Skip to main content
sharethis

ศรีประภา เพชรมีศรี ระบุ กม.หมิ่นฯ ไม่มีอยู่จริง มีเพียง ม.112 ที่ถูกใช้ราว กม.ความมั่นคง ประวิตร โรจนพฤกษ์ แจง 5 สาเหตุที่คนต้องเงียบ เตือนเมื่อต้องเงียบ เสรีภาพก็หายไปด้วย ศราวุฒิ ประทุมราช เสนอคง 112 ไว้ แต่ให้ย้ายออกจากหมวดความมั่นคง จรัญ โฆษณานันท์ ชี้มาตรา 112 น่าสนใจเพราะมีความหลากหลายในตัว ทั้งเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ ที่ทำให้เกิดความกลัว แต่ก็มีเหตุและผลในตัวเองเรื่องสิทธิมนุษยชนของกษัตริย์ หากแต่ยังขาดการยอมรับในสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน

22 มี.ค.52 โครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง "หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ณ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. มีผู้สนใจร่วมฟังประมาณ 100 คน

 

การอภิปรายในช่วงบ่าย เป็นเรื่อง "สิทธิมนุษยชนกับความกลัวในสังคมไทย" ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชน ม.มหิดล

 

 

 "สังคมใดก็ตามที่ประกาศว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่อยู่ใต้ความกลัวและความเงียบงัน ไม่อาจเป็นประชาธิปไตยไปได้ เมื่อสิทธิคือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การที่รัฐไม่อาจรับรองหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และหลายกรณีได้กลายเป็นผู้จำกัดหรือละเมิดเสียเอง ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้"

 

 

 

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาฯ ม.มหิดล กล่าวถึงเสรีภาพซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญอันหนึ่งของหลักมนุษยชนว่า ต้องมีเสรีภาพจากความกลัว เพราะถ้าสังคมอยู่ในภาวะแห่งความกลัวจะทำให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ถูกจำกัดหรือละเมิดได้

 

ลักษณะของสังคมแห่งความกลัวเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ โดยในช่วงทศวรรษที่ 1950-1980 ประเทศไทยและหลายๆ ประเทศภายใต้การนำของอเมริกา อยู่ภายใต้ความกลัวคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ไม่ได้รู้ว่าคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร คนไทยถูกทำให้กลัวด้วยการให้เหตุผลว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความกลัวทำให้รู้สึกว่าถูกคุกคาม ทั้งที่อาจเป็นการคุกคามที่อาจมีอยู่จริงหรืออาจเป็นเพียงการคุกคามในความคิด แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ถูกมองว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการคุกคามนั้น คุกคามการดำรงอยู่ของสถาบันอันใดอันหนึ่ง

 

"เปลวไฟแห่งความกลัว พอมันถูกจุดขึ้นเนื่องมาจากข้อกล่าวหาหรืออะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดแล้วมันเหมือนจะควบคุมไม่ได้ เพราะนอกจากจะถูกทำให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว มันถูกปั่นไปไกลถึงขนาดที่ว่ามันเป็นเรื่องที่จะยกขึ้นมาถกเถียงไม่ได้ เหมือนกับว่าสังคมเราอยู่ในภาวะสงคราม ดูไปก็ไม่ต่างจากสมัยที่เรากลัวคอมมิวนิสต์สักเท่าไร ซึ่งทุกคนมีสิทธิจะถูกเรียก ถูกมองว่าเป็นศัตรู แต่เป็นศัตรูของใครก็แล้วแต่ ในที่นี้คือเป็นศัตรูของสถาบัน อย่างที่เราเคยได้ยินว่ามีกลุ่มพยายามล้มล้างสถาบัน" ดร.ศรีประภากล่าว

 

ดร.ศรีประภากล่าวต่อมาถึงลักษณะของสังคมแห่งความกลัวว่า เป็นสังคมที่ไม่เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถในการแยกแยะของประชาชน ไม่คิดว่าประชาชนจะคิดทำเรื่องดีๆ ให้ประเทศได้ ในสังคมแบบนี้การเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารได้น้อย เพราะรัฐตรวจสอบควบคุมอย่างเกินเลยและได้เข้าไปควบคุมความคิดเห็นประชาชนด้วย มีการตรวจสอบระดับความจงรักภักดีของสถาบัน ควบคุมคนที่มองว่าจะต่อต้านสถานบันใดหนึ่งและจับไปขังคุก อีกทั้งรัฐยังพึ่งพากฎหมายที่ลงโทษรุนแรงเข้มงวด เช่น ความพยายามเพิ่มโทษมาตรา 112 หรือในการออกกฎหมายหลายๆ ฉบับ นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า การรักษาหรือการคงอยู่ของสถาบันใดสถาบันหนึ่งเป็นคุณค่าสำคัญที่สุดในสังคม

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกจากเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดและเสรีภาพทางวิชาการที่ถูกจำกัดหรือละเมิดอย่างชัดเจน ยังกระทบสิทธิในการทำงาน สิทธิในชีวิตส่วนตัว และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ในความเป็นจริงที่มีความพยายามควบคุมเสรีภาพในการพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างปิดเผยเกิดขึ้น นอกจากแสดงถึงความไม่เชื่อมั่นต่อประชาชนในการตัดสินใจชั่งน้ำหนักผิดถูก ยังสะท้อนความไม่เชื่อมั่นในความมั่นคงของรัฐหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งด้วย นอกจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ การพูดคุยบนพื้นฐานที่ไม่มีข้อมูลถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ ทำให้ในสังคมแห่งความกลัวการซุบซิบนินทากลายเป็นสถาบัน กลายเป็นวัฒนธรรม เมื่อทุกคนทำ ซึ่งในที่สุดมันไม่ได้ส่งผลดีให้ใครเลย

 

ดร.ศรีประภากล่าวต่อมาถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและก่อนหน้านี้ ในมาตรา 4 ได้บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครองนอกจากนี้ในหมวด 3 มาตรา 26-69 ก็ได้ระบุในเรื่องดังกล่าวไว้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าประเทศไทยมีมาตรฐานบางอย่างในเรื่องนี้ที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่แม้ว่าจะถูกล้มได้ง่ายก็ตาม

 

"เวลาที่องค์กรของรัฐปฏิบัติการที่ไม่สอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ น่าจะต้องถูกตั้งคำถามโดยที่ไม่ต้องเกรงกลัวว่ากำลังหมิ่นศาลหรือหมิ่นใครก็แล้วแต่ เพราะว่าอย่างไรก็ตาม ตามรัฐธรรมนูญเขามีหน้าที่ภาระผูกพันที่จะต้องดูแลให้เป็นไปตามนั้น" ดร.ศรีประภากล่าว พร้อมย้ำว่าองค์กรของรัฐทั้งหลายที่ทำหน้าที่ควบคุมหรือใช้กฎหมาย ต้องกลับไปพิจารณาว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

 

ทั้งนี้ เมื่อดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญจะพบว่าสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง

 

 

มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้การใช้อำนาจ

 

มาตรา 27 สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรอง ผูกพันองค์กรของรัฐทั้งหมด รวมทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นๆ

 

มาตรา 29 การจำกัด สิทธิ และ เสรีภาพ ของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือน สาระสำคัญ แห่งสิทธิและเสรีภาพนั้น มิได้ …

 

มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน …

 

 

 

 

"สังคมใดก็ตามที่ประกาศว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยแต่อยู่ใต้ความกลัว และความเงียบงัน ไม่อาจเป็นประชาธิปไตยไปได้ เมื่อสิทธิคือหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย การที่รัฐไม่อาจรับรองหรือคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ และหลายกรณีได้กลายเป็นผู้จำกัดหรือละเมิดเสียเอง ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยไม่ได้"

 

"สังคมใดก็ตามที่ความเห็นต่างไม่ได้รับการยอมรับ หรือไปถึงขั้นกลายเป็นอาชญากรรม เป็นสังคมที่ในที่สุดทำให้ประชาชนต้องคิดเหมือน หรือไม่ต้องคิดเลย สังคมแบบนี้น่าจะเป็นสังคมที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เพราะความแตกต่างโดยพื้นฐานคือความร่ำรวยของสังคม ซึ่งความร่ำรวยนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย ไม่ใช่ความขัดแย่ง"

 

 

 

"ถ้าความจงรักภักดีที่เกิดจากการบังคับ ไม่อาจเป็นการจงรักภักดีที่ยั่งยืนได้ ดังนั้น ถ้าหากถึงขนาดต้องมีการพิสูจน์ความจงรักภักดีก็สะท้อนว่ามันอาจจะไม่ได้มีอยู่จริง ซึ่งคิดว่ามันเป็นสิ่งที่จะต้องทบทวน" ดร.ศรีประภากล่าว ถึงความพยายามตรวจสอบความจงรักภักดีที่มีอยู่ในขณะนี้

 

ดร.ศรีประภากล่าวยกตัวคำพูดของประธานาธิบดี รูสเวลล์ ของอเมริกา ในปี 1933 ที่ว่า "สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวอย่างยิ่งคือความกลัวนั่นเอง" เพราะความกลัวแตกหน่อขยายออกไปได้ และเมื่อมันขยายออกไปจนไม่มีขอบเขต สังคมก็จะกลายเป็นสังคมแห่งความเงียบ แม้แต่สื่อที่เป็นผู้ทำลายความเงียบก็จะเงียบงัน สังคมมีแต่ความอึดอัด เก็บกด และในที่สุดจะนำสู่การปะทุได้

 

นอกจากนั้น ดร.ศรีประภาได้กล่าวยกคำพูดในการเสวนาเมื่อวานนี้ (21 มี.ค.52) ของ ศ.ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยให้สัมภาษณ์กับ บีบีซี ที่ว่า "สถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา" ซึ่งในสังคมไทยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่รัฐและสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งเดียวกัน สู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่รัฐและสถาบันแยกจากกัน

 

แต่ในสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมายยังไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง และยังไม่ตัดขาดกับอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 จึงยังยึดโยงกับระบอบเก่า

 

"ระบบการปกครองไทย กฎหมายไทย รวมทั้งมาตรา 112 จึงมีการใช้โดยทำให้เห็นว่ารากเหง้าของระบบเก่ายังไม่ถูกถอนไป อย่างน้อยที่สุดในความคิดของผู้ใช้กฎหมายและผู้มีอำนาจในสังคม" ดร.ศรีประภากล่าว

 

ส่วนวิธีการใช้มาตรา 112 กับกฎหมายว่าด้วยความมั่นคงทั้งหลาย ที่ให้อำนาจกับรัฐไว้มากมายและดูเหมือนจะเป็นการให้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นการใช้มาตรา 112 ไม่ว่าเพื่อประโยชน์ของตนเอง กลุ่ม หรือผลประโยชน์ทางการเมือง หลายกรณีไปละเมิดสิทธิของผู้กล่าวหาโดยที่แทบไม่มีสิทธิต่อสู้ ทั้งที่มีการยืนยันแล้วว่าไม่มีกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมาตรา 112 เป็นมาตราในกฎหมายอาญา

 

"เวลาเราพูดเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เรากำลังพูดในสิ่งที่มันไม่มีอยู่ แต่สิ่งที่มันมีอยู่จริงคือมาตรา 112 ซึ่งมีการใช้ราวกับว่ามันเป็นกฎหมายความมั่นคง" ดร.ศรีประภากล่าวทิ้งท้าย

 

 

"ทำไมถึงเงียบ เงียบเพราะกลัว เงียบเพราะถูกทำให้กลัว เงียบเพราะไม่กล้า

เงียบเพราะถูกทำให้ไม่กล้า เงียบเพราะไม่มีสิทธิ

หรือเงียบเพราะไม่รู้สิทธิ เงียบเพราะกลัวสูญเสียอิสรภาพ ต้องเข้าไปอยู่ในคุกในตาราง

แต่เพราะต้องเงียบ เสรีภาพคุณก็ขาดไปเช่นกัน"

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชน กล่าวถึงความหลากหลายของความเงียบกับกฎหมายหมิ่นฯ โดยแบ่งออกเป็น 1.เงียบเพราะกลัวหรือถูกทำให้กลัว โดยยกตัวอย่างถึงการตัดสินใจไม่รณรงค์ปฏิรูปกฎหมายหมิ่นฯ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกลัวว่าจะถูกโยงเข้ากับขบวนการล้มเจ้า และขบวนการใน 3 จังหวัดภาคใต้ และกรณีนักศึกษาออกซ์ฟอร์ด ซึ่งขณะนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะไปพูดที่ออกซ์ฟอร์ด นักศึกษาที่ร่วมลงรายชื่อยื่นจดหมายเรียกร้องในลักษณะเดียวกันให้แก่นายกฯ ถูกล็อบบี้ไม่ให้ประท้วงหรือยื่นจดหมาย โดยแรงกดดันจากทางสถานทูตและเพื่อนคนไทยร่วมสถาบัน จนเกิดเป็นคำถามที่ว่าทำไมต้องกลัวที่จะแสดงความคิดเห็น

 

วัฒนธรรมความกลัวและความเงียบมากับความคลุมเครือ ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำหรือพูดจะปลอดภัยหรือเปล่า เหมือนเล่นไพ่ 9 เก ที่ต้องทายเอาว่าฝ่ายตรงข้ามถือไพ่อะไรและจะทำอย่างไร อีกแง่หนึ่งผู้ที่จะพูดหรือจะทำจะต้องคิดว่าจะเกิดหรือไม่เกิดปัญหาหรือไม่ และความคลุมเครือนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะราคาความเสี่ยงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากกรณีที่ถูกจับ ถูกปราบ ทำให้ต้องป้องกันไว้ก่อน จนแม้กระทั่งสื่อที่ปวารณาตนว่าจะสนับสนุนการสร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างประชาไทก็ยังต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเซ็นเซอร์และทำให้เงียบของรัฐว่าด้วยกฎหมายหมิ่นฯ 

 

นอกจากนี้ กรณีนักวิชาการต่างประเทศที่มีชื่อเสียงกว่า 50 ท่าน อาทิ นอม ชอมสกี้ และเอมมานูเอล วาเลนสไตล์ที่ร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ก็ยังถูกกล่าวหาจากคอลัมนิสต์ไทยอย่างลอยๆ ระบุว่านักวิชาการเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้าโดยไม่มีหลักฐาน อีกทั้งการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกระแสหลักจำนวนมากในเรื่องนี้ โดยสื่อกระแสหลักไทยส่วนใหญ่เลือกจะไม่รายงานข่าว ถึงแม้เรื่องปัญหากฎหมายหมิ่นฯ จะเป็นประเด็นที่สื่อต่างประเทศพูดถึงอย่างกว้างขวาง แต่สื่อกระแสหลักไทยกลับเงียบเพราะทั้งกลัวและเห็นด้วยกับความเงียบ

 

2.เงียบ เพราะถูกทำให้เงียบ ยกตัวอย่าง นิตยสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งร้านหนังสืออย่างดอกหญ้า นายอินทร์ เลิกรับจำหน่ายหนังสือดังกล่าว กรณีโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ต้องไว้หนวดไว้เคราใส่หมวกเบสบอล เพื่อหลบหนี เพราะกลัวถูกติดตามและทำร้าย หลังจากสื่ออย่างผู้จัดการกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้าที่มีนายทักษิณ ชินวัตรอยู่เบื้องหลัง

 

กรณีการจับกุมผู้โพสต์ข้อความตามเว็บ อย่างเช่น นายสุวิชา ท่าค้อ และกรณีที่นิตยสาร "ดิ อีโคโนมิสต์" ไม่ได้ถูกจำหน่ายในประเทศไทย เพราะผู้จัดส่งในเมืองไทยปฏิเสธเนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาพาดพิงกับราชวงศ์ไทย และเกรงว่าจะเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน

 

3.เงียบ เพราะต้องการให้คนอื่นเงียบ และไม่ยอมให้มีการถกเถียงอย่างแท้จริง โดยกล่าวขยายความว่า สื่อกระแสหลักจำนวนหนึ่งแม้อยากโต้เถียงกับสื่อตะวันตก แต่กลับดำเนินการโดยลงความเห็นด้านเดียวไม่มีพื้นที่ให้กับความเห็นต่างอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง บทความเดวิด สเตรคฟัส (นักวิชาการอิสระจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินฯ) ที่พยายามส่งไปเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักแต่ไม่ถูกตอบรับ ต้องนำไปลงในบล็อกของ http://bangkokpundit.blogspot.com

 

"ผู้มีอำนาจในวงการสื่อไทยจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อแบบนี้ มักชอบยัดเยียดข้อมูลด้านเดียว อย่างเช่น เวลานายแฮร์รี่ นิโคไลน์ได้รับพระราชอภัยโทษ หนังสือพิมพ์เนชั่นและบางกอกโพสต์เขียนบทความชมพระเมตตา แต่ไม่ยอมพูดว่าถึงอย่างไรนายนิโคไลน์ก็ติดคุกไปแล้วกว่า 5 เดือน และยังไม่รวมถึงคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในคุก และอาจจะต้องเข้าคุก" ประวิตรกล่าว

 

4.เงียบ เพราะถูกปลูกฝังตอกย้ำโดยข้อความและข้อมูลที่ผลิตซ้ำๆ และ 5.พวกไม่ยอมเงียบ ยกตัวอย่าง อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่แทบไม่มีตัวอย่างให้เห็น เพราะพูดแล้วอาจต้องติดคุกหรือลี้ภัย ส่วน ส.ศิวรักษ์ ซึ่งเคยโดนคดีมาแล้ว 3-4 ครั้งและปัจจุบันก็มีคดีค้างอยู่อีก อ.สุลักษณ์ ต้องย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างแท้จริง ชวนคิดว่าหากพูดว่าไม่จงรักภักดีแล้วผลจะเป็นอย่างไร

 

ในกรณีการ "ห้าม" ประวิตรกล่าวถึงป้าย "ห้ามปัสสาวะ ที่นี่" ซึ่งถึงแม้จะห้าม แต่ส้วมสาธารณะใน กทม. มีไม่พอ และธรรมชาติของมนุษย์ก็ต้องขับถ่าย บริเวณป้ายนั้นจึงยังคงเหม็นปัสสาวะอยู่ดี เปรียบได้กับมนุษย์ที่โดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่คิดวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่างๆ นานา หากทำในที่สาธารณะผ่านสื่อกระแสหลักไม่ได้ หากพูดในที่สาธารณะอย่างที่สนามหลวงไม่ได้ พวกเขาก็ไประบายลงทางอินเทอร์เน็ต จนเป็นคดีในปัจจุบัน 

 

"ทำไมถึงเงียบ เงียบเพราะกลัว เงียบเพราะถูกทำให้กลัว เงียบเพราะไม่กล้า เงียบเพราะถูกทำให้ไม่กล้า เงียบเพราะไม่มีสิทธิ หรือเงียบเพราะไม่รู้สิทธิ เงียบเพราะกลัวสูญเสียอิสรภาพ ต้องเข้าไปอยู่ในคุกในตาราง แต่เพราะต้องเงียบ เสรีภาพคุณก็ขาดไปเช่นกัน" เขากล่าว พร้อมเสริมว่า สังคมที่ประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความเห็นอย่างแท้จริง โดยปราศจากความกลัว ไม่สามารถเรียกได้ว่ามีระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

"หากเรายอมรับยอมให้วัฒนธรรมความกลัวและความเงียบเป็นเรื่องปกติเมื่อใด และชาชินกับมัน ไม่ตั้งคำถามต่อสภาพที่เป็นอยู่ เราก็ไม่มีทางเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์และมีศักดิ์ศรีได้ ทางออกทางเดียวคือ ต้องสู้และสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับและเชิดชูเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก เพราะมันคือเสาหลักอันสำคัญของสังคมประชาธิปไตย"

 

อย่างไรก็ตาม ประวิตรได้ยกตัวอย่างการกระทำของตัวเองในการเตือนด้วยความกลัวเพื่อให้คนอื่นระวังที่จะพูดหรือแสดงออก และย้ำว่า "เราแต่ละคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลไกแห่งความเงียบได้โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวก็ตาม"

 

 

"เรากำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวจนทำให้ไม่กล้าจะแสดงความเห็นโดยสุจริตของเรา

นี่เป็นประเด็นของสังคมไทยที่เราไม่สามารถก้าวพ้นความหวาดกลัวไปได้"


 

ศราวุฒิ ประทุมราช นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความจริงไม่อยากเรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน แต่อยากเรียกว่านักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนมากกว่า เพราะตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาเป็นต้นมา ไม่มีนักสิทธิมนุษยชนในประเทศ พอเสียงปืนดังทุกอย่างก็เงียบ

 

เวลาพูดถึงสิทธิเสรีภาพ เรื่องความกลัวเป็นประเด็นหนึ่งที่ปรากฏในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากล ในคำปรารภเขียนว่า โดยที่การไม่นำพาและการเหยียดหยามต่อสิทธิมนุษยชน ยังผลให้มีการกระทำอันป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมนุษยชนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรง และได้มีการประกาศว่าปณิธานสูงสุดของสามัญชนได้แก่ ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด ในความเชื่อถือ และพ้นจากความหวาดกลัวและความขาดแคลน นี่เป็นหลักใหญ่ของหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ต้องไปตั้งคำถามว่าเป็นตะวันตกหรือตะวันออกคิดขึ้นมา เพราะปัญหาอยู่ที่อิสรภาพควรเป็นพื้นฐานของมนุษย์หรือไม่

 

เขากล่าวว่า นอกจากนี้ในปฏิญญานี้ข้อ 19 ก็รับรองไว้ว่าเราทุกคนมีสิทธิในการแสดงความเห็นและการแสดงออก โดยมีองค์ประกอบคือ สิทธิในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร รับข้อมูลข่าวสาร และแจกจ่ายข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก็มีข้อจำกัดด้วยว่าต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นตามสมควรด้วย ไม่ใช่พูดอะไรก็ได้แล้วไปหมิ่นประมาท ซึ่งก็ต้องดูในรายละเอียดว่าอย่างไรคือหมิ่นประมาท กรณีของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ควรอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกัน แต่เนื่องจากกฎหมายนี้อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้มีใครก็ได้ไปแจ้งความ

 

เขากล่าวว่า เคยได้ยินเรื่องหนึ่งที่ทนายความอาวุโสท่านหนึ่งเล่าว่า มีชาวบ้านภาคใต้กำลังจะติดรูปพระบรมฉายาลักษณ์ ใช้ปากคาบน็อตไว้ มือก็ไม่ว่างถือค้อน และวางรูปไว้ข้างล่าง เพื่อนบ้านผ่านมาถามว่าทำอะไร เขาก็ใช้เท้าชี้ไปบอกติดไอ้นี่ ปรากฏว่าเพื่อนบ้านไปแจ้งความและเขาถูกจับ หรือกรณีชาวจีนโพ้นทะเลแก่ๆ คนหนึ่งที่อุทัยธานี เข้าไปในศาลแล้วเจอรูปที่ติดอยู่บนบัลลังก์ ก็พูดขึ้นมาว่าในศาลไม่ควรมีรูปเคารพอื่นก็ถูกหาว่าละเมิด ตอนนี้แกก็อยู่ในคุก

 

"เรากำลังตกอยู่ในความหวาดกลัวจนทำให้ไม่กล้าจะแสดงความเห็นโดยสุจริตของเรา นี่เป็นประเด็นของสังคมไทยที่เราไม่สามารถก้าวพ้นความหวาดกลัวไปได้" ศราวุฒิกล่าวและว่า ถ้าเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทโดยทั่วไปมีเหตุยกเว้นโทษได้ แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีการยกเว้นโทษเพราะอ้างกันว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติว่าล่วงละเมิดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โทษที่คนเล็กคนน้อยเผชิญอยู่หลายกรณีก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้พาดพิงชัดเจน"

 

"ผมไม่เห็นด้วยว่าจะต้องไปยกเลิก แต่เราย้ายหมวดมาเป็นเรื่องหมิ่นประมาทโดยทั่วไปได้ไหม และกำหนดให้มีองค์กรที่จะเป็นผู้เสียหายแจ้งความ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดเวลา" ศราวุฒิกล่าว

  

 

"เหล่านี้เป็นประเด็นเรื่องความไม่รู้ เป็นเรื่องอวิชชาของคนที่มองไม่ออกว่า เรื่องของสิทธิจริงๆ แล้วไม่มีสิทธิใดที่ absolute จริง แต่ว่าสิทธิต่างๆ ต้องมีการ provide มีการ balance แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่มีวิกฤติฉุกเฉิน ความมั่นคง อะไรก็แล้วแต่ คุณจะบอกว่าฉุกเฉินจนถึงขนาดที่ปิดปากคนไม่ให้พูดทุกอย่าง มันก็ไม่ได้"

 

รศ.จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์  ม.รามคำแหง กล่าวว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่น่าสนใจเพราะมีความหลากหลายในตัวเรียกว่าเป็นพหุลักษณ์ คืออาจแสดงออกเป็นคำสั่งของรัฐาธิปัตย์ บังคับ ข่มขู่ ที่ทำให้เกิดความกลัว แต่ก็มีความเป็นเหตุและผลในตัวเอง เรื่องสิทธิมนุษยชนของกษัตริย์ในฐานะบุคคล ซึ่งมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง แต่ทั้งนี้ ยังขาดการยอมรับในสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น สิทธิแสดงความคิด สิทธิในความเชื่อมโนธรรม หรือสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งควรต้องมีการใช้สิทธิอื่นที่เชื่อมโยงและให้มีความสมดุล

 

มาตรา 112 เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมหรือจิตวิญญาณความเป็นไทย แต่น่าเสียดายที่ถูกผูกขาดคำนิยามโดยชนชั้นผู้มีอำนาจ ซึ่งในแง่ของความเป็นจริงกฎหมายนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่จะควบคุมอำนาจ ครอบงำความเชื่อต่างๆ แง่นี้จึงมีธรรมชาติในทางการเมืองสูง คือการบังคับใช้เชื่อมโยงกับการเมือง และสุดท้ายในความเป็นพหุลักษณ์สะท้อนสิ่งที่เป็นอนิจจัง ความไร้ระเบียบของกฎหมายที่ไม่แน่นอน รวนเร แปรปรวนในการใช้หรือการตีความ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่คล้ายกับตาบอดคลำช้างของทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน

 

รศ.จรัญกล่าวต่อว่า ยังมีคนที่อยู่ในความเงียบและความกลัว  โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.เงียบเพราะเห็นดีเห็นชอบกับกฎหมาย ไม่เห็นด้วยกับกรยกเลิก แก้ไข และอยากให้มีการจับกุมเงียบๆ คิดว่ากลุ่มนี้มีความเชื่อแบบอวิชชาแฝงอยู่ ทำให้เกิดความคิดว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ได้รับการยกเว้น หรือเป็นกฎหมายที่อยู่เหนือสิทธิมนุษยชน

 

เขาอธิบายถึง วาทกรรมความเป็นไทยซึ่งมองว่ากษัตริย์เป็นศูนย์รวมเอกภาพ ความจงรักภักดี และเป็นสถาบันที่อยู่เหนือการการติชมใดๆ นั้น มีอุดมการณ์ราชาชาตินิยมแฝงอยู่ โดยยกตัวอย่างการให้สัมภาษณ์ของ สว.ซึ่งเป็นนักกฎหมายคนหนึ่งที่ว่า มาตรา 112 ไม่ล้าสมัย ไม่ขัดหลักการประชาธิปไตย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน รายละเอียดเป็นเรื่องสังคมวัฒนธรรมไทย ซึ่งแต่ละยุค แต่ละสมัย ในแต่ละสังคมย่อมมีกฎหมายที่สะท้อนวัฒนธรรมของตนเอง

 

การอ้างแบบนี้มีปัญหาว่าใครเป็นผู้อธิบายหรือนิยามวาทกรรมเรื่องความเป็นไทยขึ้นมา วัฒนธรรมจิตวิญญาณของไทยใครเป็นผู้กำหนด กำหนดเพื่อใคร ใครได้ประโยชน์ ตรงนี้เป็นการเมืองเบื้องหลังคำนิยามที่ถูกละเลยที่จะพูดถึง เช่นเดียวกันนี้ ในเรื่องความมั่นคงก็มีการพูดถึงกันมาก โดยเป็นการยกประเด็นความมั่นคงอยู่เหนือสิทธิเสรีภาพ และไม่เกี่ยวเรื่องการแสดงคามคิดเห็น

 

"เหล่านี้เป็นประเด็นเรื่องความไม่รู้ เป็นเรื่องอวิชชาของคนที่มองไม่ออกว่า เรื่องของสิทธิจริงๆ แล้วไม่มีสิทธิใดที่ absolute จริง แต่ว่าสิทธิต่างๆ ต้องมีการ provide มีการ balance แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่มีวิกฤติฉุกเฉิน ความมั่นคง อะไรก็แล้วแต่ คุณจะบอกว่าฉุกเฉินจนถึงขนาดที่ปิดปากคนไม่ให้พูดทุกอย่าง มันก็ไม่ได้" รศ.จรัญกล่าวย้ำ

 

รศ.จรัญกล่าวต่อมาถึงกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่า กฎหมายที่ระบุความผิดฐานปลุกปั่น ยุยงให้ประชาชนไม่เคารพหรือล้มล้างกฎหมายหรือรัฐบาลดังกล่าว อยู่ในหมวดความมั่นคงเช่นเดียวกับมาตรา 112 แต่ได้มีการเขียนยอมรับให้มีการชั่งน้ำหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แสดงให้เห็นว่าสิทธิและความมั่นคงไม่ได้เป็นคนละเรื่องที่แยกจากกันเด็ดขาด

 

นอกจากนี้ ความมั่นคงไม่สามารถล้มล้างสิทธิได้เสมอไป ดังกรณีตัวอย่างคำพิพากษาของศาลอเมริกา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.51 คดีที่เกี่ยวกับนักโทษที่ถูกคุมขังที่อ่าวกวนตานาโม ที่มีอดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช เป็นจำเลย คดีนี้ สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีอเมริกาต้องการออกกฎหมายจำกัดสิทธิของนักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายไม่ให้มีสิทธิในการฟ้องร้อง สิทธิที่จะร้องขอต่อศาลให้มีการสอบสวนว่าการคุมขังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยอ้างสถานการณ์สงครามพิเศษ ซึ่งศาลฎีกาของอเมริกาได้ตัดสินว่า นโยบายหรือการกระทำของจอร์จ บุช ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าถึงแม้จะอยู่ระหว่างสงครามก็ไม่สามารถที่จะเพิกถอนในสิ่งที่เป็นหมายของศาลในการตรวจสอบการคุมขังได้ 

 

 

 

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

 

 

รศ.จรัญ กล่าวต่อมาถึงความคิดในแบบที่ 2.เงียบเพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกลัวหรืออะไรก็แล้วแต่ เบื้องหลังความกลัวที่สำคัญเกี่ยวเนื่องทั้งวัฒนธรรม วาทกรรมความเป็นไทย และกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความกลัวมากๆ คือ กฎหมาย ทั้งเรื่องของโทษ การตีความ และการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ

 

ในประเด็นเรื่องโทษ หากมองในเชิงเปรียบเทียบ เดวิด สเตรคฟัส ได้เคยเขียนไว้แล้วว่า การวางโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ต่างๆ ในระดับสากลโดยทั่วไปจะออกมาในแนวโทษปรับทั้งสิ้น คือไม่มีการใช้โทษรุนแรงต่าง ยกตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศเนเธอร์แลนด์ คนที่เคยเรียกพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ว่าโสเภณีได้รับโทษปรับ 200 ยูโร หรือนิตยสารสเปนที่ลงภาพล้อเลียนเจ้าชายและภรรยาก็ได้รับโทษปรับ

 

แต่ปัญหาของไทย คือความรุนแรงของโทษเป็นความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาท รศ.118 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อมามีกฎหมายลักษณะอาญา รศ.127 เพิ่มโทษเป็น 7 ปี กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.2499 ไม่เกิน 7 ปี หลัง 6 ต.ค.2519 ปรับเพิ่มเป็น 3-15 ปี ตรงนี้สะท้อนความผิดปกติในตัวกฎหมาย โดยโทษที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือจำคุก 3-15 ปี เป็นโทษที่หนักกว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราช ทั้งที่อยู่ในยุคที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จึงเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลองไปสู่สมัยอยุธยาที่ใช้กฎหมายตราสามดวง ในยุคความคิดแบบเทวราชา สมมุติเทวดาเริ่มทรงอิทธิพลมาก นอกจากนี้การที่โทษเพิ่มขึ้นยังสวนกระแสกับวิวัฒนาการของสังคม

 

เขากล่าวต่อมาว่า เมื่อเทียบมาตรา 112 กับมาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลหรือกฎหมาย) ซึ่งมาจากการยกร่างกฎหมายลักษณะอาญา โดยแยกจากมาตราเดียวกันในกฎหมายอังกฤษ ทั้ง 2 มาตรามีอัตราโทษเท่ากัน ไม่เกิน 7 ปี แต่การปรับแก้หลัง 6 ต.ค.2519 มีการปรับเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้สูงขึ้น (เพิ่มเป็น 3-15 ปี) ขณะที่มาตรา 116 อัตราโทษยังคงเดิม ตรงนี้สะท้อนความผิดพลาดที่สำคัญของผู้แก้กฎหมาย

 

ปัญหาคือ นัยยะสำคัญของมาตรา 116 ระบุถึงการดูหมิ่นกฎหมายหรือล้มล้างกฎหมาย และการที่รากเหง้าของมาตรา 116 กับ 112 มีโทษเท่ากัน เพราะถือว่าสิ่งที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองคือพระมหากษัตริย์และกฎหมาย เปรียบเสมือนสิ่งที่มีคุณค่าทัดเทียมกัน ซึ่งในสังคมตะวันตกที่ใช้หลักยุติธรรมมักจะใช้กฎหมายเป็นใหญ่ หรือ "กฎหมายคือกษัตริย์" การแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 ให้มีมากกว่า 116 ความหมายคือเป็นการแก้ให้พระมาหากษัตริย์มีความสำคัญมากกว่ากฎหมาย ยกสถานะกษัตริย์ให้อยู่เหนือกฎหมาย

 

ความไม่เป็นธรรมของบทลงโทษมาตรา 112 คือ ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่กษัตริย์ควรอยู่ภายใต้กฎหมาย และขัดกับหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น ทางออกทางเดียวคือการลดโทษในปัจจุบันลงมา อย่างน้อยคือให้เหลือ 7 ปีเท่ากับในมาตรา 116 ไม่ใช่การเพิ่มโทษ

 

ทั้งนี้ เขากล่าวว่า อุปสรรคสำคัญคือสังคมไทยไม่ยอมรับในเรื่องบทยกเว้นโทษหรือบทยกเว้นความผิด ซึ่งอยู่ในกฎหมายหมิ่นประมาท มาตรา 329 และมาตรา 330 โดยอ้างเหตุผลหลักตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และมักมีการอ้างว่าหากขาดมาตรา 112 แล้วมาตรา 8 จะอยู่ไม่ได้ เพราะไม่มีสภาพบังคับ ซึ่งเขาเห็นว่า มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญคือ การห้ามฟ้องพระมหากษัตริย์ทั้งทางแพ่งและทางอาญา บนพื้นฐานของการเคารพในสถานะความเป็นประมุขสูงสุดของชาติ ซึ่งเป็นมาตราที่มีอยู่ของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั่วๆ ไปในประเทศที่มีลักษณะเป็นสหราชอาณาจักร ส่วนมาตรา 112 เป็นเรื่องห้ามหมิ่นประมาทหรือห้ามดูหมิ่นกษัตริย์ เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ดังนั้นมาตรา 8 สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีมาตรา 112

 

"ผมว่าลึกๆ แล้ว ความคิดที่จะปฏิเสธเรื่องข้อยกเว้นโทษ หรือปฏิเสธสิทธิอย่างอื่นที่จะมาขันแข่งกับเรื่องเกียรติยศชื่อเสียงของกษัตริย์ ก็คือเรื่องของความเชื่อเรื่องความเป็นไทยต่างๆ เรื่องความจงรักภักดี ความเชื่อเรื่องสมมติเทพ ที่ผสมกลมกลืนคลุกเคล้า จนกลายเป็นความเชื่อมั่นอันหนึ่งที่ฝังอยู่ลึกๆ คือความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำความผิด หรือไม่อาจกระทำความผิดได้ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความผิด เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่มีประเด็นที่จะมาวิพากษ์วิจารณ์พระองค์" รศ.จรัญกล่าวเสนอความคิดเห็น

 

ในเรื่องพระมหากษัตริย์กับการกระทำความผิด รศ.จรัญกล่าวว่า มี 3 วาทกรรมที่ซ้อนกันอยู่ และมีการแย่งช่วงชิงกันว่าอันไหนสำคัญกว่า คือ 1."The king can do no wrong, the king can do nothing" กษัตริย์กระทำผิดไม่ได้ตามหลักคิดสากล ตามรัฐธรรมนูญ กษัตริย์ไม่มีอำนาจ การใช้อำนาจต้องกระทำผ่านตัวแทน ซึ่งมีการนำตรงนี้มาย้ำอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องพระราชอำนาจ หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ 2."The king can do no wrong but the king can do something" กษัตริย์ทำอะไรไม่ผิด แต่ทำบางสิ่งบางอย่างได้ นี่คือวาทกรรมแบบไทยๆ ที่สะท้อนลึกๆ ในเรื่องสมมติเทพที่ยังมีอยู่

 

3. "The king can do wrong" พระมหากษัตริย์กระทำผิดได้ ซึ่งเป็นที่ฮือฮาหลังพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 แต่ความจริงหลักคิดนี้สาวไปได้ถึงหลักพระธรรมศาสตร์ของนิติปรัชญาหรือปรัชญาทางการเมืองไทยโบราณได้ในแบบพุทธรรมนิยม ซึ่งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เคยพูดประเด็น "The king can do wrong" ตั้งแต่ปี 2510 ว่านี่คือหลักกฎหมายไทย โดยยกกฎมณเฑียรบาลบทที่ 106, 113 ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งพูดเกี่ยวกับเรื่องการทัดทานพระราชอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจที่ใช้โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายยุติธรรม

 

"แต่ว่าในความเป็นจริงหลักการนี้เป็นเพียงมายาคติที่มีอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด ภายใต้ระบบคิดที่มีเรื่องของเจ้าชีวิต มีบทกฎหมายอื่นที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว เช่น บทกฎหมายที่ห้ามขัดพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีลักษณะคล้ายเป็นนิยามเรื่องหนึ่ง ที่จะถูกหยิบขึ้นมาโชว์ให้เห็นว่านี่คือ สถานะอำนาจในการใช้ของกษัตริย์ที่มันดูงดงาม และเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม แต่ในความเป็นจริงมันไม่ค่อยปรากฏออกมา แล้วก็เป็นกฎหมายที่เอาไปคุยโอ้อวด แต่ปฏิบัติไม่ได้" รศ.จรัญ เสนอความคิดเห็น  

 

รศ.จรัญ กล่าวต่อมาถึง บทกฎหมายในประเทศอื่นๆ เช่น ตัวบทกฎหมายจีนโบราณ ที่มีหลักเกี่ยวกับเรื่อง "The king can do wrong" เพราะในอารยธรรมของจีนโบราณ กษัตริย์ต้องอยู่ใต้อาณัติสวรรค์ ถ้าทำผิดถูกเพิกถอนได้ ซึ่งอาจจะนำสู่การล้มล้าง หรือปฏิเสธ นอกจากนี้ในราชสำนักจีนโบราณ ตั้งแต่ยุคจักรพรรดิถังไถจง มีตำแหน่งขุนนางทักท้วง  เป็นผู้คอยทักท้วงทัดทานจักรพรรดิ โดยมีเรื่องราวและชื่อเสียงของบุคคลในตำแหน่งนี้ระบุไว้ในประวัติศาสตร์ หรือในเรื่องนักกฎหมายที่ซื่อสัตย์ของจีนคือเปาบุ้นจิ้น เหล่านี้โยงเพื่อให้เห็นว่า "The king can do wrong" เป็นหลักที่มีอยู่จริงในวัฒนธรรมตะวันออก ทั้งยังมีตัวอย่างปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญของภูฎาน ฉบับปัจจุบันปี 2008 ซึ่งพูดถึงเรื่องการสละราชสมบัติของกษัตริย์ในกรณีจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นการยืนยันว่าพระมหากษัตริย์กระทำผิดได้ หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญและสังคมไทยอาจต้องมาคิดทบทวน

 

 

 

มาตราหมิ่นบุคคลธรรมดา


มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330
 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

 

 

 

ในส่วนข้อเสนอ รศ.จรัญ กล่าวว่า 1.ควรมีการแก้กฎหมาย และ 2.การตีความกฎหมายโดยศาล สามารถทำให้มีความก้าวหน้า กล้าตีความโดยไม่ยึดติดกับถ้อยคำ อย่างมีจุดประสงค์ที่จะขยายสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ยุติธรรมในสังคมมากขึ้น และตีความในลักษณะลบล้างคำพิพากษาเก่าๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคดีหมิ่น ที่มีลักษณะที่เป็นแบบตุลาการภิวัตน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนตัวมองในแง่ลบ คือ มีลักษณะการใช้กฎหมายที่ไม่ยึดมั่นในหลักการ จำกัดสิทธิ ลิดรอนประชาธิปไตย และอาจมีเรื่องความเกี่ยวพันธ์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

 

"สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ คุณจะไปยกสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ด้วยการเพิ่มโทษการดูหมิ่นกษัตริย์มากกว่าการดูหมิ่นกฎหมายบ้านเมือง เพราะว่าเราพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย พูดถึงเรื่องการปกครองโดยรัฐธรรมนูญ เรื่องของหลักนิติธรรม ให้ได้โดยมาตรา 3 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ที่กฎหมายเป็นใหญ่สูงสุด เพราะฉะนั้น หากยึดตาม 3 วรรค 2 แล้ว มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญ" รศ.จรัญ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net