การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดและการโต้คารมกับนายใจ รายงานจากผู้ฟังทั้งในและนอกห้อง

การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ็อกซ์ฟอร์ด: รายงานจากผู้ฟังในห้อง

วันที่ 16 มี.ค 2552

 

ประชาไทแปลและเรียบเรียงจากรายงานที่นำเสนอในเว็บไซต์นิวแมนเดลา ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

 

http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2009/03/16/abhisits-talk-in-oxford-from-the-inside/#more-4540

 

เช้าวันเสาร์ที่ 14 มี.ค 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เดินทางมากล่าวสุนทรพจน์ที่ห้องประชุมวิทยาลัยเซนต์จอห์น แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด เขาได้รับการต้อนรับเมื่อมาถึงโดยกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงที่มารอพบอยู่ด้านหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องประชุม ทุกคนต่างก็อยากจองที่นั่งของตัวเอง คนที่มาร่วมฟังประกอบไปด้วยนักศึกษามหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย) นักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ และบรรดาแขกรับเชิญของสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ฟัง

 

ห้องประชุมของวิทยาลัยเซนต์จอห์นนั้นไม่สู้จะกว้างใหญ่ จุคนได้ไม่ถึง 200 ที่นั่ง นอกจากผู้ฟังดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีบรรดาศาตราจารย์ของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และนักศึกษาชาวต่างประเทศที่มานั่งฟังด้วย ที่จริงแล้วห้องประชุมเต็มตั้งแต่การพูดยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ บางคนที่ได้สำรองที่นั่งไว้แล้ว ไม่สามารถเข้าไปฟังได้ (เหมือนอย่างนักเขียนให้กับเว็บนิวแมนเดลาคนนี้ - ดูรายงานประกอบด้านล่าง) พวกเขาส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไทยที่มีส่วนช่วยเหลือในการจัดงานครั้งนี้

 

นายจอห์น ฮูด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และท่านเซอร์ไมเคิล สกอลาร์ ประธานของวิทยาลัยเซนต์จอห์น เป็นผู้กล่าวแนะนำนายอภิสิทธิ์ ว่าเป็นศิษย์เก่าที่อ๊อกซ์ฟอร์ดภูมิใจ และยังได้กล่าวถึงประวัติของนายอภิสิทธิ์ในฐานะที่เคยเป็นอดีตประธานองค์กรนักศึกษาอ๊อกซ์ฟอร์ด และอดีตประธานสโมสรนักศึกษาระดับปริญญาตรีของวิทยาลัยเซนต์จอห์น

 

นายอภิสิทธิ์เริ่มการพูด โดยกล่าวว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษตั้งแต่ที่เขายังเป็นนักศึกษาที่อ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีการพัฒนาและประชาธิปไตยที่เบ่งบาน เขาบอกว่า "สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ก็คือการที่ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึก" เขายกตัวอย่างว่า ครั้งล่าสุดที่พรรคประชาธิปัตย์ของเขาอยู่ในอำนาจ สื่อมวลชนมีเสรีภาพสูง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเสรีภาพของสื่อเริ่มน้อยลงเมื่อพรรคของเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาตั้งคำถามว่า "นี่เท่ากับว่าประชาธิปไตยไทยเดินถอยหลังหรือเปล่า" ซึ่งเขาตอบคำถามนี้ว่า วัตถุประสงค์ของการพูดของเขาในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะโน้มน้าวใจผู้ฟังว่า ถึงแม้จะล้มลุกคลุกคลานมาบ้าง แต่ "ประชาธิปไตยไทยยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง"

 

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ ได้เล่าถึงความยากลำบากที่ประชาธิปไตยไทยได้ผ่านมา เขาบอกว่าคนไทยนั้น ต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการถอยหลังของประชาธิปไตย พร้อมกับบอกว่า เขานั้นได้อุทิศตนเพื่อที่จะ "ทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่อำนาจเขามี ในการที่จะทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าและมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะมีปัญหาอุปสรรค หรือความท้าทายใดๆ รออยู่ก็ตาม"

 

เขายังเล่าถึงการตอสู้ของประชาธิปไตยไทย โดยยกประสบการณ์ของตัวเองว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งตอนนั้นเขายังเป็นเด็ก 9 ขวบนั้น ได้ทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจถึง "ความมุ่งมั่นของคนไทยที่จะยอมสละแม้ชีวิตเพื่อต่อสู้กับทรราช สำหรับที่อื่นๆแล้วประชาธิปไตยเหมือนเป็นสิ่งที่คนยึดถือว่าคงอยู่เป็นปกติ แต่สำหรับคนไทยแล้ว ไม่ใช่"

 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้จุดประกายให้เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นนักการเมือง เพราะเขาเชื่อว่า นั่นเป็นหนทางเดียวที่จะนำประชาธิปไตยมาสู่เมืองไทย อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของเหตุการณ์ในครั้งนี้มีอายุสั้นนัก เพียงสามปีหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทำให้ทหารกลับมาครองอำนาจ ในช่วงนั้นเขาเป็นนักศึกษาในประเทศอังกฤษ จากประสบการณ์ทำให้เขาตระหนักว่าประชาธิปไตยนั้น"เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกประเทศในโลกนี้ รวมทั้งประเทศไทย"

 

จากนั้น นายอภิสิทธิ์เล่าถึงประสบการณ์ที่เขาเป็นนักการเมืองหนุ่มในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งเขาบอกว่าการลุกฮือขึ้นของประชาชนในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้คนไทยรวมตัวกันและเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ผลก็คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีความตั้งใจที่ดีในการสร้างอำนาจบริหารที่เข้มแข็ง แต่ก็คาดคิดไม่ถึงว่าจะมีการบิดเบือนประเด็นนี้ โดยนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาซึ่งใช้อำนาจไปในทางที่ผิด รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้คาดคิดว่า "เสียงส่วนใหญ่ในสภาและอำนาจบริหารจะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายความโปร่งใส่และหลักธรรมาภิบาล โดยแรงหนุนจากนโยบายประชานิยม เสียงส่วนใหญ่นี้ ได้กลายเป็นรากฐานของวิถีอำนาจนิยมโดยรัฐบาล และด้วยเหตุนั้น ได้นำมาซึ่งการทุจริต คอรัปชั่นอย่างกว้างขวางและการไม่เคารพหลักนิติรัฐ"

 

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ที่สังหารประชาชนในภาคใต้ และในสงครามยาเสพติด ข้อดีเพียงประการเดียวในขณะนั้น ก็คือการที่ประชาชนในชนบทมีความเข้มแข็งขึ้น อย่างน้อยก็ในทางการเมือง ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยม

 

เขาระบุว่า แนวโน้มของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนไม่พอใจ และออกมาประท้วงบนท้องถนน ประชาชนกังวลใจ เพราะรัฐบาลทำตัวเหนือกฎหมายโดยอ้างความชอบธรรมของเสียงส่วนใหญ่ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมกองทัพถึงต้องทำรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ซึ่งทำให้"ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกโล่งใจและสบายใจ"

 

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่ยังคงมีอยู่ เป็นตัวกดดันให้กองทัพต้องให้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในหนึ่งปี คำสัญญานี้และข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพต้องจัดให้มีการทำประชามติสำหรับรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยยังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีการแทรกแซงโดยทหารก็ตาม เขาอ้างว่า จากนี้ไป กองทัพจะต้องคิดหนักขึ้นก่อนที่จะใช้วิธีการนี้เพื่อเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง

 

เขากล่าวว่า รัฐบาลที่ได้มาหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ประสบปัญหามากมาย ซึ่งในความเห็นของเขาแล้ว เป็นผลมาจากการที่พรรคการเมืองนี้ (พรรคพลังประชาชน) ขาดความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เขากล่าวว่า"ในที่สุด ภายหลังที่ศาลตัดสินว่ารัฐบาลใช้อำนาจในทางที่ผิดและมีการทุจริตในการเลือกตั้ง รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ได้ตัดสินใจที่จะยุติความวุ่นวาย และเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงได้ออกเสียงเลือกให้พรรคของผมได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลผสม"

 

เขาอ้างว่า "ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังกลับคืนสู่แนวทางที่ถูกต้องของประชาธิปไตย และผมมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า ความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไทยต้องได้รับการสานต่อ"

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำถึงพันธกิจของเขาที่มีต่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใส

ธรรมาภิบาล การเคารพสิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ "เราไม่จำต้องเสียสละสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะแลกกับการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่"

 

เขากล่าวว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการเมืองเพื่อที่จะสร้างประชาธิปไตยเสรีภายใต้ระบอบกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งการปฏิรูปที่ว่านั้น ควรจะให้อำนาจนำทางการเมืองในการจัดสรรนโยบายแห่งชาติเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาธิปไตยไทยจะต้องตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจของประชาชน พร้อมกับย้ำถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งสนับสนุนความเท่าเทียมและการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ยากไร้

 

นายอภิสิทธิ์ยังได้กล่าวว่าประสบการณ์ประชาธิปไตยของไทยจะมีค่ายิ่งต่อประเทศอื่นๆ และว่าในขณะนี้ทั้งไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆมีความริเริ่มร่วมกันหลายอย่างในการที่จะพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ จากนั้น เขากล่าวประโยคเด็ดที่หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับนำไปพูดถึงคือ "ผมไม่อาจพูดได้อย่างแน่ชัดว่า ประชาธิปไตยไทยได้ก้าวไปไกลขนาดไหนแล้ว และก้าวไปอย่างรวดเร็วเพียงใด แต่จากประสบการณ์ในประเทศตะวันตกจำนวนไม่น้อย กว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาสมบูรณ์แบบ ก็ใช้เวลามากกว่าร้อยปี คนไทยเองต่างได้ตระหนักถึงความจำเป็นของประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดเวลาที่ผ่านมา 75 ปีนับตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะไม่ยอมให้เกิดการเดินถอยหลังอย่างแน่นอน"

 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่าเขา"มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำงานเพื่อประชาชนไทย เพื่อที่อุดมการณ์เชิงอุดมคติอย่างประชาธิปไตยที่ประชาชนได้ต่อสู้และแลกมาด้วยชีวิต อุดมคติที่ได้จุดประกายฝันให้กับเด็กวัยเก้าขวบเกี่ยวกับอาชีพในอนาคตของเขา จะต้องเป็นมากกว่าเพียงคำพูดสวยหรูบนกระดาษ"

 

ในตอบจบ นายอภิสิทธิ์ได้ยกเอาคำขวัญของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดที่ว่า "อ๊อกซ์ฟอร์ดเป็นดั่งแสงสว่างส่องนำทางผม ให้เป็นผู้มีเกียรติ ในความหมายที่ว่า ไม่เพียงแต่ต้องทำสิ่งต่างๆให้ดี แต่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้องด้วย สำหรับตัวเอง สำหรับประเทศของผม และเหนือจากนี้ ซึ่งรวมทั้งความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในเมืองไทย"

 

หลังการพูด เป็นช่วงของคำถามคำตอบ ซึ่งมีผู้ฟังหลายคนถามนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องกรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ฟังคนแรกที่ถามคำถามคือรองศาสตราจารย์ ไจลส์ ใจ อึ้งภากรณ์ ซึ่งพูดว่าเขาเองถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หลังจากที่เขาเขียนหนังสือทางวิชาการ นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกหลายคนในเมืองไทยที่ถูกตั้งข้อหาเดียวกันโดยไม่ยุติธรรม

 

นายไจลส์ ยังได้วิจารณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่อาศัยการแทรกแซงของกองทัพ เพื่อขึ้นสู่อำนาจ (โดยการล็อบบี้สส.บางกลุ่มเพื่อให้สนับสนุน) และยังเอาคนที่เคยร่วมประท้วงปิดสนามปิดมาร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล ทั้งยังละเลยไม่ลงโทษผู้นำกองทัพที่สั่งการให้เกิดการสังหารประชาชนที่อ.ตากใบ ในตอนท้ายนายไจลส์ ยังถามว่านายอภิสิทธิ์กล้าจะโต้วาทีสดๆกับเขาทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติหรือไม่

