Skip to main content
sharethis


(6
เม..) ARTICLE 19, English PEN and Index on Censorship 3 องค์กรนานาชาติที่รณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ออกแถลงการณ์ร่วมแสดงความห่วงใย กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ด้วยข้อหาโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


ข้อความในแถลงการณ์ร่วมระบุว่า นายสุวิชาถูกจับกุมตั้งแต่เดือนมกราคม และถูกคุมขังจนกระทั่งถูกตัดสินว่ามีความผิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ฐานโพสต์เนื้อหาซึ่งเข้าข่ายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ซึ่งการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือพระราชวงศ์ เป็นความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฏหมายอาญาของไทย ทั้งนี้ ทนายความของนายสุวิชาระบุว่า เขาจะขอพระราชทานอภัยโทษ


 


ทั้งนี้ ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งทำให้ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมกราคม 2552 นักเขียนชาวออสเตรเลีย แฮร์รี่ นิโคไลดส์ ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ในภายหลัง ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ มีการออกหมายจับนายใจลส์ ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการสัญชาติไทย-อังกฤษ จากการเขียนหนังสือเรื่อง A Coup For The Rich (รัฐประหารเพื่อคนรวย) ซึ่งวิจารณ์การรัฐประหารของทหารเมื่อปี 2549 โดยใจลส์ได้ออกจากประเทศเพื่อหลบเลี่ยงการถูกจับกุม


 


ย้อนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายโจนาธาน เฮด ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากที่มี "ภาพที่ไม่เหมาะสม" โพสต์ในเว็บไซต์ข่าวของบีบีซี นอกจากนี้ นิตยสารดิอิโคโนมิสต์หลายฉบับซึ่งมีบทความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ถูกเพิกถอนการวางแผงจำหน่ายในประเทศไทย หนังสือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของนายพอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ "The King Never Smiles" หรือ กษัตริย์ไม่เคยยิ้ม กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทยตั้งแต่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2549 และเว็บไซต์ที่โฆษณาหนังสือเล่มนี้ก็ถูกบล็อค


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระบุว่า ประเทศไทยมีการปิดเว็บไซต์กว่า 2,000 เว็บ โดยอ้างว่ามีเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเพิ่มการดูแลการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ โดยเตือนว่า มีเว็บไซต์ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังกว่า 10,000 แห่ง


 


ARTICLE 19, English PEN และ Index on Censorship ได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อกรณีคำตัดสินคดีของนายสุวิชา โดยเนื้อหาระบุว่า นี่เป็นโทษที่รุนแรงอย่างสาหัส และองค์กรทั้งสามวิตกกังวลต่อการใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายวันเพื่อปิดกั้นผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์และเห็นต่างในสังคมไทย รวมถึงขอพระราชทานอภัยโทษให้นายสุวิชา และขอให้ทางการไทยยกเลิกกฏหมายซึ่งทำให้ผู้คนกลัวในการแสดงความคิดเห็น


 


ทั้งนี้ องค์กรนานาชาติซึ่งสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้เรียกร้องให้บุคคลสาธารณะมีความอดทนอดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ให้มากยิ่งขึ้นด้วย


 


 


 


.......................................
แปลและเรียบเรียงจาก http://www.ifex.org/en/content/view/full/102178/


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net