Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


สำหรับแรงงานในภาคอุตสากรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าตั้งแต่ปลายปี 2551 มีการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจระลอกล่าสุด โดยแรงงานกลุ่มแรกที่ได้รับผลจากการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ คือ กลุ่มแรงงานชั่วคราว โดยแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างก่อนกลุ่มอื่นเมื่อมีการการปรับลดการผลิตสินค้า ต่อมาก็คือกลุ่มพนักงานประจำ


โดยภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจระลอกล่าสุดมีดังนี้ …



ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกรทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกอย่างหนัก
(ที่มาภาพ: AFP)


1. ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย


1.1 ความเป็นมาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย


 


ภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสามารถจำแนกออกได้เป็น 5 ช่วง คือ


 


1.     ช่วงการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (พ.ศ. 2503-2514)


2.     ช่วงการผลิตเพื่อการส่งออก (พ.ศ. 2515-2528)


3.     ช่วงขยายตัวของอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2529-2535)


4.     ช่วงส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุน (พ.ศ. 2536-2540)


5.     ช่วงปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา)


 


(1) ช่วงการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (พ.ศ. 2503-2514)


 


เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนในปี พ.ศ. 2503 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตทดแทนการนำเข้า จึงได้เริ่มมีบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อทำการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัทของคนไทยรายแรกที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนคือ บริษัท ธานินทร์อุตสาหกรรม จำกัด ในปี พ.ศ. 2505 เพื่อประกอบเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ  จากนั้นได้มีการลงทุนในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติเป็นจำนวนมาก  ส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับบริษัทญี่ปุ่น ได้แก่ ซันโยยูนิเวอร์แซล (ซันโย), เนชั่นแนลไทย (มัตสุชิตะ), กันยงอิเล็กทริกแมนูแฟคเจอริ่ง (มิตซูบิชิ), ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม (โตชิบา) และฮิตาชิคอนซูเมอร์โปรดักส์ (ฮิตาชิ) เพื่อทำการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป เช่น เครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ เป็นการทดแทนการนำเข้าในลักษณะนำชิ้นส่วน (CKD) เข้ามาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์


 


(2) ช่วงการผลิตเพื่อการส่งออก (พ.ศ. 2515-2528)


 


ช่วงนี้จำแนกได้เป็น 2 ระยะคือ ระยะแรก ระหว่าง พ.ศ. 2515-2523 ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่  ซึ่งมีการกำหนดสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการที่ทำการผลิตเพื่อส่งออก ใช่วงนี้มีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น เนชั่นแนลเซมิคอนดัคเตอร์ ซิกเนติกส์ ดาต้าเจนเนอรัล และฮันนี่เวลส์ ในกิจการผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (IC) เพื่อการส่งออก  เข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไทยมีค่าแรงถูก ได้รับสิทธิและประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลไทย  ตลอดจนได้รับสิทธิและประโยชน์พิเศษทางภาษีในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา (GSP) ขณะที่บริษัทของคนไทยคือ กลุ่มบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม ก็มีการขยายการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุเพื่อการส่งออก  แม้ว่ารัฐบาลไทยจะเริ่มให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น  แต่ขณะเดียวกัน ก็มิได้ลดความสำคัญของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศโดยมาตรการคุ้มครองและอากรขาเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่ยังมีอัตราที่สูงอยู่ ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศยังคงเติบโตต่อไปได้  อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนในช่วงนี้ยังมีไม่มากนัก บริษัทต่างๆ จึงเริ่มมีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เอง โดยบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม และเนชั่นแนลไทย ในกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก แผ่นวงจรพิมพ์ และ Capacitor ฯลฯ


 


ระยะที่สอง ระหว่าง พ.ศ. 2524-2528 ในช่วงนี้รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายส่งเสริมการส่งออก โดยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาดุลการค้าและการว่างงาน ทำให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จำนวนมากย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในไทย เช่น กลุ่มมินิแบ (Minibea) ผู้ผลิต ตลับลูกปืน (Ball Bearing) มอเตอร์ (Stepping Motor) ฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk) และอื่นๆ  บริษัทฟูจิกูระ (จากญี่ปุ่น) ผู้ผลิตสายไฟและเคเบิลให้แก่ IBM และ Seagate Technology (จากสหรัฐอเมริกา) ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) สำหรับคอมพิวเตอร์ และกลุ่มฮานา เซมิคอนดัคเตอร์ (Hana Semiconductor) (จากฮ่องกง) ทำการประกอบนาฬิกา และแผงวงจรไฟฟ้า บริษัทจี เอส เทคโนโลยี (GS Technology) ประกอบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB)  สำหรับกิจการของคนไทย เริ่มมีการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อการส่งออกโดยบริษัท ควงเจริญอิเล็กโทรนิกส์ ในปี พ.ศ. 2525 และผลิตแผงวงจรไฟฟ้า โดยบริษัท งานทวีอิเล็กทรอนิคส์ ในปี พ.ศ. 2527 และมีบริษัทรายย่อยจำนวนมากทำการประกอบเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และเครื่องควบคุมการจ่ายไฟสำหรับไมโครคอมพิวเตอร์เพื่อจำหน่ายในประเทศ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในช่วงนี้มีการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นผลมาจากการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า (IC) และการที่ผู้ผลิตหลายรายเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อตลาดในประเทศมาเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้การเชื่อมโยงกันในระหว่างอุตสาหกรรมยังมีไม่มากนักแม้จะมีการผลิตชิ้นส่วนแผ่นวงจรพิมพ์และแผงวงจรไฟฟ้าขึ้นโดยคนไทยเอง ก็เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกและโลหะ หรือแม่พิมพ์ มีการผลิตในปริมาณน้อย ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศเท่านั้น


 


(3) ช่วงขยายตัวของอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2529-2535)


 


