Skip to main content
sharethis

"คนบางกลุ่มกำลังบิดเบือนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยเสียงข้างมาก ให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างสถาบันทางการเมือง หรือระบบทางการเมืองบางแบบ ที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยนั่นก็คือมีรัฐสภามีรัฐธรรมนูญมีการเลือกตั้ง มีการปกครองโดยพรรคการเมือง แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐสภา การเมือง หรือการเลือกตั้ง กลายเป็นสิ่งซึ่งถูกใช้เพื่อห่อหุ้มความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมือง"

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อภิปรายในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ 2550 สร้างปัญหาให้กับสังคมไทยอย่างไร การปฏิรูปการเมืองที่แท้เป็นอย่างไร" จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ที่โรงแรมเรดิสัน เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา "ประชาไท" ขอถอดความมานำเสนอ ดังนี้

 

 

 

000

 

 

 

"อีกวิธีในการมองปัญหาการเมืองในปัจจุบัน อาจจะต้องมองว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาจริง
แต่ที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหา เพราะกระบวนการทางการเมืองที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้น

ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองในปัจจุบันด้วยการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่พอ

เพราะรัฐธรรมนูญเป็นผลของการเมืองที่เป็นปัญหา เป็นผลของคนบางกลุ่มซึ่งเป็นปัญหากับการเมืองไทย เพราะฉะนั้น จะแก้ปัญหาการเมืองได้ก็ต้องแก้ด้วยสิ่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นไป"

 

 

 

ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กลายเป็นสิ่งรบกวนหรือทำให้การเมืองไทยวุ่นวาย คือการที่รัฐธรรมนูญเป็นผลพวงจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งหลายคนคงเห็นต้องกัน และแทบจะเป็นฉันทานุมติของคนจำนวนหนึ่งในประเทศไปแล้วก็ว่าได้

 

สำหรับคนจากฝั่งนิติศาสตร์หลายท่านอาจเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ คมช. มีปัญหามากในหลายเรื่อง แต่อยากลองตั้งคำถามๆ หนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาโดยตัวมันเอง หรือรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหา เพราะเป็นผลของคนที่เป็นปัญหา ถ้าเราบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหา ทางแก้ก็ง่าย เช่น แก้รัฐธรรมนูญใหม่ซะ ฉีกรัฐธรรมนูญก็ได้ ร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ปฏิรูปการเมืองก็ได้ คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็พยายามจะเล่นเกมนี้ คือใครที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาก็มาร่วมปฏิรูปการเมืองกับรัฐบาลซะ เอา นปช. ไปคนหนึ่ง เอา พันธมิตรฯ ไปคนหนึ่ง เอานักวิชาการไปคนหนึ่ง สมมติถ้ากระบวนการนี้ทำไปสัก 1 ปี ต่อไปใครจะวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือวิจารณ์การเมือง รัฐบาลหรือคุณอภิสิทธิ์ก็จะบอกว่า จะมาวิจารณ์ข้างนอกทำไม รอให้กรรมการปฏิรูปการเมืองทำงานให้เสร็จก่อนแล้วค่อยวิจารณ์สิ เงียบๆ กันไปก่อน

 

ดังนั้น อีกวิธีในการมองปัญหาการเมืองในปัจจุบัน อาจจะต้องมองว่า รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาจริง แต่ที่สุดแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาเพราะกระบวนการทางการเมืองที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาการเมืองในปัจจุบันด้วยการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่พอ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นผลของการเมืองที่เป็นปัญหา เป็นผลของคนบางกลุ่มซึ่งเป็นปัญหากับการเมืองไทย เพราะฉะนั้นจะแก้ปัญหาการเมืองได้ก็ต้องแก้ด้วยสิ่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นไป

 

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าผมเพิ่งเีขียนบทความชิ้นหนึ่งเสร็จจะลงในวารสารฟ้าเดียวกันเล่มใหม่ ซึ่งพูดถึงเรื่องนักรัฐศาสตร์กับการคิดการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทย เรื่องนี้โยงกับบทความหนึ่งของอาจารย์รัฐศาสตร์ญี่ปุ่น ชื่อ อ.ทามาดะ เขียนเรื่องการเมืองไทยไว้ในงานปาฐกถาของนักรัฐศาสตร์เมื่อปลายปีที่แล้ว บอกว่า ปัญหาของการเมืองไทยทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะมีพลังบางฝ่ายในสังคมไทยซึ่งเป็นพลังต้านประชาธิปไตย มีชนชั้นนำทางการเมืองที่ไม่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยอยู่ เพราะฉะนั้นทางออกของการแก้ปัญหาการเมืองไทย หรือทางออกของการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่ใช่การต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญเฉยๆ แต่คือ การต่อสู้ทางการเมืองกับสิ่งที่ อ.ทามาดะ เขียนในบทความว่า เป็นพลังต้านประชาธิปไตย หรือพลังที่เป็นของฝ่ายชนชั้นนำทางการเมืองที่เกลียดประชาธิปไตย

 

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญเป็นปัญหา หรือว่ารัฐธรรมนูญเป็นผลของปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย การมีพลังทางการเมืองหลายๆ ฝ่ายซึ่งไม่ชอบประชาธิปไตยซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทย

 

วิธีหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่าการเมืองไทยทุกวันนี้เกิดอะไรขึ้น อาจต้องเริ่มด้วยเรื่องง่ายๆ 3-4 เรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว แต่อาจลืมไปว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร

 

ตั้งแต่ปี 2548 นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อย 3 คน ถูกเอาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีการที่ซับซ้อนบ้างไม่ซับซ้อนบ้าง ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง แต่ก็ถูกรัฐประหาร แต่ที่สนุกกว่านั้นก็คือ หลังชนะเลือกตั้ง มีการบีบให้คุณทักษิณไม่รับตำแหน่งแล้ว หลังจากนั้น คุณสมัคร (สุนทรเวช) ก็โดนเรื่องที่ไปชิมไปบ่นไป คุณสมชาย (วงศ์สวัสดิ์) ก็โดนจากเรื่องยุบพรรค (พรรคพลังประชาชน) หลังจากนั้นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีมาถูกยุบไป 2 พรรค ด้วยเหตุผลที่ค่อนข้างตลกในทางวิชาการ ผู้บริหารถูกถอดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นักการเมืองหลายคนถูกบีบให้พ้นจากตำแหน่งไป

 

ถ้าเราจะสรุปภาพรวมตั้งแต่ 48 อาจสรุปได้ว่า การเมืองไทยในปัจจุบันเป็นการเมืองซึ่งวางอยู่บนความขัดแย้งระหว่างพลังสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายซึ่งยึดหลักการว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ ยึดหลักการว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของคนทุกคนในชาติ เพราะฉะนั้น การปกครองต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ มาจากการเลือกตั้งของคนส่วนใหญ่ กับอีกฝ่ายเชื่อว่า ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ก็ได้ อำนาจอธิปไตยไม่ต้องมาจากคนส่วนใหญ่ในชาติก็ได้

 

 

 

"สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ด้านหนึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่สามหลายประเทศ

คือมีความพยายามบอกว่า ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ไม่ใช่ทางออกของประเทศอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้กระบวนการพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาช่วย

 

เรื่องตุลาการภิวัตน์ก็ดี หรือการรัฐประหารก็ดี ด้านหนึ่งมีมิติที่คล้ายๆ กันคือ

คนเหล่านี้เชื่อว่า ตัวเองรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนในประเทศนี้….คำถามคือ

คนพวกนี้มีตรรกะหรือวิธีคิดอย่างไรในการอธิบายเรื่องต่างๆ แบบนี้

เขาอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรว่า เขาผู้เป็นศาลรัฐธรรมนูญรู้ว่าอะไรดีกว่าประชาธิปไตย

อะไรดีสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ"

 

 

 

เช่นเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) นายกฯ ไปพูดที่ออกซ์ฟอร์ดว่า ถ้าต้องแลกการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่กับการมีรัฐบาลที่ไม่คอร์รัปชั่น เสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด นี่คือตัวอย่างของความคิดที่มองว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนใหญ่ แต่มีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าเช่น การมีรัฐบาลที่ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง การมีนายกฯ ที่มีคุณธรรม

 

