Skip to main content
sharethis

ภูมิภาคลาตินอเมริกาและเอเชียมักจะเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันเสมอ โดยเฉพาะหมู่คนรากหญ้าและแรงงานที่โดนผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุด "บทเรียนการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากอาร์เจนตินา" จึงเป็นบทเรียนที่น่าสนใจ ในการปรับนำมาใช้กับสังคมไทยที่กำลังลังค่อยๆ ถูกวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่เข้าจู่โจม

เมื่อวันที่ 8 มี.. 52 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดการเสวนา "บทเรียนการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจจากอาร์เจนตินา" โดยวิทยากรคือ Gustavo Vera นักกิจกรรมและนักเขียนชาวอาร์เจนตินา ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานคนตัดเย็บเสื้อผ้าที่นำนายจ้างที่ละเมิดสิทธิ์แรงงานเข้าสู่กระบวนการศาล และรวมกลุ่มแรงงานทำการผลิตในโรงงานและมีโลโก้ของตัวเอง

 

 


Gustavo Vera

 

Gustavo เล่าว่านักเคลื่อนไหวในภูมิภาคลาตินอเมริกาเองก็คอยจ้องมองเหตุการณ์ที่เกิดในภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน เพราะว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจนั้นมักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในสองภูมิภาคนี้

วิกฤตที่อาร์เจนตินาต้องเผชิญในอดีตก็คือเรื่องของค่าเงินที่ตั้งราคาไว้ไม่สมเหตุสมผล (1 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์) ทำให้เกิดหนี้สินจากการเข้าโปรแกรมการกู้เงินของไอเอ็มเอฟซึ่งในเงื่อนไขการกู้เงินนั้นจะต้องให้อาร์เจนตินาทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า เป็นต้น

ในช่วง 10 ปีอาร์เจนตินาได้สะสมหนี้สินไว้ (ทศวรรษที่ 1990) หลังจากนั้นไอเอ็มเอฟไม่สามารถให้เงินกู้ต่อไป เพราะอาร์เจนตินาไม่มีทรัพยากรอะไรไว้ค้ำประกันแล้ว ทำให้ค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานเริ่มเพิ่มสูงขึ้นถึง 40% ประเทศเกิดความโกลาหลมีการบุกเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ต คนชั้นกลางบุกธนาคารเพื่อทวงสิทธิ์นำเงินฝากของเขาออกมา

19 .. 2544 มีการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชน ในเมืองบูโนสไอเรส มีการปิดถนน ประชาชนลุกฮือขึ้นและปฏิเสธกลไกต่างๆ ของรัฐ โดยในคืนวันนั้นเองประธานาธิบดีได้สั่งการให้ทหารและตำรวจทำการปราบปรามประชาชน และมีผลให้ประชาชนเสียชีวิต 30 คน ช่วงบ่ายวันต่อมาประธานาธิบดีต้องหนีออกจากประเทศ ซึ่งได้ส่งผลกระทบให้ประเทศต่างๆ ข้างเคียงต้องหนีออกจากประเทศเนื่องจากการลุกฮือขึ้นของประชาชน เช่นกัน

 

วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา

วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา (Argentine economic crisis) เป็นช่วงที่เศรษฐกิจในอาร์เจนตินาล่มสลาย ประเทศอยู่ในภาวะล้มละลาย ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเบื้องต้น (GNP) ลดต่ำลงจนติดลบติดต่อกันยาวนานถึง 4 ปีเต็ม คนตกงานกว่าครึ่งค่อนประเทศแม้กระทั่งหมอก็ยังตกงาน เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ถึง ปี ค.ศ. 2002

ปี 1983
เมื่อรัฐบาลทหารได้คืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1983 นายราอูล อัลฟองซิน (Raúl Alfonsín) ก็ได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ช่วงที่อัลฟองซินดำรงตำแหน่งอยู่นี้ ภาวะเศรษฐกิจภายในอาร์เจนตินาย่ำแย่ลงอย่างหนัก รัฐบาลไม่มีปัญญาจ่ายหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเดือนละ 200% หรือ ปีละเกือบ 3000% รัฐบาลขาดเสถียรภาพอย่างหนัก นายอัลฟองซินได้ลาออกก่อนจะหมดวะระเพียง 6 เดือน

จุดเริ่มต้นใน ปี ค.ศ. 1989
นายคาร์ลอส ซามูล เมเนม (Carlos Menem) ได้รับเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จากพรรคนิยมเปรอง แต่เมื่อได้ดำรงตำแหน่งกลับทำตรงกันข้ามกับลัทธิเปรอง (Peronist) เนเนมได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจตาม"ฉันทมติวอชิงตัน" ซึ่งนำความหายนะมาสู่อาร์เจนตินาซึ่งหลักๆได้แก่ การเปิดเสรีการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านการค้าและการเงิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของต่างชาติ

ปี 1991
รัฐบาลของเมเนมได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างจริงจังโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ โดมิงโก คาวัลโย (Domingo Cavallo) เป็นผู้ที่ได้ใช้นโยบาย "ฉันทมติ วอชิงต้น" มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นคงที่ ค่าเงินที่ 1 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ได้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขายสัมปทานของรัฐออกไป 250 แห่ง ซึ่งรัฐบาลอาร์เจนตินาได้รับเงินถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้นำไปสู่การผูกขาด ซึ่งโดยรวมหลักของนโยบายเสรีนิยมใหม่ของเมเนมวางอยู่บนความพึ่งพาเงินทุนจากต่างชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการตัดลดงบประมาณให้สมดุล ลดภาษีนำเข้า เพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนจากต่างชาติ มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นอย่างมากมายในรัฐบาลของเมเนม

  • การแปรรูปสายการบินแห่งชาติ
  • การแปรรูปโทรศัพท์
  • การแปรรูปการไฟฟ้า
  • การแปรรูปทางด่วน
  • การแปรรูปน้ำประปา
  • การแปรรูปรถไฟ

ปี 1999
ประธานาธิบดี เฟอร์นานโด เดลารัว (Fernando de la Rúa) ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาเพื่อสอบสวนกรณีคอร์รัปชั่นในยุคประธานาธิบดี เมเนม ในวันที่ 7 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2001 ได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุกอดีตประธานาธิบดีเมเนมเป็นเวลา 6 เดือน มีข้อกล่าวหา การยักยอกเงิน 100 ล้านเหรียญจากการลอบขายอาวุธ และ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นาย โดมิงโก คาวาโย ก็โดนข้อหาเดียวกัน เมเนมได้หนี้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศชิลี

วิกฤตเศรษฐกิจ
รัฐบาลของเฟอร์นานโด เดลารัว เข้ารับตำแหน่งในปี ค.ศ.1999 ต้องรับภาระปัญหาต่างๆที่รัฐบาลเมเนมได้ก่อเอาไว้ หนี้ต่างประเทศก้อนโตจำนวนกว่า 132 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ อัตราค่าเงินเปโซที่กำหนดให้แข็งค่าเกินจริงแบบคงที่ ทำให้ภาคการส่งออกมีปัญหา ภาครัฐมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่มีเงินมาจ่ายหนี้และดอกเบี้ย ประธานาธิบดีเดลารัวได้ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลตามคำแนะนำจากไอเอ็มเอฟ (IMF) เพื่อแลกกับเงินกู้จำนวน 8 พันล้านเหรียญ โดยมีการปลดข้าราชการ ตัดงบประมาณชุมชนและงบสวัสดิการสังคมต่างๆ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนัก เมื่อมาตรการตัดลดรายจ่ายยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

ผลจากการขาดงบประมาณรายจ่ายเพราะเก็บภาษีได้ลดลงรวมกับการขาดดุลการชำระเงินเพราะการกำหนดค่าเงินคงที่ ทำให้รัฐบาลโดนบีบให้ลดค่าเงินเปโซ และยอดหนี้ต่างประเทศสูงขึ้นจากร้อยละ 50 ต่อGDPในปี ค.ศ. 2001 กลายมาเป็น ร้อยละ90 ต่อGDPในปี ค.ศ.2002 รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตร์ออกมาทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เฟอร์นันโด เดรารัว จึงเชิญ โดมิงโก คาวัลโย อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัยเมเนม มาแก้ปัญหาในปี ค.ศ. 2001 คาวัลโย ใช้มาตรการลดรายจ่ายโดยการตัดเงินเดือนข้าราชการร้อยละ 20 และตัดเงินบำนาญลงร้อยละ 13 ตัดงบประมาณกระทรวงต่างๆ และห้ามถอนเงินจากธนาคารเกินอาทิตย์ละ 250 เหรียญ แต่สถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่ออัตราการว่างงานได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ประชากร 1ใน 3 ของประเทศมีชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจน ไอเอ็มเอฟบีบให้ธนาคารทุกแห่งเปลี่ยนเงินฝากของประชาชนเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่อายุไถ่ถอน 10 ปี เพื่อรัฐบาลจะได้นำเงินไปจ่ายดอกเบี้ยของหนี้สินต่างประเทศ มีการประท้วงเกิดขึ้นจนเกิดการจลาจลไปทั่วประเทศ

ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2001 นายโดมิงโก คาวัลโย ลาออก ก่อน ประธานาธิบดี เดรารัว เพียงไม่กี่ชั่วโมง มีการประท้วงใหญ่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี ประเทศเกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจมีการแต่งตั้งผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี อดอลโฟ โรดริเกซ ซา (Adolfo Rodríguez Saá) ขึ้นมาบริหารได้เพียงอาทิตย์เดียวก็ถูกกดดันให้ลาออก เมื่อประกาศว่าจะพักชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 141,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของอาร์เจนตินา นายเอดูอาโด ดูฮาลเด้ (Eduardo Duhalde) ได้ขึ้นมาแทนและได้ประกาศลดค่าเงินเปโซร้อยละ 30 และให้แปลงเงินฝากสกุลดอลลาร์ให้เป็นเปโซทั้งหมดผลทำให้ธุรกิจที่มีหนี้สินเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐล้มละลายเป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลง 11%

ที่มา: wikipedia.org

 

จากวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นได้นำไปสู่การรวมกลุ่มของประชาชนในรูปของสมัชชาเพื่อนบ้าน (vecinos) ขบวนคนว่างงาน (piqueteros) โดย Gustavo เล่าว่าแรงงานและคนในชุมชนได้รวมตัวหารือกันว่าจะหาทางฝ่าวิกฤตนี้อย่างไร โดยคนในชุมชนได้มาพูดคุยกันทุกอาทิตย์ มีการรวมตัวการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น

Gustavo กล่าวต่อว่าถึงแม้ว่าการประชุมสมัชชาเพื่อนบ้านนั้นจะมีนักมาร์กซิสต์ นักทฤษฎีต่างๆ เข้าร่วมประชุมด้วย แต่การตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการออดเสียงของชาวบ้าน โดยในสมัชชาจะมีการคุยถึงเรื่องปากท้อง มีการรื้อฟื้นโรงงานที่ปิดไปโดยยึดมาทำการผลิตเอง มีการสร้างงานในชุมชน นอกจากนี้มีการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างแรงงานต่างชาติ แรงงานนอกระบบต่างๆ เป็นต้น

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้น พบว่าในอาร์เจนตินามีการยึดโรงงานเพื่อทำการผลิตเองมากขึ้น หลังจากที่นายจ้างทำตัวล้มละลาย ปิดโรงงานหนีไป คนงานได้กลับเข้าไปในโรงงานดำเนินวิถีการผลิตแบบเดิมหากแต่จัดการบริหารด้วยตัวเอง ไม่มีนายจ้าง

มีโรงงานกว่า 300 แห่ง ที่คนงานทำการผลิตเอง ในกิจการประเภทต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม, ร้านอาหาร, โรงงานผลิตรองเท้า, โรงงานผลิตเสื้อผ้า, บริษัทกราฟฟิกดีไซน์ เป็นต้น และเมื่อใดก็ตามที่ตำรวจจะเข้าไปจับกุมแรงงานที่ยึดเหล่านั้นโรงงานนั้น ชาวบ้านชุมชนข้างเคียงได้มีการช่วยเหลือแรงงานกลับเข้าไปยึดโรงงานได้เหมือนเดิมอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ในปี 2002 ได้มีการผ่านกฎหมายรับรองการเข้าไปยึดโรงงานเป็นสิ่งที่สามารถทำได้

โดยในช่วงการยึดโรงงานนั้นมีการช่วยเหลือจาก NGO"s และภาคประชาชน ทั้งการหาตลาด การหาแหล่งทุน หรือการเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน เป็นต้น ซึ่งวิธีการดำเนินงานของโรงงานนั้นจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ ในที่ประชุมจะชั้นกระบวนการประชาธิปไตยในการตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ในเรื่องของรายได้นั้น ก็มีการจัดสรรให้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้แรงงานได้มีการเพิ่มทักษะในด้านการบริหารขึ้นด้วย

แต่ทั้งนี้ Gustavo เล่าว่าโรงงานที่ยึดได้นั้นก็ยังมีปัญหาที่แรงงานต้องเผชิญก็คือ เรื่องการดำรงคุณภาพของสินค้า การแข่งขันในตลาดกับสินค้าตัวอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้จาก 300 กว่าโรงงานที่ยึดได้นั้น ปรากฏว่า 80% สามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้มีหลายโรงงานที่ได้ผลปรากฏว่าได้รับเงินเดือนมากกว่าที่เคยทำงานในโรงงานที่มีนายจ้างบริหาร

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจการเมืองที่กล่าวไปนั้น นอกจากเกิดการเข้ายึดโรงงานโดยแรงงานแล้ว ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือการการประท้วงบนท้องถนนมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากคนตกงานเพิ่มมากขึ้น มีการปิดถนน ปิดสะพาน เพื่อทำการประท้วง ในการเรียกร้องเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน สิทธิการยึดโรงงาน และเรียกร้องสวัสดิการสังคมต่างๆ เป็นต้น

Gustavo เล่าว่าถึงแม้ในการชุมนุมการปิดถนน จะมีการเผชิญหน้าตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการสูญเสียบาดเจ็บล้มตาย แต่ก็สามารถต่อรองเรียกร้องให้บรรลุผลได้หลายประเด็น เช่น สามารถกดดันให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับโรงงานที่ยึดได้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องจักร เงินทุน หรือที่ดินที่ใช้ในการผลิต และนอกเหนือจากการปิดถนนแล้วก็ยังมีการชุมนุมเรียกร้องหน้าบรรษัทใหญ่ๆ เรียกร้องให้มีการจ้างงาน มีการรับคนกลับเข้าทำงานบางส่วน รวมถึงมีการฟื้นฟูกิจการที่ปิดตัวไปแล้ว

Gustavo กล่าวต่อไปว่า ปี 2003-2005 สถานการณ์วิกฤตเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มดี มีงานทำ โรงงานที่ยึดไว้ก็ยังดำเนินการได้อยู่ แต่ทว่าเมื่อเดือนกันยานปีที่แล้ว เริ่มเกิดวิกฤตอีกครั้งหนึ่ง ทำให้แรงงานงานยึดโรงงานผลิต 25 แห่งทันที จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้มีการตอบโต้จากภาคประชาชนอย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันนายจ้างกับรัฐเองก็กลัวแรงงานยึดโรงงานเช่นกัน ทั้งนี้เหมือนกับว่าประชาชนเองก็มีภูมิคุ้มกันแล้ว ถ้ามีสัญญาณไม่ดีทางเศรษฐกิจ พวกเขาก็จะยึดโรงงานเลย หรือถ้าหากเกิดความไม่โปร่งใสไม่ตรงไปตรงมาเขาก็เรียกประชุมและสร้างสมัชชาเพื่อนบ้านขึ้นมาทันที

ทั้งนี้ Gustavo ได้สรุปว่า ในช่วงวิกฤตที่อาร์เจนตินาเผชิญมานั้น ยุทธศาสตร์สำคัญ 3 อย่างที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ สมัชชาเพื่อนบ้าน, การยึดโรงงาน และการชุมนุมประท้วง ที่ทำให้ขบวนการภาคประชาชนก้าวผ่านวิกฤตนั้นมาได้ และทั้ง 3 ยุทธศาสตร์นี้ต้องเอื้อกันสำหรับการต่อรองกับรัฐ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น Gustavo กล่าวว่าไม่ใช่การช่วยเหลือของพรรครัฐบาล,ฝ่ายค้าน, พรรคฝ่ายซ้าย หรือพรรคฝ่ายขวา แต่เป็นการร่วมมือกันเองของประชาชน

 

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา:
อาร์เจนตินาที่ลุกเป็นไฟ  (สุรพล ธรรมร่มดี, กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2545)
มองมุมใหม่ :แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ต้นเหตุวิกฤติอาร์เจนตินาจริงหรือ? (รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์,กรุงเทพธุรกิจ, 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2549)
การสวนกระแสตรรกะทุนนิยม: กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินา (ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล, บทความลำดับที่ 1443 ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
โรงงานไม่มีเจ้านาย: การต่อสู้ของแรงงานซานอง (ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล, ประชาไท, 31 มีนาคม 2549)
รายงาน : สงครามโลกครั้งที่ 4 - สงครามใต้ฝ่าเท้าเราทุกคน (ฐาปนา พึ่งละออ, ประชาไท, 3 เมษายัน 2550)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net