ครส. / สมัชชาคนจน ค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ของรัฐบาล

23 มิ.ย. 52 - คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์คัดค้านการแปรรูปกิจการรถไฟ เลวร้ายไม่ต่างจากการพยายามแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐและประชาชนไปให้เอกชนดูแลและสร้างกำไร

 
 
คำแถลง ครส. กรณีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ของรัฐบาล
 
จากกรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้หยุดการทำงานประท้วงรัฐบาล ในวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ยุติแผนการปรับโครงสร้างการรถไฟฯ ใหม่โดยที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปรับโครงสร้างดังกล่าวตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ตามที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชนนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) มีความเห็นและข้อเสนอ ดังนี้
 
1. จากการสอบถามไปยังสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย การหยุดงานในครั้งนี้ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนก่อนล่วงหน้าได้ เพราะกฏหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ของประเทศไทย ไม่อนุญาตให้มีการนัดหยุดงานในลักษณะดังกล่าวเหมือนในนานาอารยะประเทศ ที่มีการแจ้งประกาศเตือนเพื่อสไตรค์รัฐบาล ดังนั้นมติสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยในการประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ จึงใช้วิธีลาป่วยแทนตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ทำลายความแข้มแข็งของสหภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม มติของสหภาพแรงงานฯ ที่ออกมาช่วงเวลาศูนย์นาฬิกาของวันที่ 22 มิถุนายน ก็มีมติให้ขบวนรถไฟทุกสายส่งผู้โดยสารถึงปลายทางก่อนหยุดการเดินรถ เราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าใจเงื่อนไขดังกล่าว และมุ่งเน้นไปสู่การแก้ไขปัญหาที่มีที่มาจากการพยายามแปรรูปการรถไฟฯ ของรัฐบาล โดยที่สหภาพแรงงานและประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนร่วม เราเห็นว่าการหยุดงานเพื่อประท้วงรัฐบาลของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟดังกล่าว ถือเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลด้วย ที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ของปัญหา เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะมีการรณรงค์ เคลื่อนไหว และคัดค้านการแปรรูปดังกล่าวมาโดยตลอดก็ตาม
 
2. เราเห็นว่าการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย ของรัฐบาล ภายใต้การนำเสนอของกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมติคณะมนตรี วันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่การปฏิรูปการรถไฟ หรือการพัฒนาการรถไฟแห่งประเทศไทยแต่อย่างใด แต่เป็นเจตนาแอบแฝง ในการขายสมบัติของการรถไฟฯ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะของคนทั้งชาติ ไปให้เอกชนและกลุ่มนายทุนแสวงหาผลประโยชน์ ไม่ต่างจากการพยายามแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะโยกย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐและประชาชนไปให้เอกชนดูแลและสร้างกำไร
 
3. ขอคัดค้านแผนการแปรรูปการรถไฟฯ และการขายสมบัติสาธารณะของรัฐบาล ดังที่จะมีแผนการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทยออกเป็น 3 ส่วน โดย (1) ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับผิดชอบเฉพาะในส่วนงานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั้งหมดของกิจการรถไฟ รวมถึงการก่อสร้าง บำรุงรักษารางรถไฟเท่านั้น แต่ (2) กลับให้มีการจัดตั้ง “บริษัทเดินรถ” โดยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลการจัดการเดินรถทั้งการโดยสารและการขนส่งสินค้า ตลอดจน Airport Link ฯลฯ โดยโอนทรัพย์สินของการรถไฟฯ มายังบริษัทดังกล่าว และ (3) การจัดตั้งบรรษัทบริหารทรัพย์สิน ในรูปแบบ Management Agency ทำหน้าที่บริหารจัดการที่ดิน การจัดเก็บรายได้ และบริหารสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟฯ โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการพัฒนาที่ดิน ซึ่งปัจจุบันนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีที่ดินมากกว่า 230,000 กว่าไร่ ซึ่งถือเป็นทรัพย์สมบัติของสาธารณะของประชาชน ดังนั้น แผนการแปรรูปการรถไฟฯ แบบนี้ คือการขายทรัพย์สมบัติของสาธารณะของประชาชนให้แก่กลุ่มนายทุนที่อิงแอบนักการเมือง เข้าไปฮุบผลประโยชน์ทั้งปวงนั่นเอง
 
4. เหตุผลในการปรับโครงสร้างการรถไฟฯ เพื่อฟื้นฟูฐานะการเงินของการรถไฟฯ ที่มีหนี้สินจำนวนมาก และเพื่อแก้ไขการประสบสภาวะขาดทุนมาโดยตลอดนั้น เป็นเพียงข้ออ้างของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะสภาวะขาดทุนดังกล่าวเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะพัฒนาการรถไฟฯ และละเลยมาโดยตลอด กล่าวคือ รัฐบาลไม่เคยจ่ายเงินบริการเพื่อสังคม (pso) ตามกฎหมายรถไฟ พ.ศ. 2494 มากว่า 7 ปี, มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชน, การฮั้วกับเอกชนและกลุ่มทุนในการเช่าที่ดินรถไฟราคาถูกเป็นระยะเวลานาน รวมถึงการคิดค่าบริการในราคาที่ต่ำกว่าทุนในขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปัจจุบัน การรถไฟมีต้นทุน 1.601 บาท ต่อคน ต่อการเดินรถ 1 กิโลเมตร แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 0.24 บาท ต่อคน ต่อการเดินรถ 1 กิโลเมตรเท่านั้น เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ในส่วนของค่าโดยสารก็เพื่อบริการสังคมและคนจนในสังคมที่รัฐบาลจะต้องดูแล และปฏิรูปกิจการส่วนอื่นเพื่อรองรับรายได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับโครงสร้างใหม่ก็ไม่ได้มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูปดังกล่าวโดยยึดถือให้การรถไฟเป็นกิจการของรัฐและประชาชน 100% โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือได้ประโยชน์ แต่กลับมุ่งเน้นให้เอกชนแสวงหากำไร ทั้งยังกำหนดในแผนฯ ว่า ให้เอกชนปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารขึ้นร้อยละ 10 ในปีงบประมาณ 2553 และให้ปรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10 โดยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 เช่นกันในทุกๆ 3 ปี อย่างชัดเจนอีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการยกผลประโยชน์ทั้งปวงให้เอกชนไปพัฒนาและดูแล แทนการปฏิรูปการรถไฟฯ โดยถือเป็นกิจการสาธารณะของรัฐที่รัฐจะบริการและพัฒนาให้ดีขึ้นภายใต้ฐานะของรัฐวิสาหกิจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
 
5. ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 3 มิถุนายน 2552 ที่เห็นชอบการปรับโครงสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประชาชนและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจไม่มีส่วนร่วมดังกล่าว และเปิดเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องไม่แปรรูปหรือยกให้เอกชนไปแสวงหาผลประโยชน์ แต่ร่วมกันปฏิรูปและพัฒนาในฐานะกิจการสาธารณะของรัฐ รวมถึงยกเลิกแผนการจัดตั้งบริษัทเดินรถและบรรษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีกำหนดเวลาจัดตั้งเพื่อแยกออกจากการรถไฟแห่งประเทศไทยภายใน 30 วัน นับจากวันที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ เพื่อไม่ให้เกิดบาดแผลทางประวัติศาสตร์ดังกรณี การแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่แปรรูปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมราคาได้ตามที่รัฐเคยกล่าวอ้างไว้และทำให้รายได้เข้ารัฐลดลงถึง 40% ในขณะที่บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้น 30% ทั้งนี้ ประสบการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลต้องซื้อคืนรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าเดิมหลายเท่าเพื่อความมั่นคงของรัฐและเป็นกิจการสาธารณะเพื่อประชาชนเหมือนเดิม
 
6. ขอให้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม นำแผนการปรับโครงสร้างใหม่ ไปทบทวนและปรับปรุงในฐานะกิจการสาธารณะของรัฐ โดยให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ซึ่งมีมากกว่า 10,000 คน และประชาชนมีส่วนร่วม ในการประชาพิจารณ์ และการออกเสียงประชามติในอนาคต เพื่อป้องกันการฮุบเอาผลประโยชน์ของประชาชนโดยการใช้นโยบายแอบแฝง ทั้งนี้ เราเห็นว่า รัฐบาลสามารถพัฒนาการรถไฟฯ เพื่อแก้ไขสภาวะขาดทุนได้ โดยการปรับปรุงค่าเช่าที่ดินเชิงพานิชย์ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 36,000 ไร่ให้เหมาะสมกับราคาปัจจุบัน การสร้างทางคู่โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน การปรับปรุงรถจักร รถพ่วงและการเดินรถเชิงสังคมให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย รวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนการเพิ่มเส้นทางเพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชน เป็นต้น
 
23 มิถุนายน 2552
นายเมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
 
 อนึ่งในวันเดียวกันนี้ (23 มิ.ย. 52) สมัชชาคนจนก็ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้วยเช่นกัน

 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
สนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย รถไฟไทยคือสมบัติของประชาชน
 
การต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2552 ซึ่งมีมติอนุมัติ “แผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ เพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และนำไปสู่การผูกขาดกิจการรถไฟ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน คนจนโดยถ้วนหน้ากัน
 
สมัชชาคนจน ขอสนับสนุนและให้กำลังใจ การต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อบรรลุภารกิจในการปกป้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นสมบัติของชาติและประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเร็ว
 
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาคนจน
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2552
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท