ธเนศวร์ เจริญเมือง: ความเป็นเมืองเคิบของจรัล มโนเพ็ชร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

"กำเมือง ถ้าคนเมืองบะอู้ แล้วไผจะอู้เจ้า?"
เสียงผู้ประกาศสาว ที่คั่นรายการต่างๆ
, 2551
สถานีวิทยุล้านนา เชียงใหม่,
FM 97.5 MHz

 

1.

วันนี้ 1 มกราคม พ.ศ. 2552

ถ้าปี้อ้ายจรัล มโนเพ็ชร ยังอยู่ เขาจะมีอายุครบ 58 ปี

มีคนเล่าว่า ที่จริง ไม่มีใครทราบชัดว่าจรัลเกิดวันไหน เพราะพ่อน้อยสิงห์แก้ว พ่อของปี้อ้ายจรัลได้เผยว่าท่านลืมไปแจ้งการเกิดของลูกชายคนแรกที่อำเภอ กว่าจะนึกได้ก็นานนับเดือนจากนั้น เมื่อไปที่อำเภอ ก็จำวันเกิดลูกชายไม่ได้แน่ชัด จึงบอกไปเพียงว่า "เพิ่งเกิดไม่นานมานี้เอง" อำเภอจึงจัดการเป็นธุระให้ด้วยการกำหนดวันที่ 1 มกราคมเสียเลย

ปี้อ้ายจรัล ละสังขารไปแล้ว 7 ปีเศษ

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551 ที่ผ่านมาอันเป็นวันครบรอบอีกคำรบหนึ่งของการจากไป มีการจัดงานรำลึกถึงปี้อ้ายจรัลอย่างน้อย 2 แห่ง ที่เชียงใหม่ งานคึกคักเข้มข้นพอสมควรและจัดตรงกับวันที่ 3 พอดี งานในวันนั้นใช้ชื่อ "สานทอ ต่อฝัน ตอนรอยจรัลกับฝันของวันนี้" จัดแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืนที่ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน ซึ่งตั้งอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพ ด้านหน้าเป็นทุ่งนาอันสุขสงบ อยู่หลังสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

งานนี้มีปี้อ้ายมาลา คำจันทร์ นักเขียนล้านนาคนสำคัญเป็นหัวเรือใหญ่ และบริเวณงานก็คือที่ทำงานของวิทยุล้านนา (Cm77.com) อันเป็นที่ปี้อ้ายมาลามีบทบาทสำคัญนั่นเอง

เริ่มงานด้วยพิธีอุทิศส่วนกุศลไปหาศิลปินล้านนาผู้ล่วงลับ, การแสดงศิลปะพื้นบ้าน, การเสวนาเรื่องศิลปะล้านนา, การแสดงละครกลางแจ้ง, และการแสดงดนตรีและขับร้องของวงต่างๆในเชียงใหม่ เพราะว่าเป็นงานตลอดวัน ผู้คนก็ทยอยเข้าออกๆ

อีกงานหนึ่งจัดที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 กันยายน ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ชื่องาน "30 ปี โฟล์คซองคำเมือง คอนเสิร์ตแด่คนช่างฝัน" รวบรวมศิลปินนักร้องและกวีมาขับกล่อมคนฟัง

งานแรกเป็นงานรำลึกล้วนๆ ไม่เก็บเงินใดๆ ศิลปินทั้งหมดมาจากพื้นถิ่นล้านนา แต่งานหลังเป็นงานรำลึกและหารายได้ ศิลปินระดับชาติทั้งสิ้นและมีที่มาหลากหลาย

ลักษณะของงานที่กล่าวมาน่าจะบอกลักษณะของรายได้และความนิยมของผู้ชมในเมืองหลวงและหัวเมืองที่ต่างกัน และลักษณะของศิลปินในเมืองหลวงที่หลากหลาย และยอมรับศิลปินท้องถิ่น ส่วนงานที่เชียงใหม่กลับเป็นการแสดงฝีมือเพื่อคารวะแด่ผู้จากไปล้วนๆ เป็นงานแสดงนานถึง 15 ชั่วโมงที่ไม่มีรายได้ตอบแทน อันสะท้อนถึงหัวใจที่มอบให้วงการศิลปะของท้องถิ่นตนเอง แต่ขาดผู้ชมจำนวนมากที่เต็มใจสละเวลามาชมและเสียเงินเข้าชม

ลักษณะดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รัฐรวมศูนย์อำนาจมากเกินไปและยาวนานทำให้

ท้องถิ่นอ่อนล้าในทุกด้าน ผู้คนสนใจศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นน้อยกว่าของระดับชาติ เมื่อรายการเป็นของคนเล็กๆในสังคมก็ขาดทั้งอำนาจในการเกณฑ์, เครือข่าย, งบประมาณและการโฆษณา ผิดกับรายการของราชการหรือพรรคการเมือง, ยิ่งเมืองในต่างจังหวัด การคมนาคมไม่สะดวก, ผู้คนมีงานประจำที่ต้องทำ ผิดกับเมืองใหญ่ที่ผู้คนมีทั้งเวลา กำลังทรัพย์ การคมนาคมสะดวก ความสนใจถูกปลุกเร้าด้วยสื่อสารพัดและมีโอกาสมากในการบริโภคและร่วมกิจกรรมชั้นเยี่ยมหลายชนิด

