การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 4) มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศกับการเลิกจ้างงาน

วิทยากร บุญเรือง

วิกฤตโลกระลอกล่าสุดนี้ การที่นายจ้าง ผู้ประกอบการ นำเอา "วิกฤต" มาเป็นข้ออ้างในการปลดแรงงาน ซึ่งถึงแม้เราจะเลี่ยงการเลิกจ้างไม่ได้ แต่การเลิกจ้างอย่างเป็นธรรมต่อแรงงาน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงวิกฤต โดยในรายงานชุด "การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ" จะนำเสนอกรณีศึกษาของการเลิกจ้างแรงงานของบริษัทต่างๆ และมาตรฐานสากลที่ว่าด้วยการเลิกจ้างที่เป็นธรรม





อ่านตอนเก่า:
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 1) กรณีศึกษาบริษัท Levi Strauss  (ประชาไท 26/3/2552)
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 2) "แผนการโนอาห์" สร้างแรงงานสู่ผู้ประกอบการ  (ประชาไท 28/3/2552)
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 3) ดูพวกเขากระทำกับแรงงาน เมื่อธุรกิจ dotcom ล่มสลาย (ประชาไท 1/4/2552)

 

มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศกับการเลิกจ้างงาน

 

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้างงานปี ค.. 1982 (ILO Convention 158 Termination of Employment Convention, 1982) ได้กำหนดมาตรการสำหรับปลดพนักงานและลดขนาดองค์กร ตลอดจนการไล่พนักงานออกเฉพาะบุคคล อนุสัญญาและข้อแนะนี้ต้องการสร้างสมดุลระหว่างพนักงานต้องการงานมั่นคงกับนายจ้างต้องการความยืดหยุ่นในการจ้างงานและไล่ออกจากงาน

 

มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศมิได้ต้องการกำหนดว่าสถานประกอบการควรหรือไม่ควรปลดพนักงานหรือลดขนาดองค์กรแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยตรง แต่มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศต้องการให้ฝ่ายบริหารใช้วิธียืดหยุ่นตามหน้าที่งาน ถ้าจะต้องปลดหรือลดขนาดขององค์กร ฝ่ายบริหารควรคำนึงความต้องการของพนักงานในระยะยาวและความผันผวนของตลาดผลิตภัณฑ์เมื่อตัดสินใจจ้างพนักงาน สถานประกอบการควรอบรมให้พนักงานมีทักษะทำงานได้หลายอย่างและมอบหมายงานแบบยืดหยุ่นเพื่อไม่ให้พนักงานต้องตกงาน วิธีนี้คล้ายคลึงกับวิธีของบริษัท Levi (อ่าน: การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 1) กรณีศึกษาบริษัท Levi Strauss  )

 

อนุสัญญาฉบับที่ 158 ยังส่งเสริมให้ฝ่ายบริหารแจ้งพนักงานทราบในกรณีที่บริษัทจะปรับโครงสร้างใหม่ ด้วยเหตุผลสองประการคือ หนึ่ง พนักงานควรมีเวลานำเรื่องนี้แจ้งให้สหภาพหรือผู้แทนพนักงานทราบด้วย เพื่อสหภาพหรือผู้แทนพนักงานอาจเสนอทางเลือกอื่นที่ฝ่ายบริหารสามารถรับไปปฏิบัติได้  เช่น การอาสาสมัครยอมให้ลดค่าจ้างหรือลดเวลาทำงานลง  สอง  การแจ้งล่วงหน้าจะเป็นการให้เวลาพนักงานมีเวลาหางานใหม่ทำหรือเตรียมตัวเตรียมใจที่จะไม่มีงานทำ ในตัวอย่างของบริษัท ComedyWorld.com จะเห็นว่าแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะปลดเพียง 45 นาที เป็นการดูถูกกันโดยไม่จำเป็นและผู้ที่ถูกกระทำเช่นนั้นคงจะไม่ลืมง่ายๆ (อ่าน: การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 3) ดูพวกเขากระทำกับแรงงาน เมื่อธุรกิจ dotcom ล่มสลาย)

 

ฝ่ายบริหารควรให้เงินค่าชดเชย ซึ่งควรจะนอกเหนือจาก (หรือในกรณีที่ไม่มี) ประโยชน์ ทดแทนการว่างงานหรือเงินบำนาญ เงินชดเชยนี้ควรกำหนดตามจำนวนปีของการทำงาน อย่างเช่นในกรณีของบริษัท Amazon เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม เช่น ให้ค่ารักษาพยาบาล เช่นกรณีตัวอย่างของบริษัท Levi เงินค่าชดเชยที่จ่ายเป็นก้อนจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญหากสถานประกอบการใช้นโยบาย "รักษาพนักงานหลัก-ปลดพนักงานรอง" ซึ่งจะมีพนักงานกลุ่มหนึ่งจะต้องเสียประโยชน์อย่างชัดเจน

 

พนักงานที่ถูกปลดออกควรได้รับโอกาสให้กลับเข้ามาทำงานใหม่ก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานซึ่งอาจหางานทำใหม่ได้ยากและยังเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการเพราะไม่ต้องลงทุนสรรหาบุคคลและฝึกอบรมกันใหม่อีก การให้โอกาสพนักงานที่ถูกปลดได้เข้ามาทำงานใหม่นี้ยังเป็นการป้องปรามผู้จัดการที่ปลดพนักงานอาวุโสโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และจ้างพนักงานที่ไม่มีประสบการณ์เพราะค่าจ้างถูกกว่า ทำให้บริษัทต้องเสียชื่อเสียงและสูญเสียผลิตภาพโดยไม่จำเป็น ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานที่กำลังทำงานอยู่

 

ฝ่ายบริหารควรคำนึงว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกปลดจากงานไปหางานอื่นทำได้อย่างไร การให้เวลาพนักงานที่รู้ว่าจะต้องถูกปลดไปหางานนั้นจะช่วยได้มากทีเดียว เนื่องจากว่างานจะหาได้ง่ายกว่าในขณะที่ตนยังทำงานอยู่ ฝ่ายบริหารยังควรช่วยพนักงานที่ถูกปลดด้วยวิธีอื่นด้วย เช่น ฝึกอบรบและช่วยหางานทำ เป็นต้น โครงการ Project Noah ของบริษัทสุรา South African Breweries เป็นตัวอย่างที่ดี ฝ่ายบริหารเข้าไปช่วยอดีตพนักงานให้มีงานทำ (อ่าน: การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 2) "แผนการโนอาห์" สร้างแรงงานสู่ผู้ประกอบการ)

 

ท้ายที่สุด ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือแก้แค้นพนักงานที่จะถูกปลดออก การไล่ออกจากงานไม่ควรใช้เกณฑ์ต่อไปนี้คือ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของสหภาพ ทำเรื่องร้องเรียนหรือให้ข้อมูลที่จะเอาผิดนายจ้างได้ เชื้อชาติ เพศ สีผิว ภูมิลำเนาเดิม พื้นฐานทางสังคม ความคิดเห็นทางการเมือง สถานภาพสมรสหรือครอบครัวหรือเป็นโรคหรือบาดเจ็บชั่วคราว อย่างไรก็ดี พนักงานที่อยู่ในเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อข้างต้นอาจถูกขึ้นบัญชีให้ไล่ออกได้หากเข้าเกณฑ์ที่เป็นธรรมอย่างอื่น เช่น อายุมาก

 

อนุสัญญาฉบับที่ 158 ยังให้แนวทางการไล่พนักงานออกเป็นรายบุคคล นายจ้างควรมีเวลาช่วงหนึ่ง (ระยะทดลองงาน) เพื่อกำหนดว่าพนักงานเหมาะสมกับงานและสภาพแวดล้อมการทำงานหรือไม่โดยไม่ต้องให้เหตุผลว่าทำไมจึงไล่ออก การทดลองงานไม่ควรเกินหกเดือน เมื่อพ้นระยะทดลองงานแล้ว พนักงานควรได้รับความคุ้มครองจากการไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม เช่น ไล่ออกโดยไม่มีเหตุผลอันควรที่เกี่ยวกับความสามารถในการทำงานหรือพฤติกรรมของพนักงานผู้นั้น ยกเว้นกรณีที่พนักงานประพฤติมิชอบร้ายแรง พนักงานควรได้รับการว่ากล่าวตักเตือนหรือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรว่างานที่ทำยังไม่เหมาะสมหรือแสดงพฤติกรรมที่ยอมรับไม่ได้อย่างไร ตลอดจนให้โอกาสพนักงานแก้ต่างด้วย ฝ่ายบริหารควรจัดเงินค่าชดเชยในกรณีที่พนักงานไม่มีรายได้อื่น

 

แม้ว่าการไล่ออกจะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆไม่ว่าจะในแง่ของพนักงานหรือฝ่ายบริการก็ตาม แต่เมื่อจำเป็นก็ควรจะมีกระบวนการที่ชัดเจน มีการคำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะตามมา ทั้งนี้เพื่อให้มีผลเสียน้อยที่สุด นโยบายไล่พนักงานออกหากทำให้เป็นธรรมแล้วก็สามารถสร้างขวัญกำลังใจและความซื่อสัตย์ของพนักงานที่มีต่อองค์กรด้วยเช่นกัน ทำให้การสรรหาบุคคลง่ายขึ้นได้ แต่ถ้านโยบายไล่ออกรุนแรงก็อาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียงหรือภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์เสียไปได้ อาจเป็นผลร้ายต่อชุมชนสัมพันธ์และทำให้บริษัทไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปนโยบายไล่ออกที่เป็นธรรมนั้นสามารถลดการหยุดงานประท้วงหรือพนักงานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท นอกจากนั้น จากหลักฐานที่ปรากฏในหลายประเทศ พบว่าจำเป็นต้องคุ้มครองพนักงานมิให้ถูกไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะชักจูงให้พนักงานยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรมอีกด้วย

 

ที่มา:
Coporates Success Through People: Making International Labours Standards Work For You (Nikolai Rogovsky And Emily Sims, ILO, 2002)
http://www.ilocarib.org.tt/projects/cariblex/conventions_8.shtml

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท