ความจริง ความถูกต้อง และความปรองดองในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สุรพศ  ทวีศักดิ์


 

 

ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองขณะนี้ แม้คนส่วนใหญ่อยากให้เกิดความความปรองดองขึ้นในชาติก็คงเป็นไปได้ยากตราบที่สังคมยังไม่สามารถจัดการ "ความจริง" และบริหาร "ความถูกต้อง" ได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

เรายอมรับหรือไม่ว่า วิธีการจัดการความจริงและวิธีบริหารความถูกต้องที่กลุ่มคนชั้นนำทุกฝ่ายทำๆ กันมานั้น เป็นวิธีการที่ส่งผลให้สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสับสนว่า อะไรจริง อะไรเท็จ อะไรถูก อะไรผิด ควรจะเชื่อใครหรือสถาบันไหนดี และเป็นวิธีการที่เป็นสาเหตุสำคัญของความแตกแยกในสังคมไทยทุกวันนี้

 

สังคมไทยจัดการความจริงกันอย่างไร?

ดูจากการต่อสู้ทางการเมืองที่มีการแบ่งเป็นฝ่าย "สีเหลือง" กับ "สีแดง" อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าต่างฝ่ายต่างยึดปรัชญาในการจัดการความจริงที่ว่า "ความจริง (ที่แท้จริง) จะเป็นอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับว่าคนในสังคม (หรือคนสีเดียวกัน) เชื่ออย่างไร" ดังนั้น แต่ละฝ่ายจึงมุ่ง (หรือเลือก) เสนอความจริงเพื่อต้องการให้สังคม (หรือคนสีเดียวกัน) เชื่อตามที่ตนเองอยากให้เชื่อ มากกว่าที่จะเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาและครบถ้วนรอบด้าน

 

วิธีการเสนอความจริงจึงเน้นการแฉโพย กล่าวหา โจมตี ใส่สีตีไข่ หรือนำเสนอข้อมูลแบบ "จริงปนเท็จ" ผ่าน "สื่อเลือกข้าง" เป็นด้านหลัก ใช้ท่วงทำนองลีลาโน้มน้าวให้สังคมเชื่อว่าฝ่ายตรงกันข้ามเลวอย่างไร โดยไม่จริงจังกับการแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันอย่างชัดแจ้ง

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนเบื้องลึกของปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากสังคมไทยขาด "วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ข้ามกลุ่มคน กลุ่มอาชีพ กลุ่มสาขาวิชา กลุ่มความเชี่ยวชาญ กลุ่มชนชั้น/สถาบัน กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มการเมืองและอื่นๆ โดยธรรมชาติของสังคมไทยผู้คนแต่ละกลุ่มต่างเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันแบบเส้นสายและผลประโยชน์ สนใจ รับรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องที่คิด หรือเชื่อตรงกัน ขาด "พื้นที่" สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงระหว่างกลุ่มคนที่คิด เชื่อ มีความเห็น หรือมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ไม่ว่าในครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่สื่อที่เปิดพื้นที่ให้กับการปะทะวิพากษ์ระหว่างความเห็นที่หลากหลายในประเทศนี้ก็มีน้อยมาก (แต่สื่อประเภท "นายว่า ขี้ข้าพลอย" กลับมีมากเกิน)

 

นอกจากนี้สังคมไทยยังมีข้อจำกัดทางวัฒนธรรมและกฎหมายในการพูดความจริง ในเรื่องของตนเองบางเรื่องซึ่งคนไทยน่าจะรู้ดี และเข้าใจอย่างลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุมได้ดีกว่าฝรั่ง แต่คนไทยกลับมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมาทุกแง่ทุกมุม จึงกลายเป็นว่าคนไทยต้องอาศัยคำอธิบายในเรื่องของตนเองจากฝรั่ง หรือเข้าใจ "ความจริงของสังคมไทย" บางเรื่อง (เช่น ความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์) ผ่านการวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่อหรือนักวิชาการฝรั่ง หรือผ่าน "มุมมองแบบฝรั่ง" ซึ่งมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างจากเรา โดยเราเชื่อกัน (ประมาณ) ว่า เขามีเสรีภาพในการพูดความจริงมากกว่า หรือเก่งกว่าเราแทบทุกเรื่อง

 

ด้วยวิธีการจัดการความจริงดังกล่าวภายใต้สังคมที่ขาดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันหลายๆด้าน จึงทำให้ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นและนำเสนอความจริงจาก "อคติ" ของใครของมัน ไม่มีใครสนใจที่จะรับฟังกันและกันด้วยจิตใจเปิดกว้างและประเมินเหตุผลของกันและกันอย่างเที่ยงตรง

 

แต่ละฝ่ายต่างตกอยู่ในสภาพที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกว่า "ติดคุกแห่งอคติ" และเสียงที่ตะโกนออกมาจากคุกแห่งอคติของแต่ละฝ่ายจึงเป็นเสียงแห่งความจริงตามมุมมองของฝ่ายตนเท่านั้น จึงนำไปสู่ความขัดแย้งสุดโต่งที่ยากจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันเป็นกระบวนการสังเคราะห์ "ความจริงร่วมกัน" จากมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจนทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันและปรองดองกันได้จริง 

 

สังคมไทยบริหารความถูกต้องกันอย่างไร?

อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นคนแรกๆที่ออกมาเตือนว่า อย่าจัดการกับคุณทักษิณด้วย "วิธีโจรจับโจร" แต่ก็ไม่มีใครฟัง ถ้าคุณทักษิณถูกทำให้พ้นจากอำนาจด้วยวิถีทางประชาธิปไตย และได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ข้อกล่าวหาต่างๆ ตามกระบวนการยุติธรรมใน "บรรยากาศที่มีความเป็นประชาธิปไตย" (ทั้งในสายตาคนไทยและต่างชาติ) วิกฤตการเมืองอาจไม่ยืดเยื้อขนาดนี้

 

เมื่อใช้  "รัฐประหาร" จัดการกับคุณทักษิณ การดำเนินการกับเขาที่สืบเนื่องจากรัฐประหารจึงถูกลดความชอบธรรมโดยปริยาย และเป็นเหตุให้อีกฝ่ายนำไปเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ทวงอำนาจคืน รวมทั้งเป็นข้ออ้างเพื่อให้พ้นจากคดีความต่างๆ ที่ดำเนินการหลังรัฐประหารด้วย

 

ในวีดิโอลิงก์เมื่อ 27 มีนาคม 2552 คุณทักษิณเสนอว่า "ทางแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองที่ดีที่สุดคือ กลับไปเริ่มต้นใหม่ โดยให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาฯ แล้วเลือกตั้งใหม่ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน คดีความใดๆที่เกิดขึ้นในความขัดแย้งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคดีของฝ่ายสีเหลืองหรือสีแดงให้เลิกแล้วกันไป ถือเสียว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น…"

 

ข้อเสนอของคุณทักษิณทำให้ละครความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสี่ปีที่ผ่านมากลายเป็นเรื่องโจ๊กทันที แต่เป็นละครโจ๊กที่คนไทยขำไม่ออก เพราะประเทศต้องสูญเสียต้นทุนสร้างอย่างมหาศาลกับละครที่แสดงโดยกลุ่ม "ทุนเก่า" กับ "ทุนใหม่" ที่มีแนวร่วมหลักคือ "คนสีเหลือง" กับ "คนสีแดง" ซึ่งล้วนแต่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ต่างก็รักๆใคร่ๆ และเคย "ได้-เสีย" กันมาแล้วทั้งนั้น

 

คำถามสำคัญ คือ ทำไมชะตากรรมของสังคมไทยจึงต้องขึ้นอยู่กับ "การกำหนด-ชี้นำ" ของคนเพียงไม่กี่คนกี่กลุ่มที่ต่างก็กล่าวอ้างประชาธิปไตย ประเทศชาติ และประชาชน เพื่อเป็นความชอบธรรมให้พวกเขาได้จัดการความจริงและบริหารความถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเองเป็นหลักกันทั้งนั้น

 

ความสมานฉันท์ปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสังคมทั้งสังคมทำลายกำแพง "คุกแห่งอคติ" ลงได้ สามารถสร้างวิธีการจัดการความจริง และวิธีบริหารความถูกต้องที่พ้นไปจากวัฒนธรรมจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริง วัฒนธรรมสื่อเลือกข้าง นักวิชาการแบ่งฝ่าย วัฒนธรรมโจรจับโจร และสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามชนชั้นและความแตกต่างอื่นๆ!

 

 

 

 

 

 

 

หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนรายวัน 5 เมษายน 2552  ฉบับที่ 11358 หน้า 5

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท