Skip to main content
sharethis

 


"ผมเห็นเขากำลังสร้างถนนสายหนึ่ง เนื้อที่ถนนกว้างขวาง บอกว่าเว้นที่ไว้สร้างรถไฟรางคู่ด้วย นึกในใจว่าถนนกว้างแบบนี้ ไปไหนมาไหนคงสะดวกขึ้น แต่ไม่รู้ว่าเขาทำทำไม" ชาติชาย บริบูรณ์ เลขานุการกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย เล่าให้ฟังอย่างนั้น 



นายชาติชาย บริบูรณ์


นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บ้านทุ่งปรัง ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช กินเนื้อที่เกือบ 20,000 ไร่ โดยโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ จะถูกสร้างขึ้นที่สิชล ส่วนโรงไฟฟ้านั้นจะสร้างที่ขนอม และจุดขุดเจาะน้ำมันถูกกำหนดไว้ที่ท่าศาลา 


"โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไม่เคยมีใครแจ้งให้ทราบเลย ผมเพิ่งมารู้ก็เมื่อตอนที่ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เชิญให้ไปร่วมสัมมนา เมื่อวันที่10 - 11 ธันวาคม 2551" เป็นคำบอกเล่าของนายทวีผล พรหมคีรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งปรัง ในฐานะประธานกลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่าย  การเข้าร่วมสัมนาครั้งนั้น ทำให้นายทวีผล เริ่มขยับและลุกขึ้นสืบหาความจริงเกี่ยวกับโครงการนี้



นายมวีผล พรหมคีรี


เมื่อได้เห็นเอกสารว่าโครงการนี้มีความเป็นมาอย่างไร ก็เริ่มลงมือพูดคุยกับชาวบ้านในช่วงต้นปี 2552 และมารู้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเรียกชาวบ้านประชุม  ข้อมูลล่าสุดหลังจากที่ผู้ใหญ่บ้านทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่กี่เดือน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร สรุปในที่ประชุมว่า บริษัททีมคอนซัลติ้ง เอนจีเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ได้ทำข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง และสั่งให้บริษัทดังกล่าวไปทำการสำรวจข้อมูลใหม่อีกครั้ง


"ตอนที่บริษัทเข้ามาทำการสำรวจ ชาวบ้านแทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เขาก็เลือกสุ่มเอา ประมาณ 10 คน หลังจากที่เขาสำรวจข้อมูลไปแล้ว ชาวบ้านยังงงอยู่และถามกันไปถามกันมา ตกลงว่าจะเอายังไงกันดี" ชาติชายเสริม 


ชาติชายเล่าย้อนหลังให้ฟัง ถึงสาเหตุที่ออกมาต่อต้านการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมครั้งนี้ว่า หลังจากที่กลุ่มรักษ์ทุ่งปรังและเครือข่ายร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พาชาวบ้านประมาณ 50 คนไปศึกษาดูงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปเห็นกับตาขอบอกว่ารับไม่ได้จริงๆ เพราะชาวบ้านอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ 


ที่แปลกใจไปมากกว่านั้น เมื่อชาวบ้านที่ไปศึกษาดูงานด้วยกันเล่าให้ฟังว่า ไม่เห็นเหมือนตอนที่บริษัทธีมฯพามาดูเลย ตอนนั้นอะไรก็ดูดีไปหมด เขาพูดแต่เรื่องดีๆ จนชาวบ้านคล้อยตาม เพราะเขาให้ชาวบ้านนั่งอยู่แต่บนรถ ห้ามถ่ายรูป ห้ามใช้โทรศัพท์ ให้ดูและฟังอย่างเดียว พอชาวบ้านไปครั้งนี้ ชาวบ้านก็รู้ว่าถูกหลอกจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราลุกขึ้นต่อต้าน


โดยการจัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้าน เป็นกลุ่มย่อย ในเรื่องของผลดีผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากมีนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์เอกสารและป้ายรณรงค์ต่างๆ  ในการสัมนาแผนพัฒนาภาคใต้ ทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยมาบตาพุด ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 ถึงแม้นายสุวัฒน์ วาณีสุบุตร ที่ปรึกษาด้านโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการสภาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พูดถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมทั้งดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงการปรับปรุงแก้ไขแผนพัฒนาใหม่โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม อยู่ดีกินดี แต่ชาติชายและผู้ใหญ่บ้านทวีผล ก็ไม่ปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์


"ผมว่าเราคงต้องรอดูว่าทางสภาพัตน์จะเอายังไง แต่ถ้ามีการดำเนินการเพื่อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้น พวกเราจะสู้จนถึงที่สุด" ชาติชายกล่าว  ชาติชายยังยืนยันว่า เราไม่ได้ขัดขวางการทำงานและการพัฒนาประเทศชาติ แต่เราอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตระหนักเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net