สัมภาษณ์ ‘ภาคภูมิ โปธา’: เมื่อเยาวชนชนบทคืนถิ่น…มองระบบการศึกษา การเมืองท้องถิ่น วิถีเกษตรกรรม กับความหวังของชุมชน!?

ท่ามกลางกระแสโลกทุนนิยม ได้พัดพาเอาคนหนุ่มสาวออกจากหมู่บ้าน ชุมชนไปทุกเมื่อเชื่อวัน ไปพร้อมๆ กับระบบการศึกษาของไทย ไปพร้อมกับค่านิยมที่บอกย้ำว่า เรียนหนังสือให้จบสูงๆ เข้าไว้ ให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน เป็นความหวังของพ่อแม่ ไม่ต้องกลับมาทำไร่ทำนา ตากแดดตัวดำ และไม่ต้องมาแอบภาคภูมิใจในความเป็นกระดูกสันหลังของชาติ  อย่างอาชีพเกษตรกรรม ที่เป็นวาทะกรรมในการหลอกลวงมาโดยตลอดหลายชั่วอายุคน

วันเวลาผ่านไป หนุ่มสาวจากชนบทเริ่มเดินทางออกไปไกลจากชุมชนของตนมากขึ้นๆ การตีแผ่ข่าวสารทางสื่อต่างๆ ระบุว่าชัดว่า คนหนุ่มสาวที่จากบ้านเกิดเมืองนอน มาใช้ชีวิตในเมือง ในรูปแบบของการศึกษาต่อ เมื่อเรียนจบหรือไม่จบก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่อยากกลับบ้าน ไม่อยากกลับไปลำบากตรากตรำ ทำงานในทุ่งไร่ จึงจำต้องหาเลี้ยงชีวิตของตัวเอง ด้วยการเป็นลูกจ้าง ทำมาหากินในเมืองใหญ่ อยู่ไปเพียงวันๆ อยู่อย่างไร้อนาคต ไร้ทิศทาง

แต่ก็มีคนหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตัดสินใจหวนกลับคืนบ้านเกิด เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มคนนี้ ซึ่งคนในชุมชนท้องถิ่นกำลังสนใจจับตามองดูเขา จากเด็กหนุ่มวัยเพียง 26 ปี หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการเกษตร ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี เขาผ่านกิจกรรม การงานมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งเคยเป็นแกนนำเยาวชน เอ็นจีโอ ครูผู้สอนนักเรียน คนปลูกหญ้าแฝก เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ

กระทั่งล่าสุด เขาเป็นแรงหลักในการผลักดันชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจนเกิดกลายเป็น ‘เครือข่ายวิถีชนคนพอเพียง’ นอกจากนั้น เขายังสามารถเข้าสู่วงการเมืองท้องถิ่นได้ โดยได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้านเป็น สมาชิกสภาเทศบาลตำบล และยังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภาเทศบาลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

หลายคนคงตั้งคำถามกับตัวเขา ทำได้อย่างไรกัน? ด้วยวัยเพียงเท่านี้ ในขณะที่เด็กหนุ่มชนบทในรุ่นราวคราวเดียวกันหลายคน กำลังหลงทาง อยู่ในโลกของทุนนิยมแบบวัยรุ่นๆ ที่ชีวิตต้องการเพียงมีมือถือราคาแพงๆ แต่งตัวโก้หรู  อยู่ตามผับบาร์ ในเมือง ตามห้างสรรพสินค้า หรือไม่ก็อยู่ไปวันๆ โดยไม่สนใจโลกหรือสังคมรอบข้าง

‘ประชาไท’ มีโอกาสสัมภาษณ์เขา ‘ภาคภูมิ โปธา’ เยาวชนจากชนบท กับมุมมองว่าด้วยระบบการศึกษา การเมืองท้องถิ่น วิถีเกษตรกรรม การพึ่งพา กับความหวังของชุมชน!?

 


ภาคภูมิ โปธา

จำเป็นไหมที่คนหนุ่มสาวจากชนบทต้องออกไปเรียนต่อในเมือง ให้เรียนจบสูงๆ?

ผมไม่ได้ปฏิเสธการศึกษา แต่ผมคิดว่าระบบการศึกษาปัจจุบันนั้น ไม่ได้สอนให้พึ่งตนเอง จบออกมาต้องหางานทำ เป็นใหญ่เป็นโต แต่ไม่ได้สอนให้สร้างงานทำเอง โดยใช้ต้นทุนของครอบครัวที่มีอยู่ ดังนั้นผมคิดว่าการศึกษาจำเป็นมากในระดับหนึ่ง หากว่าสามารถที่จะทำให้สังคมที่เราอยู่นั้นดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าจำเป็นต้องเรียนในเมืองไหมนั้น ผมคิดว่าการศึกษาสมัยนี้เป็นการศึกษาแบบเดลิเวอรี่ อยู่บ้านก็เรียนได้ จัดส่งความรู้ถึงที่ ไม่จำเป็นต้องออกไปเรียนในเมืองก็ได้

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ลูกชาวนาอย่างผม ที่ไม่ค่อยจะมีทุนในการเรียน จำเป็นต้องกู้เงินทั้งในระบบ คือกู้รัฐบาลและกู้นอกระบบ ผลที่ตามมาหลังเรียนจบนอกจากกระดาษหนึ่งใบแล้ว ที่พ่วงมาด้วยก็คือ หนี้สินของเงินกู้รัฐบาล และหนี้สินนอกระบบ ซึ่งรัฐมีเงื่อนไขที่ว่าเมื่อเรียนจบแล้ว 2 ปี ต้องใช้คืน ผมคิดว่าเป็นการบีบคั้นกันจนเกินไป น่าจะให้โอกาสกันมากกว่านี้ เพราะผมเองตระหนักอยู่เสมอว่าถ้าไม่มีเงินกู้เพื่อการศึกษา ก็ไม่มีโอกาสที่จะเรียนต่อได้  ดังนั้นถ้าหากเราไม่ชำระคืนรุ่นต่อไปก็ไม่ได้ใช้ต่อ ผมคิดอย่างนี้ แต่การตั้งหลักชีวิตหลังเรียนจบนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เหมือนกับการสร้างฐานที่มั่นให้กับชีวิต ยกตัวอย่าง ถ้าให้เลือกระหว่างการชำระหนี้สินให้กับ ธกส.ซึ่งกำลังจะยึดที่นาของพ่อแม่ตัวเอง กับการชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จะเลือกใช้หนี้อย่างไหนก่อน ผมจำเป็นต้องเลือกที่นาเอาไว้ก่อนถูกยึด และต้องช่วยผ่อนชำระหนี้สินให้กับพ่อแม่

อยากให้ช่วยบอกมุมมองเกี่ยวกับระบบการจัดการศึกษาในเมืองไทยตอนนี้ว่ามันสอดคล้องกับวิถีชีวิตจริงบ้างไหม?

อย่างที่ได้บอกไปแล้วนั่นแหละว่าระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้พึ่งตนเอง ไม่ได้สอนให้สร้างงาน  สอนแต่ ต้องหางาน และถามว่าสอดคล้องกับวีถีชีวิตไหม ตอบได้ว่าไม่ได้ตอบสนองเลย เพราะการศึกษามุ่งไปทางด้านความก้าวหน้า ทันสมัย ตามโลก ไม่ได้มองความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นความรู้ที่น่าจะศึกษา อีกทั้งยังเป็นการถูกเหยียดหยาม ไม่ทันสมัย ไม่เป็นวิชาการ ด้วยความรู้ที่มีอยู่ ทั้งๆที่เป็นความรู้ที่ถูกสั่งสมถ่ายทอดมาจากอดีต 

ที่สำคัญการจัดการศึกษาของรัฐที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการปฏิรูปครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเพียงผิวเผิน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ครูอาจารย์  วันๆไม่ต้องสอนหนังสือ มุ่งแต่ทำผลงานหามรุ่งหามค่ำ จนไม่มีเวลาให้กับนักเรียน โดยหวังเพียงแค่เงินประจำตำแหน่งต่างๆ ผลที่ตามมาก็คือนักเรียน ที่ถูกปล่อยปละละเลยในการศึกษา

แล้วคิดยังไงถึงหันหลังให้เมือง หลังเรียนจบ กลับมาทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง ในขณะที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่ ?

ในช่วงที่ผมเรียนหนังสือ ผมก็มีความคิด ความอยาก เหมือนกับเพื่อนๆทั่วไปเหมือนกันนั่นแหละ คืออยากทำงานมีเงินเดือนสูงๆ มีรถยนต์ขับ มีบ้าน มีครอบครัว ส่งเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ อยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ หลังจากเรียนจบแล้วผมก็หางานทำในเมือง ช่วงนั้น เป็นช่วงจบใหม่หมาดๆ ไฟแรง มีงานอะไรก็จะทำ ไม่เลือกงาน ทำไปก่อน เช่น ครั้งหนึ่งเคยไปสมัครงานแถวนิคมอุตสาหกรรมลำพูน พอไปถึงหน้าโรงงาน ผมยืนมองรอบตัวเห็นหุ่นยนต์ทั้งนั้น ก็บอกกับตัวเองว่า มันไม่ใช่ที่ของเราไม่เหมาะกับเรา ก็เลยเดินกลับ

แต่ตอนนั้น ผมก็ยังไม่ละทิ้งความตั้งใจที่อยากจะทำงาน โดยคิดว่าตนเองจบปริญญาแล้วจะให้ไปวิจัยฝุ่นได้ยังไง อยู่บ้านเขาจะดูถูก ว่าจบแล้วไม่มีงานทำ อายชาวบ้านเปล่าๆ มีงานอะไรก็ทำไปก่อนดีกว่าอยู่ที่บ้าน ในขณะที่อยู่ในเมืองนั้นก็ได้ไปสมัครงานของหน่วยงานหนึ่งที่เขารับตรงตำแหน่งที่เรียนมาและเป็นตำแหน่งที่อยากเป็นมากในเวลานั้น แต่ก็ต้องเจอแต่ระบบเส้นสาย เจอระบบสถาบันนิยม ซึ่งฝังตัวอยู่ทุกๆวงการ จนทำให้เกิดการแบ่งแยก และดูหมิ่นสถาบันอื่นที่ไม่ใช่สถาบันที่พวกเขาคาดหวัง

หลังจากนั้น ผมเริ่มมาตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้น พยายามค้นหาตัวเอง สิ่งที่เราชอบที่เราถนัด ที่เหมาะสมกับเราและความไม่เข้าใจในระบบที่คัดเลือกคนทำงาน ที่วัดกันเพียงแค่นี้ ทำให้ผมเกิดแรงผลักอย่างหนึ่งคือ ไม่ง้อก็ได้วะ ระบบเฮงซวย กลับไปตั้งหลัก สร้างฐานที่มั่นที่บ้านดีกว่า นั่นเป็นแรงฮึดสุดท้ายที่ทำให้ผมหันหลังให้กับเมืองใหญ่ในที่สุด

ถ้าพูดถึงคนหนุ่มสาวที่ยังฝังตัวอยู่ในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่ ผมคิดว่า พวกเขาคงอยากกลับมาอยู่บ้านเหมือนกันหมด แต่ถามว่าถ้ากลับไปจะทำอะไร ไหนจะหนี้สินที่ร่ำเรียนมา ไหนจะค่าใช้จ่ายทั้งหลาย แต่ถ้าเขาค้นพบตัวเขาเอง ผมคิดว่า สักวันเขาคงได้กลับมาพัฒนาบ้านของเขาเอง จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ตัวเขา แต่ที่พูดนี่ ผมไม่ได้คาดหวังอยากให้ทุกคนกลับมาเหมือนอย่างผม เพราะคนเราจะให้เหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ แต่ขออย่างเดียว คือคุณอย่าลืมรากเหง้าของตนเองก็แค่นั้น

จากการที่เคยคลุกคลีทำงานร่วมกับทั้งเอ็นจีโอและหน่วยงานรัฐ คุณมองระบบการทำงานของทั้งสองระบบนี้เป็นอย่างไรบ้าง และสอดคล้องกับวิถีชาวบ้านหรือไม่ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่ ?

ผมไม่กล้าที่จะวิพากษ์เอ็นจีโอและราชการ เพราะผมอาจมองไม่ทะลุมากนัก แต่ผมอยากนำประสบการณ์การทำงานในมุมของผม ที่ได้มีโอกาสได้ไปคลุกคลี ทั้งสองฝ่ายมาเล่าให้ได้คิดมากกว่า คุณเคยได้ยินคำว่า ขุนนางเอ็นจีโอ ข้าราชการเอ็นจีโอ หรือ ข้าราชการในคราบเอ็นจีโอ  รัฐในคราบเอ็นจีโอ ฟังแล้วคงงงใช่ไหมครับ ผมพยายามสื่อคำเหล่านี้ให้เข้าใจว่า การทำงานของหน่วยงานไม่ว่ารัฐหรือเอ็นจีโอ ถ้าหากมีเป้าหมายเดียวกัน (เอ็นจีโอจะใช้คำว่า ธง) จะแตกต่างกันเพียงวิธีการ (เอ็นจีโอใช้คำว่า กระบวนการ) ส่วนอย่างอื่นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ คอรัปชั่น (ถ้าเป็นเอ็นจีโอ บางคนจะมีผลประโยชน์ที่ซับซ้อนมากยากที่จะเข้าใจได้) มีพวกพ้องเพื่อนฝูง ไม่ต่างกัน และสุดท้ายมีชาวบ้านเป็นตัวประกัน หรือตัวรับประกันก็ไม่รู้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง

จากการที่ผมได้เคยเข้าไปทำงานร่วมรัฐ บางครั้งแยกแยะไม่ออกว่า เราทำงานเอ็นจีโออยู่หรือ เพราะบางครั้งวิธีคิดไม่ได้แตกต่างไปจากแนวคิดของเอ็นจีโอเลยแม้แต่น้อย  แต่ถ้ามองย้อนไปในสมัยทำงานให้เอ็นจีโอ กลับทำให้นึกว่าทำงานแบบขุนนาง จากประสบการณ์ทำให้ผมได้มองว่า เอ็นจีโอไม่ได้เลวร้ายเสมอไป และ รัฐไม่ได้เลวร้ายกว่าเสมอไป  ขึ้นอยู่ที่เป้าหมายว่าเราจะทำเพื่อใครกันแน่   

ทราบมาว่า ล่าสุด ได้เข้าไปทำงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย อยากให้ช่วยเล่าหน่อยว่า เข้าไปทำงานเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เป็นเลขานุการสภาเทศบาลตำบลได้ยังไง ทั้งที่อายุยังน้อย?

ผมมาจาการเลือกตั้งจากชาวบ้าน แต่ไม่เหมือนกับการเลือก อบต. ที่เลือกภายในหมู่บ้าน ๆ ละ 2 คนนั้นง่ายหน่อย แต่เทศบาลจะเลือกตั้งแบบแบ่งเขต พื้นที่ทางการแข่งขันกว้างขึ้น คนสมัครมากขึ้น ซึ่งตอนสมัครรับเลือกตั้ง ผมลงอิสระ ไม่สังกัดทีมไหน ทำให้ต้องขยันในการหาเสียง โดยอาศัยความเป็นคนรุ่นใหม่ มีประสบการณ์ทำงานมาพอสมควร และมีนโยบายที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ผมได้รับเลือกจากชาวบ้าน 7 หมู่บ้าน เป็น 1 ใน 6 คนที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เป็นคนเดียวที่เบียดระบบทีมตกไป 1 คน และเมื่อเข้าไปรับตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาล ในสภาได้เลือกให้ผมรับตำแหน่งเลขานุการสภาเห็นว่ามีความเหมาะสม  ซึ่งตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่ เป็นปลัดเทศบาล แต่สภาเลือกให้ผมรับตำแหน่งนี้ ก็เลยทำงานหนักขึ้นมาก แต่ตำแหน่งนี้ไม่ได้รับค่าตอบแทน

มองระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในขณะนี้เป็นยังไงบ้าง สอดคล้องกับชุมชนบ้างไหม?

ถามว่าสอดคล้องกับชุนชนไหม ก็สอดคล้องในแง่ของการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง จากการรวมศูนย์ มาเป็นองค์กรที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามความต้องการของชุมชน และมีอิสระในการบริหารองค์กร แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง อย่างเป็นอิสระ โดยส่วนใหญ่ก็ยังติดขัดกับปัญหาด้านโครงสร้างต่างๆ มากมาย

แล้วชุมชนจะเข้าไปมีบทบาท เข้าไปมีส่วนร่วมใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ยังไง ?

จริงๆ แล้ว ท้องถิ่นนั้นเปิดกว้างมากในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่ชุมชนเองก็ต้องเข้าใจบทบาทของตนเองด้วย และต้องตระหนักถึงสิทธิของการเข้าไปมีบทบาทในท้องถิ่นด้วย แต่ที่ผ่านมา จะเห็นว่าชาวบ้านโดยทั่วไปยังไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของตัวเอง ทั้งๆที่ตนเองมีสิทธิต่างๆมากมาย ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน เช่นการจัดทำแผน การรวมกลุ่มต่างๆในการจัดกิจกรรม การเสนอแนวทางการพัฒนาต่างๆ ผมคิดว่าท้องถิ่นยังเปิดรับความคิดเห็นต่างๆเหล่านี้มาก แต่คนที่แสดงความคิดเห็นนั้นมีน้อยเหลือกันในชุนชน

ช่วยบอกเล่าที่มาของ ‘เครือข่ายวิถีชนคนพอเพียง’ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เป้าหมายของเครือข่ายฯ นี้ตอบสนองอะไรให้กับชุมชนได้บ้าง?

เครือข่ายวิถีชนคนพอเพียง พูดได้เต็มปากเลยว่าเป็นผลิตผลจากการทำงานที่ผ่านมา โดยมีพี่น้องชาวบ้านต่างๆได้ให้ความร่วมมือซึ่งถือว่าเป็นแกนหลัก ไม่ใช่ผมเป็นพระเอกคนเดียว เกิดขึ้นจาการทำงานเรื่องหญ้าแฝก นำไปสู่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้มีคนที่สนใจเข้าร่วม โดยผมได้เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อจัดตั้งกลุ่มขึ้น มีทั้งหมดมี 8 หมู่บ้าน กับอีก 2 โรงเรียน สมาชิกตอนนี้มีประมาณ 165 คนโดยมีข้อตกลงร่วมกันภายในกลุ่ม  เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกหญ้าแฝก การทำปุ๋ยหมัก การออมเงินวันละ 1 บาท การทำบัญชีครัวเรือน ขึ้นอยู่ว่ากลุ่มจะตกลงกันอย่างไร หลังจากนั้นก็ได้นำแกนนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ถึงแนวทางการรวมกลุ่มใหญ่ขึ้น จึงได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายวิถีชน คนพอเพียง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการพึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นการตอบสนองต่อชุมชน

เพราะถ้าเราหันไปดูในหลายๆ ชุมชน จะเห็นว่ามีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่เป็นการจัดตั้งด้วยหน่วยงานของรัฐ เป็นการสั่งการของทางอำเภอ อบต. ให้มีการรวมกลุ่มเพื่อรองรับงบประมาณที่จะลงมาถึงชาวบ้าน ทำให้การรวมกลุ่มของชาวบ้านที่มีอยู่อ่อนแอ เพราะเมื่องบประมาณหมดลง ชาวบ้านก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง มันไม่ทำให้ระบบกลุ่มมีความยั่งยืน ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของชาวบ้านเอง

ซึ่งในขณะนี้ ทางกลุ่มของเรามีแนวคิดในการที่จะผลักดันให้กลุ่มเครือข่ายวิถีชนคนพอเพียงได้รับความยอมรับ ในสังคมมากขึ้น และเป็นการเสนอความต้องการของชาวบ้านต่อหน่วยงานของภาครัฐและองค์กรเอกชน ให้เห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้านในการรวมกลุ่มกันในครั้งนี้ด้วย

ที่ผ่านมาได้นำหญ้าแฝกเข้าเชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนอย่างไรบ้าง ?

การเชื่อมร้อยเรื่องหญ้าแฝกกับวิถีชีวิตชาวบ้าน ผมมองว่าเมื่อพูดถึงหญ้าแฝกหลายคนจะนึกเพียงว่าการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูก การดูแลรักษา การนำใบมาทำผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้มองถึงการนำหญ้าแฝกมาเป็นเครื่องมือ ที่เรียกว่าการจัดการหญ้าแฝก ซึ่งที่ผ่านมาผมจะเน้นที่การจัดการหญ้าแฝกมากกว่า เพราะวิธีการด้านวิชาการเรื่องการปลูก การดูแลรักษา ต่างๆ ได้มีนักวิชาการ หมอดินอาสา พัฒนาที่ดิน ที่คอยให้คำแนะนำมาได้ดีอยู่แล้ว แต่ผมนำหญ้าแฝกมาเชื่อร้อยด้วยการรวมกลุ่มและเครือข่าย อย่างที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ได้มองว่าจะต้องปลูกหญ้าแฝกเพียงอย่างเดียว ให้มองว่าหญ้าแฝกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่สามารถให้คนที่มีใจรัก คนที่มีความต้องการ มีแนวคิดเรื่องแฝกเหมือนกัน ได้มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการช่วยเหลือเกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แค่นี้ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกหญ้าแฝก นอกจากจะปลูกแฝกลงในใจคนได้แล้ว คนยังทำให้สังคมนั้นได้เรียนรู้กันมากขึ้น
   
ล่าสุด ดำเนินการเรื่องหญ้าแฝกไปอย่างไรบ้าง?

ที่ผ่านมาการส่งเสริมเรื่องหญ้าแฝกยังมีปัญหาบ้าง ที่สุดแล้วก็อยู่ที่วิธีคิด และอคติ ในปีนี้จึงได้นำวิธีการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก รูปแบบใหม่เหมือนที่ต่างประเทศเขาทำคือ การส่งเสริมให้เขามีอาชีพก่อน เช่นการนำใบหญ้าแฝกมาทำผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ  แล้วเรื่องการปลูกหญ้าแฝกก็จะตามมาทีหลัง วิธีนี้ใช้แล้วได้ผลมาก ผมได้ลองทำกับชุมชนของตนเอง ผลที่ตามมาคือคนเริ่มสนใจการปลูกหญ้าแฝกมากขึ้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องชี้ให้เห็นคุณค่าของหญ้าแฝกก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะให้เห็นถึง มูลค่า ที่ได้จากใบหญ้าแฝก และในปัจจุบัน ได้มีการรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้เรื่องการนำใบหญ้าแฝกมาทำข้าวของเครื่องใช้สอยต่างๆ และใช้การปลูกหญ้าแฝกเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม และล่าสุดได้มีการร่วมกันปลูกหญ้าแฝกทั้งหมู่บ้าน

ผลตอบสนอง ผลตอบรับของชาวบ้านและชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง เขาให้ความสนใจ ให้ความสำคัญกับหญ้าแฝกบ้างไหม?

ผลตอบรับของชาวบ้านถือว่าดีกว่าเดิมมาก มีคนเข้ามาขอกล้าหญ้าแฝกที่สวนของผม มีหลายคนได้นั่งพุดคุยกันเรื่องหญ้าแฝกมากขึ้น และที่สำคัญเวลามีการพัฒนาหมู่บ้าน เนื่องในวันสำคัญต่างๆ จะมีคนเสนอให้มีการปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่สาธารณะ ต่างจากเมื่อก่อนที่ผมนำหญ้าแฝกมาปลูกหลายคนไม่เห็นด้วย กลัวการแพร่กระจายพันธุ์ แต่จะให้ชาวบ้านทั้งหมดเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ คงเป็นไปไม่ได้ เพราะของแบบนี้ต้องใช้เวลา

ทุกวันนี้ มีหลักคิด มีแนวทางในการทำงานกับชุมชนอย่างไรบ้าง ท่ามกลางกระแสโลกทุนนิยมกำลังทะลักเข้ามาอย่างบ้าคลั่ง?

ผมคิดว่าการทำงานกับชุมชน เราไม่ควรที่จะมองแบบเหมารวมทั้งชุมชน เพราะชุมชนมีความหลากหลายทางความคิดมาก แต่อยากให้ลงลึกในเรื่องของ คน หัวใจของการพัฒนาอยู่ที่คน ดังนั้นเราควรจะสร้างคนขึ้นมาเป็นอันดับแรก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้รอบๆด้าน และที่สำคัญใจต้องเปิดกว้าง พร้อมเปิดรับการทำงานจากรัฐ จากเอ็นจีโอ แต่อย่าเป็นพวกใดพวกหนึ่ง เพราะถ้าเป็นพวกหนึ่งพวกใดแล้ว จะทำให้วิธีคิดนั้นเปลี่ยนไป ท่ามกลางกระแสทุนที่เข้าถึงชุมชนได้อย่างทะลุทะลวงในขณะนี้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกับกระแสนั้นได้อย่างไร ทำอย่างไรเราถึงจะทำให้ชุมชนมีภูมิคุ้มกัน ดังนั้น ผมคิดว่า เราจำเป็นต้องเกาะฐานที่มั่นของตัวเองไว้ให้มั่นคงที่สุด ฐานที่มั่นก็คือการพึ่งตนเองให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท