Skip to main content
sharethis

3 .. 52 - ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 หรือที่บางแหล่งข่าวเรียกว่า "ไข้หวัดหมู" , "ไข้หวัดเม็กซิโก" ได้กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนอย่างหนึ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญ แต่ขณะเดียวกันสื่อบางแห่งเช่นในรายการทอล์กโชว์ก็เรียกไข้หวัดชนิดนี้ว่า "ไข้หวัดฟาฮิตา*" และมีการออกมาให้ความเห็นว่า "ผู้ที่อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นผู้นำเชื้อมาแพร่" ทำให้ชาวฮิสแปนิค (ผู้มีเชื้อสายผสม อเมริกัน-สเปนิช-เม็กซิกัน) ออกมาท้วงติง


 


ย้อนกลับไปในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประเด็นเรื่องผู้อพยพจางหายไปหน้าเว็บล็อกและจากรายการทอล์กโชว์ชั่วคราว แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนเอาการแพร่เชื้อหวัดชนิดใหม่นี้กลับมาเป็นข้อพิสูจน์ว่าผู้อพยพจากเม็กซิโกเป็นอันตรายต่ออเมริกา


 


ยังไม่มีรายงานว่าไข้หวัดหมูทำให้เกิดการแบ่งแยกและตรวจสอบชาวฮิสปานิค แต่ก็มีชาวฮิสปานิคบางคนบอกว่าการใช้สำนวนแบบต่อต้านผู้อพยพของนักเหยียดผิวเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการเหยียดชาวละติน และพวกเขาก็ต้องการไม่ให้มีกระแสแบบนี้อีกระลอก


 


จากรายงานของกลุ่มเฝ้าระวังสื่อมีเดีย แมทเทอร์ (Media Matter) ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่เชื้อไข้หวัดหมู ไมเคิล ซาเวจ ผู้ดำเนินรายการทอล์กโชว์ทางวิทยุก็เริ่มบอกให้มีการปิดพรมแดนอเมริกากับเม็กซิโก และยังบอกอีกว่า "ผู้อพยพเข้ามาอย่างผิดกฏหมายเป็นผู้แพร่เชื้อ" นักจัดรายการวิทยุอีกรายคือ นีล บอทซ์ เสนอให้เรียกชื่อโรคนี้ว่า "ไข้หวัดฟาฮิตา" ขณะที่ ลูว ดอบบ์ จาก ซีเอ็นเอ็นเรียกมันว่า "ไข้หวัดเม็กซิกัน"


 


ผู้จัดรายการวิทยุของบอสตัน เจย์ เซเวอริน ถูกระงับการจัดรายการหลังจากที่ไปเรียกผู้อพยพชาวเม็กซิกันว่า "พวกโจรต่างด้าว" (criminaliens) และเรียกห้องฉุกเฉินว่า "คอนโดฯ สำหรับพวกเม็กซิกัน" ขณะที่กำลังมีการพูดคุยกันเรื่องไข้หวัดหมู สมาชิกคณะกรรมการดำเนินงานด้านสตรีของนิวยอร์ก เบทซี่ เพอร์รี่ ออกมาขอโทษเรื่องที่เคยเขียนบล็อกไว้ว่า เม็กซิโกควรจะ "คอยดูแลพวกนอกกฎหมายของเขาไว้ให้ดี" รวมถึงเรื่องอื่น ๆ เกี่ยวกับไข้หวัด


 


ในการให้สัมภาษณ์ ไมเคิล ซาเวจ ผู้จบจากสาขาระบายวิทยาและโภชนาการ จากมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย-เบิร์กเลย์ กล่าวว่าความคิดเห็นของเขาเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ เขากล่าวต่ออีกว่า กฏข้อแรกของระบาดวิทยาคือการหามูลเหตุหลักและยับยั้งมัน "เรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับเชื้อชาติเลย แล้วทุกอย่างก็เป็นเรื่องทางระบาดวิทยา เชื้อไวรัสน่ะมันไม่เลือกเชื้อชาติ"


 


ขณะที่ทางองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำในเรื่องการปิดพรมแดน โดยอ้างว่าหากว่ามันส่งผลกระทบจริงในด้านการหยุดการแพร่ของไวรัส  ก็จะส่งผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เรียกแนวคิดการปิดพรมแดนนี้ว่าเป็นการ "ปิดประตูโรงนาทั้งที่ม้าออกไปแล้ว"


 


สิ่งที่บางคนเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่กับบางคนก็เรียกมันว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติ


 


ส.ว. โรเบิร์ต เมนเนนเดซ กล่าวว่า การนำความกลัวมาใช้กับประเด็นด้านสาธารณสุขที่จริงจังและกำลังเป็นที่ติดตาม เพื่อปั้นให้ผู้อพยพดูเป็นปีศาจร้ายนั้น เป็นเรื่องที่หยาบช้า ถือเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรี ทั้งยังไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง "ความคิดเห็นบางส่วนก็มีการเหยียดเชื้อชาติอยู่มากเกินไป และไม่มีพื้นที่สาธารณะให้สำหรับการโต้เถียง" ส.ว. โรเบิร์ต กล่าว


 


ส่วนลิอานี อาราโย ผู้อำนวยการสภาระดับชาติของสถาบันอนามัยชาวฮิสปานิค ลา ราซา ได้กล่าวว่าบางคนพยายามใช้เชื้อไวรัสเป็น "เครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัว" เขายังได้กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเรื่องทางสุขภาวะ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพ "ทุกคนล้วนต้องประสบกับมันร่วมกัน"


 


แต่ความหวาดกลัวเป็น "สัตว์ที่ไร้เหตุผล" จากหน้าประวัติศาสตร์ก็เคยมีการบันทึกเรื่องความหวาดกลัวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ ในช่วงทศวรรษ 1980s ชาวไฮติถูกห้ามไม่ให้บริจาคเลือดในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงนั้นเป็นระยะแรกที่โรคเอดส์กำลังระบาด


 


ทำให้ในทุกวันนี้ ใครก็ตามที่ดูท่าทางจะเป็นชาวเม็กซิกัน หรือแค่มีอาการไอปกติธรรมดาก็อาจถูกหยามเหยียดเอาได้


 


ในเมืองวิลมิงตันของนิวยอร์ค กรรมกรก่อสร้างคนหนึ่งชื่อฮวน เมนโดซา บอกว่าเขา "ทำงานให้กับคนรวยพวกนี้เมื่อวานซืนนี้เอง แล้วพวกเขาก็คอยเอาแต่ถามผมกับเพื่อนร่วมงานผมว่ามีใครป่วยหรือเปล่า ทำให้ผมรู้สึกแย่ เหมือนว่ามันเป็นความผิดเราอย่างนั้นแหละ"


 


ขณะที่ มอยเศส เฟอร์นานเดซ กรรมกรก่อสร้างชาวเม็กซิกันอีกรายที่อาศัยในนครนิวยอร์คเผยว่า ยังไม่มีชาวอเมริกันที่กล่าวล่วงเกินเขาอย่างเปิดเผย แต่ก็รู้ว่าพวกเขาคิดอะไรกันอยู่ "คุณบอกได้เลยจากลักษณะท่าทางที่พวกเขามองคุณ"


 


การถกเถียงประเด็นเรื่องผู้อพยพปะทุขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2550 ในตอนที่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เสนอให้มีการยกเครื่องโดยทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมายกว่าล้านคนกลายเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฏหมาย มีรายการพูดคุยทางวิทยุออกมาต่อต้านความคิดนี้ เรียกมันว่าเป็น "การนิรโทษกรรม" และมติในเรื่องนี้ก็ไม่ผ่านในการอภิปรายสภาฯ หลังจากนั้นบุชก็เริ่มเพิ่มมาตรการักษาความปลอดภัยตามพรมแดนและไล่ตรวจตามสถานที่ทำงานทำให้เกิดความตึงเครียดตามมา


 


จากสถิติของสำนักงานสืบสวนอเมริกา (FBI) ในปี พ.ศ. 2550 มีชาวฮิสปานิคกว่า 830 รายเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเชื้อชาติ (hate crime) เพิ่มขึ้นจากพ.ศ. 2549 คือ 819 ราย และจากปีพ.ศ. 2548 ที่มี 595 ราย


 


* ฟาฮิตา (Fajita) เป็นชื่อเมนูเนื้อย่างในแบบเม็กซิกัน-อเมริกัน (Tex-Mex) ซึ่งแต่เดิมใช้เนื้อส่วนหน้าท้องวัวมาทำ แต่ปัจจุบันมีการใช้ตั้งแต่เนื้อไก่ หมู กุ้ง รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของวัวเป็นส่วนประกอบ


 


 


ที่มา


 


Immigration foes link flu to Mexican threat claims , Jesse Washington , AP , 3-05-2552


http://news.yahoo.com/s/ap/20090502/ap_on_he_me/us_swine_flu_immigration_debate


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net