เหตุการณ์ในแต่ละท้องถิ่นจะยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่เพียงใด แต่หากสื่อท้องถิ่นอ่อนแอ ไม่รายงาน ไม่มีสื่อจากส่วนกลางเข้าไปพานพบ หรือเขียนจากท้องถิ่นส่งไปแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจจากกองบรรณาธิการ ในที่สุด สังคมก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้

จะเห็นได้ว่าเราพูดเพียงโลกนี้แคบเข้ามา การสื่อสารกว้างไกลและรวดเร็ว แต่เราไม่เคยพูดถึงระบบข่าวสารของสังคมที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง คนทั้งประเทศรู้จักแทบทุกเรื่องในกรุงเทพฯก็เพราะข่าวสารรวมศูนย์ที่นั่น คนทั้งประเทศรู้จักลีน่า, ชูวิทย์, ประภัสร์, และ มรว.สุขุมพันธ์ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่ามีแต่คนกรุงเทพฯเท่านั้นที่มีสิทธิได้เลือกผู้ว่าฯ ของตนเอง แต่ต่างจังหวัดกลับไม่มีแม้แต่จังหวัดเดียว

นี่คือ ปัจจัยสำคัญที่ว่าเหตุใดท้องถิ่นจึงประสบปัญหา การเติบโตและทิศทางการพัฒนาอยู่ที่ข่าวสาร ต้องรอคอยโอกาสที่อาจเป็นเหมือนการรอคอยหิมะตกในประเทศไทย หรือนานๆครั้ง จะมีใครสนใจทำเป็นข่าวให้ "ศูนย์กลาง" คิดว่าควรเป็นประเด็นให้คนรับรู้และสนใจ

โลกานุวัตรก็เล็งเห็นปัญหานี้ องค์กรระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลกก็ผลักดันนโยบายนี้ ผู้คนถูกกล่อมเกลาให้สนใจและปลุกเร้าให้เกิดปรารถนาต่อความแปลกใหม่ ต้องการบริโภคสินค้าใหม่ๆ ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงซึ่งมีกำลังซื้อจึงง่ายอย่างยิ่งที่จะได้รับการกล่อมเกลานั้น

บางคนอาจแย้งว่าเชียงใหม่ก็เป็นเมืองใหญ่เช่นกรุงเทพฯ เปล่าเลย ความเป็นเมืองใหญ่ของเชียงใหม่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ราว 30 เท่า (ประชากรขนาด 12 ล้านคนต่อ 3-4 แสนคน) และที่สำคัญและมีอานุภาพรุนแรงกว่านับร้อยพันเท่าก็คือเมืองหลวงที่เป็นศูนย์รวมอำนาจแทบทุกด้านส่วนท้องถิ่นกลับขาดอำนาจ ขาดสำนึก ขาดงบ และถูกครอบงำตลอดมา สิ่งนี้แหละที่เป็นต้นตอของปัญหาอื่นๆทั้งหมด

การที่คำว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มได้รับความนิยมก็เพราะถูกละเลยมายาวนาน หลงใหลแต่ภูมิปัญญาของชาติ และไม่เคยเห็นว่าท้องถิ่นสำคัญใดๆ ท้องถิ่นที่ถูกลิดรอนอำนาจตลอดมา ต้องขาดแคลนแทบทุกด้าน และถูกครอบงำให้รู้สึกว่าตนเองอ่อนแอ ต่ำต้อยและไร้ค่า คนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่รู้จักตนเอง จึงไม่สนใจอัตลักษณ์ของตนเอง แต่ระยะหลังๆ ความสนใจในท้องถิ่นมีมากขึ้น เพราะสำนึกได้ฟื้นคืน และเพราะวัฒนธรรมท้องถิ่นกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ ระบบราชการก็เริ่มส่งเสริมและสั่งงานให้ท้องถิ่นต้องสนใจค้นหาอัตลักษณ์ของตน สั่งให้โรงเรียนต่างๆจัดการให้นักเรียนแต่งชุดท้องถิ่นไปเรียนในวันศุกร์ พี่น้องเผ่าต่างๆถูกสั่งให้แต่งชุดประจำเผ่าเมื่อมีผู้ใหญ่ไปเยือน ฯลฯ

ปรากฏการณ์ระหว่างการกระจายอำนาจที่รัฐนำ (State-led decentralization) หรือการกระจายอำนาจจากบนสู่ล่าง (Top-down decentralization) ที่สั่งการมาจากเบื้องบนย่อมแตกต่างจากการรณรงค์จากระดับล่าง (Bottom-up decentralization) ที่เต็มไปด้วยสำนึกรักท้องถิ่น และผลที่ตามมาก็แตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดขึ้นล่าช้ามาก (Late decentralization) ส่วนทั่วโลกเขาไปไกลมากแล้ว ปรากฏการณ์ข้างบนทั้งสองอย่างจึงเกิดขึ้นได้พร้อมๆกัน และเหลื่อมล้ำกัน เพราะการรับรู้ข่าวสารที่รวดเร็วทำให้แต่ละฝ่ายต่างดิ้นรนเพื่อหาทางออก ขึ้นกับว่าฝ่ายใดมองเห็นโอกาสก่อน หรือฝ่ายหนึ่งเลือกทำบางเรื่องเว้นบางเรื่อง เกิดกิจกรรมต่างคนต่างทำ หรือหันหน้ามาร่วมมือกัน หรือยังมีการสั่งการเหมือนเดิม

เช่น ผู้ว่าฯแต่งชุดท้องถิ่นเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ส่งเสริมการท้องเที่ยวเพื่อสร้างผลงาน แต่ไม่เคยมีใครสนใจปฏิรูปโครงสร้างการปกครองของจังหวัดต่างๆเพื่อให้ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้งของประชาชน, มีการแต่งกายพื้นเมืองตามโรงเรียนต่างๆในวันศุกร์ แต่สถาบันอุดม ศึกษากลับเฉยเมย มีการจัดทำป้ายตัวอักษรล้านนาขนาดใหญ่หน้าสำนักงานต่างๆ แต่กลับมีการส่งเสริมการสอนเรียนเขียนอ่านตัวเมืองน้อยมาก มีการจัดถนนคนเดิน แต่สินค้าที่วางขายมีสินค้านอก สินค้าชายทะเลปะปน คนเดินชมสินค้าแม้จะเป็นคนพื้นถิ่นกลับนุ่งกางเกงขาสั้นจู๋ ฯลฯ

 

2.

7 ปีมานี้ เสียงเพลงของปี้อ้ายจรัลผู้ล่วงลับยังคงขับกล่อมแผ่นดินล้านนาไม่เปลี่ยนแปลง ด้านหนึ่ง น่าจะเกิดจากความเป็นต้นตำรับของเพลงคำเมือง ชื่อเสียงของเพลงและนักร้อง ความไพเราะทั้งด้านเสียงร้อง เสียงดนตรีและเนื้อหาที่มีสาระ อีกด้านหนึ่ง ก็คือความจริงในปัจจุบันที่ยังไม่มีศิลปินคนใดมีผลงานเข้าแทนที่ในระดับนั้นได้ แต่สิ่งที่ควรยินดีก็คือ จำนวนเพลงคำเมืองได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จำนวนนักร้องเพลงคำเมืองก็ได้เพิ่มขึ้นในทุกๆจังหวัดของล้านนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสื่อ การตื่นตัวด้านวัฒนธรรมและการขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม

แน่นอน เมื่อบริบททางสังคมต่างออกไป ก็ไม่ควรคาดหวังตัวตายตัวแทนเช่นนั้นได้ แต่สังคมในทุกๆระยะก็ย่อมมี "วีรบุรุษ" หรือ "พระเอก" ของยุคของตนเองเสมอ

ปี้อ้ายจรัลเป็นศิลปินเพลงคำเมืองยุคต้นๆ มีเพลงคำเมืองจำนวนหนึ่งของศิลปินยุคก่อนหน้านั้น เช่น เพลงคนสึ่งตึง ปื๊นเก๊าบะตัน (ใต้ต้นพุทรา) ที่ร้องกันภายในท้องถิ่น ปี้อ้ายจรัลนำเพลงคำเมืองขึ้นสู่ระดับชาติเป็นคนแรกด้วยการร้องเพลง 3 ยุค คือเพลงเก่ามาก เช่น น้อยไจยา เพลงคำเมืองในขณะนั้น เช่น เพลงคนสึ่งตึง และเพลงที่เขาแต่งเองเช่น อุ๊ยคำ พี่สาวครับ ของกิ๋น คนเมือง ล่องแม่ปิง สาวเชียงใหม่ สาวมอเตอร์ไซค์ มิดะ หมะเมียะ ฯลฯ

การเป็นศิลปินท้องถิ่น หากร้องเพลงเป็นภาษาท้องถิ่นทั้งชุด ผู้ผลิตเทปก็คงเกรงว่าในระยะยาวไม่น่าจะได้รับความนิยมในระดับชาติ ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้องการเป็นศิลปินระดับชาติ เพลงที่แต่งจึงต้องมีทั้งเพลงภาษาคำเมืองและภาษากลาง เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านธุรกิจให้มากที่สุด

จากจุดนี้เองที่เพลงคำเมืองของจรัลถูกภาษากลางเข้าแทรกแซง ทั้งๆที่เขาประกาศความเป็นคนเมืองอย่างภาคภูมิใจหลายครั้งในเพลงที่เขาแต่ง และเขายังพูดภาษาคำเมืองบ่อยครั้งกับคนฟังในการแสดงที่กรุงเทพฯ

เมื่อภาษาดั้งเดิมหายไปบางส่วน และกลายเป็นภาษาแบบผสม ความเป็น "เมืองเคิบ" จึงเกิดขึ้น คำว่า "เคิบ" เป็นภาษาล้านนาแปลว่าไม่จริง ความเป็นเมืองเคิบก็หมายถึงความเป็นเมืองที่บางอย่างผิดแผกไปของดั้งเดิมด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และด้วยการสนับสนุนหรือกำหนดจากภาครัฐ

ภาษาคำเมืองแบบเคิบแสดงออกอย่างน้อย 3 ลักษณะ คือ

1. การเน้นออกเสียงตัว ร และ ล ให้ต่างกันแบบในภาษาไทย ทั้งๆที่ภาษาคำเมืองไม่มีความแตกต่างระหว่าง ร กับ ล แต่ทั้งตัว ร และ ล จะออกเสียงเป็นตัว ล ทั้งหมด

คนเมืองไม่ออกเสียงตัว ร แบบคนภาคกลาง คำว่า ฮัก ฮีต โฮง เฮียน เฮา ฮาน ฮาย ฮอย ฮอม แฮม ไฮ่ เฮ่ง ฮ้อย ฮ้าย ฮู้ ฯลฯ เป็นคำเมืองดั้งเดิมที่เขียนเป็นตัว ร แต่ออกเสียงเป็น ฮ ส่วนคำที่มาทีหลังเป็นคำนำเข้า เช่น รถ (ยนต์) เร่งรัด รวดเร็ว เรียบร้อย รวดร้าว รุกราน ฯลฯ มาจากภาษาไทยกลาง เมื่อไม่ใช่คำดั้งเดิม คำนี้จึงออกเสียงเป็นตัว ล หรือไม่จำเป็นต้องนำมาใช้

2. ในภาษาคำเมือง คำควบกล้ำที่ภาษาคำเมืองนำเข้ามาจากภาษาไทยที่มีตัว ร และ ล จะไม่มีการออกเสียงตัวดังกล่าว เช่น ประชุม คนเมืองรุ่นเก่าออกเสียงว่า ผะซุม คนรุ่นหลังออกเสียงว่า ปะชุม ดังนั้น เมื่อมีการนำคำควบกล้ำเข้ามาใช้ ตัว ร หรือ ล จึงหายไป เช่น คำว่า มะพร้าว = บะป๊าว, ปลา=ป๋า, เครื่อง=เคื่อง, กล้วย=ก้วย, พริก=พิก, เปลี่ยน=เปี่ยน ฯลฯ

นอกจากข้อแรก ภาษากำเมืองไม่ออกเสียงคำที่ควบกล้ำ โดยเฉพาะที่มีตัว ร หรือ ล เมื่อออกเสียงแบบท้องถิ่น ก็สามารถชี้แจงได้ว่าท้องถิ่นมีประเพณีที่ต่างกัน ขณะที่คนเมืองไม่ออกเสียงตัว ร คนไทที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปไม่ว่ากลุ่มใดก็เป็นเช่นนั้นทั้งสิ้น มีแต่คนไทยภาคกลางที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากภาษาเขมรที่รับวัฒนธรรมอินเดียมาอีกทอดหนึ่งด้วยการออกเสียงตัว ร ชัดเจน ดังนั้น แต่ละท้องถิ่นจึงมีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป

และ 3. การนำเอาคำในภาษาไทยกลางมาใช้เป็นภาษาคำเมือง ทั้งๆที่คำในภาษาคำเมืองก็มีเช่น ป๋าเวณี (ประเพณี) หับปะตู๋ (ปิดประตู) สายฮ้าง (เข็มขัด) ป่อง (หน้าต่าง) เตียว (เดิน) เกือก (รองเท้า) วันพูก (พรุ่งนี้) อู้จ๋า (สนทนา) กาว่า (หรือ) เซาะว่าหากิ๋น (ทำมาหากิน) กำเดียว (อีกสักครู่) กับ (และ) ก่อย้อน (เพราะว่า) ฯลฯ แต่หลายคำก็ไม่มีในภาษาคำเมืองจริงๆ ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะขาดความใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อภาษาของตนเป็นอันดับหนึ่ง บางคนคิดเรื่องความใจกว้าง กระทั่งเห็นความจำเป็นของการนำคำในภาษาไทยมาใช้ มีบางคนเน้นเรื่องสัมผัสเสียง จึงเห็นว่าควรหาคำในภาษาไทยมาใช้ในเพลงหรือบทกวีเพื่อให้เกิดความไพเราะ แต่ทั้งหมดก็ยังแย้งได้ว่าจะหลบเลี่ยงอย่างไร ถ้าหากถือว่าการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นเป็นเป้าหมายหลัก กระทั่งเห็นความจำเป็นที่จะสร้างสรรค์คำใหม่ขึ้นมาได้เอง เป็นตัวของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องลอกเลียนภาษาของภาคอื่น

ข้อน่าคิดประการหนึ่ง เพลงอาจไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดสัมผัสครบทุกแห่งก็ได้ หากสัมผัสครบถ้วน แต่บังเอิญ หยิบยืมคำจากถิ่นอื่นมาใช้ ซึ่งแทนที่จะทำให้เพลงหรือบทกวีนั้นไพเราะ กลายเป็นว่า เพลงหรือบทกวีนั้นอาจต้องสูญเสียลักษณะท้องถิ่นไป และเกิดความเข้าใจผิดๆต่อคนรุ่นหลังๆ หลงคิดว่าบรรพบุรุษได้ปูทางไว้เช่นนั้นเพื่อให้ลูกหลานก้าวตาม

เปล่าเลย คนรุ่นหนึ่งมิได้คิดเช่นนั้น แต่พวกเขาทำผิดโดยไม่รู้ตัวหรือไม่คิดว่าเป็นปัญหา แต่กลับกลายเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังเลียนแบบ เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในรุ่นถัดไป

น่าสังเกตว่า ในชีวิตประจำวันยุคนี้ ภาษาไทยภาคกลางได้นำคำในภาษาตะวันตกเข้ามาใช้ในภาษาไทยมากมาย ทั้งๆที่หลายคำไม่จำเป็นเลย แต่เพราะความเคยชิน หรือขี้เกียจคิด เสียเวลา, ตามแฟชั่น หรืออยากแสดงความสามารถหรือความทันสมัยของตนเอง องค์กรนำของสังคมล้าหลังหรือเชื่องช้า หรือมีทัศนะอาณานิคม ฯลฯ ทางเลือกก็คืออาจบัญญัติศัพท์ขึ้นเองหรือดัดแปลงจากภาษาอื่นได้ เช่นคำว่า ตู้เย็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ วิทยุพัดลม นาฬิกา เครื่องอัดสำเนา ฯลฯ ที่คนไทยคิดหรือดัดแปลงขึ้นมาในอดีต แทนที่จะลอกมาทั้งดุ้น เช่น ไฮไฟ อีเมล์ สแกน ดีวีดี

 

3.

การออกเสียงตัว ร ที่ชัดเจนแบบภาษาไทยกลางน่าจะเกิดจากปัจจัย 4 ด้าน คือ หนึ่ง ความไม่เข้าใจลักษณะเฉพาะของภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างจากภาษาไทยกลาง เพราะไม่มีการสอนเรื่องนี้ในสถาบันการศึกษา ภาษาท้องถิ่นถูกห้ามเรียนห้ามสอนตั้งแต่ทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา หรือร้อยปีที่แล้ว สอง ความคุ้นชินจากการเข้าเรียนในระบบการศึกษาของรัฐที่สอนเฉพาะภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเน้นความแตกต่างระหว่าง ตัว ร และตัว ล. สาม ความรู้สึกที่ว่าจะต้องออกเสียงตัว ร และ ล ให้ชัดเจน มิฉะนั้น จะถูกดูหมิ่นว่าออกเสียงไม่ชัดเจน เป็นคนต่างจังหวัด หรือมีการศึกษาไม่สูงพอ ยังมีความเชื่อปนด้วย นั่นคือ ความรู้สึกที่ว่าตนเองสามารถเป็นคนกรุงได้เพราะสามารถออกเสียงเหมือนคนกรุงเทพฯได้ดี ขณะการพูดจามีสำเนียงพื้นถิ่นทำให้ตนเองดูด้อยค่า และ สี่ สถานีบางแห่งหรืออาจเป็นทั่วประเทศออกกฎในบางช่วงว่าผู้ประกาศหรือผู้จัดรายการทุกคนต้องออกเสียงตัวอักษรให้ชัดเจนถูกต้อง และนำเอากฎนั้นมาใช้กับการพูดภาษาท้องถิ่นด้วย

ขอย้ำว่าภาษาตัวเมืองหรือที่เรียกว่า "กำเมือง" นั้นมิใช่ภาษาท้องถิ่นเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่เป็นอีกภาษาหนึ่ง มีคำที่แตกต่างจากภาษาไทยกลางเกิน 80% แต่เมื่อรัฐล้านนาสิ้นสุดความเป็นรัฐ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมก็ถูกทำลายด้วย ภาษาจึงถูกลดเป็นเพียงภาษาท้องถิ่น เริ่มแรกถูกห้ามเรียนเขียนอ่าน และห้ามพูดคุยกันในห้องเรียนและการประชุมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ต่อจากนั้น โดยเฉพาะในช่วงเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การห้ามคุยกันด้วยภาษากำเมืองลามออกไปนอกห้องเรียนด้วย ส่งผลให้พ่อแม่ที่อ่อนแอทางวัฒนธรรมพลอยเห็นดีเห็นงามตาม

 

4.

ปี้อ้ายจรัลแตกฉานในภาษาตัวเมืองของล้านนาทั้งการอ่านและเขียน มีพ่อที่เก่งระดับปราชญ์คนหนึ่งของแผ่นดิน แต่เมื่อร้องเพลงคำเมืองออกมาโด่งดังระดับประเทศในปี พ.ศ. 2520-2522 เพลงคำเมืองทุกเพลงของเขากลับมีลักษณะ "เมืองเคิบ" ปะปนอยู่ ทั้ง 3 แบบ

 

แบบแรก คือ การออกเสียงตัว ร แบบภาษาไทยกลาง เช่น

เพลงสาวเชียงใหม่ "เปิ้นบอกว่าจะมาขอ ข้าเจ้าก่อรอ มาแล้วเป๋นปี๋"

เพลงล่องแม่ปิง "บ่ลืมว่าเฮาลูกแม่ระมิงค์"

เพลงสาวมอเตอร์ไซค์ "จ๋ำต้องทนปั่นรถถีบ...กำเดียว ก่อมีรถยามาฮ่า ร้อยซาวห้าก๋ายหน้า

เพลงของกิ๋นคนเมือง "เป๋นเรื่องสบาย..."

 

แบบที่สอง คือ การออกเสียงควบกล้ำที่คนเมืองไม่ออกเสียงตัว ร หรือ ล

เพลงอุ๊ยคำ "เกี่ยวผักบุ้ง ใส่บุง กลางหนอง......เกยมาประจ๋ำ อุ๊ยคำไปไหน"

            เพลงพี่สาวครับ "ปี้สาวครับ.....สวัสดีครับ ปี้ครับ"

            เพลงล่องแม่ปิง "สาวเอ่ยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเกยซมซาน"

            เพลงหมะเมียะ "ปล๋อมเป๋นป้อจายหนีตามมา... ผิดประเพณีสืบมา"

            เพลงของกิ๋นคนเมือง "ฟั่งไค่อยากจนเผลอ... แก๋งหยวกกล้วย...น้ำพริกแมงดา

 ....ใส่ปล๋าดุกอุย...แก๋งอ่อมเครื่องใน"

            เพลงลูกข้าวนึ่ง "ลาบ-หลู้-น้ำพริกอ่อง"

เพลงคนสึ่งตึง      "ลืมแม้ข้องตี้เกยใส่ปล๋า..."

 

แบบที่สาม เป็นการนำเอาคำในภาษาไทยมาใช้ในภาษาคำเมือง

เพลงอุ๊ยคำ "เกี่ยวผักบุ้ง ใส่บุงกลางหนอง"

            เพลงหมะเมียะ "ปล๋อมเป๋นป้อจาย หนีตามมา"

            เพลงพี่สาวครับ "เจอกันเมื่อ 2-3 ปี๋ก่อน ผมยังละอ่อน และซนแก่น"

            เพลงสาวมอเตอร์ไซค์ "จ๋ำต้องทนปั่นรถถีบ"

เพลงล่องแม่ปิง "ไม้ใหญ่ไพรสูง....มั่นคงจริงใจ ฮักใครฮักจริง"

เพลงหมะเมียะ "ผิดประเพณีสืบมา ต้องร้างรา แยกทาง"

            เพลงลูกข้าวนึ่ง "ข้าวโพด ข้าวโอ๊ตอย่างดี ข้าวเจ้าก่อมีมากมาย...ไก่ย่างสับกินกับส้มตำ"

 

จากเพลงที่ยกมาเป็นตัวอย่าง เมื่อเพลงทั้งหมดโด่งดัง ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วประเทศ และทั่วโลก เพลงคำเมืองทั้งหมดของปี้อ้ายจรัลจึงไม่เพียงปลุกเร้าความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองและความรักในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเท่านั้น หากวิธีการออกเสียงแบบเคิบและการนำเอาคำในภาษาไทยมาใช้ก็ได้กลายเป็นแบบอย่างให้แก่ศิลปินรุ่นต่อๆมาแทบทุกคน ลองเปิดเพลงคำเมืองในขณะนี้ ไม่ว่าเพลงใด ก็จะพบลักษณะเมืองเคิบทั้ง 3 แบบปรากฏอยู่เสมอๆ เปิดฟังรายการวิทยุ-โทรทัศน์ที่ใช้ภาษาคำเมือง ก็จะพบ 3 ลักษณะนี้ในหมู่ผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการทั้งหลาย โดยเฉพาะสถานีของหน่วยราชการและของสถาบันอุดมศึกษา

ผมสังเกตคนรุ่นใหม่ที่เป็นหลัก มั่นคงเป็นแบบอย่างในการพูดจาภาษาคำเมือง ไม่ใช่เมืองเคิบ ที่แทบไม่เคยพบ 3 ลักษณะดังกล่าวเลย มีครูของแผ่นดิน 3 ท่านคือ มาลา คำจันทร์, สนั่น ธรรมธิ และเกริก อัครชิโนเรศ

ทั้งๆ ที่เมื่อศิลปินรุ่นบุกเบิกแต่งและขับขานเพลงเหล่านั้น พวกเขาก็ทราบดีว่า ภาษาคำเมืองไม่ออกเสียงเช่นนั้นในเวลาสนทนา โดยเฉพาะตัว ร และคำควบกล้ำ แต่อาจเป็นไปได้ว่าคนรุ่นนั้นคงคิดว่าอย่างไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่ปัญหา หรือกลัวว่าหัวหน้าสถานีวิทยุหรือคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่กรุงเทพฯจะไม่อนุมัติให้เพลงพวกนี้ออกจำหน่าย หรือไม่คิดเลยว่าเพลงเหล่านั้นมีปัญหาอะไร และจะเกิดผลกระทบอะไรในภายหลัง

อีกประการหนึ่ง ก็คือ การให้เวลาแต่งเพลงบางเพลงน้อยไปทำให้เกิดการนำเอาภาษาไทยมาใช้ในเพลงคำเมือง เช่น คำว่า บุง หรือกระบุง ซึ่งไม่มีในภาษาคำเมือง มีแต่คำว่า "ซ้า" หรือ "เปี้ยด" แต่เพียงเพราะเพื่อให้สัมผัสกับคำว่าบุ้ง ส่วนคำว่า "หนีตามมา" และคำว่า "ซนแก่น" "เจอกัน" หรือ "จำต้องทน" ก็ไม่ใช่ภาษาคำเมือง แต่ก็คงเพราะต้องการให้คนภาคอื่นฟังเข้าใจง่ายกว่า สะดวกกว่า และมีสัมผัส แต่ผลที่ตามมาก็คือ ได้เกิดวัฒนธรรมรับเอาคำในภาษาไทยมาใช้ในภาษาคำเมืองมากขึ้นในเวลาต่อมา เพราะถือว่าคนรุ่นก่อนได้ปูทางให้แล้ว ไม่เห็นมีใครทักท้วง

สำหรับเพลง "ลูกข้าวนึ่ง" ปี้อ้ายจรัลใช้คำที่เป็นภาษาไทยมาก จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงไทย แต่ร้องเป็นสำเนียงพื้นเมือง เพราะคำเช่น มากมาย, ไก่ย่าง, ส้มตำ, ข้าวโพด, เนื้อแดดเดียว ฯลฯ ล้วนเป็นคำนำเข้า ที่คำเมืองใช้คำอื่นได้ โดยเฉพาะคำว่า "ส้มตำ" ซึ่งเป็นภาษาไทยกลาง แต่ภาคเหนือเรียกว่า "ต๋ำส้ม" และใช้สูตรคนละอย่างกับส้มตำอีสาน แต่แล้วก็ถูกภาคกลางนำส้มตำอีสานเข้ายึดครองทั่วประเทศ ส่งผลให้ต๋ำส้ม ของล้านนาเกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ล้านนามี "ต๋ำส้ม" ของตนเองในอดีต และใช้สูตรที่ไม่เหมือนกับภาคอื่น และหากมีการปรับปรุงสูตร ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ ต๋ำส้ม ของล้านนาจะต้องสูญพันธุ์ไปจากแผ่นดิน

 

5.

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 2490 มีความพยายามของคนเมืองส่วนหนึ่งในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ การใช้ขันโตกแทนโต๊ะเก้าอี้ในการทานอาหาร และการแต่งชุดพื้นเมือง ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะ ขณะนั้น คนในแผ่นดินล้านนายังพูดจากันด้วยภาษาคำเมืองทั่วๆไป พระสงฆ์ส่วนใหญ่ยังสามารถอ่านตัวอักษรเมืองได้ และยังไม่มีการพิมพ์หนังสือธรรมแบบไทยซึ่งได้ทำลายการเรียนเขียนอ่านภาษาตัวเมืองอย่างหนัก (เริ่มในปีพ.ศ. 2504-5)

การถวิลหาขันโตกและชุดแต่งกายดั้งเดิมจึงเป็นประเด็นหลักของคนชั้นกลางในเวลานั้น (ขณะที่การต่อต้านของคณะสงฆ์เพื่อรักษาและสืบสานความเป็นอิสระของสงฆ์ล้านนาได้สิ้นสุดลงแล้ว) ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ. 2519-2522 อันเป็นยุคที่ปี้อ้ายจรัลเริ่มฟื้นฟูท้องถิ่นอีกครั้ง คราวนี้ ลักษณะแทบทุกด้านในท้องถิ่นได้ถูกทำลายจนแทบไม่มีอะไรเหลือ

ปี้อ้ายจรัลในฐานะศิลปิน ผู้มีความสามารถด้านการร้องเพลงและการเล่นดนตรีจึงลุกขึ้น

ทำให้เพลงของเขาโด่งดังไปทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2520 ผลของการรณรงค์ดังกล่าวทำให้คนไทยทั้งในและนอกประเทศรู้จักเพลงภาษาคำเมือง ได้รู้จักท่วงทำนองและดนตรีจากถิ่นเหนือ

คนเราคงไม่มีใครทำอะไรดีทุกอย่าง สมบูรณ์ทุกอย่าง เพลงและเสียงซึงของปี้อ้ายจรัล มีพลังอย่างมหาศาลเพราะนอกจากจะทำให้คนไทยทั่วถิ่นรู้จักเพลงคำเมือง อยากพูดภาษาคำเมือง และอยากกินอาหารพื้นเมือง ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นที่รู้จักระดับชาติ ยังส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อการตื่นตัวทางวัฒนธรรมของคนเมืองเองและคนกลุ่มอื่นๆในภาคเหนือ

คนเมืองไม่เพียงภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองของตน หากยังแต่งเพลง ตั้งวงดนตรี จัดรายการวิทยุ-ทีวี ฯลฯ มากมาย ปลุกเร้าพลังและจิตสำนึกของความเป็นคนเมืองให้ฟื้นคืนมา

แต่ด้วยอิทธิพลดังกล่าวและขาดการประเมินผล ลักษณะความเป็นเมืองเคิบ 3 อย่างที่กล่าวมาได้ติดมาด้วย แทนที่จะถูกทิ้งไป แต่ยังคงมีบทบาทที่ส่งผลมาจนถึงบัดนี้ นั่นคือ ผู้จัดรายการด้วยภาษาคำเมืองในวิทยุ-โทรทัศน์ วงดนตรีและการแต่งเพลงของหลายคณะ ตลอดจนการพูดภาษาคำเมืองในงานต่างๆ ได้รับเอาความเป็นเมืองเคิบดังกล่าวมาอย่างไม่รู้ตัว

ไม่มีคนเมืองที่ไหน จังหวัดใด พูดจากันด้วยการออกเสียง ร ล ชัดเจนในการพูดคำเมือง ส่วนตัว ร และ ล ในคำควบกล้ำก็ไม่เคยมีการออกเสียงในการสนทนาไม่ว่ายุคไหน แต่ขณะนี้ ลักษณะเมืองเคิบดังกล่าวพร้อมกับการนำเอาคำในภาษาไทยมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยในภาษาคำเมือง มีให้ได้ยินอย่างกว้างขวางในวงการสื่อวิทยุ-โทรทัศน์และเสียงเพลง เช่น พูดว่า

"วันพรุ่งนี้ จะมีก๋ารประชุม สิบโมงตรง จะไปลืมเน่อเจ้า ขอหื้อไปกั๋นอย่างพร้อมเพรียง"

 " จุดนี้ (หรือพูดว่า ตรงนี้) ข้าเจ้าก่อขอนำท่านไปร่วมวิเคราะห์ แต่ละประเด็นปั๋ญหา โดยทันที เมื่อเฮาได้อภิปราย อย่างมากแล้ว เฮาก่อจะได้ร่วมสำราญรับประทานอาหารเย็นตวยกั๋น"

"รายก๋ารอู้กั๋นเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้านเฮาในวันนี้ ก่อขอสิ้นสุด แต่ขอท่านอย่าลืม ประเด็นแรก ตี้ข้าเจ้านำเรียนไว้อย่างเด็ดขาดนะเจ้า คือขอปี้น้องมาร่วมกั๋นรณรงค์....ผู้บริโภคจะต้องห่วงใยและเอาใจ๋ใส่ปัญหาขยะ ปัญหาโลกร้อน......ซึ่งเป๋นปัญหาเร่งด่วนตี้สุด" ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างของการนำเอาลิ้นมาระรัวๆๆๆๆๆๆๆ เพื่อทำเสียง ร เรือ และนำเอาคำของภาษาอื่นมาใช้ภาษาคำเมืองอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คำนึงว่าคนพูดกำลังทำลายภาษาแม่ ของตนลงเป็นลำดับ ส่วนคนฟังก็เกิดอาการร้อนระอุ แสบๆคันๆ ว่ามลพิษทางอากาศในแต่ละวันไม่เพียงทำร้ายหู แต่กำลังทำร้ายลูกหลานและอนาคตของท้องถิ่นอย่างเลือดเย็นที่สุด เพราะว่าเมื่อภาษาแม่ล่มสลายลง ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นก็ล่มสลายลง ทั้งๆที่ทั่วประเทศกำลังรณรงค์ให้มีการรื้อฟื้น

 

6.

ปีนี้เป็นปี พ.ศ. 2552 เป็นเวลา 56 ปีนับจากการจัดงานขันโตก-การจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ คนเมือง - การรณรงค์แต่งกายพื้นเมือง และการเปิดคอลัมน์คำเมืองของนายไกรศรี นิมมานเหมินท์ คหบดีและปราชญ์ล้านนาในช่วงทศวรรษ 2490

และเป็นเวลา 32 ปีนับตั้งแต่เพลงชุดแรกของปี้อ้ายจรัลโด่งดังทั่วประเทศ

ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละยุคสมัยย่อมมีลักษณะเฉพาะและบทสรุปสำคัญบางประการที่คนรุ่นหลังจะต้องสรุปและเก็บรับเป็นบทเรียน

สังคมควรจะเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยปัญญา ด้วยการแสดงความเคารพคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของผู้ที่จากไปและผู้ที่ยังอยู่ แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง สังคมจะต้องเรียนรู้ด้วยและไม่ทำอีก

วันนี้ สังคมไทยทุกระดับควรเรียนรู้ 2 ด้านของงานต่างๆที่ได้เกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นและต่อไปจะกลายเป็นมรดตกทอดให้คนรุ่นหลัง

วันนี้ สังคมไทยตระหนักแล้วถึงความสำคัญของการรักษาและสืบสานศิลปะและวัฒน ธรรมประเพณีท้องถิ่น แต่ก็ควรมองเห็นปัญหาและอุปสรรคที่จะต้องฝ่าข้ามไป

วันนี้ ไม่ใช่ท้องถิ่นต่างคนต่างทำงานเพื่อท้องถิ่นของตนเองโดยส่วนกลางไม่รับรู้และเห็นด้วย แต่ส่วนกลางเปิดทางให้ท้องถิ่นได้หันกลับมาค้นหาและรู้จักตนเอง ขึ้นอยู่กับว่ายังมีท้องถิ่นส่วนใดที่ยังหลงติดอยู่กับวัฒนธรรมเดิมๆที่ติดค้างจากวัฒนธรรมแบบรวมศูนย์อำนาจ

ก้าวต่อไปข้างหน้า ท้องถิ่นจะเก็บส่วนที่ดี มีคุณค่าไว้สืบสานต่อไป และส่วนที่ไม่ถูกต้อง เราเก็บไว้เป็นครูสอนใจ แต่เราไม่อาจสืบสาน

มีคนบอกว่า "วัฒนธรรมเป็นของลื่นไหล เปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีอะไรอยู่ยงสถาพร" แน่นอน คำพูดดังกล่าวถูกต้องหากคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเสมอ แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะศาสนาต่างๆก็อยู่มานานนับพันปี ไวยากรณ์ของภาษาต่างๆก็มีมาหลายร้อยปี วัฒนธรรมของแต่ละเผ่าก็คงอยู่ยาวนาน ดังนั้น แต่ละสิ่งก็มีทั้งสิ่งที่เปลี่ยนและไม่เปลี่ยนในระยะเวลานาน แต่หากเน้นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง ก็คือพูดเข้าข้างการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งไม่ควรมีคำว่าวัฒนธรรมหรือการสืบสาน หรือกฎเกณฑ์ใดๆ อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน หากไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างเดียว ก็ไม่อาจเป็นได้

คำถามมีว่าเราจะรักษาส่วนที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญๆอย่างไร การพูดภาษาของบรรพบุรุษด้วยการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหญ่ เช่น ออกเสียงตัว ร เรือแบบสยาม หรือออกเสียงควบกล้ำแบบสยาม หรือนำเอาคำในภาษาอื่นๆเข้ามาใช้ในภาษาของตัวเองมากมาย แทนที่จะจัดการประชุมคุยกันหาทางบัญญัติศัพท์ของภาษาท้องถิ่นขึ้นมาใหม่ เหล่านี้ไม่น่าจะใช่การยอมรับอย่างง่ายๆว่าวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงได้ เพราะหากยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เท่ากับว่าวัฒนธรรมของท้องถิ่นต้องพ่ายแพ้ และถ้ามีคนค้านอีก ก็แพ้มาแล้วนี่ ทำไมจะแพ้อีกไม่ได้

ก็จะขอถามกลับว่าคนรุ่นก่อนอาจแพ้พ่าย แต่ทำไมคนรุ่นนี้จะต้องพ่ายแพ้อีกเล่า

เป็นที่แน่ชัดว่าหากระเบียบแบบแผนสำคัญๆต้องเปลี่ยนไป ในที่สุด สิ่งที่ไม่เคยปฏิบัติก็จะกลายเป็นระเบียบแบบแผนชุดใหม่ กลายเป็นสิ่งถูกต้องที่ทุกคนต้องทำตาม ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมก็จะสูญหายไปมากขึ้นๆ

นี่ไม่ควรจะเป็นแนวทางการดำรงอยู่และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในขณะนี้.

 

2 กุมภาพันธ์ 2552.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท