Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพี้ยน นักเรียนนอก


(madpitch@yahoo.com)


 


ความจริงผมก็เขียนถึงเว็บหลุดโลกมาหลายครั้ง เขียนแบบเฉียดไปเฉียดมา ตามประสาคนที่เคยเป็นศิษย์เก่าของหลุดโลก


 


เขียนถึงเพราะขี้เกียจเขียนเรื่องเว็บไซด์ประชาไท แต่ก็อยากบอกเอาไว้ว่าเขียนเรื่องหลุดโลกในบริบทที่เว็บประชาไทโดนข้อหาเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ อันเนื่องมาจากการปล่อยให้ข้อความที่ถูกพิจารณาว่าเข้าข่ายนั้นอยู่นานเกินไป


 


พูดง่ายๆ ก็คือ เว็บประชาไทนั้นไม่ได้โดนข้อหาอันเนื่องมาจากการเสนอข่าว หรือตีพิมพ์บทความในฐานะที่เป็นสำนักข่าวออนไลน์ แต่ถูกข้อหาเพราะกลายเป็นที่ที่มีความเห็นของคนอื่นที่ "เข้าข่าย" มาปรากฏอยู่


 


เรื่องราวของประชาไททำให้นึกถึงเรื่องหลุดโลก (ซึ่งปิดตัวไปนานแล้ว) ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ เรื่องทั้งหมดไม่ใช่เรื่องแค่ว่าเราต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพ หรือไม่มีเสรีภาพ


 


เรากำลังพูดเรื่องว่าเราจะบริหารจัดการเสรีภาพเพื่อให้มีเสรีภาพอย่างไรและมีเสรีภาพต่อไปต่างหาก


 


เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ ท่ามกลางกระแสการเมืองและความคิดเห็นที่แยกขั้วออกไปว่าเราไม่ควรเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่ควรมีเสรีภาพ หรือเราควรเปลี่ยนแปลงโดยล้มระบบเก่าเพื่อให้เรามีเสรีภาพ


 


เพราะเรื่องที่ซับซ้อนก็คือเราจะช่วยกันดูแลเสรีภาพอย่างไร เราจะพัฒนาเสรีภาพที่เรามีหรือพอมีให้มีมากขึ้น และคุ้มครองคนอื่นได้ด้วยอย่างไร


 


เรื่องของการเมืองในอินเตอร์เน็ตจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ว่าเราจะหาระบบการจัดการเสรีภาพอย่างไรเพื่อให้มีเสรีภาพมากขึ้น และกระบวนการในการจัดการนั้นต้องมีความเป็นประชาธิปไตยไหม


 


เรื่องที่พบก็คือ บางทีกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับมีคุณประโยชน์ต่อความเป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน ถ้าทำให้เสรีภาพนั้นทำงานต่อไปได้ บางทีอาจจะมากกว่าการที่เราคำนึงแต่กระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นได้


 


กลับมาเรื่องหลุดโลก ซึ่งเป็นเรื่องเกือบจะครบสิบปีแล้ว ใครที่เคยเป็นศิษย์เก่าทั้งแอบมุงและเข้าไปสนุกสนานในนั้นก็คงจะจำกันได้ ตั้งแต่ที่ยังต้องหมุนเข้าไปด้วยระบบโมเด็ม


 


คนที่เปิดตัวและไม่เปิดตัวจำนวนมากก็ล้วนเป็นศิษย์เก่าเว็บใต้ดินแห่งนี้กันมาทั้งนั้น รวมทั้งระดับกวีซีไรต์ด้วย


 


ผมเองก็ได้เพื่อนฝูงที่ยังคบหากันมาเนิ่นนานในนี้หลายคน บางคนรู้จักตั้งแต่เรียนมัธยมจนกระทั่งจะเข้าปริญญาเอกอยู่รอมร่อ บางคนก็ไม่เคยเจอตัวจริงแต่ก็ยังแชทกันอยู่ด้วยซ้ำ ทั้งชายทั้งหญิง


 


เว็บหลุดโลกมันสนุกตรงที่มันหยาบคายมากๆ นั่นแหละครับ คนไม่หยาบคงไม่ชอบ แต่มันแก้เครียดได้อย่างวิเศษ ยิ่งเวลาคนมาด่ากันเนี่ยไม่รู้มันอะไรหนักหนาสนุกสนานเหลือเกิน


