Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
ชื่อบทความเดิม:ผลต่อเนื่องจากการเปิดเผยตัวผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ; มุมมองเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมของตุลาการ
โดย คนจร
 
            ภายหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีฯ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาพูดเปิดเผยถึงตัวผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญที่เขาเคยได้กล่าวในหลายๆ กรณีก่อนหน้านั้นว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองของตนเองและพรรคไทยรักไทย แล้วนั้น ประเด็นหนึ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้ออกมา "แฉ" คือการพบปะของกลุ่มบุคคลที่บ้านของนายปีย์ มาลากุล โดยมีพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ออกมาแถลง "แฉ" สอดคล้องกับสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง โดยประเด็นที่ทั้งดร.ทักษิณฯ และพลเอกพัลลภ ได้กล่าวถึงคือการพบปะดังกล่าวนั้นเป็นการพบปะกันเพื่อวางแผนทำปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ดร.ทักษิณฯ [1] ภายหลังจากการออกมาแฉถึงการพบปะดังกล่าวแล้วนั้น ผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการพบปะดังกล่าวซึ่งนอกเหนือจากนายปีย์ และพลเอกพัลลภ แล้วอันได้แก่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งในขณะนั้น), นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา(ตำแหน่งในขณะนั้น) นายปราโมทย์ นาครทรรพ ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้อดังกล่าวก็ได้ออกมาแถลงแสดงความคิดเห็นของตนต่อกรณีดังกล่าวเกือบครบทุกคนเว้นแต่นายชาญชัย ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าออกมาแสดงความคิดเห็นดังกล่าวแต่อย่างใด
            ประเด็นที่ผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่งและได้ติดตามข่าวดังกล่าวมาบ้างมีความสนใจไม่ใช่ประเด็นที่ว่าในการพบปะพูดคุยของบุคคลทั้งเจ็ดดังกล่าวเป็นการพบปะกันเพื่อวางแผนล้มรัฐบาลภายใต้การนำของดร.ทักษิณฯ หรือไม่ แต่ประเด็นที่ผู้เขียนให้ความสนใจคือบทบาทของบุคคลที่อยู่ในวงการผู้พิพากษาตุลาการสามคนอันได้แก่ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งในขณะนั้น) และนายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ว่าเข้าไปมีบทบาทในการพบปะนั้นอย่างไร ซึ่งต่อข้อแถลงของดร.ทักษิณฯ ก็มีปฏิกิริยาที่ปรากฏตามสื่อสารมวลชนจากนายอักขราทร และนายจรัญ ดังนี้คือ
ในส่วนของนายอักขราทร นั้นไม่สนใจข้อกล่าวหาร่วมวางแผนปฏิวัติ และไม่คิดจะตอบโต้ข้อกล่าวหาของพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไรก็ตาม คนใกล้ชิดประธานศาลปกครองสูงสุด (ซึ่งในที่นี้ไม่รู้ว่าเป็นใคร-ข้อสังเกตของผู้เขียน) เปิดเผยว่า นายอักขราทร ได้ติดตามการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว แต่ไม่สนใจในข้อกล่าวหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. กล่าวหานั้น ไม่เป็นความจริง เพราะที่ไปหารือในที่บ้าน นายปีย์ มาลากุล เป็นเพียงไปพูดคุยถึงสถานการณ์ทางการเมืองเท่านั้น ไม่มีการพูดถึงแผนการปฏิวัติ [2]  
ในส่วนของนายจรัญ ก็ได้กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่าไม่มีใครจะทำการปฏิวัติโดยเอาคนที่ไม่ประสีประสาในเรื่องนี้เข้าไปร่วมด้วย และไม่คิดว่าประชาชนทั่วไปฟังการพูดของอดีตนายกรัฐมนตรีแล้วจะคล้อยตาม จึงไม่ได้ใส่ใจอะไร และกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่าเอาตนไปเป็นคู่วิวาท ลำพังเท่าที่มีการทะเลาะกันอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองอยู่แล้ว การเอาตนไปเกี่ยวข้องยิ่งไม่มีประโยชน์กับส่วนรวม [3]
            ในส่วนของนายชาญชัย นั้นไม่ปรากฏว่าได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
            จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเห็นว่าตุลาการทั้งสองคนก็ได้ปฏิเสธถึงการเข้าไปร่วมวางแผนการปฏิวัติที่ถูกกล่าวอ้างอย่างสิ้นเชิง แต่ประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญกว่านั้นในแง่ของการเข้าไปมีบทบาทของนายอักขราทร, นายชาญชัย และนายจรัญ ว่ามีบทบาทอย่างไรในการพบปะครั้งนี้ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นนั้นมีความตื้นลึกหนาบางอย่างไร จะเป็นแค่การพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองตามที่คนใกล้ชิดนายอักขราทร ได้กล่าวไว้หรือไม่
จริงอยู่ที่ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจเห็นว่าบุคคลก็ย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตน แต่อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนั้นก็ไม่ใช่ว่าเป็นเสรีภาพที่ไม่มีขอบเขตจำกัดแต่อย่างใด ยิ่งบุคคลที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วนั้นการแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาในสังคมที่อาจจะเข้ามาเป็นคดีความที่ตนจะต้องพิจารณาพิพากษาแล้วนั้น การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวย่อมถูกจำกัดลงไป
ประเด็นปัญหาต่อมาคือประเด็นที่ว่าบุคคลในวงการตุลาการทั้งสามคนนั้นได้พูด, กล่าวหรือแสดงความคิดเห็นของตนในการพบปะกันคราวนั้นบ้าง ซึ่งในด้านคนใกล้ชิดของนายอักขราทร ซึ่งได้กล่าวว่าเป็นการพูดคุยถึงสถานการณ์การเมือง ส่วนนายชาญชัย และนายจรัญ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการพบปะหารือกันแต่อย่างใด ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่าบุคคลอื่นที่อยู่ในวงเสวนานั้นได้พูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของตุลาการทั้งสามคนนี้อย่างไรบ้าง
ในส่วนของพลเอกสุรยุทธ์ฯ ได้กล่าวว่าการไปพบปะดังกล่าวนั้นเป็นแค่การไปฟังความเห็นตุลาการโดยไปร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น[4] เป็นการแค่กินข้าว-หารือกับตุลาการผู้ใหญ่หาทางออกบ้านเมืองขณะนั้นหลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไป ตนติดตามข่าวคราวเรื่องต่างๆ จำเป็นต้องพบปะพูดคุยกับบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ฝ่ายตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของบ้านเมือง ตนตั้งใจเพียงว่าจะมีโอกาสฟังข้อคิดเห็นจากทางฝ่ายตุลาการระดับสูง ตนรู้จักท่านเดียวคือ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ส่วนท่านอื่นไม่ได้รู้จักกันมาก่อน การพูดคุยกันเป็นการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น......การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เราทุกคนมีเสรีที่จะคิด มีเสรีที่จะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แต่ไม่มีเสรีในการปฏิบัติ ทั้งนี้ การพูดคุยมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการปฏิวัติ แต่พูดคุยสถานการณ์ของบ้านเมืองว่าเรามีปัญหา จะมีทางออกกันอย่างไรจากมุมมองของแต่ละฝ่าย .........เมื่อถามว่าการพูดคุยกันที่โต๊ะอาหารได้ข้อสรุปอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ข้อสรุปคือมุมมองจากฝ่ายตุลาการว่า สิ่งที่เราเคยพูดว่าตุลาการภิวัตน์จะมีทางออกหรือไม่ เป็นเรื่องข้อสรุปในวันนั้น ........... เมื่อถามว่าการพูดคุยวันนั้นพูดถึง พ.ต.ท. ทักษิณเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า วันนั้นไม่ได้มีเรื่องของการหมิ่นสถาบัน แต่เป็นเรื่องที่พูดแนวทางการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งอยู่ในสภาวะวิกฤตในช่วงนั้นว่ามีทางออกอย่างไร [5]

            ในส่วนของนายปีย์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของตุลาการในการพบปะกันดังนี้
"
ปีย์ มาลากุลฯ"เจ้าของบ้านเชิญ"สุรยุทธ์-บิ๊กตุลาการ-พัลลภ"กินข้าว เปิดตัว ยืนยัน ไม่มีการพูดเรื่องรัฐประหารโค่นล้ม"ทักษิณ" แค่ถกเรื่องขั้นตอนกฎหมายแก้วิกฤตบ้านเมืองหลังในหลวงทรงมีพระราชดำรัส......ไม่มีการพูดเรื่องการวางแผนรัฐประหารหรือโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นการเชิญคนที่สนิทสนมและเป็นเพื่อนมารับประทานอาหารที่บ้านเพื่อพูดคุยถึงปัญหาบ้านเมืองซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้ว ......ก็เพื่อให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังเพราะต้องการทันสถานการณ์เนื่องจาก มีอาชีพเป็นนักข่าวซึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตของบ้านเมือง จึงได้เชิญนายอักขราทร ซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ รวมทั้งนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ  (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี) มารับประทานอาหารที่บ้านในวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 เพื่อคุยว่า จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไรตามที่ทรงมีพระราชดำรัส จากนั้นได้โทรศัพท์ชวน พล.อ.สุรยุทธ์ พล.อ.พัลลภ และนายปราโมทย์ ซึ่งมีความสนิทสนมกันอยู่แล้วว่า อยากจะมาฟังหรือไม่.........นายปีย์กล่าวว่า ตนถามว่า ทางฝ่ายตุลาการว่า จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งทั้งนายอักขราทรและนายชาญชัยก็อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอย่างไรบ้าง จนเข้าใจ และทางตุลาการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไรในทางกฎหมายโดยไม่ได้ลงรายละเอียดถึงตัวบุคคล แต่พูดถึงขั้นตอนในทางกฎหมายโดยนายอักขราทรและนายชาญชัย เป็นคนอธิบายเป็นหลัก ส่วนนายจรัญพุดน้อยหน่อยซึ่งจำไม่ได้ว่า พูดเรื่องอะไรบ้าง ......." เรื่องที่เกิดขึ้นมันนานหลายปีแล้ว คนที่มากินข้าวไม่มีใครจำวันที่ได้สักคน ผมอายุ 72 แล้วก็จำไม่ได้ แต่เมื่อมีคนมาให้สัมภาษณ์ก็ต้องเปิดดูบันทึกของเลขาฯ เพราะต้องสั่งอาหารญี่ปุ่นจากโรงแรมดุสิตธานีจึงรู้ว่า เป็นวันนี้ ซึ่งมีแผนผังด้วยว่า ใครนั่งตรงไหนอย่างไร" นายปีย์กล่าว (นับว่าการกินข้าวกับคนที่สนิทสนมและกับเพื่อนในกรณีนี้เป็นไปตามความสนิทสนมแบบเพื่อนๆ คนรู้จักกันอย่างยิ่งถึงขนาดต้องมีแผนผังว่าใครจะนั่งที่ไหนอย่างไร-ข้อสังเกตผู้เขียน)....เมื่อถามว่า ในการพูดคุยมีเรื่องเกี่ยวกับการล้มการเลือกตั้ง หรือไม่ นายปีย์กล่าวว่า มีการพูดถึงการเลือกตั้ง แต่จำไม่ได้ในรายละเอียด เพียงแต่ฝ่ายตุลาการมีการพูดถึงการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย[6]
จากคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกสุรยุทธ์ฯ และนายปีย์ ดังกล่าวข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นถึงประเด็นและกรณีที่ตุลาการทั้งสามคนได้ไปแสดง "ความคิดเห็น" เพื่อแลกเปลี่ยนกับบุคคลในวงพบปะเสวนาได้ตามลำดับดังนี้
ประเด็นแรก ตุลาการภิวัฒน์กับการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ซึ่งพลเอกสุรยุทธ์ฯ ก็ได้กล่าวถึงว่า "ข้อสรุปคือมุมมองจากฝ่ายตุลาการว่า สิ่งที่เราเคยพูดว่าตุลาการภิวัตน์จะมีทางออกหรือไม่ เป็นเรื่องข้อสรุปในวันนั้น"
ประเด็นที่สอง ขั้นตอนตามกฎหมายในการแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง หลังจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "โดยคุยว่าจะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไรตามที่ทรงมีพระราชดำรัส โดยนายปีย์กล่าวว่า ตนถามว่า ทางฝ่ายตุลาการว่า จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ซึ่งทั้งนายอักขราทรและนายชาญชัยก็อธิบายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสอย่างไรบ้าง จนเข้าใจ และทางตุลาการมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไรในทางกฎหมายโดยไม่ได้ลงรายละเอียดถึงตัวบุคคล แต่พูดถึงขั้นตอนในทางกฎหมายโดยนายอักขราทรและนายชาญชัย เป็นคนอธิบายเป็นหลัก ส่วนนายจรัญพูดน้อยหน่อยซึ่งจำไม่ได้ว่า พูดเรื่องอะไรบ้าง"
ประเด็นที่สาม การคุยถึงการเลือกตั้ง "เมื่อถามว่า ในการพูดคุยมีเรื่องเกี่ยวกับการล้มการเลือกตั้ง หรือไม่ นายปีย์กล่าวว่า มีการพูดถึงการเลือกตั้ง แต่จำไม่ได้ในรายละเอียด เพียงแต่ฝ่ายตุลาการมีการพูดถึงการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย"
จากประเด็นในการพูดคุยดังกล่าวข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับตุลาการทั้งสามคนนั้น มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า "ผลสรุป" ในประเด็นที่หนึ่งที่เกี่ยวกับตุลาการภิวัฒน์นั้นมีเนื้อหาสาระอย่างไร "ขั้นตอนในทางกฎหมาย" ที่นายอักขราทรและนายชาญชัย ได้อธิบายในประเด็นที่สองและประเด็นที่สามนั้นเป็นอย่างไร เป็นขั้นตอนแบบไหน จริงอยู่ที่บุคคลมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่หากบุคคลนั้นๆ ดำรงตำแหน่งตุลาการ แล้วนั้นย่อมไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาหรือประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัญหานั้นอาจจะเข้ามาสู่การพิจารณาในศาลที่ตนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ในอนาคต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้บุคคลที่ถือว่าเป็นประมุขของศาลยุติธรรม (นายชาญชัย) และประมุขของศาลปกครอง (นายอักขราทร) เข้าไปมีส่วนรวมในกรณีดังกล่าวด้วยแล้วย่อมเป็นกรณีที่น่าคลางแคลงใจอย่างยิ่ง
และนอกจากนี้หากพิจารณา "จริยธรรมตุลาการศาลปกครอง" ซึ่งลงนามประกาศโดยนายอักขราทร ที่ได้ให้ไว้ ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.. 2546 ในข้อ 5 ที่ระบุไว้ว่า "ตุลาการศาลปกครองจักต้องละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบต่อบุคคลใด ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือกำลังจะขึ้นสู่ศาล หรืออยู่ในข่ายที่อาจขึ้นสู่ศาลได้" หรือในส่วนของศาลยุติธรรมซึ่ง "ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ" หมวด 2 จริยธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางอรรถคดีข้อ 6 ที่ว่า "ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในคดีที่อาจกระทบกระเทือนต่อบุคคลใด ไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือกำลังจะขึ้นสู่ศาล แต่ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจอาจแถลงให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีพิจารณาความของศาลเมื่อมีเหตุผลสมควร" กรณีจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าการเข้าไปร่วมพบปะพูดคุย "แลกเปลี่ยนความคิดเห็น" กันที่บ้านนายปีย์ ของผู้พิพากษาตุลาการทั้งสามคนนั้น สอดคล้องกับข้อกำหนดจริยธรรมหรือประมวลจริยธรรมที่ระบุถึงการไม่วิจารณ์หรือให้ความเห็นแก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือกำลังจะขึ้นสู่ศาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของศาลปกครองที่ระบุไปยิ่งกว่าของศาลยุติธรรมว่า หรืออยู่ในข่ายที่อาจขึ้นสู่ศาลได้ ดังกล่าวหรือไม่ เพราะผลของการแลกเปลี่ยนในครั้งนั้นตามคำกล่าวของพลเอกสุรยุทธ์ฯ คือ การได้ "ข้อสรุป" จากมุมมองของฝ่ายตุลาการ และโดยที่พลเอกสุรยุทธ์ฯ ไม่ได้กล่าวถึง "เนื้อหา" ของ "ข้อสรุป" จากการแลกเปลี่ยนดังกล่าวแต่อย่างใด
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ก็จะเป็นการดีที่ผู้พิพากษาตุลาการทั้งสามคนที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวจะได้ออกมาชี้แจงแถลงไขว่าประเด็นที่ท่านตุลาการทั้งสามคนได้กล่าว, แลกเปลี่ยน, หรือแสดงความคิดเห็นในวงเสวนาที่บ้านนายปีย์ นั้นคือประเด็นอะไรบ้าง เพราะการออกมากล่าวแสดงข้อเท็จจริงย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่าการคลุมเครือ และหาข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ผิดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประมวลจริยธรรมของตนเองแล้วนั้น ยิ่งจะต้องออกมาเปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าว หรือว่าท่านตุลาการทั้งสามคนจะปล่อยไปเหมือนกับกรณีที่พลเรือโทพะจุณณ์ ตามประทีป หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่การที่ พล.อ.เปรม ไม่ได้ออกมาตอบโต้กับคำกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เป็นความจริงโดยได้ยกตัวอย่างว่า "ผมยกตัวอย่างเพื่อนผมพูดให้ฟังเสมอว่า คืนหนึ่งเมกเลิฟได้ 3 ครั้ง บางครั้งก็บอกว่า 4 ครั้ง พอเพื่อนอีกคนหนึ่งที่นั่งฟังอยู่ก็ไปปรึกษาหมอว่าทำไมเพื่อนรุ่นเดียวกัน ถึงได้เมกเลิฟ 3-4 ครั้ง หมอก็บอกว่าไปเจอเขาก็บอกว่าเมื่อคืนเมกเลิฟได้ 5 ครั้ง ซึ่งก็ไม่มีใครรู้ ซึ่งก็เหมือนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นพูดไปเรื่อยๆ เพราะคนอื่นเขาไม่รู้แค่นั้นเอง ถ้าไม่ใส่ใจ ก็จบ"  [7] กระนั้นหรือ
 
 
 
...........................
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net