Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี  โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบข้อสรุปข้อเสนอของเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

 

1) เสนอปรับปรุงสิทธิประโยชน์มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 จาก 3 กรณี (คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย) เพิ่มเป็น 5 กรณี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร และชราภาพ) เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และให้เกิดความคุ้มค่ากับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว จำนวน 3,360 บาทต่อปี 

 

2) ให้รัฐบาลจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท (ตามโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ) ให้แก่แรงงานนอกระบบที่สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในปี 2552 โดยเงิน 2,000 บาท จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม (ไม่ได้จ่ายให้แรงงานนอกระบบนำไปใช้จ่าย) เพื่อลดภาระแรงงานนอกระบบในการจ่ายเงินสมทบปีแรก 

 

3) ในปีต่อๆ ไป ควรกำหนดเป็นกฎหมายให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เช่นเดียวกับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่รัฐบาลจ่ายให้ 

 

4) ควรแก้ไขกฎหมายให้การใช้จ่ายเงินสมทบ กรณีมาตรา 40 สามารถจ่ายเป็นรายเดือนแทนการจ่ายคราวเดียว จำนวน 3,360 บาทต่อปี 

 

กระทรวง แรงงานรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1.ให้เร่งพัฒนามาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 2.ให้รัฐบาลประเดิมจ่ายเงินจำนวน 2,000 บาท สำหรับแรงงานนอกระบบผู้สมัครประกันตนมาตรา 40 ในปีแรก 3.ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 40

 

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดงานเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบ เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2552 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน และ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ร่วมเป็นผู้พิจารณาข้อเสนอของผู้แทนแรงงานนอกระบบ โดยมีผู้แทนสาขาอาชีพต่างๆ เข้าร่วมงานเวทีสมัชชาฯ ในครั้งนี้ อาทิ นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบระดับชาติ, นายประจักษ์ศิลป์ บุทู ผู้แทนกลุ่มเกษตรกร, นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้แทนกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน, นายสำเร็จ มูระคา ผู้แทนผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่อิสระ ฯลฯ 

 

ในส่วนข้อมูล แรงงานนอกระบบของประเทศไทยปี 2551 มีจำนวนประมาณ 24.1 ล้านคน และแรงงานในระบบมีจำนวนประมาณ 13 ล้านคน  แรงงาน นอกระบบจึงมีขนาดใหญ่กว่าแรงงานในระบบเกือบ 2 เท่าตัว และแนวโน้มในปี 2552 แรงงานนอกระบบจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากแรงงานในระบบถูกเลิกจ้างจะกลายเป็นแรงงานนอกระบบโดยปริยาย 

 

พระ ราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 40 บัญญัติให้บุคคลที่ไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ได้ 

 

ใน ส่วนสำนักงานประกันสังคมได้ศึกษาและกำลังดำเนินการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกา เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ตามข้อ 1) และการจ่ายเงินสมทบตามข้อ 4) สำหรับข้อเสนอให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบตามข้อ 3) เป็นข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงแรงงานได้รวมอยู่ในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

ทั้งนี้ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ส่งร่างแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอโดยรัฐบาลที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงได้มีหนังสือแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แรงงานพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง หากเห็นควรดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปให้มีหนังสือแจ้งยืนยันมา ซึ่งขณะนี้ยังมิได้รับหนังสือตอบผลการพิจารณา

 

สำหรับ กรณีข้อเสนอให้รัฐบาลประเดิมร่วมจ่ายเงินสมทบมาตรา 40 จำนวน 2,000 บาท สำหรับแรงงานนอกระบบในปีแรก (ปี 2552) ตามข้อ 2) เห็นสมควรเป็นการพิจารณาในระดับนโยบายเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพ ประชาชนและบุคลากรภาครัฐ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net