ในช่วงปี พ.ศ. 2529-2535 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีการขยายตัวสูงมาก เนื่องมาจากความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับการที่ค่าเงินของญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) มีค่าแข็งขึ้น ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศดังกล่าวเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก การลงทุนจากต่างประเทศในช่วงนี้จึงขยายตัวสูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่การผลิตของไทยก็เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเพื่อจำหน่ายภายในประเทศมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ


 


บริษัทต่างชาติจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศอุตสาหกรรมใหม่อื่นๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทยก็มีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว มีบริษัทใหม่ๆ เช่น ชาร์ป โซนี่ มิตซูบิชิ และบริษัทขนาดกลางเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เป็นการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกในกิจการหลายชนิด เช่น เตาอบไมโครเวฟ, เทปวิดีโอ, ฟลอปปี้ดิสก์ (Floppy Disk), นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์, แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Keyboard) และชิ้นส่วนอื่นๆ มีการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น เครื่องโทรสาร, โทรศัพท์ไร้สาย, คอมพิวเตอร์, จานรับสัญญาณดาวเทียม, ฮาร์ดดิสก์, ชิ้นส่วนเครื่องรับโทรทัศน์  ทั้งนี้ หลายบริษัทเริ่มมีนโยบายที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ให้มากขึ้น เช่น ซีเกทเทคโนโลยี  แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เป็นของคนไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยี  ดังนั้น อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ประสบความสำเร็จ ส่วนใหญ่จึงเป็นกิจการของชาวต่างชาติ หรือเป็นกิจการที่มีชาวต่างชาติร่วมหุ้นอยู่ด้วย  สำหรับบริษัทญี่ปุ่น มักจะชักนำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จากญี่ปุ่นตามเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย  อย่างไรก็ดี จากการที่ความต้องการชิ้นส่วนต่างๆ มีมาก ทำให้อุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนพลาสติกและโลหะ ที่เป็นกิจการของคนไทยมีโอกาสพัฒนาขึ้น ทั้งการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อที่จะขยายตลาดสู่ต่างประเทศ  สำหรับบริษัทต่างชาติ อาทิ กลุ่มมินิแบ ได้เริ่มมีการเชื่อมโยงกับกิจการของคนไทยมากขึ้น


 


(4) ช่วงส่งเสริมอุตสาหกรรมสนับสนุน (พ.ศ. 2536-2540)


 


จากการที่ค่าแรงในประเทศอุตสาหกรรมมีราคาสูงขึ้น ทำให้บริษัทต่างชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเป็นลำดับ เช่น เอส ซี ไอ ซิสเท็ม, เทคโนโลยี แอพพลิเคชั่น จากสิงคโปร์ ในกิจการแผ่นวงจรพิมพ์, เอลเลคเอนด์เอลเทค จากฮ่องกงในกิจการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์  ขณะเดียวกันหลายบริษัทซึ่งเคยผลิตชิ้นส่วนเพื่อส่งออกไปต่างประเทศโดยตรง ได้เริ่มมีการจำหน่ายให้บริษัทในประเทศมากขึ้น เพื่อนำไปประกอบสินค้าเพื่อส่งออกอีกทอดหนึ่ง เช่น บริษัทฟูจิกูระ จำหน่ายสายไฟและสายเชื่อมต่ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ให้แก่กลุ่มมินิแบ และจำหน่ายแผ่นวงจรพิมพ์ชนิดอ่อนตัวให้แก่บริษัทไมโครโพลิส  กลุ่มมินิแบ ผลิตมอเตอร์ (Stepping Motor) ให้แก่บริษัทซีเกท  บริษัทควงเจริญ จำหน่ายแผ่นวงจรพิมพ์ให้แก่บริษัทชาร์ป  และกลุ่มบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม จำหน่าย Capacitor ให้แก่บริษัทเอ็นอีซี เป็นต้น  สำหรับกิจการรายใหญ่ของคนไทยในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ กลุ่มสหยูเนี่ยน ที่เข้าบริหารกลุ่มธานินทร์อุตสาหกรรม และมีกิจการผลิตฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) ให้แก่ IBM  โครงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ได้แก่ บริษัทไทยซีอาร์ที เพื่อผลิตหลอดภาพโทรทัศน์  โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างเครือซีเมนต์ไทย  กับบริษัทมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นและผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ในประเทศอีกหลายราย  การผลิตหลอดภาพโทรทัศน์ของโครงการนี้เป็นการใช้ชิ้นส่วนในประเทศประมาณร้อยละ 80 ของชิ้นส่วนทั้งหมด  นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอัลฟาเทค ทำการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าและเวเฟอร์แฟบ


 


(5) ช่วงปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม (พ.ศ. 2540-2545)


 


ปัจจัยที่สำคัญ 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วงนี้ได้แก่ (1) ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน 2544 และวิกฤตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่ยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร (2) จังหวะการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญที่มีความกระชั้นมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีแผงวงจรรวม (IC) ที่ส่งผลต่อความก้าวหน้าของพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยรวม ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์โทรคมนาคม และทำให้การแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งหมดมีความรุนแรงมากขึ้น และ (3) การเปลี่ยนแปลงระเบียบและกติกาการค้า อาทิ มาตรการทางการค้าทั้งในด้านภาษีศุลกากรและที่มิใช่ภาษี รวมทั้งสถานการณ์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ อย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น  และที่สำคัญคือ การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ปัจจัยทั้งสามทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีความตื่นตัวในการปรับโครงสร้างค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนเข้ามาเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการในประเทศจึงได้มีความพยายามที่จะชี้ให้รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับสากลมากขึ้น เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศ ในปี 2545 รัฐบาลก็ได้มีการปรับลดภาษีชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมโทรทัศน์และสายใยแก้วนำแสงโดยผ่านระบบธุรกรรม ช่วยให้บริษัทต่างชาติบางส่วนในอุตสาหกรรมทั้งสองยังรักษาฐานการผลิตไว้ในประเทศต่อไป นอกจากนี้ องค์กรภาคเอกชนก็ได้มีความพยายามที่จะจัดระบบของอุตสาหกรรมให้เข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรเดียวกันคือ สภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้การดำเนินงานของอุตสาหกรรมโดยรวมมีความเป็นเอกภาพและเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งเพื่อยกระดับการผลิตของประเทศ  ขณะที่ภาครัฐก็มีความพยายามที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้มีผลในทางปฏิบัติชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมในขั้นตอนการผลิตต่างๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทต่างชาติก็เริ่มที่จะถ่ายโอนหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนาเข้ามาดำเนินงานในไทยมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนด้านนี้ในต่างประเทศเริ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไม่มากนักและบางรายการกลับมีแนวโน้มลดลง  บริษัทของคนไทยก็เริ่มที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของตนเองและเน้นการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น  แม้จะยังมีปัญหาในด้านเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและตัวสินค้าอยู่มากก็ตาม


 


1.2 ภาพรวมโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


โครงสร้างของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้


 


1. อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry) เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานสำหรับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Wafer Fabrication, PCB's Design, IC's Design เป็นต้น โดยในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำบางประเภท แต่ส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีขั้นต่ำอยู่ ส่วนWafer Fabricationนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง


 


2. อุตสาหกรรมกลางน้ำ (Midstream Industry) หมายถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตชิ้นส่วน และส่วนประกอบของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC, PCB, Capacitor เป็นต้น ซึ่งในประเทศไทยได้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การร่วมลงทุน และบริษัทในประเทศเอง ซึ่งบริษัทต่างชาติ และบริษัทร่วมลงทุนจากต่างชาติ จะมีขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากแล้วจะใช้เครื่องจักร, วัตถุดิบ รวมทั้งเทคโนโลยีจากบริษัทแม่จากต่างประเทศ ส่วนบริษัทที่เป็นของคนไทยเองนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นมีขนาดเล็ก หรือไม่ก็เป็นการทำสัญญาการผลิต(Subcontracting) ซึ่งกระบวนการผลิตของบริษัทจะไม่ซับซ้อนมากนัก และปัจจัยการผลิตหลักคือแรงงาน ซึ่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมกลางน้ำที่มีมูลค่าการส่งออกสูง และมีแนวโน้มว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ IC และ PCB


 


3. อุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) เป็นการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องรับวิทยุ และโทรทัศน์ เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายเหล่านี้ได้โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น เครื่องรับวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งเรามีความชำนาญเฉพาะด้านมากว่า 30 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศของอุตสาหกรรมขั้นปลายน้ำนี้ค่อนข้างน้อย


 


1.3 ความสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับการส่งออก


มูลค่าสินค้าส่งออกในอุตสาหกรรมลำดับต้นๆ ของประเทศไทย


หน่วย : ล้านบาท

















































































สินค้าส่งออก


 


2547


2548


2549


2550


2551


(ม.. -..)


เครื่องจักรและเครื่องกล


516,017


646,621


769,393


808,884


707,019


เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า


491,867


517,825


532,007


540,078


406,468


คอมพิวเตอร์


215,412


336,060


410,255


426,697


376,349


เครื่องใช้ไฟฟ้า


338,784


353,322


368,989


389,417


344,365


ยานพาหนะและชิ้นส่วน


232,472


328,306


380,644


442,139


382,297


ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ


211,193


219,393


211,017


191,328


154,949


แผงวงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วน


196,443


238,454


267,596


277,948


184,046


ผลิตภัณฑ์พลาสติก


183,858


242,141


246,754


259,776


237,372


ผลิตภัณฑ์โลหะสามัญ


154,260


180,108


221,497


259,568


240,878


ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์


142,059


124,499


140,284


112,670


91,931


ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2551


อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญอุตสาหกรรมหนึ่งของประเทศไทย มีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของสินค้าอุตสาหกรรม และเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ภาคการผลิตในสาขานี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) จำนวนมากในแต่ละปี


โดยผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า, คอมพิวเตอร์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, แผงวงจรไฟฟ้าและชิ้นส่วน, ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เป็นหมวดสินค้าส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย มาเป็นเวลาหลายปี


ทั้งนี้จุดเด่นที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้ในอดีตก็คือการที่ไทยมีสาธารณูปโภคพื้นฐาน สภาพเศรษฐกิจสังคม และค่าจ้างที่ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน แต่กระนั้นก็ตามพบว่าลักษณะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ในประเทศเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ (Midstream Industry) ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนการส่งออกสูง แต่สัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบก็สูงด้วยเช่นกัน รวมถึงการที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปเป็น อุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) ที่สามารถผลิตตราสินค้าและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ประกอบเสร็จสิ้นเองทั้งหมดได้ ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้จากต่างประเทศมีลักษณะไม่มั่นคง


1.4 แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่


ปัจจุบัน ภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์การปรับตัวลดลงของมูลค่าการลงทุนโดยตรงในไทยบ่งชี้ว่าอนาคตการผลิตและการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงกว่าปัจจุบัน เนื่องจากไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านค่าจ้างแรงงานแก่ประเทศอื่น เช่น จีนและเวียดนาม โดยประเทศจีนและเวียดนามสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมจากความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการกระจุกตัวของการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศจะเป็นผลดีต่อการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมจำพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่มักมีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ จะยิ่งเป็นการทำให้เงินลงทุนไหลไปยังจีนและเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยยังมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีจำกัดทำให้ไม่สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการออกแบบขั้นสูงได้เช่นกัน


โดยตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลง มีดังนี้ …


นักลงทุนมีการโยกย้ายการลงทุนหรือเริ่มการลงทุนใหม่ไปยังประเทศอื่น โดยดูจากทั้งจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและมูลค่าการลงทุนซึ่งมีการลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปีที่แล้ว ในกรณีของญี่ปุ่น นักลงทุนได้ให้ความสนใจไปลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้นทั้งที่ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย และลดการลงทุนในประเทศไทยลงกว่าร้อยละ 6.6 ในปี 2549 (เม.ย.2549-มี.ค.2550) ในขณะที่ประเทศเวียดนามได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเฉพาะญี่ปุ่นประเทศเดียวกว่า 2 เท่า

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สินค้าจำพวกอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง-สูง มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีค่อนข้างเร็ว การย้ายฐานการผลิตตามต้นทุนจึงไม่มีความสำคัญมากเท่าสินค้าที่ใช้ระดับเทคโนโลยีต่ำ ยกเว้นแต่การประกอบที่อาจทำในประเทศกำลังพัฒนาที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องค่าจ้างแรงงานต่ำ ปัจจุบัน จากผลการจัดอันดับจากสถาบันจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (The IMD World Competitiveness Yearbook 2007) ประเทศไทยถูกปรับลดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันลงมาเป็นอันดับที่ 33 จากอันดับที่ 32

ค่าแรงและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเพิ่มภาระต้นทุนการผลิต ค่าแรงและค่าครองชีพในไทยนับว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม และประเทศจีน และอินเดีย ทำให้ไทยสูญเสียความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตจากค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาการนำเข้าสูง ทำให้เมื่อมีการส่งออกเพิ่มขึ้นก็ยิ่งต้องมีการนำเข้าสูงตามขึ้นไปด้วย ขณะที่ราคาวัตถุดิบในการผลิต เช่น ทองแดง ในตลาดโลกมีราคาสูงและผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความผันผวนของราคา

การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างจำกัด ในขณะที่ต้นทุนค่าจ้างแรงงานเป็นตัวแปรที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนเพื่อผลิตสินค้าที่ไม่เน้นใช้เทคโนโลยีที่สูงนัก การวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีและการตลาด ผลิตภาพของกระบวนการผลิตและความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ก็มีความสำคัญมากเช่นกันในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยลักษณะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังเป็นในรูปแบบของการรับจ้างผลิต คือมีการนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์สำเร็จรูป และซอฟท์แวร์เข้ามาทำการประกอบในประเทศ ทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปค่อนข้างจำกัด อีกทั้งการตลาดก็มักถูกกำหนดมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ


กอปรกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ที่มีสาเหตุมาจากวิกฤตสินเชื่อ (sub prime) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีในตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อมายังการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยคาดว่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป อาจจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ทำให้โดยรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง


ความเสี่ยงของการส่งออกของไทยในปี 2552 นอกจากทางด้านอุปสงค์แล้ว แนวโน้มของการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันทั้งปริมาณการขายและราคาต่อหน่วย เนื่องจากผู้ขายที่เป็นบริษัทรับช่วงผลิต (OEM) ในประเทศต่างๆ ต่างก็ต้องการระบายสินค้าเพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่องในภาวะที่ตลาดสินค้าขั้นสุดท้ายซบเซา ปัจจัยอีกประการหนึ่งซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกในอนาคต คือ แนวโน้มของการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีในการกีดกันการค้ามากขึ้น เพื่อเป็นการรักษาตลาดภายในประเทศและคุ้มครองผู้บริโภค โดยเพิ่มความเข้มงวดในมาตรฐานสินค้าด้านความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การส่งออกของไทยอาจต้องประสบความยากลำบากมากขึ้น


ด้านการลงทุน การส่งออกที่ไม่ดีจะมีผลต่อการลงทุนในระยะสั้นและระยะกลาง สภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้โรงงานต้องปรับลดการผลิตตามในอัตราที่ต่ำกว่าการใช้กำลังการผลิตปรกติ และทำให้บริษัทหรือโรงงานส่วนใหญ่ในช่วงนี้อาจะชะลอการลงทุนเพื่อขยายโรงงานเนื่องจากยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ประกอบกับผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งอาจต้องการรอให้ภาวะตลาดนิ่งหรือปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม เมื่อมองแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ชะลอตัว บริษัทผู้ผลิตในระดับโลกคงต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคาซึ่งคงจะยิ่งทำให้ผู้ผลิตต้องหาทางลดต้นทุนโดยการปรับโครงสร้างการผลิต ในอนาคตจึงน่าจะเห็นกระแสการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการรวมหน่วยผลิต (consolidate) ในเชิงพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่จะเห็นการยุบหน่วยการผลิตที่ซ้ำซ้อนหรือมีประสิทธิภาพการแข่งขันด้อยกว่า ตลอดจนการโยกย้ายสายการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ     


2. สถานการณ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


2.1 ผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่


จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานรายงานตัวเลขว่างงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีตัวเลขผู้ว่างงานจำนวน 100,599 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น มากกว่าเดือนธันวาคม 2551 และมกราคม 2552 ที่มีผู้ว่างงานประมาณ 5-6 หมื่นคนต่อเดือน ขณะที่ในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 51 ถึงมกราคม 52 กระทรวงแรงงานได้จ่ายเงินชดเชย เพื่อช่วยเหลือผู้ว่างานไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท พร้อมระบุว่ายังสามารถจัดหางานใหม่ให้แรงงานที่ว่างงานได้ 13,000 คน ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงาน รายงานว่า ยอดผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2552 มีจำนวน 6.7 หมื่นคนหรือเพิ่มขึ้น 140.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดผู้ว่างงานในปี 2551 อยู่ที่ 3.88 แสนคน เพิ่มขึ้น 38.26% จากปี 2550


จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้คาดการณ์ปัญหาการว่างงานในปี 2552 แนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าจะมีอัตราการว่างงาน 2.5-3.5% ซึ่งสูงจากปี 2551 ที่โดยรวมการจ้างงานยังคงขยายตัว 2.1% แต่ในไตรมาสที่ 4/51 พบว่ามีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 2.9 หมื่นคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2551 สูงขึ้น 1.3% ทั้งนี้เป็นผลมาจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้สถานการณ์ในปี 2552 ปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีแผนลดกำลังการผลิต ซึ่งอัตราการว่างงานที่คาดว่าจะอยู่ 2.5-3.5% ของกำลังแรงงานรวมคิดเป็นผู้ว่างงาน ประมาณ 9 แสนคน ถึง 1.3 ล้านคน ภายใต้สมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบ 1-0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นในไตรมาสแรกของปีตามฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งมีผู้จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก


ทั้งนี้จากต้นปี 2552 ถึงวันที่ 20 ก.พ.2552 พบว่ามีการเลิกจ้างงานแล้ว 1.74 หมื่นคนหรือคิดเป็น 31.5% ของจำนวนผู้ถูกเลิกจ้างในปี 2551 ทั้งนี้มองว่าภาระการจ่ายเงินชดเชยของกองทุนประกันสังคมในปี 2552 จะสูงขึ้น รวมถึงรายรับของกองทุนก็มีแนวโน้มลดลงจากจำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง รวมถึงรัฐบาลขยายเวลาการรับสิทธิประโยชน์คุ้มครองการถูกเลิกจ้างจาก 180 วันเป็น 240 วัน ปัจจุบันเงินกองทุนสะสมของกองทุนประกันสังคมมีอยู่ที่ 3.69 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะเพียงพอในการรับภาระของผู้ถูกเลิกจ้างรองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงภาวะสังคมในไตรมาส 4/2551 ว่า มีผู้ว่างงาน 5.1 แสนคน ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจาก 29,915 คน ในปี 2550 เป็น 55,549 คน ในปี 2551 โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 20 ก.พ.2552 มีผู้ถูกเลิกจ้างแล้ว 17,474 คนคิดเป็นร้อยละ 31.5 ของผู้เลิกจ้างปี 2551


ผลการสำรวจแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง 2,002 คน พบว่า เป็นหญิงมากกว่าชายในสัดส่วน 6:4 โดย 66% อายุระหว่าง 21-30 ปี ส่วนใหญ่ 45.3% มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา, โดย 67.2% มีรายได้ระหว่าง 5,000-15,000 บาท/เดือน อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 73.6% ขณะที่ 42.5% ต้องการ กลับภูมิลำเนา และอีกกว่า 50% ต้องการอาชีพใหม่ในท้องถิ่นซึ่งหนึ่งในนั้นคืออาชีพเกษตรกรรม ขณะเดียวกันพบว่า ลูกจ้างชั่วคราวและรายวันถึง 49.6% ถูกบีบให้ลาออก ทำให้ไม่สามารถรับค่าชดเชยตามกฎหมาย โดย 78.8% ยังอยู่ในช่วงที่กำลังขอรับค่าทดแทนการว่างงาน


ธุรกิจที่มีแนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้นในปี 2552: ประมาณการการขยายตัวของการผลิต /ส่งออก และจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น




































ธุรกิจที่มีแนวโน้มการว่างงานเพิ่มขึ้น


คาดการณ์การขยายตัว


ของธุรกิจในปี 2552 (%)


คาดการณ์ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2552 จำนวน (คน)


สัดส่วนต่อกำลังแรงงานของธุรกิจในปี 2551(%)


ธุรกิจส่งออก


  ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์


-5.0 ถึง -15.0


87,000-116,000


14.5-19.3


  รถยนต์และชิ้นส่วน


-19.0 ถึง -24.0


49,000-70,000            


14.0-20.0                   


  สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และ


  เครื่องแต่งกาย


-3.0 ถึง -8.0       


115,200-153,600            


9.0-12.0                   


  เฟอร์นิเจอร์ ไม้และ


  ผลิตภัณฑ์จากไม้


-3.0 ถึง -8.0


56,400-94,000  


6.0-10.0


  โลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ


-5.0 ถึง -10.0


40,000-56,000


10.0-14.0


ที่มา: ประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โดยการคาดการณ์จำนวนผู้ว่างงานเป็นการว่างงานสุทธิ


สำหรับแรงงานในภาคอุตสากรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าตั้งแต่ปลายปี 2551 มีการเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจระลอกล่าสุด โดยแรงงานกลุ่มแรกที่ได้รับผลจากการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ คือ กลุ่มแรงงานชั่วคราว โดยแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างก่อนกลุ่มอื่นเมื่อมีการการปรับลดการผลิตสินค้า ต่อมาก็คือกลุ่มพนักงานประจำ ซึ่งหากสภาพเศรษฐกิจโลกและคำสั่งซื้อยังไม่กระเตื้องขึ้น ก็มีแนวโน้มที่อาจถูกเลิกจ้างเพิ่มในปีนี้ จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไว้ว่าอาจทำให้เกิดการว่างงานรวมกันประมาณ 87,000-116,000 คนหรือ 15-20% ของกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมปัจจุบัน 6 แสนคน ทั้งนี้คาดว่าการจ้างงานอาจกลับมาฟื้นตัวในปี 2553 หลังการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ


2.2 สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและต่อรองของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


ภาพรวมของปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและต่อรองของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบปัญหาใหญ่ๆ ก็คือ นายจ้างและรัฐมักจะขัดขวางกิจกรรมสหภาพแรงงาน และประเด็นการแบ่งแยกแรงงานโดยการใช้แรงงานจ้างเหมาช่วงในโรงงาน


ในประเด็นการขัดขวางกิจกรรมของสหภาพแรงงานพบว่า นายจ้างและรัฐได้อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายแรงงานไทยในการพยายามที่จะจำกัดสิทธิของคนงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน โดยการที่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับรองอนุสัญญา 87 และ 98 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นั้นเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและการขยายการคุ้มครองของสหภาพแรงงานไปยังคนงานทุกคน


