สัมภาษณ์พิเศษ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ : “แก้ปัญหาไม่ได้” ไม่สำคัญเท่า “ความโปร่งใส”

 

 

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า โครงการท่องส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย มาเลเซีย ของบริษัท ทรานส์ ไทย มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีทีเอ็ม (TTM) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งชันและตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ถูกคัดค้านอย่างรุนแรงมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว แต่ใครจะรู้บ้างว่าวันนี้ หลังจากเปิดดำเนินการไปแล้วมีปัญหาอะไรบ้าง

 

หนึ่งในผู้ที่ติดตามการดำเนินงานของโรงแยกก๊าซแห่งนี้ และน่าจะอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จากการที่ต้องสัมผัสกับคนไข้ ทั้งที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อยู่บ่อยครั้ง

 

ข้อสังเกตหลายข้อ โดยเฉพาะการตรวจวัดพิษภัยจากสารก่อมะเร็งในโรงแยกก๊าซแห่งนี้ กำลังรอความกระจ่างจากโครงการยักษ์แห่งนี้

 

 

00000

 

 

ประเด็น ที่คิดว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ชุมชนรู้สึกได้ว่า มีส่วนกระทบต่อชุมชนในที่นี้ก็คือเรื่องกลิ่น ชุมชนคิดว่ามีกลิ่นเหม็น ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นชาวบ้านมีการบอกกล่าวกับโรงแยกก๊าซอยู่แล้ว โรงแยกฯ ก็รับทราบ แต่ปัญหาไม่ถูกแก้ หรือชาวบ้านที่คิดว่าปัญหานี้ยัง ไม่ถูกแก้ไข มันยังเหม็นอยู่ อันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ

 

แต่ ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ผมว่ามีคำอยู่สองคำที่ต้องทำความเข้าใจ คำแรกคือคำว่า ระดับมลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน คือทุกโรงงานต้องมีการตรวจวัดสารมลพิษที่จะปล่อยออกมา

 

ในกรณีโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย มีการตรวจวัดสารมลพิษทางอากาศด้วยหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์(H2S) หรือ ก๊าซไข่เน่า ปรอท ก๊าซไฮโดรคาร์บอน และฝุ่นละอองที่ออกมาจากปล่อง นี่เป็นการตรวจวัดตามที่กำหนดไว้ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ(EIA : Environmental Impact assessment)

 

เท่าที่ผมรู้ประมาณนี้ อาจมีมากกว่านี้ ประมาณ 9 10 ตัว ถ้ามีการตรวจวัดตามนี้ ก็ถือว่าเป็นตัวหลักมาตรฐานทั่วไป สำหรับคุณภาพอากาศสำหรับโรงงานขนาดใหญ่

 

โจทย์ ใหญ่คือ ระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานมันเป็นทัศนะทางวิศวกรรม หมายความว่า เป็นค่าเฉลี่ยที่คิดว่าไม่ปล่อยในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานแล้วคนส่วนใหญ่ จะไม่รับผลกระทบ แต่มันไม่ได้แปลว่า คนทุกคนจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าในสังคมจริงมีทั้งคนอ่อนแอและคนแข็งแรง คนอ่อนแอเช่นคนป่วย เด็ก คนแก่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ ได้รับสารพิษหรือมลพิษในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานก็อาจจะป่วยได้ อันนี้เป็น คอนเซ็ป หรือความหมายในทางการแพทย์

 

แต่ แน่นอนคนแข็งแรง ไม่ป่วยนั้น ค่ามาตรฐานเป็นคำที่ไม่อาจสบายใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับคนในชุมชน สมมุติ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ระดับค่าไม่เกินมาตรฐานตามองค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือเปล่าผมจำไม่ได้ ถ้ามัน 5 หรือ 6 ก็ไม่เกิน แต่มันปริ่มๆ เป็นต้น

 

อัน แรกคือ ระดับไม่เกินมาตรฐานเป็นระดับที่พอใช้ได้ แต่ไม่อาจว่างใจได้ อันที่ 2 คือสารพิษหรือมลพิษ มี 2 กรณี กรณีแรก คือการฉุกเฉิน มีการระเบิด มีการรั่วไหล สารพิษออกมาจำนวนมาก ซึ่งแบบนี้ก็น่ากลัวในเขตนั้น แต่มันสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว คนได้รับพิษจะมีอาการชัดเจน

 

แต่ สิ่งที่เป็นห่วงกว่าสารพิษแบบรั่วไหล คือกรณีที่ได้รับสารพิษที่ละน้อยๆ แต่เป็นเวลานานๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า โครดิดโรโดส เอ็กโพสเชอร์ คือ เอ็กโพสต่อสารพิษ แล้วหายเป็นปริมาณน้อยที่ไม่เกินค่ามาตรฐานนี้แหละ แต่เวลาเป็นเวลานานๆ เพราะบ้านเขาอยู่ที่นั้น 10 ปี 20 ปี อันนี้ยากมากไม่มีวิจัยไหนที่ยืนยันได้ว่า เขาจะเป็นอะไรหรือเปล่า เพราะว่าไม่รู้จะวิจัยกันอย่างไรแต่เชื่อว่ามีแน่

 

โรค มะเร็งที่ระยองเพิ่มขึ้น 4 เท่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง เป็นตัวบอกเลยว่า เราไม่รู้หรอกว่าเป็นสารอะไร แต่รู้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกินค่ามาตรฐานแต่นานๆ นี่แหละ ทำให้เป็นมะเร็ง

 

อัน นี้เป็นคอนเซ็ปที่ทำความเข้าใจว่า แม้ไม่เกินค่ามาตรฐานแต่ต้องได้รับนานๆ อันนี้น่าเป็นห่วง ถ้าอย่างนั้น โจทย์ใหญ่ในกรณีกลิ่น ซึ่งเข้าใจว่าไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คือ กลิ่นนี้เกิดจากสารอะไร สารเคมีตัวใด ทำให้เกิดกลิ่น ซึ่งสารที่มีการตรวจวัดจากโรงแยกก๊าซปัจจุบันนี้ ไม่ส่งกลิ่นแบบที่ชาวบ้านได้รับ ยกเว้นก๊าซไข่เน่าตัวเดียว ซึ่งการตรวจวัดก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน และเชื่อว่าไม่ใช่ก๊าซไข่เน่า เพราะกลิ่นไม่เหมือนก๊าซไข่เน่า

 

ปัญหา คือกลิ่นนี้ คือสารอะไร โรงแยกรู้หรือไม่ พยายามเข้าไปหาแล้วหรือยังว่าเป็นสารอะไร ซึ่งผมก็เข้าใจว่าเขาพอจะเดาได้บ้าง แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

 

 

หมอเคยได้กลิ่นด้วยตัวเองหรือเปล่า

 

เคยได้กลิ่น ก็เหม็นอธิบายยาก

 

โจทย์ ใหญ่ก็คือ สารอะไรและสารที่เหม็นนั้น ลำพังเพียงทำให้แค่เหม็น เหมือนกลิ่นตดเรา หรือมันเป็นสารก่อมะเร็งด้วย คือสิ่งที่ชาวบ้านจะนะชุมชนรอบโรงแยกก๊าซกังวลอย่างยิ่งว่า สารนั้นก่อมะเร็งหรือไม่กับลูกเขาที่เป็นเด็กเล็กอยู่ตรงนั้นทุกวัน

 

ได้ กลิ่นเป็นครั้งคราวตามทิศทางลมต่อเนื่องยาวนาน ลูกเขาจะเป็นอะไรไหม ตัวเขาจะเป็นอะไรไหม อันนี้ยังไม่มีคำตอบ ซึ่งน่าหาคำตอบมากครับ

 

 

แสดงว่าสารก่อมะเร็งไม่ได้มีแค่เท่าที่ตรวจวัดมันมีมากกว่านั้น

 

โอ้! มัน มีจำนวนมหาศาล สารที่วัดค่าพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อมะเร็ง แต่เป็นสารพื้นฐานของมลพิษทางอากาศที่ต้องตรวจวัด เหตุผลที่ต้องตรวจวัด ส่วนหนึ่งคือมีการปล่อยจริง แล้วก็ส่งผลกระทบต่ออากาศจริง แต่การจะตรวจวัดสารก่อมะเร็งจะยากกว่า

 

ตัวพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น สารโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือ PAHs ซึ่ง เกิดจากการเผาไหม้ไฮโดรคาร์บอน ซึ่งก๊าซก็เป็นไฮโดรคาร์บอนแบบนี้ ซึ่งสารนี้เป็นสารก่อมะเร็งแน่นอน มีการตรวจวัดอะไรอย่างนี้หรือไม่ แต่มันจะเกิดสาร PAHs นี้ส่วนใหญ่ในกรณีที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์

 

การ เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ คือการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เราดูจากเทียนตอนที่เราเป่ามันดับ ถ้ามีควันดำขึ้นมา ควันที่ดำนั่นแหละคือการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ หรือตอนที่เราก่อไฟช่วงสุมใบไม้ก่อกองไฟช่วงที่มันยังไม่เป็นเปลวไฟ ควันก็จะเยอะมาก ควันนั้นคือการเผ่าไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่ถ้าเผาไหม้ที่สมบูรณ์เป็นลูกไฟแล้ว อันนั้นคือการเผาไหม้ที่สมบูรณ์แล้ว ควันก็จะน้อย

 

ดัง นั้นการไม่สมบูรณ์นั้นมันจะเกิดสารก่อมะเร็ง เกิดสารพิษ ก๊าซพิษจำนวนมาก และสารก่อมะเร็งก็อยู่ในนั้น โจทย์ คือกลิ่นนั้นเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของโรงแยกก๊าซหรือไม่ เพราะถ้าเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของโรงแยก ซึ่งเรารู้ได้จากการดูปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ หรือปริมาณคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ ที่ปล่อยออกมาในบรรยากาศ ซึ่งอาจเกินปริมาณที่ควรจะเป็น ซึ่งมันเป็นตัวสะท้อนถึงการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นตัวสะท้อนทางอ้อมถึงการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เราก็พอจะรู้ได้

 

เพราะ ถ้ามีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จริงจะทำให้เกิดสาร นอกจากสารที่เราได้กลิ่นแล้ว มันอาจเกิดสารก่อมะเร็งที่ไม่มีกลิ่นขึ้นมาด้วย เช่น สารไดออกซินที่เราเคยได้ยิน

 

กรณี โรงเผาขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ที่คนหาดใหญ่กังวลมาก คือสารไดฮอกซินที่จะปล่อยออกมาจากปล่องควันจากโรงเผาขยะหาดใหญ่ที่ไว้ใช้ ผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะการเผาขยะมีโอกาสเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์สูงมาก

 

ที่ น่ากลัวคือ มีสารอื่นที่ไม่มีกลิ่นและเป็นสารพิษที่มีโอกาสก่อมะเร็ง หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพหลุดออกมาด้วยไหม อันนี้ไม่รู้ใครจะตอบ ผมเป็นหมอคนหนึ่งในโรงพยาบาลจะนะ ก็ตอบไม่ได้ เพราะการวัดสารเหล่านี้มันต้องทำกันอย่างจริงจัง มีมาตรฐานทางวิชาการที่ตรวจวัด ซึ่งแน่นอนไม่ถูกเขียนใน EIA

 

โรงแยกก๊าซก็ไม่ผิดที่ไม่วัด เพราะไม่ระบุใน EIA แต่ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านกังวล ถ้าโรงแยกอยากจะอยู่กับชาวบ้านอย่างมีความสุขเป็นโรงงานสีเขียวที่ชุมชนรัก จริง ก็ต้องแก้โจทย์นี้ให้จบ ซึ่งทำได้ในหลักวิชาการที่วัดอย่างจริงจังด้วยคนกลางที่ชาวบ้านเชื่อถือ และก็ยอมรับความจริง แก้ปัญหา อย่างน้อยกลิ่นมีแล้ว กลิ่นมีแน่ ถ้าจัดการสิ่งเหล่านี้จึงจะได้ความเชื่อถือจากชุมชน

 

กองทุน พัฒนาอาชีพและสังคมในอำเภอจะนะ 10 ล้านบาท กองทุนพัฒนานกเขาชวาอีก 1 ล้านบาท แล้วกองทุนพัฒนาประมงอีก 1 ล้าน ไม่ได้แก้ความข้องใจของชาวบาน เรื่องกลิ่นเหม็นและสารก่อมะเร็ง มันคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ผมว่าเป็นเรื่องใหญ่ เอาเงินไปให้ชาวบ้านแบบนั้น มันเหมือนเอาเงินไปปิดปาก เงินมีฐานะแค่ปิดปากแต่ปัญหายังอยู่และหนักขึ้นไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ไข

 

 

สารทั้ง 8 9 ตัวที่ว่า แต่ละตัวมันอันตรายขนาดไหน แล้วแค่ไหนถึงจะอันตราย แล้วมันอันตรายอย่างไร

 

สาร ที่เกี่ยวกับมลพิษทางอาการส่วนใหญ่เป็นก๊าซ ในระดับค่ามาตรฐานหรือเกินค่ามาตรฐานไม่ไดส่งผลอันตรายอะไรมากนัก นอกจากกรณีก๊าซรั่ว ก๊าซระเบิด ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีรั่ว ถ้าคนรับในปริมาณมากๆ ก็จะเป็นลม สลบ ระดับออกซิเจนลดลง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่โอกาสเช่นนี้มีน้อย

 

ยก ตัวอย่าง เช่น ฝุ่นออกมาจากปากปล่อง ถ้าสูดบ่อยๆ ก็จะเข้าไปสู่ปอด มันก็สะสมในปอดก็เหมือนกับคนสูบบุหรี่ ปอดก็จะมีความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง กลายเป็นโรคถุงลมโป่งพองบ้าง หรือในอนาคตอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น แต่ตัวมันเองไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่มันทำให้ความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนลดลง ความยืดหยุ่นของปอดลดลง ในการขยายตัวหดตัวลดลง มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

 

นอก นั้นก็ปรอท สารนี้ก็โดยตรง ปรอทที่ออกมาในอากาศควรต้องมีการตรวจวัด เพราะก๊าซในอ่าวไทยมีปรอทเยอะ แม้จะมีหน่วยแยกปรอททั้งที่ปากหลุมและที่โรงแยกก๊าซอยู่แล้ว แต่ก็ต้องตรวจวัด ในที่สุดปรอทที่ฟุ้งขึ้นไปในอากาศก็ต้องตกลงมาสู่พื้นดิน ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ถึงจะเป็นโมลิกุลเล็กฟุ้งขึ้นไป สักวันหนึ่งก็ต้องตกลงมาอยู่บนพื้นดิน

 

ถ้า มองโลกในแง่ร้าย มองในระยะยาวก็ไม่ดีแน่ๆ แต่ถ้ามองโลกที่จะต้องอยู่กับอุตสาหกรรมก็พอที่จะยอมรับได้ ถ้าปริมาณที่ออกมานั้นอยู่ในค่าที่ไม่เกินมาตรฐาน ด้วยความหวังว่าเขาจะพยายามกำจัดปรอทอย่างเต็มที่ เท่าที่เทคโนโลยีของมนุษยชาติจะมี

 

แต่ เราก็เข้าใจว่ามันก็ไม่สามารถกำจัดได้ 100% แต่ถ้าเทคโนโลยีในปัจจุบันกำจัดได้ 80% แล้ว 90% แล้วเขาใช้เทคโนโลยีที่มันกำจัดได้ 90% แล้วหรือยัง หรือไปซื้อเทคโนโลยีราคาถูกที่กำจัดได้แค่ 50% แต่ต้นทุนต่ำอันนี้ผมไม่รู้ ชาวบ้านไม่มีทางรู้ อันนี้เป็นเรื่องของวิศวกรรม เป็นเรื่องการออกแบบโรงงาน เพราะอย่างนั้นต้องอาศัยความจริงใจของเจ้าของโรงงานมากเลยว่า มีสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนที่เข้ามาอยู่แค่ไหน เป็นเรื่องที่ยากที่จะเข้าไปควบคุม

 

 

จากที่หมอได้เข้าไปสัมผัสในโรงแยกก๊าซ ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่พบลักษณะของงานที่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างอย่างไรบ้าง

 

ผม ดูไม่ออก เพราะเป็นหมอ แต่กระบวนการทางวิศวกรรมมันอยู่ในหอกลั่นมันถูกมอนิเตอร์ด้วยเข็ม ด้วยตัวเลขที่ฉาบฉวยนิดหนึ่ง ไม่มีทางรู้ การจะดูพวกนี้ต้องดูเป็นกราฟ กราฟเปรียบเทียบข้อมูลตลอดเดือน ตลอด 5 เดือนย้อนหลัง ระดับเดิมระดับคาร์บอนไดออกไซค์ที่ปล่อยเคยอยู่เท่านี้ แต่ทำไม 3 เดือนนี้ 5 เดือนนี้ มันสูงขึ้นในบรรยากาศ มันปล่อยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับกลิ่นที่เหม็นมากพอดีก็ สันนิฐานว่ากลิ่นนั้นน่าจะเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้น เรื่องพวกนี้ต้องใช้นักวิชาการมาดูปรากฏการณ์และมาอธิบาย มันไม่ได้ง่ายๆ

 

ยก ตัวอย่างทางการแพทย์ คนไข้คนหนึ่งไข้เป็นอะไรก็ไม่รู้ มาหาหมอ หมอเจาะเลือด คือถ้าเจาะเลือดเพื่อตรวจไข้อย่างเดียวเจาะกันเป็นขวดโค๊ก คือมันต้องศึกษาให้เฉพาะเจาะจง แล้วก็เอาไปตรวจสันนิฐานว่ามันเกิดจากอะไร ตรวจให้เจาะจงมันก็ไม่สิ้นเปลื้อง

 

อัน นี้มันไม่น่าเป็นห่วงเฉพาะชาวบ้าน คนที่น่าเป็นห่วงมาก คือเจ้าหน้าที่โรงแยกก๊าซเอง เพราะได้รับสารนั้นด้วย แต่เจ้าหน้าที่จากโรงแยกอาจได้น้อยกว่าเจ้าบ้านแน่นอน คือส่วนหนึ่งเพราะเขาทำงานในห้อง สวนที่สองคือปล่องควันมันอยู่สูงมาก การฟุ้งกระจายออกข้าง มันไม่ตกมาอย่างรวดเร็ว มันจะตกห่างประมาณ 1 กิโลเมตร หรือ 500 เมตร แล้วแต่น้ำหนักโมลิกุลของสารนั้น

แล้วส่วนที่มีการเผาไหม้ตรงปลายปล่อง เป็นการเผาอะไรและส่งผลกระทบอย่างไร

โรง แยกก๊าซต้องมี เปลวไฟสุดท้ายที่ปล่องก่อนที่จะปล่อย เพื่อเผาสารที่ไม่รู้อะไร เผาให้มากที่สุดก่อนที่ปล่อยออกไป เพราะสารส่วนใหญ่ถูกเผาด้วยความร้อนสูงก็จะสลายตัว กลายเป็นแค่คาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่มีพิษ เป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารพื้นๆ แทนที่จะเป็นสารโมลิกุลใหญ่ซับซ้อน โมลิกุลใหญ่นี่เหละที่ทำให้เกิดกลิ่น แต่ไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง

 

แต่ เมื่อไหร่มันถูกเผาสมบูรณ์ มันจะกลายเป็นสารทั่วไปหรือสารพื้นฐานน้อยลง คาร์บอนไดออกไซด์ก็ทำให้โลกร้อน คาร์บอนมอนน๊อกไซด์ก็ทำให้โลกร้อน ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ก็พอไหว แค่กัดกร่อน ฝนกรด หรือแสบจมูก แสบตา แต่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นต้น ไนโตรเจนออกไซด์ก็ไม่ก่อมะเร็ง อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะฝากโรงแยกก๊าซดำเนินการ

 

ใน ส่วนของโรงพยาบาลก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านพอสมควร ก็มีการคุยกันในส่วนของโรงพยาบาลว่า จะทำอย่างไร ก็คิดว่าจะเสนอเรื่องนี้ให้กับคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยทำหนังสือไปจากโรงพยาบาลด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อให้มีการแก้ไข้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

จริงๆ ไม่ทำก็ได้นะครับ จริงๆ ราชการไม่ทำไม่ผิด ถ้าทำอาจผิดได้ คือเล่นเกินบทบาท แต่เรื่องนี้ในบทสุขภาพเราต้องทำ จะได้ดูแลสุขภาพประชาชน ไม่ปล่อยให้ป่วยแล้วมารักษา มะเร็งมันรักษากันไม่ได้ รักษากันยาก กว่าจะรู้ก็อีก 10 ปี 20 ปีขึ้นไป ถึงตอนนั้นก็แย่แล้ว

 

จริงๆ บทบาทในการติดตามมีชัดเจนมีคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานและก็มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด เป็นกลไกที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว แต่ก็น่าเห็นใจส่วนราชการทั้งในเชิงเครื่องมือ เครื่องไม้ หรือการกดดันจากกลุ่มทุนที่เชื่อว่ามี

 

ปัจจุบัน มีทหารเฝ้าโรงแยกก๊าซอยู่ด้วย อันนี้ก็น่าสนใจมากว่าเฝ้ากันทำไม ยังไม่ไว้วางใจชาวบ้านหรือ สิ้นเปลืองงบประมาณขนาดไหนหลายร้อยคน โดยตั้งค่ายอยู่ด้านฝั่งติดทะเล ทหารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบชัดเจนด้วยและสามารถเป็นสักขีพยานได้ ดีที่สุด หมายถึงกลิ่นเหม็น

 

มี ทหารอย่างน้อยหนึ่งคนมาหาผมที่โรงพยาบาลหลายครั้ง จนผมคิดว่าเขานั้นเป็นกลุ่มที่มีการตอบสนองไวต่อมลพิษทางอาการกว่าเพื่อนๆ เขาทำให้เขาเวียนหัวเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ แน่นหน้าอก หายใจขัดๆ ซึ่งรักษาแล้วก็ไม่ดีขึ้น

 

ผม ถามว่า ในช่วงที่เขากลับบ้านต่างจังหวัดอาการดีขึ้นไหม เขาก็บอกว่าดีขึ้น พอกลับมามาทำงานก็มีอาการอีก ผมก็ตั้งสมมุติฐานว่าเขาน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อการรับมลพิษ แสดงอาการเร็วกว่าบุคคลอื่น ถึงแม้ว่ามลพิษไม่เกินค่ามาตรฐาน เขาก็มีอาการ ผมก็เลยแนะนำว่าให้คุยกับผู้บังคับบัญชา เพื่อขอย้ายและเขาก็คุยกับผู้บังคับบัญชาโดยที่ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ว่าอะไร ผมก็เลยส่งใบรับรองแพทย์ไปให้ ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายแล้ว เป็นต้น

 

นั่น แสดงว่าเขาเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่ว่าทุกคนที่หนุ่มแน่น แปลว่าจะแข็งแรง มันอยู่ที่ยีนของเราว่า ยีนของเรามีความไวต่อสารเหล่านั้นไหม

 

ทำไม คนบางคนสูบบุหรี่ทั้งชีวิตไม่เป็นมะเร็ง และอีกบางคนที่กินเหล้าทั้งชีวิตตับไม่แข็ง ไม่เป็นมะเร็งเพราะว่าเขาไม่มียีนที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับ แต่บางคนสูบบุหรี่ 3 ปี 5 ปี เป็นมะเร็งปอด และอีกบางคนที่กินเหล้าไม่เยอะแต่เป็นมะเร็งตับ เพราะเขามียีนหรือปัจจัยอื่นมาหนุนทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้

 

เขา มียีนที่มีโอกาสเป็นตัวมะเร็งอยู่แล้ว ร่างกายเขาพร้อมทีจะมีเซลล์ที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว แต่เมื่อกระตุ้นด้วยสารพิษด้วยเหล้า ด้วยบุหรี่ซึ่งเป็นมลพิษก็แสดงอาการออกเป็นตัวมะเร็ง

 

 

ถ้าอย่างนั้น ค่ามาตรฐานตรงนี้ในทางสุขภาพก็ใช้ไม่ได้

 

ใช้ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่อาจการันตีได้ว่า ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานนั้น คนทั้งร้อยคนจะปลอดภัย 100% ประโยคนี้ไม่จริง ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจผิดอยู่ ถ้าไม่เกินค่ามาตรฐานเราจะปลอดภัย ไม่จริง เราอาจไม่ปลอดภัย ถ้าหากเรามียีนที่ไวต่อสารมลพิษนั้นก็ได้ หรือเราเป็นคนที่อ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก คนแก่ ก็ได้

 

แต่มันตลกนะ คือ ไม่เกินค่ามาตรฐานแต่มันเกือบถึง นักวิทยาศาสตร์เอาอะไรมาตัดว่าเกิน 7 แปลว่าเสี่ยง น้อยกว่า 7 แปล ว่าปลอดภัย ถ้ามัน 6.9 ล่ะ ความคาดเคลื่อนในการตรวจวัดมีอยู่แล้ว 6.8 ละทำไม่คุณไม่ตัดที่ 6 ล่ะ ทำไม่คุณตัดที่ 7 เอาเหตุผลอะไร ถ้าไล่กันมันหาคำตอบ มันยากมาก สุดท้ายค่าที่ 7 เป็นค่าประมาณการ ส่วนใหญ่คนไทยก็รับตามฝรั่งมา

 

ยีน คนไทยกับคนฝรั่งก็ไม่ตรง ฝรั่งตัวทั้งใหญ่ เราตัวเล็ก ความแม่นย่ำของเครื่องมือวัดก็ต่างกัน เครื่องมือราคาถูกๆ มันก็คลาดเคลื่อนสูง

 

การ ตรวจวัดเป็นการตรวจวัดที่มีค่าเฉลี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเฉลี่ยใช้ไหม 24 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วเท่ากับ 7 แต่แท้ที่จริงแล้วมีค่าสูงสุด หรือ แม็กซิมั่ม ของวันนั้น และค่าต่ำสุด การใส่ก๊าซมลพิษนี้มีค่าที่แกว่ง เดี๋ยวสูง เดี๋ยวต่ำ บ้างช่วงเป็นค่าสูงจากค่ามาตรฐานก็มี ถ้าอย่างนั้น ค่าที่รายงานออกมา คือค่าเฉลี่ยแท้ที่จริง การายงานที่ดีต้องดู 3 ค่า คือ ค่าสูงสุดของวันนั้น ค่าเฉลี่ย และค่าต่ำสุดของวันนั้น อย่างนี้จะดีกว่ารายงานค่าเดี่ยว

 

จริงๆ การที่เขาจะเฉลี่ยได้เขาต้องตรวจวัดทั้งค่าสูงสุดและต่ำสุดอยู่แล้ว ถึงจะเฉลี่ย แล้วมาเฉลี่ยกันเป็นค่ากลาง แต่ค่าสูงสุดนั้นชาวบ้าเคยเห็นไหม หน่วยวิชาการอื่นเคยรู้ไหม มันโปร่งใสแค่ไหนในการเข้ามาดูปัญหานี้ร่วมกัน

 

ความ โปร่งใสสำคัญกว่าการแก้ปัญหาได้ จริงๆ แล้วกลิ่นสุดท้าย อาจจะแก้ไม่ได้หรอก เพราะว่ามันแก้ยากมาก แต่ถ้ามันโปร่งใสชาวบ้านก็สบายใจ พอจะยอมรับได้ แต่ความไม่โปร่งใสยอมรับไม่ได้ ไม่รู้อะไรปิดอยู่

 

 

ถ้าพูดอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องคนอ่อนแอที่สุดแบบนี้ ก็ต้องมีคนบอกว่า ก็ไม่ต้องพัฒนากัน

 

มัน คนละประเด็นกัน อย่างการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องพัฒนาบนพื้นฐานที่คนที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือคนที่เสียสละ ไม่ได้รับผลกระทบจนเกินไป ซึ่งทำได้ แต่ต้นทุนทางอุตสาหกรรมต้องสูงขึ้น คงต้องติดตั้งเครื่องจักรมากขึ้น ยกตัวอ่างที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่เขาต้องติดตั้งเครื่องกรองซัลเฟอร์ได ออกไซด์ เพื่อไม่ให้เกิดฝนกรด เครื่องหนึ่งรวมแล้วเป็นหมื่นล้าน ยอมติดตั้งไหม ถ้ายอมติดตั้งก็โอเค ช่วงหลังๆ ปัญหาที่แม่เมาะน้อยลงมาก ที่เป็นปัญหาอยู่ก็เป็นปัญหาเก่าเรื้อรัง ของเดิมเสียส่วนมาก ในส่วนของอุตสาหกรรม ก็จะเอาส่วนนี้ที่เป็นกำไร ก็เลยไม่ค่อยยอมกัน

 

 

หมายถึงว่าการลงทุนทางสิ่งแวดล้อมต้องลงทุนสูง

           

แล้ว ก็การเฝ้าระวังก็เรื่องสำคัญ จริงๆ แล้วก็คอยระวังได้ว่าช่วงนี้ระดับสารในบรรยากาศมันเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้ผู้คน ไอ จาม คัดจมูก แสบปาก แสบคอ แสบตา ผิดปกติมากขึ้น มันก็พอจะเฝ้าระวังได้ แต่จะเฝ้าระวังที่โรคมะเร็งไม่ได้ กว่ามันจะเกิดก็นาน แต่เราสามารถเฝ้าระวังตระดับอาการได้ เช่น เราไปวิจัยในระดับชุมชนว่า เดิมคนในชุมชนมีการแพ้อากาศจำนวนไม่มาก แต่ตอนนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ สิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเฝ้าระวังได้

 

การเฝ้าระวังในมนุษย์ ยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน EIA เพราะ EIA ทำมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม คือดูว่าก๊าซที่ออกมามีสารอะไรบ้าง เกินมาตรฐานไหม การเฝ้าระวังในคนไม่ได้อยู่ในมาตรฐาน EIA ซึ่งประเทศไทยต้องมีการพัฒนาต่อไป เป็น HIA คือการศึกษาผลกระทบทางด้านสุขภาพ (Health Impact assessment) คือมาเจาะจงที่คน ว่าคนได้รับผลกระทบไหม ไม่ใช่เฝ้าแต่สิ่งแวดล้อม

 

สิ่ง แวดล้อมบอกว่าปล่อยน้อยๆ แต่คนจะตายแล้วก็ได้ สิ่งแวดล้อมบอกว่าปล่อยมากๆ แต่คนมีความสุขอยู่กันได้ การตรวจวัดที่ดีคือการตรวจวัดที่คน การตรวจวัดหรือการเฝ้าระวัง แบบการเฝ้าระวังในมนุษย์ต้องมีการพัฒนารูปแบบ ซึ่งพึ่งถูกพูดถึง คงต้อง 5 ปี 10 ปี เป็นอย่างน้อย จึงต้องสถาปนาเป็นสิ่งที่ทุกโรงงานต้องทำ

 

 

ดูเหมือนว่า EIA ถูกกล่าวอ้างเยอะแต่ก็ไม่ได้ทำตามเลยก็มี

 

มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ใครจะเป็นคนมอนิเตอร์

 

 

แล้วอีกอย่างใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ก็ไม่มีบทลงโทษสำหรับเจ้าของโครงการที่ไม่ทำตามEIA

 

ไม่ทำตาม EIA ก็ ไม่ได้ แต่ถ้าทำเขาก็อยู่ไม่ได้ ไม่ตรวจวัด ปล่อยให้คลุมๆ เครือๆ พออยู่ได้ เพราะถ้าตรวจวัดแล้วเกินมาตรฐานบ้าง วัดแล้วเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบ้าง อันนี้เขาอาจจะอยู่ลำบากขึ้น ถ้าอย่างนั้นไม่ตรวจวัดดีกว่า

 

ชาว บ้านตั้งคำถามกับผมว่า น่าสนใจมากว่า โรงแยกก๊าซไม่พยายามตรวจวัดว่า สารนั้นคือสารอะไร กลิ่นนั้นเป็นสารอะไร เพราะรู้อยู่ในใจแล้วหรือเปล่าว่า มันเป็นสารก่อมะเร็ง ขืนตรวจวัดออกมามันจะชัดเจน แจ่มแจ้งเข้าจะลำบาก ซึ่งความคลางแคลงใจ

 

ทั้งหมด นี้ควรได้รับการตอบให้ชัดๆ ไม่ไช่เพื่อความสบายใจของชาวบ้าน แต่เพื่อความเป็นธรรมของสังคม ที่ชาวบ้านต้องอยู่กับมัน วิศวกรมาอยู่ก็ไป เจ้าของ TTM มาอยู่แล้วก็ไป แต่ชาวบ้านอยู่กับโรงแยกก๊าซตลอด

 

 

การร้องเรียนตรงนี้ชาวบ้านร้องเรียนมานานเท่าไหร่แล้ว

 

เรื่องกลิ่นมีมาเป็นปีแล้ว แรกๆ ก็พอไหวให้โอกาสTTM แก้ไข เขาก็รับปากชาวบ้านว่าจะแก้ไข แต่หลังๆ ชัดรู้สึกว่ามันยังไม่ถูกแก้ไข เพราะยังมีกลิ่น ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางลม ถ้าลมโชยเข้าหมู่บ้านก็จะได้กลิ่น

 

 

มีชาวบ้านกี่รายที่ร้องเรียนว่ามีปัญหา

 

เยอะ ครับ แล้วแต่โอกาสว่าผมมีเวลาให้กับคนไข้มากแค่ไหน มีเวลาให้มากก็จะได้นั่งพูดคุยกัน คนไข้ก็จะเล่าให้ฟัง แต่เชื่อว่าคนบ้านตลิ่งชัน คนบ้านสะกอม ทุกคนถ้าถามว่า เคยได้กลิ่นนี้ไหม แทบทุกคนจะตอบว่าได้กลิ่นเหม็น

 

มัน เป็นธรรมกับเขาไหมที่จะต้องรับกลิ่นนี้ ทั้งๆ ที่เชื่อว่าน่าจะจัดการได้ และตอนที่จะสร้างโรงแยกไม่ได้บอกว่าสร้างแล้วจะเหม็น บอกว่าสร้างแล้วอากาศบริสุทธิ์ ไม่สงผลกระทบต่อชุมชน แต่นี้มันเหม็น ความเหม็นนี้มันเป็นความทุกข์

 

 

แล้วในกรณีของโรงไฟฟ้าจะนะที่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเดียวกับโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย มาเลเซีย เป็นเชื้อเพลิง

 

โรงไฟฟ้าจะนะใช้ก๊าซจากหลุมเดียวกัน แต่ว่าก๊าซของโรงไฟฟ้าไม่ได้แยกที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย มาเลเซีย แต่นำมาเผาเป็นพลังงานให้เกิดความร้อน ไปหมุนกังหัน 1 รอบ ความร้อนที่เหลือก็นำไปต้มน้ำก็ไปหมุนกังหันรอบ 2 ก็จะเป็นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม

 

โรง แยกก๊าซกับโรงไฟฟ้าจะนะปล่อยก๊าซออกมาก็ไม่ต่างกันมาก แต่ข้อต่างที่สำคัญคือ โรงไฟฟ้าจะนะมีวัฒนธรรมการเปิดข้อมูลมากกว่าโรงแยกก๊าซอย่างชัดเจน เปิดตัวอย่างต่อสาธารณะ ยอมรับตัวเองต่อสาธารณะ วัฒนธรรมองค์กรเขาเป็นแบบนั้น

 

อาจ จะเป็นเพราะเขาเป็นรัฐวิสาหกิจ เข้าคิดถึงกำไรน้อยหน่อย เพราะอยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ แต่วัฒนธรรมไฟฟ้านั้นเปิดกว่ามากเลย เพราะเราเข้าไปขอข้อมูล เข้าไปดูข้อมูล เข้าไปคุยด้วย เขาตอนรับ ให้ข้อมูลเต็มที่ ลงรายละเอียดแลกเปลี่ยนกันได้ แต่ว่าวัฒนธรรมของโรงแยกก๊าซนี้คนละแบบกัน ไม่เชื่อลองเข้าไปดู ซึ่งอยากให้โรงแยกก๊าซเปลี่ยนนะครับ

 

ไม่ สำคัญเรื่องคำตอบ สำคัญเรื่องความโปร่งใส และยอมรับความจริง ชาวบ้านก็ไม่ใช่จะเรียกร้องว่าไม่มีอะไรออกมาเลยจากปากปล่อง เขาต้องการรู้ความจริง ต้องการการยอมรับความจริง เวลาหมอโดนฟ้อง ก็ไม่ใช่หมอที่ไม่โดนฟ้องไม่ผิด แต่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับความจริง ดูแลผิดพลาดไปยอมรับความจริง เขาเห็นเราทำงานอย่างเต็มที่เขาก็ให้อภัยเราได้ และที่โดนฟ้องส่วนใหญ่ คือไม่ยอมรับความจริง เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เลยร้องเรียนฟ้องกันขึ้นมา

 

ผม คิดว่าเขายอมรับความจริงได้ ขอให้โปร่งใสมีอะไรให้บอกกล่าว ให้เขาเตรียมตัวบ้าง ให้เขารู้บ้าง เขายอมรับได้เรียกร้องบ้างก็ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ได้เรียกร้องไม่ให้ปล่อยสารอะไรออกมาหรอก เป็นไปไม่ได้ ชาวบ้านก็รู้ แต่ให้เขาเข้าใจว่ากลิ่นเหม็นมาจากอะไร

 

 

ที่ผ่านมีการส่งทีมแพทย์มาตรวจสุขภาพชาวบ้านด้วยหรือไม่

 

มี แต่เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป เจ็บป่วยไหม เป็นหวัด คัดจมูก ปวดเอว ปวดหลัง ใครไม่สบายก็มาหาได้ ทาง TTM มี การจ้างแพทย์เอกชนมาตรวจให้ชาวบ้านเป็นครั้งคราว ในระดับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ เป็นการตรวจหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เชิงปฏิบัติการจิตวิทยา คือไม่มีผลต่อการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นฐาน

 

 

ผลการตรวจค่ามาตรฐานต่างๆ มีการเอาไปใช้ประโยชน์ต่อในเรื่องสุขภาพหรือเปล่า

 

โรงพยาบาลจะนะ ไม่เคยรับรู้ตัวเลขเหล่านี้เลย ถ้าจะรู้ต้องขอจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการไตรภาคี โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย มาเลเซีย ซึ่งเป็นข้อมูลที่เขาสรุปมาเป็นกระดาษแล้ว แต่ข้อมูลดิบจริงๆ นั้นซิที่น่าสนใจ ข้อมูลดิบคือผลการตรวจจับ ที่มีการลงรายละเอียด

 

ที่ น่าสนใจคือโรงแยกก๊าซตรวจวัดปีละ 3 ครั้ง ต่างจากโรงไฟฟ้าจะนะที่มีการตรวจสารมลพิษทุกวันอย่างเป็นระบบ ตรวจวัดต่อเนื่องทุกวันที่ปากปล่อง ตรวจวัดสาร 5 ตัวที่เป็นสารพื้นฐานคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ฝุ่น และไนโตรเจนออกไซด์ ถ้าค่าเกินมาตรฐานก็จะมีเสียงเตือน และจะมีการลดการเดินเครื่อง ลดระดับการปล่อยมลพิษลง

 

นี่ คือระบบของโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งถือว่าเคารพต่อสิทธิชุมชนกว่าโรงแยกก๊าซ เพราะโรงแยกก๊าซ ถ้าตรวจ 3 เดือนครั้ง คือตรวจแบบสุ่ม เพราะช่วงที่ตรวจนั้นปกติไม่ได้หมายความว่า ช่วงอื่นที่ไม่ได้ตรวจจะปกติด้วย ซึ่งประโยคนี้อาจจะไม่จริงก็ได้ ก็เหมือนตอนที่จะมีคนเข้าไปตรวจโรงงานทางโรงงานก็ดูแล บำบัดน้ำเสียอย่างดี พอช่วงที่ไม่มีใครมาตรวจแล้วใครจะไปรู้ล่ะ กรณีโรงแยกก๊าซ มาตรฐานการตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าโรงไฟฟ้า

 

 

ผล การตรวจค่ามาตรฐานต่างๆ เหล่านั้นสำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด เอามาใช้ประโยชน์ต่อหรือไม่ เช่น เมื่อมีค่าตัวเลขเป็นแบบนี้ ในทางสาธารณะสุขก็ควรจะมีการแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ หรือควรจะป้องกันอย่างนี้ เป็นต้น

 

ยัง ไม่เคยมี มันเป็นสิ่งที่สาธารณสุขต้องนำไปพัฒนา อย่างในกรณีของโรงไฟฟ้าจะนะ สมมุติระดับค่ามันเกินค่ามาตรฐาน แต่ที่โรงไฟฟ้าจะนะทำคือการลดกำลังการผลิต เมื่อลดกำลังการผลิตก็จะปล่อยมลพิษน้อยลง ค่าที่ได้ก็จะลดลง แต่ถ้าลดกำลังการผลิตแล้วไม่สามารถลดระดับค่ามลพิษได้ โดยหลักการก็ต้องแจ้งเตือนชุมชนให้ทราบ

 

เนื่องจาก สารพวกนี้โอกาสที่จะเกินค่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่มาก ถ้าเนื่องจากเป็นสารที่ถูกควบคุมกำกับ แต่ที่น่ากลัวคือการที่ไม่ถูกตรวจวัดและไม่ถูกควบคุมกำกับ ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องมีการตรวจวัดด้วย แม้ EIA จะไม่เขียนไว้ก็ตาม และไม่เข้าใจว่าทำไม EIA ถึง ไม่เขียน อาจคิดมันเป็นการเผาไหม้สมบูรณ์ก็ได้ก็เลยไม่เขียน อย่างเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สารโปรลีอาโรติก ไฮโดรคาร์บอนกับไดออกซิน เกิดแน่นอน เป็นสารก่อมะเร็งด้วย ทำไมไม่วัดหรือเพราะ EIA ไม่เขียน

 

 

แสดงว่ากฎหมาย EIA มันล้าหลังเกินไป

 

ถูก ต้อง จริงๆ สิ่งที่ก้าวหน้าคือไตรภาคี แต่เสียงของชาวบ้านในไตรภาคีมันยังเบามาก อย่างปัญหาเรื่องกลิ่น มันเข้าไปในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี แต่มีเสียงอ่อนมาก จึงยังไม่ถูกแก้ไข ไม่แก้แล้วไม่มีผลอะไรต้องรอการประชุมใหม่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

ใน EIA ระบุเป็นสารพื้นฐานที่ต้องวัดต้องตรวจ แต่ที่มีปัญหาที่มันอยู่นอก EIA คณะ กรรมการไตรภาคีต้องจัดการ คณะกรรมการไตรภาคีไม่ได้บอกว่าปิดโรงงาน อย่างนั้นไม่ใช่ไตรภาคี หน่วยงานที่สั่งปิดได้มันมีอยู่แล้ว เราก็รู้ และเราก็ไม่ได้ทำถึงขนาดให้มันปิดหรอก เพียงแต่สร้างกลไกให้อยู่ร่วมกันได้

 

 

นอกจากเรื่องกลิ่นแล้ว ในส่วนที่หมอรักษา มาจากผลกระทบด้านอื่นอีกหรือไม่

 

เรื่อง อื่นยังไม่ชัดเจน เรื่องอื่นไม่ใช่เรื่องสุขภาพโดยตรง อย่างเช่น ป่าพรุแถวนั้นไม่มีปลา วัวลงไปกินน้ำในพรุแล้วก็ตายบ้าง กุ้งเคยในทะเลลดลง น้ำบ่อแห้ง น้ำบาดาลที่เขาเคยใช้หรือมีลักษณะที่เปลี่ยนไปไม่กล้าเอาไปใช้ อะไรอย่างนี้ อันนี้คือไม่ได้มีผลต่อสุขภาพโดยตรง เป็นเสียงบ่นที่ชาวบ้าน

 

 

เพราะมันพิสูจน์ไม่ได้หรือยังไม่ได้พิสูจน์

 

มัน ต้องการการพิสูจน์ที่เป็นหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่านี้ แต่เป็นหน้าที่ใคร หน้าที่ชาวบ้านมันก็ไม่ใช่ นักวิชาการไม่มีเงินให้มาทำวิจัยก็ไม่ลงมา คือสังคมไทยไม่มีกลไกเปลี่ยนความทุกข์ เปลี่ยนคำร้องเรียนให้เป็นการหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริงๆ ไตรภาคีนี่แหละคือความหวัง

 

ถ้า คณะกรรมการไตรภาคีสั่งให้หน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ ไปดำเนินการหรือให้โรงไฟฟ้า หรือโรงแยกก๊าซเป็นคนจ่ายค่าตรวจ แต่ตรวจโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.)มาตรวจ ไม่ได้ตรวจเอง ให้มีบุคคลที่สาม มาตรวจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จริงๆ ก็ทำได้

 

 

แต่ดูเหมือนว่าคณะกรรมการไตรภาคี โดยเฉพาะประธาน ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัดขยับน้อยไปหน่อย

 

ใช่ คณะกรรมการไตรภาคีที่มีหน่วยงานภาครัฐมีความเข้มแข็งทางวิชาการน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดท่านทำพันเรื่องหมื่นเรื่อง เพราะอย่างนั้นท่านไม่ไหวหรอก อยู่ที่คนชงเรื่อง ทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมจังหวัดมีหน้าที่โดยตรง ถ้าคุณไม่ชง ผู้ว่าฯ ท่านไม่รู้เรื่องหรอก ผมรู้เพราะว่าผมเป็นหมอ แต่ถ้าให้ผมดูเรื่องสิ่งแวดล้อมผมก็ดูไม่เป็น มันต้องมีคนชง สิ่งแวดล้อมจังหวัดดำเนินงานอย่างเต็มที่หรือยัง ดำเนินงานเต็มที่ได้ไหม หรือดำเนินงานเต็มที่แล้วเขาอยู่ไม่ได้ เพราะจะมีคำสั่งผู้ใหญ่มาย้ายเขาหรือเปล่า

 

 

กรณีการขนก๊าซธรรมชาติเหลว จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

 

ก๊าซธรรมชาติเหลวที่ขนทางรถกับกรณีที่ยังไม่ผ่าน EIA ใน ส่วนตัว สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือกรณีรั่วไหล ถ้าไม่รั่วไม่ไหลก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร มันก็คงอยู่ในถังที่ส่งไปส่งมา แต่ถ้ารถคันนั้นไปคว่ำหรือชน หรือเสียกลางทางแล้วก๊าซธรรมชาติเหลวรั่ว มีความพร้อมในการจัดการสิ่งเหล่านี้ไหม ถ้ารั่วหน้าบ้านของคุณยายหรือในที่หนาแน่น ชุมชนรู้ไหม เขามีแผนอพยพไหม เขาจะโทรหาใคร เขาเตรียมตัวป้องกันอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าทำ EIA เขา ก็ต้องให้มีการซ้อมแผน มีการเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นรถดับเพลิง รถฉีดโฟม หรือเรื่องของแผนเผชิญเหตุต่างๆ ความพร้อมของโรงพยาบาลในการดูแลคนไข้ หมอจะรู้ไหมว่าโดนสารอะไร

 

สมมุติ ว่าก๊าซธรรมชาติเหลวรั่วออกมาโดนหน้าโดนตา ไปถึงโรงพยาบาลไม่มีหมอคนไหนรู้หรอกครับว่าจะรักษาอย่างไร ต้องไปเปิดตำรา หมอรู้ไหมว่าคนไข้โดนอะไร ถ้าไม่รู้ก็ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าเรารู้ว่าสารนี้เป็นสารที่มีโค๊ดว่า UN1203 เราก็สามารรถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์หาศูนย์พิษวิทยาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่าคนไข้โดน สาร UN1203 ซึ่งเป็นรหัสที่สากลรู้กันทั่วโลก จะแก้อย่างไรดี

 

ศูนย์ พิษก็จะค้นหาข้อมูลให้เรา เราก็จะดูแลคนไข้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าขนกันแบบนี้มันก็รอลุ้น ถ้าไม่มีเหตุก็ดีไป ถ้ามีเหตุก็วัดดวงเอา ถ้าเหตุเล็กก็โอเค ถ้าเหตุใหญ่ก็เป็นเคราะห์เป็นกรรมของคนโชคร้าย

 

 

ในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย มาเลเซีย ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ที่โรงแรมพาวิเลี่ยน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีการรายงานถึงผลการศึกษาเรื่องเส้นทางการขนก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งจากการรับฟังความเห็นชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู่เรื่องแต่กลับเห็นด้วยกับการขนก๊าซธรรมชาติเหลว ดังกล่าว

 

ชาว บ้านไม่รู้แม้กระทั่งว่ารถขนอะไร สารนั้นมีผลต่อเขาหรือเปล่า ก็ไม่แปลกที่ชาวบ้านคิดว่าเขาขนน้ำ ต้องมีการให้ข้อมูลกับประชาชนให้เพียงพอก่อนถึงจะถามความเห็น ถามความเห็นคนที่ไม่รู้มันก็ไม่รู้อะไรหรอก เขาก็จะตอบตามความรู้สึก

 

 

มีอะไรเพิ่มเติม

 

สิ่ง เหล่านี้ไม่ได้เกิดที่จะนะที่เดียว ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาก็เกิดปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเยอะ ที่ตำบลควนควนลังอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาก็เกิด ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นทั่วประเทศ

 

สิ่ง ที่น่าสนใจคือ ถ้าจะไม่ให้เกิด เราต้องมีกลไกใหม่ขึ้นมา ถึงจะมีการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น เก็บภาษีจากโรงงานตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม แล้วกองทุนนี้ไปจ้างนักวิชาการค้นหาคำตอบที่ชาวบ้านต้องการคำตอบ ชาวบ้านอยากรู้ว่า กลิ่นนี้เป็นสารก่อมะเร็งไหม ถ้าโรงแยกก๊าซไปตอบเอง ถามว่าชาวบ้านจะเชื่อไหม ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ หรือจำใจต้องเชื่อ เพราะไม่มีข้อมูลไหนที่ดีกว่านี้

 

แต่ ถ้ามีกองทุนนี้ขึ้นมา โรงงานไม่ดำเนินการเอง แต่มีคนกลางดำเนินการให้ มันจะสร้างความเป็นธรรมให้กับชุมชน และเป็นตัวกระตุ้นให้โรงงานจำเป็นต้องทำตาม มาตรฐาน EIA ทำตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO ต่างๆ ที่เขาได้รับ เพราะจะมีคนมามอนิเตอร์และตรวจสอบ โดยคนตรวจสอบนั้น ต้องเป็นคนที่รู้ด้วย หรือถ้าเกิดได้ก็ดีมาก แต่ปัจจุบันคงไม่มี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท