Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.52 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการออกแถลงการณ์คัดค้านการเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)ของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.นี้ว่า กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุนนี้ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใน 1-2 เดือนนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการผลักดันการออมเพื่อวัยเกษียณแห่งชาติ ที่มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ประชุมเพื่อสรุปแนวทางของการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวและแนวคิดการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบเบื้องต้นจากนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปรูปแบบของการออมว่า จะเป็นไปในลักษณะสมัครใจ หรือจะใช้คำว่า เป็นการออมแบบที่ประชาชนมีสิทธิจะได้ ผู้ออมจะเป็นแรงงานนอกระบบและในระบบ โดยจะเริ่มต้นจากแรงงานนอกระบบก่อน จากนั้นอีก 2 ปี หรือเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะขยายเข้าสู่แรงงานในระบบ อายุของผู้ออมเริ่มต้นตั้งแต่20ปีขึ้นไปจนถึง60 ปี ผู้ที่ออมระยะเวลา40ปี จะได้เงินบำนาญประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน จากเงินออมขั้นต่ำ 100 บาท และรัฐสมทบให้อีก 50 บาทต่อเดือน หรือ มีภาระงบประมาณจำนวน1.5หมื่นล้านบาทต่อปี
รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
 
 

แถลงการณ์คัดค้านกระทรวงการคลังบังคับออม
สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ รัฐต้องจัดบำนาญประชาชนให้ทุกคน
โดย
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ*
 
 
 
เหตุผลคัดค้าน แนวทางของกระทรวงการคลัง เรื่องบังคับออมเพื่อบำนาญชราภาพ
 
1)    ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้แย่มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ในปีพ.ศ.2549 คนรวยที่สุด 20เปอร์เซ็นต์ รายได้สูงกว่าคนจนที่สุด 20เปอร์เซ็นต์ 14.7 เท่า1>ตลอดจนยังมีแรงงานที่อยู่นอกระบบอีกจำนวนมากที่ปราศจากหลักประกันทั้งในแง่รายได้ และ ความมั่นคงในหน้าที่การงาน ดังนั้น การบังคับในทางหนึ่งทางใด ตลอดจนการรณรงค์เพื่อการออมภาคประชาชนโดยปราศจากการช่วยเหลือ หรือ สนับสนุนในรูปแรงจูงใจจากรัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และ สร้างให้เกิดภาระส่วนเกิดกับภาคประชาชนโดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานข้อเท็จจริงในเรื่องความสามารถในการร่วมจ่าย
 
2)    เท่าที่ผ่านมา การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุของรัฐ อิงอยู่บนฐานคิดที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทั้งในแง่คุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้สูงวัย ด้วยการจ่ายเบี้ยยังชีพเพียง 500 บาท ซึ่งถือเป็นเพียงร้อยละ 35 จากเส้นความยากจนโดยประมาณ อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองสามารถนำมารณรงค์หาเสียงชั่วครั้งคราวได้ด้วยการปรับเบี้ยยังชีพแบบประชานิยม (ไม่ได้อิงหลักวิชาในการหาตัวเลขที่เหมาะสม แต่อาศัยว่าใครให้เบี้ยสูงกว่ากันเพื่อให้คนมาเลือกพรรคของตน)
 
 
3)    การปฏิรูประบบภาษี ให้สอดคล้องกับความต้องการสวัสดิการทางสังคมที่มีมากขึ้น ยังไม่ได้ถูกผนวกเข้ามาพิจารณาอย่างจริงจัง ภายใต้กรอบการขับเคลื่อนบำนาญ และ นโยบายสวัสดิการของรัฐบาล ทำให้การขับเคลื่อนด้านสวัสดิการเท่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะสวัสดิการเต็มรูปแบบถ้วนหน้า ทั้งในด้านสุขภาพ การศึกษา รวมถึงการจัดบำนาญแบบถ้วนหน้า มักได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นภาระทางการคลังทั้งยังมีผลผูกพันในระยะยาว ทั้งนี้โดยปราศจากคำถามจากสังคมว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่ทำการปฏิรูปภาษีและดึงส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาอุดหนุนคนจนในระดับที่มากขึ้น
 
4)    การดำเนินการของกระทรวงการคลังไม่ได้รับฟังความเห็นของประชาชน ไม่มีการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องด้านสังคม ฟังแต่นักวิชาการด้านการคำนวณตัวเลข และตั้งอยู่บนสมมติฐานที่มุ่งเน้นแต่การผลักภาระให้กับประชาชน ไม่ยืนอยู่บนฐานการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพื่อลดช่องว่างระหว่างรายได้ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข การกระจายรายได้ การลดความยากจน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนให้อยู่ในมาตรฐานที่สมศักดิ์ศรีภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน 
 
 
 
 
ทางออก และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
 
1)    จัดทำเสาหลักพื้นฐานแห่งการให้แบบถ้วนหน้า 2> (universal foundation pillar)โดยบำนาญขั้นพื้นฐานที่มิได้มีผลผูกพันจากการออมโดยสมัครใจควรปรับให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับค่าครองชีพ จัดให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ทราบความยากจน ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีที่ดี ซึ่งในที่นี้หมายถึง ระดับเส้นความยากจนเป็นอย่างน้อย
            
