Skip to main content
sharethis
แล้วกรณี ‘ปราสาทพระวิหาร’ ก็กลับมากระเพื่อมบนหน้าสื่ออีกครั้ง เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการมรดกโลกให้ทบทวนการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา
 
จุดยืนของรัฐบาลไทยต่อความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้สะท้อนออกมาผ่านการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี ว่า ต้องการให้ยูเนสโก (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization- UNESCO) ทราบว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นขัดกับระเบียบปฏิบัติและธรรมนูญของยูเนสโก จึงจะขอให้ทบทวน เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดความสูญเสียแล้ว และยิ่งจะกระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ซึ่งการขึ้นทะเบียนร่วมกันจะดีที่สุด โดยจะให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะผู้แทนไทย เดินทางไปชี้แจงในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 22-30 มิถุนายนนี้ ที่เมืองเซบีย่า ประเทศสเปน ทั้งนี้ เนื้อหาในหนังสือคัดค้านคือเรื่องการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกในการประชุมที่ควิเบกไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้องในประเด็นมาตรา 11 (3) ของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และข้อบัญญัติที่ 103, 104, 108 ของ Operational Guidelines for the Implementation of the World Heritage Conventionซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากความเห็นของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า อยากเห็นพื้นที่สงบ ประชาชน 2 ฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยได้พูดคุยกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถอธิบายกับกัมพูชาได้ จะไม่เกิดการปะทะกันขึ้นอีก
 
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่าความเป็นจริงในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังไม่แน่นักว่ารูปการณ์จะเป็นไปดังที่นายกรัฐมนตรีคาดหวัง
 
ความตึงเครียดตามแนวตะเข็บชายแดนไทย – กัมพูชา ได้ยกระดับขึ้นอย่างมากในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช หลังจากนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารของกัมพูชา ซึ่งต่อมาจึงถูกนำมาเป็นประเด็นทางการเมือง เขาถูกโจมตีอย่างหนักโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยความรู้สึกชาตินิยมในช่วงเดียวกับที่ทางกัมพูชาเองก็กำลังมีการเลือกตั้งใหญ่ซึ่งความรู้สึกชาตินิยมก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการได้มาซึ่งการกุมอำนาจทางการเมืองเช่นกัน
 
ในสถานการณ์ดังกล่าวยูเนสโกถูกดึงเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการตอกย้ำความสำเร็จหรือล้มเหลวทางการเมืองของรัฐบาล และเมื่อผลการประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก ปี 2551 ที่ควิเบก ประเทศแคนาดา ประกาศขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาท แผลเก่าจากความรู้สึกได้/เสียอธิปไตยเหนือดินแดนปราสาทพระวิหารจึงถูกเปิดอีกครั้ง และได้แบ่งคนของ 2 ประเทศออกจากกันอย่างชัดเจน
 
ทั้งนี้ อธิปไตยเหนือดินแดนเขาพระวิหารเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทย – กัมพูชามาตั้งแต่ปี 2501 ต่อมา วันที่ 6 ต.ค. 2502 รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลกขอให้วินิจฉัยให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังหรืออาวุธออกจากบริเวณเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา จนกระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 อย่างไรก็ตาม การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องอาณาเขตทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา และยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังต่อมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ช่วงเวลาแห่งความคลุมเครือที่ผ่านมาทั้ง สองประเทศจัดการบริหารพื้นที่ร่วมกันอย่างอะลุ่มอล่วยทำให้เศรษฐกิจของสองพรมแดนเติบโตขึ้น ในขณะเดียวกันผู้คนที่ข้ามฝั่งไปมาตามพรมแดนประเทศยังเป็นทั้งเครือญาติทางสายเลือดและทางวัฒนธรรม แต่รูปการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อการเป็นมรดกโลกเฉพาะจุดของพระวิหารแฝงนัยยะของการตัดสินการเป็นเจ้าของดินแดนบริเวณนั้นในขณะที่ปัญหาเส้นแดนยังตกลงกันไม่ได้ สถานการณ์จึงพัฒนาเข้าสู่ระดับการเผชิญหน้าอย่างรวดเร็ว มีการปะทะกันหลายครั้งทำให้เกิดความตึงเครียด ความหวาดระแวงและหวาดกลัว เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟูกลับทรุดลงอย่างน่าวิตก และที่น่าสลดใจยิ่งไปกว่านั้นคือเกิดการสูญเสียชีวิตไปแล้ว
 
ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าในการประชุมสมัยสามัญของคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังจะมีขึ้นอีกครั้งที่เมืองเซบีย่า ประเทศสเปน ครั้งนี้จะมีการทบทวนการตัดสินใจในกรณีปราสาทพระวิหารใหม่หรือไม่ เพราะคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆระหว่างไทย - กัมพูชา เป็นผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจภายใต้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของยูเนสโกและที่สำคัญคือยังมีข้อน่ากังขาอยู่ไม่น้อยถึงความรีบเร่งการพิจารณา
 
แน่นอนว่าทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเห็นตรงกันในเรื่องความเหมาะสมอย่างยิ่งของปราสาทพระวิหารในการเป็นมรดกโลก แต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทนั้นยังเป็นคำถามที่ค้างคาในใจนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี เพราะมันสะท้อนภาพลักษณ์อันความแหว่งวิ่นของประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ความเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารอาจถูกลดทอนเหลือเพียงความเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความวิจิตรงดงามทางเชิงช่าง แต่มันไม่อาจเชื่อมร้อยเข้ากับบริบทอื่นๆ ในพื้นที่ได้เลย
 
ในการบรรยายทางวิชาการของ รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2551 โครงการสนทนาวันศุกร์ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้ได้เห็นการสูญเสียความหมายเหล่านั้น เขายังได้สะท้อนสภาพทางการเมืองของฝ่ายไทยก่อนการพิจารณาการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารรวมถึงประเด็นสำคัญทางวิชาการที่ทำให้มองเห็นบริบทที่เชื่อมโยงกันระหว่างคน พื้นที่ เวลา และประวัติศาสตร์ แต่ทั้งยูเนสโกและรัฐบาลไทยเองกลับไม่ใส่ใจในข้อมูลนี้มากนัก
 
รศ.ดร.ศักดิ์ชัย ได้ทำการสำรวจทางโบราณคดีหลังการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ไครซ์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ โดยกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มอบหมายให้ทำข้อมูลเพื่อใช้เป็นข้อแย้งตามเงื่อนไขที่ต้องการให้กัมพูชาเจรจากับไทยเรื่องความทับซ้อนในพื้นที่เขาพระวิหารเพราะทางกัมพูชาได้ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ทางกัมพูชาต้องการหลักฐานว่าไทยรับรองต่อการร้องขอดังกล่าว เขากล่าวว่าเมื่อการสำรวจเสร็จสิ้นข้อมูลนี้ไม่มีการเผยแพร่เพราะติดระเบียบราชการ แต่ฝ่ายวิชาการได้นำเสนอข้อมูลนี้ต่อทางกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แล้วและได้รับการยืนยันจากทางกระทรวงว่าเป็นข้อมูลที่ดี แต่ไม่ต้องรีบนำเสนอ รอให้ผ่านการประชุมมรดกโลกที่ ควิเบก แคนาดา ไปแล้วจึงค่อยนำเสนอ และอีก 2 ปี จึงค่อยนำข้อมูลนี้มาใช้
 
ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจสายเกินไปแล้ว...
 
หลังผ่านการประชุมที่ควิเบก ข้อมูลดังกล่าวจึงได้ออกสู่สาธารณะ และให้เห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าแท้จริงแล้วในกระบวนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะปราสาทพระวิหารครั้งนั้น ICOMOS สากล (องค์กรที่ปรึกษาทางวิชาการของยูเนสโก) อาจทำการเบี่ยงประเด็นทางวิชาการและใช้คำที่ไม่เป็นกลางที่เป็นประโยชน์แก่ทางกัมพูชา
 
รศ.ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หลักฐานสำคัญที่กัมพูชาใช้ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คือการระบุว่ามีชุมชนดั้งเดิมในเขตประเทศกัมพูชาเคยใช้ปราสาทพระวิหารเปรียบเสมือนศูนย์กลางจักรวาล (แบบโบราณ) แต่เมื่อวิเคราะห์จากหลักฐานที่พบในชุมชนที่กัมพูชากล่าวอ้างแล้ว พบว่า ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนในสมัยบายน (มีอายุในพุทธศตวรรษที่ 18 นับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน) ในขณะที่ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นก่อนหน้านั้น คือมีอายุในสมัยปาปวน (ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือก่อนหน้านั้นประมาณ 200 ปี) และที่สำคัญปราสาทพระวิหารเป็นศานสถานที่สร้างในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ไม่ใช่พุทธศาสนา นิกายมหายาน
 
นอกจากนี้ หลักฐานด้านจารึกยังระบุว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้มาปกครองบริเวณนี้ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนผิวดำที่เคยก่อกบฎบ่อยๆ เป็นดินแดนนอกเขตพระนครจึงได้สร้างศาสนสถานไว้เพื่อสร้างความภักดีแต่ปกครองได้เพียงรุ่นเดียว
 
“หลักฐานที่พบ (ที่ปราสาทพระวิหาร) ล้วนเกี่ยวข้องกับไศวนิกาย เป็นการสร้างศาสนสถานเพื่ออ้างอิงถึงเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสที่อยู่ของพระศิวะที่สัมพันธ์กับศาสนาฮินดู” เขากล่าว
 
รศ.ดร.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า ในรายงานของ ICOMOS สากล (ที่ยื่นให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณา) ระบุว่า ชุมชนในกัมพูชา (สมัยบายน) ใช้เขาพระวิหารเป็นศูนย์กลางจักรวาลและใช้สระน้ำจากเขาพระวิหาร ถ้ามองจากชุมชนนี้ไปทางเขาพระวิหารจะมองเห็นเป็นห้ายอดเหมือนเขาพระสุเมรุ แต่แท้จริงแล้วโบราณสถานที่พบบริเวณชุมชนที่อ้างถึงนอกจากสร้างในสมัยบายนซึ่งสร้างในสมัยหลังแล้วยังพบเพียงอโรคยาศาล (ศาลบนบานรักษาโรคตามจุดห่างไกลในสมัยบายน) ซึ่งสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้อาจจะเป็นป่ามาก่อน
 
“หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขาพระวิหารกับชุมชนโบราณ จากการสำรวจพบศิวลึงค์บนลานหินและมีลำห้วยเล็กๆ ที่เส้นแบ่งดินแดนชั่วคราวในปัจจุบัน เมื่อมองจากศิวลึงค์ไปจะเห็นยอดปราสาท ในสมัยโบราณจะมีสายน้ำที่ไหลจากปราสาทมาผ่านศิวลึงค์ เป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์เหมือนที่พนมกุเลนต้นน้ำเสียมเรียบ (กบาลสเปรียญ มีศิวลึงค์เล็กๆ มากมายในลำธาร) มีภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์มากมายในสายน้ำ เป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่พิธีกรรมสรงน้ำตามธรรมชาติแล้วและไหลไปยังเมืองพระนคร
 
ส่วนน้ำจากเขาพระวิหารนั้นจะไหลไปลงที่สระตราวซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับศาสนสถานและชุมชนที่อยู่รอบๆ หรือชุมชนที่อยู่เบื้องล่าง (พบหลักฐานบนพื้นที่ราบฝั่งไทยมีชุมชน) สายน้ำที่ผ่านศิวลึงค์คือพิธีกรรมทางศาสนาตามธรรมชาติ สายน้ำคือตัวที่กำหนดได้ว่าผู้ใช้สายน้ำศักดิ์สิทธิ์คือชุมชนที่สายน้ำไปถึง
 
รศ.ดร.ศักดิ์ชัย ยังชี้ให้เห็นว่า จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศทำให้เห็นสายน้ำจากสระตราวไหลไปรวมกันที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันเรียกโนนหนองกะเจาและบริเวณใกล้เคียงซึ่งอยู่ในฝั่งไทย และจากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่ามีชุมชนอยู่รอบๆ บริเวณนั้น มีหลักฐานที่พบคือเครื่องถ้วยเป็นแบบเขมรที่มีอายุร่วมสมัยกับปราสาทพระวิหาร
 
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับบันไดทางขึ้นซึ่งอยู่ด้านเหนือนั้น การวางตัวของสันเขาดูสอดคล้องกับชุมชนที่อยู่เบื้องล่างที่ต้องเดินทางขึ้นไปทำพิธีกรรมจากทางด้านหลักนี้ เนื่องจากแนวคิดการสร้างศาสนสถานบนยอดเขาทางเดินจะมีเสานางเรียง และยกระดับเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีโคปุระ มีสะพานนาค แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดในการก่อสร้างว่าเป็นสะพานสายรุ้งที่ทอดผ่านจากโลกมนุษย์ไปสู่สวรรค์หรือยอดเขาพระสุเมรุ ดังนั้น ทางขึ้นด้านหน้าจึงเป็นทางหลักที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เส้นทางของชุมชน
 
“ในจารึกกล่าวถึงชุมชนที่อยู่ที่ราบตามเชิงเขา ที่ว่ามีเส้นทางขึ้นทางด้านอื่นๆ เช่น ทิศตะวันออก (ขึ้นมาจากเขมรต่ำ) ก็อาจเป็นไปได้ คงใช้สำหรับพวกพราหมณ์หรือข้าทาสที่ขนของสำหรับทำนุบำรุงศาสนสถานหรือใช้สำหรับทำพิธีกรรม หรืออาจจะเป็นเส้นทางที่ตัดใหม่ขึ้นในสมัยหลังสำหรับผู้ขึ้นมาทำพิธีกรรม แต่เส้นทางที่สำคัญคือทางขึ้นด้านหน้าที่ถูกต้องตามประเพณีในกรณีที่มีพิธีกรรมทางศาสนา” รศ.ดร.ศักดิ์ชัยกล่าว
 
จากนั้นเขายังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเฉพาะส่วนตัวปราสาทจะทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญคือ ‘คน’ ที่เป็น ‘ผู้สร้าง’ และ ‘ผู้ใช้’ ศาสนสถานนี้ และทำให้ไม่ครบตามหลักเกณฑ์การเป็นมรดกโลกของยูเนสโกเรื่องความเป็นของแท้ดั้งเดิม อีกทั้งการขึ้นทะเบียนเฉพาะปราสาทเท่ากับตัดขาดระหว่างศาสนสถานกับผู้ใช้ที่อยู่ข้างล่างออก เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นและไม่ใช้ข้อมูลวิชาการ
 
รศ.ดร.ศักดิ์ชัย เห็นว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกร่วมกันอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการมองพื้นที่ทั้งบริบท (แม้เป้าหมายจะลงท้ายแบบเดียวกับแนวทางของนายกรัฐมนตรี แต่เงื่อนไขต่างกัน)
 
ถึงวันนี้ข้อมูลที่ รศ.ดร.ศักดิ์ชัย เคยนำเสนอยังไม่ถูกให้น้ำหนักมากนัก ซึ่งการมองข้ามบริบทอื่นๆ โดยเน้นไปที่เรื่องดินแดนและความมั่นคงอย่างเดียวเคยเป็นบทเรียนราคาแพงที่เกิดขึ้นหลายครั้งของสังคมไทย และไม่แตกต่างอะไรนักกับกรณีปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งกว่าจะเริ่มหันมามองบริบทของ คน ความเชื่อ พื้นที่ และประวัติศาสตร์ สถานการณ์ก็ดูจะบานปลายไปเรื่อยๆ
 
การนิ่งเฉยต่อองค์ความรู้และยอมรับการบิดเบือนทางวิชาการอาจทำให้เกิดความสับสนและกลายเป็นความขัดแย้งใหญ่โตของคนรุ่นหลังเพราะเขาอาจถูกแต่งเติมภาพในอดีตภายใต้อารมณ์ความรู้สึกของความเป็นชาตินิยมที่หล่อเลี้ยงด้วยความเชื่อมากกว่าเหตุผล คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่งหากองค์กรสากลพูดเรื่องคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติอย่างยูเนสโกเองก็ดูจะเหมือนเมินเฉยและไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาแบบนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่กรณีพิพาทของไทย – กัมพูชา ที่รุนแรงขึ้นได้สะท้อนผลงานของประวัติศาสตร์ชาตินิยมออกมาแล้ว ปรากฏการณ์แบบนี้ยังคงเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีกเสมอหากประวัติศาสตร์ยังคงถูกแต่งแต้มและยอมรับอย่างสากล ประวัติศาสตร์จะกลายเป็นเครื่องมือของผู้แสวงหาอำนาจต่อไปเช่นเดิมซึ่งนั่นคงไม่ใช่คุณค่าสำหรับมวลมนุษยชาติที่แท้จริงอันเป็นเป้าหมายขององค์กรอย่างยูเนสโกเลย
 
ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังจะมีขึ้นอีกครั้งที่ประเทศสเปนในระยะเวลาอันใกล้นี้ นอกจากรัฐบาลไทยจะยื่นคัดค้านการเป็นมรดกโลกด้วยเหตุผลของการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศแล้ว อาจยังต้องทำหน้าที่ตรวจสอบทางวิชาการในกระบวนการพิจารณาการเป็นมรดกโลกอย่างจริงจังด้วย เพราะนั่นอาจเป็นเข็มทิศสำคัญที่นำไปสู่ทางออกของกรณีปราสาทพระวิหาร และไทย – กัมพูชา ว่าควรจะจบอย่างลงตัวได้อย่างไร
 
 

 

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
มาตรา 11(3) การพิจารณาบรรจุทรัพย์สมบัติหรือทรัพย์สินที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทาง ธรรมชาติ ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก จะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องในกรณีที่ทรัพย์สมบัติหรือ ทรัพย์สินที่จะพิจารณาบรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อมรดกโลก มีที่ตั้งอยู่ ในอาณาเขต หรืออำนาจอธิปไตยหรือเขตอำนาจศาลมากกว่าหนึ่งรัฐ จะต้องไม่เป็นเหตุให้เกิดการโต้แย้งจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

 


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net