Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ/บรัสเซลล์, 22 มิถุนายน 2552 - ความรุนแรงในภาคใต้อาจจะเพิ่มสูงและมีคนมาเลย์มุสลิมเข้าร่วมขบวนการต่อสู้มากขึ้น ถ้าหากว่ารัฐบาลไทยไม่สนใจปัญหาภาคใต้และไม่เปลี่ยนทิศทางจากการทหารมาสู่การใช้การเมืองในการแก้ปัญหา

รายงานฉบับล่าสุดของ อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป “เส้นทางเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ในภาคใต้ของไทย” (Recruiting Militants in Southern Thailand) เสนอว่าขบวนการได้คัดเลือกเยาวชนมาเลย์มุสลิมโดยเฉพาะจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเข้าร่วมการต่อสู้ คนที่เข้าร่วมขบวนการไม่ได้ถูกผลักดันด้วยแนวคิดจีฮาดสากล แต่ว่าพวกเขาต้องการที่จะปกป้องอัตลักษณ์ทางศาสนาและชาติพันธุ์จากสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นการกดขี่จากรัฐไทย
“ผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้าสู่ขบวนการมีแนวคิดชาตินิยมมลายูและมีความภาคภูมิใจในความรุ่งเรืองของรัฐปัตตานีในอดีต” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิเคราะห์ของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิสกรุ๊ปกล่าว “พวกเขาบอกกับนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้นคนมุสลิมทุกคนมีหน้าที่ที่จะนำดินแดนของพวกเขาคืนมาจากคนพุทธซึ่งเป็นคนนอกศาสนา”
ห้องเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เส้นทางการต่อสู้ ผู้ที่มองหาสมาชิกจะมุ่งไปที่เยาวชนที่มีความเคร่งครัดทางศาสนา ขยันขันแข็ง เรียบร้อยเพื่อชวนมาร่วมการฝึกอบรมนอกห้องเรียน ซึ่งอาจจะเป็นการเรียนศาสนา การทัศนศึกษาหรือเล่นกีฬา กิจกรรมเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่รับสมาชิกสามารถที่จะประเมินนักเรียนเหล่านี้ระยะหนึ่ง ซึ่งอาจจะนานเป็นเดือนหรือมากกว่าหนึ่งปี คนที่ได้เข้าร่วมขบวนการจะต้องทำการสาบานตน หลังจากนั้น ก็จะมีการฝึกร่างกายและการฝึกอาวุธก่อนที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการในระดับหมู่บ้าน สำหรับคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจับอาวุธก็จะดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ในขบวนการ เช่น ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน สมาชิกที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปีส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน เช่น การหาข่าว การลอบวางเพลิง การพ่นสีเปรย์บนถนน เช่น คำว่า “เพื่อเอกราชของปัตตานี”
ขบวนการดำเนินงานอย่างปิดลับ โดยสมาชิกในระดับล่างรู้จักแต่เพียงสมาชิกในกลุ่มที่ตนเองร่วมปฏิบัติการ แต่ไม่รู้ว่าว่าองค์กรที่กลุ่มของตนสังกัดเป็นใคร ดูเหมือนว่าการทำงานจะมีเป็นเอกเทศอย่างมาก แต่ละกลุ่มปฏิบัติการสามารถเลือกเป้าหมายและดำเนินงานการเมืองได้เอง
การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นประเด็นหนึ่งที่ผลักดันให้คนเข้าร่วมขบวนการมากขึ้น มีการเผยแพร่วีดีโอคลิปเหล่านั้นผ่านทางอินเตอร์เน็ตและวีซีดีซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดผลกระทบกว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังล้มเหลวในการนำตัวเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ การที่มีญาติถูกจับหรือสังหารรวมไปถึงการซ้อมทรมานและการอุ้มฆ่าเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ผลักดันให้พวกเขาเข้าสู่ขบวนการ
“แม้ว่ารัฐบาลยังคงวุ่นวายกับการแก้ไขปัญหาการเมืองในระดับประเทศ พวกเขาก็ควรที่จะหันมาให้ความสนใจกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้” จิม เดลลา-เจอาโคมา ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของอินเตอร์ เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ปกล่าว “ความรุนแรงจะไม่ทางยุติ หากว่ารัฐบาลไม่สามารถขจัดความคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมออกไปจากความรู้สึกของคนมาเลย์มุสลิม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net