Skip to main content
sharethis

มูฮำหมัด ดือราแม


 


 


 


 


 


 


นอกจากแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ หรือ เซาเทิร์น ซีบอร์ด ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เลือกที่จะตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะชาวบ้านในพื้นที่หวาดหวั่นกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยมีกรณีมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่ดีนั้น


 


ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าภาคใต้ และกำลังเป็นท่าจับตาของคนใต้ด้วยเช่นกัน ก็คือ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล


 


ช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งทางการการเมืองระดับชาติ มีความร้อนแรงมากขึ้นเป็นลำดับในปี 2550 - 2551 ที่ถึงกับต้องมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีไปถึง 3 คน นับตั้งแต่นายสมัคร สุนทรเวช ตามด้วยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน


 


ในช่วงเดียวกันนั้นเอง ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา - สตูล นั่นคือการปรากฏตัวของ "ดูไบ เวิลด์ (Dubai World) กลุ่มทุนใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สนใจจะเข้ามาศึกษาโครงการนี้


 


เป็นความสนใจโดยการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า 200 - 300 ล้านบาท แก่รัฐบาลเพื่อให้ศึกษาโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาเบื้องได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2552 นี้


 


ความคืบหน้าล่าสุด จากการให้สัมภาษณ์ของนายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ภายหลังการประชุมร่วมกับตัวแทนบริหารของดูไบ เวิลด์ และบริษัทที่ปรึกษาที่เข้ามาศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และท่าเรือระหว่างประเทศ 2 แห่ง เพื่อเชื่อมภาคใต้ระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา


 


นายสุรชัย ระบุว่า บริษัทได้นำเสนอกรอบการศึกษาการพัฒนาบริการขนส่งทางถนน ทางรถไฟ และทางท่อ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทุกประเภทและเปิดเส้นทางการค้าไปสู่ตะวันออกกลางและ 2 ฝั่งทะเลของไทยจะใช้เงินลงทุนทุกระบบรวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านบาท


 


โดยแนวทางการศึกษามีการแบ่งที่ปรึกษาเพื่อศึกษาเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 2. การศึกษาการวางโครงสร้างพื้นฐาน และ 3. การศึกษาผลกระทบด้านสังคมและข้อกฎหมาย


 


การศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอันดามัน คือพื้นที่ใกล้กับท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล เชื่อมกับฝั่งอ่าวไทย บริเวณ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้งจะมีการก่อสร้างเส้นทางสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) และกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Free Zone) และมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเบา ทั้งปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน และเหล็ก เป็นต้น


 


"ดูไบ เวิลด์" เป็นองค์กรหรือบริษัทจัดตั้งของของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่น ท่าเรือและการขนส่งทางทะเล การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม การเงินการลงทุน ตลอดจนตลาดกลางด้านการค้า


 


โดยเป็นธุรกิจในเครือข่ายของชีคโมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มักตุม เจ้าผู้ครองรัฐดูไบและรองประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลงทุนผ่านบริษัทต่างๆในเครือของดูไบ เวิลด์ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ในดูไบ ไม่ว่าจะเป็น จีเบล อาลี บริษัทผู้ก่อสร้างสนามบินดูไบ, นาคีล บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 18 แห่ง รวมไปถึงโครงการถมทะเลเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม ในโครงการปาล์ม 3 แห่ง อาทิ จูไมรา ปาล์ม,ปาล์ม จีเบล อารี และเดอะเวิลด์ (ถมทะเลเป็นแผนที่โลก), ดูไบ พอร์ต เวิลด์ เจ้าของท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง


 


ดูไบ เวิลด์ สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเส้นทางการเข้ามาอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นจาก การที่ดูไบ เวิลด์ ได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 ในสมัยนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


 


โดยดูไบ เวิลด์เสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทย โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ที่ประเทศไทยต้องทำหลังการศึกษา


 


ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และภาคเอกชนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปีที่แล้ว ได้สรุปว่า ดูไบ เวิลด์ ได้เล็งเห็นศักยภาพในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้ให้เป็นประตูทางออกสู่ตอนใต้ของประเทศจีนได้


 


โดยการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างอ่าไทยและอันดามัน โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และยังจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ของไทย ซึ่งจะมีส่วนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


ด้วยเหตุนี้ ดูไบ เวิลด์ จึงยื่นข้อเสนอให้ร่วมกันพัฒนาสะพานเศรษฐกิจพร้อมท่าเรือน้ำลึกในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันขึ้น รวมถึงเครือข่ายเชื่อมโยงอื่นๆ เช่น ถนน รถไฟ ท่อ เป็นต้น และจะให้รัฐบาลไทยถือหุ้นร้อยละ 50.1 โดยคิดจากมูลค่าที่ดินหรือมูลค่าภาษีที่จะลดหย่อนให้ตลอดอายุการใช้งาน


 


ในขณะที่ ดูไบ เวิลด์ จะขอเป็นผู้บริหารท่าเรือและเขตปลอดภาษีเป็นเวลา 30 ปี และขยายต่อไปอีก 3 ครั้งๆ ละ 30 ปี รวม 120 ปี ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้ สนข. ตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชนจัดทำข้อเสนอและแนวทางดำเนินการในเรื่องนี้


 


ต่อมากระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สนข. จัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) กับดูไบ เวิลด์ และลงนามร่วมกันแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 หลังจากคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ


 


จากนั้น ได้มีการร่างข้อกำหนดขอบเขต(TOR) การศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอ่าวไทยขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาศึกษา 12 เดือน


 


สำหรับสาระสำคัญของ TOR ประกอบด้วย การศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาท่าเรือระหว่างประเทศ 2 ฝั่งทะเล การพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างท่าเรือ ซึ่งประกอบด้วย ถนน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษปลอดภาษีและนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมนั้น ประกอบด้วยอุตสาหกรรมด้านพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น


 


นอกจากนี้ยังได้กำหนดที่ปรึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ที่ปรึกษาด้านการพาณิชย์ ที่ปรึกษาด้านเทคนิค ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาด้านจัดการกลยุทธ์


 


สำหรับดูไบ เวิลด์ ได้รับสัมปทานบริหารท่าเรือทั่วโลกประมาณ 40 แห่ง โดยในประเทศไทยนั้น ได้รับสัมปทานให้บริหารท่าเรือแหลมฉบังในโซนบี5ซี3 มาแล้ว ส่วนการให้ความสนใจเรื่องแลนด์บริดจ์นั้น ก็โดยการดึงเข้ามาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงหลังจากการตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้ไม่นาน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีข่าวว่า นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียต้องการจะมาลงทุนทำนาข้าวในประเทศไทย


 


จะเห็นได้ว่า สาระสำคัญบางส่วนของ TOR ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทวงคมนาคม ที่ได้ศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดใหญ่สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด 70,000 ตัน


 


รวมทั้งเสนอให้มีการก่อสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมเข้าไปยังท่าเรือ ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวละงู บริเวณบ้านปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยทางรถไฟจะเชื่อมจากสถานีควนเนียง จังหวัดสงขลาเข้ามา โดยการก่อร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รวมมูลค่าก่อสร้างทั้งหมด ประมาณ 35,000 กว่าล้านบาท


 


อย่างไรก็ตามขณะนี้ผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ แม้ว่าร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ส่งไปให้ สผ.พิจารณามาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ตาม


 


ขณะเดียวกัน กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ยังได้เลือกพื้นที่ชายฝั่งบริเวณตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สองด้วย เพื่อเชื่อเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่ง โดยใช้เส้นทางถนนและทางรถไฟ


 


นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน ยังได้มีผลการศึกษาเบื้องต้น โครงการท่อส่งน้ำมันดิบ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแล้ว โดยผลการศึกษาพบว่า จะใช้แนวเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสงขลา - สตูลในแนวใกล้เคียงกัน


 


โดยเส้นทางวางท่อส่งน้ำมัน เริ่มจากทุ่นขนถ่านน้ำมันกลางทะเลฝั่งอันดามัน ห่างจากชายฝั่งอำเภอละงู ประมาณ 37 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังจะมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันบนฝั่งอำเภอละงู จังหวัดสตูล ซึ่งออกแบบให้มีขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่


 


เบื้องต้นมีการเสนอพื้นที่ก่อสร้าง 3 แห่ง ภายหลังการพิจารณาปรากฏว่า พื้นที่บริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่การเกษตรและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง


 


ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลห่างฝั่งออกไปเช่นกัน แต่การก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน ออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่า โดจะใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ เบื้องต้นพบว่า พื้นที่บริเวณติดกับบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหานคร เหมาะสมที่สุด โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบกว้างขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่เพาะปลูก นากุ้งและมีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง รวมมูลค่าโครงการก่อสร้างทั้งหมดเบื้องต้น 51,500 กว่าล้านบาท


 


เป็นที่สังเกตว่าพื้นที่บ้านวัดขนุน อยู่ใกล้กับ 1 ใน 3 จุดที่กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี กำหนดเพื่อคัดเลือกพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ก่อนที่จะเลือกพื้นที่ตำบลนาทับในภายหลัง


 


ส่วนพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแม้จะยังไม่ชัดเจน แต่หากพิจารณาจากผังร่างการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในโครงการวางผังพัฒนาเชิงพื้นที่จังหวัดสงขลา - สตูล โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตามที่ได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 ที่จังหวัดสงขลาและ 14 สิงหาคม 2551 ที่จังหวัดสตูล จะพบว่า ได้มีการกำหนดพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมเอาของทั้งสองจังหวัดไว้ 5 พื้นที่ด้วยกัน


 


โดยในจังหวัดสงขลาประกอบด้วย พื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำด้านฝั่งอ่าวไทย โดยมีท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ส่งเสรอมให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิต ซึ่งเหมาะสมเนื่องจากอยู่ใกล้ท่าเรือ โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ


 


พื้นที่ตามแนวทางหลวงหมายเลข 4 ตั้งแต่ตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จนถึงด่านชายแดนสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ เชื่อมโยงกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมฉลุง อำเภอหาดใหญ่


 


ส่วนในจังหวัดสตูล ได้แก่ การส่งเสริมพื้นที่อำเภอท่าแพ อำเภอควนโดนและอำเภอควนกาหลงให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ด้านยางพารา ปาล์มน้ำมันและอาหารทะเล เนื่องจากอยู่ในแนวสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและอ่าวไทย


 


หากรวมทุกโครงการแล้ว จะเห็นว่าต้องใช้ที่ดินจำนวนมหาศาล สิ่งที่น่าจับตาขณะนี้ก็คือเมื่อโครงการต่าง ๆ มีความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ก็จะมีการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากไว้ เพื่อเก็งกำไรโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสตูล ซึ่งราคาที่ดินยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับที่ดินในพื้นที่เป้าหมายของโครงการในจังหวัดสงขลา


 


ขณะที่ในประเด็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น แม้จะยังไม่อาจระบุได้ชัดเจนว่า พื้นที่ใดบ้างอาจถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมา และพยายามผลักดันให้ร่างดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับการต่อต้านจากภาคประชาชนอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าเห็นความเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเป็นการออกกฎหมายเพื่อสนองนายทุนต่างชาติ จนทำให้ต้องชะลอไปก่อน


 


โดยในพื้นที่ภาคใต้นั้น รัฐบาลขณะนั้นได้เล็งพื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาไว้ด้วย เพื่อจะประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนอยู่ด้วย จนทำให้ภาคประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน


 


การศึกษาของดูไบ เวิลด์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องรอผลการศึกษาออกมา แต่ถ้าอยากให้วิเคราะห์กันง่ายๆ ก็คือ ถ้าผลการศึกษาออกมาว่า เหมาะสมและมีความคุ้มทุน มีหรือที่ผู้ให้เงินมาศึกษาไม่อยากเข้ามาลงทุนหรือดำเนินโครงการเอง (แม้ในข้อเสนอของดูไบ เวิลด์ ระบุว่าไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ที่ไทยต้องทำหลังการศึกษาก็ตาม)


 


หรือถ้าไม่ทำเองก็น่าจะมีผลประโยชน์ให้พวกเขาได้รับด้วย เพราะการลงทุนในโครงการนี้สามารถต่อยอดธุรกิจการพัฒนาเส้นทางการค้าสู่ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป รวมถึงอินโดจีน ผ่านทางฝั่งทะเลอันดามันได้


 


แต่ถ้าความหวังของดูไบ เวิลด์ ที่ต้องการลงทุนในโครงการนี้ เพื่อให้ส่งผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ตามที่ได้คณะผู้บริหารของดูไบ เวิลด์ได้เคยถวายรายงานแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในช่วงก่อนหน้านั้น ถ้ามีผลออกมาเป็นเช่นนั้นจริงก็คงจะดีไม่น้อย


 


ในภาวะที่ทั่วโลกเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ ดูเหมือนว่า โลกอาหรับหรือตะวันออกกลางเท่านั้น ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก ยังมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ดังนั้นการที่รัฐบาลไทย รวมทั้งการจะให้กลุ่มทุนจากโลกตะวันตกเข้าลงทุนในโครงการใหญ่ขนาดนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักกันไม่น้อย


 


โลกอาหรับจึงน่าจะมีกำลังมากที่สุดขณะนี้ ถ้าเขาต้องการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net