แน่ใจหรือว่า "ประชาธิปไตย" แบบ "อภิสิทธิ์" หมายถึง "ประชาธิปไตย" จริงๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ณัฐกร วิทิตานนท์

 

และแล้วการปาฐกถาภายใต้หัวข้อ "การจัดการความท้าทายในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย" ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ St. John"s College มหาวิทยาลัย OXFORD ก็เกิดขึ้นจนได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านถึงความเหมาะสมของตัวผู้พูด และข่าวลือเกี่ยวกับการยกเลิกการพูดในครั้งนี้

 

และเมื่อมีโอกาสอ่านเนื้อหาบางส่วนของการปาฐกถาครั้งนี้แล้ว ตัวเนื้อหาเองก็ได้สะท้อนถึง "ความไม่เข้าใจ" ในหลักการ "ประชาธิปไตย" พื้นฐานของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงที่กล่าวว่า… "เป็นธรรมชาติของการเมืองไทย พอจะก้าวหน้าก็ต้องถอยหลัง แต่ก็พิสูจน์ได้ว่าการก้าวหน้าของประชาธิปไตย โดยเสียงส่วนใหญ่ ที่ปราศจากประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนได้ ผมจะไม่ยอมแลกความโปร่งใส ธรรมาภิบาล กับการได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ และจะใช้หลักการนี้ นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ที่ก่อให้เกิดประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" [1] เป็นอาทิ

 

แน่นอนที่สุด ความข้อหนึ่งซึ่งใครก็ตามที่จะกล่าวอ้างถึงคำว่า "ประชาธิปไตย" ควรพึงตระหนักไว้ก็คือ ประชาธิปไตย ความดี เสมอไป บ่อยครั้งที่ ประชาธิปไตย = ความเลว แต่การยอมรับในหลักการที่ว่า "ประชาชนต้องเป็นใหญ่" (rule by the people) ต่างหากที่ถือเป็นหัวใจของคำๆ นี้ เพราะแม้แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เอง ได้ให้นิยามเอาไว้สั้นๆ แต่ชัดเจนมากว่าหมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่, การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ส่วนผลลัพธ์จะออกมาดีหรือเลวย่อมเป็นคนละเรื่องกัน

 

แน่ละว่า ประชาธิปไตยที่ดี ย่อมเป็นหลักหมายที่ผู้คนในแต่ละสังคมปรารถนา หลายประเทศต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด การสูญเสียครั้งใหญ่ และบ่อยครั้งก็ต้องอาศัยความอดทน การต่อสู้เรียกร้องยาวนาน ถึงได้มา อย่างเช่นที่คนผิวดำ ประชากรส่วนน้อยในสหรัฐฯ ใช้เวลาเฝ้าคอยถึง 200 กว่าปี เพื่อที่จะรอเห็น บารัค โอบามา นักการเมืองผิวดำคนแรกก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของอเมริกานั่นเอง

 

ผมไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าขณะที่พูดคุณอภิสิทธิ์รู้ตัวหรือไม่ว่าหลายสิ่งที่ได้พูดออกไปมันช่างดูห่างไกลจากความเป็น "ประชาธิปไตย" ตามความรู้สึกธรรมดา (หรือคอมมอนเซนส์) เสียเหลือเกิน และนี่เองที่เป็นความตั้งใจของข้อเขียนต่อไปนี้ เพื่อทบทวนประวัติศาสตร์ของคำสามัญประจำโลก (สมัยปัจจุบัน) คำนี้กันอีกสักคราว

 

 

ย้อนรอย "ประชาธิปไตย" โลก [2]

ว่ากันว่าห้วงก่อนหน้า สมัยโบราณ (500 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่วนใหญ่ของโลกต่างถูกปกครองโดย กษัตริย์ (King) คงมีเพียงในบางที่และในบางช่วงเท่านั้น ซึ่งพอจะเริ่มเห็นความเป็น "ประชาธิปไตย" อยู่บ้าง เช่น ในนครรัฐเอเธนส์ยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง ยอมให้ประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองต่างๆ ได้เอง โดยตรง (Direct Democracy) เนื่องจากประชากรขณะนั้นยังคงจำนวนไม่มากนัก ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนในตอนนั้นก็ยังหาได้รวมถึงทาส ผู้หญิง และเด็กด้วยแต่ประการใด

 

ถึงกระนั้น คำว่า Democracy ก็มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณ 2 คำ คือ Demos ที่แปลว่า ประชาชน (the community) กับ Kratos หมายถึง อำนาจ (sovereign power) เมื่อรวมกันแล้วแปลความว่า อำนาจของประชาชน นั่นเอง

 

ต่อมาได้มีปรัชญาเมธีคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Socrates (469-399 BCE) Plato (427-347 BCE) และ Aristotle (384-322 BCE) ทั้งหมดต่างล้วนเป็นผู้คัดค้าน "ประชาธิปไตย" ด้วยเชื่อถือในการปกครองของบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคล ผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และความสามารถ มากกว่าการปกครองโดยประชาชนหมู่มาก กล่าวคือ โสกราตีส โจมตีระบอบ "ประชาธิปไตย" ของนครรัฐเอเธนส์ว่าเป็นการปกครองที่ปราศจากคุณธรรม และความยุติธรรม และสนับสนุนรูปการปกครองแบบ "อภิชนาธิปไตย" ส่วน เพลโต เชื่อว่ารัฐที่ดีสมควรจะต้องปกครองด้วยคนๆ เดียว โดย "ราชาปราชญ์" (Philosopher-Kings) ทั้งยังเห็นว่ามีเพียง "ทรราชย์" แบบเดียวเท่านั้นที่เลวร้ายกว่า "ประชาธิปไตย" ขณะที่ อริสโตเติล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์ ผู้ทำการจำแนกระบอบการปกครอง (The Aristotelian Classification of Regimes) ออกตามตารางข้างท้ายนี้

 









จำนวนผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

(Number of Rulers)


จุดมุ่งหมาย (Purposes)


เพื่อประชาชน

Rule in General Interest

(Right Type)


เพื่อผู้ปกครอง

Self-Interested Rule

(Wrong Type)


คนเดียว (One)


ราชาธิปไตย

(Kingship)


ทุชนาธิปไตย

(Tyranny)


คณะ (Few)


อภิชนาธิปไตย

(Aristocracy)


คณาธิปไตย

(Oligarchy)


ประชาชนทั้งหมด (Many)


"โพลิตี้"

(Polity)


"ประชาธิปไตย"

(Democracy)

 

และเขาเองก็จัดให้ "ประชาธิปไตย" อยู่ในปีกของระบอบการปกครองที่ไม่ดีเอาเสียเลย เพราะมีฝูงชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนยากคนจนมาเป็นผู้ปกครอง จุดมุ่งหมายจึงมีลักษณะจำกัดผลประโยชน์และความก้าวหน้าไว้กับกลุ่มคนจนเพียงกลุ่มเดียว โดยเขายึดมั่นว่าการปกครองแบบ "โพลิตี้" (บ้างก็เรียกว่า "ธรรมาธิปไตย" บ้างก็เรียกว่า "มัชฌิมาวิถี" สุดแท้แต่มุมมอง) เป็นแบบที่สมบูรณ์ที่สุด ด้วยเหตุผลว่าเป็นระบบที่สามารถประนีประนอมมิให้ความขัดแย้งในสังคมระหว่างคนรวยและคนจนถึงขั้นระเบิดออกมา เนื่องจากใช้กลุ่มอภิชนจำนวนมากเป็นผู้ทำการปกครอง ไม่ใช่ยอมให้ประชาชนทั้งหมดเป็นผู้ปกครองตามแนวคิด "ประชาธิปไตย" ห้วงดังกล่าว

 

จวบจนมาถึง ยุคกลาง (ค.ศ.500-1500) อิทธิพลทางความคิดของศาสนาคริสต์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรมแผ่ขยายปกคลุมไปทั่วยุโรป ความศรัทธาในศาสนจักรทำให้เหล่ากษัตริย์ต้องหันมาเชื่อฟังคำชี้นำในการปกครองของพระสันตะปาปา (Pope) เป็นอย่างมาก บรรดานักบวชในคริสต์ศาสนาต่างพากันสนับสนุนระบอบการปกครองภายใต้อำนาจศาสนจักร อาทิ St. Thomas Aquinas (1225-1274) เห็นว่า การปกครองแบบ "ราชาธิปไตย" ย่อมมีความชอบธรรมตามหลักการคำสอนของศาสนา เนื่องด้วยอำนาจสูงสุดของกษัตริย์ได้รับมอบมาจากพระสันตะปาปาอีกทอดหนึ่ง พร้อมตอกย้ำอีกว่า "ประชาธิปไตย" เป็นระบอบการปกครองที่ไม่มีความยุติธรรม เพราะเป็นการใช้อำนาจของคนชั้นต่ำหรือคนยากจน ใช่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนกลุ่มอื่นๆ ไม่

 

ทว่า เมื่อตอนสมัยพระเจ้าจอห์น (King John) ของอังกฤษ พระองค์ต้องการเงินทำสงคราม จึงบังคับให้ประชาชนเสียภาษีมากขึ้น และทำการปกครองโดยการกดขี่ประชาชน ทำให้พสกนิกรเดือดร้อนจนก่อให้เกิดการรวมกำลังต่อต้านพระมหากษัตริย์ของขุนนาง นักบวช กับราษฎร จนบังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระนามในเอกสารสำคัญ เรียกว่า มหาบัตร หรือ Magna Carta (The Great Charter) อันมีผลทำให้กษัตริย์อังกฤษไม่อาจจะอยู่เหนือกฎหมายได้อีกเลย ในปี ค.ศ.1215 นี่เองที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการจำกัดขอบเขตอำนาจของผู้ปกครอง ต่อมาก็เลยกลายเป็นพื้นฐานของระบบรัฐสภาตัวแทนแบบอังกฤษในเวลาต่อมา (ซึ่งค่อยๆ ถ่ายเทอำนาจจาก "กษัตริย์" มาเป็น "สภาขุนนาง" และลงมายัง "สภาสามัญชน" ในที่สุด เปลี่ยนแปลงไปตามดุลอำนาจระหว่างชนชั้นต่างๆ ในแต่ละบริบทเวลา)

 

นักปรัชญาคนสำคัญๆ หลังจากช่วงดังกล่าว มีไม่น้อยที่เขียนงานออกมาส่งเสริมพลังอำนาจของกษัตริย์ให้มีมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น Jean Bodin (1530-1596) เชื่อว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ และไม่มีอำนาจอื่นใดที่จะเหนือไปกว่าอำนาจดังกล่าวอีกแล้ว Thomas Hobbes (1588-1679) ก็กล่าวสนับสนุนให้กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองแบบ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" (Absolute Monarchy) เฉกเช่นกัน

 

ล่วงเลยมาถึงใน สมัยใหม่ (ค.ศ.1500-2000) หรือยุคเรอแนสซองส์ อิทธิพลของคริสต์ศาสนาลดน้อยลงเรื่อยๆ เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการนานา เช่น ช่วงศตวรรษที่ 16-17 เกิดการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ พร้อมๆ กันกับที่แนวคิด "ประชาธิปไตย" เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และกว้างขวางยิ่งขึ้นเป็นลำดับ อันเป็นผลมาจากแนวคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ตามทฤษฎี "สัญญาประชาคม" (The Social Contract) ของนักปรัชญากฎหมายและการเมืองหลายคน ณ เวลานั้น อย่างเช่น John Locke (1632-1704) เห็นว่า "...เมื่อใดที่รัฐไม่รับผิดชอบ หรือหากรัฐบาล ปฏิบัติการใดที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ เมื่อนั้นประชาชนก็มีสิทธิที่จะล้มล้างอำนาจการปกครองเหล่านั้นลงได้..."

ด้าน Rousseau (1712-1778) กล่าวว่า "...สังคมเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของมนุษย์ การที่มนุษย์ทุกคนยินยอมมารวมเป็นสังคมภายใต้เจตนารมณ์ทั่วไปนั้น ก่อให้เกิดเป็นสัญญาประชาคมขึ้น ส่งผลให้อำนาจอธิปไตยของประชาคมเข้ามาแทนที่สิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน..." ยิ่งกว่านั้น Montesquieu (1689-1755) เจ้าทฤษฎี "หลักการแบ่งแยกอำนาจ" (Separation of Powers) ได้พยายามอธิบายให้เราเห็นว่า อำนาจนั้นยั่วยวนใจ และเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ อำนาจจึงย่อมหยุดยั้งได้แต่โดยอำนาจ (Power Stop Power) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ซึ่งกันและกันขององค์กรที่ใช้อำนาจทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislature) ฝ่ายบริหาร (Executive) และฝ่ายตุลาการ (Judiciary)

 

กระทั่งในปี ค..1776 จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโลกจึงเริ่มบังเกิด นับตั้งแต่ 13 ดินแดนอาณานิคมในอเมริกาประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence) แยกตัวออกจากการเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดินิยมอังกฤษ และในปี ค..1787 ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐ (The Constitution of the United States) ขึ้นมา เพื่อวางกฎเกณฑ์การปกครองประเทศอย่างเป็นระบบระเบียบชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน ตลอดจนยังบัญญัติให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด พร้อมทั้งยอมรับในหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา และต่อมาภายหลัง จึงได้เพิ่มเติมให้มีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของราษฎร (Bill of Rights) ผนวกเข้าไว้อีกด้วย นอกจากนี้ ก็ถือเป็นการนำเอาแนวความคิดของนักปรัชญาข้างต้นที่มักถูกถกเถียงเชิงนามธรรมนำมาบัญญัติเอาไว้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เป็นต้นว่าความคิดที่ให้มีประธานาธิบดีเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งในระยะเวลาอันจำกัด ขณะที่โลกแทบทั้งใบยังคงอาศัยเจ้าผู้ปกครองแบบสืบสันตติวงศ์อยู่เลย

 

บ่อเกิดแห่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก และยังเป็นฉบับเดียวกันกับที่ชาวอเมริกันคงใช้กันอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆ เอาอย่าง ไม่ว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อ ค..1789 โดยการประกาศใช้ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of the Citizen) ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ฉบับปี ค..1791 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Universal Declaration of Human Rights) ในปี ค.ศ.1948 และถือเป็นรากฐานของหลักกฎหมายมหาชนที่ไปปรากฏอยู่ในหมวดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญต่างๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา

 

อาจกล่าวได้ว่า ภายหลังทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้น การปกครองโดย คนๆ เดียว ก็ดี หรือ การปกครองโดย คณะบุคคล ก็ดี เป็นระบบที่ไม่น่าพึงปรารถนาของคนส่วนใหญ่อีกแล้ว พิจารณาจากการที่ในช่วงศตวรรษที่ 18-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ.1848 ซึ่งกระแสการปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์กระจายทั่วยุโรป และแล้วก็ทยอยเกิดขึ้นตามมาทั่วโลก จาก "ราชอาณาจักร" (Kingdom) สู่การปกครองแบบ "สาธารณรัฐ" (Republic) ตามแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) กระแสความคิดดังกล่าวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่กับกรณีของประเทศไทย ซึ่งก็เลี่ยง "การปฏิวัติสยาม" เพื่อเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบ "ประชาธิปไตย" ซึ่งกษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยกลุ่มชนในนาม คณะราษฎร ในปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932) มิพ้นเช่นกัน

 

และเป็น Abraham Lincoln (1809-1865) ท่านนี้เองที่ทิ้งวาทะอมตะเอาไว้ไม่กี่ปีก่อนที่จะถูกลอบสังหารว่า... "ประชาธิปไตยหมายถึง การปกครองโดยรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน" ("Democracy is … government of the people, by the people, and for the people") จนกลายเป็นนิยาม (ยอดนิยม) ของคำๆ นี้ที่ผู้คนทั่วโลกเอ่ยถึงมากที่สุด

 

แต่ควรทราบด้วยว่าอารยะธรรม "ประชาธิปไตย" นั้น ถือกำเนิดขึ้นมาในระดับท้องถิ่นก่อน และการเมืองท้องถิ่นนี่เองที่เปรียบดุจผู้ให้กำเนิดแก่ระบอบประชาธิปไตยในระดับชาติเสียด้วยซ้ำ ซึ่งข้อเขียนชิ้นนี้มิได้เอ่ยถึง [3]

 

แน่นอน "รัฐสมัยใหม่" (Modern State) นับเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสถาปนาระบอบ"ประชาธิปไตย"ในปัจจุบัน ในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรัฐใหม่ๆ ทยอยเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ซึ่งรัฐต่างๆ เหล่านี้ ต่างล้วนมุ่งสู่ความเป็น "รัฐชาติ" (Nation State) ทั้งสิ้น ทว่าด้วยข้อจำกัดของความเป็นรัฐชาติเอง เฉพาะอย่างยิ่งในแง่จำนวนประชากร "ประชาธิปไตย" ตัวแทน หรือ "ประชาธิปไตย" ทางอ้อม (Representative Democracy) จึงเป็นรูปแบบอันเหมาะสมกับเงื่อนไขดังกล่าวที่สุด พร้อมๆ กันกับที่ การเลือกตั้ง (Election) ได้เริ่มถูกนำมาใช้เป็นกระบวนการทางการเมืองที่แสดงออกถึงเจตจำนงในการเลือกสรรผู้ปกครองของประชาชนอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยที่ความหมายของประชาชนแรกเริ่มเดิมทีก็ยังหาใช่ประชาชนทุกคนจะเท่าเทียมกัน เพราะก็ยังคงไม่ได้หมายความรวมถึงบรรดาไพร่ทาสทั้งหลาย คนผิวสี และผู้หญิงแต่อย่างใด (ว่ากันว่า การเลือกตั้งที่เปิดกว้างอย่างเช่นในทุกวันนี้ เพิ่งจะทยอยได้รับการยอมรับในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 20 มานี่เอง)

 

ถึงกระนั้น โลกก็เดินหน้าเข้าสู่ภาวะ "สงครามเย็น" เต็มรูป ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหภาพโซเวียต (USSR) กับสหรัฐอเมริกา (USA) นำมาซึ่งการสู้รบระหว่างกลุ่ม "สังคมนิยมคอมมิวนิสต์" กับกลุ่ม "เสรีนิยมประชาธิปไตย" เป็นสงครามตัวแทนในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก เช่น สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม

 

แต่พอถึงต้นทศวรรษ 90 ก็ไม่อาจมีสิ่งใดมาหยุดยั้งทุนนิยมได้อีกต่อไป กำแพงเบอร์ลินถูกพังทลาย สหภาพโซเวียตล่มสลาย และจากนั้น หลายๆ ประเทศที่มีผู้นำเผด็จการครองอำนาจมายาวนานก็มีอันต้องสิ้นสุดลง เกิดรัฐเอกราชใหม่ๆ ขึ้นมากมายในยุโรป พร้อมๆ กันกับคำว่า จัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) เริ่มถูกใช้ และแล้ว ตัวแสดงที่มิใช่รัฐ (อาทิ NGOs, International Organizations, Terrorists, Individuals ฯลฯ) ก็ได้เข้ามามีบทบาทมหาศาลจริงๆ จังๆ ต่อ "ประชาคมโลก" (World Community) กลายเป็นอำนาจอธิปไตยเชิงซ้อนที่ครอบงำรัฐอธิปไตยต่างๆ อยู่อย่างแนบเนียน ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนต่างๆ ของโลก

 

และที่สุด ความจำเริญทางเศรษฐกิจกับความเป็น "ประชาธิปไตย" ก็ถูกทำให้สัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น

 

อนึ่ง ในยุค หลังสมัยใหม่ (นับตั้งแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา) ทั้งคำว่า สิทธิมนุษยชน, ประชาสังคม (Civil Society), การเมืองภาคประชาชน ถูกนำไปใช้กันจนแพร่หลาย กลุ่มย่อยๆ ภายในสังคม เช่น กลุ่มรักร่วมเพศ, ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ เริ่มมีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายและการเมืองยิ่งขึ้น หากมองภาพใหญ่ นี่เป็นแนวโน้มที่จะหวนคืนกลับสู่ความเป็น "ประชาธิปไตย" ทางตรง หรือ แบบมีส่วนร่วม ยิ่งขึ้น โดยผ่านทางภารกิจการเมืองใหม่ๆ ของพลเมือง อาทิ การทำประชามติ (popular referendum), การริเริ่มกฎหมาย (popular initiative) และการถอดถอน (recall) ฯลฯ

 

เพื่อให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น เมื่อกล่าวถึง "ประชาธิปไตย" ในทางปฏิบัติแล้ว อย่างน้อยๆ ควรประกอบด้วย สถาบันการเมืองที่มีความเป็นตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่, การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างเสรีและเที่ยงธรรม, มีหลากหลายพรรคการเมืองให้ประชาชนได้เลือกกัน, ความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง, เสรีภาพในการแสดงความคิด การรวมกลุ่ม ตลอดจนสิทธิส่วนบุคคลสำคัญๆ ย่อมต้องได้รับคุ้มครอง โดยฝ่ายตุลาการที่มีความอิสระ และภายใต้มาตรการอื่นๆ ในการจำกัดอำนาจรัฐอันสมดุล [4] เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ล้วนมีแนวทางก้าวสู่ความเป็น "ประชาธิปไตย" เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ดังเช่นที่ Daniel Griswold พบว่า ในปี 2005 ประชากรร้อยละ 46 ของโลก มีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีลักษณะ "Free" หรือมีระบบการเมืองแบบเปิด และมีความเคารพต่อเสรีภาพของพลเมือง เพิ่มขึ้นจากปี 1973 ที่มีเพียงร้อยละ 35 และด้วย "Wind of Globalization" ส่งผลให้มีรัฐบาลที่เป็น "ประชาธิปไตย" มากถึงกว่าร้อยละ 64 กำลังปกคลุมโลกอยู่ ณ เวลานี้ [5]

 

ด้วยเหตุผลนานัปการดังกล่าวมาแล้ว "ประชาธิปไตย" ย่อมจัดว่าเป็นตัวเลือกเดียวของการเมืองการปกครองของโลก และถือเป็นกระแสหลักของแวดวงวิชาการสากล (ตามกระบวนการ Democratization ของโลกาภิวัตน์) อย่างที่นายอภิสิทธิ์ย้ำต่อผู้ฟังในวันนั้นว่า "ประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกประเทศในโลกนี้ รวมทั้งประเทศไทย" เสียดายก็แต่ว่า "ประชาธิปไตย" แบบ "อภิสิทธิ์" มันเป็นคนละความหมายกับ "ประชาธิปไตย" ที่สามัญชนกำลังเพรียกหา เพื่อทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่มีความหมายขึ้นมาจริงๆ

 

…………………………………………………..

 

[1] อ้างจาก "มาร์ก" ลั่นไม่ยอมให้เสียงข้างมากหักล้างความโปร่งใส ถาม "ใจ" ไม่ได้หนี แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ในhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/15920 และ การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและการโต้คารมกับนายใจ รายงานจากผู้ฟังทั้งในและนอกห้อง ทาง http://www.prachatai.com/05web/th/home/15969

[2] รายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิด มุมมอง ทัศนะวิจารณ์ ตลอดจนคำพูดของปรัชญาเมธีต่างๆ ในหัวข้อนี้ อาศัยการเรียบเรียงจากหนังสือหลายเล่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Andrew Heywood, Key Concepts in Politics, (New York: Palgrave, 2000), Gregory S. Mahler, Comparative Politics: An Institutional and Cross-National Approach, (New Jersey: Prentice Hall, 2000). เจน ชิสโฮล์ม (เขียน), นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี และคณะ (แปล), ย้อนรอยประวัติศาสตร์โลก, (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548), บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 1 วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่างๆ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, 2546), พฤทธิสาณ ชุมพล และคณะ, คำและความคิดในรัฐศาสตร์ร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), วิษณุ เครืองาม, ปรัชญารากฐานในกฎหมายมหาชน ใน กฎหมายมหาชน, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2545), อานนท์ ภักดีวงศ์, ตัวแบบ"ประชาธิปไตย": มุมมองของนักทฤษฎีการเมือง ใน รวมบทความทางรัฐศาสตร์: สังคมกับการปกครอง, (กรุงเทพฯ: ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต, 2539) เป็นต้น

[3] โปรดดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น อีกมิติหนึ่งของอารยธรรมโลก ภาคแรก: จากยุคกรีกถึงยุคทุนนิยมตะวันตก, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550).

[4] Teach Yourself, Instant Reference-Politics, (London: Helicon Publishing Ltd, 2001). pp.50-51.

[5] Globalization, Human Right, and Democracy by Daniel T. Griswold in http://usinfo.state.gov/journals/itgic/0206/ijge/griswold.htm

 

 

 

 


หมายเหตุกองบรรณาธิการ

โปรดอ่านข้อท้วงติงประกอบ "คุณภาพ" ของสื่อไทยกรณีอภิสิทธิ์ที่ Oxford โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ประชาไทขออภัยและขอบคุณในข้อท้วงติงดังกล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท