Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักปรัชญาชายขอบ


 


 


มีความพยายามสร้างวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" ขึ้นมา โดยแรกๆ ถูกใช้ในเชิงเป็น "สัญลักษณ์" บ่งชี้ถึงวิธีคิดและวิธีการบริหารจัดการแบบทักษิณที่มีลักษณะเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แทรกแซงสื่อ วุฒิสภา องค์กรอิสระ ประชานิยมมอมเมา คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ฯลฯ


 


ต่อมามีความพยายามใช้ "ระบอบทักษิณ" ไปเปรียบเทียบในเชิงเป็นปฏิปักษ์กับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งถูกคุณทักษิณและฝ่าย "เสื้อแดง" ออกมาปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่เป็นปฏิปักษ์กับ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ซึ่งหมายถึง ระบอบที่เครือข่ายบริวารแวดล้อมเจ้า (ที่มีบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง) เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวโดยอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ (เช่น ทำรัฐประหารเพื่อรักษาราชบัลลังก์ ฯลฯ) ซึ่งระบอบดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญของ "ประชาธิปไตยเต็มใบ"


 


ความคลุมเครือของวาทกรรม "ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" อยู่ตรงที่ เราไม่สามารถทำความเข้าใจได้ชัดเจนโดยเปรียบเทียบกับ "ระบอบ" ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วโดยทั่วไป เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบประชาธิปไตย ระบอบสังคมนิยม ระบอบเผด็จการ ฯลฯ ว่าในเชิงปรัชญา โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ของ "ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" เหมือนหรือต่างจาก "ระบอบ" ต่างๆซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วนั้นๆอย่างไร


 


ที่สำคัญทั้งคุณทักษิณและฝ่ายเสื้อแดงต่างออกมาปฏิเสธว่า "ระบอบทักษิณ" (ที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข?) ไม่มีอยู่จริง ฝ่ายคนที่ถูกพาดพิงว่าเป็นเครือข่ายอำมาตย์และฝ่ายเสื้อเหลืองก็ออกมาปฏิเสธว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" (ที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยเต็มใบ?) ไม่มีอยู่จริง


 


แต่ทว่าอาวุธอันทรงประสิทธิภาพของฝ่าย "เสื้อเหลือง" (= พธม., มวลชนคนชั้นกลางในเมือง +  องคมนตรีบางคน, ทหาร, พรรคประชาธิปัตย์, นักวิชาการ, สื่อบางส่วน) คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า "ระบอบทักษิณเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ดังนั้น ตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายเสื้อเหลืองจึงต้อง "ขจัด" ระบอบทักษิณให้สิ้นซากเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 


และอาวุธอันทรงประสิทธิภาพของฝ่าย "เสื้อแดง" (= ทักษิณ + พรรคเพื่อไทย, นปช., มวลชนรากหญ้าในเมืองและชนบท, นักวิชาการ และสื่อบางส่วน) คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเต็มใบ" ดังนั้น ตามยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายเสื้อแดงจึงต้อง "ล้ม" ระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยเต็มใบ


 


หากมองที่ "ยุทธศาสตร์" และ "ยุทธวิธี" ของทั้งสองฝ่ายที่มุ่ง "ขจัด" หรือ "ล้ม" อีกฝ่ายให้ได้ เราจะมองไม่เห็นทางออกของความขัดแย้งที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆในขณะนี้ได้เลย นอกจากการ "แตกหัก" ที่อาจจะหนีความรุนแรงหรือการนองเลือดไปไม่พ้น


 


แต่แตกหักนองเลือดแล้ว จะทำให้เกิด "การเมืองใหม่" หรือ "ประชาธิปไตยเต็มใบ" ดังที่แต่ละฝ่ายกล่าวอ้างหรือไม่นั้น ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ที่จะเปลี่ยนแน่ๆก็คือการเปลี่ยน "ขั้วอำนาจ" กันไปมาระหว่างคนสองฝ่ายเท่านั้น!


 


อย่างไรก็ตาม แม้ "ระบอบทักษิณ" หรือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" จะนำมาเทียบไม่ได้กับระบอบอื่นๆที่เข้าใจกันอยู่โดยทั่วไป แต่ก็ใช่ว่าวาทกรรมดังกล่าวจะปราศจากข้อเท็จจริงของวิธีคิดและการกระทำรองรับ


 


เราคงต้องยอมรับว่าวิธีคิดและการกระทำอันประกอบขึ้นเป็น "ระบอบทักษิณ" ตามนิยามของฝ่ายเสื้อเหลืองนั้น เป็นวิธีคิดและการกระทำในทางการเมืองที่สังคมประชาธิปไตยที่เรียกร้องความโปร่งใสไม่ควรยอมรับ ส่วนวิธีคิดและการกระทำอันประกอบขึ้นเป็น "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ตามนิยามของฝ่ายเสื้อแดงก็เป็นวิธีคิดและการกระทำในทางการเมืองที่สังคมประชาธิปไตยที่เรียกร้องความเป็นธรรมไม่ควรยอมรับด้วยเช่นกัน


 


ในขณะเดียวกัน (ตามที่ประกาศอย่างเปิดเผย) แต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่ากำลังต่อสู้เรียกร้อง "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เช่นเดียวกัน โดยประชาธิปไตยของฝ่ายเสื้อเหลืองเรียกร้องการสร้างการเมืองที่สะอาดโปร่งใสปราศจากการครอบงำของทุนธุรกิจการเมืองหรือทุนนิยมสามานย์ ประชาธิปไตยของฝ่ายเสื้อแดงเรียกร้องการสร้างการเมืองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเสมอภาคทางสังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ


 


ซึ่งประชาธิปไตยที่ทั้งสองฝ่ายเรียกร้องก็ล้วนแต่เป็นประชาธิปไตยอันพึงปรารถนาของสังคมไทยเช่นกัน ดังนั้น มวลชนเสื้อเหลืองที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยที่สะอาดโปร่งใสด้วยอุดมการณ์บริสุทธิ์ และมวลชนเสื้อเหลืองที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นธรรมเสมอภาคด้วยอุดมการณ์บริสุทธิ์ จึงเป็นมวลชนที่ก้าวหน้าที่ควรได้รับการสดุดี


 


ปัญหาคือ ทำไมทั้งที่เมื่อว่าโดยอุดมการณ์หรือสิ่งที่แต่ละฝ่ายเรียกร้องแล้วก็มิได้ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ แต่มวลชนทั้งสองฝ่ายกลับถูกปลุกเร้าให้เกลียดชังกันจนถึงขั้นต้อง "ขจัด" หรือ "ล้ม" อีกฝ่ายให้สิ้นซาก!


 


คำถามสำคัญของสังคมไทย ณ วันนี้ จึงควรพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ "แกนนำ" และ "แนวร่วมหลัก" ของแต่ละฝ่ายว่ากำลังทำอะไร เพื่อผลประโยชน์ของใคร มันเป็นความขัดแย้งทาง "อุดมการณ์" ประชาธิปไตยของมวลชนเหลือง-แดง หรือ เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่เป็นแกนนำในกลุ่มพันธมิตร (บางคน) องคมนตรี,ทหาร,ข้าราชการ (บางคน) กับคุณทักษิณและพวกกันแน่?!!!


 


โดยสรุป ผู้เขียนมองว่า ความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออยู่เวลานี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยของมวลชนเหลือง-แดง (ที่ถูกมองว่ามี "ความคิด" ก้าวหน้ากว่าแกนนำ) และไม่ใช่เป็นความขัดแย้งของสิ่งที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ" กับ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เพราะระบอบทักษิณไม่ใช่ "ระบอบการเมืองปกครอง" แบบอื่นที่ใครๆในโลกนี้ยอมรับ หรือที่แม้แต่คุณทักษิณก็ไม่ได้เสนอให้เป็นระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นทางเลือกของสังคมไทยแต่อย่างใด


 


ยิ่งถ้าจะเป็นความขัดแย้งระหว่าง "บอบทักษิณ" กับ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ยิ่งไม่ใช่ใหญ่เลย เพราะวิธีคิดและการกระทำของทั้งสองระบอบ (หากจะเรียกว่ามันเป็น "ระบอบ" ) ดังกล่าวก็ไม่ได้แตกต่างกันในทาง "เนื้อหา" กล่าวคือ เป็นวิธีคิดและการกระทำที่เล่นพรรคเล่นพวกในการจัดสรร/รักษาอำนาจและผลประโยชน์ และยึดผลประโยชน์ของตนเองเป็นตัวตั้งเช่นเดียวกัน (เพียงแต่อำมาตย์อาจอิง "สถาบัน" และใช้สถาบันเป็นเครื่องมือ ขณะที่อีกฝ่ายใช้ "ทุน" และ "สมุนบริวาร" ในความอุปถัมภ์เป็นเครื่องมือ) ซึ่งโดยสาระแล้ว วิธีคิดและการกระทำในทั้งสองระบอบต่างเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยที่แท้จริงเช่นเดียวกัน


 


ความวุ่นวายทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และอาจนำไปสู่ความรุนแรงแตกหักกันอยู่ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ และแนวร่วมหลักของทั้งสองฝ่ายรวมทั้งพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของสีเหลืองกับสีแดงเป็นหลัก ซึ่งไม่ว่าฝ่ายไหนจะชนะ ฝ่ายนั้นก็ไม่อาจจะหยิบยื่นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้แก่สังคมไทยได้


 


ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพลังมวลชนทั้งเหลือง - แดงหลุดพ้นจาก "มายาภาพ" ของความขัดแย้งบนความคลุมเครือของวาทกรรมอำพรางต่างๆ (ที่แกนนำของแต่ละฝ่ายพยายามสร้างขึ้นเป็น "ธงนำ" ในการสร้างมวลชนสนับสนุน) แล้วมุ่งสื่อสารอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มุ่งสร้างการเมืองที่สะอาดโปร่งใส และประชาธิปไตยที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมและเสมอภาคให้สาธารณะยอมรับ จนนำไปสู่กระบวนการผลักดันให้เกิด "อุดมการณ์ร่วมกัน" ของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net