Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 10 พฤษภาคม 2552 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมคณะ เดินทางไปที่โรงเรียนบำรุงอิสลาม หมู่ที่ 1 ตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อตรวจเยี่ยมนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยมีนายธีระเทพ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ผู้บริหารโรงเรียนบำรุงอิสลาม คณาจารย์ โต๊ะครู ผู้นำศาสนา คณะครู ผู้ปกครอง นักเรียน รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมให้การต้อนรับ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ มาล่าช้าถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
จาก นั้นนายจุรินทร์ ได้เข้าห้องประชุม ชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียน/สถาบันการศึกษาในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ และรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากครูผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
โดยหลังจากนายจุรินทร์ได้ชี้แจงถึงนโยบายโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข่าร่วมได้ซักถาม ปรากฏว่ามีตัวแทนสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียกร้องมีศึกษานิเทศก์ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามด้วย และขอให้เร่งการแก้ไขพระราชบัญญัติการศึกษาเอกชน เพราะขณะนี้ยังมีความสับสนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ ขณะเดียวกันการตั้งตัวแทนโรงเรียนตาดีกาและสถาบันปอเนาะเข้าไปในสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษายังไม่มีการดำเนินการ
นาย จุรินทร์ ชี้แจงว่า การพัฒนาหรือสนับสนุนทั้งโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนของรัฐบาล รวมทั้งการจัดศึกษานิเทศก์จะทำเท่าเทียมกัน โดยในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะจัดให้มีศึกษานิเทศก์เฉพาะ
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการแก้ไขกฎหมาย ที่จะรองรับการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ที่ให้มีใน 5 จังหวัด คือ สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยจะมีสำนักงานการศึกษาเอกชนทุกอำเภอของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวม 37 อำเภอ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อยละ 70 เป็นโรงเรียนเอกชน ทั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ควบคู่กับวิชาสามัญ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา จึงจำเป็นต้องมีสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ โดยให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ดูแลเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งนี้ จัดงบประมาณการศึกษาในจังหวัดภาคใต้ ปี 2553 ไว้กว่า 1,400 ล้านบาท โดยตนจะนำร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤษภาคม 2552 นี้
นาย จุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากการจัดตั้งสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอแล้ว ยังมีเรื่องการแก้ไขไม่ให้เจ้าของที่ดินที่ตั้งโรงเรียนเอกชน ไม่จำเป็นต้องโอนให้มูลนิธิ ขณะที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรก็จะให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้
ขณะเดียวกัน จะจัดครูให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับวิชาสามัญ โรงเรียนละ 2 คน โรงเรียนสอนศาสนาอย่างเดียวจะจัดครูเพิ่มให้ 1 คน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) จะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาผู้ที่เหมาะสม โดยจะให้เป็นข้าราชการ รวมแล้วจะได้ประมาณ 1,400 – 1,600 อัตรา ใช้งบประมาณ 350 ล้าน
นอกจาก นี้ยังมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลายแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ได้สั่งการให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(สช.) ดำเนินการมอบเงินอุดหนุนอย่างเร่งด่วนก่อนโรงเรียนเปิดเทอม
นาย จุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีผลสำฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำที่สุดของประเทศ ซึ่งต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยผลการสอบวัดผลกลาง หรือ คะแนนโอเน็ตของนักศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในอันที่ 74 – 76 ของประเทศ ตนจึงมีนโยบายให้เร่งดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ การจัดงบประมาณพัฒนาเฉพาะสำหรับวิชาภาษาไทย เนื่องจากเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อ่อนภาษาไทย จึงตีโจทย์ไม่แตก ส่งผลให้วิชาอื่นๆ อ่อนลงไปด้วย
ส่วน เรื่องที่สองคือการพัฒนาครู ซึ่งต้องให้ความสำคัญทั้งการศึกษาสายสามัญและอิสลามศึกษา เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการวัดผลการศึกษาทั้งสายสามัญและอิสลามศึกษาด้วย ซึ่งจะต้องกำหนดแผนและตัวชี้วัดต่อไป
เรื่อง ที่สาม การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีครูที่สอนในวิชาที่จบตรงตามวิชาเอก ซึ่งส่งผลกับเด็กนักเรียนโดยตรง จึงต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย ในรูปแบบโรงเรียนไกลกังวลที่มีการสอนทางไกล โดยต้องจัดตารางสอนให้สอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถเรียนไปพร้อมกันได้ ซึ่งหลังการชี้แจงทำให้ผู้เข้าร่วมต่างปรบมือแสดงความดีใจ
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า หลังชี้แจงเสร็จ นายจุรินทร์พร้อมคณะ ได้เดินทางต่อไปยังโรงแรมซีเอส อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อพบปะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนใน 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ผู้บริหาร ผู้นำศาสนา พร้อมมอบนโยบาย จากนั้นเดินทางต่อไปยังโรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล เพื่อมอบทุนการศึกษาตามโครงการส่งเสริมการศึกษานักเรียนกลุ่มพิเศษจังหวัด ชายแดนภาคใต้ 395 คน ก่อนไปที่สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นประธานเปิดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานีเป็นแห่งแรก จากนั้นไปเปิดสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net