Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รองศาสตราจารย์ ดร. วรพล พรหมิกบุตร *


ชื่อบทความเดิม: สงครามอำมหิตยาธิปไตย vs ประชาธิปไตยเสื้อแดง บทวิเคราะห์ประมวลพลวัตรเหตุการณ์ 8 - 14 เมษายน 2552 กรุงเทพฯ - พัทยา - กรุงเทพฯ


 


"การที่จะมีประชาชนจะหนึ่งคนหรือแสนคนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ ทบทวนตัวเอง พิจารณาตัวเอง ไม่ได้ขัดกับหลักประชาธิปไตยครับ ……. แต่ท่านดูเถอะครับ ทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้น ส่วนใหญ่เค้าไม่รอให้กฎหมายจัดการครับ มันจะมีสิ่งที่เรียกว่าสำนึกหรือความรับผิดชอบของนักการเมืองที่เค้าบอกว่า มันต้องสูงกว่าคนธรรมดา มีเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่ง ท่านยกตัวอย่างกรณีของเกาหลี เช่น แค่คิดนโยบายนะครับว่าจะต้องเปิดการค้าเสรีเอาเนื้อวัวจากอีกประเทศเข้ามา คนลุกฮือขึ้นมาเป็นแสน เค้าลาออกทั้งคณะ" (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายในรัฐสภา วันที่ 31 สิงหาคม 2551 ขณะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แนะนำแนวทางให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชน นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มมวลชนที่เรียกตนเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย")


 


 "วันที่ 8 เมษายน 2552 ประชาชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศนับจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าสองแสนห้าหมื่นคนเดินทางมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนอกจากไม่ลาออกทั้งคณะแล้วยังดำเนินมาตรการทางทหารตอบโต้ส่งผลนำพาประเทศเข้าสู่สถานการณ์สังหารหมู่ประชาชน" (บันทึกประมวลสรุปรายงานข้อมูลภาคสนามและการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมโดยนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี, วันที่ 18 เมษายน 2552)



 


000


ตอนที่ 1 : พัทยา
วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2552


นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธีและคณะ แถลงบทวิเคราะห์ต่อสาธารณชนผ่านเวทีชุมนุม นปช. ("คนเสื้อแดง") ว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้นำพาประเทศไปสู่ภาวะ "วิกฤตซ้อนวิกฤต" เช่น นอกเหนือจากไม่สามารถทำให้เกิดความสมานฉันท์ภายในประเทศได้ตามที่คาดหวังกันก่อนรับตำแหน่งแล้วยังมีประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองการทหารกับประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้น นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธีอ่านคำแถลงผ่านสื่อมวลชน (แต่สื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศส่วนใหญ่ไม่เผยแพร่สู่สาธารณชนไทย) แนะนำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ลาออกเพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีทั้งพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรัฐบาล และให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยดังกล่าวดำเนินภารกิจเฉพาะหน้าเร่งด่วนในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยใช้ "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร." ที่มีวาระบรรจุอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้วเป็นฐานเริ่มต้นการพิจารณา แปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วจึงประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ภายใน พ.ศ. 2552 วิกฤตจะคลี่คลายในทางสมานฉันท์มากขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่ขณะนั้น


แต่หากรัฐบาลดึงดันจะอยู่ในอำนาจต่อไปจะเกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตรุนแรงยิ่งขึ้น




 


วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552


การจัดชุมนุมประชาชนโดยใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล (กรุงเทพมหานคร) ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องความมีส่วนร่วมของกลุ่มพลังมวลชนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศพร้อมใจกันสวมใส่ "เสื้อแดง" เดินทางหลั่งไหลเข้าสู่ที่ชุมนุมตลอดคืนวันที่ 8 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 9 เมษายน 2552 จนมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมรวมกันมากกว่า 250,000 คนจนอาจกล่าวอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้ว่าเป็น "การชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย" เท่าที่เคยปรากฏ โดยเป็นการชุมนุมที่มีสาธารณชนไทยเข้าร่วมมากที่สุดไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนรวมของผู้เข้าร่วมชุมนุม หรือความหลากหลายทางดัชนีสังคมของประชาชนที่ร่วมชุมนุม เช่น อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา อายุ การกระจายภูมิลำเนา เป็นต้น



 


วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2552


แกนนำประชาชนที่ร่วมชุมนุม (นปช. นำโดยนาย วีระ มุสิกพงศ์และคณะ) แสดงพลังการชุมนุมที่มีประชาชนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งดังกล่าวโดยจัดการเดินขบวนประกาศการประท้วงรัฐบาลไปตามถนนสายต่าง ๆ ที่มุ่งหน้าจากบริเวณทำเนียบรัฐบาลและลานพระบรมรูปทรงม้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ


จนเป็นที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนกรุงเทพฯ สื่อมวลชนในประเทศ และสื่อมวลชนต่างประเทศว่าบนถนนกรุงเทพฯจากลานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเนืองแน่นไปด้วย "คนเสื้อแดง" ขณะที่ประชาชนที่เฝ้ามองการเดินขบวนดังกล่าวแสดงความรู้สึกปะปนกันทั้งสนับสนุนด้วยความพึงพอใจและหงุดหงิดที่เกิดปัญหาอุปสรรคการจราจรบนท้องถนน


ในคืนวันที่ 9 เมษายน หลังจากแกนนำ นปช. ประเมินผลสำเร็จของการเดินขบวนประท้วงนำประชาชนจำนวนมากไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิโดยแกนนำการชุมนุมสามารถควบคุมอารมณ์มวลชนให้อยู่ในความสงบตามแนวทางสันติวิธีรวมทั้งป้องกันความพยายามแทรกแซงก่อเหตุวุ่นวายจากบุคคลภายนอกและบุคคลที่แฝงตัวแต่งกายเสื้อแดงเข้ามาในที่ชุมนุมได้หลายระดับ รวมทั้งสามารถควบคุมอารมณ์มวลชนไม่ให้พลุ่งพล่านเดือดดาลไปตามการยั่วยุโดยข่าวสารข้อมูลของสื่อโทรทัศน์กระแสหลักที่ลำเอียงเป็นปฏิปักษ์กับมวลชนเสื้อแดงมาโดยต่อเนื่อง แกนนำนปช. ได้ตกลงใจให้นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรองและคณะนำประชาชนจำนวนหนึ่ง (เบื้องต้นประมาณ 500 คนจากกรุงเทพฯ แต่ต่อมาได้เชิญชวนประชาชนในจังหวัดชลบุรี ระยองหรือใกล้เคียงเข้าร่วม) เดินทางไปยังพัทยาเพื่อประกาศการประท้วงรัฐบาลไทยต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิตซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะกำหนดจะเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการที่พัทยาในวันที่ 10 เมษายน 2552 (ขณะนั้นยังไม่มีการประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่พัทยา)


นอกเหนือจากประชาชนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯและต่างจังหวัดใกล้เคียงจะอาสากันเดินทางไปร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่พัทยาแล้วยังปรากฏว่ามีกลุ่มบุคคล "เสื้อสีน้ำเงิน" จำนวนหนึ่ง ติดอาวุธและเครื่องมือทำลาย เช่น อาวุธปืน ตะปูเรือใบ ระเบิดปิงปองและระเบิดควัน) เดินทางไปพัทยาโดยได้รับการอำนวยความสะดวกจากยานพาหนะของหน่วยราชการ (อ้างอิงภาพและรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศรวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ประสบเหตุการณ์โดยตรง)


ระหว่างช่วงเวลารอยต่อของคืนวันที่ 9 และเช้าตรู่วันที่ 10 เมษายน 2552 มีการก่อสถานการณ์ตึงเครียดโดยการสาดตะปูเรือใบดักไว้บนถนนสายต่างๆ ที่มวลชนเสื้อแดงใช้เดินทางมุ่งสู่พัทยารวมทั้งการขว้างปาก้อนหินขนาดต่าง ๆ และการลอบยิงปืนเข้าใส่รถที่คนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯใช้เดินทางไปประท้วงรัฐบาลที่พัทยา ข้อมูลภาคสนามจากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมเดินทางไปกับขบวนรถแท็กซี่จากกรุงเทพฯกลุ่มหนึ่งมุ่งหน้าไปตามทางหลวงแผ่นดินถึงบริเวณใกล้แหลมฉบังถูกกลุ่มคนแอบซุ่มยิงปืนเข้าใส่จนมีผู้บาดเจ็บสาหัสถูกยิงเข้าที่หน้าอกต้องนำส่งโรงพยาบาล (ผู้รายงานข้อมูลพยายามสอบถามชื่อนามสกุลผู้บาดเจ็บรายดังกล่าว จำได้ชัดเจนว่าเป็นชายวัยหนุ่ม สอบถามจากแหล่งข้อมูลรอบข้างเท่าที่สอบถามได้ว่าผู้บาดเจ็บชื่อ นายสมพงษ์ จำปาชื่น (หมายเหตุผู้วิเคราะห์: ชื่อนามสกุลที่ถูกต้องครบถ้วนตามทะเบียนราษฎร์หรือเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่รับตัวผู้บาดเจ็บรายดังกล่าวเข้ารักษาพยาบาลอาจตรงตามนี้หรือคลาดเคลื่อนไปบ้างจากชื่อนามสกุลตัวสะกดที่ปรากฏในรายงานการวิเคราะห์นี้ตามธรรมชาติขีดจำกัดความจำของแหล่งข้อมูล)



 


วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2552 : บ่าย


นาย เนวิน ชิดชอบ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและไม่มีตำแหน่งราชการแต่ประการใดในช่วงเวลาดังกล่าว (อย่างไรก็ตาม นายเนวินเป็นแกนนำกลุ่มนักการเมืองที่ย้ายจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในปี พ.ศ. 255 1 ไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ในปี พ.ศ. 2552 หลังจากร่วมกันสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคเพื่อไทยในเดือนธันวาคม 255 1) ไปปรากฏตัวอยู่ในปริมณฑลพัทยาใกล้บริเวณที่จะเกิดเหตุรุนแรงที่พัทยาในช่วงวันที่ 9 - 10 เมษายน โดยแต่งกายคล้ายคลึงกับลักษณะการแต่งกายของ "กองกำลังกึ่งทหารกึ่งพลเรือน" ติดอาวุธซึ่งถูกระดมขนส่งเข้ามาในพื้นที่โดยการอำนวยความสะดวกของยานพาหนะทางราชการ รายงานข่าวและภาพจากสื่อมวลชนทางเลือกของไทย เช่น เว็บไซต์ในช่องทางสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต และสำนักข่าวต่างประเทศ เผยแพร่ภาพนายเนวินปรากฏตัวในปริมณฑลพัทยาใกล้สถานที่จะเกิดเหตุรุนแรงในวันดังกล่าวยืนยันแน่นหนาว่ามีการปรากฏตัวของนายเนวินเกี่ยวข้องกับบุคคลที่แต่งกายแบบกึ่งทหารกึ่งพลเรือนติดอาวุธ (กลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่มเสื้อน้ำเงิน") ซึ่งต่อมาในวันที่ 10 เมษายนกลุ่มเสื้อน้ำเงินจะใช้อาวุธซุ่มทำร้ายกลุ่มเสื้อแดง (อ้างอิงจากคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุการณ์ประกอบข้อมูลรายงานจากสื่อมวลชน)


ตลอดช่วงกลางวัน วันที่ 10 เมษายน เกิดสถานการณ์เผชิญหน้าตึงเครียดระหว่างมวลชนเสื้อแดงกับ "กลุ่มคนเสื้อยืดสีน้ำเงิน" ที่แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับคนเสื้อแดงในพื้นที่พัทยา โดยมีการใช้ก้อนหินจากไหล่เขา ตะปูเรือใบ ระเบิดปิงปอง ระเบิดควันและอาวุธปืนระดมขว้างปาและยิงเข้าใส่มวลชนเสื้อแดงจนมีผู้บาดเจ็บอีกหลายรายทั้งในส่วนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลและที่อาการบาดเจ็บไม่สาหัสและเดินทางกลับกรุงเทพฯ


ที่บริเวณสถานที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิตในพื้นที่พัทยา แกนนำนปช. และมวลชนเสื้อแดงยืนยันจะขอเข้าไปประกาศคำแถลงต่อสื่อมวลชนเพื่อคัดค้านและประณามรัฐบาลไทย แต่ได้รับการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐบาล รายงานข่าวตอนหนึ่งของสำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐบาลประทับปืนเล็งเตรียมยิงกลุ่มประชาชนที่ยืนกรานจะเข้าไปในโรงแรมที่จัดการประชุม (รายงานอย่างไม่เป็นทางการแจ้งว่าเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งยับยั้งการยิงนั้นไว้ทันท่วงที แต่เหตุการณ์ฉุกละหุกที่แท้จริงหลังจากการประทับปืนเล็งจะยิงขณะนั้นเป็นอย่างไรอาจจำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม) อย่างไรก็ตาม ในที่สุดมวลชนและแกนนำคนเสื้อแดงประสบความสำเร็จในการเดินเท้าเข้าสู่ภายในโรงแรมที่จัดการประชุมอาเซียนซัมมิตและสามารถอ่านคำแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนที่พัทยาได้ (หมายเหตุ : นายจักรภพ เพ็ญแข แกนนำนปช. เป็นผู้อ่านคำแถลงเป็นภาษาอังกฤษที่พัทยา โดยมีเพียงสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่นเพียงแห่งเดียวที่ถ่ายทอดภาพและเสียงออกอากาศทางเคเบิลทีวีให้สาธารณชนรับทราบแบบถ่ายทอดสด ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการอิสระที่แกนนำนปช. เปิดโอกาสให้นำเสนอบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะต่อฝ่ายต่าง ๆ ผ่านเวทีการชุมนุมได้ในบางช่วงเวลาได้รับการร้องขอจากแกนนำนปช. ที่เวทีหน้าทำเนียบรัฐบาลให้แปลคำแถลงถ่ายทอดสดสู่สาธารณชนไทยหลังจากนายจักรภพสรุปจบคำแถลงที่พัทยา เนื้อหาคำแถลงอย่างเป็นทางการในภาษาอังกฤษอาจค้นหาได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ขณะนั้นยังไม่ถูกปิดทำการเด็ดขาดตั้งแต่ฃ่วงวันที่ 12 - 14 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะมีปฏิบัติการทางทหารโดยคำสั่งรัฐบาลและจะเกิดความรุนแรงอันเป็นที่มาของข้อความ"อำมหิตยาธิปไตย" ในบทวิเคราะห์นี้) ความเสียหายทรัพย์สินของทางโรงแรมที่เกิดเหตุตามที่ยกขึ้นกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางโดยสื่อโทรทัศน์ไทยและนักวิเคราะห์วิจารณ์ที่เป็นปฏิปักษ์กับคนเสื้อแดงเท่าที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด ได้แก่ บานกระจกแตกคิดเป็นมูลค่าหลักแสนบาท แต่อย่างน้อยในขณะนั้นไม่ปรากฏว่ามีรายงานการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของพนักงานโรงแรมหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในที่เกิดเหตุแต่ประการใด รายงานข่าวและข้อมูลทุกกระแสในขณะนั้นรายงานตรงกันว่าผู้บาดเจ็บเป็นประชาชนคนเสื้อแดง


รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ได้ตัดสินใจ "ลาออกทั้งคณะ" ตามหลักการหรือแนวทางประชาธิปไตยซึ่งตนเองยกขึ้นกล่าวอ้างในคำอภิปรายที่แนะนำให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนก่อนหน้านั้นลาออก เมื่อวันที่ 3 1 สิงหาคม 255 1 แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะดำเนินมาตรการยกระดับ "การเผชิญหน้า" แบบเป็นปฏิปักษ์รุนแรงมากขึ้นกับประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมนับแสนคนทั้งที่กรุงเทพฯและพัทยารวมกัน โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ใช้อำนาจบริหารประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่พัทยาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2552


อย่างไรก็ตาม ภายในค่ำวันที่ 10 เมษายน 2552 ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่แน่ชัดต่อสาธารณชนไทยและประชาคมโลกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในความพยายามที่จะจัดการประชุมอาเซียนซัมมิตครั้งดังกล่าว เนื่องจากการประชุมถูกยกเลิกโดยปริยายเมื่อผู้นำประเทศต่าง ๆ พากันเดินทางกลับประเทศของตน โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในฐานะนายกรัฐมนตรีไทยผู้เป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุมไม่สามารถแม้แต่จะได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดประชุมอย่างเป็นทางการ



 


วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 255 : ค่ำ


รายงานเหตุการณ์ที่พัทยา วันที่ 10 เมษายน ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนต่างประเทศขณะที่เวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ทำเนียบรัฐบาลดำเนินต่อเนื่อง แต่การชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยุติลงโดยไม่มีเหตุปะทะรุนแรงบานปลายแต่ประการใด นอกเหนือไปจากปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอัมพาตระหว่างการชุมนุมและการกล่าวหาว่าการปิดถนนของคนเสื้อแดงทำให้เกิดความเสียหายรวมทั้งการพยายามยกประเด็นเรื่อง "การขาดอ็อกซิเจน" บริการคนไข้ในโรงพยาบาลราชวิถีขึ้นกล่าวหา นปช.ผ่านสื่อมวลชนไทยกระแสหลัก ต่อมาแกนนำนปช. ที่เวทีทำเนียบรัฐบาลประกาศให้ผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเดินทางกลับมารวมตัวกันที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล


ประชาชนบางรายที่ได้รับบาดเจ็บ (อาการไม่สาหัส) ขึ้นเวทีปราศรัยที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่พัทยาในวันที่ผ่านมา ผู้วิเคราะห์มีโอกาสเล็กน้อยได้สัมภาษณ์สอบถามข้อมูลบางประการจากนายอริสมันต์หลังจากการปราศรัยของนายอริสมันต์ ตอนหนึ่งของการสนทนานายอริสมันต์สอบถามความเห็นและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการที่ตนเองถูกหมายจับซึ่งผู้วิเคราะห์ตอบไปกลาง ๆ ว่าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของนปช. คงมีวิธีดูแลช่วยเหลืออยู่แล้ว หลังจากนั้นนายอริสมันต์กล่าวว่าเหนื่อยมากทั้งวันมาแล้วคืนนี้จะขอนอนสบาย ๆ ในโรงแรมห้าดาว ผู้วิเคราะห์มีข้อสังเกตอยู่ในใจเล็กน้อยว่านายอริสมันต์กำลังตกเป็นเป้าหมายการปองร้ายของกองกำลัง "คนเสื้อยืดสีน้ำเงิน" ซึ่งมีลักษณะจัดตั้งแบบกึ่งทหารกึ่งพลเรือนกื่งมาเฟียจึงกล่าวไปว่าอย่างไรก็ควรระมัดระวังความปลอดภัยด้วย


 


000


ตอนที่ 2 : กระทรวงมหาดไทย


วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552


นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวที่บ้านพักในตอนเช้าตรู่วันที่ 11 เมษายน ข่าวนี้ไม่ถูกปิดกั้นโดยสื่อมวลชนกระแสหลักสายวิทยุโทรทัศน์ในประเทศเหมือนเช่นข่าวความคืบหน้าฃอง นปช.จำนวนมากก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะเป็นคุณต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดง (ข่าวที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวของ นปช.ก่อนหน้านี้จำนวนมาก รวมทั้งคำแถลงประจำวันของนปช.ต่อสื่อมวลชนที่หลังเวทีปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาลมักถูกปกปิด ปิดกั้น หรือลดทอนความสำคัญโดยสื่อมวลชนไทยจนเป็นที่กล่าวขวัญกันทั้งในที่ชุมนุมและทางเว็บไซต์ในประเทศจำนวนหนึ่งว่าสื่อมวลชนไทยไม่ให้ "พื้นที่ข่าวสาร" แก่คนเสื้อแดง รวมทั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสื่อมวลชนไทยเลือกข้างเป็นพรรคพวก "พันธมิตรฯ" ที่มุ่งร้ายต่อ นปช.และคนเสื้อแดง) รายงานข่าวการจับกุมนายอริสมันต์ถูกโหมประโคมอื้ออึงเป็นข่าวด่วนข่าวสดตั้งแต่เช้าวันที่มีการจับกุม


ภายในวันเดียวกัน มีการสร้างข่าวไม่กรองหลายกระแสรายงานการเคลื่อนไหวค่อนข้างสับสนเกี่ยวกับการกำหนดสถานที่ควบคุมตัวนายอริสมันต์และกำหนดการแถลงข่าวของฝ่ายรัฐบาลที่กระทรวงมหาดไทย


แกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งนำมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเดินทางไปที่กระทรวงมหาดไทยและเกิดการเผชิญหน้าปะทะกันอย่างรุนแรงโดยมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ผู้ร่วมเหตุการณ์ปะทะที่เป็นฝ่ายนปช. อ้างว่ามีผู้แอบซุ่มยิงคนเสื้อแดงภายในบริเวณซอกหลืบอาคารต่าง ๆ ในกระทรวงมหาดไทยจนมีคนเสื้อแดงเสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายถูกลากศพไปซ่อนภายในอาคาร ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีรถประจำตำแหน่งนักการเมืองระดับสูงวิ่งด้วยความเร็วพุ่งฝ่ากลุ่มคนเสื้อแดงเข้าชนประตูกำแพงหยุดนิ่งก่อนที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะกรูเข้าไปกระชากตัวคนขับรถออกมาและพบว่าภายในรถมีนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ แกนนำระดับสูงของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันนั่งบาดเจ็บอยู่ภายใน (รายงานข่าวต่อมาระบุว่าคนเสื้อแดงรุมทำร้ายนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์) การแถลงของรัฐบาลประณามนปช.โดยระบุว่าคนเสื้อแดงรุมทำร้ายทั้งคนขับรถและนายนิพนธ์ในที่เกิดเหตุ


เหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทย วันที่ 1 1 เมษายน 2552 ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้นกว่าวันก่อน โดยเริ่มมีคนของฝ่ายรัฐบาลบาดเจ็บเสียหายด้วยเช่นกัน


รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาวิกฤตด้วยการลาออก ยุบสภา หรือใช้แนวทางสมานฉันท์เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการกับแกนนำ นปช. แต่เลือกดำเนิน "มาตรการยกระดับการเผชิญหน้าแบบปฏิปักษ์" ต่อประชาชนเสื้อแดงอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นโดยการประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดข้างเคียงโดยรอบตั้งแต่วันที่ 1 1 เมษายน 2552


เวลา 15.30 น. มวลชนเสื้อแดงควบคุมตัวชายวัยฉกรรจ์แต่งกายด้วยเสื้อเชิร์ตสีขาวเข้ารูป กางเกงสีกรมท่าเข้ม สวมแจ๊คเก็ตแบบเบลเซอร์สีดำ มีร่องรอยบาดแผลศีรษะแตกไม่ลึก พกพาอาวุธสงครามร้ายแรงเป็นปืนเอชเคแบบพับฐานพร้อมกระสุนจริง เข้ามาที่หลังเวทีชุมนุมให้คณะแพทย์ที่ประจำการอยู่ก่อนหน้าแล้วทำการปฐมพยาบาลก่อนส่งตัวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับตัวไปสอบสวน (การตรวจสอบเบื้องต้นโดยการ์ด นปช. ระบุว่าชายดังกล่าวเป็นนายทหารบกยศพันตรี) ระหว่างนั่งพักรอการส่งตัวให้ตำรวจในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อมาปรากฏว่ามีคณะแพทย์พยาบาลสวมเสื้อคลุมขาวระบุว่ามาจากสภากาชาดไทยจะมารับตัวชายคนดังกล่าวอ้างว่าต้องนำส่งโรงพยาบาลและจะขอ "ให้น้ำเกลือ" เพราะเป็นผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ปรากฏมีผู้คัดค้านเพราะเกรงว่าการฉีดของเหลวดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บาดเจ็บและอาจเป็นเหตุให้มีการใส่ร้าย แกนนำนปช.ในเวลาต่อไป ผู้ร่วมสังเกตการณ์คนหนึ่งซึ่งคุ้นเคยกับการแต่งกายของบุคคลากรทางการแพทย์ระบุว่าแพทย์ชายที่มากับคณะพยาบาลชุดนี้เป็น "แพทย์จุฬาฯ" ที่เคยประกาศ "คว่ำบาตร" ไม่รับรักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ "วันที่ 7 ตุลาคม 255 1" (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย vs เจ้าหน้าที่ตำรวจ) รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าที่หลังเวทีนปช. ขณะนั้นยังมีประชาชนเสื้อแดงที่บาดเจ็บอยู่ระหว่างการปฐมพยาบาลอีกหลายคนแต่เหตุใดคณะแพทย์พยาบาลชุดนี้จึงมุ่งจะมารับตัวและ "ให้น้ำเกลือ" เฉพาะเจาะจงแก่นายทหารคนนี้เพียงคนเดียวโดยไม่เอื้อเฟื้อจรรยาแพทย์แก่ผู้บาดเจ็บคนอื่นที่หลังเวทีปราศรัยนั้นเลยแม้แต่รายเดียว


เวลา 17.15 น. การ์ดและมวลชนเสื้อแดงควบคุมตัวชายวัยฉกรรจ์ได้อีกคนโดยตรวจพบว่าแอบซ่อนพกพาอาวุธสงครามชนิดคล้ายคลึงกับกรณีแรกเข้ามาในที่ชุมนุม พร้อมกระสุนจริง ชายคนนี้ถูกตรวจจับและควบคุมตัวมาที่หลังเวทีปราศรัยโดยไม่มีร่องรอยบาดแผลแต่ประการใด


ก่อนค่ำวันเดียวกันมีสตรีสูงอายุรูปร่างค่อนข้างท้วม ผิวขาวเหลือง อายุประมาณ 60 - 65 ปี เดินเข้ามาสอบถามหาอาจารย์ มานิตย์ จิตจันทร์กลับ โดยอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนคณะภรรยานายทหารอากาศเกษียณระดับนายพลหลายคน (มีการระบุชื่อนายทหารอากาศยศ พลอากาศโทถึงพลอากาศเอก 3 คน) ต้องการนำข่าวสารจากนายทหารระดับสูงดังกล่าวมาบอกผ่านอาจารย์มานิตย์ไปถึงแกนนำนปช. ว่า "อย่าใจเย็น ให้รีบต่อสู้เผด็จศึกตอนนี้ทันที"


 


000


ตอนที่ 3 : สามเหลี่ยมดินแดง
วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 (เช้า)
: ปฏิบัติการสังหารหมู่


ความตึงเครียดทวีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดนับจากวินาทีที่แถลงเป็นต้นไป (การแถลงวันที่ 1 1 เมษายน 2552) และทวีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อมีการออกคำสั่งเคลื่อนกำลังพลทางทหารพร้อมรถหุ้มเกราะและอาวุธสงครามมุ่งหน้าเข้าโอบล้อมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่สามเหลี่ยมดินแดงจรดพื้นที่รายรอบสถานที่ชุมนุมคนเสื้อแดงหน้าทำเนียบรัฐบาล


การเคลื่อนไหวทางยุทธการของกองกำลังทหารติดอาวุธครบมือ (และกระสุนจริง) พร้อมรถหุ้มเกราะที่มุ่งหน้าเข้าสู่เป้าหมายที่ชุมนุมประชาชนหน้าทำเนียบรัฐบาล ดำเนินไปควบคู่กับการประกาศระดมคนเสื้อแดงเข้าสู่ที่ชุมนุมสลับกับการแจ้งให้ผู้ชุมนุมเดินทางไป "เสริมกำลัง" คนเสื้อแดงที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงบ้าง ไปขัดขวางการยึดสถานีดาวเทียมไทยคมบ้าง ไปป้องกันการตัดกระแสไฟฟ้าสถานีดีสเตชั่นบ้าง ทำให้ตลอดคืนวันที่ 11 เมษายน ต่อเนื่องถึงย่ำรุ่งวันที่ 12 เมษายน 2552 ที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความตึงเครียดหวาดผวาต่อความรุนแรงและจลาจลบานปลาย อย่างไรก็ตามแกนนำ นปช. ที่เวทีทำเนียบรัฐบาลยังคงสามารถควบคุมจิตวิทยามวลชนให้สงบรวมตัวอยู่รอบเวทีศูนย์กลางการปราศรัยได้โดยไม่เกิดภาวะตื่นกลัวคลุ้มคลั่งจนอาจเกิดความรุนแรงบานปลายเป็นอันตรายต่อมวลชนที่ร่วมชุมนุมที่เวทีปราศรัย ผู้วิเคราะห์ยังคงร่วมสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณดังกล่าวกับผู้ช่วยรวบรวมข้อมูลสังเกตการณ์ภาคสนามคนหนึ่งจนกระทั่งเวลา 04.15 น. ของเช้ามืดวันที่ 12 เมษายน 2552 ผู้วิเคราะห์ประเมินว่าจะยังไม่มีการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลในคืนนั้นแล้ว ผู้วิเคราะห์จึงเดินออกจากบริเวณที่ชุมนุมไปยังสำนักงานมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ซึ่งตั้งอยู่บนถนนข้างเคียงใกล้ทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำรถยนต์ส่วนตัวที่จอดไว้เดินทางกลับที่พัก


ณ เวลาประมาณ 04.30 นั้น รถโดยสาร ขสมก.คันหนึ่งถูกนำมาจอดขวางถนนเลียบทางรถไฟระหว่างสถานียมราช - สวนจิตรลดาเรียบร้อยแล้วโดยผู้วิเคราะห์ไม่ทราบว่าเป็นปฏิบัติการของฝ่ายใด แต่ตำแหน่งที่รถถูกนำมาจอดนั้นอยู่หลังแนวประจำการของกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งเข้ามายึดพื้นที่ดูแลความปลอดภัยที่ด่านทางด่วนยมราช ณ เวลานั้นเรียบร้อยแล้ว เพราะเหตุที่รถคันดังกล่าวปิดขวางผิวจราจรทุกช่องทางอย่างสิ้นเชิง ผู้วิเคราะห์จึงต้องกลับรถกลางถนนมุ่งหน้าไปขึ้นทางด่วนที่ด่านยมราชเพื่อกลับที่พัก แทนที่จะใช้เส้นทางสามเสน - จตุจักร- บางเขนเช่นที่เคยใช้ในวันก่อน (ผู้วิเคราะห์พบในเวลาต่อมาว่ารถโดยสารคันดังกล่าวถูกเผาประกอบสถานการณ์รุนแรงในช่วงวันที่ 13 เมษายน)


ระหว่างทางที่ผู้วิเคราะห์ขับรถยนต์ขึ้นทางด่วนจากด่านยมราชมุ่งหน้าไปทางถนนกำแพงเพชรและทางลงรัชดาภิเษกตัดวิภาวดีรังสิต ผู้วิเคราะห์ยังไม่ทราบว่าได้มีการสั่งการให้ทหารใช้อาวุธระดมยิงขับไล่ รวมทั้งสังหารมวลชนเสื้อแดงที่ปักหลักชุมนุมกันอยู่ที่ทางแยกสามเหลี่ยมดินแดงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมากแล้ว


ผู้วิเคราะห์ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อกลับถึงที่พัก


ตลอดเช้าวันที่ 12 เมษายน 2552 สถานีโทรทัศน์ไทย (ไทยพีบีเอส) และผู้ประกาศข่าวที่เป็นมิตรกับ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ไม่ได้รีรอเสียเวลาในการจัดรายการถ่ายทอดสดเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ขณะที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 รายงานเหตุการณ์เดียวกันแต่มีน้ำหนักความเห็นประกอบการรายงานแตกต่างออกไปในบางส่วนเล็กน้อย ขณะที่สถานีโทรทัศน์อื่นบางรายแม้ว่าจะรับทราบเหตุการณ์รุนแรงแล้วแต่ยังไม่รายงานให้ความสำคัญมากเท่ากับสองสถานีที่กล่าวถึง


การติดตามรายงานข่าวโทรทัศน์ประกอบข้อมูลจากรายงานภาคสนามที่ประชาชนจำนวนหนึ่งส่งข่าวสารให้ได้รับทำให้ทราบได้ว่ามวลชนเสื้อแดงถูกกองกำลังทหารดำเนินยุทธการปราบปรามโดยใช้อาวุธสังหารระดมยิงใส่จนบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในขณะที่มวลชนเสื้อแดงไม่มีอาวุธประจำกายสำหรับป้องกันตนเองหรือต่อสู้ตอบโต้นอกจากการใช้เครื่องกีดขวางเช่นรถเมล์ ถังแก๊ส ขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง หรือยางรถยนต์เผาไฟ เป็นต้น


ผู้วิเคราะห์เดินทางกลับเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมคนเสื้อแดงหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งก่อนเที่ยงวันที่ 12 เมษายน 2552 โดยใช้เส้นทางอ้อมเข้าทางด้านสวนอัมพร


 


000


ตอนที่ 4 : ทำเนียบรัฐบาล/นางเลิ้ง
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2552
: วันอำมหิตยาธิปไตย
**


ภายในเที่ยงวันที่ 13 เมษายน ที่บริเวณพื้นที่รอบนอกของเวทีศูนย์กลางการชุมนุมมีผู้พบเห็นชายสองคนแต่งกายคล้ายคนเสื้อแดงกำลังพยายามกระตุ้นเร้าอารมณ์โกรธให้คนเสื้อแดงออกไปต่อสู้กับเจ้าหน้าที่แต่มวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกันขัดขวางและควบคุมตัวส่งสถานีตำรวจนางเลิ้ง รายงานเพิ่มเติมแจ้งว่าตำรวจตรวจพบบัตรประจำตัวข้าราชการทหารในตัวบุคคลที่พยายามสร้างสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งบุคคลที่ถูกควบคุมตัวอ้างว่ายังไม่ต้องรีบดำเนินคดีกับตนเพราะ "นาย" กำลังจะมา "เคลียร์" ให


ภายในวันเดียวกัน มีผู้ก่อเหตุการณ์รุนแรงที่บริเวณตลาดนางเลิ้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสองราย รายงานข่าวโทรทัศน์ ช่อง 3 เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าผู้ถูกยิงเสียชีวิตรายหนึ่งเป็นประชาชนที่มารอมุงดูเหตุการณ์ที่ตลาดนางเลิ้งในช่วงเวลาตึงเครียดหลังการสลายมวลชนสามเหลี่ยมดินแดง โดยมีญาติผู้เสียชีวิตเห็นเหตุการณ์และยืนยันว่าผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นชายสวมเสื้อแจ๊คเก็ตสีดำนั่งมอเตอร์ไซค์เข้ามาจ่อยิงขณะเกิดเหตุชุลมุน (สถานที่เกิดเหตุอยู่ไกลเลยแนวแผงเหล็กกั้นที่สะพานขาวออกไปทางหลานหลวง) ก่อนหลบหนีไป


ภายในเวลา 14.30 น. วันที่ 13 เมษายน 2552 กรุงเทพฯตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงที่ใครก็ยากจะคาดการณ์ล่วงหน้าว่าการนองเลือดที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงจะขยายตัวบานปลายต่อไปเพียงใดหรือจะจบลงด้วยการจลาจลเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือลุกลามไปในต่างจังหวัด หรือไม่ เพียงใด หรือจะคลี่คลายต่อไปอย่างไรในเวลาวินาทีต่อวินาที


ถนนหน้าสำนักงานมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 จากหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ถึงสะพานขาวโล่งว่างไม่มีมวลชนเสื้อแดงหรือการ์ด นปช. เฝ้าระวังแล้วหลังจากข่าวลือแพร่สะพัดว่ามีกลุ่มสมาชิกพันธมิตรฯปะปนอยู่กับไทยมุงที่อีกฟากหนึ่งของสะพานขาวคอยก่อกวนทำร้ายใครก็ตามที่สวมเสื้อสีแดงเดินผ่าน


เลขานุการมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 แจ้งให้ทุกคนที่ทำงานในมูลนิธิออกจากอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายก่อนหน้าเวลา 14.30 แล้ว ภายในมูลนิธิเหลือเพียงพนักงานดูแล 2 คน เฝ้าระวังทรัพย์สินของมูลนิธิ


ผู้เขียนเดินจากที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลไปยังอาคารมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ในช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ยังคงปรึกษาประชุมกันอยู่หรือไม่และได้รับแจ้งจากผู้เฝ้าระวังอาคารมูลนิธิว่าทุกคนได้รับแจ้งให้ออกจากอาคารหมดแล้ว


ผู้วิเคราะห์เดินเท้ากลับไปที่เวทีชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลหลังจากช่วงเวลาที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเผยแพร่การให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภาถึงความกังวลต่อสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลาย ผู้วิเคราะห์เดินเท้าไปถึงเวทีทำเนียบรัฐบาลขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสงกำลังปราศรัยเรียกร้องรัฐบาลให้พิจารณาดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง หลังจากนั้นนาย สุธรรม แสงประทุมขึ้นเวทีปราศรัยต่อ


เวลา 15.25 ผู้วิเคราะห์ได้พบและสอบถามข้อมูลสถานการณ์ทั่วไปจากนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. คนหนึ่ง ระหว่างนั้นนายณัฐวุฒิขัดจังหวะการปราศรัยด้วยการประกาศด่วนผ่านเครื่องขยายเสียงเรียกการ์ด นปช. ทุกคนให้ถอนตัวจากทุกจุดเข้ามารวมตัวป้องกันรักษาพื้นที่เวทีชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการสร้างสถานการณ์รุนแรงของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่รวมตัวกันอยู่รายรอบพื้นที่ชุมนุมที่เวทีหน้าทำเนียบรัฐบาล


เวลา 17.30 น. กองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือเคลื่อนพลเข้าปิดล้อมประชิดบริเวณที่ชุมนุมในระยะห่างด้านหนึ่ง (ด้านถนนเลียบคลองข้างวัดเบญจมบพิตรฯ) ไม่เกิน 100 เมตรเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ช่วงกลางวัน ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ผู้วิเคราะห์มองเห็นกลุ่มควันเผาไหม้ลอยคลุ้งขึ้นสูงบนท้องฟ้าอย่างน้อย 2 ด้านจากเวทีปราศรัย แต่เป็นร่องรอยการเผาไหม้ที่อยูในระยะไกลออกไปจากปริมณฑลการชุมนุมขณะนั้น


เวลา 17.50 น. มีผู้มาแจ้งกับผู้วิเคราะห์ว่าเห็นทหารใช้อาวุธปืนยิงเป็นระยะ ๆ ที่บริเวณใกล้เคียงกระทรวงศึกษาธิการที่ถนนราชดำเนินและเห็นอาคารที่มี "ตัววิ่ง" ถูกไฟเผาไหม้บางส่วน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นมีสตรีสวมเสื้อแดงอายุประมาณ 30 ปีเศษเดินเข้ามาหาผู้วิเคราะห์ อ้างว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเสื้อแดงที่พยายามแย่งศพแท็กซี่จากทหารที่สามเหลี่ยมดินแดงแต่ได้มาแค่กางเกงเปื้อนเลือด ทั้งยังกล่าวต่อไปว่าอยากให้ "อาจารย์" ช่วยไปบอกแกนนำนปช.ว่าทหารโหดมาก อยากให้ส่งการ์ดนปช.ไปสู้กับพันธมิตรฯ ที่ยมราช ผู้วิเคราะห์รับฟังไว้ แต่ขอดูบัตรประจำตัวประชาชนสตรีคนดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าพกบัตรประชาชนแต่พกใบอนุญาตขับขี่จักรยานยนต์ชั่วคราว ฉบับที่ 3 1009XXXXXXXX วันที่อนุญาต 2 พฤษภาคม 2551


เวลา 13 เมษายน 2552 เวลา 19.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เนื้อหาคำแถลงที่สำคัญเป็นการกล่าวหาแกนนำ นปช. อย่างน้อย 2 เรื่อง คือ การยิงอาวุธสงครามใส่อาคารศาลรัฐธรรมนูญ และ (สันนิษฐานเชิงกล่าวหาล่วงหน้า) ว่าคืนนั้น นปช. อาจก่อจลาจล นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว นายสุเทพอธิบายต่อประชาชนว่าการดำเนินมาตรการของทหารและรัฐบาลจนถึงขณะนั้นยังไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต


การเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดระหว่าง นปช. กับกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลดำเนินต่อไปตลอดคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 14 เมษายนแต่ยังไม่มีการจู่โจม


 


000


ตอนที่ 5 : ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552
: ถอดสลักฆาตกรคอปกขาว***


ก่อนเที่ยงวันที่ 14 เมษายน 2552 กองกำลังทางทหารพร้อมอาวุธสังหารครบมือที่โอบล้อมมวลชนนปช. ทุกด้านไว้แล้วเตรียมความพร้อมทุกขณะหากจะได้รับคำสั่งปฏิบัติการในวินาทีใดวินาทีหนึ่ง; ห่างจากแนวหลังของกองทหารเหล่านั้นออกไปยังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคน "เสื้อสีอื่น" ปะปนอยู่กับประชาชนชาวไทย (มุง) ซ้อนเสริมเตรียมความพร้อมอยู่ในระยะใกล้ไกลต่างกันโดยรอบปริมณฑลที่อาจมีคนเสื้อแดงแตกตื่นเตลิดหนีหลุดรอดออกไปถึงแนวหลังกองทหาร; โฆษกคณะอำนวยการตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินประกาศรหัสสัญญาณว่าขณะนั้น "ประชาชนในที่ชุมนุมเหลือเพียงประมาณสองพันคน" ให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน


แต่ทว่า ก่อนที่จะถึงวินาทีออกคำสั่งปฏิบัติการจู่โจม ; ยุทธการล้อมปราบประชาชนคนเสื้อแดงก็ยุติลงโดยปริยาย และอย่างทันท่วงที โดยการประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราว


บุคคลที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้เช่นนั้นในความเป็นจริงกลับไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์


แต่เป็นนาย วีระ มุสิกพงศ์ แกนนำอันดับหนึ่งของนปช. ที่ชิงประกาศยุติการชุมนุมแล้วเดินนำหน้าไปเจรจรกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงรายละเอียดในการนำคนเสื้อแดงออกจากการชุมนุมโดยต้องไม่มีการเสียเลือดเนื้อประชาชน****


พลังฝ่ายประชาธิปไตยรุกคืบเอาชัยไปได้อีกก้าวหนึ่งในพัฒนาการอันแสนยาวนานของการค้นหาประชาธิปไตยในระบอบการเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารวันที่ 24 มิถุนายน 2475


แม้ว่าพลังคณาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย และอำมหิตยาธิปไตยจะไม่รู้สึกเท่าทันและยังพลัดหลงกงล้อวิวัฒนาการประวัติศาสตร์คิดว่าตนเองเป็นฝ่ายเอาชนะประชาชนได้อีกคำรบหนึ่งก็ตามที


 


หมายเหตุ :


*นักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาค้นคว้าและประมวลสรุปข้อเขียนนี้โดยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดเผยสถานภาพนักวิชาการต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในภาคสนามอย่างจำกัดบทบาทการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์


**"อำมหิตยาธิปไตย" เป็นคำเฉพาะที่ผู้เขียนกำหนดขึ้นใช้เพื่อสื่อความหมายเป็นศัพท์เทคนิคทางวิชาการบ่งชี้ถึงระบอบการเมือง บุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรทั้งในและนอกภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือพัวพันกับกรณีเหตุการณ์วันที่ 8 - 14 เมษายน พ.ศ. 2552 โดยสื่อความหมายเฉพาะถึงระบอบการเมือง บุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ ข้างต้นที่มีส่วนผสมของรากฐานคำศัพท์ "อำมหิต" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ผนวกกับคำว่า "อำมาตยาธิปไตย" ตามที่ปรากฏในงานเขียนทางวิชาการเช่นในการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองไทยของนายรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น


*** คำนี้ดัดแปลงมาจากคำว่า "อาชญากรคอปกขาว" (white-collar criminal) ในวิชาการด้านอาชญาวิทยาและสังคมวิทยา สื่อความหมายถึงอาชญากรในสังคมปัจจุบันที่มีภาพลักษณ์ผู้ดี มีการศึกษาสูง ตำแหน่งหรืออาชีพการงานน่านับถือ แต่มีจิตใจเป็นอาชกรกรที่อาจกระทำความผิดได้อย่างแนบเนียนกว่าคนที่มีภาพลักษณ์แบบ "โจร" ในวรรณกรรมทั่วไปหรือ "ผู้ร้าย" ในอดีต


**** แม้ว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์พยายามอ้างว่าการยุติการชุมนุมโดยไม่มีการนองเลือด (นอกจากที่เกิดขึ้นก่อนแล้วที่สามเหลี่ยมดินแดง เป็นต้น) เป็นผลงานของตน แต่ข้อมูลจนถึงปัจจุบันยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลไม่เคยออกคำสั่งถอนกำลังทหารก่อนนายวีระ มุสิกพงศ์ประกาศสลายการชุมนุม และไม่มีรายงานข่าวกรองใด ๆ ยืนยันว่ารัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลเข้าดำเนินการเจรจากับนายวีระหรือแกนนำคนอื่น ๆ ให้สลายการชุมนุมด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่อหน้าหรือลับหลังสาธารณชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net