บันทึกวัฒนธรรม : ความทรงจำของหมอลำซัมเมอร์ (ตอนที่ 4) ประสบการณ์ยากจะลืมที่ “บ้านไฮตาก”

 
เช้าตรู่ที่ไฮตาก (หากเป็นรักก็) ยากจะลืม
 
 
อี๊ด ตื่นแต่เช้าเพราะไม่ต้องอาบน้ำ แต่ช้ากว่าหางเครื่อง ตื่นก่อนไก่ (และไม่ได้อาบน้ำ) แต่งหน้าทำผมตามหน้าที่จนพวกเราปลื้มใจ สาวๆ ส่วนหนึ่งต้องตระเวนไปอาบน้ำบ้านที่อยู่ข้างๆ สำนักงาน อบต. อี๊ดขับมอเตอร์ไซด์ไปไฮตาก ราวเจ็ดโมงครึ่งเขาโทรมาบอกว่า มีนักเรียนเล็ก ๆ ราวสามสิบคนรอ “ดูหมอลำ” อยู่ เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวเฉายามโดนแดด เช้าวันนี้น้ำค้างพร่างพรม ปลุกความไร้เดียงสาในตัวตนของเด็กน้อยตื่นจากฝันร้ายเมื่อวันวานอย่างมีพลังของเด็กๆ ก็เป็นอย่างนี้ ราวทารกที่เดี๋ยวหัวเราะเดี๋ยวร้องไห้ เพราะโลกยังงดงาม ชีวิตไม่เคยพบความบอบช้ำ ต่างจากเราที่บ่อยครั้ง หากสิ่งที่วาดไม่อาจหวัง หัวใจนั้นเฉาแล้วเฉาเลย โลกที่เคยสวยงามมีแต่เพียงความทรงจำ เด็กๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัวสวยงามราวจะเรียกวันคืนครั้งเก่ากลับคืน
 
ดังนั้น วันที่สองที่บ้านไฮตาก ทุกคนจึงตื่นมาทำงานอย่างมีสปิริต แม้ว่าอาจจะมีความล้มเหลวรออยู่ข้างหน้า เวทีที่ไฮตาก น่ารักมาก ๆ นักเรียนมารอแต่เช้า ผอ.โรงเรียนก็น่ารักไม่น้อย แม้ติดภารกิจก็ส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลตั้งแต่เมื่อเย็นวาน และกลับไปให้กำลังใจเราตอนบ่าย นายกฯ ทั้งสองท่านติดงานในเมือง วันนี้เราทำงานแบบตามมีตามเกิด แต่ทำให้เต็มที่ ตามความรับผิดชอบที่ได้รับความไว้วางใจมาจากผู้ใหญ่ ทั้งคณบดีและนายกฯ
 
เราเปิดเวทีด้วยการแสดงเด็กเล็ก “ซีเม่ะโจได๋ เอาหัวใจเธอมา และบ่กล้าบอกครู” เรียกเสียงปรบมือจากเวทีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่น้อย เวทีเล็กจนน้องนางหางเครื่องเต้นแทบไม่ออก แต่เสียงหัวเราะของกองเชียร์หลากวัยที่จอแจหน้าเวทีนั้นทำให้ทุกคนเทใจไม่มีหมด พิธีกรสำรอง อนุวัฒน์ และ วัฒนา เป็นลูกคู่ที่ลงตัว เรียกเสียงฮาได้ตลอดเวลา ไม่มีจืด อุ้ย อดีตผู้คุมวงประกวดชิงช้าสวรรค์ของโรงเรียน ในฐานะคนมิกซ์เสียงประจำวงกล่าวอย่างประชดประชันว่า เขาเกิดจากหมากและเก้าอี้อันว่างเปล่าที่บ้านแก้งแท้ๆ หมากที่ผูกเสี่ยวกับวัฒนาบอกว่านี่ไง สถานการณ์สร้างวีรบุรุษสถานการณ์ที่หลายคนจากค่ายไปเพราะภารกิจส่วนตัวจนเขาเองเกือบจะกลับบ้านเหมือนกัน เสียงปรบมือและสายตาแห่งความสนุกสานที่จับจ้องมาบนเวทีจากคนที่อยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เบื้องหน้านั้นกลับเพิ่มความมั่นใจให้คณะหมอลำประชาธิปไตยอย่างไม่รู้ลืม และรำลึกถึงอย่างอบอุ่นราวรักครั้งแรกของชีวิต
 
