Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
ที่มา
: ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนฉบับที่ 11 (16 มีนาคม 2552)

แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ประเทศไทย จะผ่านพ้นไปเกือบหนึ่งเดือนแล้ว
ก็ตาม แต่ยังมีบางประเด็นที่ทำให้ผู้เขียนไม่สบายใจ และอดไม่ได้ที่จะต้องใช้เวทีแห่งนี้สื่อสาร
ผ่านข้อกังวลดังกล่าว  ถ้าย้อนกลับไปดูที่แถลงการณ์ของประธานอาเซียน
[1] และจากแถลงการณ์เวทีอาเซียนภาคประชาชน ครั้งที่สี่ [2] พบว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับ ต่างหยิบยกประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่ามาเป็นวาระสำคัญ อย่างไรก็ตามแม้ประเด็นพม่า
หลายเรื่องจะถูกหยิบยกกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่กลับพบว่าบางประเด็นที่เร่งด่วน (กว่า) และเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนาน คาบเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และประเด็นทางการเมืองพม่ามายาวนาน
หลายสิบปี ได้หายไปอย่างน่าแปลกใจ ทั้งในส่วนของฟากรัฐบาลและฟากประชาชน

หนึ่งในนั้นคือเรื่อง "คน" ใน "ประเทศพม่า" ที่ถูกเรียกว่า "ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs)" และ "ผู้ลี้ภัย (Refugees)"  ทั้งผู้ลี้ภัยในค่าย และผู้ลี้ภัยนอกค่าย ประชาชนกลุ่มเหล่านี้อาศัยอยู่ตามชายแดนพม่า-ไทยเป็นจำนวนกว่าครึ่งล้าน ซึ่งไม่ใช่มีแค่ประชาชนชาวโรฮิงญาเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและสถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากพม่า เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยทันที  ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการทำให้ประเทศพม่าเดินหน้าไปสู่ความสมานฉันท์และความเป็นประชาธิปไตยเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาว ต่อเนื่อง และใช้เวลายาวนาน

วันนี้เองภาพของกองทัพพม่าที่มีทหารจำนวนหลายหมื่นนาย ประจำการอยู่ในรัฐต่างๆ ของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ การวางกับระเบิด การสู้รบกันทุกครั้งเมื่อฤดูร้อนมาถึงนี้ยังไม่รวมถึงการบังคับใช้แรงงานทาส การรีดไถ การยึดที่ดิน ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อการพลัดถิ่นฐานของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างมหาศาล ชีวิตในป่าต้องดำรงอยู่ท่ามกลางการขาดปัจจัย 4 ขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ที่พัก ยารักษาโรค

สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ที่อาเซียนไม่ควรเพิกเฉยต่อการให้ความช่วยเหลือ และหาหนทางคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน กี่ครั้งแล้วที่รัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะพูดคุยอย่างจริงจังถึงการละเมิดของตนเองและรัฐบาลพม่าต้องยุติการกระทำดังกล่าวลง ครั้งหนึ่งในช่วงเจรจาหยุดยิงระหว่าง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ภายใต้การนำของนายพลโบเมียะ กับรัฐบาลพม่า ประเด็นที่น่าสนใจในการเรียกร้องของ KNU ตอนที่จะทำสัญญาสันติภาพครั้งนั้น คือ ให้รัฐบาลพม่ายุติการหยุดยิงโดยทันที และจัดการเรื่องผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) เป็นอันดับแรก โดยต้องให้ IDPs ทุกคนสามารถกลับบ้านของตนเอง ตั้งถิ่นฐานใหม่ให้ได้ก่อน ส่วนการเจรจาในเรื่องอื่นๆ ยังมิพักต้องกล่าวถึงในตอนนี้ การจัดการเรื่อง IDPs ถือเป็นการแสดงความจริงใจอย่างยิ่งของรัฐบาลพม่าที่มีต่อประชาชน

สำหรับผู้ลี้ภัยจากพม่าที่อาศัยในค่าย 9 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย - พม่า พบสถานการณ์ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาใหม่ กลับมิได้ทำให้ตัวเลขผู้ลี้ภัยลดลง ปัญหาเร่งด่วนที่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้เผชิญ คือ การไม่มีอาหารดำรงชีวิตในแต่ละวันอย่างเพียงพอ จากรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิคนข้ามชาติจากประเทศพม่าในประเทศไทยปี 2551 ขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ก็ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามแจกข้าวให้กับผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียนและผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่ นอกจากนั้นกรณีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของผู้ลี้ภัยที่เป็นไปได้ยาก ก็เป็นปัญหาที่เร่งด่วนไม่แพ้กัน

ในประเด็นผู้ลี้ภัยนอกค่าย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวไทยใหญ่ ชาวปะโอ ชาวมอญ ที่ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งไทยให้พักพิงอย่างปลอดภัย ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ต่างเป็นผลมาจากสงครามและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพม่า เช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและคะเรนนี ประชาชนกลุ่มนี้ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนตามแนวชายแดน อยู่อย่างผิดกฎหมาย ขาดการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ  โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ การศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านอื่นๆ หลายครั้งที่ประชาชนกลุ่มนี้ถูกผลักดัน ส่งกลับ ถูกบังคับให้โยกย้ายออกจากพื้นที่

 

คำถามสำคัญ คือ เกิดอะไรขึ้น ? เมื่อเรื่องดังที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ถูกหยิบยกมากล่าวถึง

ผู้เขียนได้ลองพยายามแสวงหาคำตอบบางประการ เพื่อชี้ให้เห็นว่าที่บางประเด็นหายไป เพราะมีปัจจัยหลายประการที่ปราศจากการคำนึงถึง [3]

คำตอบที่ 1: เพราะอาเซียนมักเลือกให้ความสำคัญกับพม่าในประเด็น "การค้า" มากกว่า "ชีวิตคน" นับตั้งแต่ปี 2540 ที่อาเซียนรับประเทศพม่าเข้าเป็นสมาชิกในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลทหารพม่าได้รับการสนับสนุนเห็นใจ รวมถึงได้รับการปกป้องจากอาเซียนมาโดยตลอด แม้ว่าพม่าได้สร้างปัญหาให้กับอาเซียนเสมอมา ทั้งการกักขังนางอองซาน ซูจี การคุมขังนักโทษการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างร้ายแรง แต่ที่ผ่านมาอาเซียนก็ยังยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของพม่ามาโดยตลอด กล่าวได้ว่า การไม่แทรกแซงกิจการภายใน เป็นเพราะการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ เช่น ไทย สิงค์โปร์  มาเลเซีย ล้วนมีผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลในพม่า จนอยู่ในสภาพน้ำท่วมปาก แม้เห็นชีวิตประชาชนเบื้องหน้าต้องสูญสิ้นก็ตาม

คำตอบที่ 2: การเลือกให้ความสำคัญเพียงเรื่องเฉพาะหน้าเท่านั้น ดังเช่น กรณีโรฮิงญา จากเหตุการณ์การอพยพของประชาชนโรฮิงญา อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า เป็นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2551 ต่อกับต้นเดือนมกราคม 2552 ทำให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นวาระเร่งด่วนและถูกให้ความสำคัญในทุกภาคส่วน ที่ต้องหาทางจัดการ แก้ไข เยียวยา เพราะเป็นประเด็นที่กระทบกับภาพลักษณ์ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน กล่าวได้ว่าอิทธิพลภายนอก โดยเฉพาะจากสื่อมวลชนต่างประเทศมีผลต่อการกระพือโหมสถานการณ์ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเลือกนำเสนอข่าวด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่จะว่าไปแล้วกรณีการย้ายถิ่นของประชาชนจากพม่าไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ถูกหยิบยกมานำเสนอจากสื่อมวลชนและรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ให้ประชาชนอาเซียนรับรู้เท่านั้น

คำตอบที่ 3: สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องที่หาหนทางออกในเร็ววันได้ยากยิ่งนัก เพราะโดยตัวของมันเอง ไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนี้ เป็นเรื่องที่ไปสัมพันธ์/เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากการลงทุน ทรัพยากร และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากนานาประเทศในอาเซียน ฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องไปเกี่ยวพันกับเรื่องอื่น ๆด้วยเช่นกัน ทั้งเศรษฐกิจอาเซียน  การเมืองภายในประเทศ ท่าทีของกองทัพพม่า ฉะนั้นจึงทำให้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนกลุ่มนี้เผชิญอยู่ทุกวัน ถูกให้ความสำคัญลดน้อยลงไปหรืออาจมองไม่เห็น เพราะถูกมองไปที่ต้นตอของปัญหาแทน และเมื่อเราพยายามหาหนทางแก้ปัญหาที่ต้นตอ ก็จะพบปัญหาต่อมาว่า ไม่สามารถแก้ได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกัน เป็นวังวนของปัญหาที่หาทางออกไม่เจอซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำตอบที่ 4: ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย เป็นกลุ่มคนที่แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มประชาชนที่ถูกเรียกว่า "แรงงานข้ามชาติ" กรณีเรื่องแรงงานข้ามชาติ พบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน มีคนบางกลุ่มมีส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชนกลุ่มนี้ ทั้งฝ่ายทุน ภาคธุรกิจ แต่สำหรับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัย คนกลุ่มนี้ต่างถูกมองในฐานะผู้ไร้ประโยชน์จากทุน และไม่สามารถแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้โดยทันที

คำตอบที่ 5: เพราะ "คนข้ามชาติจากพม่า" ยังถูกมองจากรัฐบาลไทย และประชาชนบางกลุ่ม ในฐานะผู้สั่นคลอนอธิปไตยของรัฐ หลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยและประชาชนบางกลุ่ม มักจะมองเรื่องคนข้ามชาติจากพม่า ด้วยเพียงเรื่องของความมั่นคงในหลักดินแดนเป็นสำคัญ ฉะนั้นเวลาเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในอธิปไตยของรัฐไทย เช่น กรณียึดโรงพยาบาลราชบุรี กรณียึดสถานทูตพม่า หรือล่าสุดกรณีประชาชนโรฮิงญา เมื่อนั้นรัฐไทยจะลุกขึ้นมาให้ความสำคัญเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศที่ต้องหาทางจัดการปัญหาโดยทันที และเมื่อนั้นประชาชนไทยก็จะได้รับรู้ประเด็น "พม่า" ตามไปด้วย

แต่สิ่งที่หายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยเสมอมา คือ ความทุกข์ยากของประชาชนจากพม่าแถบชายแดน ที่อพยพโยกย้ายเข้ามาที่ประเทศไทยทุกวัน เพราะสถานการณ์การละเมิดสิทธิในประเทศของตนเองที่เกิดขึ้นจากคนอื่น สถานการณ์เหล่านี้รัฐบาลไทยมักจะทำเป็นมองไม่เห็น ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ จนในที่สุดทำให้ประเด็นดังกล่าวหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยตามไปด้วย

คำตอบที่ 6: เพราะการพูดถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชาชนจากพม่า เบื้องหลังคือการประจานการลงทุนของรัฐบาลอาเซียนในโครงการพัฒนาต่าง ๆ รัฐบาลไทย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ถือว่าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศพม่า ดังเช่น กรณีการลงทุนในโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า ของรัฐบาลไทย ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของประชาชน โดยเฉพาะในรัฐมอญ ที่ประชาชนถูกบังคับใช้แรงงาน ถูกเกณฑ์ไปเป็นลูกหาบ ถูกบังคับ ขับไล่ ข่มขู่ ให้ย้ายออกจากพื้นที่วางท่อส่งก๊าซ 

กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน ที่ชาวบ้านจะต้องถูกทหารพม่าเกณฑ์/บังคับให้ไปเป็นแรงงานในการก่อสร้าง จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ชาวบ้านจะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อีกต่อไป ทหารพม่าจะเข้ามายึดพื้นที่บริเวณสร้างเขื่อน จะมีการทำลายล้างชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

โครงการทำการเกษตรแบบมีพันธะสัญญา (Contract Farming) ซึ่งเป็นความร่วมมือในด้านเกษตรกรรม ระหว่างไทยกับประเทศพม่า เช่น โครงการปลูกพืชละหุ่ง ปาล์มน้ำมัน มีการยึดที่นา ที่ดินทำกินของชาวบ้านหลายหมื่นไร่ มีการบังคับใช้แรงงานชาวบ้านในที่ดินของตนเอง เพื่อปลูกพืชในโครงการ

ฉะนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงสถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน เพราะเอาเข้าจริงแล้วประเทศเหล่านี้เอง ที่เป็นผู้ทำให้เกิดการพลัดถิ่นฐานของประชาชนขึ้นมา

คำตอบที่ 7 :เพราะประเด็น "คนข้ามชาติจากพม่า" ในเมืองไทย ยังถูกมองแยกส่วนกัน ระหว่าง (1) กลุ่ม POC (Person of Concern) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในความห่วงใยของ UNHCR ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองโดยตรง เช่น นักศึกษาพม่า นักการเมืองพม่า (2) กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวคะเรนนีและชาวกะเหรี่ยง ในค่ายผู้ลี้ภัย  9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า กลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัยสงครามรวมถึงผลกระทบจากสงคราม (3) กลุ่มผู้ลี้ภัยนอกค่ายผู้ลี้ภัย เป็นกลุ่มที่ไม่มีค่ายลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศไทย รัฐบาลไทยไม่นับว่าประชาชนกลุ่มนี้เป็นผู้ลี้ภัย เช่น ชาวไทยใหญ่ ชาวปะโอ (4) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ (5) กลุ่มเหยื่อจากกระบวนการค้ามนุษย์

คนข้ามชาติจากพม่าทั้ง 5 กลุ่ม ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพวกเขาและเธอ ต่างเป็นผลมาจากการทำสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มาอย่างยาวนานนับสิบปี และยังไม่มีการแก้ปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนจากพม่าในฐานะ "เหยื่อของกองทัพ"  จึงต้องหาทางเอาตัวรอดด้วยการหลบหนีมาที่ประเทศไทย ด้วยเพราะสถานะ ชนชั้น ความเป็นชาติพันธุ์ และช่องทางการเดินทางเข้ามาที่แตกต่าง พวกเขาและเธอจึงถูกเรียกให้คำนิยามที่แตกต่างกันออกไป

คำนิยามที่แตกต่างส่งผลต่อการจำแนกแยะแยะประชาชนจากพม่าออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ และนำไปสู่การมอง  "คนข้ามชาติจากพม่า" ที่แยกส่วนจากกัน และมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องที่ทับซ้อนกัน

คำตอบที่ 8: เมื่อการทำงานของภาคประชาสังคมในประเทศไทยยังเป็นลักษณะ
"ต่างคนต่างทำ"
กล่าวได้ว่า ในประเทศไทยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามประเด็นคนข้ามชาติจากพม่า ทั้งในส่วนขององค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศและในประเทศจำนวนมาก อาจจะมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย (Committee for Coordination of Services to Displaced Persons in Thailand - CCSDPT) ที่รวมองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยกว่า 20 องค์กร , เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrants - ANM) ที่รวมองค์กรทำงานรณรงค์เชิงนโยบายการจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ 18 องค์กร , เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group -MWG)  ที่รวมองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานประเด็นสิทธิแรงงาน สุขภาพ การศึกษา 16 องค์กร , เครือข่ายฟ้ามิตรหรือโครงการส่งเสริมการป้องกันเอดส์ในแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทย (Phamit) ซึ่งรวมองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ 9 องค์กรหลัก (นี้ยังไม่นับรวมไปถึงเครือข่ายที่เน้นไปที่การสร้างประชาธิปไตยในพม่า หรือเครือข่ายของประชาชนจากพม่าโดยตรง ที่ในทั้ง 2 กลุ่มนี้ ร่วม 30 องค์กร )

แต่กลับพบว่าอย่างน้อย 4 เครือข่ายดังกล่าว ยังเป็นการทำงานที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายหลักของเครือข่ายเป็นสำคัญ เช่น เน้นไปที่ผู้ลี้ภัย หรือเน้นไปที่แรงงานข้ามชาติ การเลือกเน้นไปที่เฉพาะกลุ่มยิ่งทำให้การทำงานลงลึกในเชิงรายละเอียด เชิงประเด็น จนหลงลืมการมองภาพรวมทั้งระบบ โดยเฉพาะการมองไปไม่ถึงกลุ่มผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ก่อนที่พวกเขาและเธอจะกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยและ/หรือแรงงานข้ามชาติ ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงร่วมไปด้วย

บางเครือข่ายอาจมองไปถึงกลุ่มผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งทักษะในการทำงาน งบประมาณ และขอบเขตการทำงานที่ถูกกำหนดมาจากแหล่งทุน โดยเฉพาะในกลุ่มเหยื่อจากกระบวนการค้ามนุษย์ ที่มักจะเห็นได้ชัด จนทำให้ไม่สามารถทำให้การทำงานครอบคลุมคนข้ามชาติจากพม่าได้ทุกกลุ่ม

คำตอบที่ 9: การทำงานของภาคประชาสังคมที่ทำงานในประเด็น "การเมืองพม่า" โดยตรง ยังคงเป็นการทำงานที่มุ่งเน้นไปที่เพียงเรื่องการเมืองในระบบ ดังเช่น การสร้างประชาธิปไตยในพม่า/ การเลือกตั้ง Roadmap / พรรคการเมือง แต่กลับขาดความสนใจการเมืองในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนตัวเล็กๆ ที่ไร้สิทธิไร้เสียง ถึงจะเป็นที่รู้กันว่า สถานการณ์ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและสถานการณ์ผู้ลี้ภัย เป็นผลโดยตรงมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่อ่อนแอ อำนาจเผด็จการที่แข็งแกร่งของกองทัพพม่า และความไม่มีประชาธิปไตยในพม่า ฉะนั้นการทำงานของภาคประชาสังคมมักจะมุ่งตรงไปที่เรื่องเหล่านี้ แต่นั่นเองขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า การมีประชาธิปไตย การมีพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง การมีขั้นตอนการเลือกตั้งที่โปร่งใส จะทำให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยมีสิทธิมีเสียงหรือได้รับโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆเพิ่มขึ้น นี้คือประเด็นที่ภาคประชาสังคมบางกลุ่มขาดความตระหนักถึง

สถานการณ์ทั้ง 9 ข้อ ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้ปรารถนาว่าจะสามารถแก้ไข/คำนึง/ตระหนักถึงได้ในเร็ววัน และเป็นปัญหาของอาเซียน หรือใครเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างน้อยวันนี้ประเทศไทย และอีกหลายประเทศในอาเซียนยังไม่ได้รับอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (The 1951 Convention relating to the Status of Refugees) และยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เนื่องด้วยความขัดแย้งทางชนชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง การเกิดขึ้นมาของกฎบัตรอาเซียน ในฐานะธรรมนูญของอาเซียน น่าจะมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปแทรกแซง แสวงหาหนทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังและเป็นจริงขึ้นมาได้ในสักวันหนึ่ง

มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่การเริ่มต้นศตวรรษใหม่ของอาเซียน การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่พร่ำบอกประชาชนอาเซียนทั้งปวงว่า วันนี้ประชาชนจะต้องเป็นศูนย์กลางของอาเซียน อาจจะกลายเป็นเพียงแค่คำพูดลอย ๆ ของนักการเมือง ผู้นำประเทศ หรือเป็นเพียงเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เป็นได้แค่เพียงเวทีคู่ขนานและมีเวลาเพียงสิบห้านาที (หรือเพิ่มขึ้นเป็นสามสิบนาทีในครั้งนี้) ที่จะบอกเล่าข้อเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนได้ยลยิน เพราะจะว่าไปแล้วภาพสะท้อนจากแถลงการณ์ทั้ง 2 ฝ่าย ก็แสดงให้เห็นชัดว่า บางเสียงของประชาชนจากฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ที่พยายามเปล่งออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่อาเซียนก็ไม่เคยได้ยิน หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว พวกเขาและเธอเหล่านั้นไม่ถูกนับเป็นประชาชนอาเซียน ในสายตาของผู้นำอาเซียนและผู้นำภาคประชาชนทั้งหลายหรอกหรือ? 

 

 

 

เชิงอรรถ

[1] แถลงการณ์ของประธานอาเซียน ในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 อำเภอชะอำ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2552

[2] http://www.scribd.com/doc/12883371/StatementAdvancing-a-Peoples-ASEANFinal-Version2009Feb26-Thai 

ผู้เขียนถือว่าแถลงการณ์ทั้งสองฉบับถือว่าเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของการประชุมอาเซียนครั้งที่ 14 ทั้งภาครัฐบาลและ
ภาคประชาชน อย่างไรก็ตามพบว่าในเวทีภาคประชาชนอาเซียน แถลงการณ์ที่นำเสนอโดย
Lway Aye Nang เรื่องใครจะยอมรับเผือกร้อนลูกนี้ในงานอาเซียนซัมมิท? ที่ เอฟซีซีที กรุงเทพฯ เวลา 10 โมงเช้า วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552  ได้พูดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และผู้ลี้ภัยก็ตาม แต่ในแถลงการณ์วันสุดท้ายของภาคประชาชน ก็ไม่มีการหยิกยกเรื่องดังกล่าวมาพูดถึง  ดูที่ http://www.apf2008.org/node/28

[3] ขอขอบคุณพรสุข เกิดสว่าง และอดิศร เกิดมงคล สำหรับบทสนทนาที่เกิดขึ้นทาง MSN จนกลายเป็นเหตุผลทั้ง 9 ข้อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net