Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


 


 


เรื่องที่ผมจะพูดวันนี้ก็คือ ถ้าลองถอดเอาเรื่องประชาธิปไตยวางไว้ ถอดเอาเรื่องของหลักนิติรัฐวางไว้ บางทีโจทย์ที่สำคัญในการปฏิรูปการเมือง (ไม่ได้แปลว่านี่คือการปฏิรูปแนวสถาบันพระปกเกล้า) ก็คือเรื่องของ "ความยุติธรรม"


นั่นหมายความว่า เราอาจจะตั้งโจทย์ผิดในแง่ของการออกแบบการเมืองประชาธิปไตยผ่านรัฐธรรมนูญ จริงอยู่ที่ทั่นประธานการปฏิรูปบอกว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่ทุกเรื่องของการปฏิรูปการเมือง


แต่เรื่องที่ท้าทายกว่านั้นก็คือ เราอาจจะแก้ด้วยรัฐธรรมนูญได้ แต่ว่าเราต้องมองรัฐธรรมนูญใหม่


กฎหมายรัฐธรรมนูญไทยนั้นยึดติดกับรูปแบบการเขียนแบบเดิมๆ ในรูปแบบนั้นไม่เคยอธิบายเรื่องของความยุติธรรม สิ่งที่รัฐธรรมนูญสนใจก็คือการออกแบบโครงสร้างรูปแบบการปกครองในเชิงการระบุอำนาจหน้าที่ขององค์กร และในเรื่องของการระบุสิทธิเสรีภาพของประชาชน พักหลังดูเหมือนจะเพิ่มเรื่องของแนวนโยบายแห่งรัฐเข้าไปด้วย


สิ่งที่ท้าทายเราก็คือ การประกันสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเดียวของปมปัญหาประชาธิปไตยของไทย เพราะว่า เมื่อเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพ เราก็จะต้องเผชิญกับพลังต่อต้านจากวิธีคิดเรื่อง "ข้อยกเว้น" ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ชาติบ้านเมือง" และ "ความไม่แตกแยก" ทำให้การอ้างสิทธิเสรีภาพมักถูกกดทับด้วยเหตุผลที่มีอำนาจมากกว่า


เรื่องที่ต้องพูดกันน่าจะหมายถึง การทำอย่างไรให้เรามีความเข้าใจตรงกันในเรื่องของหลักการว่าด้วยเรื่องความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้อธิบายเรื่องความยุติธรรม เราโยนปัญหาเรื่องความยุติธรรมไปไว้ในสถาบันทางการเมือง เช่นศาล องค์การนิติบัญญัติ หรือองค์กรบริหาร ผ่านการออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย และการตัดสินคดีความ


ปัญหาเกิดตามมาตรงที่ เมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรม และเราพึ่งพาศาล และรัฐสภา หรือรัฐบาลไม่ได้ เพราะคนพวกนี้กลายเป็นต้นเหตุของปมปัญหาความไม่ยุติธรรมของเรา ผ่านนโยบาย ผ่านคำตัดสิน-การไม่ตัดสิน  และผ่านการออกกฎหมายที่เรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เราก็หันหน้าไปพึ่งใครไม่ได้มากนัก และทำให้เรารู้สึกว่าการออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ผ่านการใช้สิทธิเสรีภาพของเราเป็นทางเลือกที่จะสะท้อนถึงความอึดอัดของการไม่ได้รับความยุติธรรม


จะเสื้อแดง เสื้อเหลือง เสื้อเขียว เสื้อขาว แต่ละกลุ่มมีความอึดอัดและร่ำร้องหาความยุติธรรม ทั้งสิ้น และแต่ละกลุ่มนั้นพร้อมที่จะหันหน้าและหันหลังให้ประชาธิปไตย ทั้งนั้น และเมื่อประชาธิปไตยโดยเฉพาะในรูปแบบที่มีที่มาจากคนส่วนมากนั้นไม่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการนำมาซึ่งความยุติธรรม ก็จะเกิดแรงตึงเครียดในสังคมขึ้นตลอดเวลา


โจทย์ที่สำคัญถ้าเราต้องการพัฒนาประชาธิปไตยกับสังคมไทย เราจะต้องเชื่อมโยงเรื่องของประชาธิปไตยกับปัญหาความยุติธรรมให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะฉบับลายลักษณ์อักษร หรือฉบับวัฒนธรรม) ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องความยุติธรรมเป็นพื้นที่หลุมดำที่ขึ้นกับความรู้ความสามารถของสถาบันอื่นๆ ที่มาทำงานให้เราซึ่งเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย


โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญกับกระแสตุลาการภิวัตน์ สิ่งที่สังคมจะต้องพัฒนาขึ้นมาต่อสู้ก็คือ ประชา-ตุลาการภิวัตน์ (demosprudence) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ของ ศาสตราจารย์ Guinier แห่งวิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งหมายถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ในกระบวนการกฎหมายระหว่างตุลาการกับประชาชน


ถ้าคณะตุลาการ (ในความหมายกว้าง) ไม่คิดพัฒนาการแสวงหาความร่วมมือกับประชาชน (แทนที่จะหลบตัวเองอยู่กับเรื่องของการหมิ่นศาล หรืออ้างอิงแต่อำนาจเบื้องบน โดยไม่อธิบายว่าตนเองนั้นเชื่อมโยงกับอำนาจอธิปไตยอย่างไร) และถ้าประชาชนไม่สามารถผลักดันความเข้าใจเรื่องของความยุติธรรมลงไปในรัฐธรรมนูญให้เป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคม (ซึ่งตรงนี้จะเป็นแก่นแกนที่ทำให้คณะตุลาการมีแหล่งอ้างอิงจากอำนาจอธิปไตย) เราก็จะเจอความขัดแย้งเรื่องความยุติธรรมของเสื้อหลากสีต่อไปอีกยาวนาน


และศรัทธาและความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยก็จะลดน้อยถอยลง จนทำให้ประชาธิปไตยเปราะบางลงเรื่อยๆด้วยข้อหาอมตะของการเป็นรูปแบบของการปกครองฝูงชนที่พร้อมจะถูกล้อมปราบและถูกยกเว้นไปเรื่อยๆ


 


 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในคมชัดลึก ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. 2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net