Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากเหตุการณ์คนร้ายสังหารพระสุพจน์ สุวโจ พระนักกิจกรรมในกลุ่มเสขิยธรรม กลุ่มพุทธทาสศึกษา และประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม พื้นที่กว่า 1,500 ไร่ ใน ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2548 ซึ่งมีผู้พบพระสุพจน์เสียชีวิตบริเวณพงหญ้าริมทางเดิน ในเขตสถานปฏิบัติธรรม เบื้องต้นพบว่าพระสุพจน์ถูกทำร้ายด้วยของมีคมไม่ทราบชนิดและขนาด จากคนร้ายไม่ทราบจำนวน มีบาดแผลฉกรรจ์กว่า 20 แผล ทั้งที่ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ มือ แขน และลำตัว กระทั่งถึงแก่มรณภาพ ถึงปัจจุบันเวลาผ่านไป 4 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถนำคนร้ายมาดำเนินคดีได้

วานนี้ (17 มิ.ย.52) เครือข่ายกัลยาณมิตรพระสุพจน์ฯ ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอัฐิและกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 16.30 น. โดยกิจกรรมในช่วงเช้ามีการทำพิธีบำเพ็ญกุศลอัฐิ ถวายผ้าบังสุกุล และถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ 20 รูป

ช่วงบ่าย พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ได้กล่าวในหัวข้อ “สรุปความไม่คืบหน้าคดีสังหาร” ว่า ถึงบัดนี้ผู้ที่ทำร้ายพระสุพจน์จนถึงแก่มรณภาพยังไม่ถูกจับกุม ไม่มีการดำเนินคดี ไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน ไม่ต้องพูดถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง กล่าวอย่างตรงไปตรงมาทั้งญาติและผู้เกี่ยวข้องที่เคยร่วมงานกับพระสุพจน์ ถึงวันนี้ทุกฝ่ายไม่ได้คาดหวังที่จะให้ตัวผู้บงการถูกนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และไม่ได้คาดหวังให้กระบวนการยุติธรรมในสังคมจะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น

สิ่งที่พยายามทำอยู่ในขณะนี้และในอนาคต คือ ความพยายามที่จะสรุปบทเรียน จัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อที่สังคมจะได้องค์ความรู้เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นเดียวกันกับคดีของพระสุพจน์เกิดขึ้น ที่ผ่านมาคณะญาติ ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่ศรัทธาในผลงานของพระสุพจน์รวบรวมเงินได้ราว 250,000 บาท ขณะนี้กำลังเตรียมการที่จะตั้ง “มูลนิธิพระสุพจน์ สุวโจ” ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมข้อบังคับวิธีปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายช่วยพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรที่ตั้งขึ้นใหม่สามารถรองรับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับการแก้ปัญหาสังคมเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของพระสุพจน์ต่อไป

ส่วนการกระตุ้นให้ผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือว่ารัฐบาล ให้เหลียวมองมายังเรื่องนี้ เพราะนอกเหนือจากคดีพระสุพจน์ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร คดีเจริญ วัดอักษร ยังมีคดีด้านมนุษยชนอีกมากมาย มีความสูญเสียอีกหลายต่อหลายราย ซึ่งต้องการบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่าเมื่อเกิดความสูญเสียต่อบุคคลที่ทำประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรวางบทบาท ท่าที หรือมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
 
“เราคงจะต้องสรุปบทเรียนกันบ้างว่าจะต้องเกิดความสูญเสียอย่างนี้อีกเท่าไร แค่ไหน เราจึงจะสามารถทำให้สังคมนี้อยู่เย็นเป็นสุขโดยคำนึงถึงประโยชน์ของมหาชน ของผู้ด้อยโอกาส ของส่วนรวมได้” พระกิตติศักดิ์กล่าว

ด้าน พ.อ.ปิยวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวในเวทีเสวนา  “4 ปีคดีพระสุพจน์: บทพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมและสังคมไทย” ว่า ตั้งแต่รับผิดชอบดูแลคดีสังหารพระสุพจน์ ประเด็นต่างๆ ที่เคยมีก่อนหน้านี้ อาทิ การเป็นพื้นที่ลักลอบค้ายาเสพติดมาก่อน ประเด็นทะเละวิวาท ได้ตัดทิ้งไปเกือบหมดแล้ว มีเพียงประเด็นการบุกรุกพื้นที่สวนเมตตาธรรมที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งยังมีทั้งที่แจ้งความและอยู่ในชั้นศาล และประเด็นผู้มีอิทธิพล การเมืองท้องถิ่น ในซึ่งเกี่ยวโยงกับการวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงของรัฐบาลในสมัยนั้น

ทั้งนี้ ดีเอสไอมั่นใจว่า พยานหลักฐานที่มีขณะนี้สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า บุคคล 2 กลุ่มนี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและน่าจะเป็นประเด็นมูลเหตุที่สำคัญในการฆาตกรรมพระสุพจน์ ในส่วนพนักงานสอบสวนเห็นตรงกันว่ากลุ่มผู้เกี่ยวข้องมีใครบ้าง แต่ต้องมีการรวบรวบพยานหลักฐานเพิ่ม ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากห่วงความปลอดภัยของพยานหลักฐาน

พ.อ.ปิยวัฒก์ กล่าวด้วยว่า การวางแผนคดีฆาตกรรมดังกล่าว บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีความรู้ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานจึงพบว่ามีความพยายามในการทำลายหลักฐานในที่เกิดเหตุ เช่น มีดที่ใช้ก่อเหตุ บุหรี่ก้นกรอง ในส่วนคนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำชัดเจน และเชื่อว่ามีผู้เกี่ยวข้องหลายราย หลังจากลงไปสืบพบผู้ที่คาดว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องบางคนได้ถูกตัดตอนไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่า หากผลการสืบสวนพบว่า มีหลักฐานที่จะเอาผิดกับผู้ใดที่เข้าไปเกี่ยวข้องได้ จะดำเนินการทั้งหมดไม่มีการละเว้นอย่างเด็ดขาด

ในประเด็นชู้สาว พ.อ.ปิยวัฒก์กล่าวว่า ฮาร์ดดิส ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของพระสุพจน์ หลังส่งให้ไอซีทีตรวจสอบพบว่ามีภาพลามกอยู่ แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ข้อมูลถูกนำเข้าเครื่องมากในระหว่างวันที่ 9-16 มิ.ย. ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตค่อนข้างต่ำ การดาวโหลดรูปภาพแต่ละรูปต้องใช้เวลามาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบเช่นกันว่าภาพดังกล่าวเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์ได้อย่างไร

ส่วนนางสุนี ไชยรส รักษาการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวแสดงความเห็นว่า ปัญหาเรื่องการแย่งชิงฐานทรัพยากร ผืนดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ มักเป็นประเด็นขัดแย้งมาก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตลอด เพราะในส่วนของนโยบายไม่ดำเนินการ แต่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องสู้โดยลำพัง ดังนั้นสิ่งที่ต้องสรุปบทเรียนอดีต เพื่อไม่ให้นักต่อสู้เหล่านี้ต้องสูญเสีย คือเมื่อเกิดความขัดแย้ง มีการร้องเรียน ทุกฝ่ายต้องไปช่วยเข้าไปสะสางก่อนเกิดเหตุรุนแรง

รักษาการคณะกรรมการสิทธิฯ ยังได้กล่าวถึงการคุ้มครองพยานว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรมีการขับเคลื่อนไปพร้อมกับกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริง นอกจากนี้ในส่วนของกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนกันต่อไป

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ว่าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าโดยส่วนตัวมองว่าคดีพระสุพจน์ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะการสรุปว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองระดับท้องถิ่นรวมทั้งการเมืองระดับชาตินั้น ได้มีการสรุปตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ สังคมไทยมีเรื่องที่ต้องมองอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สังคมไทยไม่ได้ยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการมีชีวิตอยู่ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชุมชน 2.ความล้มเหลวของระบบนิติรัฐ รัฐล้มเหลวในการคุ้มครองผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องประโยชน์สาธารณะ 3.เชิงนโยบาย รัฐบาลมีอำนาจแต่ไม่สามารถใช้อำนาจในการปราบปรามกลุ่มอิทธิพลได้ เป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ทำให้ต้องไว้อาลัยกันอยู่เรื่อยๆ

ส่วนทางออก 1.เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลหรือนักการเมืองจะสามารถมาต่อสู้ให้ได้ประชาชนต้องรวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของทุกหน่วยงานของรัฐ สร้างเครือข่าย และรัฐต้องมีนโยบายปราบปรามอิทธิพลท้องถิ่นและนักการเมืองผู้มีอิทธิพลระดับชาติ 2.การต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องทำงานในเชิงรุก เข้าไปเรียกร้องให้มีมาตรการป้องกัน มีการปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง

นายแสงชัย รัตนเสรีวงศ์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน  กล่าวว่าปัญหาของคดีนี้ไม่ได้อยู่ที่การจับผู้ร้ายได้หรือไม่ แต่ปัญหาคือทำไมรัฐจึงปล่อยให้เกิดกระบวนการใส่ร้ายป้ายสี ทำลายหลักฐาน หน่วยงานรัฐละเลย จงใจปกปิด บิดเบือนหลักฐานพยาน และผู้กระทำความผิดยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในหน้าที่ได้ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สังคมเองจะอยู่ไม่ได้ ดังนั้นคนในสังคมต้องช่วยกันออกเสียงกระตุ้นจนกว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง และอย่าละเลยเสียงของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเรา

“รู้สึกสูญเสียยิ่งกว่าการสูญเสียตัวบุคคล คือสูญเสียความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม กระบวนการของรัฐ” นายแสงชัยกล่าว

นอกจากนี้นางพิกุล พรหมจันทร์ ผู้เรียกร้องความเป็นธรรมคดีฆ่าแขวนคอ 21 ศพ ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้กล่าวถึงกรณีการข่มขู่คุกคามพยานในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายในงานยังมีผู้ได้รับความสูญเสียจากการต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะเข้าร่วมด้วย อาทิ นางอังคณา นีละไพจิตร นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งศาลมีคำสั่งให้สาบสูญ ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา และนางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ต.บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต และในวันที่  21 มิ.ย.นี้จะถึงกำหนดครบรอบ 5 ปี การจากไป

 

 

 
สรุปประวัติ พระสุพจน์ สุวโจ (ด้วงประเสริฐ)
 
 
พระสุพจน์ สุวโจ เกิด 24 มิถุนายน พ.ศ. 2509 จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่งแล้วได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ในปี พ.ศ.2535 (อายุ 26 ปี)
 
อุปนิสัยโดยทั่วไปของท่าน เป็นคนโอบอ้อมอารี เป็นมิตรกับผู้อื่นได้ง่าย และด้วยพื้นฐานของความเป็นสัตวแพทย์ที่รักและเมตตาสัตว์ ท่านจึงมักจะคอยช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่เสมอ ท่านสุพจน์เป็นคนมีอัธยาศัยดี เป็นที่รักของคนรอบข้าง และเป็นคนประนีประนอม ไม่ชอบมีเรื่องขัดแย้งกับใคร ท่านมักจะยินดีให้ความช่วยเหลือแก่คนที่เดือดร้อนเสมอ ทั้งในด้านของวัตถุและการให้คำปรึกษา
 
หลังจากบวชแล้วได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมที่ จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้มีผู้ชักชวนไปที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในระยะต่อมา เดิมท่านไม่ได้คิดที่จะพำนักอยู่ที่สวนโมกข์เป็นการถาวร คิดเพียงแต่จะไปศึกษาชั่วคราวเท่านั้น แต่เมื่อได้เข้าร่วมการอบรมอานาปานสติ ประกอบกับบรรยากาศอันร่มรื่นและความเป็นกัลยาณมิตรในชุมชนสวนโมกข์ ทำให้ท่านตัดสินใจที่อยู่ศึกษาและปฏิบัติธรรมต่อมาเรื่อย ๆ ทำให้ท่านได้มีโอกาสช่วยงานของวัดในการอบรมอานาปานสติและการจัดค่ายเยาวชน อีกด้วย ทั้งในระหว่างนั้นทางสวนโมกข์ได้มีคณะทำงานเกี่ยวกับห้องสมุดธรรมะ (โมกขพลบรรณาลัย) โดยมีอุบาสิการัญจวน อินทรกำแหงเป็นผู้วางระบบการจัดหนังสือ ท่านจึงมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ และดูแลงานของห้องสมุดดังกล่าวอีกทางหนึ่ง
 
ประจวบเหมาะกับทางสวนโมกข์ได้มีการขยายงานการฝึกอบรมไปยังกลุ่มเยาวชนและนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรม พระสุพจน์จึงได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมร่วมกับพระรูปอื่น ๆ ในวัดจำนวนหนึ่ง กระทั่งได้ริเริ่มให้มีการประยุกต์วิธีการสอนธรรมะให้เป็นที่น่าสนใจสำหรับ กลุ่มเยาวชนและนักศึกษามากขึ้น
 
เนื่อง จากพระสุพจน์เป็นผู้ที่มีความสนใจและมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นพิเศษ ท่านจึงได้มีส่วนช่วยงานด้านเอกสารต่าง ๆ ของวัด ร่วมกับพระเลขานุการของท่านอาจารย์พุทธทาส และได้รับผิดขอบงานด้านนี้อย่างเต็มตัวมากยิ่งขึ้น ในระยะต่อมา
 
หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสมรณภาพลงในปี พ.ศ.2536 ได้มีการปรึกษาหารือกันว่าจะมีวิธีการใดที่จะสืบสานปณิธานของท่านอาจารย์ พุทธทาสให้ยั่งยืนสืบไป และได้มีการเสนอว่าน่าจะมีจัดตั้งกลุ่มพระหนุ่มที่ศึกษาผลงานของท่านอาจารย์ พุทธทาสอย่างเป็นระบบและนำไปประยุกต์ใช้กับสังคมอย่างสมสมัย เพื่อให้สวนโมกข์กลับมามีบทบาทเป็นผู้นำความคิดทางสังคมอีกครั้ง โดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และคณะศิษย์ของสวนโมกข์จำนวนหนึ่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งพระสุพจน์ก็ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวด้วย
 
ด้วยแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาส ทำให้พระสุพจน์และเพื่อน ๆ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการฝึกอบรมและการทำงานเป็นกลุ่มในที่ต่าง ๆ กระทั่งเห็นพ้องกันว่าวิธีการอบรมแบบมีส่วนร่วมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากก ว่าวิธีการบรรยายด้วยคำพูดอย่างเดียว ท่านจึงได้ริเริ่มตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษาขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเอาปณิธาน 3 ประการของท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นแนวทาง และได้นำเอาวิธีการอบรมแบบมีส่วนร่วมนั้นเป็นหลักในการจัดการอบรมที่สวน โมกข์ ซึ่งได้รับผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมการอบรมอย่างเป็นที่น่าพอใจ
 
เมื่อตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษาแล้ว พระสุพจน์ได้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำเอกสาร และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมประยุกต์ธรรมะกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม โครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ คือ โครงการธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการร่วมเดินรณรงค์เพื่อให้ผู้คนในชุมชนรอบทะเลสาบสงขลาหันมาให้ความ สนใจกับระบบนิเวศน์ของทะเลสาบที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ โครงการดังกล่าวนี้ได้รับเสียงต้อนรับที่ดียิ่ง และมีการจัดต่อเนื่องกันทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 – 2548 จนกระทั่งในท้ายที่สุด รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการศึกษาฟื้นฟูและแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลาอย่างเป็น ระบบ
 
ในช่วงเดียวกันนี้เอง ได้เกิดแนวคิดที่จะรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” ซึ่งเป็นสื่อในการเผยแพร่แนวคิดของท่านอาจารย์พุทธทาสมาแต่เริ่มต้น โดยพยายามที่จะปรับปรุงให้สามารถสื่อกับคนร่วมสมัยได้มากขึ้น รวมทั้งจัดพิมพ์ธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสในรูปลักษณะที่น่าดึงดูดใจมาก ขึ้น ท่านสุพจน์ได้ใช้เวลาในช่วงนี้ศึกษาและพัฒนาความสามารถในการจัดอาร์ตเวิร์ค หรือการจัดรูปเล่มหนังสือต่าง ๆ จนกระทั่งเกิดความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นพิเศษ ผลงานหนังสือที่สำคัญในช่วงนี้คือ ผลงานหนังสือชุด” ปณิธาน: เพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส” จำนวน 6 เล่ม
 
นอกจากนี้แล้วท่านสุพจน์และกลุ่มพุทธทาสศึกษาได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการที่ จะทำให้คนเข้าถึงหัวใจของศาสนา วิธีการฝึกอบรม ความร่วมมือระหว่างศาสนา และการปรึกษาหารือกับฝ่ายต่าง ๆ ในสวนโมกข์เพื่อให้แนวคิดของท่านอาจารย์ยังคงความหมายต่อสังคมร่วมสมัย และได้มีการประสานงานกับกลุ่มต่าง ๆ ภายนอกสวนโมกข์เพื่อจัดกิจกรรมที่เน้นประเด็นทางสังคมมากขึ้น
 
ด้วยแนวคิดที่ก้าวหน้าและแปลกใหม่นี้เอง ทำให้การผลักดันให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่อย่างสวนโมกข์เป็นไปได้ยากและต้องประสบกับข้อขัดข้อง ต่าง ๆ ท่านสุพจน์และกลุ่มพุทธทาสศึกษาจึงได้เห็นพ้องกันว่าควรจะแยกออกมาเป็นอิสระ เพื่อที่จะทำงานอย่างได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น
 
ในราวปลาย พ.ศ.2541 ได้มีผู้เสนอที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยทางเลือกขึ้นในบริเวณสวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์จึงได้นิมนต์ท่านสุพจน์และเพื่อน ๆ ในกลุ่มพุทธทาสศึกษาไปดูสถานที่ และพบว่าบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมในการทำงานตามปณิธานของกลุ่ม จึงได้ตัดสินใจเข้าไปจำพรรษาในสวนเมตตาธรรม โดยได้รับอนุญาตจากพระอาจารย์สิงห์ทน นราสโภ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่อย่างถูกต้อง น่าเสียดายที่ต่อมาโครงการดังกล่าวได้ล้มเลิกไป แม้ว่าจะได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมารองรับกิจกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมะและสนับสนุนกิจกรรม ทางด้านชุมชน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ไว้แล้วก็ตาม
 
มูลนิธิดังกล่าวใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์” ซึ่งระยะต่อมาพระสุพจน์ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานของมูลนิธิอีกด้วย
 
ระหว่าง ที่พำนักอยู่ที่สวนเมตตาธรรมนี้ ท่านสุพจน์ได้ใช้ความสามารถเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อสื่อสารหลักธรรม ผ่านอินเตอร์เน็ต ท่านได้ทดลองจัดทำเว็บไซต์ธรรมะขึ้น ต่อมาได้พัฒนาให้เกิดเว็บไซต์ของกลุ่มพุทธทาสศึกษา โดยมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
 
ในขณะเดียวกัน ท่านสุพจน์ก็ยังคงรับหน้าที่ในการจัดรูปเล่มหนังสือ ตลอดทั้งให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์กับองค์กร ต่าง ๆ ที่ทำงานทางด้านสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะองค์กรในเครือข่ายของมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และมูลนิธิโกมลคีมทอง ผลงานสำคัญในระยะนี้คือ การเป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของจดหมายข่าวเสขิยธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2542 – 2548 และการจัดรูปเล่มหนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชุดธรรมทัศน์ ชุดบางแง่มุม หนังสือในชุดฉลาดทำบุญ เอกสารเผยแพร่ของกลุ่มเสขิยธรรม และหนังสือธรรมะอื่น ๆ จำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 เล่ม
 
000

ผลงานในระหว่างที่อยู่สวนโมกข์
 
- ช่วยงานด้านเอกสารต่าง ๆ และงานบัญชีของวัด โดยรับผิดชอบงานด้านนี้อย่างเต็มตัว ในฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส (แต่งตั้งเป็นการภายใน) ในระยะเวลาต่อมา
- รับผิดชอบและดูแลงานห้องสมุดธรรมะของสวนโมกข์ (โมกขพลบรรณาลัย)
- เป็นวิทยากรในการฝึกอบรมธรรมะให้กับกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาจากสถาบันการ ศึกษาต่างๆ ที่สนใจเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมในสวนโมกข์
- ช่วยงานของวัดในการอบรมอานาปานสติและการจัดค่ายเยาวชน
- ริเริ่มและพัฒนาการฝึกอบรมในสวนโมกข์โดยใช้วิธีการอบรมแบบมีส่วนร่วม
- ร่วมจัดตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษา เพื่อศึกษาผลงานของท่านอาจารย์พุทธทาสอย่างเป็นระบบ
- จัดทำเอกสาร และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมประยุกต์ธรรมะเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม
- ร่วมเตรียมการและจัดกิจกรรมในโครงการธรรมยาตราเพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการเดินรณรงค์ให้ชุมชนหันมาสนใจทะเลสาบสงขลาที่กำลังอยู่ในภาวะ วิกฤติ โดยโครงการนี้ได้จัดอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 – 2548
- ร่วมรื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” เพื่อสื่อสารธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสกับคนร่วมสมัยให้มากขึ้น
- ออกแบบและจัดรูปเล่มหนังสือธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสให้น่าดึงดูดใจผู้ อ่านมากขึ้น โดยผลงานจัดรูปเล่มหนังสือที่สำคัญในช่วงนี้คือ ผลงานชุด “ปณิธาน : เพื่อสืบสานปณิธานพุทธทาส” จำนวน 12 เล่ม
- ร่วมจัดกิจกรรมที่เน้นประเด็นทางสังคม โดยประสานงานกับกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในและนอกสวนโมกข์
 
000

ผลงานหลังออกจากสวนโมกข์และจัดตั้งกลุ่มพุทธทาสศึกษา
 
- เป็นรองประธานของมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตตามหลักธรรมะและสนับสนุนกิจกรรม ทางด้านชุมชน การศึกษาและสิ่งแวดล้อม
- ทดลองจัดทำเว็บไซต์ธรรมะ “สมาคมคนน่ารัก” (www.khonnarak.com) เพื่อสื่อสารหลักธรรมอย่างเรียบง่ายและงดงามผ่านอินเตอร์เน็ต
- จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์พุทธทาสศึกษา (www.buddhadasa.org) ซึ่งมีผู้เข้ามาใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก
- จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์กลุ่มเสขิยธรรม (www.skyd.org) ซึ่งเป็นเครือข่ายของพระสงฆ์และแม่ชีที่ทำงานด้านประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม
- จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์ www.kruamas.org และล่าสุด กำลังเตรียมการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรณรงค์ให้วัดและพระปลอดบุหรี่ ชื่อเว็บไซต์ โครงการเสริมสร้างภูมิชีวิตพิชิตบุหรี่ในเพศบรรพชิต (www.nosmoke.in.th)
- ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์กับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานทางด้านสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ดังเช่น องค์กรในเครือข่ายของมูลนิธิเสฐียรโกเศศนาคะประทีป มูลนิธิโกมลคีมทอง เครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม
- เป็นบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของจดหมายข่าวเสขิยธรรมรายสามเดือนตั้งแต่ พ.ศ. 2542 – 2548
- จัดรูปเล่มหนังสือธรรมะต่าง ๆ จำนวนมาก อาทิเช่น หนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชุดธรรมทัศน์ของพุทธทาส จดหมายข่าวธรรมานุรักษ์ และหนังสือธรรมะอื่น ๆ จำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 เล่ม
 
พระ สุพจน์ สุวโจ มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2548 โดยถูกรุมทำร้ายจากคนไม่ทราบจำนวน ด้วยของมีคม และวิธีการที่โหดเหี้ยมทารุณยิ่ง ณ สวนเมตตาธรรม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ขณะมีอายุ 39 ปี อายุพรรษา 13 พรรษา
 
หนังสือเล่มสุดท้ายที่ท่านสุพจน์จัดรูปเล่มและยังอยู่ในระหว่างตีพิมพ์ คือ หนังสือชุดสรรนิพนธ์พุทธทาส ชื่อ “สวนโมกข์: อุดมคติ ชีวิต และความทรงจำ” ส่วน ผลงานที่ยังคงค้างอยู่ คือ การจัดรูปเล่มจดหมายข่าวเสขิยธรรมฉบับที่ 65 (เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2548) หนังสือชุดธรรมทัศน์อีกสองเล่ม และการพัฒนาเว็บไซต์ “จิตวิวัฒน์” ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งของนายแพทย์ประเวศ วะสี
 
 
ที่มา: http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content1/show.pl?0261
 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net