Skip to main content
sharethis

31 พ.ค. 52 - เวบไซต์มติชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์กับพระพุทธศาสนา" ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงของชาติและพระพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี กรมเสมียนตรา ที่หอประชุมใหญ่ สำนักพุทธมณฑล โดยมีพระภิกษุเข้าฟัง 50 รูป และประชาชนที่สนใจ 150 คน

ดร.สุเมธ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทรงเป็นพุทธมามกะโดย แท้ ในขณะที่สังคมสมัยนี้ มีแต่พุทธมามกะโดยรูปฟอร์ม เจอพระสงฆ์ก็ได้แต่กราบและขอหวยอย่างเดียว แต่เรื่องแก่นของธรรมะกลับไม่สนใจ ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาทั้งสิ้น ไม่ทราบว่าเป็นกาลสมัยของโลกหรือเปล่า เพราะตอนนี้โลกทั้งโลกถูกครอบด้วยกิเลสตัณหาทั้งสิ้น ต้นเหตุเกิดจากระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบแห่งตัณหา ชักจูงให้บริโภคเกิดความอยากตลอดเวลา มนุษย์ก็บริโภคจนจะหมดโลกแล้ว ดิน น้ำ ลม ไฟ จะหมดแล้ว คนทั้งโลกมีประมาณ 6,700 ล้านคน แล้วคนทั้งหมดนี้กำลังนั่งกินโลกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วจะเอาอะไรมาเลี้ยงดู โลกกำลังดำเนินไปสู่ความพินาศ
"ตั้งแต่ วันแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ กระทั่งบัดนี้ 60 กว่าปีแล้ว ทรงพยายามเตือนสติ ทรงปฏิบัติทุกอย่างให้ดูเป็นแบบอย่าง แต่มีใครทำตามบ้าง สังคมก็ยังคงบ้าอำนาจ บ้าเงินทอง โกงกินกันอยู่ทุกวันนี้" ดร.สุเมธกล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ทรงรู้เรื่องพระพุทธศาสนาลึกซึ้งยิ่งนัก ทรงรับสั่งถึงการบวชว่าเป็นเรื่องที่ดี ทรงยกตัวอย่างพระองค์เอง เมื่อตอนที่ทรงตัดสินพระทัยทรงผนวชนั้น ทรงเข้าไปทูลสมเด็จพระบรมราชชนนีว่าจะทรงผนวชให้สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงดีพระทัยมาก ทรงรับสั่งว่า "แม่ดีใจมาก พอรู้ว่าเราจะบวช เข้ามากอดเราใหญ่เลย แล้วแม่ก็ยิ้มอย่างที่ไม่เคยยิ้มมานานแล้ว และตั้งแต่วันนั้นมา แม่ก็ยิ้มมาตลอด" ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงประสบความโศกเศร้ามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 8 พระพักตร์นิ่งเฉยตลอด แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชให้ จากความเศร้าก็เปลี่ยนเป็นความปลื้มปิติ
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ในแง่ของการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้หลักธรรมภิบาลในการปกครองแผ่นดิน ทรงใช้มา ตลอด 60 กว่าปี ในขณะที่ฝรั่งเพิ่งรู้จักเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่คนไทยกลับเพิ่งมาเห็นคุณค่า เพราะคนไทยบ้าฝรั่ง อะไรที่เป็นของดี ของใกล้ตัวกลับไม่เห็นคุณค่า เป็นกิ้งก่าได้ทอง
"หลักทศพิธราชธรรมเป็นหลักธรรมที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ ประกอบด้วย 1.ทาน คือการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน 2.ศีล ขอ แค่ศีล 5 ข้อก็ยังดี เพราะเป็นหลักสากลของทุกศาสนา แต่ทุกวันนี้พอเปิดโทรทัศน์ดู แค่ศีล 5 ข้อ ยังไม่ปฏิบัติกัน โกหกหน้าตาเฉย ไม่ขอเอ่ยถึงใคร ไม่อยากยุ่ง เพราะฉะนั้นไม่ปฏิบัติไม่ได้ ถ้าเป็นมนุษย์ต้องยึด ถ้าไม่ยึดก็ไม่ใช่มนุษย์ 3.ปริจจาคะ การสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะไม่มีข้าศึกคนไหน สามารถทำให้ประเทศไทยแตกได้ ให้ยิ่งใหญ่หรือทรงพลังแค่ไหน ไม่สามารถทำให้คนไทยแตกได้ คนไทยจะแตกหรือไม่แตก อยู่ที่คนไทยด้วยกันเอง กรุงศรีอยุธยาแตกแต่ละครั้ง แตกเพราะข้าศึกหรือ" ดร.สุเมธกล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสไปประเทศรัสเซีย ประเทศที่เป็นต้นตำรับของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ เมื่อก่อนเคยมีระบบกษัตริย์ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว
"ตอน นี้คนรัสเซียอยากมีพระเจ้าแผ่นดิน คิดถึงพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซีย แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงอัญเชิญพระอัฐิของพระเจ้าซาร์มาประดิษฐานในโบสถ์หลวง สถาปนาให้เป็นนักบุญนิโคลัสเพื่อสักการะบูชา ซึ่งก็สายไปแล้ว เพราะได้ทำลายสิ่งที่ตอนนี้ต้องการที่สุดไปแล้ว แล้วของเรามียิ่งกว่านักบุญ ปฏิบัติมาตลอด 60 ปี นักบุญบางคน ผลงานอาจไม่ค่อยเป็นที่ประจักษ์เท่าไหร่ แต่นี่ 60 ปี เราไม่ค่อยจะถนอมกัน แล้ววันนั้นจะเสียใจ ก็ฝากไว้ให้คิด" ดร.สุเมธกล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวถึงหลักทศพิธราชธรรมข้ออื่นๆ อาทิ อาชชวะ ความซื่อสัตย์สุจริต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่งว่า ใครทุจริตแม้นิดเดียวขอให้มีอันเป็นไป ทรงกำชับถึง 3 ครั้ง แสดงว่าทรงเหลืออดแล้ว เพราะทุกวันนี้โกงกินกันชนิดที่เรียกว่า ไม่เห็นหัวเห็นหางหมดทั้งแผ่นดิน ส่วนข้อ อักโกธะ การระงับความโกรธ ยิ่งเป็นคนใหญ่คนโต ผู้บริหาร หัวหน้า โกรธไม่ได้
"พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยทรงโกรธ อาจมีบ้างที่ทรงไม่พอพระทัย แต่ไม่เคยทรงโกรธ เพราะความโกรธไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น แต่จะเป็นอย่างสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้ เห็นว่า เดือนหน้าจะมีอีกแล้ว ยังไม่หมดแรงกัน น่ารำคาญ" ดรสุเมธกล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวว่า เป้าหมายการทรงงานหนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ความเป็นประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า "เหตุผลที่ทรงงานหนักอยู่ทุกวันนี้ เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อยังยากจนแล้ว เขาก็ไม่มีอิสรภาพเสรีภาพ เมื่อเขาไม่มีอิสรภาพเสรีภาพ เขาจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้" จุดหมายปลายทางของพระองค์ คือเรื่องประชาธิปไตยที่ทุกคนเปล่งกันทุกวันนี้ โดยไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เข้าใจแต่ว่าประชาธิปไตยคือเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งที่ความจริง ลึกซึ้งกว่านั้น ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนอิ่มท้อง เมื่ออิ่มท้องแล้ว ก็จะมีอิสรภาพเสรีภาพ แต่ถ้าตราบใดที่ประชาชนยังหิว เมื่อ 500 , 1,000 บาทมา เขาก็ไป แล้วก็ไม่เกิดประชาธิปไตยเสียที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เคยใช้คำว่าร่ำรวย แต่ทรงใช้คำว่าประโยชน์ ความเจริญ และความผาสุกเท่านั้น
ก่อน จบปาฐกถา ดร.สุเมธ ย้ำถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 60 ปี ที่ไม่ค่อยมีใครจดจำได้ว่า พวกเราชอบเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองพระองค์ ชอบได้ยินพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยฟังพระองค์ เพราะฉะนั้นถึงไม่เคยจดจำอะไรได้เลย หลัก 4 ข้อคือ 1.คิด พูด ทำ คิดดีต่อกัน 2.ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 3.อยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต 4.คิดต่างกันได้ แต่ให้ตั้งอยู่บนความเที่ยงตรงและมีเหตุมีผล ถ้าทุกคนปฏิบัติตาม 4 ข้อนี้ได้ เหตุการณ์บ้านเมืองคงไม่เป็นอย่างปัจจุบันนี้ และจะทำให้เกิดเอกภาพขึ้นในประเทศ
"เป็น ที่น่าเสียดาย เรามีพระบรมครู ยอดปราชญ์อยู่ในแผ่นดิน แต่ไม่ฟัง กลับไปฟังอะไรก็ไม่รู้ แล้ววันหนึ่งจะเสียใจ ผมพูดได้แค่นี้ ยังไม่สายนะครับ อย่าเสียกำลังใจ" ดร.สุเมธกล่าวทิ้งท้าย
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net