ทั้งนี้ หากคำนวณการจ่ายบำนาญประมาณเดือนละ 1,500 บาท (เส้นความยากจน ปี 2550 อยู่ที่ 1,443 บาท) ตั้งแต่ปี 2552 – 2568 รัฐจะใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น มอริเชียส ร้อยละ 1.7 ประเทศนิวซีแลนด์ ร้อยละ 3 (หมายเหตุ: การคำนวณ GDP เป็นการคาดการณ์บนสมมุติฐานที่ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตของ GDP ต่อหัวปีละ 3.44 %) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องจัดให้มีการปรับปรุงระดับบำนาญพื้นฐานอ้างอิง ในทุก 3 ปี ตามการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตามภาวะเงินเฟ้อ
 
2)    รัฐบาลต้องยืนยันว่าจะไม่มีการบังคับออม เพราะนั่นหมายถึงการลดทอนความสามารถเชิงเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน ซึ่งโดยทั่วไปก็มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไปอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การนำเสนอช่องทางเลือกในการ ขยายสิทธิการออมโดยได้รับเงินสมทบจากรัฐเป็นแรงจูงใจ อันเป็นส่วนเพิ่มไปจากบำนาญขั้นพื้นฐาน (1,500 บาท)
 
3)    รัฐบาลควร เร่งรัดให้มีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อรองรับกับแผนนโยบายสวัสดิการที่จะต้องขยับขยายมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยการทบทวนถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำมาสู่การจัดบำนาญชราภาพและสวัสดิการอื่น ๆ โดยออกกฎหมายระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่จัดบำนาญให้ประชาชนด้วยการระบุสัดส่วนภาษีทรัพย์สินเพื่อการจัดบำนาญประชาชนอย่างชัดเจน และยังเป็นมาตรการที่เอื้อให้ผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยได้จ่ายคืนให้แก่สังคม เป็นการลดช่องว่างของปัญหาที่เกิดจากการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม
 
 
4)    การขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอื่นๆ โดยสนับสนุนสิ่งที่กองทุนประกันสังคมสามารถดำเนินการได้เลยคือ การแก้ไขบางส่วน และการปรับกฎเกณฑ์ เกี่ยวกับมาตรา 40 3> ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม 2533 โดยให้รัฐร่วมจ่ายสมทบกับแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของการจ่ายของแรงงาน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์เป็น 5 กรณีคือ ทดแทนรายได้เมื่อคลอดบุตร ทุพลภาพ ทดแทนรายได้เมื่อป่วย ชราภาพ และเสียชีวิต ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ทั้ง 5 เป็นแรงจูงใจให้แรงงานจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะได้รับมากกว่าการออมเพื่อชราภาพเพียงอย่างเดียว  อย่างไรก็ตามการออมของคนเหล่านี้ถือเป็นส่วนเพิ่มในยามชราภาพจากบำนาญประชาชนที่รัฐจ่ายให้ทุกคน เช่น เมื่อชราภาพได้รับบำนาญประชาชน 1,500 รวมกับส่วนเพิ่มที่ออมกับประกันสังคม หรือออมกับ กองทุนบำนาญแห่งชาติ
 
5)    การให้มีทั้งการออมเพื่อชราภาพในหลายกองทุน เช่น ในกองทุนประกันสังคม กองทุนบำนาญแห่งชาติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทำให้ลดความเสี่ยงของประชาชน ที่ไม่ถูกบังคับให้ออมอยู่ในกองทุนบำนาญแห่งชาติเพียงกองทุนเดียว และกระทรวงการคลังต้องออกแบบระบบการบริหารกองทุนบำนาญแห่งชาติที่ควบคุมตรวจสอบ และแก้ปัญหาได้เร็ว ไม่ให้เหมือนกับปัญหาที่เกิดกับ กองทุน กบข. ในปัจจุบัน
 
 
6)    จัดตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทนของประชาชนร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกันจัดทำกฎหมาย บำนาญประชาชน 
 
 
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
                                                                     4 มิถุนายน 2552
 
 
 
 
** เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ
ประกอบด้วย (1) เครือข่ายผู้บริโภค (2) เครือข่ายแรงงานนอกระบบ (3) เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย (4)เครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านเอดส์ประเทศไทย (5)เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (6) เครือข่ายผู้หญิงด้านสุขภาพ (7) เครือข่ายผู้พิการ (8) เครือข่ายผู้สูงอายุ (9) เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก (10) เครือข่ายคนจนเมือง (11) เครือข่ายสลัม 4 ภาค  (12) เครือข่ายเกษตรทางเลือก (13) เครือข่ายวิทยุชุมชน(14) คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์  (15)มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (16) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (17) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (18) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
 
 
 
 
2> เป็นเบี้ยบำนาญที่ให้ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด ธนาคารโลกเรียกระบบที่ให้แบบไม่ต้องจ่ายสมทบนี้ว่าเสาหลักหมายเลขศูนย์ (Zero Pillar)
 
3> มาตรา 40 บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 จะสมัครเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้แสดงความจำนงต่อสำนักงาน
 
หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ประเภทของประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับตามมาตรา 54 ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
 
ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงแต่ไม่เกินกึงหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง
 
ในความเห็นของผู้จัดทำข้อเสนอนี้ ควรแก้ส่วนหลังของวรรคสุดท้ายเป็น “....แต่ไม่น้อยกว่าเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง และไม่เกินสองเท่าของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่ง”(ซึ่งก็คือรัฐบาลรับภาระระหว่างร้อยละ 50-66.7

 
 
 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net