่า 10 ปี ทำให้ดุลการค้าของเราอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนภาพรวมความสัมพันธ์นั้นค่อนข้างเปราะบางเพราะความขัดแย้งการเมืองภายในพม่า กระทบชายแดนไทย-พม่าเกิดการสู้รบเป็นเวลานานส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยกว่าแสนคนและมีแรงงานที่ผิดกฎหมายกว่า 2 ล้านคน ซึ่งเข้ามาหางานในไทยและส่งเงินกลับบ้าน
นายปกศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจึงไม่มีอำนาจต่อรองเนื่องจากให้ความสำคัญแต่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักและเกรงใจพม่าตลอดเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งไทยควรมีนโยบายที่มีปฏิสัมพันธ์ครบวงจร ครอบคลุมทุกมิติส่วนท่าทีของไทยในฐานะประธานอาเซียนต่อรัฐบาลพม่า ในกรณีนางอองซาน ซูจีก็เป็นที่น่าพอใจเพราะเราควรมีความร่วมมือจริงจังในประเทศสมาชิกอาเซียนที่บอกว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่าให้สังคมอาเซียนเป็นแต่เพียงคำพูด
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศลาวนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุดในบรรดาเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ เพราะมีปัจจัยใกล้ชิดเนื่องจากการเยือนประเทศลาวของราชวงศ์ไทยเป็นบทบาทสำคัญที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งมีเวทีประชุมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยและเจ้าแขวงของลาวเป็นกลไกที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ซึ่งไม่มีในประเทศอื่น
ด้านนายไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีไทยโดยนายอภิสิทธิ์ระบุว่าไม่ได้คัดค้านประเทศกัมพูชา แต่คัดค้านยูเนสโกนั้น ตนเห็นว่าผู้นำกัมพูชาไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อวานซืน ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็แสดงความเสียใจที่ไทยมีท่าทีแบบนั้น
อย่างไรก็ตามความคิดแบบชาตินิยมหากมีสติปัญญาก็เป็นเรื่องดีแต่หากเป็นชาตินิยมที่หลับหูหลับตาก็จะกระทบผลประโยชน์ทั้งไทยและกัมพูชาเพราะกัมพูชาก็พร้อมยั่วยุให้ไทยไปบุกรุกเขตแดนเพื่อนำเรื่องขึ้นสู่เวทีภูมิภาค เวทีสหประชาชาติเราไม่ต้องการให้เอาเรื่องขึ้นไปแบบนั้นเพราะเราเสียเปรียบอยู่แล้ว
ส่วนขณะนี้ กัมพูชามีทางขึ้นปราสาทพระวิหารเองแล้ว ไม่ต้องพึ่งไทยเรากำลังเสียเปรียบเชิงการทูตและแทนที่จะได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งความขัดแย้งในประเทศก็มีความขัดแย้งกันไปแต่ไม่ว่ารัฐบลชุดไหนจะขึ้นมาเราก็ควรจะมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นเอกภาพ
ด้าน พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่าทาง สมช. ได้ติดตามการกำหนดนโยบายต่างประเทศซึ่งที่ผ่านมามักขึ้นอยู่กับกระแสสังคมแต่ละช่วงเวลาเป็นการกำหนดนโยบายตามกระแสกดดันของฝ่ายที่มีอิทธิพลในช่วงนั้นๆ เราพยายามทำตามระเบียบราชการ ซึ่งก็ไม่ผิดแต่ได้แต่งานรูทีนไปเรื่อยๆ มีหลักกว้างๆ หาความเป็นรูปธรรมวัดผลไม่ได้ ถ้ามีเวทีแบบนี้บ่อยๆ น่าจะสามารถกำหนดแนวทางและประเมินปัจจัยต่างๆ จากทิศทางกระแสโลกและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านได้ เรายังขาดจุดนี้ทาง สมช. พยายามจัดทีมงานแยกจากงานประจำ ตอนนี้พยายามจัดทีมเล็กๆ เป็นเวิร์คกิ้งกรุ๊ป
พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่าอยากให้มองความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านว่าประเทศใกล้เคียงเรามีโครงสร้างที่ตัวบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นปึกแผ่นสามารถสั่งการแบบท๊อป-ดาวน์จากบนลงล่างได้ขณะที่ไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยบางครั้งเปลี่ยนแทบทุก 6 เดือนทำให้มีความลำบากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ทั้งนี้ตนอยากให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดที่รวมคนทุกสาขาอาชีพเพื่อศึกษาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใครชำนาญด้านประเทศใดก็ให้มาอยู่ในองค์กรนี้หากรัฐบาลมีปัญหาเมื่อไหร่ก็ให้สถาบันนี้มาชี้แจงซึ่งต้องมีความเป็นกลางเป็นอิสระ
พล.อ.วิชิต กล่าวด้วยว่าตนในฐานะทหารไทยไปทำงานในประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518 และเริ่มรู้จักสมเด็จฮุนเซน และ พล.อ.เตียห์ บัน ตั้งแต่ยังใส่รองเท้าแตะหิ้วเงาะ หิ้วข้าวผัดมาดูแลตนและเรียกตนว่า หัวหน้าวิชิตซึ่งมีความสัมพันธ์เหมือนเป็นญาติพี่น้องกันตนชอบทำงานใต้ดินชอบปิดทองหลังพระ
"เสียดายปัญหาปราสาทพระวิหาร ในสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ผมได้รับงานไปเจรจากับทางกัมพูชา ได้ข้อยุติเรียบร้อยน่าจะจบปัญหากลับมารายงานรัฐบาลไทย แต่รัฐบาลสมชายมีอีกแนวที่ไม่ทำตามนั้นพอส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นคือ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์เดินทางไปกัมพูชาพอกลับมามีการยิงปะทะกันที่ชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหารทันทีไม่รู้เกิดอะไรขึ้น"
ด้านนายปกศักดิ์ กล่าวว่า ตนเคยทำงานแบบพล.อ.วิชิต ช่วงหนึ่งซึ่งไม่บอกว่าลักษณะไหนแต่ทำให้ใกล้ชิดผู้นำประเทศเพื่อนบ้านอย่างเจ้านโรดมสีหนุตนจึงไม่คุ้นเคยกับฝ่ายสมเด็จฮุนเซนสักเท่าไหร่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net