ประเด็นนี้เป็นปัญหาทางการเมืองเพราะปัจจุบันปัญหาหลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นในบ้านเราในขณะนี้คือ มีความพยายามของคนบางกลุ่มที่กำลังจะบอกว่า ระบบความเชื่อต่างๆ หรือค่านิยมต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบรัฐสภาทั้งหมดเป็นเรื่องไม่จำเป็น เช่น การปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐบาลที่ดีที่สุด รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากก็ได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้มได้ด้วยกระบวนการที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

 

ในแง่รัฐศาสตร์แล้ว เรื่องนี้น่าสนใจเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ด้านหนึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกที่ 3 หลายประเทศ คือมีความพยายามบอกว่า ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ใช่ทางออกของประเทศอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้กระบวนการพิเศษที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาช่วย

 

เรื่องตุลาการภิวัตน์ก็ดี หรือการรัฐประหารก็ดี ด้านหนึ่งมีมิติที่คล้ายๆ กันคือ คนเหล่านี้เชื่อว่า ตัวเองรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนในประเทศนี้ เช่น หากอ่านคำตัดสิน หรือคำวินิจฉัยของตุลาการภิวัตน์หรือศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าสิ่งหนึ่งที่คนเหล่านี้ใช้อยู่ตลอดเวลาในการแสดงคำวินิจฉัยคือ เขาอ้างว่า เขาเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตยจากนักการเมืองที่ทำลายประชาธิปไตย

 

คำถามคือ คนพวกนี้มีตรรกะหรือวิธีคิดอย่างไรในการอธิบายเรื่องต่างๆ แบบนี้ เขาอธิบายเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไรว่า เขาผู้เป็นศาลรัฐธรรมนูญรู้ว่าอะไรดีกว่าประชาธิปไตย อะไรดีสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ สอง ต่อให้เขารู้ว่าอะไรดีสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ มีหลักประกันอะไรว่าสิ่งที่เขารู้เขาจะทำให้มันดีกับประเทศนี้ได้จริงๆ เขามีความสามารถจะทำได้จริงหรือเปล่า

 

ในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกทุกวันนี้คือ ประชาธิปไตยถูกคนตั้งคำถามมากในหลายเรื่องจริง เช่น การฉ้อราษฎรบังหลวงของรัฐบาล ความโปร่งใสของรัฐบาล ความไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐบาล นี่เป็นคำถามที่ระบบประชาธิปไตยทุกประเทศเจอเหมือนกันหมด แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยจะยึดมั่นในหลักการสำคัญพื้นฐานข้อหนึ่งคือ ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม เราจะต้องแก้ปัญหาของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยกระบวนการที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยกระบวนการในรัฐธรรมนูญ แต่บ้านเรามีกระบวนการตรงข้าม คือ มีคนบางกลุ่มที่เคลมหรืออวดอ้างว่า ปัญหาประชาธิปไตยเกิดมาจากอะไร เช่นที่มีคนบอกว่า ประชาธิปไตยเกิดจากนักการเมืองคอร์รัปชั่นมากเกินไป ประชาธิปไตยเกิดจากนายกฯ ไม่จงรักภักดีมากเกินไป ประชาธิปไตยเกิดจากนายกฯ ขายหุ้นให้สิงคโปร์ เพราะฉะนั้นต้องล้มประชาธิปไตยเสีย

 

ในทางการเมือง เรื่ิองแบบนี้เป็นปัญหาเพราะเท่ากับเรากำลังอยู่ในสังคมซึ่งอำนาจในการบอกว่า ปัญหาของการเมืองไทยคืออะไร อยู่ที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ คนเหล่านี้ผูกขาดการบอกว่า ปัญหาจากประชาธิปไตยคืออะไร บอกว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองซื้อเสียงบ้าง บอกว่า เกิดขึ้นเพราะคนในชนบทมีคะแนนเสียงเท่ากับคนในกรุงเทพฯ มากเกินไป หรือคนในประเทศไม่มีการศึกษามากเกินไป คำถามคือคนเหล่านี้มีอภิสิทธิ์จากไหนมาบอกว่า การเมืองไทยมีปัญหาเพราะเหตุผลแบบนั้นแบบนี้ เช่น คนส่วนใหญ่โง่ คนส่วนใหญ่ถูกซื้อเสียง

 

 

 

"เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้คือ

คนบางกลุ่มกำลังบิดเบือนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยเสียงข้างมาก

ให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างสถาบันทางการเมือง หรือระบบทางการเมืองบางแบบ

ที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยนั่นก็คือมีรัฐสภามีรัฐธรรมนูญมีการเลือกตั้ง มีการปกครองโดยพรรคการเมือง แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐสภา การเมือง หรือการเลือกตั้ง

กลายเป็นสิ่งซึ่งถูกใช้เพื่อห่อหุ้มความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองเอาไว้"

 

 

 

ในระดับโลกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ นักรัฐศาสตร์ นักกฏหมายรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมีความคิดว่า ประชาธิปไตยกลายเป็นปัญหาขึ้นมา มีความรู้สึกว่า การปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่ทำให้เกิดการละเมิดประชาธิปไตย และจำเป็นจะต้องให้ผู้พิพากษาหรือนักกฏหมายเข้ามาแก้ปัญหาซึ่งประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ได้ เช่น ให้นักกฏหมายหรือผู้พิพากษาเข้ามาปฏิรูปเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการเมือง นิติบัญญัติในหลายเรื่อง

 

คำถามคือ เราจะสามารถไว้วางใจกระบวนการแบบนี้ได้จริงหรือไม่ ความไม่ไว้วางใจที่พวกศาลหรือนักกฏหมายจำนวนหนึ่งมีต่อเสียงส่วนใหญ่ เป็นเรื่องซึ่งจริงๆ แล้วมันมีผลหรือเปล่า หรือเป็นความเข้าใจผิด หรือเป็นผลจากความไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่คนเหล่านั้นมีอยู่เอง เป็นไปได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้คือ คนบางกลุ่มกำลังบิดเบือนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยซึ่งหมายถึงการปกครองโดยเสียงข้างมากให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างสถาบันทางการเมือง หรือระบบทางการเมืองบางแบบ ที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยนั่นก็คือมีรัฐสภา มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีการปกครองโดยพรรคการเมือง แต่ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐสภา การเมือง หรือการเลือกตั้ง กลายเป็นสิ่งซึ่งถูกใช้เพื่อห่อหุ้มความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองเอาไว้

 

เราพูดเรื่องรัฐธรรมนูญกันเยอะว่ามีปัญหา เราพูดเรื่องการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดี เราพูดเรื่องการสร้างสถาบันการเมืองที่ดี สร้างสถาบันรัฐสภาที่ดี กระบวนการนิติบัญญัติที่ดี แต่คำถามสำคัญที่เราควรพิจารณาคือในปัจจุบัน หลัำงปี 2548 ปัญหาหลักคือการไ่ม่มีสถาบันการเมืองอย่างเดียวรึเปล่า คือการไม่มีรัฐธรรมนูญอย่างเดียวรึเปล่า หรือว่า คือการที่สถาบันทางการเมือง รัฐธรรมนูญ กติกาการเลือกตั้งมี แต่ถูกใช้ถูกสอดไส้ วางกลไกต่างๆ ไว้โดยคนบางกลุ่มให้กลายเป็นกระบวนการที่ทำงานไม่ได้ และในที่สุดแล้วสถาบันรัฐสภาแบบนี้ รัฐธรรมนูญแบบนี้ หรือพรรคการเมืองแบบนี้กลายเป็นเครื่องมือรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตยของการเมืองไทยเอาไว้ นี่คือเรื่องที่คิดว่าต้องพิจารณากัน

 

ในแง่นี้แล้ว ถ้าเรามองจากมุมนี้ว่า ปัญหาของการเมืองไทยในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของการไม่มีรัฐธรรมนูญที่ดี ไม่มีสถาบันทางการเมืองที่ดีอย่่างเดียว แต่ว่ามันมีอะไรซับซ้อนมากกว่านั้น นั่นก็คือ การที่ชนชั้นนำฝ่ายต้านประชาธิปไตยบางกลุ่ม หรือพลังต้านประชาธิปไตยบางกลุ่มยอมให้มีรัฐธรรมนูญยอมให้มีประชาธิปไตยให้มีการเลือกตั้งได้ แต่พยายามหาวิธีใช้สถาบันการเมืองแบบนี้ ใช้รัฐธรรมนูญ ใช้่การเลือกตั้ง ใช้พรรคการเมือง ให้เป็นเครื่องมือในการรักษาความไม่เป็นประชาธิปไตยเอาไว้ หมายความว่า สิ่งที่คนเหล่านี้จะทำไม่ใช่การระงับรัฐธรรมนูญ หรือทำลายประชาธิปไตยในความหมายที่เราเข้าใจในวันที่ 19 ก.ย. 2549 แต่เขาจะทำในสิ่งซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี 50 คือการยอมให้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่พรรคการเมืองต้องอยู่ในกำกับของพลังที่ไม่ชอบประชาธิปไตย รัฐสภาต้องอยู่ภายใต้การกำกับของพลังซึ่งไม่ชอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะต้องถูกตัดตอนให้เป็นเวทีที่พลังที่ไม่ชอบประชาธิปไตยควบคุมได้มากที่สุด

 

ถ้ามองการเมืองไทยแบบนี้ โจทย์ใหญ่คือกระบวนการทางการเมืองแบบนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร เช่น เป็นไปได้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้คือ 3 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งระหว่างคนหลายกลุ่ม เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ประชาธิปัตย์-ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์- พลังประชาชน-พันธมิตรฯ ในที่สุดสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ อาจจะมีการสร้างกระบวนการทางการเมืองบางอย่างขึ้นมา โดยเอาบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่ดูเหมือนจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เข้ามาชูธงปฏิรูปการเมือง ชูธงแก้รัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่าเรามีเวทีแบบนี้แล้ว ทุกท่านที่ขัดแย้งเข้ามาใช้เวทีแบบนี้ให้เป็นประโยชน์สิ อย่าไปเดินขบวนบนท้องถนน อย่าไปชุมนุมนอกสภา อย่าไปปราศรัย อย่าไปโฟนอิน อย่าไปทำอะไรหลายๆ เรื่องแล้วหันมาใช้เวทีแบบนี้ให้เป็นประโยชน์เสีย

 

 

"ในที่สุดแล้ว ปัญหาหลักในการเมืองไทยทุกวันนี้อาจจะเป็นเรื่องของความไม่สามารถ

หรือความไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไีรกับความขัดแย้งหรือความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง รุนแรงมากในปัจจุบัน สำหรับคนจำนวนหนึ่งไม่รู้จะจัดการอย่างไร จึงยอมรับให้ทหารรัฐประหารเสีย

ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการรัฐธรรมนูญบอกว่า ควรจะจบอย่างไรในเรื่องนี้ เช่น กรณีคุณสมัคร"

 

 

ในเงื่อนไขแบบนี้ ถ้าพลังฝ่ายประชาธิปไตยมองไม่เห็นว่า พลังอีกฝ่ายเขามีมุมมองหรือวิธีคิดในการจัดการการเมืองไทยอย่างไร อาจรู้สึกว่า บรรยากาศทางการเมืองไทยคลี่คลายมากขึ้นแล้ว มีการเปิดโอกาสให้คนหลายๆ ฝ่ายได้พูดมากขึ้น มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปการเมืองมากขึ้น การพัฒนาการเมืองมากขึ้น แต่ถ้ามองในเงื่อนไขทั้งหมด ภาพจะเป็นตรงข้ามคือ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด การเมืองไทย ณ วันนี้ ก็คือผลของการเมืองไทยก่อน 19 ก.ย.คือมีความขัดแย้งกันระหว่างคนชนชั้นหลายกลุ่ม และชนชั้นนำบางกลุ่มก็พยายามหาทางใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการจรรโลงอำนาจของตนเองให้มากที่สุดต่อไปเรื่อยๆ ถ้าใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือได้ก็จะใช้ เช่น กรณีที่คุณสมัคร คุณสมชายถูกทำให้พ้นจากตำแหน่ง หรือถ้าใช้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไม่ได้ก็ไม่ใช้ เช่น ใช้การรัฐประหารขับไล่คุณทักษิณออกไป เพราะฉะนั้น สำหรับคนพวกนี้แล้วประชาธิปไตยคือเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมการเมืองเอาไว้ตลอดเวลาให้อยู่ภายใต้อำนาจของพวกเขา

 

สำหรับคนที่เชื่อว่าประชาธิปไตยหมายถึงเสียงส่วนใหญ่ เสียงข้างมากต้องเป็นใหญ่ ควรจะมีท่าทีอย่างไร ปัญหาหนึ่งในการอยู่ในสังคมซึ่งเหมือนกับที่คุณคณิน (บญสุวรรณ) เคยพูดว่า มีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ประชาชนเห็นว่าคืออะไร กับฉบับที่ประชาชนไม่เห็นว่าคืออะไร และการต่อสู้ืทางการเมือง หรือการผลักดันประชาธิปไตยในสังคมแบบนี้เป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดในตัวเองพอสมควร เช่น เรื่ององคมนตรี เรื่องตุลาการ ในที่สุดแล้วกระบวนการทางการเมืองที่จะลดทอนอำนาจของคนเหล่านี้ สำหรับสังคมไทยแล้วไม่สามารถพูดหรือผลักให้เป็นประเด็นในเวทีสาธารณะได้อย่างเปิดเผย พื้นที่ที่จะพูดเรื่องแบบนี้ได้อย่างตรงไปตรงมา อาจมีแต่เวทีทางวิชาการเท่านั้น ถ้ามีการพูดเรื่องอำนาจองคมนตรีหรืออำนาจศาลในเวทีสาธารณะ คนที่พูดอาจเจอปัญหาทางการเมือง หรือปัญหาทางครอบครัวพอสมควร ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรในเรื่องแบบนี้ เพราะฉะนั้น การต่อสู้ในสังคมซึ่งสลับซับซ้อน มีประชาธิปไตยแต่ถูกชนชั้นนำบางกลุ่มใช้-ไฮแจ็คเป็นเครืื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของตัวเอง ทำโดยตรงๆ ได้ไม่ง่าย

 

ที่เราอาจทำได้คือการตั้งคำถาม อภิปราย ในเรื่องที่รองกว่านั้นเช่น เรื่องศาลรัฐธรรมนูญ อาจต้องเริ่มตั้งคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทางการเมืองอย่างไร ความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญควรมาจากการเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างเดียว หรือควรมาจากความชอบธรรมบางอย่างที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญด้วย เช่นความยอมรับของประชาชน เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมืองไหม เป็นแน่นอน เพราะถ้าเราเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหลัง 2548 คือความขัดแย้งของคนในสังคมไทยด้วยกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น ใครควรจะเป็นนายกฯ รัฐสภาควรเป็นแบบไหน รัฐธรรมนูญควรเป็นแบบไหน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 48-50 คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือชนชั้นนำบางกลุ่มใช้กลไกเหล่านี้หรือองค์กรเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการพูดว่าความขัดแย้งเหล่านี้ควรจะจบอย่างไร เช่น ตอนที่คนไทยทะเลาะกันว่าคุณทักษิณควรจะเป็นนายกฯ หรือเปล่า ก็มีการรัฐประหารมาปิดปากคนไทย ก่อนมีรัฐประหาร คนที่สนับสนุนคุณทักษิณ ชุมนุมกัน ส่วนพันธมิตรฯ ก็ชุมนุมไป ก็เกิดสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากัน ชุมนุมกันไปชุมนุมกันมา แต่พอเกิด 19 ก.ย. ปุ๊บ คือการเอาปืนจี้ให้ทุกฝ่ายเลิกพูดเสีย

 

ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญหรือปัญหาของการใช้ตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทย ผมคิดว่า ในแง่หนึ่งมีลักษณะของการใช้อำนาจคล้ายๆ รัฐประหาร 19 ก.ย. นั่นก็คือ คนในสังคมทะเลาะกันมากและทะเลาะกันจริงอย่างรุนแรงหลายเรื่องกว่า 3 ปีแล้ว แต่คนบางกลุ่มใช้กลไกเหล่าีนี้เป็นเครื่องมือในการบอกคนในสังคมว่า คำตอบที่เขาเห็นว่ามันควรจะเป็นคือแบบนี้ ให้ทำตามศาลสั่งเสีย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดภาพอย่างที่ อ.ประสิทธิ์ (ปิวาวัฒนพานิช) พูดในตอนแรกว่า พอศาลเข้ามาทำแบบนี้ปุ๊บ มันคือการเข้ามาใช้อำนาจปิดปากความเห็นทางการเมืองของคนในเรื่องซึ่งไม่เห็นพ้องต้องกันเลยในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระบวนการเหล่านี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการถูกตั้งคำถามอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในเรื่องแบบนี้เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามทางการเมืองมากขึ้นว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญก็ดี หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ดี มีความชอบธรรมในการพิจารณาเรื่องต่างๆ อย่างไร หรือคนเหล่านี้รู้ได้อย่างไรสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดี มันดีกับคนในสังคมจริงๆ

 

ในที่สุดแล้ว ปัญหาหลักในการเมืองไทยทุกวันนี้อาจจะเป็นเรื่องของความไม่สามารถ หรือความไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไีรกับความขัดแย้งหรือความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง รุนแรงมากในปัจจุบัน สำหรับคนจำนวนหนึ่งไม่รู้จะจัดการอย่างไร จึงยอมรับให้ทหารรัฐประหารเสีย ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการรัฐธรรมนูญบอกว่า ควรจะจบอย่างไรในเรื่องนี้ เช่น กรณีคุณสมัคร

 

คำถามคือ วิธีแก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน 2-3 ปีหลังนี้ ทำให้สังคมไทยมีสันติสุขมากขึ้นจริงหรือเปล่า มันทำให้ประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้นจริงๆ หรือเปล่า หรือที่สุดแล้วทำให้การต่อสู้ทางความคิดในสังคมเดินไปข้างหน้าไม่ได้ เราไม่สามารถถกเถียงได้ว่า การเมืองที่ดีคืออะไร ประชาธิปไตยที่ดีคืออะไร การแก้ปัญหาแบบประชาธิปไตยคืออะไร เพราะตอนจบจะมีคนมาเสนอคำตอบ และคำตอบมักจะมาจากคนไม่กี่คน ที่เคลมว่าตัวเองรู้ว่าสังคมควรจะต้องเป็นแบบไหน

 

คุณูปการอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 หรือการเมืองในช่วงปี 2540 คือ การทำให้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ บรรยากาศหลังปี 2540 คนที่เห็นต่างทางการเมืองออกมาโต้เถียงกันเยอะในเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องสามจังหวัดภาคใต้ เรื่องเขื่อนปากมูน เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พอหลังปี 49 หรือปี 50 เป็นต้นมา ภาพเหล่านี้ไม่ปรากฏ ความขัดแย้งทางการเมืองถูกหยุด ถูกทำให้มีคนบางกลุ่มที่ยึดกุมคำตอบสำเร็จรูปของทุกเรื่องเอาไว้ เศรษฐกิจก็มีโมเดลว่ามีสูตรสำเร็จบางสูตรแก้ทุกเรื่องได้ ปัญหาสังคมก็มีสูตรสำเร็จว่าแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ การเมืองก็มีสูตรสำเร็จว่าทำแบบนี้จะแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่อาจจะต้องทำคือทำให้การเมือง การต่อสู้ทางความคิดกลับมาอยู่บนท้องถนน ทำให้เรื่องของความแตกต่างทางการเมืองไม่ถูกไฮแจ็ค ไม่ถูกรวบไปอยู่ในห้องประชุม สโมสร อยู่ในที่ประชุมของคนไม่เกิน 10 คน แล้วคนเหล่านี้ก็มาบอกว่าแก้ปัญหานี้แบบนี้ แก้ปัญหานั้นแบบนั้น เพราะที่สุดแล้วการทำแบบนี้คือการทำลายประชาธิปไตย คือการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยทั้งหมดในสังคมไทย ซึ่งสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องรัฐศาสตร์เรื่องการเมืองเปรียบเทียบในหลายสังคม กระบวนการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยแบบนี้เป็นกระบวนการซึ่งจะดึงสังคมไทยออกจากความเป็นสังคมประชาธิปไตยและจะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

  

 

…………………………….

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักรัฐศาสตร์ชี้ "หลุมพราง" ชนชั้นนำสกัดการเมืองท้องถนน ตั้งกรรมการปฏิรูปการเมืองก็ไม่แก้ปัญหา, ประชาไท, 16/3/2552

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net