 

นายอภิสิทธิ์ตอบคำถามนายไจลส์ โดยกล่าวว่า การที่เขายอมตอบคำถามแบบของนายไจลส์ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาเป็นนักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้าหากเป็นคนประเภทแบบที่นายไจลส์ชื่นชมในตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าจะยอมรับคำถามแบบนี้หรือไม่

 

นายอภิสิทธิ์ ตอบโต้ว่าข้อมูลของนายไจลส์ว่า กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายกรณี ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของเขา แต่เกิดในช่วงที่ทักษิณ และคนอื่นๆ เป็นรัฐบาล ตัวของนายอภิสิทธิ์เองเคยถูกตั้งข้อหานี้เช่นเดียวกันในช่วงรัฐบาลทักษิณ แต่ตำรวจก็ต้องยกข้อกล่าวหา เพราะว่าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนที่เป็นประชาธิปไตยต้องเคารพกฎหมายและต้องไม่หลบหนีกฎหมาย เขาเชื่อว่าข้อกล่าวหาต่อนายไจลส์ นั้นชอบแล้ว เพราะว่านายไจลส์กล่าวหาว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหาร (ซึ่งเป็นสิ่งที่นายไจลส์จะต้องพิสูจน์ให้ได้) ซึ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์พูดถึงตอนนี้ นายไจลส์ย้อนถามว่า ในส่วนใดของหนังสือของเขาที่ระบุเช่นนั้น นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เขาไม่ได้ดูในรายละเอียด แต่เขาได้อ่านหนังสือของนายไจลส์แล้ว และก็มีคนบอกเขาว่า นายไจลส์ได้กระทำการกล่าวหาบางประการโดยเฉพาะเจาะจง

 

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวในเชิงปกป้องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยบอกว่ามีกฎหมายเช่นเดียวกันนี้ในประเทศยุโรปบางประเทศ ซึ่งมีสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเร็วๆนี้ก็มีคนถูกจำคุกในประเทศยุโรปประเทศหนึ่งด้วยกฎหมายที่คล้ายกันนี้ ดังนั้นกฎหมายโดยตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย "ถ้าหากคุณไปพูดแบบนี้ หรือกล่าวหาคนทั่วไปแบบนี้ คุณก็จะถูกฟ้องศาลเช่นกัน สิ่งที่กฎหมายทำก็คือการคุ้มครองราชวงศ์ในแบบเดียวกับที่กฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครองคนทั่วไป"

 

นายอภิสิทธิ์ โต้แย้งว่าข้อแตกต่างระหว่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกฎหมายหมิ่นประมาทคนทั่วไป (กฎหมายฉบับแรกนั้นเปิดให้ใครก็ได้ฟ้องคดีต่อตำรวจ) เนื่องจากราชวงศ์ไทยนั้นเป็นสถาบันที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และอยู่เหนือความขัดแย้ง และเป็นสถาบันที่ได้รับความเคารพศรัทธาโดยประชาชนไทย และเป็นเสาหลักของความมั่นคงแห่งชาติ ดังนั้นกฎหมายจึงไม่ต้องการให้สถาบันกษัตริย์ต้องมาฟ้องร้องคดีต่อประชาชน

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีคนหลายคนถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกำลังต่อสู้คดีอยู่ หลายกรณีก็ได้รับการยกฟ้อง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ทิ้งไพ่ตายด้วยการกล่าวว่า "มีคนหลายคนต่อสู้คดีนี้อยู่ในประเทศ เพราะเชื่อว่าพวกเขาบริสุทธิ์ โดยไม่หลบหนีข้อกล่าวหา" ซึ่งนายไจลส์กล่าวสวนว่า "ผมไม่ได้หลบหนีข้อกล่าวหา" และนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมก็ไม่ได้พูดว่าคุณหนีนี่" ซึ่งได้รับการปรบมือเสียงดังจากผู้ฟัง

 

จากนั้นนายไจลส์เอ่ยถามว่านายอภิสิทธิ์จะโต้วาทีทางโทรทัศน์กับเขาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเขาจะโต้วาทีกับนายไจลส์ในเมืองไทยเท่านั้น เพราะนายไจลส์ต้องอยู่ภายใต้กฏหมายเช่นเดียวกับประชาชนไทยคนอื่น

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประเทศไทย ที่ยืนยันว่าจะต้องไม่มีการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปใช้ในทางที่ผิด เขาเองได้ปรึกษาเรื่องนี้กับอธิบดีกรมตำรวจและย้ำว่าต้องให้ความเป็นธรรมและต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ นอกจากนี้เขากำลังดำเนินการที่จะรวบรวมบรรดานักวิชาการเพื่อมาร่วมพูดคุยถกเถียงกันว่าจะบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไรดี เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ไม่เพียงเท่านี้ เขายังได้ดำเนินการเช่นเดียวกันกับกฏหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์และอิเลคโทรนิคส์ โดยเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เชิญกลุ่มที่เรียกว่า เน็ทติเซ่น (Netizen) มาพบสองครั้งแล้ว เพื่อที่จะหารือป้องกันการแสดงข้อความที่ผิดกฎหมายทางเว็บไซท์ต่างๆ

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบนายไจลส์ในตอนท้ายว่า "โปรดหยุดดึงเอาสถาบันกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันนั้นอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง และเราควรจะคงสถาบันซึ่งเป็นที่เคารพรักของคนไทย ไว้ให้เป็นกลางและไม่เข้าข้างฝ่ายใด และอยู่เหนือความขัดแย้งทุกอย่างในประเทศไทย ถ้าคุณมีปัญหากับผม ก็ให้ถกเถียงกับผม แต่อย่าดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาในความขัดแย้ง" หลังกล่าวประโยคนี้จบ นายอภิสิทธิ์ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ฟังอีกครั้ง

 

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวอีกว่า เขาตั้งใจที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมในการรื้อฟื้นการสอบสวนในคดีอื่นๆ อาทิเช่น กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร รวมไปถึงการตั้งข้อกล่าวหากับผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ตากใบ

 

สำหรับเรื่องรัฐประหาร นายอภิสิทธิ์กล่าวเช่นกันว่า เขาเป็นนักการเมืองคนแรกที่ประณามรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ.2549 ส่วนเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น เขาก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในช่วงกว่าสิบปีที่ยอมให้มีเวลาออกอากาศทางโทรทัศน์สำหรับพรรคฝ่ายค้าน แต่ปัญหาก็คือ พรรคฝ่ายค้านเองยังหาผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้เลย คำพูดของนายอภิสิทธิ์ทำให้ผู้ฟังปรบมืออีกครั้ง

 

หลังจบการถามตอบกับนายไจลส์ มีผู้ฟังคนอื่นๆตั้งคำถามเพิ่มเติมกับนายอภิสิทธิ์ มีผู้ชายไทยคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการไม่ถูกต้องที่จะบอกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น เป็นเสมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป เพราะว่ากฎหมายหมิ่นฯนั้น มีความซับซ้อนกว่ามาก เขายังถามด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนสิทธิและเสรีภาพเพื่อความมั่นคงแห่งชาติมากน้อยเพียงใด ซึ่งนายอภิสิทธิ์ตอบว่า เขาเองเป็นผู้ที่ยับยั้งไม่ให้สมาชิกคนอื่นๆ ในพรรค เพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายนี้ เขายอมรับว่ากฎหมายอาจถูกตีความให้ครอบคลุมกิจกรรมหลายๆอย่าง และเขาพร้อมที่จะถกเถียงว่าทำอย่างไรกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงจะมีการบังคับใช้อย่างเหมาะสม และเป็นไปเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์

 

ส่วนข้อกล่าวหาต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์อธิบายว่า ข้อกล่าวหานี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นภายหลังจากที่นายกษิต ภิรมณ์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหลังเกิดเหตุการณ์ยึดสนามบิน ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่า ข้อกล่าวหามีเหตุจูงใจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่า ทุกๆคนควรจะมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างชอบธรรม ไม่ว่าเขาจะนิยมเสื้อสีใดก็ตาม

 

ผู้หญิงไทยคนหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมแกนนำของพันธมิตรยังไม่ถูกดำเนินคดี ถึงแม้ว่าพวกเขาจะละเมิดหลักกฎหมายในทุกด้านในการปิดสนามบิน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาได้แนะนำให้ตำรวจเร่งคดีนี้ "ตอนนี้พวกตำรวจกำลังเตรียมออกหมายจับในกรณีการยึดทำเนียบรัฐบาล ผมได้รับรายงานจากตำรวจอยู่สม่ำเสมอ และผมก็ได้รายงานต่อรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีปิดสนามบิน ครั้งล่าสุดที่ตำรวจรายงานสองสัปดาห์ก่อน รายงานได้เสร็จสิ้นไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าจะมีการดำเนินคดีในเร็วๆ นี้" เมื่อผู้หญิงคนนี้ถามย้ำอีกว่าให้บอกชัดๆ ได้หรือไม่ว่าเมื่อไหร่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตำรวจบอกว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักสองสามสัปดาห์

 

บางคำถามจากผู้ฟัง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างประเทศอาเซียน รวมทั้งประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาและผู้นำชาติอาเซียนอื่นๆได้ตกลงจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับอาเซียน ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่าองค์กรนี้จะดำเนินการส่งเสริมให้คนตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

หญิงสาวไทยใส่เสื้อเหลืองคนหนึ่งถามนายอภิสิทธิ์ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวชนบทตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางที่ดีที่สุด นายอภิสิทธิ์ตอบว่า เขาคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงคุณค่าของประชาธิปไตย พรรคการเมืองตอนนี้ต่างพากันแข่งขันกันในทุกด้านเพื่อที่จะให้ได้รับเลือกตั้ง "ผมไม่ห่วงเรื่องประชาชนจะไม่ปกป้องประชาธิปไตย" เขากล่าวด้วยว่า แม้ว่าประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นระบบการปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่ จะเป็นที่เข้าใจกันดี "แต่สิ่งที่ยังไม่เข้าใจกันก็คือ ในระบบประชาธิปไตยเสรีที่แท้จริง รัฐบาลทุกรัฐบาลมีอำนาจจำกัด ดังนั้น ที่เข้าใจกันว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองเสียงข้างมากในแง่ที่หมายถึงว่ามีอำนาจไม่จำกัดนั้น จึงเป็นการเข้าใจผิด" นายอภิสิทธิ์อธิบายด้วยว่าฝ่ายอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายตุลาการต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความสมดุลสำหรับการมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

 

หญิงสาวชาวต่างประเทศคนหนึ่งถามว่า ถ้าเธออยู่ในประเทศไทย แล้วเขียนบทความว่า สถาบันกษัตริย์นั้นเป็นสถาบันXXXXXX  เธอจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ขึ้นอยู่กับว่าเธอได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ ต่อสถาบันกษัตริย์หรือไม่ และว่าตัวเขาเองก็ต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีขอบเขตครอบคลุมถึงอะไรบ้าง หญิงสาวคนเดิมถามซ้ำว่า แล้วถ้าไม่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนเล่า นายอภิสิทธิ์ตอบว่า ถ้าหากเป็นเขา วิพากษ์วิจารณ์โดยชอบ เขาก็สามารถที่จะต่อสู้ในศาลได้

 

ผู้ฟังคนหนึ่งถามเกี่ยวกับข่าวที่ทหารไทยปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาอย่างไร้มนุษยธรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเขากำลังสืบสวนเรื่องนี้อยู่ และว่าเขาและผู้ที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนยังไม่พบว่ามีกรณีการทำร้ายอย่างที่สื่อมวลชนกล่าวหา "ผมถามนักข่าวที่ถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีหลักฐานไหม ผมจะได้สืบสวนเพิ่มเติม พวกเขาก็ไม่ได้ตอบว่ากระไร"

 

ในตอนท้าย ชายชาวไต้หวันคนหนึ่งถามนายอภิสิทธิ์ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า บทบาทและอำนาจของทหารจะถูกจำกัดและจะไม่มีการรัฐประหารอีก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเขาคิดว่าอำนาจทหารในการเมืองไทยได้เริ่มลดน้อยลงไปบ้างแล้ว และที่ทหารทำรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาก็เพราะว่ารัฐบาลทักษิณนั้นได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย "ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้ทหารกลับเข้ามาอีก"

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวปิดการพูดของเขา โดยบอกว่าเขาเชื่อว่ากองทัพได้เรียนรู้บทเรียนที่แสนยาก และตอนนี้"ขึ้นกับนักการเมืองที่จะต้องทำดูแลและปกป้องประชาธิปไตย"

 

การพูดของอภิสิทธิ์ที่อ๊อกซ์ฟอร์ด: รายงานจากด้านนอกห้องประชุม

วันที่ 16 มี.ค 2552

โดยนิรนาม ณ อ๊อกซ์ฟอร์ด

http://rspas.anu.edu.au/rmap/newmandala/2009/03/16/abhisits-talk-in-oxford-from-the-outside/

 

ฉันเสียใจมากที่ไม่ได้เข้าไปฟังนายอภิสิทธิ์พูดตอนเช้าวันเสาร์ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น ฉันมาถึง 15 นาทีก่อนงานเริ่ม ห้องก็เต็มแล้ว ดูเหมือนว่ามีคนต้องการฟังมากเกินไป (ทั้งที่เราเองได้ลงทะเบียนล่วงหน้ากับภาควิชารัฐศาสตร์ตามที่ได้รับการแนะนำแล้ว) นอกจากฉัน ก็ยังมีคนยืนรอคิวจะเข้าไปฟังในห้องอีกราว 40 คนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปฟัง

 

ไม่ว่าการพูดจะเป็นอย่างไรก็ตาม มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาประท้วงราวยี่สิบกว่าคนที่ชูป้ายต่อต้านอภิสิทธิ์และเรียกร้องประชาธิปไตย มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีคนหนึ่งยืนเฝ้าประตูทางเข้าอยู่ กำลังต่อปากต่อคำกับคนที่ถามว่าทำไมไม่ให้พวกเขาเข้าไปในห้อง ทั้งที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้แล้ว นักวิชาการบางคนจากวิทยาลัยแมนส์ฟิวลด์ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปฟัง พูดอย่างมีโมโหว่า"เหตุผลเดียวที่พวกเราถูกห้ามไม่ให้เข้าไป เพราะว่าเขาไม่ต้องการตอบคำถามของเรา จริงๆแล้วเขาไม่เคยเชื่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็น"

 

มีการแจกจ่ายใบปลิวที่ลงชื่อโดยนายไจลส์ (อึ้งภากรณ์) และจั่วหัวว่า "เซนต์จอห์นไม่ควรจะเชิญนายกรัฐมนตรีของไทยมาพูด เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนการปราบปรามประชาธิปไตย" ในตอนท้ายของใบปลิวระบุว่า:

 


"สงครามกลางเมืองกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นสงครามชนชั้นระหว่างคนรวยและคนจน พวกเสื้อเหลืองนิยมเจ้าเป็นตัวแทนของพวกชนชั้นนำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ภาคประชาสังคมแบบใหม่กำลังก่อกำเนิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเพื่อ ประชาธิปไตยของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อการเป็นสาธารณรัฐ เป็นตัวแทนของคนไทยหลายล้านคน เราต้องกำจัดอิทธิพลของทหารในสังคม ปฏิรูประบบตุลาการและตำรวจ และต้องขยายเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า เราต้องXXXXXXX XXXXX เพราะ XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX XX XXXX XXX XXX      XXXX"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท