Skip to main content
sharethis

 

กองกำลัง DKBA ระหว่างการสวนสนาม (ที่มา: Shah Paung/ The Irrawaddy)

 

ปีนี้ถือเป็นภาวะยุ่งยากของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ร่วมมือกับรัฐบาลพม่า เพราะรัฐบาลพม่ามีแผนให้แต่ละกลุ่มปรับเปลี่ยนเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF) อย่างไรก็ตามกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ที่แยกตัวออกมาจาก KNU อาจถือโอกาสนี้ปรับเปลี่ยนสถานภาพเพื่อขยายขนาดของกองทัพ และถือเส้นทางนี้ไปสู่ความมั่งคั่ง

จากรายงานที่ ‘อิระวดี’ ได้รับมา กองกำลัง DKBA ที่ร่วมการประชุมในเดือนพฤษภาคมว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านกองกำลังไปสู่การเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน มีแผนจะขยายขนาดกำลังพลจาก 6,000 นาย สู่ 9,000 นาย

ในการประชุม ทุน เหล่ง (Tun Hlaing) ผู้บัญชาการ DKBA กล่าวว่าทางกลุ่ม DKBA มีแผนที่จะเกณฑ์ทหารใหม่เข้ามาประจำการอีก 3,000 ราย

ทั้งนี้หาก DKBA สามารถเกณฑ์ทหารได้ 9,000 ราย ก็จะเป็นกองกำลังที่ไม่ใช่ทหารของรัฐบาลพม่า ที่มีกำลังพลมากที่สุดเป็นอันดับสองในพม่า รองจากกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army – UWSA) ซึ่งคาดการว่ามีกำลังพลประจำการ 25,000 นาย มีฐานที่มั่นอยู่ในเขตภาคเหนือและภาคใต้ของรัฐฉาน

ในปี 2538 กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธได้แยกตัวออกมาจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) องค์กรทางการเมืองที่เรียกร้องเอกราชของชาวกะเหรี่ยงมานานนับ 6 ทศวรรษ ซึ่งผู้นำระดับสูงส่วนใหญ่ใน KNU นับถือศาสนาคริสต์ ต่อมากลุ่มกะเหรี่ยงพุทธที่แยกตัวออกมานี้ได้ตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA ขึ้น

ในปี 2538 นั้นเอง กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA ได้เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า และได้นำกำลังทหารพม่าเข้าตีมาเนอปลอว์ (Manerplaw) ฐานที่มั่นสำคัญของกะเหรี่ยง KNU จนแตก

“รัฐบาลพม่าประสบความสำเร็จในการใช้ประเด็นทางศาสนาสร้างความแตกแยกให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพม่า” Larry J Remom นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ซึ่งเขียนรายงานให้กับวารสารทางวิชาการของศูนย์และวิทยาลัยการสงครามพิเศษจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy Special Warfare Center and School) โดยที่ความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการให้รางวัลตอบแทนชิ้นงามแก่ผู้นำชนกลุ่มน้อยที่แปรพักตร์มาเข้ากับรัฐบาลพม่า

ทั้งนี้ พล.ต.เต็ด หน่าย วิน (Thet Naing Win) ผู้บัญชาการกองทัพพม่าภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประชุมกับกองกำลัง DKBA ภายในฐานที่มั่นของกองพลทหารราบเบาที่ 22 ของทหารพม่า ที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา

ในการประชุม ผู้บัญชาการ DKBA ทา ตู่ จ่อ (Thar Htoo Kyaw) กล่าวว่าเพื่อการดำรงอยู่ต่อไป DKBA จะปรับเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF)

จากข้อมูลของทา ตู่ จ่อ ผู้บัญชาการทหารพม่ากล่าวว่าฐานที่มั่นของ DKBA จะถูกปรับให้เป็นกองบัญชาการของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ภายใต้แผนการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว

หลังการเปลี่ยนสถานะ กองกำลังพิทักษ์ชานแดนของ DKBA จะยังคงใช้ธงของ DKBA

ภายใต้แผนเปลี่ยนสถานะดังกล่าว ผู้บัญชาการกองกำลัง DKBA จะได้รับอนุญาตให้คุมกำลังไม่เกิน 22 กองพัน ใน 5 กองพลน้อย และ 1 ฐานบัญชาการ

ทา ตู่ จ่อ กล่าวว่า จากการประชุม DKBA มีแผนที่จะเกณฑ์ชายที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 50 ปี ภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วง DKBA จะรายงานโครงสร้างของกองทัพให้กับผู้บัญชาการทหารพม่าด้วย

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา กองกำลัง DKBA และกองทัพพม่าได้ปฏิบัติการร่วมเพื่อกวาดล้างกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNLA ซึ่งเป็นกำลังทางทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ซึ่งต่อต้านรัฐบาลพม่า

ทำให้ชาวกะเหรี่ยงหลายพันคนต้องหนีภัยการสู้รบมายังประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีชาวกะเหรี่ยงไม่ทราบจำนวนลี้ภัยการสู้รบอยู่ภายในประเทศ หรือ IDPs ด้วย โดยพวกเขาลี้ภัยอยู่ในเขตป่าของรัฐกะเหรี่ยง

นับเป็นเวลา 14 ปีมาแล้ว ที่ กองกำลัง DKBA เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลทหารพม่า และเคยข้ามเข้ามาฝั่งไทยหลายครั้งเพื่อเผาค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงในฝั่งไทย

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง อธิบายว่า DKBA กลายเป็นกองกำลังติดอาวุธที่หารายได้จากการค้ายาเสพย์ติดและลักลอบขนรถยนต์ข้ามชายแดน โดยที่รัฐบาลทหารพม่าไม่เอาผิดอะไร

ไม่ว่ากะเหรี่ยง DKBA หรือ KNU ชนะในสงครามและมีอิทธิพลในพื้นที่นี้ ดินแดนที่พวกเขายึดครองได้จะสร้างมูลค่ามหาศาลจากการค้าไม้ การค้าชายแดน และการเก็บภาษี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net