Skip to main content
sharethis

วานนี้ (10 มี.ค.) สมาพันธ์ประชาธิปไตยได้ออกแถลงการณ์ "องค์กรและคณะบุคคลที่รับใช้การรัฐประหารไม่อาจปฏิรูปการเมืองได้" คัดค้านการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ โดยแถลงการณ์ของสมาพันธ์ประชาธิปไตยมีรายละเอียดดังนี้


 






แถลงการณ์สมาพันธ์ประชาธิปไตย


องค์กรและคณะบุคคลที่รับใช้การรัฐประหารไม่อาจปฏิรูปการเมืองได้


 


รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผลักภาระในการสร้างประชาธิปไตยให้แก่ สถาบันพระปกเกล้า การทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการ "ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว" กล่าวคือ ทำให้ดูเหมือนว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความจริงใจในการสร้างประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเป็นการซื้อเวลาในการบริหารราชการของรัฐบาลให้ยาวนานออกไปเพราะทำให้สังคมไทยต้องตั้งตารอว่าเมื่อไรจะบรรลุจุดประสงค์ หากผลที่ออกมาเป็นที่ยอมรับของประชาชนผู้ที่ได้รับคำชมย่อมเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่หากผิดพลาดล้มเหลวผู้ที่ต้องรับคำวิพากษ์วิจารณ์ก็คือ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเข้าตำรา "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่เพื่อน" นั่นเอง


 


การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพในการ "ปฏิรูปการเมือง" เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่ต้องการ "ประชาธิปไตย"


 


เพราะการนำเอาองค์กรและคณะบุคคลที่เคยรับใช้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาทำการ "ปฏิรูปการเมือง" ย่อมเข้าตำรา นำเอาองค์กรนาซีและคณะบุคคลนาซี มาสร้างสังคมเสรีประชาธิปไตยซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นไปได้


 


นาย บวรศักดิ์ อุวรรโณ ในฐานะที่เป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวไว้ในปาฐกถา การประชุมวิชาการประจำปีของโรงพยาบาลราชวิถี ปี2551 นี้ว่า


 


"ประชาธิปไตยนั่นเหมาะกับประเทศที่มีชนชั้นกลางมาก แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เพราะมีแต่คนจน และชอบประชานิยมแบบ ลด แลก แจก แถม ไปเรื่อย"


 


เท่ากับยืนยันชัดเจนว่า "ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย"


 


นาย สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ของสภาร่างรัฐธรรมนูญสมัยรัฐประหาร 2549 เป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตยที่ระบุว่า "การรัฐประหาร 2549 นั้นถูกต้องชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 309 ของ รธน.2550)" เช่นนี้แล้วจะมาสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศไทยได้อย่างไร


 


นายสุจิต บุญบงการก็ได้ทำงานรับใช้รัฐบาลคณะรัฐประหารในการร่าง พ.ร.บ.พัฒนาการเมือง แล้วสิ่งที่สังคมไทยได้รับก็คือ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" ที่แข็งแกร่งหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น


 


สมาพันธ์ประชาธิปไตย จึงขอคัดค้าน "การปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นเจ้าภาพ"อย่างเด็ดขาด


 


อนึ่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยใช้กลเม็ดถ่วงการปฏิรูปการเมือง โดยไม่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนรัฐธรรมนูญ รสช.2534 โดยตั้ง "คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย" ที่มีนายแพทย์ประเวศ วะสีเป็นประธานและมีนายบวรศักดิ์ อุวรรโณเป็นหลักในการทำเสียเงินไปหลายสิบล้านบาท แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็เก็บใส่ลิ้นชักเมื่อพรรคชาติไทยโดยนายบรรหาร ศิลปอาชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีจึงตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองและสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญ รสช. ได้จนมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้สำเร็จในรัฐบาลพลเอกชงลิต ยงใจยุทธ จึงเห็นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะที่ตนยังครองอำนาจอยู่เลย


 


สมาพันธ์ประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองโดยเร่งพิจารณารับ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ....... ของ คปพร." ในวาระที่หนึ่ง จากนั้นหากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ในวาระที่สองและสาม ซึ่งจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเนื่องจากยึดถือหลักการ "อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย หลักนิติรัฐ นิติธรรม และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มงวด"


 


 


สมาพันธ์ประชาธิปไตย


10 มีนาคม 2552


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net