Skip to main content
sharethis

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เปิดเผยว่า การออกใบอนุญาต (ไลเซนส์)ให้กับผู้ให้บริการวิทยุชุมชน และผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลทีวี) น่าจะสามารถทำได้ภายในไตรมาส 3 นี้ เนื่องจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) แล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา


 



โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องนำร่างหลักเกณฑ์วิทยุชุมชน และร่างหลักเกณฑ์เคเบิลทีวีเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มชุมชนมากที่สุด ภายในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนจะเสนอให้ กทช.ออกประกาศ และเริ่มเปิดรับผู้ให้บริการที่ต้องการขอไลเซนส์ โดยไม่กำหนดจำนวนราย


 



อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตมีกว่า 5,000 ราย ซึ่งกลายเป็นปัญหาวิทยุชุมชนเถื่อน ที่นำคลื่นไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง ดังนั้น การออกร่างดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหานี้ให้จบลงโดยเร็ว ผู้ให้บริการกว่า 5,000 รายนั้น สามารถยื่นขอไลเซนส์ได้ แต่การพิจารณานั้นขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่เหมาะสม


 



สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอไลเซนส์วิทยุชุมชนนั้น จะต้องเป็นสมาคม มูลนิธิ นิติบุคคลอื่น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีรายการข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ซึ่งใบอนุญาตที่ได้รับนั้นจะเป็นใบอนุญาตชั่วคราว มีอายุ 1 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มทดลองออกอากาศ


 



ขณะที่คุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตเคเบิลทีวีนั้น ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งระงับการใช้ใบอนุญาต หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาแล้วยังไม่ครบ 3 ปี และจำเป็นต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของทุนจดทะเบียน


 



ทั้งนี้ ผู้ขอใบอนุญาตจะต้องแสดงรายละเอียดสัดส่วนรายการและผังรายการเป็นช่องรายการ ซึ่งมีข่าวสารหรือสาระอย่างน้อย 25% และมีช่องรายการต่างประเทศ ช่องข่าวรายการท้องถิ่น รายการกีฬา รายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งต้องจัดให้มีการบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้วด้วย


 



ก่อนหน้านี้ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือม็อบเสื้อแดง ได้ใช้คลื่นวิทยุชุมนุมปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชนคนรักแท็กซี่ คลื่น 92.75 และคลื่น 107.5 ส่วนภาคอีสานก็มีกลุ่มชมรมคนรักอุดร วิทยุชุมชน 97.5 เป็นต้น



 


โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสื่อของรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจสั่งปิดวิทยุชุมชน แต่อยู่ที่ กทช.ซึ่งที่ผ่านมาเรียกร้องมาตลอดว่า กทช.ต้องแสดงบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าทำ


 


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net