‘ป้าย’ : อีกภาพสะท้อนการปกครองท้องถิ่นที่ ‘ถูก’ ปกครอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม :

ป้าย คำขวัญมหาดไทย : อีกภาพสะท้อนการปกครองท้องถิ่นที่ ถูก ปกครอง


 

 

 

 

ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปในพื้นที่หลายๆ จังหวัดของภาคเหนือ (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, สุโขทัย, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, แพร่, เชียงราย) ถึงแม้ความจริงแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประชากร ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสภาพแวดล้อมอื่นๆ ทว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่สามารถจะสังเกตเห็นได้ง่ายในทุกๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นตำบลขนาดเล็ก หรืออำเภอขนาดใหญ่ สิ่งที่ว่านี้ก็คือ ป้ายป้ายประชาสัมพันธ์ที่มีข้อความว่า ปกป้องสถาบัน สงบ สันติ สามัคคี โดยที่แทบทุกป้ายจะใช้แบบคล้ายคลึงใกล้เคียงกัน และใส่ชื่อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ลงท้ายด้วยเสมอ

 

อนึ่ง การดำเนินการเช่นนี้ย่อมนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากคำขวัญดังกล่าวเป็นคำขวัญที่ทางท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ร่วมกัน คิด ขึ้นมา เป็นต้นว่า ที่เชียงใหม่อาจใช้เป็นคำเมือง หรือเลือกคัดภาพที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ฯลฯ มิใช่ข้อความชุดเดียวกันที่ถูก สั่งการมาจากส่วนกลาง (แต่ให้ใช้งบประมาณของท้องถิ่นเอง) เยี่ยงนี้ [1]

 

แน่ละว่า ท้องถิ่นต่างๆ ยังคง เลือก ปฏิบัติเหมือนที่เคยทำมา โดยกล้าๆ กลัวๆ ที่จะคิดริเริ่มเอง (บ้านเมืองน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม นั่นคือ คำขวัญของยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่ผมเคยเห็นแบบเต็มบ้านเต็มเมืองมาก่อน) ทั้งๆ ที่บริบทการปกครองท้องถิ่น ณ ปัจจุบันไม่เหมือนอย่างในอดีตแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งกับ 10 ปีที่ผ่านมาที่มี การกระจายอำนาจมากขึ้น (2540-2550) ไม่ว่าจะเป็นการ ยกเลิกการเข้าดำรงตำแหน่งใน อปท. ต่างๆ ของ คนมหาดไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งผู้ว่าฯ ใน อบจ. นายอำเภอ ใน สุขาภิบาล ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใน อบต., การ ประกาศใช้กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. วางแนวทางการถ่ายโอนภารกิจ อำนาจหน้าที่ รวมถึงรายได้ต่างๆ จากรัฐบาลกลางลงมาสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม, มีการปรับปรุงโครงสร้างใน อปท. ทุกๆ รูปแบบ (อบจ. / เทศบาล / อบต.) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ รูปแบบ นายก-สภา (Mayor-Council Form) หรืออาจเรียกว่ารูปแบบ ผู้บริหารเข้มแข็ง (Strong Mayor Form) ซึ่งผู้บริหารฯ (นายกฯ) มี ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง แทนแบบเดิมที่คณะผู้บริหารฯ มาจากมติของสภาท้องถิ่น เป็นอาทิ

 

ทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าทิศทางของหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างๆ ในอนาคตจะเป็นไปอย่างไรต่อไป อะไรกันแน่ที่ทางท้องถิ่นต้องการระหว่าง การปกครองตนเอง กับ การถูกปกครอง

 

ปรากฏการณ์เรื่อง ป้ายข้างต้น สะท้อนภาพวิธีคิดแบบ รัฐนิยม / นิยมรัฐ ที่เน้นการใช้อำนาจมาก และมากจนสามารถครอบงำและร้อยรัดความคิดของ คน ของท้องถิ่น (โดยเฉพาะกรณีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ให้ เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่รัฐต้องการได้ แน่นอนที่สุด วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย ยุทธศาสตร์ สำหรับการพัฒนาของแต่ละท้องถิ่นนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกันแต่ประการใด เป็นไปได้อย่างไรกันที่ อปท. ในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร เรื่อยไปจนถึง อบจ. รวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง (ข้อมูล ณ 15 ส.ค. 51) กลับต้องมีคำขวัญในเรื่องเดียวกันแบบเหมือนกันทั่วประเทศ กระนั้นโดยสถานการณ์แล้ว ก็ใช่ว่า อปท. แต่ละแห่งจะประสบปัญหานั้นเหมือนกันซะทั้งหมด ผู้อ่านพึงพิจารณา

 

หากถามว่าเหตุใดทำไมเราจึงควรต้องสนับสนุนการปกครองท้องถิ่น คำตอบหนึ่งก็คือ เพราะว่าการปกครองท้องถิ่นยอมรับ ความหลากหลาย’ (Diversity) หรือที่ในภาษาวิชาการเรียกว่า พหุนิยม’ (pluralism) เหตุผลนี้อยู่บนพื้นฐานของการแบ่งแยกความต้องการของประชาชนออกเป็น 2 ประการ ได้แก่ ความต้องการส่วนรวม ซึ่งต้องได้รับการตอบสนองในระดับชาติ เช่น การทหาร สวัสดิการสังคม ทางหลวง ฯลฯ กับ ความต้องการระดับท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะแต่ละพื้นที่ เช่น ถนนหนทาง การจัดการขยะ การศึกษาระดับพื้นฐาน ฯลฯ เมื่อมีพื้นที่เป็นจำนวนมาก ความต้องการในแต่ละพื้นที่ก็ย่อมที่จะแตกต่างกันออกไป

 

อีก ทั้งความต้องการดังกล่าวยังแตกต่างจากความต้องการในระดับชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องยอมให้พื้นที่นั้นๆ สามารถกำหนดนโยบายและแก้ไขปัญหาของตนได้เอง ซึ่งอีกนัยหนึ่งเพื่อแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งของรัฐบาลกลางให้เหลือแต่เฉพาะ ปัญหาใหญ่ๆ โตๆ กับความจริงที่ว่า รัฐบาลไม่มีทางที่จะจัดการปัญหาทุกเรื่องให้กับประชาชนได้ เพราะบางแห่งอาจมีปัญหาวัยรุ่น หมอกควัน ขี้หมูเหม็น ขยะ น้ำท่วม รถติด และอีกสารพัด ซึ่งถือเป็นเรื่องเล็กเกินกว่าที่รัฐบาลจะต้องลงมาดูแลให้ทั้งสิ้น อีกทั้งเอาเข้าจริง รัฐบาลกลางมักมีแนวโน้มที่จะเน้นความเหมือนของแต่ละพื้นที่อันจะทำให้นโยบาย ออกมาไม่ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่อยู่เป็นประจำนั่นเอง [2]

 

ถ้า ยอมรับกันว่า เป้าหมายของการเมืองไทยที่ควรเป็นยังอยู่ที่การกระจายอำนาจโดยให้ความเป็น อิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อการปกครองที่ลดน้อยลงในส่วนของรัฐตรงกลาง ทว่าสภาวะปัจจุบันอาจจะกำลังคลี่คลายไปสู่จุดตรงข้ามเสียด้วยซ้ำ กรณีทำนองนี้ คือ หนึ่งในร้อยแปดตัวอย่างที่สะท้อนชัดว่าท้องถิ่นยังคงขาดความเป็นตัวของตัว เอง และยังคงถูกชี้นำอยู่มากจนเกินไป



 



[1] เช่นที่ นายสมยศ ขอพร นายก อบต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ รับคำสั่งให้จัดทำป้ายดังกล่าวขึ้นในจุดที่สามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่รับ รู้หรือมองเห็นได้ ซึ่งงบประมาณในการจัดทำ อบต.ธนูใช้งบของ อบต.เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งการติดตั้งป้ายดังกล่าวเป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนในพื้นที่เกิดความรัก และหวงแหนในสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมายาวนานตั้งแต่อดีต อ้างถึงใน http://thainews.prd.go.th/previewnews.php?tb=NEWS&m_newsid=255205060134

[2] โปรดดูบทความ เรื่อง ขอคน เชียงใหม่กำหนดอนาคตของตัวเอง  ของผม ใน http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15666&Key=HilightNews เพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท