Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม: วิเคราะห์ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 15 บทวิพากษ์นักสิทธิมนุษยชนระดับโลก

โดย ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


 


 


 


การต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ครั้งที่ 15 ช่วงกลางเดือน เม.ย.นี้ กำลังถูกจับจ้องจากหลายฝ่ายชนิดตาไม่กระพริบ! 


 


เพราะครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ "ฝ่ายการเมือง" แสดงท่าทีไม่อยากให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแบบพร่ำเพรื่อ หลังจากที่ต่ออายุมาอย่างสะดวกโยธิน 14 ครั้ง นับตั้งแต่ประกาศใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ค.2548 เป็นต้นมา หลังเกิดเหตุการณ์ที่เรียกขานกันว่า "ดับเมืองยะลา" เพียงไม่กี่วันก่อนหน้านั้น


 


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีชัดเจนผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชนหลายครั้งว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในแบบ "ต่อโดยอัตโนมัติ" แม้คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของเขาได้เห็นชอบการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ชายแดนใต้ไปแล้ว 1 ครั้ง เป็นครั้งที่ 14 เมื่อกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้น นายกฯอภิสิทธ์ ให้เหตุผลว่า รัฐบาลเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ จึงไม่มีเวลาดูในรายละเอียด 


 


ทว่าคราวนี้เขาสั่งการให้หน่วยงานความมั่นคงทำคำชี้แจงมาให้ชัดเจนว่า ผลจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นอย่างไร ทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อประเมินความจำเป็นของการต่ออายุครั้งต่อไป หรือหากจะเสนอต่ออายุอีก ก็ต้องบอกให้ได้ว่าจะต่ออีกกี่ครั้ง ใช้เวลาเท่าไหร่ สถานการณ์ฉุกเฉินจึงจะยุติลง


         


นายกฯอภิสิทธิ์ ชี้ประเด็นแบบจี้ใจดำว่า ความสำเร็จของการใช้กฎหมายพิเศษ คือทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินคลี่คลายในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากสถานการณ์นั้นไม่คลี่คลายหลังจากที่ใช้กฎหมายพิเศษมาแล้วเป็นระยะเวลานาน นั่นหมายถึงความล้มเหลว


         


พร้อมกับประกาศจุดยืนในการปาฐกถาเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ความสำเร็จในภารกิจดับไฟใต้ คือการถอนกำลังพลออกจากพื้นที่ให้ได้จำนวนมาก โดยที่สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ ไม่ใช่ใช้กำลังพลมหาศาลเพื่อตรึงสถานการณ์เอาไว้เฉกเช่นทุกวันนี้ (อ่านรายละเอียดได้ใน "แม้หนักใจแต่ยังไม่ท้อ...นายกฯพ้ออยู่จนครบวาระใต้ก็ยังไม่สงบ" ในเว็บอิศรา)


         


ท่าทีของนายกฯ สอดรับกับเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคมในดินแดนด้ามขวานมาเนิ่นนานที่อยากจะรัฐบาลให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก เพราะมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างความลำบากในการดำเนินวิถีชีวิตปกติของประชาชน ท่ามกลางเสียงคัดค้านด้วยเหตุผลอันหนักแน่นไม่แพ้กันของฝ่ายความมั่นคงที่ยืนยันถึงความจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อต่อกรกับกลุ่มก่อความไม่สงบ


         


ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นที่ "ทีมข่าวอิศรา" ตัดสินใจเดินหน้าตรวจสอบ วิเคราะห์ วิพากษ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยผ่านการสัมภาษณ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักสิทธิมนุษยชนชื่อก้อง เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ชาวบ้าน ตลอดจนประสบการณ์การใช้กฎหมายพิเศษในต่างประเทศ พร้อมผลการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการ โดยจะนำเสนอเป็นตอนๆ นับจากวันนี้ไป...


         


เป้าหมายก็เพื่อชี้ให้ชัดว่า การใช้กฎหมายพิเศษเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ความไม่สงบนั้น มีความจำเป็นแค่ไหน และเพียงใด!


 


บทวิพากษ์จากนักสิทธิฯระดับโลก


เริ่มต้นตอนแรกกับบทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เจ้าของรางวัลยูเนสโกเพื่อการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2547 และที่ปรึกษาองค์กรต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ


        


O สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง? 


หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศก็ดีขึ้นหลายๆ ส่วน ตอนนี้ผมกำลังประเมินกฎหมายที่แก้ไขในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายส่วนก็ดีขึ้น เช่น กฎหมายเกี่ยวกับคำนำหน้านาม คำว่านาง นางสาวของสตรี เท่าเทียมกันมากขึ้นกับบุรุษ 


 


มีการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อยกอายุขั้นต่ำสุดของเด็กในเรื่องความรับผิดทางอาญา ซึ่งในอดีตตามประมวลกฎหมายอาญา กำหนดอายุขั้นต่ำเริ่มที่ 7 ปี เด็กจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งต่ำเกินไป น่าจะมีวิธีอื่น ไม่น่าจะให้เด็กมี criminal record (ประวัติอาชญากรรม) ตอนนี้ก็ยกเป็น 10 ปี ก็ดีขึ้นหน่อย แต่ยังดีไม่พอ หลักสากลเขาจะสูงกว่านั้นอีก 


 


อีกเรื่องหนึ่งคือการปฏิรูปกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็มีบางส่วนที่เอื้อต่อเหยื่อมากยิ่งขึ้น เช่น ระบุว่าในการสัมภาษณ์สตรีผู้ตกเป็นเหยื่อ ต้องใช้ผู้สัมภาษณ์หรือผู้บังคับใช้กฎหมายที่เป็นสตรีที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้ว และในอนาคตก็สามารถใช้ฉาก (screen) บังระหว่างผู้ที่เป็นเหยื่อกับจำเลยที่ถูกกล่าวหาได้ เป็นต้น


 


ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ยกให้เห็นว่าบางส่วนของกฎหมายไทยก็ดีขึ้น และในการปฏิบัติบางส่วนก็ดีขึ้นเหมือนกัน เช่น เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงหลักเกณฑ์สิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ว่าในส่วนที่หลวมก็ยังมี อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมบางส่วน การกระทบสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ทั่วประเทศไม่มากก็น้อยในหลายพื้นที่ ตรงนี้ต้องแก้ไข


 


O กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือปัญหาอะไร? 


อันหนึ่งที่ชัดมากก็คือกรณีภาคใต้ (การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้) มีการจำกัดสิทธิในหลายๆ ส่วน โดยเอาความมั่นคงของรัฐมาจำกัดอย่างไม่ค่อยสมดุล โดยทางใต้มีกฎหมายถูกนำไปบังคับใช้หลายฉบับ ได้แก่ กฎหมายอาญา กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ในบางกรณีจะเกินขอบเขตที่ทำได้ในหลักสิทธิมนุษยชนสากล


 


เช่น ในหลักสิทธิมนุษยชนสากลเขาห้ามการทรมาน ห้ามอย่างเด็ดขาด หลักพวกนี้น่าจะระบุไว้ให้ชัดด้วยในกฎหมาย แต่ก็ไม่ชัดในกฎหมายฉุกเฉินของเราทั้งหมด หรือกรณีการประกาศกฎหมายฉุกเฉิน เราต้องแจ้งให้องค์การสหประชาชาติทราบในช่วงที่กำลังจะแถลงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เราไม่เคยทำเลย เรื่องนี้เป็นไปตามพันธกรณีของสนธิสัญญาที่เราเป็นภาคี คือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 


         


แน่นอนการละเมิดมันก็มีเยอะแยะ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือความไม่ค่อยจะโปร่งใสในบางส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่น่าจะรับผิดชอบ ผมมองว่ามีการลอยนวล คดีที่จะตัดสินเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิทางใต้ก็ไม่ค่อยกระจ่าง ไม่ค่อยจบ ไม่ค่อยมีการรับผิดชอบ หรือไม่ได้ลงโทษคนผิด อย่างมากที่สุดคือโยกย้ายเจ้าหน้าที่ นี่คือวิธีเดิมของเราซึ่งจริงๆ แล้วไม่พอในหลักสากล 


         


พอหันมามองเหยื่อ ในระดับหนึ่งของการปกป้องคุ้มครองเหยื่อก็ดีขึ้นบ้าง เรามี พ.ร.บ.ที่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เหยื่อได้ (พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544) นอกจากนี้เราก็มี พ.ร.บ.ในการปกป้องพยานได้ (พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546) ซึ่งก็ดีขึ้นในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติต้องพัฒนาปรับปรุงในหลายๆ ส่วน 


         


เช่น กรณีผู้ที่สูญหายไปในภาคใต้ ครอบครัวที่ถูกกระทบเขาไม่ได้ต้องการค่าชดใช้จากรัฐ แต่เขาต้องการความเป็นธรรม ความยุติธรรม ก็หมายความว่าจะต้องมีการดำเนินคดีที่ได้ผล ที่โปร่งใส เป็นไปตามมาตรฐานสากล และนำไปสู่ความรับผิดชอบของผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอันนี้มันไม่ค่อยเกิด แม้แต่คดีของคุณสมชาย นีละไพจิตร (อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม) ศาลตัดสินลงโทษตำรวจ 1 คน ในสายตาของโลกมองว่าน่าจะต้องมีเยียวยามากขึ้นกว่านี้ ซึ่งตอนนี้คดีก็เลยไปอยู่ที่สหประชาชาติ เนื่องจากการเยียวยาในประเทศจบเท่านี้ แล้วก็ไม่เพียงพอในสายตาของโลก สหประชาชาติก็เรียกร้องให้มีความโปร่งใสเยียวยามากขึ้น 


         


การเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมุมมองของเหยื่อและครอบครัว ไม่ใช่คิดแต่ว่าต้องมีโอกาสที่จะได้รับการชดใช้เท่านั้น แต่เขาต้องการความยุติธรรม ซึ่งก็คือความโปร่งใส และผู้ที่ต้องรับผิดชอบก็ต้องรับผิดชอบ แต่อันนี้ไม่ค่อยเกิด โดยเฉพาะทางใต้ 


         


ส่วนกรณีคุ้มครองพยาน มีกฎหมายดีขึ้น แต่ก็มีคำถามเหมือนกันว่ากฎหมายทั้งสองฉบับใช้ได้สำหรับกรณีที่เป็นคนต่างด้าวหรือเปล่า กรณีที่พม่าถูกนำพาเข้ามาโดยผิดกฎหมาย แล้วก็ตายไป 50 กว่าชีวิต (เหตุการณ์แรงงานต่างด้าวชาวพม่าเสียชีวิต 54 ศพคารถห้องเย็นที่ จ.ระนอง) กรณีอย่างนั้นเราใช้ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับได้หรือเปล่า และการคุ้มครองพยานใช้กับแรงงานต่างด้าวได้หรือเปล่า เพื่อที่จะได้ดำเนินการหาคนผิด คำตอบยังไม่ค่อยชัด


         


สรุปก็คือแม้กฎหมายบางส่วนดีขึ้นบ้าง แต่ยังมีความเลือนรางในการปฏิบัติ อีกอันที่ก่อให้เกิดความวิตกในหลายส่วนก็คือ ผู้ที่รับผิดชอบในสายตาของประชาชนก็ไม่ได้รับผิดชอบทางกฎหมาย ซึ่งน่าจะมีหลักประกันที่ดีกว่านี้


         


O สิ่งสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยยังขาดคืออะไร? 


สำหรับผมเองคิดว่า การมีสวนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เราไม่มีระบบลูกขุนเหมือนในต่างประเทศ และผมไม่ได้เรียกร้องให้มีระบบลูกขุน แต่การสร้างกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งเราก็มีนิดหน่อยในกระบวนการยุติธรรม เช่น มีผู้พิพากษาสมทบ หรือผู้พิพากษาของศาลเฉพาะบางศาล เช่น ศาลคดีเด็กและเยาวชน


         


แต่ผมคิดว่าการสร้างจิตสำนึกของประชาชนในเรื่องความเคารพกฎหมาย ขึ้นอยู่กับการที่เขามีช่องทางที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยตรงด้วย และหนึ่งแหล่งที่เขาเข้าถึงได้คือการเข้าเป็นผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งบ้านเราน่าจะจัดระบบให้กว้างขึ้น ให้คนทั่วๆ ไปมีโอกาสเข้าไป ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มั่งคั่งในสังคม แต่น่าจะเป็นกระบวนการที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามากยิ่งขึ้น 


         


อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ ในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรามองกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นทางการด้านเดียวคงไม่พอ มองศาลอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมองว่าประชาชนมีช่องทางในการตรวจสอบในลักษณะที่เป็น check and balance (ตรวจสอบและถ่วงดุล) ตรงไหน ซึ่งต้องมีความหลากหลายของกลไกและวิธีการในการตรวจสอบได้ อันนี้ในระบบของบ้านเราก็ดีขึ้นบางส่วน เช่น เรามีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการรัฐสภา หรือศาลปกครอง 


          แต่เราจะมองกระบวนการยุติธรรมในกรอบของกระบวนการที่เป็นทางการอย่างเดียวไม่พอ ต้องมองว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในระบบที่ไม่เป็นทางการนักได้อย่างไร ก็คือการรวมตัวของประชาชน การเรียกร้องสิทธิ การที่มีสื่อเสรี ของแบบนี้สำคัญทั้งนั้นในการ check and balance ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 


         


O สรุปประเด็นที่จะต้องทำมีอะไรบ้าง? 


1.กฎหมายที่ยังค้างอยู่ที่ยังไม่เป็นคุณต่อสิทธิมนุษยชน จะว่าอย่างไรกัน ซึ่งก็ต้องทำให้โปร่งใสและแก้ไข


 


2.พัฒนาการบังคับใช้...แต่อันนี้ปวดหัว เพราะมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่เป็นคุณ ต้องเปลี่ยนกันเยอะ


 


3.การมีส่วนร่วมประชาชนในการตรวจตรา เรียกร้อง บังคับใช้ และรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเจตนาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็คำนึงถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา 


         


O ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมายแค่นั้น แต่อยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติเป็นหลัก...


เรียกว่าการปฏิบัติหรือการบังคับใช้ หลายปัญหาอยู่ที่นั่น กฎหมายไทยหลายส่วนดีขึ้น แต่การบังคับใช้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับจิตสำนึก ความประพฤติ และวัฒนธรรม ซึ่งอันนี้ต้องสร้างเจ้าหน้าที่ที่มีสมรรถภาพ และสร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ที่ดีก็มี ใครที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดีทั้งหมด...มันไม่ใช่ ทุกองค์กรมีคนดี แต่เราจะพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้น 


         


อีกอันที่เราไม่ค่อยได้พูดกันก็คือ โครงสร้างของบุคลากรในการบังคับใช้กฎหมาย เราเลือกคนที่ดีที่สุดเข้ามาหรือเปล่า เราฝึกเขาให้ดีที่สุดหรือเปล่า เราให้ค่าใช้จ่ายเขาดีที่สุดหรือเปล่า ถ้าไปถามดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เขาก็จะบอกว่าเป็นหน่วยพิเศษ แล้วก็จ่ายเพิ่ม เราก็หวังว่าดีเอสไอน่าจะเป็นหน่วยที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ทั่วๆ ไป เรากระตุ้นให้ได้เจ้าหน้าที่ที่ดีที่สุดมากน้อยเพียงใด เราให้รางวัลแก่เขาตามที่เขาน่าจะได้มากน้อยเพียงใด สร้างสมรรถภาพ สร้างจิตสำนึก 


         


ของพวกนี้เป็นเรื่องโครงสร้างทั้งนั้น ไม่ได้ตอบโดยกฎหมายแค่ 1 ฉบับ เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ขึ้นกับกฎหมายอย่างเดียว แต่การบังคับสิทธิมีหลายยุทธศาสตร์ที่ต้องทำไปพร้อมกัน


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net