Skip to main content
sharethis

สื่อท้องถิ่นของพม่ารายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเจดีย์ดานกถล่มเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 20 รายแล้ว ขณะที่ตัวเลขผู้บาดเจ็บอยู่ที่ 150 คน ซึ่งส่วนใหญ่คาดว่าเป็นแรงงานและทหารเรือที่มาบูรณะซ่อมแซมองค์เจดีย์ขณะที่คนงานที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างพากันร่ำลือถึงเหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นก่อนเจดีย์ถล่ม โดยคนงานวัย 24 ปีคนหนึ่งเล่าว่า “เจดีย์ถล่มลงมาเมื่อเวลา 15.10 น. ขณะที่ผมกำลังขนอิฐอยู่บริเวณลานรอบองค์เจดีย์ ก่อนที่เจดีย์จะถล่ม อยู่ๆ ฟ้าก็มืดขึ้นมาทันที จากนั้นก็มีดวงไฟสว่างสีแดงลอยขึ้นมาจากทางเหนือสุดของเจดีย์ พวกเราได้ยินเสียงประหลาดดังมาจากดวงไฟด้วย ไม่นานเจดีย์ก็พังลงมา”

เจดีย์องค์นี้มีอายุเก่าแก่ราว 2,300 ปี โดยตั้งอยู่ในหมู่บ้านดานกโมเดล เมือง ดาลา ในเขตกรุงย่างกุ้ง ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า โดยก่อนหน้านี้ นางไจ ไจ ภรรยาของนายพลอาวุโสตานฉ่วยพร้อมครอบครัวได้มาร่วมในพิธียกฉัตรที่เจดีย์แห่งนี้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์

ขณะที่ชาวบ้านเปิดเผยว่า ในคืนวันศุกร์ (29 พ.ค.) เวลา 22.00 น. – 02.00 น. เงาของเจดีย์ดานกบนท้องฟ้าไม่มีเงาของฉัตรปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด

ผู้สูงวัยในหมู่บ้านดานกโมเดลมีความเชื่อว่า เจดีย์ดานกไม่ต้อนรับผู้ที่มีจิตใจชั่วร้าย ชาวบ้านเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาองค์เจดีย์จะสั่นไหวทุกครั้งที่มีผู้ที่มีจิตใจชั่วร้ายมาทำบุญที่วัดแห่งนี้ด้านหมอดูในกรุงย่างกุ้งทำนายว่า เจดีย์ดานกพังลงมาครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงเหตุอาเพศที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ขณะที่ชาวบ้านต่างรู้สึกไม่พอใจที่การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยทีมช่วยเหลือไม่สามารถเคลียร์ซากปรักหักพังของเจดีย์ที่คาดว่ามีผู้สูญหายจำนวน 5 คนหรือมากกว่านั้นติดอยู่ในซากดังกล่าว (Irrawaddy 1 มิ.ย.52)
 
 
เหยื่อล่าสุด – หญิงกะเหรี่ยงถูกทหารพม่ารุมขืนใจ

 
สำนักข่าว Karen Information Center ซึ่งเป็นสำนักข่าวกะเหรี่ยงรายงานว่า หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงวัย 30 คนหนึ่งในเมืองกอกาเร็ก รัฐกะเหรี่ยง เป็นเหยื่อรายล่าสุดที่ถูกทหารพม่าบังคับขืนใจทำงานในไร่ของตัวเอง ด้านอดีตเจ้าหน้าที่ยูเอ็นชี้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในผู้หญิงชนกลุ่มน้อยยังคงวิกฤติ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงคนดังกล่าวถูกทหารพม่าจากกองพันทหารราบที่ 283 ถูกฉุดจากกระท่อมในไร่ของเธอไปยังป่าแห่งหนึ่งก่อนที่จะลงมือข่มขืน หนังสือพิมพ์The New York Times ได้ตีพิมพ์คำพูดของนายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเญโร อดีตเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าของยูเอ็น ว่า เขาเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเข้าตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยรัฐบาลเด็จการทหารพม่า

นายปินเญโรกล่าวว่า เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ชนกลุ่มน้อยซึ่งมีจำนวนหนึ่งในสามของประชากรในประเทศไม่ได้รับการสนใจและความช่วยเหลือจากนานาชาติเท่าที่ควร และขั้นตอนที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองของพม่าให้สำเร็จลุล่วงไปได้ดีนั้น จำเป็นต้องแก้ปัญหาสถานการณ์อันเลวร้ายของชนกลุ่มน้อยในพม่าให้ได้เสียก่อน ขณะที่ในปี 2550 องค์กรสตรีชาวกะเหรี่ยง(KWO) ได้ออกรายงานชื่อ “State of Terror” ชี้ว่า กองทัพพม่ามีแผนให้ทหารละเมิดสิทธิสตรีในรัฐกะเหรี่ยง โดยมีหลักฐานยืนยันว่า หญิงสาวจาก190 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยงเข้าร้องเรียนว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า 4,000 ครั้ง ทั้งถูกข่มขืน ทรมาน บังคับใช้แรงงานและสังหารจากทหารพม่า 40 กองพันที่ประจำอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง

โดยในช่วงระหว่างปี 2548 – 2549 มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพพม่าเข้าโจมตีทางทิศตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยงอย่างหนัก ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในเพิ่มขึ้นถึง 25,000 คนและทำให้ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงนับพันต้องหนีตายมายังชายแดนไทย – พม่าเป็นจำนวนมาก

นายปินเญโรยังกล่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรตั้งกรรมการไต่สวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกระทำของกองทัพพม่า ในปี 2551 ที่ผ่านมา ทหารพม่าจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยังหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของรัฐกะเหรี่ยง และได้ลักพาตัวชาวบ้าน ข่มขืนและสังหารเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงวัย 7 ขวบคนหนึ่ง แต่รัฐบาลพม่ากลับขู่จะลงโทษพ่อแม่ของเด็กที่ถูกสังหารหากไม่รับเงินค่าปิดปากจากรัฐ แทนที่จะลงโทษผู้กระทำผิด

เช่นเดียวกับในปี 2543 ที่นายปินเญโรเคยได้รับรายงานว่า ในระยะเวลา 5 ปีมีหญิงชาวไทยใหญ่จำนวน 625 คนในรัฐฉาน ถูกทหารพม่าข่มขืน แต่ไม่มีทหารถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแม้แต่คนเดียว
 
ด้านนางซิปโปรา เส่ง เลขาธการเคเอ็นยูแสดงความคิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรทำอะไรสักอย่างเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต่อการที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงชนกลุ่มน้อยในระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้โจมตีและทำลายหมู่บ้านชนกลุ่มน้อยไปกว่า 3, 300 แห่ง นอกจากนี้การเกณฑ์เด็กชายไปเป็นทหาร การบังคับใช้ชาวบ้านใช้แรงงานและหาทุ่นระเบิดยังคงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง (Irrawaddy 1 มิ.ย.52)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net