Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข


 


 


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "ประชาไท" เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2552 แม้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหตุเภทภัย แต่ความหวั่นวิตกก็เกิดขึ้นเพียง 5 หรือ 10 นาทีแรกเท่านั้น นอกนั้นสิ่งที่เป็นหลักในความรู้สึกนึกคิดของเราก็คือ


 


ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ และขอบคุณ


 


ขอบคุณ อ.ฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว ผู้เสนอตัวเป็นผู้ประกันอย่างไม่รีรอ ขอบคุณผู้อยู่เบื้องหลังดำเนินการ ตลอดจนผู้ประสานจัดหาทนาย ขอบคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาทุกรูปแบบ ขอบคุณเพื่อนนักวิชาการหลายท่านที่เดินทางมาให้กำลังใจคุณจีรนุช เปรมชัยพร และประชาไทถึงกองปราบปราม ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวแทบไม่รู้จักกัน ขอบคุณเพื่อนองค์กรพัฒนาเอกชน ขอบคุณสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ขอบคุณเพื่อนสื่อทางเลือกหลายสำนัก ตลอดจนเครือข่ายพลเมืองเน็ต และอีกมากที่มาและไม่มาในวันนั้น


 


เหตุการณ์ของบ่ายวันนั้น ยังต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่กองปรามปรามด้วย ที่จริงเราได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่กองปราบปรามอย่างดี ให้เกียรติ เป็นมิตร และเคารพสิทธิ แม้จะมีการปะทะด้วยวาจากันบ้าง แต่ความรุนแรงคงไปเทียบไม่ได้กับการจับกุมกรณีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ไร้อำนาจต่อรองตลอดช่วงชีวิตที่เราเห็นมา


 


0 0 0


 


หลังเจ้าหน้าที่กองปราบสองคันรถยื่นหมายค้นและหมายจับคุณจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการประชาไท ในความผิดฐาน "ผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นคอมพิวเตอร์ตาม (1) และ (3) ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช 2550 มาตรา 14 (1) (3) (5) และมาตรา 15"


 


ไม่ถึงสิบนาทีก็มีโทรศัพท์มาไม่ขาดสาย ผู้คนมาที่สำนักงานมากขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่เกินสิบนาทีหลังจากนั้น สำนักข่าวทั้งในและต่างประเทศก็ต่อสายเข้ามา บ้างก็รู้ข่าวสารจากเอสเอ็มเอส จากวิทยุ จากบล็อก จากทวิตเตอร์ จากเครื่องมือสร้างเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบสารพัด แม้กระทั่งเพื่อนอีกฝากฝั่งของโลกก็ลงทุนโทรมาถามไถ่หลังสถานีวิทยุในท้องถิ่นที่นั่นออกข่าว สำนักสื่อสารทั้งแดงทั้งเหลืองถามไถ่ ทั้งห่วงใย ทั้งแสดงความตั้งใจจะเผยแพร่ข่าว เขาไม่ได้เอ่ยปากว่าหรอกว่าจะปกป้องประชาไทหรือคุณจีรนุช และไม่ได้เอ่ยปากแบบนิยายว่าจะปกป้องเสรีภาพ แต่มันง่ายกว่านั้นมาก คือเขาเพียงแต่ปฏิบัติมันให้เห็นด้วยเครื่องมือที่เขามีอยู่


 


เรื่องทั้งหมดกล่าวแบบไม่เกินเลยก็ได้ว่า มันเริ่มขึ้นจากคนเพียงคนหนึ่งยกหูบอกข่าว กับอีกคนหนึ่งซึ่งแอบเห็นเขาเดินเลี่ยงตำรวจไปอัพบล็อก


 


คุณครับ นี่ไม่ใช่เรื่องของคนเพื่อนเยอะ เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่นั่นคงไม่ใช่นัยสำคัญที่เราจะกล่าวถึงในโอกาสนี้ สำหรับเรานี่คือพลังของสื่อทางเลือกแบบใหม่ๆ ที่เป็นฝนอันชื่นใจแท้ๆ ที่มากับสายเคเบิลและคลื่นความถี่ในอากาศ


 


และนี่ไม่ใช่การมาโอ้อวดโชว์พลัง นัยสำคัญมากไปกว่านั้นที่เรากำลังจะบอกท่านผู้อ่านและผู้ไม่ประสงค์จะอ่านแต่ถูกบังคับให้อ่านด้วยหน้าที่การงาน รวมทั้งหน่วยงานเฝ้าระวังต่างๆ ตลอดจนเพื่อนมิตรตำรวจที่ต้องเป็นหนังหน้าไฟในทุกกรณีก็คือ


 


"โลกได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ"


 


ไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องสนใจกับโลกที่เปลี่ยนไปนี้ และ 'ปฏิรูป' เปลี่ยนแปลงการรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปเพื่อการอยู่รอดในอนาคต จะมารับมือเหมือนยุคเมื่อ 30 ปีที่แล้วไม่ได้


 


"ประชาไท" รวมถึงคุณจีรนุช และทีมงานทุกคนก็ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ และเปลี่ยนแปลงการรับมือกับความคิดเห็นที่เสรีและหลากหลาย เราพยายามส่งเสริมให้เกิดความคิดเห็น เพราะเราตระหนักดีว่า มีแต่เสรีภาพที่คู่ควรจะจัดการกับการใช้เสรีภาพ แต่เราก็ไม่ละเลยที่จะพยายามส่งเสริมให้การแสดงความคิดเห็นนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบในกรอบเกณฑ์ของเขาเองให้มากที่สุด


 


อย่างไรก็ตาม "ข้อความอันเป็นการละเมิด" ประชาไท ไม่ได้เพียงจัดการกับเฉพาะการหมิ่นสถาบันเท่านั้น หากแต่หมิ่นประมาทผู้อื่นหรือการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนาก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ละเมิดหลักการสากลที่เราตระหนักและให้ความสำคัญตลอดมา


 


พูดกันตามจริงโดยไม่จำเป็นต้องมีตัวชี้วัด การแสดงความคิดเห็นในประชาไททั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง คนที่เอาแต่ด่านั้นมีลดน้อยลง เหตุผลและประเด็นก็มีมากขึ้น กระทั่งบางคนยังมีประเด็นที่แหลมคมและสร้างสรรค์มาฝากผู้อ่านก็ไม่น้อยและบ่อยครั้งไป


 


ตรงไปตรงมาแบบเคารพตัวเองและผู้อ่าน โดยจะกล่าวถึงเฉพาะการแสดงความเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอในตัวของมันเองไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เทคนิคทางวรรณกรรมทุกประเภทถูกนำมาใช้เพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์ เราปิดคำไหน เขาเปลี่ยนคำนั้น เราปิดทั้งหมดเขาเปลี่ยนทั้งหมด เราปิดกั้นเขา เขาไปโผล่เว็บอื่น ประเทศไทยทุกองคพยพปิดกั้นเขา เขาก็ไปโผล่ประเทศอื่น เราไม่ให้เขาเขียน เขาก็ยังอุตสาห์ไปโผล่เป็นภาพ


 


'เขา' คือใคร คำตอบก็คือ...ไม่รู้ แต่มี 'เขา' เยอะไปหมด ไม่ใช่ขบวนการแน่นอน แต่มีเยอะไปหมด การพยายามมองเป็น "ขบวนการ" จึงล้าสมัยและไร้เดียงสาเอามากๆ ในกรณีแบบนี้


 


ต้นทุนการไล่ตามและปิดกั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้ผล กลับซ้ำเติมซ้ำร้ายหนักขึ้นไปอีก และนั่นหมายความว่า ต้นทุนของวิธีการรักษาความสง่างามของสถาบันพระมหากษัตริย์แบบเดิมที่ไม่ยอมให้ด่างพร้อยก็เพิ่มขึ้นด้วย และนี่อันตรายต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าความคิดเห็นเสรีเหล่านั้นเสียอีก


 


ย้ำ! อันตรายยิ่งกว่า


 


อย่างไรก็ตามในฐานะเวทีกลาง "ประชาไท" ใช้ทรัพยากรเพื่อเฝ้าดูและระวัง ตรวจสอบ และเซ็นเซอร์ข้อความเหล่านี้มากกว่ามาก เราอาจจะตามไม่ทันศิลปะและการเลื่อนไหลของความหมายในเว็บบอร์ดอยู่บ้างบางครั้ง แต่เห็นอัตราถี่ห่างของความเห็นที่หมิ่นบ้างไม่หมิ่นบ้างเหล่านั้น


 


ยาม "บ้านเมืองปกติ" (เราเรียกกันอย่างนั้น) การพาดพิงหรือแสดงความเห็นเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ก็ลดน้อยลง ค่อยๆ เลือนหาย ไม่มีคำถาม ไม่มีใครอยากเสี่ยงพูด และอาจจะเรียกได้ว่า คอยชื่นชมเก็บสะสมกิจกรรมดีๆ ไว้ในใจ และนี่คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นมาตลอดเกือบ 60 ปี


 


ดังที่เราจะเห็นได้ว่า ก่อนที่สนธิ ลิ้มทองกุล จะเคลื่อนไหวทางการเมือง ก่อนจะมีการชูพระราชอำนาจ และก่อนจะมีการขอนายกฯพระราชทานจากมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ข้อความที่พาดพิงสถาบันฯไม่ว่าจะในทางใดๆ แทบไม่เคยมี แทบไม่เคยเกิดขึ้น แทบไม่เคยต้องมีการเซ็นเซอร์ หรือระวังใดๆ เป็นพิเศษเลยด้วยซ้ำ


 


แต่ยาม "บ้านเมืองไม่ปกติ" ความเห็นเหล่านั้นก็แห่มาชนิดที่แทบทุกคนต้องหยุดงาน ประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วมานั่งเฝ้าบอร์ดกัน


 


อะไรคือยาม "บ้านเมืองไม่ปกติ" กล่าวแบบง่ายๆ เลยก็คือ ยามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวซึ่งหลายครั้งใช้ประเด็นสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือ หรือยามที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการจะเอาชนะใครทางการเมืองแบบเข้มข้นโดยไม่เลือกวิธีใช้


 


ข้อความในเว็บบอร์ดที่เป็นเหตุให้คุณจีรนุชถูกหมายจับ เป็นข้อความที่เกิดขึ้นสองวันหลังเหตุการณ์พระราชทานเพลิงศพ "น้องโบว์"


 


ที่จริงคงต้องบอกด้วยว่า ยอดเฉลี่ยสามแสน page view ของประชาไทในแต่ละวัน หรือเฉลี่ย 4 page view ต่อวินาทีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะจัดการ กว่า 4 ปีของประชาไท เราหรือที่จริงก็คือคุณจีรนุชนั่นเอง ได้วิ่งรอกประชุมประสานกับเครือข่ายอื่นๆ ทั้งไอซีที ทั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต ผู้ใช้เน็ต เครือข่ายอาสาสมัคร จนกระทั่งเกิดกลไกเฝ้าระวังที่ได้ผล มีการแจ้งลบที่เร็ว มีข้อตกลงเรื่องการเซ็นเซอร์ที่เราพอรับได้ด้วยกันทุกฝ่าย ทุกคนทำงานสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดการแสดงความเห็น ปิดกั้นการใช้ความเห็นไปละเมิดผู้อื่น ร่วมมือทำงานอย่างเข้าใจ และได้ผล  


 


แต่เกิดอะไรขึ้นหรือครับในวันที่ 6 มีนาคม อยู่ดีๆ ให้ตำรวจมาบุกจับเราทำไม


 


ในหมายค้นของตำรวจอ้างเหตุผลการค้นกับศาลว่า "ประชาไท" ปล่อยให้มีข้อความที่ตำรวจหาว่า "หมิ่นฯ" ถึง 20 วัน แล้วทำไมเมื่อท่านถอดความหมายนั้นได้แล้ว และตีความว่า "หมิ่น" ทำไมไม่บอกเรา ท่านปล่อยให้มีข้อความนั้นไว้ถึง 20 วันเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่เรา ไอซีที และเครือข่ายทั้งหลายร่วมกันทำงานเรื่องนี้กันอยู่แล้ว


 


เราไม่ได้เรียกร้องขอความเห็นใจ เราเพียงแต่เป็นตัวอย่างที่ยืนยันกับโลกได้ว่า กรณีหมิ่นฯ และคดีที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐใช้เหวี่ยงแหนี้ เป็นได้อย่างมากก็แค่เครื่องมือเพื่อเล่นงานกันทางการเมือง ไม่ใช่เครื่องมือปกป้องสถาบันฯ


 


ท่านปั่นกระแสให้คนช่วยกันหมิ่น เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของท่าน แล้วให้เรามานั่งไล่ปิด ให้เราต้องเหนื่อยไม่พอ ยังต้องให้ตำรวจลำบากใจเอากฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวตอร์ มาจับเราอีก


 


ยังไม่นับคนที่โดน "กฎหมายหมิ่นฯ" ม.112 โดยตรง กี่คนที่ต้องเข้าไปอยู่ในคุก สิ้นเนื้อประดาตัว ครอบครัวกี่คนที่ร้องไห้แทบขาดใจ โดยยังมิทันได้พิสูจน์ความผิด หลายกรณีถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งบรรยากาศทางการเมืองและความกลัวที่หลายๆ ฝ่ายร่วมกันสร้างขึ้นมาเช่นนี้


 


ท่านได้หน้าด้วยการอวดอ้างจงรักภักดีเสียเหลือเกิน เราเหนื่อย ตำรวจเหนื่อย คนเล็กคนน้อยต้องประสบเภทภัยในชีวิต ส่วนสถาบันฯก็เสื่อมเสียด้วยถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยไม่มีอะไรดีขึ้นเลย


 


มาถึงตรงนี้ จึงมีเรื่องที่สังคมไทยจำเป็นต้องถกเถียงในระดับความเร็วแบบรีบด่วน นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


นักวิชาการชื่อดังจากนานาชาติ 54 ท่านจับสัญญาณได้ไวกว่ารัฐไทยมากนัก จึงเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ปฏิรูปก็คือปฏิรูป ไม่ได้แปลว่ายกเลิก ซึ่งก็ไม่วายถูกนักการเมืองทั้งในสภาและนอกสภา ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบพวกนี้หากิน เบี่ยงประเด็น กล่าวหา และป้ายสีให้เป็นพวกนิยมสาธารณรัฐเลยเถิดเข้าไปอีก


 


ยังเคยนึกเลยว่า หรือที่จริงนั้นขบวนการสอพลอพวกนี้นี่เองที่พยายามจะกดดันให้เกิด "ขบวนการ" ไม่ว่าจะในรูปไหน ไม่มีข้อเท็จจริงก็ปั้นด้วยมายาภาพ หรือไม่ก็กดขี่รังแกให้เกิดการรวมตัว ให้เกิดบรรยากาศว่า "ไม่ดิ้นรนต่อสู้ก็รอวันตาย" ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการมีขบวนการ ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการเสื่อมเสียของสถาบันเบื้องสูง


 


ไม่รู้สิครับ นอกจากเราต้องปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ และ พ.ร.บ.คอมพวเตอร์แล้ว เราเองก็ต้องก้าวข้าม "ขบวนการสอพลอ" เหล่านี้ให้ได้


 


ส่วนราชสำนักและรัฐไทยเองก็ต้องแสดงท่าทีกับ "ขบวนการสอพลอ" เหล่านี้ และต้องแสดงให้ประชาชนเห็น นี่ต่างหากที่เราจะจัดการกับการแสดงความเห็นที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดได้อย่างถาวรและยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net