โดยปัญหาส่วนใหญ่เมื่อมีการตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ ในการดำเนินงานของสหภาพแรงงานพบปัญหาดังนี้


-หลังตั้ง "สหภาพ" เหมือนได้แก้ไขปัญหาบางส่วนแล้ว คนงาน รวมถึงกรรมการบางส่วน "อิ่ม" ตัว คนงานเริ่มถอนออก/อยู่เฉย กรรมการจึงต้องทำงานหนักขึ้น
- บริษัท โยกย้าย (กรรมการ) ไปรวมกันจุดเดียว/แผนกเดียว/ให้อยู่ข้างนอกไม่ให้เข้าทำงานโรงงาน (โดยยังจ่ายค่าจ้างให้)
- กรรมการต้องแก้ไขปัญหาเป็นรายวัน ทำให้ไม่มีเวลาพัฒนาความรู้/องค์กร
- บริษัทจับผิดอยู่ตลอดเวลา
- การกระจายข้อมูลข่าวสารให้กับสมาชิกไม่ทั่วถึง และต่อเนื่อง
- มีการใช้มาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2541 เรื่องการหยุดงานบางส่วนมาใช้กับพนักงานเพื่อให้คนงานกลัว
- การเลิกจ้างแกนนำ กรรมการสหภาพแรงงาน
- การปลอมเอกสาร และเผยแพร่เอกสาร เพื่อเป็นการดิสเครดิตสหภาพ เป็นต้น


สำหรับประเด็นการใช้แรงงานจ้างเหมาช่วงนั้น พบว่านายจ้างมักจะใช้รูปแบบการจ้างงานที่ทำให้การสร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของผู้ประกอบการ สำหรับประเทศไทยเมื่อต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ การแข่งขันแบบเสรี ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในต้นทศวรรษที่ 2540 ทำให้ผู้ประกอบการมีทัศนคติเกี่ยวกับการจ้างแรงงานประจำ การให้สวัสดิการต่างๆ รวมถึงการหักเงินสมทบประกันสังคม กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายภาระต่อต้นทุนการผลิตซึ่งต้องควบคุมหรือลดให้ต่ำไว้ ของผู้ประกอบการ


 


ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่เป็นแนวหลักในวิถีเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน อันมีลักษณะที่ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน คือ การสร้างความไม่มั่นคงให้แรงงาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนงานเลิกจ้างได้ง่าย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการจ้างสูงสุดของนายทุน  โดยผู้ประกอบการหน่วยผลิตต่างๆ รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ จึงพยายามแข่งขันที่จะปรับโครงสร้างการจ้างงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเกิดความยืดหยุ่นในตลาดแรงงาน ซึ่งเป้าหมายก็คือการลดคนงานลงและหันมาใช้การจ้างงานที่มีลักษณะชั่วคราวมากขึ้น ซึ่งลักษณะการจ้างงานในลักษณะชั่วคราวนี้ ก็อาทิเช่น การใช้สัญญาจ้างงานระยะสั้น, การจ้างงานแบบรายชั่วโมง, การจ้างงานแบบรายชิ้น, การจ้างงานโดยผ่านบริษัทนายหน้า เป็นต้น


 


โดยแรงงานจ้างเหมามักจะประสบกับปัญหาในการถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน โดยนายจ้างมักข่มขู่ ลงโทษ และเลิกจ้างแรงงานจ้างเหมาที่เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน


 


ทั้งนี้กรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและต่อรองของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีมีดังนี้ …


 







กรณีศึกษาลูกจ้างใน บริษัท ซี เค แอล อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด
ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากรายงานผลการตรวจสอบที่ 302/2550 กรณีนายตุลา ไวยจืนดา ผู้ร้อง บริษัท ซี เค แอล อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ว่านายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างไปทำงานแผนกอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ประจำ ซึ่งต่อมาลูกจ้างถูกกล่าวหาว่าไม่ทำตามคำสั่ง ทั้งๆ ที่ไม่มีคำสั่งจริง นายจ้างได้สอบสวนข้อเท็จจริงแต่กลับไม่รับฟังข้อเท็จจริงจากลูกจ้าง ทั้งนี้สาเหตุที่ถูกกลั่นแกล้งเนื่องจากลูกจ้างได้ร่วมกับสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เรียกร้องให้นายจ้างปรับลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 300 คน เป็นลูกจ้างประจำ และเป็นกรรมการลูกจ้างที่มีบทบาทสำคัญ


ฝ่ายบริหารได้เรียกลูกจ้างไปพบและแจ้งว่านายจ้างไม่ต้องการให้ทำงานอีกต่อไป พร้อมเสนอเงินจำนวนหนึ่งให้ แต่ลูกจ้างปฏิเสธ ต่อมาการเพิ่มยอดเงินที่เสนอจ่ายหากลาออก แต่ลูกจ้างยืนกรานปฏิเสธ นายจ้างจึงมีคำสั่งว่าไม่ต้องมาทำงาน แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติจนกว่าศาลแรงงานกลางธัญบุรีจะมีคำสั่งให้เลิกจ้าง


 







กรณีศึกษา สหภาพแรงงานโซนี่
บริษัทโซนี่เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี สหภาพแรงงานโซนี่ ประเทศไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับผู้บริหาร เพื่อขอปรับสภาพการจ้างงานให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงการเรียกร้องสิทธิของคนงานประจำจำนวน 1,500 คน ที่เหลือประมาณ 3,500 คน เป็นพนักงานเหมาค่าแรง


โดยในส่วนของคนงานในระบบจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,500 คน หรือ 70% ของคนงานทั้งหมดก็ยังต้องเผชิญกับความโหดร้ายนี้อยู่  สหภาพเรียกร้องให้บริษัทฯ และบริษัทเหมาค่าแรงที่นำลูกจ้างมาทำงานในบริษัทฯ ให้ทำตามกฎหมายแรงงานและหลักมนุษยธรรม ยุติการใช้มาตรการดังกล่าวต่อคนงานที่ตั้งครรภ์ตลอดไป 


สหภาพแรงงานโซนี่ ประเทศไทย ได้จัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550 และต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 แกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานฯ ถูกเลิกจ้างจำนวน 19 คน ในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิง 18 คน พวกเขาได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจนได้รับกลับเข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550


สหภาพฯแสดงความไม่พอใจถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงโดยคณะผู้บริหารฯ ในเดือนเมษายน 2551 ที่ผ่านมาพนักงานโซนี่ฯ จำนวนมากได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างจากเดิมเพียงวันละ 3 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฝืดเคือง  ซึ่งหมายความว่าทุกคนดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการต้องทำงานล่วงเวลา 


 







กรณีศึกษา สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์
สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ หรือที่รู้จักการในนาม สหภาพแรงงานโฮย่า นับเป็นสหภาพแห่งที่สองของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน โดยได้การจดทะเบียนจากนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะนายทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2550 เลขทะเบียน 984 หลังจากนั้นได้ทำการยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนสภาพการจ้างครั้งแรก ในเดือนมกราคม 2551 จนสามารถต่อรองเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย


จากนั้นบริษัทได้เลิกจ้างแกนนำและกรรมการสหภาพแรงงาน และฝ่ายรัฐคือกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นนายทะเบียนออกใบอนุญาตให้สหภาพแรงงาน ได้มีหนังสือออกมาระบุว่าสหภาพแรงงานจดทะเบียนไม่ถูกต้อง เพราะผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานขาดคุณสมบัติตามมาตรา 95..บ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ระบุว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การลดค่าจ้าง การเลิกจ้าง การให้บำเหน็จหรือการลงโทษ จะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้ได้พิสูจน์ว่ารัฐเองก็เป็นส่วนสำคัญในการขัดขวางสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เจรจาต่อรองของแรงงาน


นอกจากนี้ยังพบปัญหาในการทำกิจกรรมสหภาพแรงงาน ดังเช่น บริษัท โยกย้าย (กรรมการ) ไปรวมกันจุดเดียว/แผนกเดียว/ให้อยู่ข้างนอกไม่ให้เข้าทำงานโรงงาน (โดยยังจ่ายค่าจ้างให้), การปลอมเอกสาร และเผยแพร่เอกสาร เพื่อเป็นการดิสเครดิตสหภาพ เป็นต้น


 


2.3 ผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


การพัฒนาประเทศที่ใช้อุตสาหกรรมนำหน้าเกษตรกรรม นำมาสู่การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรอย่างรวดเร็ว เพราะมีการจ้างงานนอกครัวเรือน แรงงานมีรายได้มั่นคงนำมาซึ่งคุณรูปชีวิตที่ดี แต่การเจ็บป่วยและการตายจากสาเหตุภายนอกจะมากขึ้น โรคเหล่านี้ได้แก่ อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยจากการทำงาน โรคเกี่ยวกับการผิดปกติของอวัยวะที่เกิดจากการสะสมสารพิษ ฝุ่นละออง ของเสียที่ได้รับขณะทำงาน ที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม การเจ็บป่วยและการตายจากการทำงานจะมากขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนนิสัยการทำงานจากสังคมเกษตรที่ใช้อุปกรณ์แบบง่ายสู่สังคมใช้เครื่องจักรมีความเร็วและระบบควบคุมโดยไฟฟ้า


ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้นพบว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้มีความเสี่ยงสูงในการได้รับการเจ็บป่วย เนื่องจากมีการใช้สารเคมีต่างๆ ในปริมาณที่สูง โดยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มักจะพบกับสภาพการทำงานที่ต้องเสียงต่ออันตรายด้านต่างๆ ได้แก่


(1) อันตรายทางด้านกายภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ฝุ่นที่มีทั้งฝุ่นบรอนซ์ ฝุ่นไม้ฝุ้นทราย ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นพลอย และละอองสารเคมี ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ย่อมมีผลต่อสุขภาพของคนทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้ก็มีแสงเสียง และความร้อน ที่ล้วนเป็นอันตรายกับสุขภาพ


(2) อันตรายจากเครื่องมือเครื่องจักร ที่มักได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต พิการและบาดเจ็บอยู่บ่อยๆ


(3) อันตรายจากสารพิษ สารเคมี ที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตทั้งที่ได้รับผลทางตรง คือ การสัมผัส และทางอ้อม


(4) อันตรายทางกายศาสตร์ พบว่าคนงานส่วนใหญ่มีปัญหาในการปวดเมื่อยส่วนต่างๆ ของร่างการทุกคน ซึ่งเกิดขึ้นจากท่านั่ง ท่ายืน การทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม


(5) อันตรายด้านสุขภาพจิต การเผชิญกับความเครียดจากหลายสาเหตุ เช่น อันตรายจากการทำงาน กำหนดส่งงาน คุณภาพของงาน ค่าจ้าง ความไม่แน่นอนของปริมาณงาน ที่สำคัญ คือ ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัว


ทั้งนี้กรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้…







กรณีศึกษานิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน
ภาพรวมสถานการณ์แรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน พบว่ากิจการร้อยละ 80 ของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออก โดยมีกว่า 70 โรงงาน ถือว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหัวใจหลักของย่านนี้ ที่เหลือร้อยละ 20 เป็น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องประดับ อัญมณี


ปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิ เมื่อต้นปี 2550 เฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีคนงานประมาณ 50,000 คน โดยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือตอนบน และมาจากทุกภาคของประเทศ จำนวนคนงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือปัจจุบันอาจถึง 60,000 คน โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปีจนถึง 40 ปี สำหรับคนงานถ้ามีอายุ 35 ปี หากต้องออกจากงาน โอกาสจะได้งานใหม่มีน้อยมาก ผู้ประกอบการมักจะไม่รับคนงานที่มีอายุมากๆ เข้าทำงาน


ในปี 2532-2533 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน จะมีปัญหาเรื่องการป้องกันด้านสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีไม่ครบ คนงานได้รับสารเคมีโดยตรงและสะสมสารเคมีไว้ในร่างกาย ผลคือมีคนงานเสียชีวิตต่อเนื่อง นับ 10 กรณี แต่มักมีการปกปิดข้อมูลและเลี่ยงว่าคนงานเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ แทนที่จะบอกว่าเสียชีวิตเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้รับสารเคมี และขาดแคลนทักษะการทำงานกับสารเคมี


ในปี 2535-2536 เป็นช่วงที่มีคนงานเสียชีวิตทีละมากๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีหลายหน่วยงานลงไปเก็บข้อมูล โดยโรงงานที่มีปัญหาบางแห่งก็ปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น


โดยปัจจุบันพบว่ายังมีการละเมิดสิทธิแรงานโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เช่น ทำให้การลาป่วยของลูกจ้างยุ่งยาก เพราะนายจ้างให้ลูกจ้างส่งใบรับรองแพทย์ด้วย แทนที่จะให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิลาป่วยและพักผ่อนอยู่บ้านและได้เงินค่าจ้างวันที่ป่วย กลับต้องลาป่วยและต้องไปเสียเงินให้หมอออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งทำให้คนงานมีภาระค่าใช้จ่ายอีก


เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีก็มีปัญหา บางสถานพยาบาลคนงานไปตรวจอย่างไรก็ไม่เจ็บป่วย คนสายตาสั้นไปตรวจก็จะสายตาปกติ ยกเว้นถ้าคนงานถูกตรวจว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี จะถูกส่งข้อมูลให้บริษัท ถูกบริษัทบีบให้ลาออก แทนที่จะหาวิธีป้องกันให้พนักงาน เช่น จัดหากรวยน้ำดื่มกระดาษ แต่บริษัทจะเลือกวิธีให้คนงานออกไป


บางโรงงานที่ทำงานกับสารเคมี คนงานทั้งแผนกตรวจร่างกายทุกปี ผลปกติทุกปี พอตรวจที่อื่นผลชัดเจน ว่ามีการสะสมของสารเคมีในร่างกายชัดเจน แต่โรงงานก็จะเก็บผลการรักษาเอาไว้ แล้วเลือกไล่คนงานแทนทั้งแผนก


หรือหากคนงานเจ็บป่วนจากที่ทำงาน บริษัทก็จะให้ฝ่ายบุคคลตามคนงานไปด้วย เพื่อบอกสถานพยาบาลว่าไม่ได้เจ็บป่วยมาจากที่ทำงาน ให้ใช้สิทธิประกันสังคม แทนที่จะเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบอยู่แล้ว เป็นการลดภาระของนายจ้าง และไม่ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง


 







กรณีศึกษาจากสภาพแรงงานโซนี่
พบปัญหาสภาพการจ้างงานที่โหดร้ายมากก็คือการเลิกจ้างคนงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์  ซึ่งก่อนการก่อตั้งสหภาพทางบริษัทได้นำมาใช้จนทำให้เกิดการหวาดกลัว คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องใส่กางเกงยีนส์เพื่อไม่ให้บริษัทได้รับรู้ว่าตนตั้งครรภ์ แต่เมื่อได้ก่อตั้งสหภาพฯ ขึ้น สหภาพได้ต่อสู้ไม่ให้บริษัทใช้มาตรการที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมนี้ต่อคนงานหญิง แต่การต่อสู้คุ้มครองสิทธิผู้ใช้แรงงานก็ยังครอบคลุมได้เพียงพนักงานที่ขึ้นตรงต่อบริษัทเพียงแค่ 30 % เท่านั้น แต่ในส่วนของคนงานในระบบจ้างเหมาค่าแรง ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,500 คน หรือ 70% ของคนงานทั้งหมดก็ยังต้องเผชิญกับความโหดร้ายนี้อยู่


 


ข้อมูลอ้างอิง:


รายงานจับชีพจรการเคลื่อนไหวแรงงาน (บัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ, มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, กรุงเทพฯ, 2552)
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (อรพรรณ อุษณาสุวรรณกุล, 2543)
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: ความสามารถในการแข่งขันลดลงจากการแข็งค่าของเงินบาท
(
Positioning Magazine, 23/7/2550)
พิษศก.รอบ
2 คนว่างงานพุ่ง (สยามธุรกิจ, 11/3/2552)
อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 52: ส่งออกลด เลิกจ้างเกือบ 1 แสนคน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
, 2/5/2552 ธุรกิจไทยปี 2552 เผชิญความเสี่ยงสูงขึ้น...ผลสะท้อนต่อภาวะการจ้างงาน (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 12/2/2552)
วิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
, 15/10/2551)
รายงาน :
"การจ้างงานเหมาค่าแรง": ธุรกิจการค้าแรงงาน (ทาส) ยุคใหม่ (ประชาไท, 22/5/2551)
เสวนา - อำนาจต่อรองของผู้ใช้แรงงานในยุคโลกาภิวัตน์ (1): กรณีคนงานนิคมลำพูนและปัญหาที่ยังค้างคา (ประชาไท
, 29/4/2551)
สหภาพแรงงานโซนี่เรียกร้องปรับปรุงสภาพการจ้าง สิทธิคนงานเหมาช่วง และสิทธิคนงานตั้งครรภ์ (ประชาไท
, 16/7/2551)
คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ (ประชาไท
, 18/1/2551)
คนงานนิคมฯลำพูน ร้องเรียนมีเรื่องละเมิดสิทธิแรงงานอื้อ (ประชาไท
, 22/12/2550)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net