Skip to main content
sharethis

ทางการจีนก็คุมเข้มรอบจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนถึงวันที่ 4 มิ.ย. ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่เทียนอันเหมิน มีการห้ามผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เข้าประเทศ บางคนถูกกักอยู่ในบ้าน เว็บไซต์หลายถูกปิดชั่วคราว Flickr และ Twitter โดนด้วย ด้านอดีตผู้นำนักศึกษาซึ่งเป็น 1 ใน 21 แกนนำที่รัฐบาลจีนต้องการตัว ประกาศจะเข้ามอบตัว หวังทวงให้รัฐบาลจีนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์

ทางการจีนได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ก่อนหน้าที่จะถึงวันครบรอบเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 4 มิ.ย. ที่จะถึงนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1989 มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะถึงพันคน

ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จำนวนมากถูกแจ้งให้ออกไปจากกรุงปักกิ่งหรือให้อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่การพูดถึงเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในจีนอยู่ดี แม้แต่ในฮ่องกงที่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นมากกว่า แต่ผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศ

ก่อนหน้าวันครบรอบเหตุการณ์เพียงหนึ่งวัน ก็มีตำรวจคอยตรวจตราผู้มาเยือนตามจุดตรวจรอบ ๆ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ทั้งยังตรวจเช็คกระเป๋า รวมถึงเอกสารของผู้คนที่อยู่รอบบริเวณ มีนักข่าวบางคนต้องถูกเชิญให้ออกจากพื้นที่

บ้างต้องออกจากจีน บ้างถูกกักบริเวณ
เซียง เซียวจี (Xiang Xiaoji) ผู้ที่บัดนี้กลายเป็นพลเมืองของอเมริกันพยายามเข้าไปในฮ่องกงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. เพื่อเข้าร่วมงานรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อปี 1989 แต่ก็ถุกห้ามไม่ให้เข้าจนต้องกลับไปนิวยอร์ก

ติง จื่อหลิน (Ding Zilin) หัวหน้ากลุ่มมารดาเทียนอันเหมิน (Tiananmen Mothers) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของผู้หญิงที่ลูกของพวกเขาถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม เธอถูกปิดล้อมไม่ให้ออกจากบ้าน เช่นเดียวกับ ภรรยาของหูเจียผู้ต่อต้านรัฐบาลที่ถูกจับกุมตัวก็ถูกล้อมไม่ให้ออกจากบ้านเช่นกัน

เปาตง (Bao Tong) อดีตเลขาฯ ของ เจ้า จื่อหยาง และเคยเป็นเจ้าหน้าที่พรรคฯ ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งเนื่องจากแสดงความเห็นใจต่อกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็ถูกเชิญให้ออกจากกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

วูเออ ไคซือ (Wu'er Kaixi) อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินบอกว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเขตมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษทางตอนใต้ของจีน ซึ่งไคซีได้เดินทางมาจากไต้หวันก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขอให้ขึ้นเครื่องบินกลับ

ไคซือบอกว่าเขาไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไล่โดยใช้กำลัง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าเขาไม่ยอมกลับและรอให้เจ้าหน้าที่จับตัวเขาซึ่งเขายอมรับได้หากตนจะถูกจับกุม แต่จะไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ส่งตัวเขากลับ

ไคซือยังได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ที่ส่งให้เพื่อนเขาว่า หากเขาได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองได้ เขาจะมอบตัวกับทางการในวันที่ 4 มิ.ย. ซึ่งจะทำให้เป็นที่สนใจของสื่อ

โดยสำหรับทางการจีนแล้ว ไคซือ เป็นลำดับ 2 ของรายชื่อผู้นำนักศึกษา 21 คนที่ทางการต้องการตัวหลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ไคซือได้หนีไปอาศัยอยู่ในไต้หวันก่อนจะทำงานเป็นนักธุรกิจและนักวิจารณ์การเมืองที่นั่น

วูเออ ไคซือ ยังได้กล่าวอีกว่า การที่เขาต้องการมอบตัวกับทางการจีนไม่ได้หมายความว่าเขายอมรับว่าการกระทำของเขาเมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นสิ่งที่ผิด เพียงแต่อยากจะทวงสิทธิ์ว่าทางการจีนเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นในปี 1989 อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งในทางการเมือง ทางกฏหมาย และทางศีลธรรม

"ผมหวังว่าพอผ่านมา 20 ปีแล้ว รัฐบาลจีนจะมีมุมมองใหม่ในปัญหาทางประวัติศาสตร์คือ 'เหตุการณ์สังหารหมู่วันที่ 4 มิ.ย.' โดยพวกเขาจะยอมรับความผิดและขอโทษประชาชนชาวจีน" เขากล่าว

พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยเปิดให้มีการไต่สวนเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างเป็นทางการเลย นอกจากนี้การพูดคุยกันถึงเหตุการณ์นี้ก็เป็นเรื่องต้องห้าม


จีนปิดกั้นเว็บไซต์ แม้แต่บล็อกของสถาปนิกสนามรังนกก็โดน

โดยในช่วงก่อนวันครบรอบเหตุการณ์ ทางการจีนก็ยังทำการบล็อกเว็บไซต์จำพวกเครือข่ายทางสังคมอย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) และ ฟลิกเกอร์ (Flickr) เพราะกลัวว่าจะมีการโพสท์รูปหรือพูดคุยกันเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ในเทียนอันเหมิน ส่วนเว็บ Youtube ถูกบล็อกไม่ให้เข้าตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว

ในวันที่ 3 มิ.ย. หลายเว็บไซต์ของจีนก็ไม่สามารถเข้าได้ รวมถึงเว็บบล็อกเล็ก ๆ อย่าง Fanfou และเว็บไซต์แชร์รูปวิดิโออย่าง VeryCD ซึ่งทางหน้าเว็บไซต์บอกว่าจะปิดทำการเนื่องจาก “มีการปรับปรุงทางเทคนิค” ไปจนถึงวันที่ 6 มิ.ย.

นอกจากนี้ทางศูนย์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Information Center for Human Rights and Democracy) ซึ่งเป็นองค์กรของฮ่องกงยังได้เปิดเผยว่า ผู้ตรวจตราทางอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลได้ปิดเว็บกระดานข่าวไปมากกว่า 6,000 เว็บ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพื่อต้องการป้องกันไม่ให้พูดคุยกันถึงเหตุการณ์ในปี 1989

แม้แต่ ไอ เวยเวย สถาปนิกของสนามรังนกที่ใช้จัดงานกีฬาโอลิมปิก ยังออกมาบอกเลยว่า เว็บล็อก (Blog) ของเขาถูกปิดไม่ให้เข้า

"บล็อกของผมทั้งสามแห่งถูกปิดหมดเลย" เวยเวย กล่าว "ผมไม่รู้เหตุผลจริงๆ หรอก แต่ผมคาดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับการครบรอบเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึงนี้แหละ"

ในฮ่องกงเองก็มีความอ่อนไหวในช่วงก่อนครบรอบเหตุการณ์เช่นกัน

เซือง ยัง (Xiong Yan) หนึ่งในผู้นำการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินจะได้รับอนุญาตให้เข้าฮ่องกงในช่วงปลายสัปดาห์เท่านั้น ส่วนผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์อีกคนหนึ่งคือ เซียง เซียวจี (Xiang Xiaoji) กับชาวเดนมาร์กผู้ปั้นรูปปั้น เสาแห่งความอัปยศ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฮ่องกงทั้งคู่

ฮ่องกงซึ่งก่อนหน้านี้เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนจะกลายเป็นของจีนและได้รับการยืนยันจากจีนว่าจะยังคงอำนาจการปกครองตนเองและให้มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามเดิมได้ แต่การไม่อนุญาตให้เซียง และคนอื่น ๆ เข้าประเทศทำให้เกิดข้อกังขาว่า สิทธิเสรีภาพในดินแดนนี้มีอยู่ขนาดไหนกันแน่

เวาดีน อิงแลนด์ (Vaudine England) ผู้สื่อข่าวบีบีซีในฮ่องกงรายงานว่า กลุ่มชนชั้นปกครองท่เป็นข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากจีน รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจเชื่อว่าการทำตัวใกล้ชิดกับทางการจีนเท่านั้นถึงจะทำให้พวกตนอยู่รอด

กระนั้นก็ตามจากการสำรวจโพลล์พบว่าคนส่วนใหญ่ในฮ่องกงยังคงต้องการเสรีภาพที่จีนได้เคยสัญญาไว้อยู่เสมอ

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Macau denies entry to Tiananmen protest leader, AP, Min Lee, 03-06-2009
http://news.yahoo.com/s/ap/20090603/ap_on_re_as/as_macau_tiananmen_dissident

High security on Tiananmen Square, BBC, 03-06-2009
http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/8080437.stm

China bars foreign reporters from Tiananmen Square, AP, 03-06-2009
http://news.yahoo.com/s/ap/20090603/ap_on_re_as/as_china_tiananmen_12

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net