Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อภิสิทธิ์  เหล่าลุมพุก


รองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยฝ่ายการเมือง


 


 


 


นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เปลี่ยนขั้วการเมืองมาเป็นการบริหารประเทศภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการลงคะแนนเสียงจากสภาฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย สภาพการณ์ของสังคมไทยในตอนนั้นมีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีจากความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้นระหว่างกลุ่มการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สังคมไทยให้ความหวังว่าประเทศชาติคงจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างที่เคยเป็นมา ซึ่งก็มีทั้งประชาชนหลายภาคส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอีกหลายภาคส่วนเช่นกัน ต่างก็ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างแพร่หลายถึงการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในครั้งนี้ซึ่งใครหลาย ๆ คนก็คงจะใจจดใจจ่อกับการบริหารประเทศภายใต้การทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะนำพาประเทศไทยเข้าสู่ความเป็น "ประชาธิปไตย" หรือความเป็น "ประชาธิปตน" จะสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด จะทำให้ประเทศก้าวข้ามพ้นจากความแตกแยกได้จริงหรือ จะแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจว่าตนมีความซื่อสัตย์ต่อ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีความจริงใจและใส่ใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นประชาชนจากชนชั้นใด


 


ในความเข้าใจของผู้เขียน ระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองที่มาจากประชาชน และอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชนซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจจะเลือกส.ส.ที่ตัวเองเชื่อใจเข้าไปบริหารประเทศ จะถูกผิดดีเลวอย่างไรประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจก็จะต้องยอมรับหรือว่าสามารถจะตรวจสอบการทำงานของบุคคลที่เขาได้เลือกเป็นตัวแทนของโดยทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอยู่ในกรอบกติกาตามรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หาได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศไม่ มีการวิ่งเต้นล็อบบี้ที่นั่งในสภากับขั้วนั้นขั้วนี้แม้กระทั่งขั้วตรงข้ามอย่างกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ เพื่อจะให้ได้ที่นั่งมากที่สุดเพื่อจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจนตอนนั้นได้สมยานามว่ารัฐบาลงูเห่า ภาค 2 จึงมีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเมื่อไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนโดยแท้จริงแล้ว จะสามารถเข้าใจในความต้องการของประชาชนโดยแท้จริงหรือ จะสามารถบริหารงานไปได้ตลอดรอดฝั่งไปสักเท่าไหร่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะถนัดไปในทางเป็นฝ่ายค้านซะมากกว่า และในความเข้าใจของผู้เขียนอีกเช่นเดียวกันเมื่อเกิดกรณีอย่างเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เพื่อให้เกิดความสง่าหลังจากที่ได้รับการเลือกจากสภาฯพรรคประชาธิปัตย์ควรที่จะยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าเขาจะเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศเพื่อแสดงสปิริตของพรรคฯว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อย่างว่ากว่าจะได้มาเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ต้องรอคอยกันหลายปีและที่สำคัญ อำนาจและผลประโยชน์นั้นมีมากมายมหาศาลเหลือเกินโอกาสลอยมาอยู่ต่อหน้าไม่ว่าใครคงไม่ยอมให้ลอยหลุดมือไปได้ง่ายแน่


 


สามเดือนกว่า ๆ ที่รัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้บริหารประเทศมาก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะทำให้ประเทศสงบลงได้เลย สิ่งที่เป็นซากเดนของเผด็จการจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ไขหรือปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง การตกงานเลิกจ้างของพี่น้องผู้ใช้แรงงานยังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอด การขึ้นภาษีน้ำมันซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการขูดเลือดปู การเลือกปฎิบัติต่อผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ปัญหาของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายพันธมิตรฯ การที่ไม่ยอมนำพันธมิตรฯมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายอย่างจริงจังจากการก่ออาชญากรรมทางสังคม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอาจจะเกรงกลัวบารมีของพันธมิตรฯหรืออย่างไรก็ไม่ทราบฯลฯ แต่ว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารฟื้นฟูในเรื่องของเศรษฐกิจที่กำลังดิ่งลงเหวอยู่ทุกวัน มีการออกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทซึ่งเงินที่ให้ไปก็เป็นเงินมาจากภาษีของพ่อแม่เราที่จ่ายไปนี่แหละซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือเปล่า จะเข้าถึงประชาชนที่เดือดร้อนจริงหรือ การกู้เงินจากต่างประเทศมาเพื่อที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมันมือ ชวนให้คิดภาพถึงเมื่อครั้งที่ นายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อหลายปีก่อนอีกครั้ง...ซึ่งคงสืบเนื่องจากความขัดแย้งที่ผ่านมาประชาชนคนไทยอยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในสังคมไทยจึงให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์พิสูจน์การทำงานไปก่อน แต่อยากจะขอตั้งคำถามกับพี่น้องประชาชนทั้งหลายว่ามาถึงวันนี้เราได้มีความเข้าใจในคำว่า "ประชาธิปไตย" จริงหรือเปล่า หรือว่าเราเพียงแค่ต้องการให้ข้ามพ้นช่วงเวลาที่มีแต่ความขัดแย้งนั้นให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ได้ใส่ใจ สนใจและจดจำกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของวีรชนที่ได้สละเลือดเนื้อ ชีวิตเพื่อจะปกป้องและรักษาประชาธิปไตยให้ลูกหลานของพวกเราเท่านั้นหรือ เสื้อเหลืองทำเพื่อประชาธิปไตย ? คำตอบก็คงรู้อยู่แก่ใจของใครหลาย ๆ คน เสื้อแดงทำเพื่อประชาธิปไตย ? คำตอบก็คงรู้อยู่แก่ใจของใครหลาย ๆ คน แต่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งร่วมมือกับกลุ่มอันธพาลการเมือง ร่วมมือกับทหาร ร่วมมือกับนายทุนใหญ่ ร่วมมือกับอำมาตย์มาทำสังคมให้วิกฤติเพื่อให้คน ๆ หนึ่งได้เป็นนายกนั้น เรายอมรับกันได้อย่างไร ?? ถ้าศพของวีรชนที่ได้สละเลือดเนื้อชีวิตเพื่อประชาธิปไตยลุกขึ้นมาจากหลุมฝังศพได้คงอาจจะได้มานั่งร้องไห้ให้พวกเราได้เห็น เรากำลังทำเหมือนกับว่าประเทศเป็นของเล่นสักชิ้น ทำเนียบฯเสียหายนิด ๆ สนามบินเสียหายหน่อย ๆ คงไม่เป็นไรซ่อมใหม่หรือซื้อใหม่ได้อย่างนั้นหรือ หรือว่าต้องให้ศพของวีรชนลุกขึ้นมาจากหลุมฝังศพมาร้องไห้ให้เราฟังอย่างนั้นจริง ๆ หรือ เราถึงจะสำนึกได้ว่าคำว่าประชาธิปไตยมันมีค่ามากแค่ไหนถึงแม้มันจะกินไม่ได้แต่มันก็ได้จรรโลงสังคมให้มีคุณค่ามีสิทธิเสรีภาพมีความเท่าเทียมมากกว่าการปกครองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะอำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง กับคำถามเหล่านั้น ไม่รู้ว่าคำตอบยังล่องลอยอยู่ในสายลมเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า...


 


 


แด่ดวงวิญาณวีรชนที่ปกป้องประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net