Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


                        จากวิกฤติการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ปี ๕๒ ที่ผ่านมา ติดตามด้วย การลอบสังหารแกนนำเสื้อเหลืองด้วยอาวุธสงครามนานาชนิดกลางกรุงทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้การประกาศภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง หลายๆ คนคิดว่าแย่แล้ว ประเทศไทยเราแย่แน่ๆ แต่ผมกลับมองว่า ในภาวะวิกฤติเช่นนี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้คิดทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าในวิกฤตินั้นมีโอกาส คือ


                        ๑) ทำให้เรารู้ว่าไม่ว่าเราจะใส่เสื้อสีไหน เสื้อแดง เสื้อเหลืองหรือเสื้อน้ำเงินก็ตาม ต่างตกเป็นเบี้ยของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำประกอบกับความไม่พึงพอใจในสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอยู่ จนเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โตอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีตชนิดที่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖หรือ ๖ ตุลา ๑๙ ตลอดจน พฤษภา ๓๕ เทียบไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมานี้เกิดเร็วและจบเร็ว ความอาฆาตชิงชังระหว่างชาวไทยด้วยกัน ไม่หนักหาสาหัสเท่าครั้งนี้


                        ๒) ทำให้เรารู้ว่ากะอีแค่โรงแรมที่ตั้งอยู่บนเขา มีทางขึ้นที่จำกัด มีกำลังตำรวจทหาร นับพันนับหมื่นรักษาการอยู่ แต่ไม่สามารถต้านการบุกของม็อบจำนวนไม่กี่ร้อยคนได้ ทั้งๆ ที่สามารถสกัดเส้นทางขึ้นลงได้ แต่ก็ไม่ทำเสียอย่าง จนทำให้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกลายเป็นตัวตลกระหว่างประเทศไป เพราะที่ไหนๆ ที่มีการประชุมระหว่างประเทศที่เป็นการพบปะผู้นำด้วยแล้วการรักษาความปลอดภัยจะต้องทำให้ดีที่สุด แต่กลับไม่ทำ


                        ๓) ทำให้เรารู้ว่าเมื่อใดที่บิ๊กๆ ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี ประมุขศาล นายทหารใหญ่ และนักธุรกิจนัดกินข้าวกัน เมื่อนั้นให้ระวังไว้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแน่แท้


                        ๔) ทำให้เรารู้ว่าการมีเส้นนั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากริจะก่อม็อบ เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจะพบจุดจบดังเช่นม็อบเสื้อแดง


                        ๕) ทำให้เรารู้ว่าถ้าผู้นำม็อบประกาศว่าเมื่อใดกระสุนดังขึ้น เมื่อนั้นผมจะกลับมาเมืองไทยนั้น ต้องตีความไปในทางตรงกันข้าม เพราะแทนที่จะกลับมาเมืองไทยกลับอพยพครอบครัวญาติมิตรออกนอกประเทศกันจ้าละหวั่น


                        ๖) ทำให้เรารู้ว่าสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือสื่อเอกชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ก็มีการเลือกเชียร์ฝ่ายของตนเองด้วยการออกข่าวข้างเดียว เลือกสัมภาษณ์แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยกับตนเอง เสนอภาพข่าวทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวตอกย้ำให้เกิดความแตกแยก แต่เมื่อถูกท้วงติง ก็กลับอ้างว่าทำตาม พรก.ฉุกเฉินฯ เอาดื้อๆ ซะอย่างงั้น             


๗) ทำให้เรารู้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว การตัดสัญญาณทีวีก็สามารถทำได้ง่ายดุจพลิกฝ่ามือถ้าจะทำเสียอย่าง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น บอกว่าทำไม่ได้เพราะส่งมาจากดาวเทียมต่างประเทศบ้าง หรือบอกว่าทำไม่ได้เดี๋ยวคนจะออกมาเยอะกว่าเดิมบ้าง แต่คราวนี้ไม่ยักกลัวคนออกมามากขึ้น มิหนำซ้ำยังเที่ยวไล่ปิดเว็บไซต์และสถานีวิทยุชุมชนของฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทั้งๆ ที่อยู่นอกเขต พรก.ฉุกเฉินฯซะอีกแน่ะ


                        ๘) ทำให้เรารู้ว่านักวิชาการหรือ NGOs กับจิ้งจกก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเปลี่ยนสีได้ง่ายตามสถานการณ์แต่ละวัน


                        ๙) ทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วนักธุรกิจนั้นยังมีนิสัยถาวรที่เห็นแต่ธุรกิจของตนเอง โดยบางคนยุให้รัฐบาลและทหารปราบม็อบให้เด็ดขาดโดยไม่สนใจว่าฝ่ายที่ถูกปราบหรือฝ่ายที่เข้าไปปราบจะบาดเจ็บหรือล้มตายอีกสักเท่าไหร่ ขอให้ธุรกิจตนเองรอดเป็นพอ ใครจะบาดเจ็บล้มตายช่างมัน


                        ๑๐) ทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยเรานี้ดีทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์  ที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่เสียอย่างเดียวที่มีนักการเมืองบางคนที่ทำทุกอย่างด้วยการฉกฉวยโอกาสหนุนม็อบไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดก็ตามอย่างออกหน้าออกตาทั้งๆ ที่ทำผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด โดยนักการเมืองและผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหล่านั้นไม่สนใจที่จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยเลย ครั้นเมื่อตนเองตกเป็นผู้ต้องหากลับใช้เรียกร้องเอกสิทธิ์คุ้มครองจากสภาทั้งๆ ที่ตนเองและพรรคพวกเป็นผู้ทำลายการเมืองในระบอบรัฐสภาลงกับมือแท้ๆ


                        ๑๑) ทำให้เรารู้ว่าบางบ้านเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นอยู่สถานีเดียว ถ้าไม่สถานีสีเหลืองก็สถานีสีแดงโดยไม่ยอมฟังสถานีอื่นเลย พ่อค้าหัวใสน่าจะทำวิทยุหรือโทรทัศน์ราคาถูกสุดๆ ที่มีเฉพาะสถานีใดสถานีหนึ่งก็พอออกมาขายก็สิ้นเรื่อง เพราะทั้งสองสีไม่ยอมฟังความเห็นที่แตกต่างจากตนเลย


                        ๑๒) ทำให้เรารู้ว่ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นต้องมีทหารหนุนหลัง จึงจะเดินได้ ดังจะเห็นได้จาก พรก.ฉุกเฉินฯฉบับเดียวกันแท้ๆ แต่ประกาศโดยต่างรัฐบาลกันมีผล ต่างกันอย่างลิบลับ


                        ๑๓) ทำให้เรารู้ว่าต่อแต่นี้ไปปากเสียงของประชาชนนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องรับฟัง เพราะไม่บังเกิดผลอันใด ฉะนั้น ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงให้เลิกคิดได้เลยว่าจะปลุกม็อบขึ้นมาอีก เพราะรัฐบาลชุดก่อนๆ ก็พ้นไปด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมิใช่จากการเดินขบวนหรือการยึดสนามบินแต่อย่างใด และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังอยู่รอดปลอดภัยแม้จะมีม็อบออกมาขับไล่เป็นเรือนแสน ก็ตาม


                        ๑๔) ทำให้เรารู้ว่าการประกาศวันทำงานให้เป็นวันหยุดราชการนั้นเป็นยุทธวิธีใหม่ที่ใช้ในการปราบม็อบอย่างหนึ่งโดยไม่สนใจว่าคนที่เดือดร้อนเพราะต้องติดต่อกับราชการนั้นมีจำนวนมากมายแต่ต้องหยุดชะงักไปถึง ๑๐ วัน โดยข้าราชการยังได้รับเงินเดือนเต็มทั้งๆ ที่ทำงานเพียง ๑ ใน ๓ ของเดือนเท่านั้นเอง   


                        โอกาสที่ดีที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดในวิกฤติสงกรานต์เลือดนี้ก็คือทำให้เราไม่ประมาทและมีการเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์ดีกว่าเดิม เพราะเรารู้ว่าต่อนี้ไปชีวิตของเราจะลำบากขึ้น อันตรายจากการปะทะกันของผู้ที่มีความเห็นต่างกันจะมีมากขึ้น หากรัฐบาลยังคงมัวแต่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อสร้างผลงานแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเศรษฐกิจจะดีไปไม่ได้เลยหากยังมีความแตกแยกอยู่ในชาติเช่นนี้


 


 


.................................
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๒

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net