Skip to main content
sharethis

22 มิ.. 52 - เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ ขอแสดงความห่วงใยต่อกรณีการจัดการผู้ลี้ภัย และการกดดันหรือบังคับผลักดันผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกลับมาตุภูมิโดยไม่สมัครใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดยั้งการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่ทั้งหมด



 

แถลงการณ์: ขอแสดงความห่วงใยต่อกรณีการจัดการผู้ลี้ภัย
และการกดดันหรือบังคับผลักดันผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงกลับมาตุภูมิโดยไม่สมัครใจ
 

 

สืบเนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังเคเอ็นยู (Karen National Union) และกองทัพรัฐบาลพม่าร่วมด้วยกองกำลังดีเคบีเอ (Democratic Karen Buddhist Army) เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2552 อันส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงราว 3,500 คน ซึ่งจำนวนเกินครึ่งเป็นเด็ก และที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหญิงและคนชรา หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน เป็นต้นมานั้น 

 

มีรายงานข่าวว่า มีการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยจำนวน 99 คน จากพื้นที่ตำบลแม่สลิด อำเภอท่าสองยาง ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 และต่อเนื่องด้วยรายงานข่าวในพื้นที่ว่าจะมีการส่งกลับเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน 2552) เป็นต้นไป

 

ทางเครือข่ายดังรายนามด้านล่าง มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้ 

 

1. การบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยไปสู่ความเสี่ยงภัยต่อการถูกประหัตประหาร เป็นการละเมิดกฎจารีตระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement policy) 

 

นับแต่ 19 มิถุนายน 2552 เจ้าหน้าที่ทหารได้กดดันให้ชาวบ้าน 2 หมู่บ้านที่พักอยู่ที่บ้านหนองบัว อำเภอท่าสองยาง เดินทางกลับ โดยชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นเด็กราว 100 คน ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหญิงกับคนชรา ข้อเท็จจริงคือ แม้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นกลางมาก่อน พวกเขาก็ไม่ไว้วางใจว่าจะเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย เนื่องจาก

- การสู้รบเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สถานการณ์ยังคงไม่มั่นคง

- จากการสู้รบที่ผ่านมา กองกำลังทุก ๆฝ่าย ได้วางกับระเบิดไว้ในพื้นที่จำนวนมาก

- กองกำลังดีเคบีเอกำลังระดมพลเพื่อสู้รบต่อไป และที่ผ่านมาได้บังคับผู้ชายรวมถึงเด็กชายเป็นลูกหาบและทหาร หากไม่พบผู้ชายก็จะเกณฑ์หญิงเป็นลูกหาบ

- กองกำลังดีเคบีเอขณะนี้มีส่วนที่เพิ่งเคลื่อนพลมาจากแห่งอื่นด้วย ไม่ใช่คนเดิมที่ชาวบ้านเคยเจรจา 

 

2. การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม 

 

นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน ทางการไทยห้ามไม่ให้ผู้ใหญ่บ้านของกลุ่มหมู่บ้านอพยพมาได้เข้าพบชาวบ้านสองหมู่บ้านดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ขนน้ำดื่มไปให้ผู้ลี้ภัยทุกวัน ผู้ลี้ภัยจึงไม่มีน้ำดื่ม ชาวบ้านท้องถิ่นต้องพยายามแบ่งปันน้ำให้ เป็นการสร้างความกดดันให้กับผู้ลี้ภัยและท้องถิ่นอย่างมาก 

 

3. การกีดกั้นไม่ให้เด็กผู้ลี้ภัยได้เข้าถึงการศึกษา เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่รัฐไทยเป็นภาคี


ผู้ลี้ภัยได้พยายามจัดการให้เด็กที่ต้องขาดเรียนเนื่องจากภาวะสงครามและการพลัดถิ่นฐาน ให้ได้เข้าเรียนในพื้นที่พักพิงแม่หละเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการตัดสินใจว่ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้พวกเขาพักอยู่ที่ใดอย่างไรต่อไป โดยเด็กกลุ่มแรกที่ได้เข้าเรียนราว 50 คน ซึ่งเป็นเด็กที่พลัดหลงกับครอบครัว ทางการไทยได้เรียกให้เด็กเหล่านั้นกลับไปทำทะเบียนที่ชายแดนก่อนแล้ว และเมื่อเด็กกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว จนบัดนี้เด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ได้อนุญาตให้กลับเข้าไปเรียนเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวนกว่าพันคน ที่ยังรอการตัดสินใจของรัฐไทย ว่าจะอนุญาตให้พวกเขาเรียนหนังสือต่ออย่างไร และที่ใด

 

4. การขาดนโยบายและวิถีปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาการอพยพลี้ภัยที่ชัดเจนและเหมาะสมต่อสถานการณ์จริง


แม้ทางกองทัพจะยอมรับว่า มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากพื้นที่ในการปกครองของเคเอ็นยูโดยตรง

 

ซึ่งไม่สามารถกลับพื้นที่ได้แน่นอน ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการให้ความคุ้มครองกับคนเหล่านี้อย่างไร ผู้ลี้ภัยได้รับทราบว่า พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่พักพิงแม่หละเด็ดขาด หากก็ไม่ทราบว่ารัฐไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  

 

ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย


1. หยุดยั้งการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่ทั้งหมด จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบอย่างโปร่งใสด้วยการมีส่วนร่วมของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและผู้ลี้ภัย ว่าผู้ที่กลับไปจะไม่ถูกประหัตประหารหรือเสี่ยงภัยความตาย 

 

2. ดูแลและทำให้มั่นใจว่าให้ผู้ลี้ภัยได้เข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างสมควร

 

3. เคารพ คุ้มครอง และตอบสนองต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจัดการการศึกษาเอง หรือให้หน่วยงานเอกชนเข้ามาดูแล

 

4. หาทางออกให้แก่ผู้ลี้ภัยใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนนโยบายไม่รับผู้ลี้ภัยใหม่เข้าพื้นที่พักพิงด้วยการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ดีแล้วหรือไม่ อย่างไร  

 

แถลงโดย 

เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ , มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี , ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน

22 มิถุนายน 2552

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net