ระหว่างนั้นมีจดหมายน้อยขึ้นมาบนเวที เป็นคำถามเรื่องการยุบพรรค มีคำถามที่ว่าประชาชนไม่ได้อะไรเลยหลังการเลือกตั้ง ทำเอาอาจารย์ตั้งรับไม่ทันกับคำถามทางการเมืองที่ต้องตอบบนเวที แต่พิธีกรทั้งสองที่เพิ่งผ่านพ้นการเรียนวิชารัฐธรรมนูญไปหมาดๆ ก็ตอบคำถามได้รอดตัวไป มีคนสนใจบอร์ดทั้งหมดที่เราห้อยไว้บนราวไม้ไผ่ที่พาดระหว่างต้นไม้แต่ละต้น มีเด็กๆ มายืนล้อมวงฟังพี่ฝน สุรวี คำมีแก่น อธิบายประวัติศาสตร์การเมืองไทยใต้เงาไม้อันร่มรื่น มีชาวบ้านขอร้องเพลง ทำให้เพลงตามน้องกลับสารคามของ ศักดิ์สยาม เพชรชมพู ที่โด่งดังในอดีตกลับมาฮิตในหมู่ชาวค่ายอีกครั้ง มีวงเสวนาค้นหาภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาบนเวที เหมือนลานบ้านลานเมือง
 
ถึงแม้จะจบรายการแล้ว ยังมีคำถามขึ้นมาบนเวที พี่หนุ่ย สุรวี วัฒนา อนุวัฒน์ ต้องสวมบทนักศึกษาผู้รู้ขึ้นเวทีสนทนาพูดคุยปัญหาการเมืองการเมืองคั่นรายการอีกครั้งอย่างกันเอง ประวิทย์เพื่อนคู่หูบอกว่าสุรวีเป็นเด็กเรียน ไม่เคยทำกิจกรรม เพราะเกรงว่าจะทำให้เสียการเรียน แต่เราคิดว่าการมาค่ายครั้งนี้ของสุรวี ทำให้เธอได้ใช้ความรู้วิชารัฐศาสตร์ของเธออย่างเต็มที่ ที่สำคัญ ในคืนที่พี่เจริญเลี้ยงส่ง ก่อนปิดเครื่องขยายเสียง เราพบว่าเธอร้องเพลงสาวอุบลรอรักได้เพราะเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าเพชรอยู่ที่ใดก็ฉายแสง
 
เวทีที่บ้านไฮตากมีครบทุกรส จากความล้มเหลวเมื่อวาน เราจึงวางเวทีทั้งหมดให้เสร็จภายในเที่ยง ทั้งละครและเวทีปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นสาระหลักของการสัญจรในครั้งนี้ แต่มีเสียงขอให้เราเล่นต่อ เราจึงปรึกษากันว่าเมื่อวานไม่มีคนดู เรายังเล่นจนจบวันนี้มีคนอยากดูเราเล่นต้องเต็มที่ เราปิดเวทีที่ไฮตากเกือบสี่โมงเย็น ท่ามกลางความหวาดกลัวผีปอบที่อาจารย์อนุสรณ์ งอมสงัด ผู้สอนวัฒนธรรมเชื่ออย่างหัวเด็ดตีนขาดว่ามีจริง เราไม่ค่อยแน่ใจว่าที่อาจารย์อนุสรณ์กลับอุบลฯ แต่เช้านั้น ไปงานแต่งเพื่อนหรือกลัวผีปอบบ้านไฮตากกันแน่ ความเชื่อเรื่องนี้ ทำให้พี่บุญมี หัวหน้าอนามัยประจำหมู่บ้านเดินมากระซิบคณะทำงานอยู่เสมอว่า ขอให้ประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจเรื่องผีปอบให้หน่อยว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีจริงโธ่ พี่บุญมี เราไม่อยากบอกว่า จะให้ประชาสัมพันธ์ได้อย่างไร เจ้าพิธีกรบนเวทีที่ตลกโปกฮาสองคนนั่นแหละตัวดี กลัวมากกว่าใครเสียอีกดังนั้นทุกคนอกสั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน
 
เราพบภาคปฏิบัติการวาทกรรมผีด้วยตนเองอีกครั้ง เรารู้ภายหลังว่าบ้านไฮตากไม่ใช่หมู่บ้านลาว แต่มีชนชาติส่วย อะไรอีกจำไม่ได้ มีอย่างน้อยสามเผ่าพันธุ์ ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ลาวอิสาน เราได้สัมผัสความเชื่อที่เป็นแก่นแกนหลักของวัฒนธรรมอีสานอย่างเต็มๆ กรรมการหมู่บ้านมาติดต่อวัฒนาสองครั้งว่าสงกรานต์นี้จะมาเล่นให้ได้หรือไม่ ทำเอาปิยะ คิดการ ต้องโทรจากอำเภอสีดา นครราชสีมา มาถามว่า “อาจารย์รับงานมาหรือเปล่าครับ คราวนี้ผมจะเป็นหางเครื่อง” เราต่างอิ่มเอมกับความสำเร็จของเรา เมื่อเก็บเวทีเสร็จ ชาวค่ายก็เก็บขยะ เหมือนทุกวันเราเตรียมตัวไปเวทีที่โรงเรียนบ้านยางต่อไป
 
เย็นฝนฉ่ำ พร่างพรูสู่พฤกษา
 
 
ไม่ว่าจะตั้งเวทีที่ไหน คณะทำงานจัดเวทีเฝ้าเครื่องเสียงทุกวัน แต่วันนั้นโดนขาโจ๋ที่บ้านยางแซว จนนายกฯ บุญเทียมลงความเห็นว่าพวกเราต้องกลับ แต่กระนั้น อดีตนายกสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ที่น้องๆ เรียกอย่างรักใคร่ว่า พ่อใหญ่ทรงพล ของเรา ก็ต้องรับไมตรีขาโจ๋โดยการกินเหล้าขาวไปแก้วใหญ่ ถึงกับหน้าแดง และซ้อมละครไม่ได้ชั่วขณะ ทำให้เรานึกถึงเพื่อน ๆ นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาในพื้นที่ ไปในหมู่บ้าน “ชาวเขา” หากต้องดื่มเหล้าข้าวโพดที่ใสราวตาตั๊กแตนที่เวียนมาทางผู้มาเยือน และต้องหมดจอกเท่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาเจอะเจอเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูล และเราต้องกินอะไรอีกหลายอย่างที่ชาวบ้านกิน เพราะหากไม่กิน เราจะเป็น “คนอื่น” ในสายตาของเขา
 
ดังนั้นการที่เราจะทำงานทางความคิดหรือ ได้ข้อมูลที่ต้องการ “อย่าหวัง” เรารับไมตรีอีกหลายระลอกจาก “น้ำภูมิปัญญาท้องถิ่น” ที่อาจารย์ประจำค่ายจำต้องปฏิเสธอย่างนุ่มนวลหลายครั้ง รวมทั้งเหล้ารีเจนซี่จากพี่เจริญ นายกฯตำบลกลาง ฝ่ายวิชาการซุกเหล้าไว้หลายวัน แต่ทีมศิลปินบนเวทีที่นำทีมไหว้ครูก่อนขึ้นเวทีของทุกวันโดยพี่อ๊อดปีสี่ ก็ต้องจิบเหล้าไหว้ครูตามธรรมเนียมปฏิบัติของศิลปิน นี่คือจารีตของการทำงานวัฒนธรรม หรือสิ่งที่นักสังคมวิทยามานุษยวิทยาต้องเจอ แม้เราจะเป็นนักรัฐศาสตร์ แต่วิธีการทำงานของเราเป็นแบบนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จำต้องเข้าใจ “รหัสของวัฒนธรรม” หากไม่ยอมรับรหัสแห่งวัฒนธรรมนั้น เราไม่อาจสลายเส้นแบ่งระหว่างชาวบ้านและปัญญาชนได้เลย
 
วันนี้น้ำที่ อบต.แก้งยังคงไม่ไหล เมื่อกลับจากตั้งเวทีที่บ้านยาง เครื่องบางคนซักแห้ง และหลับใหลด้วยความเหนื่อยล้า วาดหวังว่าพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ ขณะที่กำลังหลับฝันหวานกันอยู่นั้น ราวตีสองสายฝนก็สาดซัดให้เราตื่นจากความฝัน กระหน่ำจนกระทั่งเกือบเก้าโมงเช้า กำลังใจที่หดหายไปเมื่อคืนก็เหลือศูนย์ทันที
 
วันนี้เป็นวันที่คณบดีบอกว่าจะมาร่วมงาน อาจารย์สั่งไว้ว่าให้ไปรับ แม้หลายคนจะฝันสลายเมื่อสายฝนกระหน่ำลง แต่หางเครื่องมีสปิริตสูงกว่าใครตื่นมาแต่งตัวตั้งแต่ตีสี่ คณบดีโทรมาตอนหกโมงเช้า ยืนยันที่จะมาร่วมงานกับเรา ทั้งที่ผู้ใหญ่บางคนคงยกเลิกไปแล้ว อาจารย์ประจำค่ายเรียนอาจารย์คณบดีว่าไม่รู้ว่าจะแสดงได้หรือไม่ ด้วยความเกรงใจอาจารย์เราจึงขอยกเลิกคณบดีแทน พอฝนขาดเม็ด เราก็ตกลงใจที่จะแสดง เพราะคนมาเยอะพอสมควร กว่าจะตั้งเวทีเสร็จก็สิบโมงกว่า น้ำแฉะอยู่หน้าเวที ผู้คนคับคั่ง วันนี้เราได้นักร้องเงาเสียงก๊อต จักรพันธ์ อาบครบุรี ขึ้นเวที เป็นหนุ่มในหมู่บ้าน “วุฒิ” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำสัปดาห์ของรายการชุมทางเสียงทองช่อง 7 และจะออกอากาศในวันพรุ่งนี้ วุฒิสัญจรกับเราจนจบงาน และตามมาเยี่ยมเราถึง ม.อุบล ภายหลังกลับมาจากค่าย และยังโทรหาเราอย่างสม่ำเสมอ สายวันนั้นกำนันดวง วังสาลุน โทรถามอาการถึงหน้าเวทีเมื่อเห็นว่าฝนกระหน่ำอย่างหนักเมื่อคืน เราเพิ่งขี่มอเตอร์ไซด์ไปหากำนันทันทีเมื่อรวบรวมวีดีโอทั้งหมด เมื่อกำนันดูเสร็จ (ในฐานะที่เป็นศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นและครูเพลงของ ป.ฉลาดน้อย และเจ้าของผลงานเพลง มอ.อีแดงของ จินตหรา พูนลาภ) ก็ให้กำลังใจนักศึกษามายกใหญ่
 
เราปิดท้ายรายการที่บ้านยางด้วยการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้าน และพิธีบายสีเหมือนเคย กว่าจะบายสีก็ราวสี่โมงเย็น คณะทำงานต้องรีบเก็บของ เราออกจากบ้านยางเกือบหกโมงเย็นและเดินทางมาที่บ้านกลางที่ห่างกันราวยี่สิบกิโลเมตร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท