Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1. การเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งได้
 
คำถามหนึ่งที่สังคมไทยถามกันบ่อยคือ “พระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้หรือไม่?”
 
ดู เหมือนท่านพุทธทาสภิกขุจะตอบคำถามนี้ชัดเจนว่า พระสงฆ์และชาวพุทธทั่วไปควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ต้องเป็นการเมืองในความหมายที่ว่า “เป็นการจัดการทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” เนื่องจากมนุษย์ทุกคนต่างรู้สึกเดือดร้อนในความไม่ปรกติ (หรือการขาดสันติภาพ-ผู้เขียน) ใฝ่หาความเป็นปรกติแห่งชีวิต (ตามความคิดเห็นหรือหลักการของตน) มนุษย์ทุกคน รวมทั้งพุทธบริษัท ทั้งพระเณร ชาววัด ชาวบ้าน จึงล้วนเป็น นักการเมืองโดยความรู้สึก” 1> ท่านพุทธทาสเห็นว่าการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในความหมายดังกล่าวเป็น “การปฏิบัติธรรม” ในความหมายของ “การปฏิบัติหน้าที่” เพื่อช่วยกันจัดกันทำให้สังคมสงบสุข
 
การ ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในความหมายดังกล่าว เป็นการดำเนินตามหลักธรรมของพุทธศาสนาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างสันติสุขใน จิตใจของปัจเจกบุคคลและสังคมมนุษย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงทำเป็นตัวอย่าง เช่น เสด็จไปห้ามพระญาติไม่ให้ทำสงครามกันในกรณีเกิดการแย่งน้ำกันทำเกษตรกรรมจาก แม่น้ำที่กั้นเป็นเขตแดนระหว่างพระญาติฝ่ายพระบิดาแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ กับพระญาติฝ่ายพระมารดาแห่งกรุงเทวทหะ โดยทรงชี้ให้ทุกฝ่ายเห็นว่า “ชีวิตของทั้งสองฝ่ายมีค่ากว่าน้ำในแม่น้ำที่กำลังทำสงครามแย่งกัน” 2> เสด็จไปห้ามทัพในระหว่างที่พระเจ้าวิฑูฑภะกำลังเดินทัพไปโจมตีพวกศากยวงศ์ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดาของพระเจ้าวิฑูฑภะเอง ทรงให้แง่คิดว่า “ร่มเงาของญาติเย็นสบายกว่าร่มเงาใดๆ” 3> เป็นต้น
 
การ ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในความหมายดังกล่าวยังอาจยุ่งได้ในมิติอื่นๆ เช่น โดยการเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับรัฐและการสอนคุณธรรมต่างๆของผู้ปกครองและสมาชิก แห่งรัฐ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงเสนอคำอธิบายมูลเหตุของการก่อกำเนิดรัฐไว้ในอัคคัญญ สูตร4> ทรงสอนคุณธรรมของผู้ปกครองที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” “จักรวรรดิวัตร” ทรงวางหลักการตัดสินใจทางการเมืองของผู้ปกครองและสมาชิกแห่งรัฐคือ หลัก “อัตตาธิปไตย” ยึดความเห็นของตัวบุคคลเป็นใหญ่ “โลกาธิปไตย” ยึดเสียงส่วนมากเป็นใหญ่ และ “ธรรมาธิปไตย” ยึดความถูกต้อง (เช่น หลักการ ระบบ โครงสร้าง กติกา กฎเกณฑ์ ที่ชอบธรรม) เป็นใหญ่ โดยถือว่าธรรมาธิปไตยเป็นหลักการตัดสินใจที่ดีที่สุด เป็นต้น
 
ดังนั้น การเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งได้ ก็คือการเมืองในความหมายของ “การจัดการทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” โดยการแสดงบทบาทเรียกร้องสันติวิธี เช่น ให้ “สติ” เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้ง (ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเมือง) บานปลายไปสู่ความรุนแรง และหรือให้แนวทางในการสร้างการเมืองที่พึงประสงค์ เช่น ให้ “ปัญญา” ในเรื่องรัฐในอุดมคติ อุดมการณ์ทางการเมือง คุณธรรมทางการเมือง หลักการตัดสินใจทางการเมือง ดังที่พระพุทธเจ้าทรงทำเป็นแบบอย่าง หรือดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้ทำโดยการเสนอ “ทฤษฎีธรรมิกสังคมนิยม” เป็นต้น
 
2. การเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งไม่ได้ (แต่รัฐและสังคมไทยกำหนดให้พระสงฆ์ต้องยุ่ง)
 
เรื่องที่ว่าพระสงฆ์ควรหรือไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแบบไหน อย่างไร นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้
 
“ข้อห้ามมิให้ภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมืองปรากฏมาตั้งแต่ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ...สมัยนั้นไม่มีคำว่า ‘การเมือง’ ในภาษาไทยเขาใช้คำว่า ‘การแผ่นดินแผ่นทราย’ ฟังดูเป็นเรื่องของอำนาจการปกครองซึ่งประกอบด้วยการเก็บส่วยและการรบราฆ่า ฟัน (กันเองหรือกับข้าศึกศัตรู) ภิกษุสามเณรจึงไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง ในทางตรงกันข้ามเมื่อพระภิกษุสนับสนุนอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน หรือสนับสนุนพระบรมราโชบายในเรื่องใดๆกลับไม่นับเป็น ‘การแผ่นดินแผ่นทราย’ แต่เป็นหน้าที่ซึ่งพระภิกษุสามเณรควรทำอยู่แล้ว”5>
 
กลาย เป็นว่า ถ้าพระสงฆ์แสดงบทบาทสนับสนุนนโยบายของรัฐ แม้ว่าบทบาทนั้นจะขัดหลักธรรมทางพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่พระสงฆ์ควรกระทำ และถือว่าไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับ “การเมือง” ทั้งที่มันเป็น “การเมือง” ชัดๆ เช่น ในสมัย ร.6 การที่พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่บางรูปต้องยอมรับอาราธนาให้เทศน์ส่งเสริมการทำ สงครามอย่างจำใจ หรือหนักเข้าก็ถึงขั้นเห็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นรองนโยบายของรัฐ ดังที่พระภิกษุมีชื่อบางรูปเคยโฆษณาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เพื่อส่งเสริมการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล (และสหรัฐ) 6>
 
นอกจาก นี้ยังมีการเมืองอีกแบบหนึ่งที่พระสงฆ์ไม่ควรยุ่ง แต่บรรดานักการเมืองและชาวบ้านต่างสนับสนุนให้พระสงฆ์ต้องยุ่งโดยพฤตินัย เช่น นักการเมืองมักใช้พระเป็น “หัวคะแนน” โดยสัญญาจะให้เงิน “ทำบุญ” ผ่านกฐิน ผ้าป่า หรือการกุศลอื่นๆซึ่งมีข้อผูกพันว่าพระสงฆ์ต้อง “เทศน์” สนับสนุนนโยบายหรือโน้มน้าวให้ชาวบ้านลงคะแนนให้ตน เรื่องทำนองนี้มีมานานแล้วและยังคงมีอยู่ทั้งโดยโจ่งแจ้งบ้างไม่โจ่งแจ้งบ้าง
 
ดัง นั้น การเมืองที่พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งก็คือการเมืองที่ขัดกับนโยบายของรัฐบาล แม้ว่าการเข้าไปยุ่งนั้นจะเป็นการแสดงจุดยืนตามคำสอนของพุทธศาสนาก็ตาม ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์เทศน์เมื่อ ร.6 ทรงประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะและเข้าสู่สงครามภาคพื้นยุโรปว่า  “ทหารเป็นอาชีพน่ารังเกียจที่สุด เพราะต้องทำปาณาติบาตโดยอาชีวะเลยทีเดียว” ทำให้ ร.6 กริ้วมากและสั่งมิให้ท่านเจ้าคุณฯ ออกจากวัดบรมนิวาสอย่างเดียวกับที่ นางอองซาน ซูจี โดนคณะทหารพม่าสั่งในปัจจุบัน 7>
 
3. พระสงฆ์กับการเมืองที่ซับซ้อนในโลกปัจจุบัน
 
สังคมไทยควรเลิกโกหกตัวเองด้วยการชูคำประกาศที่ไร้ความหมาย (ในทางปฏิบัติ) ที่ว่า “พระสงฆ์ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” เพราะในความเป็นจริงมีการเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งได้และควรยุ่ง (ตามข้อ 1) และมีการเมืองที่พระสงฆ์ยุ่งไม่ได้หรือไม่ควรยุ่งแต่รัฐและสังคมไทยกำหนด ส่งเสริมหรือดึงพระสงฆ์ให้เข้ามายุ่งโดยพฤตินัย (ตามข้อ 2)
 
ในโลกปัจจุบันเราพูดถึงการเมืองในความหมายที่ซับซ้อนมากขึ้นว่า “การเมืองคือเรื่องของอำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร แค่สัมพันธ์กับคนอื่นเพียงอย่างเดียวก็เกิดการเมืองขึ้นแล้ว8> ถามว่า ในสถาบันสงฆ์เองมีเรื่องของอำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรหรือไม่? ก็ย่อมจะมี ดังนั้น สถาบันสงฆ์ก็ต้องมีการเมืองในลักษณะนี้ เช่น พระวินัยที่กำหนดเงื่อนไขว่าอะไรคือ “ของสงฆ์” หรือ “ของส่วนรวม” อะไรคือของส่วนตัวของพระภิกษุ การออกพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ เป็นต้น
 
การเมืองที่เป็นเรื่องของ “อำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร” จึงเป็นเรื่องที่ทั้งเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์โดยตรง และทั้งเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องบนจุดยืนที่ว่า “เป็นการจัดการทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ซึ่งทำได้ทั้งโดยการเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติวิธีและการให้สติปัญญาแก่สังคมดังกล่าวแล้วในข้อ 1
 
ที่ควรต้องถามสังคมไทยดังๆก็คือ ทำไมนโยบายแห่งรัฐ (ในรูปกฎหมาย) จึงกำหนดให้พระภิกษุเป็น “พลเมืองแห่งรัฐ” ในกรณีที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่มิได้เป็น “พลเมืองของรัฐ” ในกรณีที่ต้องมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง “ผู้แทนปวงชน”
 
ถ้าอ้างเหตุผลว่าพระสงฆ์อยู่ในโลกของ “ผู้ไม่มีกิเลส” จึงไม่ควรเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก แล้วทำไมจึงให้พระสงฆ์เข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่เหตุผลเดียวกันนี้กลับไม่นำมาใช้กับการเลือกตั้ง ถ้าอ้างว่าพระสงฆ์ควรมีความเป็นกลางทางการเมือง คำถามคือ “ความเป็นกลางทางการเมือง” มีอยู่จริงไหม? พระสงฆ์ที่ (ถูกกำหนดให้) ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งนั้นได้ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง (ในการเลือกตั้ง) จริงหรือไม่? และในทางการเมืองเราก็เรียกร้องให้เลือกนโยบายที่ดี คนดี ทำไมสังคมไทยไม่ควรไว้วางใจพระสงฆ์ว่า เป็นพลเมืองที่มีวิจารณญาณในการเลือกนโยบายที่ดีหรือคนดีได้เฉกเช่นคนทุก ชนชั้นในสังคมไทย
 
หรือ สังคมไทยชอบที่จะอยู่กับอะไรที่คลุมๆเครือๆ มากกว่าที่จะสร้างระบบที่ชัดเจน เปิดเผยตรงไปตรงมาตามหลักการของพุทธศาสนาและประชาธิปไตยจริงๆ    
 
 
 
 
เชิงอรรถ
 
1> วีระ สมบูรณ์. เรียบเรียงจากปาฐกถาเรื่อง “การเมืองต้องเป็นเรื่องศีลธรรม” ในรายการ พุทธทาส 100 ปี: ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม สวนโมกข์เสวนา ครั้งที่ 10 วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2549  ณ  ห้องประชุม 305  อาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) จัดโดย เครือข่ายธรรมโฆษณ์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึง กุมภาพันธ์ 2550
 
2> อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สุขวรรคที่ 15
 
3> อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ 4
 
4> พระไตรปิฎกเล่มที่ 15 หน้า 71-88
 
5> นิธิ เอียวศรีวงศ์ “การเมืองที่พระยังยุ่งไม่ได้” มติชนสุดสัปดาห์ 15-21 พฤษภาคม 2552 หน้า 33
 
6> นิธิ,เพิ่งอ้าง
 
7> นิธิ,อ้างแล้ว
 

8> นิธิ,อ้างแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net