 


หรือคนจำนวนไม่น้อยก็คงเคยประทับใจกับลีลาการเขียนและการตอบของ "พระเจ้า" พระเอกตลอดกาลของเว็บหลุดโลกกันทั้งนั้น (ตอนนี้ไม่รู้เป็นยังไงแล้ว ข่าวลือต่างๆ นานา) เรียกว่าพระเจ้าก็คงจะเหมือน โจ๊กเกอร์แห่งเมืองกอธแธมนั่นแหละครับ


 


แต่เรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ในเว็บหลุดโลกก็คือเว็บหลุดโลกนั้นมีมาตรการการคุมเข้มเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนมาก และไม่น่าเชื่อว่าหมู่โจรที่ใครๆ ประณามหยามเหยียดนั้น กลับมีสัจจะข้อนี้ตลอดมา


 


นั่นก็คือระบบการตัดสิทธิ์และเซ็นเซอร์ความคิดเห็นที่ขนาดหลุดโลกเองก็รับไม่ได้ ซึ่งระบบนี้ก็คือ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าใครคือเจ้าของหลุดโลก (พูดราวกับขบวนการเขมรแดงซะงั้น) เราจะรู้จักเขาในนามว่า เว็บขี้เท่อ หรือเว็บมาสเตอร์นั่นแหละครับ และทีมที่ดูแลเว็บก็เรียกว่า ทีมบี ซึ่งมีคนหลายคนคอยสลับผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล


 


นอกเหนือไปจากระบบของการมีการสมัครสมาชิก ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกสนานมาก เพราะการเป็นสมาชิกหลุดโลกนั้นไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ในบางช่วงใครๆ ก็เขียนด่าได้ แต่สมาชิกนั้นเปิดรับเป็นช่วง แต่คนที่เป็นสมาชิกก็จะมีสิทธิ์มีไอค่อนบ้าๆ บวมๆ เอามาประดับให้ความคิดเห็นของตนมีสีสันมากขึ้น


 


กลับมาสู่เรื่องของกระทู้ ทีมบีมีสิทธิเด็ดขาดที่จะลบกระทู้ โดยไม่ต้องมีระบบวุ่นวายถึงการแจ้งเตือนของสมาชิก แต่ผู้ที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมก็อาจจะเขียนอีเมล์ไปหาทีมบีและตัวเว็บขี้เท่อได้ (อันนี้จำได้ลางๆ นะครับ) แต่โดยสรุปก็คือ การลบนั้นลบเลยแล้วจะกลับมาก็ว่ากันไปแล้วแต่การพิจารณาของทางทีมบีหรือเว็บขี้เท่อ


 


กฏเหล็กของหลุดโลกนี้บางครั้งก็ทำให้หลายกลุ่มออกไปตั้งเว็บบอร์ดของตนเองใหม่ แต่สุดท้ายก็หนีกันไปไม่พ้นหรอกครับ ที่จะต้องวนเวียนกลับมา หรือเจ็บร้อนเมื่อมีสงครามถล่มหลุดโลกกับเว็บบอร์ดกระปุก หรือเมื่อมีการต่อสู้ทางความเห็นกันระหว่างหลุดโลก กับ บอกอลายจุด ราวกับสงครามเทพมาร ในประเด็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเว็บ กับ เรื่องของศีลธรรมอันดีของประชาชน


 


ยังดีที่เว็บบอร์ดในรุ่นเหล่านั้นเป็นเว็บบอร์ดที่ไม่ได้อยู่ในยุคที่มีการต่อสู้กันทางการเมืองรุนแรงเหมือนยุครัฐประหาร พูดง่ายๆ คือ การหมิ่นกันในยุคนั้นเป็นเรื่องของศีลธรรม และเรื่องของส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะแม้เว็บใต้ดินที่ด่าพ่อล่อแม่คนในยุคนั้น หรือเอาภาพโป๊มาลง หรือตบแต่งรูป แต่ก็ยังมีข้อตกลงร่วมกันว่าไม่มีการแตะต้องในเรื่องนี้


 


อย่าว่าแต่หลุดโลกเลยครับ ขนาดในแคมฟร็อกเองในยุคเฟื่องๆ แต่ละหน้าจอก่อนเข้าห้องต่างๆ ก็ยังห้ามเรื่องนี้กันไว้ และก็ไม่ได้มีใครคิดจะไปละเมิดกัน


 


แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ กลับพบว่าแม้ว่าจะดิบจะเถื่อนกันอย่างไร แต่อำนาจสิทธิขาดในการตัดสินว่าจะเตะใครออกจากห้อง หรือจะปิดกั้นใครนั้นกลับเป็นอำนาจเผด็จการภายใต้การยอมรับกติการ่วมกันตั้งแต่ต้นทั้งสิ้น


 


จะว่าไปแล้ว ตัวกฎหมายในเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เองนั้นส่วนหนึ่งก็ก่อร่างมาจากปรากฏการณ์อินเตอร์เน็ตในยุคแรกของสังคมไทย อย่าเพิ่งด่วนมองตัวกฎหมายนั้นในแง่ลบเสียทีเดียว เพราะกฎหมายอาชญากรรมในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นหนึ่งในชุดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานอินเตอร์เน็ตในสังคมไทย ซึ่งมีกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องการทำธุรกรรมในอินเตอร์เน็ต เป็นต้น


 


โดยภาพรวมแล้ว ชุดกฎหมายเหล่านี้มีการนำเสนอมานาน แต่ยังไม่ได้ผ่านทุกกฎหมาย ตัวกฎหมายอาชญากรรมเองนั้นกลับถูกเร่งให้ออกมาในยุคหลังการทำรัฐประหาร


 


เรื่องนี้สำคัญเพราะกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์นั้นกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่สังคมมีความร้าวลึกในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง และปฏิเสธได้ยากว่าความร้าวลึกทางการเมืองของไทยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราไม่รู้ข้อมูลทุกเรื่อง หรือเราอยากรู้แต่รู้ไม่ได้ หรือเราอยากถามแต่ก็ไม่มีคำตอบ หรือกลัวที่จะถาม


 


ถ้าเทียบกับยุคหลุดโลก อย่างน้อยคนหยาบคายเขายังมีข้อตกลงกันได้ แต่ในยุคนี้บางทีเรายังหาข้อตกลงกันไม่ได้เลยว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าหมิ่น ซึ่งกลายเป็นคำรวมตั้งแต่การวิพากษ์ฺวิจารณ์ ไปจนถึง การอาฆาตมาดร้าย ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้อาจไม่เหมือนกัน แต่มักถูกทำให้เหมือนกัน


 


เรื่องราวมันจึงสลับซับซ้อนและเกี่ยวโยงไปจนกระทั่งเราตกอยู่ในสังคมที่จำนวนเว็บหมิ่นสถาบันมีมากกว่าเว็บลามกมากมายหลายเท่า และทำให้โครงสร้างของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ซึ่งโดยตัวหลักการเดิมนั้นก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจะต้องมาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการหมิ่นฯ นั้นกลับพัวพันเข้าไปกับกรอบกฎหมายหมิ่นตามเข้ามาด้วย จนทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายหมิ่นเข้าไปด้วย


 


ถ้าเราไม่มองว่ารัฐนั้นจ้องจะใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือมากจนเกินไป หรือมองว่าเว็บต่างๆ ที่เข้าข่ายเสี่ยงนั้นไม่อยากให้ความร่วมมือ เราจะพบว่าปัญหาที่จะต้องช่วยกันคิดก็คือเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ทำให้การควบคุมทำได้ยากขึ้น เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ผู้ชมเว็บสามารถเติมเนื้อหาของเว็บได้เอง (2.0 หรือ interactive) ต่างจากสื่อรุ่นเก่าที่ผู้ผลิตสื่อตีพิมพ์ข่าวสารได้ฝ่ายเดียว


 


การเปิดพื้นที่ให้มีการสนทนา ก็สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับได้ง่าย เช่นนี้ จนบางทีผมยังนึกเลยว่าสงสัยต้องรบกวนเว็บขี้เท่อกับพี่ๆ ทีมบีมาดูแลเว็บ (บอร์ดประชาไท) สักทีครับผม ...


 


 


บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน คอลัมน์ เรื่องโม้ๆ ของนักเรียนนอก จาก เนชั่นสุดสัปดาห์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net