Skip to main content
sharethis

 


 


โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่นำโขง องค์การแม่น้ำนานาชาติ และโครงการสีพันดอน ร่วมจัดงานแสดงภาพถ่าย "Siphandon...Mekong Fishing under Threat" หรือในภาษไทย "สีพันดอน...เมื่อประมงแม่น้ำโขงถูกคุกคาม" ฝีมือ สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพสารคดีชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ณ บริเวณ Eden Zone ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชดำริ กรุงเทพมหานคร


 


ในวันที่ 14 มี.ค.52 จะมีการเสวนา หัวข้อ "คุณค่าสีพันดอน คุณค่าแม่น้ำโขงที่กำลังสูญหาย" โดย สุเทพ กฤษณาวารินทร์ ช่างภาพเจ้าของผลงาน ร่วมด้วย สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัททีวีบูรพา จำกัด ผู้ดำเนินรายการ "คนค้นคน" ตอน "คนหาปลาแห่ง มหานทีสีพันดอน" และ เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการร่วม โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ โดยมี ชัยนันต์ สันติวาสะ บรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรมและบันเทิง โมเดิร์นไนน์ทีวี ทำหน้าที่ดำเนินรายการ จากนั้นจะเป็นการร่วมชมและประมูลภาพถ่ายซึ่งจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 12-28 มี.ค.52


 


งานชุดนี้ใช้เวลาในการทำงาน ตั้งแต่ ปลายปี 2004-2007 ด้วยความอดทน การรอคอย และช่วงเวลาแห่งความลุ้นระทึกไปกับความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำโขง หรือคอนพะเพ็งเพื่อสื่อให้เห็นถึง การที่คนต้องเสี่ยงชีวิตตนเองเป็นเดิมพันเพื่อการให้ได้ปลาเพื่อการดำรงชีพ รวมทั้งเขื่อนสะโฮ้งที่จะสร้าง และอาจทำลายวงจรชีวิตของพันธ์ปลาน้ำจืดในน้ำโขงที่ได้ชื่อว่าอุดมมากที่สุดโลก และชีวิตวัฒนธรรมที่อาจสูญไป นี่อาจเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เล็กๆ เรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้



ภาพถ่ายชุดนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลช่างภาพผู้สื่อข่าวนานาชาติจากนิตยสารเดยส์เจแปนในปี 2551 (Days Japan International Photojournalism Award), ช่างภาพยอดเยี่ยมของสมาคมช่างภาพและผู้สื่อข่าวของสหรัฐอเมริกา (Photojournalism Award from NPPA)


 


นอกจากนี้ ภายในงานจะมีกิจกรรมเปิดตัว "พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง" (Save the Mekong Coalition) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ประชาชนท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชน ศิลปิน และประชาชนทั่วไปจากประเทศแม่น้ำโขงและทั่วโลก เพื่อร่วมแสดงความห่วงใยในอนาคตของแม่น้ำโขง และเพื่อเรียกร้องร่วมกันให้แม่น้ำโขงไหลอย่างอิสระ โดยเชื่อว่า การจัดหาพลังงานไฟฟ้า ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องพิจารณาถึงทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยหลีกเลี่ยงการหาผลประโยชน์ และควรต้องคำนึงถึงปัญหาความขัดแย้งข้ามพรมแดน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในภูมิภาค


 


สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ที่แม่น้ำโขงกำลังถูกคุกคาม ในขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่างรัฐบาลกัมพูชา ลาว รวมทั้งไทย กำลังวางแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 11 เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก สร้างความวิตกกังวลเพิ่มทวีคูณว่า หากโครงการเหล่านี้เดินหน้า เขื่อนบนแม่น้ำโขงจะทำลายระบบนิเวศ ปิดกั้นเส้นทางอพยพหลักของปลา ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของประชาชนในภูมิภาค ยิ่งกว่าที่เขื่อน 3 เขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนบนในประเทศจีนที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ได้สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงแล้วต่อประเทศทางตอนล่าง ทั้งต่อระดับน้ำที่แปรปรวน และการลดลงของปริมาณและพันธุ์ปลา


 


แม้หายนะจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างจะถูกบ่งชี้และทักท้วงจากหลายฝ่าย จนกระทั่งบัดนี้ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ยังคงไม่สามารถให้คำตอบ หรือแสดงความรับผิดชอบ ต่อคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่แท้จริงอันจะเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก

ทั้งนี้ ตลอดช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2552 นี้ พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง จะทำการรณรงค์ร่วมกันทั่วโลก ด้วยการร่วมลงรายชื่อในโปสการ์ดเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศแม่น้ำโขง ปล่อยแม่น้ำโขงให้ไหลอย่างอิสระ และแสวงหาทางเลือกในการผลิตกระแสไฟฟ้า

รายละเอียดเกี่ยวกับ พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เข้าชมได้ที่ www.savethemekong.org และสามารถร่วมลงนามในโปสการ์ดอิเลคโทรนิคส์ได้ที่ http://tinyurl.com/Save-the-Mekong


 



 



 


 


ข้างหลังภาพ โครงการสี่พันดอน


 


ราวต้นปี 2000 ผมมีโอกาสได้เดินทางไปท่องเที่ยวยังดินแดนสี่พันดอนของลาว ผมก็คล้ายกับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่อยากจะไปชมความงามของน้ำตกคอนพะเพ็ง และน้ำตกหลี่ผีที่เลื่องชื่อ ผมไม่คาดคิดในเวลาต่อมาว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์อันยาวนาน ทั้งกับชาวบ้านในพื้นที่ และธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่นี่ ความจริงแล้วแม้ว่าการได้เห็นน้ำตกคอนพะเพ็งอันยิ่งใหญ่จะเป็นความประทับใจที่ไม่ลืม แต่ว่าชาวประมงพื้นบ้านตัวเล็กๆ ที่หาปลาอยู่บนขอบเหวของน้ำตกต่างหากที่ทำให้ผมอยากค้นหามากกว่านี้ มันเหลือเชื่อที่ได้เห็นผู้เฒ่าแก่ๆ คนหนึ่งปีนป่ายไปมาอย่างคล่องแคล่วโดยไม่กลัวว่าจะถูกพลังของสายน้ำกลืนไป เพียงเพื่อให้ได้ปลาชะอีตัวเล็กๆ แต่ก็นั่นแหละผมใช้เวลาอีกเกือบสี่ปีที่จะรวบรวมความกล้า การประสานงาน หาข้อมูล และเครื่องไม้เครื่องมือให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มงานที่เสี่ยงอันตรายเช่นนี้


 


ในระหว่างสามปีที่ผมรวบรวมภาพเพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก ครอบครัวคำพูทอนแห่งบ้านหางสะดำคือมิตรอันใกล้ชิดที่ทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น ผมอาศัยบ้านนี้เป็นฐานเพื่อเดินทางไปทั่วคุ้งน้ำของสีพันดอน และต๋องลูกชายคนเล็กของบ้านก็เหมือนผู้ช่วยคนรู้ใจ อะไรที่ไม่เคยทำ ไม่เคยไปก็ต้องทำ ในการที่จะไปให้ถึงหลี่กลางน้ำ หากไม่ใช้เรือก็จำเป็นต้องว่ายน้ำไปตามเชือกเส้นเล็กทวนกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ที่บางครั้งผมห่วงกล้องมากกว่าชีวิตตนเองเสียอีก เพราะกลัวไม่ได้ภาพ แม้ว่าจะเชือกและเครื่องมือปีนเขาแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ เอาแบบชาวบ้านนั่นแหละลูกทุ่งดี หรือการที่ต้องเดินตามสำเนียงคนหาปลาและทำอู่ปลาเต้นที่น้ำตกคอนพะเพ็งก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ลืม ขณะที่สำเนียงเดินเหินเหมือนปกติบนก้อนหินที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำ ผมเกือบต้องคลานไปด้วยซ้ำ เมื่อขึ้นมาแล้วยังนึกว่าฝันไปซะอีกที่ตนเองทำไปได้อย่างไร


 


บางครั้งการให้ได้ภาพเพียงภาพเดียวก็ต้องมีการลองผิดลองถูกอยู่หลายวัน เช่นภาพกาลักปลาสร้อยจากหลี่ คราวแรกก็เอาตัวเองนั่นแหละไปพลางอยู่ในหลี่ นอกจากกาไม่ลงแล้ว ยังร้อนแทบตายวันต่อมาจึงเอากล้องแล้วใช้วิทยุบังคับ อาศัยส่องกล้องและกดรีโมทเอา แต่เพราะปลาน้อยไป และไม่มีอะไรคลุมกล้อง กาก็ไปลงหลี่ข้างๆ สุดท้ายเราต้องเอากิ่งไม้ใบไม้มาคลุม พร้อมเอาปลาสร้อยมาวางในหลี่ เป้าหมายมากขึ้นจึงได้ภาพสมใจ ที่สุดสุดเห็นจะเป็นการไปแค่วันเดียวเพียงเพื่อให้ได้ภาพปลาบึก เมื่อต๋องโทรมาว่าปลาบึกลงหลี่ ผมรู้ว่าเป็นโอกาสแห่งชีวิตที่พลาดไม่ได้เพราะรอมาสามปี และมันเป็นหลักฐานสำคัญที่นักชีววิทยายังไม่กล้ายืนยันว่าปลาบึกเดินทางไกลจากทะเลสาบเขมรผ่านสี่พันดอนไปวางไข่ที่เชียงของ ผมต้องต่อเครื่องต่อรถ และเรือเกือบวัน เพื่อเพียงถ่ายภาพไม่กี่ชั่วโมงแต่ก็คุ้มค่า


 


 


เมื่อโครงการใกล้เสร็จเป็นเวลาที่เขื่อนที่จะกั้นสะโฮ้งเป็นรูปเป็นร่าง ผมรู้ว่าต้องทำอะไรสักอย่างจึงเขียนโครงการขึ้นมาเพื่อร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้ง ในประเทศ และนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA), International Rivers และ IUCN เพื่อปกป้องแม่น้ำโขง โดยใช้ภาพสี่พันดอนเป็นตัวจุดประกาย ซึ่งก็ต้องขอบคุณไว้ด้วย ผมเพียงแต่หวังว่าจะได้เห็นแม่น้ำโขงไหลอย่างอิสระต่อ


 


 


สุเทพ กฤษณาวารินทร์


26 กุมภาพันธ์ 2552


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net